แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1931

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๓


สุ. ท่านผู้ฟังก็ได้พบกับผู้เขียนเรื่องเหตุใดผมจึงศึกษาพระพุทธศาสนาแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่า แต่ละท่านที่เข้ามาสู่พระธรรม มีชีวิตต่างๆ กัน เช่น ท่านผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ท่านกล่าวว่า ท่านถูกบังคับทางอ้อม แต่ความจริงเป็นมหากุศลของ ผู้ที่มีความหวังดีและมีอุบายที่จะให้บุคคลอื่นได้สนใจพระธรรม เป็นผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เพราะถ้ามิตรสหายท่านใดมีความหวังดีต่อท่านอย่างมาก โดยการ ให้ท่านสามารถตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย มีความสนใจที่จะศึกษาธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรม ก็นับว่าท่านเป็นบุคคลที่มีมิตรสหายที่ดี

คุณโกวิท อมาตยกุล เป็นผู้ที่คุยสนุกมาก และมีชีวิตซึ่งหลายท่าน น่าจะสนทนาด้วย ไม่ทราบว่ามีท่านผู้ฟังที่อยากจะสนทนากับคุณโกวิทต่อบ้างไหม

ผู้ฟัง ฟังท่านพูดและได้อ่านหนังสือที่ท่านเขียนแล้ว อยากจะแสดงความรู้สึก ที่จะทำให้ท่านได้รู้ว่า คนฟังรู้สึกอย่างไรจากที่ท่านได้พูด เดิมผมไม่รู้จักคุณโกวิท ผมอ่านหนังสือท่านแล้วผมได้อะไรหลายๆ อย่าง คือ ท่านจับประเด็นสำคัญๆ มาชี้ให้เห็นง่ายๆ ท่านเอาเรื่องที่ง่ายๆ ในความรู้สึกของท่าน ท่านจับหลักแค่นี้ และท่านก็มาพูด ซึ่งเป็นสาระสำคัญจริงๆ ผมขอกราบเรียนท่านที่เคารพทุกท่านว่า ผมได้จากท่านจริงๆ ที่ว่า มีสติระลึกรู้ หนังสือเล่มนั้นสอนให้ผมเริ่มตั้งต้นได้ถูก จากที่สับสน และการที่ท่านมาพูดวันนี้ ท่านก็ถ่อมตนว่า ท่านรู้สึกว่าเป็นผู้ไม่รู้ ซึ่งยิ่งฟังก็ยิ่งชัดว่า ท่านรู้น้อย แต่รู้จริงและรู้แก่น อยากจะให้กำลังใจท่านว่า สิ่งที่ท่านพูดนั้น พูดด้วยความรู้และเมตตาจิตอย่างสูง เกิดประโยชน์แก่เรา ผมขอ ถือโอกาสนี้ ขอบคุณคุณโกวิท ขอให้ปรบมือพร้อมๆ กัน

(เสียงปรบมือ)

สุ. ท่านผู้ฟังท่านอื่นๆ คงจะเห็นด้วย เพราะว่าดิฉันได้รับฟังข้อความ อย่างที่คุณชินวุฒิพูดนี้จากท่านผู้อ่านทุกท่านทีเดียว และหนังสือเล่มนี้ก็เป็นที่สนใจของทั้งท่านที่เพิ่งเริ่มจะสนใจธรรมและท่านที่สนใจธรรมแล้ว พิมพ์หลายครั้งและ เป็นจำนวนมากทุกครั้ง แต่ก็ยังคงมีผู้ที่ต้องการอยู่เรื่อยๆ เป็นหนังสือที่เหมาะสม ในการแนะแนวทางเจริญวิปัสสนาสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มจะสนใจ

ผู้ฟัง ผมอยากจะพูดถึงคุณโกวิท อมาตยกุล สักเล็กน้อย คือ ท่านเป็นผู้ที่จับประเด็นได้ดี และฟังได้ดีทีเดียว สังเกตได้จากเวลาพบกันที่บ้านอาจารย์สุจินต์ ปีหนึ่งประมาณ ๒ – ๓ ครั้ง ท่านไม่ค่อยได้สนทนาธรรม แต่ท่านสนทนาอะไรๆ สนุกๆ ของท่านไป แต่วันนี้ได้ยินท่านพูด และได้อ่านหนังสือของท่านแล้ว ก็มั่นใจว่า ท่านเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานที่ท่านอาจารย์บรรยายจริงๆ

สุ. ทุกท่านคงจะเห็นด้วยกับคุณอดิศักดิ์ และคงยินดีที่มีโอกาสพบตัวจริงของท่านผู้เขียน

ผู้ฟัง เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อนผม ๒ คน ได้มาที่นี่มาฟังอาจารย์ ผมได้มอบหนังสือให้ไปหลายเล่ม รวมทั้งของคุณโกวิทด้วยซึ่งเขาเรียกว่าหนังสือที่มี ใบโพธิ์ เขาบอกว่า อ่านแต่หนังสือใบโพธิ์เล่มเดียว อ่านเล่มอื่นแล้วยังจับไม่ถูก ยาก และมากมาย อ่านหนังสือใบโพธิ์แล้วติดใจ แต่ไม่รู้ว่าหายไปไหน ไปไหนก็ เอาไปด้วย ผมจึงมาพูดเพื่อเป็นการชมเชยและอนุโมทนาที่คุณโกวิทได้ทำไป เพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน

สุ. การอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นจิรกาลภาวนาซึ่งจะต้องอบรมเป็นเวลานาน และที่เคยกล่าวถึงแล้วก็พูดเรื่องของกัป เช่น พันกัป หมื่นกัป แสนกัป หรือ ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่เพื่อให้ท่านผู้ฟังท้อถอย แต่เพื่อไม่ให้ประมาท คือ ไม่ใช่คิดว่า สามารถถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้โดยเร็วในชาตินี้ หรือใน ๗ วัน ใน ๗ เดือน ใน ๗ ปี เมื่อเหตุยังไม่สมควรแก่ผล ผลที่ถูกต้องจะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องกัปหรือเรื่องเวลานาน เพราะว่าท่านผู้ฟังอาจจะเคยอบรมเจริญมาแล้ว ใครจะรู้ว่านานเท่าไร เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นในชาตินี้เองที่ท่านสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือในชาติต่อไปๆ แต่ ไม่ควรที่จะคิดว่า เมื่อไร ต้องเป็นผู้ที่จริงใจและก็ตรงว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ เช่น ในขณะนี้ เห็น เป็นสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ สติสัมปชัญญะไม่ผิดปกติเลย ถ้ามีความสามารถเข้าใจว่า ขณะนี้ลักษณะที่เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ และ สิ่งที่ปรากฏก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หลังจากนั้นจึงมีการนึกคิด เป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคลจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาทั้งสิ้น และให้ทราบว่า ขณะที่กำลังคิดนึกไม่ใช่ขณะที่เห็น เห็นเพียงเห็น เพื่อที่จะแยกให้ออกว่า เห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้เห็น หลังจากนั้นเป็นคิด ต้องแยกให้ออกระหว่างปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะ

เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลสามารถรู้ตัวเองตามความเป็นจริง เป็นปัจจัตตัง ความรู้ความเข้าใจขณะที่ฟัง ขณะที่สติเกิด ขณะที่เริ่มพิจารณา ขณะที่เข้าใจ และขณะที่รู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนแต่เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมนั้น เป็นอย่างไร เป็นผู้ที่ตรงและจริงใจจึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

แต่วันหนึ่งๆ การพิจารณาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมากจริงๆ เช่น ทุกขณะ ในชีวิตประจำวันเคยระลึกได้บ้างไหมว่า ติดทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่รู้ตัว การติดในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่เห็น และทางใจที่คิดนึก เรื่องราวต่างๆ ทางหูที่ได้ยินเสียง และทางใจที่รู้เรื่องราวของเสียงที่ได้ยินต่างๆ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งหมดทราบไหมว่า ติดโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ติดในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏทุกเหตุการณ์ ถ้าท่านเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดและรู้สึกไม่ถูกใจ ทราบไหมว่าเพราะอะไร ก็เพราะว่าท่านติดในสิ่งที่ท่านพอใจ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่พอใจก็ขุ่นเคืองใจ ด้วยเหตุนี้ ถ้าสาวไปถึงทุกขณะในชีวิตจะพบว่า ไม่ว่าจะเห็น ดูเหมือนธรรมดา แต่ความจริง ติดแล้วในสิ่งที่เห็น มีสัญญาวิปลาส มีจิตตวิปลาส เพราะความคุ้นเคยที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ นี่ก็ติดแล้วอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เวลาฟังธรรมก็รู้ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ทำไมทันทีที่เห็นเป็นคนอีกแล้ว

แสดงให้เห็นถึงความคุ้นเคยอย่างมากกับการติดในสิ่งที่เห็นโดยไม่ระลึกรู้ ความจริงของสภาพธรรม แม้ว่าได้ฟังแล้วฟังเล่าในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ต้องฟังอีก และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก จึงจะค่อยๆ คลายความติด โดยขณะใดที่สติเกิด เป็นขณะที่จะระลึกรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ว่า ขณะนี้ ทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ

จะต้องอบรมเจริญปัญญาอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะรู้ความจริง ไม่ว่าขณะใด ที่สติเกิด เป็นปกติอย่างนี้ โดยเปลี่ยนจากการที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่มั่นคง เป็นรู้ว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏ และนึกถึงสิ่งที่ปรากฏ จึงเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ

เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรในชีวิตที่ประเสริฐเท่ากับการได้รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง เพราะว่าไม่ใช่การหลอกลวง ไม่ใช่การเข้าใจผิด ไม่ใช่การเห็นผิด แต่เป็นสิ่งซึ่งไม่ง่ายในการที่จะรู้สัจจธรรม เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่ตรงและจริงใจต่อการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เริ่มศึกษาพระธรรมใหม่ๆ ท่านไม่อยากถามปัญหาที่ท่านคิดว่าเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งให้คนอื่นได้ยินได้ฟังด้วย ท่าน อยากถามเป็นการส่วนตัว เพราะท่านกลัวว่า เมื่อคนอื่นได้ฟังจะพลอยเข้าใจ ความละเอียดลึกซึ้งของธรรมที่ท่านถามด้วย ท่านเกรงว่า เมื่อคนอื่นเข้าใจธรรม ส่วนที่ละเอียดลึกซึ้งนั้นก็จะเก่งกว่าท่าน เพราะฉะนั้น ท่านก็อยากจะรู้คนเดียว แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นจริงใจต่อการละกิเลสหรือเปล่า แต่ท่านผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ มีสัจจะ มีความจริงใจเกิดขึ้นในภายหลังที่จะเห็นว่า ขณะนั้นเป็นกิเลสที่น่ารังเกียจ จริงๆ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าบุคคลใดไม่เห็น ไม่รู้อกุศลของตนเองว่า เป็นอกุศล ก็ย่อมละอกุศลนั้นไม่ได้ แต่เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศลและเห็นโทษ ก็พยายาม ที่จะละ ไม่ใช่เป็นผู้ที่เมื่อเป็นอกุศลก็หลงคิดว่าไม่ใช่อกุศล ซึ่งอย่างนั้นก็มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ทุกท่านเมื่ออกุศลเกิด อย่าหลงไปอีกว่า ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล

ผู้ฟัง ในสมัยที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ไปรู้อะไรมา เช่น เรียนคณิตศาสตร์ไปได้ คีย์มา เราก็เก็บเอาไว้ด้วยความหวง ฉะนั้น ตอนที่ท่านมาศึกษาธรรมใหม่ๆ ท่าน ก็คงติดนิสัยแบบนั้นมา ส่วนตอนที่ทำงานแล้ว อะไรที่ได้มาและเป็นทางทำมาหากิน เราจะเก็บเอาไว้ไม่ให้ใครรู้ง่ายๆ แบบนี้ทั่วๆ ไปมีมาก เช่น นักกฎหมาย ถ้าเขารู้ คำพิพากษาที่ศาลฎีกาเคยตัดสินมาอย่างไร เขาจะเก็บเอาไว้ ไม่บอกใคร ก็มีมาก แต่สำหรับตัวผมเอง ไม่เป็นอย่างนั้น จะเป็นก็น้อย ส่วนมากใครถามมักจะรีบบอก มีเท่าไรบอกหมด มาศึกษาธรรมแล้วเรื่องจะตระหนี่ธรรมไม่มี จนบางครั้งรู้สึกว่า ปล่อยจนเกินไป น่าจะสงวนท่าทีไว้บ้าง

สุ. หมายความว่าอย่างไร ปล่อยจนเกินไป

ผู้ฟัง คือ อยากให้เขารู้ให้หมดเท่าที่เรารู้ อะไรอย่างนี้ ก็จะกลายเป็นว่า เขาอาจจะมองเราว่า รู้จริงหรือเปล่า ก็เกรงๆ อยู่อย่างนี้เหมือนกัน เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งในชีวิตจริงๆ ที่อาจารย์พูดเรื่องการหวงแหน แต่สำหรับตัวเองไม่ได้ค่อย หวงเท่าไร ปล่อยไปเสียมาก

สุ. ทุกท่านที่ได้เข้าใจพระธรรม ก็เห็นความสำคัญของขันติ คือ ความอดทน ที่จะต้องเพียรศึกษา ฟังพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรมต่อไป และ ยังต้องมีความจริงใจต่อการที่จะศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นบารมีต่อไป คือ สัจจบารมี

เปิด  239
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565