แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1928
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤษาภาคม ๒๕๓๓
พระ ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุมีความเห็นต่างๆ กัน จนมีบทบัญญัติสิกขาบทข้อหนึ่งในปาจิตตีย์ เรื่องพระอริฏฐภิกษุ ก็มีความเห็นไปทางฆราวาสว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชาวบ้านก็สามารถบริโภคได้ ไม่กั้นต่อการปฏิบัติธรรม ท่านจึงมีความเห็นว่า การสัมผัสผู้หญิงก็ไม่มีโทษ จนพระพุทธเจ้าได้บัญญัติสิกขาบทเป็นอาบัติ และเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นไม่ถูกต้องด้วย
เรื่องของการสัมผัสทางกาย มีบทบัญญัติไว้แล้ว แต่ทวารอื่นๆ เช่น ทางตา หู จมูก ลิ้น ยังไม่มีการบัญญัติสิกขาบท พระภิกษุบางรูปซึ่งได้เคยสนทนาธรรมกัน แสดงความเห็นว่า การลิ้มรสอาหารไม่มีบัญญัติไว้ ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานฆราวาสกับพระภิกษุก็มีนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นธรรมอย่างเดียวกัน ดังนั้น การเสพอาหาร รสอร่อย มีความต้องการในอาหารประเภทไหนก็ฉันได้ และสติระลึกไป ไม่ทราบว่า แบบนี้จะมีความเห็นผิดหรือเปล่า
สุ. ในพระวินัยบัญญัติไม่มีการห้ามรสอร่อย ไม่มีเลย แต่มีพระวินัยหลายข้อซึ่งเป็นไปในเรื่องการบริโภคของพระภิกษุ เช่น ต้องบริโภคในกาล หลังเที่ยงแล้วไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของการบริโภค แต่ไม่มีการบัญญัติไม่ให้บริโภคอาหารที่มีรสอร่อย
พระ แต่ควรสันโดษ มักน้อย
สุ. ถ้าพูดถึงควร ปาติโมกขสังวรศีล หมายความถึงการประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติสำหรับเพศภิกษุ ทุกข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ ถ้าพระภิกษุนั้นประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติทั้งหมด ก็เป็นปาติโมกขสังวรศีล มีความสังวรในพระปาติโมกข์ นอกจากนั้นยังมีอินทริยสังวรศีล เพราะแม้พระภิกษุบวชแล้วก็ยังเป็นปุถุชน ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญารู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคล ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน เมื่อเห็นอารมณ์ที่ดีประณีตทางตา จิตก็เกิดความยินดี ถ้าเห็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ จิตก็เกิดยินร้าย ไม่ว่าจะเป็นทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็นและเกิดอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้น ไม่ชื่อว่าอินทรียสังวร ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงไม่ได้มีแต่ปาติโมกขสังวรศีล แต่ต้องมีอินทริยสังวรศีลด้วย เพราะว่าเพียงการบวชไม่ได้ทำให้กิเลสดับ
พระ ศีลประเภทอื่นที่ละเอียดลงไป ซึ่งไม่มีบทบัญญัติที่เป็นโทษ เช่น ศีลในพระสูตร เป็นจุลศีล การประพฤติปฏิบัติต่างๆ ที่ไม่มีโทษ เช่น ในสมัยนี้ก็เป็นการอ่านหนังสือพิมพ์บ้าง รดน้ำมนต์บ้าง หรือสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติ มีข้อคิดเห็นที่ต่างกัน บางท่านก็ว่าไม่ควร บางท่านก็ว่าไม่มีโทษ ปฏิบัติได้ ผู้ที่ไม่ได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายก็ไม่มีปัญหา เพราะเขาไม่เห็นโทษต่างๆ แต่สำหรับผู้ที่ฟัง และเริ่มปฏิบัติ ควรมีข้อคิดเห็นอย่างไร
สุ. คงจะไม่ลืมว่า พระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคทั้งหมด เป็นไปเพื่อการละคลาย เพื่อการขัดเกลา เพียงเท่านี้ก็สามารถพิจารณาได้ด้วยตนเองว่า การกระทำแต่ละอย่างๆ ในแต่ละยุค ในแต่ละสมัยนั้น เป็นไปเพื่อความขัดเกลากิเลสของตนเองหรือเปล่า
ถ้าจะอ่านหนังสือพิมพ์ ขณะนั้นรู้ได้ทีเดียวว่าเพราะอะไร และในขณะที่ กำลังอ่าน จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลอย่างไร การอ่านนั้นเป็นไปเพื่อขัดเกลาหรือเปล่า หรือเป็นไปเพื่อส่งเสริมโลภะบ้าง โทสะบ้าง เพราะว่าข่าวต่างๆ ย่อมนำมาซึ่งความ ไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นข่าวไม่ดี และส่วนใหญ่ก็เป็นข่าวที่ไม่ดีเสียมากเจ้าค่ะ
พระ วีติกกมะเป็นเครื่องกั้นต่อฌานมรรคผลนิพพาน วิปัสสนาญาณนี่ จะเป็นเครื่องกั้นไหม
สุ. แล้วแต่อาบัติว่า เป็นอาบัติเล็กน้อย เป็นทุพภาษิต หรือเป็นปาจิตตียะ หรือถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งถ้าล่วงอาบัติปาราชิกแล้ว สิ้นสภาพความเป็นภิกษุ แม้บุคคลอื่นจะไม่รู้ บุคคลนั้นเองย่อมรู้ว่าตนเองไม่ใช่พระภิกษุ
สำหรับอาบัติปาราชิกเป็นครุกาบัติ เป็นอาบัติที่หนักมาก ถ้าบุคคลใดล่วงแล้วก็สิ้นสภาพความเป็นภิกษุ แต่ถ้าอาบัติอื่นที่ไม่ใช่อาบัติปาราชิก ถึงแม้เป็นอาบัติหนัก เช่น สังฆาทิเสส ก็ยังสามารถกระทำคืนได้ เพราะว่ายังคงเหลือเศษของความเป็นภิกษุอยู่บ้าง แม้เพียงเล็กน้อย
พระ ขณะที่ต้องอาบัติแล้ว ก็ปฏิบัติธรรมไปด้วย คือ พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้ว่าจะมีวิปฏิสาร คิดว่าวิปัสสนาญาณสามารถจะเกิดได้ไหม
สุ. ถ้าพระภิกษุรูปใดพิจารณาตนเองเห็นว่า ไม่สามารถดำรงเพศบรรพชิต ก็ลาสิกขา และถ้าไม่ต้องการเป็นคฤหัสถ์ก็ควรเป็นเพียงสามเณรซึ่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ถ้าเป็นพระภิกษุและล่วงอาบัติมากๆ บ่อยๆ ก็ไม่ควรแก่การที่จะเป็นพระภิกษุต่อไป เพราะว่าชีวิตของบรรพชิตกับชีวิตของคฤหัสถ์ต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน บรรพชิตเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์มากนัก เมื่อไม่สามารถดำรงอยู่ในเพศนั้นถึงขั้นอุปสมบทเป็นพระภิกษุ สามารถบรรพชาเป็นสามเณรและรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ควรลาสิกขา และเป็นสามเณร
พระ ศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติกับพระภิกษุมีมากมายนับประมาณไม่ได้ จะมีส่วนสำคัญอย่างไรกับการบรรลุธรรม เอื้อเฟื้ออย่างไรต่อปัญญาที่จะตรัสรู้ธรรม
สุ. เอื้อเฟื้อมากเจ้าค่ะ เพราะว่าพระวินัยบัญญัติทั้งหมดเป็นไปเพื่อการ ขัดเกลาทั้งหมด
พระ เรื่องของสติปัฏฐานแสดงไว้ว่า สัญญาอันมั่นคงเป็นเหตุใกล้ให้เกิด สติปัฏฐาน ยังไม่เข้าใจว่า สัญญาในที่นี้หมายความถึงความจำในลักษณะของนามรูป หรือทรงจำในการต้องทำกิจใดกิจหนึ่ง
สุ. การอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องของการอบรม เจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สัญญา ความจำที่นี่ ไม่ใช่จำเรื่องอื่นแน่นอน แต่ต้องเป็นความจำเรื่องนามธรรมและรูปธรรมที่เข้าใจ เช่น ในขณะนี้ได้ฟังมานับครั้งไม่ถ้วนว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ในขณะที่กำลังเห็น โดยการศึกษาบอกได้ว่าเป็นจักขุวิญญาณ หรือ เป็นจักขุทวาริกจิต ซึ่งหมายความถึงจิตที่อาศัยจักขุปสาทจึงเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทุกคนคงจะพูดคล่อง แต่ในขณะที่กำลังเห็นยังไม่คล่องที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้เท่านั้นที่กำลังเห็น ชั่วขณะสั้นๆ และมีธาตุรู้อีกอย่างหนึ่งซึ่งกำลัง ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาทั้งหมด ต้องเพื่อรู้ลักษณะของ สภาพธรรม ด้วยเหตุนี้สัญญา ความจำ ที่จะเกื้อกูลต่อการเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัญญาจำเรื่องอื่น แต่เป็นสัญญาจำลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังจนกระทั่งเข้าใจถ่องแท้ เป็นเหตุให้สติเกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ในขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้
พระ เบื้องต้นเป็นสัญญาที่ทรงจำเรื่องของปริยัติ
สุ. เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าปริยัติ บางคนก็ท่องเก่ง กามาวจรจิตมี ๕๔ ดวง แบ่งเป็น ๓ ประเภท จิตดวงนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร เป็นชาติอะไร เป็นภูมิอะไร ทำกิจอะไร อาศัยทวารอะไร เป็นการจำเรื่องราว แต่ไม่ได้รู้ว่า การจำเรื่องราวนั้น จำทำไม มานั่งจำกันทำไม
การศึกษาปริยัตติธรรมไม่ใช่ให้ไปนั่งจำทั้งหมด แต่เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าพูดถึงเรื่องจิตประเภทต่างๆ แบ่งวิญญาณธาตุออกเป็นวิญญาณธาตุ ๖ คือ วิญญาณธาตุทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก วันหนึ่งๆ ไม่พ้นจาก วิญญาณธาตุ ๖ มีพร้อมที่จะให้สติระลึกอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การศึกษา พระธรรม เพื่อให้เข้าใจตัวจริงๆ ของธรรม ไม่ใช่ให้เข้าใจเพียงเรื่องราวของธรรม แต่ให้เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ
บรรพชิตจะต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน พร้อมทั้งเป็นผู้ที่ ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติด้วย
เรื่องการอันตรธานของพระพุทธศาสนา เมื่อพระบรมสารีริกธาตุอันตรธาน เป็นกาลข้างหน้า ซึ่งในยุคนี้สมัยนี้ยังมีโอกาสได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เพราะว่าพระบรมสารีริกธาตุยังไม่อันตรธาน
การที่มีโอกาสได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ในขณะนั้นย่อมเป็นอนุสสติ ที่จะให้น้อมระลึกถึงสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์ เมื่อพระบรมสารีริกธาตุ ทุกองค์ยังรวมกัน ประกอบด้วยเนื้อ เอ็น เลือด และพระอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งในกาลที่อวัยวะและพระบรมสารีริกธาตุยังรวมกันเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกเป็นอันมาก ไม่มีผู้ใดเสมอ
การระลึกถึงพุทธกิจของพระองค์นั้น จะทำให้เป็นพุทธานุสสติที่จะเห็น การบำเพ็ญพระบารมีก่อนที่จะทรงตรัสรู้ และหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรง พระมหากรุณาแสดงธรรมเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์เป็นอันมาก เพราะฉะนั้น การได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ก็แล้วแต่ว่าจิตของใครจะน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณในสมัยใด
ขอกล่าวถึงพุทธกิจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านผู้ฟังน้อมระลึกถึงในสมัยที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อรรถกถาอุรุควรรค อรรถกถา กสิภารทวาชสูตร มีข้อความว่า
ปุเรภัตกิจ
คือ กิจก่อนภัต
กิจของมนุษย์ในโลกนี้เหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีต่างกันเลย แต่ผู้ที่ยังมีกิเลสก็มีกิจแบบมีกิเลส ส่วนผู้ที่หมดกิเลสก็ต้องมีกิจอย่างผู้ที่หมดกิเลส
ในตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงกระทำการบริกรรมพระวรกาย มีการล้าง พระพักตร์เป็นต้น เพื่อทรงอนุเคราะห์ผู้อุปัฏฐากและเพื่อให้พระวรกายผาสุก
เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ก็ต้องบริหารร่างกาย
พระองค์ทรงพักอยู่บนอาสนะอันสงัดจนถึงเวลาเสด็จบิณฑบาต ซึ่งบางครั้งเสด็จพระองค์เดียว บางครั้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เมื่อมีผู้อาราธนาให้รับภัตตาหาร ในเรือน ก็เสด็จไปยังเรือนนั้น
เมื่อกระทำภัตกิจแล้ว ทรงตรวจดูอุปนิสัยของบริษัทนั้นๆ แล้วทรงแสดง พระธรรมโดยประการที่บางพวกตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ บางพวกตั้งอยู่ในศีล ๕ บางพวกตั้งอยู่ในโสตาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล บางพวกบวช และภายหลังตั้งอยู่ในอรหัตตผล ครั้นทรงอนุเคราะห์อย่างนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จไปสู่พระวิหาร
ในตอนเช้าก็เป็นพุทธกิจที่ได้ทรงกระทำเป็นประจำ
เมื่อเสด็จไปสู่ที่ประทับที่พระวิหารแล้ว ทรงรอพระภิกษุทั้งหลายกระทำ ภัตกิจเสร็จ แล้วเสด็จไปยังพระคันธกุฎี ทรงล้างพระบาท ประทับยืน ณ แท่นประทับหน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงโอวาทภิกษุที่มาแวดล้อม ณ ที่นั้นว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้ามีได้ยาก การเกิดเป็นมนุษย์มีได้ยาก การถึงพร้อมด้วยศรัทธามีได้ยาก การบรรพชามีได้ยาก การฟังธรรมมีได้ยากในโลก
จากนั้นภิกษุทั้งหลายถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ทูลถามกัมมัฏฐาน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามควรแก่อุปนิสัยของภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเหล่านั้นกลับไปสู่ที่พักแล้ว พระองค์เสด็จเข้าไปสู่พระคันธกุฎี ถ้าทรงพระประสงค์ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์ชั่วครู่โดยปรัศว์เบื้องขวา ครั้นมีพระวรกายสำราญแล้ว เสด็จลุกขึ้นทรงตรวจดูโลก
นี่คือพุทธกิจในตอนเช้า ตอนกลางวัน และตอนกลางคืน จะแบ่งตอนกลางวันออกเป็น ๓ ยาม และตอนกลางคืน ๓ ยาม ยามละ ๔ ชั่วโมง
จะเห็นได้ว่า ทรงพระมหากรุณาที่แสดงพระธรรม แม้ว่าเสด็จไปเสวยภัตตาหาร กระทำภัตกิจในเรือนซึ่งมีผู้อาราธนา เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จก็ตรวจดูอุปนิสัย ของบริษัทในที่นั้นแล้วทรงแสดงธรรม และเมื่อกลับมาถึงพระวิหารแล้ว ก็ยังทรงรอให้พระภิกษุซึ่งฉันที่โรงกลมทำภัตกิจเสร็จ เมื่อเสด็จไปยังพระคันธกุฎี ก็ไม่ได้เข้าสู่ พระคันธกุฎีทีเดียว แต่ยังประทับยืนทรงโอวาทและให้โอกาสแก่ภิกษุทั้งหลายทูลถามปัญหาต่างๆ ภายหลังจึงได้เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี
ชนทั้งหลายในคามนิคมนั้น ในปุเรภัต ถวายทาน ในปัจฉาภัต ถือเอาดอกไม้และของหอมเป็นต้นไปสู่พระวิหาร ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม อันสมควรแก่กาล สมควรแก่ประมาณ ครั้นทรงรู้กาลแล้ว ทรงส่งบริษัทกลับ ต่อจากนั้นถ้ามีพระประสงค์จะชำระพระวรกาย ก็เสด็จลุกจากพระพุทธอาสน์ เสด็จไปสู่โอกาสที่มีผู้อุปัฏฐากตระเตรียมน้ำไว้ เสด็จเข้าสู่โรงอาบน้ำ ทรงชำระ พระวรกายแล้ว เสด็จไปในเรือนบริเวณพระคันธกุฎี ประทับนั่งพระองค์เดียวเท่านั้น ทรงหลีกเร้นชั่วครู่
ก็เหมือนชีวิตของทุกคนในโลกนี้ ตอนบ่ายๆ หลังจากที่ทรงแสดงธรรมกับผู้ที่ ไปเฝ้า เช่น ชาวบ้านในเขตที่พระองค์ประทับ ซึ่งตอนเช้าท่านเหล่านั้นได้ถวายทาน ตอนบ่ายก็มาเฝ้าเพื่อจะฟังพระธรรม และเมื่อฟังพระธรรมสมควรแก่เวลาแล้ว กลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงชำระพระวรกาย และเสด็จเข้าสู่บริเวณพระคันธกุฎี ยังไม่ได้เข้าไปในพระคันธกุฎี ประทับนั่งพระองค์เดียวเท่านั้น ทรงหลีกเร้นชั่วครู่
เป็นชีวิตที่มีประโยชน์มาก เมื่อกระดูกทุกชิ้นทุกองค์ยังรวมกันอยู่พร้อมทั้ง พระอวัยวะ ก็ได้กระทำพุทธกิจต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก
ลำดับนั้น ภิกษุมาจากที่นั้นๆ มาสู่ที่ประทับนั่ง บางพวกทูลถามปัญหา บางพวกทูลขอกัมมัฏฐาน บางพวกทูลขอฟังธรรม พระผู้มีพระภาคทรงยังความประสงค์ของภิกษุเหล่านั้นให้สำเร็จจนถึงปฐมยาม
คือ ตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ถึง ๔ ทุ่ม
ในมัชฌิมยาม เทวดาในหมื่นโลกธาตุทั้งหลาย เมื่อได้โอกาสก็เข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหา จนถึงปัจฉิมยาม
คนอื่นจะทำได้อย่างนี้ไหม ทั้งวัน
ต่อจากนั้นทรงกระทำปัจฉิมยามให้เป็น ๔ ส่วน
ส่วนที่ ๑ ทรงจงกรม
เพราะว่าประทับนั่งมานานมากตลอดทั้งวัน
ส่วนที่ ๒ เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์โดยปรัศว์เบื้องขวา
เพียงชั่วโมงเดียว เพราะว่าปัจฉิมยามแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน
ส่วนที่ ๓ ทรงยังเวลาให้ล่วงไปด้วยผลสมาบัติ
ส่วนที่ ๔ ทรงเข้าพระมหากรุณาสมาบัติ ตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อเสด็จไปโปรดผู้มีอุปนิสัยควรแก่การบรรลุมรรคผล
นี่เป็นปัจฉาภัตกิจระหว่างที่ยังไม่ปรินิพพาน จะเห็นได้ว่า ชีวิตของพระองค์ เป็นชีวิตที่เกื้อกูลต่อสัตว์โลก และสำหรับชีวิตของทุกท่านในขณะนี้ซึ่งกระดูกทุกชิ้น ยังรวมกัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อ ยังไม่กระจัดกระจาย ก็ควรที่จะทำประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพื่อเป็นการประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้
บางท่านกลัวว่าจะนอนน้อยไป ใช่ไหม แต่ตามความเป็นจริง ถ้าตื่น มีโอกาสที่ปัญญาจะเจริญได้ ถ้าสัญญาความจำมั่นคงในเรื่องนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมและอบรมเจริญปัญญา ได้มากกว่าในขณะที่จะนอนหลับ
เพราะฉะนั้น บางวันอาจจะง่วงมากและหลับมาก และบางวันอาจจะนอน ไม่หลับ แต่ถ้าใครนอนไม่หลับ อย่าเดือดร้อน ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษซึ่งเป็นกุศล ดีกว่าเป็นภวังคจิต เพราะขณะที่นอนหลับสนิทไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญาไม่สามารถเจริญที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้