แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1925

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤษาภาคม ๒๕๓๓


สำหรับเรื่องสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงในเรื่องของขันติบารมี คือ ขันติวาทีชาดก ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้ว แต่ขอกล่าวถึงอีกเพื่อให้ระลึกได้บ่อยๆ เรื่องความไม่โกรธ เพื่อให้พิจารณาบ่อยๆ ว่า ผู้มีปัญญาควรโกรธหรือไม่ควรโกรธ เพราะว่าเรื่องของความอดทนจะเห็นได้ชัดเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ซึ่งขณะนั้นควรที่จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นไม่อดทนเลยจึงโกรธ เพราะฉะนั้น ถ้าใคร่ที่จะบำเพ็ญขันติบารมี ก็ควรมีสติระลึกได้ในทุกสถานการณ์

ขอกล่าวถึงเรื่องขันติวาทีชาดกอีกครั้งหนึ่ง

อรรถกถาขันติวาทีชาดกที่ ๓

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้

ถ้าท่านผู้ฟังอยู่ที่พระวิหารเชตวัน รู้จักตัวเองพอที่จะรู้ว่าเป็นคนมักโกรธ หรือเปล่า ภิกษุรูปนั้นเป็นคนมักโกรธจึงเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงปรารภ เพราะฉะนั้น ถ้าใครเป็นผู้มักโกรธ ก็เหมือนกับว่าเป็นเหตุที่จะทำให้พระศาสดาทรงปรารภ เพื่อทรงโอวาท

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุนั้นว่า

เธอบวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ไม่โกรธ เพราะเหตุไรจึงกระทำความโกรธเล่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อเครื่องประหารตั้งพันตกลงบนร่างกาย เมื่อถูกเขาตัดมือ เท้า หู และจมูก ก็ยังไม่กระทำความโกรธแก่คนอื่น

แล้วทรงเล่าเรื่องในอดีต ดังนี้

ยังไม่เคยมีใครตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูกท่านผู้ฟัง แต่ถ้ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ขอให้ระลึกถึงขันติวาทีชาดก

พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล พระเจ้ากาสีพระนามว่ากลาปุ ทรงครองราชย์สมบัติอยู่ใน พระนครพาราณสี ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ เป็นมาณพชื่อว่ากุณฑลกุมาร

เจริญวัยแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปะทุกอย่างในนครตักกศิลา แล้วรวบรวมทรัพย์สมบัติตั้งตัว เมื่อบิดามารดาล่วงลับไป จึงมองดูกองทรัพย์แล้วคิดว่า ญาติทั้งหลายของเราทำทรัพย์ให้เกิดขึ้นแล้วไม่ถือเอาไปเลย แต่เราควรจะถือเอาทรัพย์นั้นไป จึงจัดแจงทรัพย์ทั้งหมด ให้ทรัพย์แก่คนที่ควรให้เป็นทาน แล้วเข้าไปยังป่าหิมพานต์ บวช ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยผลาผลไม้อยู่เป็นเวลาช้านาน เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว จึงไปยังถิ่นมนุษย์ ถึงพระนครพาราณสีโดยลำดับ แล้วอยู่ในพระราชอุทยาน

วันรุ่งขึ้น เที่ยวภิกขาจารไปในนคร ถึงประตูนิเวศน์ของเสนาบดีท่านหนึ่ง เสนาบดีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระโพธิสัตว์นั้น จึงให้เข้าไปยังเรือนโดยลำดับ ให้บริโภคโภชนะที่เขาจัดไว้เพื่อตน ให้รับปฏิญญาแล้วให้อยู่ในพระราชอุทยานนั้นนั่นเอง

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากลาปุทรงมึนเมาน้ำจัณฑ์ มีนางนักสนมห้อมล้อม เสด็จไปยังพระราชอุทยาน ให้ลาดพระที่บรรทมบนแผ่นศิลา แล้วบรรทมเหนือตักของหญิงที่ทรงโปรดคนหนึ่ง หญิงนักฟ้อนทั้งหลายผู้ฉลาดในการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนรำ ก็ประกอบการขับร้องเป็นต้น พระเจ้ากลาปุก็ทรงบรรทมหลับไป

หญิงนักฟ้อนเหล่านั้นเห็นพระราชาทรงบรรทมหลับไปแล้ว จึงทิ้งเครื่องดนตรี มีพิณเป็นต้นไว้ในที่นั้นๆ เอง และออกไปเดินเที่ยวในพระราชอุทยาน

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในบรรพชา อยู่ ณ โคนต้นสาละมีดอกบานสะพรั่งในพระราชอุทยานนั้น หญิงเหล่านั้นเห็น พระโพธิสัตว์จึงเข้าไปไหว้ นั่งล้อม และขอให้พระโพธิสัตว์กล่าวธรรม พระโพธิสัตว์ จึงกล่าวธรรมแก่หญิงเหล่านั้น

ครั้งนั้น หญิงคนนั้นขยับตัว ทำให้พระราชาตื่นบรรทม พระราชาไม่เห็น หญิงพวกนั้นจึงตรัสถาม หญิงคนโปรดนั้นก็กราบทูลว่า หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อม ดาบสรูปหนึ่ง พระราชาทรงกริ้วรีบเสด็จไปด้วยตั้งพระทัยว่า จักตัดหัวของชฎิลโกงนั้น

เมื่อพระราชาเสด็จไปประทับยืนในสำนักของพระโพธิสัตว์แล้ว ตรัสถามว่า

สมณะ เจ้ามีวาทะว่ากระไร

พระโพธิสัตว์ทูลว่า

มหาบพิตร อาตมามีขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติ

พระราชาตรัสถามว่า

ที่ชื่อว่าขันตินั้น คืออะไร

พระโพธิสัตว์ทูลว่า

คือ ความไม่โกรธในเมื่อเขาด่าอยู่ ประหารอยู่ เย้ยหยันอยู่

พระราชาตรัสว่า

ประเดี๋ยวเราจักเห็นความมีขันติของเจ้า

แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจรมา แล้วรับสั่งให้เพชฌฆาตนั้น ฉุดพระโพธิสัตว์ให้ล้มลงที่พื้น แล้วให้เอาแซ่หนามเฆี่ยนสองพันครั้งในข้างทั้งสี่ คือ ข้างหน้า ข้างหลัง และด้านข้างทั้งสองด้าน เพชฌฆาตก็กระทำตามรับสั่งนั้น ผิวของพระโพธิสัตว์ขาด หนังขาด เนื้อขาด โลหิตไหล

พระราชาตรัสถามอีกว่า

เจ้ามีวาทะว่ากระไร

พระโพธิสัตว์ทูลว่า

มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีในระหว่างหนังของอาตมา ขันติไม่ได้มีในระหว่างหนังของอาตมา มหาบพิตร ก็ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัย ซึ่งพระองค์ไม่อาจแลเห็น

เพชฌฆาตทูลถามอีกว่า

ข้าพระองค์จะทำอย่างไร

พระราชาตรัสว่า

จงตัดมือทั้งสองข้างของดาบสโกงผู้นี้

เพชฌฆาตนั้นจับขวานตัดมือทั้งสองข้างแค่ข้อมือ ทีนั้นพระราชาตรัสกับเพชฌฆาตนั้นว่า จงตัดเท้าทั้งสองข้าง เพชฌฆาตก็ตัดเท้าทั้งสองข้าง โลหิตไหลออกจากปลายมือและปลายเท้า เหมือนรดน้ำครั่งไหลออกจากหม้อทะลุฉะนั้น พระราชาตรัสถามอีกว่า

เจ้ามีวาทะว่ากระไร

พระโพธิสัตว์ทูลว่า

มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ ปลายมือปลายเท้าของอาตมา ขันตินั้นไม่มีอยู่ที่นี้ เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่ เฉพาะภายในหทัยอันเป็นสถานที่ลึกซึ้ง

พระราชาตรัสว่า

จงตัดหูและจมูกของดาบสนี้

เพชฌฆาตก็ตัดหูและจมูก ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต

พระราชาตรัสถามอีกว่า

เจ้ามีวาทะกระไร

พระโพธิสัตว์ทูลว่า

มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ แต่พระองค์ได้สำคัญว่า ขันติตั้งอยู่เฉพาะที่ปลายหู ปลายจมูก ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัยอันลึก

พระราชาตรัสว่า

เจ้าชฎิลโกง เจ้าเท่านั้นจงนั่งยกเชิดชูขันติของเจ้าเถิด

แล้วเอาพระบาทกระทืบยอดอก แล้วเสด็จหลีกไป

เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้ว เสนาบดีเช็ดโลหิตจากร่างกายของพระโพธิสัตว์ แล้วเก็บรวบรวมปลายมือ ปลายเท้า ปลายหู และปลายจมูกไว้ที่ชายผ้าสาฎก ค่อยๆ ประคองให้พระโพธิสัตว์นั่งลงแล้วไหว้ ได้นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วกล่าวว่า

ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจะโกรธ ควรโกรธพระราชาผู้ทำผิดในท่าน ไม่ควรโกรธผู้อื่น

เมื่อจะอ้อนวอนจึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า

ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ผู้ใดให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของท่าน ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าได้ทำรัฐนี้ให้พินาศเสียเลย

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า

พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของอาตมภาพ ขอพระราชาพระองค์นั้นจงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลายเช่นกับอาตมภาพย่อมไม่โกรธเคืองเลย

ข้อความตอนท้ายมีว่า

สมณะผู้สมบูรณ์ด้วยขันติ ได้มีมาในอดีตกาลนานมาแล้ว พระเจ้ากาสี ได้รับสั่งให้ห้ำหั่นสมณะนั้นผู้ดำรงอยู่เฉพาะในขันติธรรม พระเจ้ากาสีหมกไหม้ อยู่ในนรก เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรมที่หยาบช้านั้น

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้มักโกรธบรรลุพระอนาคามิผล พระเจ้ากาสีพระนามว่ากลาปุในครั้งนั้นได้เป็นพระเทวทัต เสนาบดีในครั้งนั้น ได้เป็นท่านพระสารีบุตร ส่วนดาบสผู้มีวาทะยกย่องขันติในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคตฉะนี้แล

จบ อรรถกถาขันติวาทิชาดกที่ ๓

ระหว่างฟัง เห็นคุณของขันติไหม หรือยังไม่เห็น ยังจะโกรธ

เวลาที่มีกายวาจาของบุคคลอื่นซึ่งทำให้ท่านขุ่นเคืองใจหรือไม่พอใจ ยังไม่ได้ตัดเท้า ยังไม่ได้ตัดมือ ยังไม่ได้ตัดหู ยังไม่ได้ตัดจมูก แต่ก็โกรธเสียแล้ว แต่ให้ระลึกถึงผู้ที่เห็นโทษของความโกรธและเห็นคุณของขันติ อย่างภิกษุผู้มักโกรธ ในขณะที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจบพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ทรงประกาศอริยสัจจธรรม ภิกษุผู้มักโกรธนั้นบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล

นี่คือผลของการมีจิตน้อมไปที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น และเห็นโทษตามความเป็นจริง เพราะถ้ารู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นเพียง พระโสดาบันบุคคลก็ยังโกรธ หรือเป็นพระสกทาคามีบุคคลก็ยังโกรธ แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ดับความโกรธเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมหลังจากที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ละเอียดขึ้น จึงจะเห็นโทษของของความโกรธได้

ถ้ายังมีความโกรธมาก แม้จะได้ฟังขันติวาทีชาดกก็ตาม ครั้งหนึ่ง สองครั้ง หรืออีกหลายๆ ครั้ง ไม่ทราบว่าจะมีความคิดมีความตั้งใจมั่นที่แม้ว่า ยังโกรธอยู่ แต่ก็มีความเพียร มีความมั่นคงพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติตาม พระโอวาทคำสอนของพระผู้มีพระภาค หรือเพียงแต่ใคร่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็น พระอนาคามีบุคคล โดยไม่สนใจที่จะอบรมขันติ

ผู้ฟัง ผมเองได้อ่านขันติวาทีชาดกมาแล้ว ตอนที่อ่านเสร็จ มีแต่จะเพิ่มความคับแค้นมากมาย แทนที่จะมีความอดทน สมัยที่ยังไม่ได้ศึกษาเท่าไร มีคนเล่าให้ฟัง ก็คิดว่าเป็นไปได้หรือ ขนาดเฆี่ยนด้วยแส้ทั้ง ๔ ด้าน ยังมาถามอีก น่าเจ็บใจ คงต้องอ่านซ้ำๆ บ่อยๆ แต่ได้ระบายไปหน่อยที่พระเจ้ากลาปุถูกแผ่นดินสูบ

สุ. ดีใจหรือ

ผู้ฟัง คนที่ทำผิดอย่างนี้ น่าจะมีอะไรตอบสนองทันตาเห็นบ้าง

สุ. ต้องขอเรียนให้ทราบว่า ไม่น่าจะมีความคิดอย่างนี้เลย แสดงให้เห็นว่ายังไม่เห็นโทษของความโกรธ และยังไม่เห็นคุณของขันติ คือ ในระหว่างที่ฟังเรื่อง ขันติวาทีชาดก บางท่านอาจจะโกรธพระเจ้ากลาปุที่ตัดมือตัดเท้าของพระโพธิสัตว์ ใช่ไหม และยิ่งทราบว่า ท่านเกิดในนรก ก็ดีใจที่ท่านได้รับผลของกรรม แต่ไม่ควร เป็นอย่างนั้น

ผู้ฟัง แน่นอน ไม่ควรเป็นอย่างนั้น ต้องมองในแง่ขันติ จะไปล้างแค้น อย่างหนังจีนให้สมแค้น หายแค้น ไม่ถูกแน่นอน เพราะเป็นเรื่องผูกเวรกัน แต่การที่จะกล่อมเกลาจิตใจ อย่างท่านขันติวาทีดาบส ท่านคงได้สั่งสมความอดทนมาหลายภพหลายชาติแน่ ท่านจึงได้อดทนถึงขนาดนั้น ท่านต้องสะสมมา ได้บำเพ็ญมา จะตีก็ ไม่โกรธ จะตัดแขน ตัดขา ตัดจมูก ตัดหู ก็ไม่โกรธ แสดงว่าท่านต้องสะสมมาและต้องบำเพ็ญมาอย่างหนัก อย่างผมคงไม่ได้บำเพ็ญมาเท่าไร คงจะต้องสะสมต่อไป

สุ. เริ่มได้ ค่อยๆ ไป

ถ. ก็เหมือนทั่วไป ของใหญ่ๆ ก็ต้องเริ่มจากของเล็กๆ สะสมไปเรื่อยๆ ผมว่าอย่าประมาทในขันติเล็กๆ น้อยในชีวิตประจำวันดีที่สุด เริ่มตั้งแต่น้อยๆ ก่อน

สุ. ต่อไปนี้คงจะพิจารณาเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของ แต่ละท่านว่า มีขันติไหม ถ้ามีอะไรที่เกิดขึ้น ระลึกถึงขันติวาทีชาดก จะได้ทราบว่า ควรมีขันติมากกว่านั้นอีก คือ ไม่ควรโกรธ

พระ อาตมาเจริญเมตตาแล้วยังรู้สึกโกรธอยู่ จึงคิดว่า จะเจริญเมตตาโดยการอบรมบ่อยๆ เนืองๆ ให้ยิ่งๆ ขึ้น แต่ไม่ได้หวังให้เป็นฌาน ความเข้าใจอย่างนี้ ไม่ทราบว่า จะเป็นการถูกต้อง หรือเป็นตัวตนหรือเปล่า

สุ. ไม่ทราบว่าพระคุณเจ้าเจริญเมตตาอย่างไรเจ้าคะ

พระ ตามแนวที่อาจารย์บรรยาย หมายถึงมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ และเราก็ระลึกในทางที่เป็นไมตรีกับเขา

สุ. ในขณะนี้ที่กำลังมีหลายๆ คนอยู่ที่นี่ มีความเป็นเพื่อน ไม่มีความ เป็นศัตรูกับใครเลย ครั้งหนึ่งอาจเคยมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกับคนหนึ่ง วันนี้เบาบาง ไปบ้างหรือเปล่า ลืมหรือยัง หรือเป็นเพื่อนได้แล้ว

พระ คิดอีกก็เกิดโทสะอีก สลับด้วยเมตตาอีก จึงคิดว่า เมตตาที่อบรม เป็นปกติตามที่อาจารย์บรรยายไม่มีกำลังพอที่จะไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นอีก จึงอบรมให้มากยิ่งขึ้น โดยกำหนดอยู่เสมอ ระลึกเนืองๆ

สุ. ถ้าจะให้ความโกรธไม่เกิดอีกเลย ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล ถ้ายัง ไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล มีเหตุปัจจัยที่ความขุ่นเคืองหรือความโกรธจะเกิดก็เกิด แต่ความโกรธหรือความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นนั้นก็ดับ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรที่จะ ผูกโกรธ ถ้ามีเมตตาเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็คือรู้ว่า ทุกคนเหมือนกัน มีความผิดพลาด ไม่ใช่ว่าเราเท่านั้นที่จะเป็นคนที่ไม่ผิด เราก็ต้องผิดเหมือนกัน และเวลาที่เราผิด คนอื่นอภัยให้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคนอื่นผิด เราก็อภัยให้เขาได้เหมือนกัน

พระ การอบรมเมตตาโดยนัยของสมถกัมมัฏฐาน เป็นการขัดต่อการ เจริญสติปัฏฐานไหม

สุ. ไม่ทราบว่าเจริญอย่างไรเจ้าคะ โดยนัยของสมถกัมมัฏฐาน เพราะว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด และมีเมตตาต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด ขณะนั้นจิตสงบเพราะ เป็นกุศล และถ้ามีความเป็นมิตรต่อแต่ละบุคคลที่พบ ไม่เลือก ยิ่งเพิ่มความเป็นมิตรเพิ่มขึ้น จิตขณะนั้นก็เป็นกุศลเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน

พระ ก็ได้เจริญตามที่อาจารย์บรรยาย แต่รู้สึกว่า เจริญมาหลายปีแล้ว เมตตายังไม่ค่อยมีกำลัง

สุ. แสดงว่าไม่เจริญเจ้าค่ะ ถ้าเจริญต้องมีกำลังขึ้น อย่างเคยไม่ชอบใคร และระลึกถึงคนนั้นรู้สึกอย่างไร ดีขึ้น เฉยๆ หรือกลับเป็นมิตร นั่นก็แสดงว่า เจริญ แต่ถ้ายังเหมือนเดิม แสดงว่าไม่เจริญเจ้าค่ะ

พระ ดีขึ้นบ้าง แต่บางครั้งก็ยังโกรธอยู่

สุ. เพราะยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล

พระ ถ้าจะเจริญโดยที่ว่า นึกถึงเมตตาบ่อยๆ

สุ. นึกถึงเมื่อไรเจ้าคะ

พระ ทำอะไรอยู่ก็นึกถึงเมตตา

สุ. นึกถึงอย่างไรเจ้าคะ

พระ เช่น เดินจงกรม หรือทำอะไร

สุ. และนึกอย่างไรเจ้าคะ

พระ เช่น นึกถึงผู้มีคุณ เช่น ครูบาอาจารย์ก่อน และอบรมเรื่อยมา

สุ. ขณะนั้นนึกถึงบุคคลนั้นด้วยเมตตาจิต

พระ อย่างนี้ถูกต้องไหม

สุ. ขณะใดที่นึกถึงใคร และสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นนึกถึงด้วยความผูกพันเป็นโลภะ หรือนึกถึงด้วยความขุ่นเคืองเป็นโทสะ หรือนึกถึงด้วยเมตตา ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ และผู้ระลึกนั้นเองจะรู้ว่า ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มิฉะนั้นไม่สามารถละอกุศลได้ ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดและรู้สภาพของกุศลจิตและอกุศลจิต จึงจะเจริญกุศลจิตได้

พูดถึงเรื่องของความอดทนมามาก ทั้งเรื่องในพระไตรปิฎกและในอรรถกถาชาดกต่างๆ ซึ่งจะต้องถึงที่สุดของความอดทน คือ การอบรมเจริญบารมีทั้งหลาย แม้ขันติบารมี ก็จะถึงความสมบูรณ์ ถึงที่สุดของการอบรมนั้นได้ สำหรับ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย ก็ได้บรรลุความเป็นพระอริยบุคคล ทั้งขั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์

นี่คือผลของการอบรมสะสมขันติบารมี

เปิด  256
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566