แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1933

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๓


เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายและเทวดาหลายพัน ก็ชื่นชมท่านพระอานนท์ว่า สาธุ สาธุ แผ่นดินก็ไหว ความอัศจรรย์อย่างอื่นก็ปรากฏมากมาย และเทวดามากหลายก็เกิดความสังเวชว่า คำใด เราฟังมาต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค คำนั้นแม้เหตุการณ์ผ่านพ้นสายตามาแล้ว ก็มาเกิดได้

คือ แม้พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว และพระอรหันต์เถระทั้งหลายที่ทำสังคายนาก็เคยได้ฟังคำนั้นมาแล้ว แต่แม้กระนั้น คำที่ได้ยินนั้น เหตุการณ์นั้น ผ่านพ้นสายตามาแล้ว คือ ไม่ได้เห็นอีกแล้ว แต่ก็มีโอกาสได้ยินคำนั้นอีก ซึ่ง เป็นอนุสสติที่จะทำให้ท่านผู้ฟังระลึกได้ถึงการเคารพพระรัตนตรัย แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปนานแสนนาน แต่ทุกครั้งที่ได้ยินพระธรรม ก็จะเห็นคุณค่าและเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้โสตวิญญาณกุศลวิบากในชาตินี้เกิด เพราะว่ามีการสะสมของกุศลในปางก่อน ที่ทำให้ได้ยินคำนี้อีก

ท่านพระอานนท์ปลอบใจผู้มีใจกระสับกระส่ายเพราะไม่พบพระผู้มีพระภาคว่า ปาพจน์ คือ พระธรรมวินัยนี้ ชื่อว่ามีศาสดาล่วงแล้วหามิได้ ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย

ความหมายของ เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ก็โดยที่ท่าน พระอานนท์ต้องการที่จะปลอบใจพุทธบริษัทรุ่นหลัง ซึ่งอาจจะรู้สึกโทมนัสที่ไม่ได้พบพระผู้มีพระภาค แต่ให้ทราบว่า ปาพจน์คือพระธรรมวินัยนี้ ชื่อว่ามีศาสดาล่วงแล้วหามิได้ เพราะว่า ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย

ที่จะรู้ว่า มีพระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาจริงๆ หรือไม่ ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟัง พิจารณา และประพฤติปฏิบัติตามโดยถูกต้อง

ก็พระเถระเมื่อกล่าวว่า เอวํ ชื่อว่าแสดงเทศนาสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยเทศนา

เพราะว่าต้องมีผู้แสดงจึงมีผู้ฟัง ถ้ามีแต่ผู้ฟัง ไม่มีผู้แสดง ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพียงคำว่า เอวํ ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเทศนาสมบัติ คือ ความถึงพร้อมด้วยเทศนา

เมื่อกล่าวคำว่า เม สุตํ ชื่อว่าแสดงสาวกสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งสาวก

ไม่ใช่คนอื่น แต่ข้าพเจ้า คือ ท่านพระอานนท์ ผู้เป็นเอตทัคคะถึง ๕ สถาน เป็นผู้ที่กล่าวว่า เม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

เมื่อกล่าวคำว่า เอกํ สมยํ ชื่อว่าแสดงกาลสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งกาลที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา

วันนี้ หลายชั่วโมงผ่านไป กาลสมบัติหรือเปล่า ขณะที่ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่ขณะที่กำลังฟังพระธรรม ให้ทราบว่า ขณะนี้เป็นขณะที่ถึงพร้อมแห่งกาลที่ได้ฟังพระธรรม เพราะโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่ง่าย ถ้ามีธุระสำคัญนิดเดียวก็ไม่ได้ฟังแล้ว เป็นโอกาสของการฟังสิ่งอื่น เพราะฉะนั้น เอกํ สมยํ ชื่อว่า แสดงกาลสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งกาลที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา

เมื่อกล่าวว่า ภควา ชื่อว่าเทศกสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งผู้แสดง

ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ภควา คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้แสดง

ส่วนคำว่า ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกะ เขตพระนคร สาวัตถี ในคำทั้ง ๒ นั้น ท่านพระเถระแสดงการอนุเคราะห์คฤหัสถ์ของ พระผู้มีพระภาคด้วยการระบุกรุงสาวัตถี แสดงการอนุเคราะห์บรรพชิตด้วยการระบุพระเชตวันเป็นต้น

สำหรับท่านพระอานนท์เถระ ท่านเป็นเอตทัคคะถึง ๕ สถาน ขอกล่าวอีก ครั้งหนึ่ง ซึ่งข้อความใน อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต วรรคที่ ๔ มีว่า

แม้พระเถระรูปอื่นๆ ที่เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐากก็มีอยู่ ส่วนท่านพระอานนท์นี้ เล่าเรียนพระพุทธวจนะ ก็มั่นอยู่ในปริยัติดุจผู้รักษาเรือนคลังในศาสนาของพระทศพล เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวก ผู้เป็นพหูสูต

ความจริงก็ปรากฏชัด เอวมฺเม สุตํ และข้อความในพระไตรปิฎกในส่วนของพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก ถ้าท่านพระอานนท์ไม่มั่นอยู่ในปริยัติ ดุจผู้รักษาเรือนคลัง พระธรรมคงไม่สืบทอดมาถึงยุคนี้สมัยนี้

อนึ่ง สติที่เล่าเรียนพระพุทธวจนะแล้วทรงจำไว้ของท่านก็มีกำลังกว่าพระเถระรูปอื่นๆ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกผู้มีสติทรงจำ

การฟังพระธรรมเป็นกุศลจิต มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีสติเจตสิกเกิด ร่วมด้วย แต่สติของใครจะมีกำลังมั่นคงที่จะจำทุกคำโดยละเอียด ไม่คลาดเคลื่อน ไม่ตกหล่น ไม่บกพร่อง ก็จะพิสูจน์ได้สำหรับแต่ละคน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ท่านทรงจำเลิศกว่าภิกษุสาวกผู้มีสติทรงจำ

อนึ่ง ท่านพระอานนท์นี้นี่แล เพียงพระธรรมบทเดียวก็ถือเนื้อความได้ถึง ๖๐,๐๐๐ บท จำได้ทุกบทโดยนัยที่พระศาสดาตรัสไว้นั่นแล เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าสาวกผู้มีคติ

จิตทุกคนกำลังไปตามทางของจิต แล้วแต่ว่าจะไปทางตา จะไปทางหู จะไปทางจมูก จะไปทางลิ้น จะไปทางกาย นั่งอยู่ที่นี่ คติของจิตอาจจะไปไกลถึง ที่อื่นก็ได้ คือ มีทางที่จิตจะไปสู่อารมณ์ต่างๆ แต่สำหรับท่านพระอานนท์เป็นเลิศกว่าเหล่าสาวกผู้มีคติ เพราะว่าจิตของท่านไม่ไปอื่น นอกจากไปตามแนวพระธรรม เพราะแม้พระธรรมเพียงบทเดียว ท่านก็ถือเนื้อความได้ถึง ๖๐,๐๐๐ บท คือ เข้าใจตลอดไปทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทั้งปัจจัยแต่ละปัจจัยที่เกิดร่วมด้วย ทั้งปัจจัยที่ไม่มีในเจตสิกในจิตดวงนั้น ถ้าท่านอ่านพระไตรปิฎกโดยตลอด โดยเฉพาะคัมภีร์ปัฏฐานจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด และจะไม่เหลืออะไรไว้ให้คนอื่นคิดอะไรอีก คือ ข้อความที่ควรคิด ควรพิจารณา มีพร้อมเต็มหมดในที่นั้น แม้แต่จิตดวงนี้มีปัจจัยอะไรเกิดร่วมด้วย เจตสิกดวงนี้เกิดเพราะปัจจัยอะไรบ้าง และไม่ได้เกิดเพราะปัจจัยอะไรบ้าง ก็บอกไว้ครบถ้วนหมด เพราะฉะนั้น ก็เป็นของที่แน่นอนที่ว่า พระธรรม บทเดียว ท่านก็ถือเนื้อความได้คือเข้าใจตลอดไปถึง ๖๐,๐๐๐ บท

อนึ่ง ความเพียรไตร่ตรองธรรม ความเพียรสาธยายธรรม ความเพียรทรงจำธรรม และความเพียรอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคของท่านพระอานนท์รูปนั้นเท่านั้น ที่ภิกษุอื่นๆ เทียบไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุผู้มีธิติ

ธิติ คือ ความทรงไว้ ความตั้งมั่น ความมั่นคง ความแน่วแน่ ความเพียร ความพยายาม กำลัง ปัญญา

อนึ่ง ท่านพระอานนท์รูปนั้น เมื่ออุปัฏฐากพระตถาคต ก็ไม่อุปัฏฐากด้วยอาการอุปัฏฐากของเหล่าภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากรูปอื่นๆ

คือ ภิกษุรูปอื่นๆ อุปัฏฐากไม่นาน เพราะว่าในสมัยปฐมโพธิกาล ๒๐ พรรษาแรก พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีภิกษุผู้อุปัฏฐากประจำ ภิกษุทั้งหลายผลัดเปลี่ยนกันอุปัฏฐาก เพราะฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้พระหฤทัยและพระพุทธประสงค์ในกาล และในการถวายการอุปัฏฐากเท่าท่านพระอานนท์

เพราะเหตุนี้ ท่านจึงชื่อว่าเป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกผู้อุปัฏฐาก

สำหรับอัจฉริยัพภูตธรรม คือ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ของท่านพระอานนท์ ๔ ประการ

อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต อัจฉริยสูตรที่ ๓ ข้อ ๑๒๙

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการนี้ ในเพราะอานนท์ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุบริษัทเข้าไปเพื่อเห็นอานนท์ ภิกษุบริษัทนั้นย่อมมีใจยินดีแม้ด้วยการเห็น ถ้าอานนท์กล่าวธรรมในบริษัทนั้น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมมีใจยินดีแม้ด้วยคำที่กล่าวนั้น ภิกษุบริษัทนั้นเป็นผู้ไม่อิ่มเลย ถ้าอานนท์เป็นผู้นิ่ง

ตลอดไปจนถึงภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท

ถ. ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องสัจจบารมี คือ ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นส่วนสำคัญ ก็มีคนฝากให้ช่วยถาม คือ ประการแรก คนที่นับถือพระเครื่อง โดยที่ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ รอดพ้นอันตราย เกิดเมตตา กับเพื่อให้ระลึกถึง พระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วย ประการที่ ๒ มีการสร้างพระเครื่องขึ้นมาเรื่อยๆ โดย พระเถระผู้ใหญ่ จึงเกิดความไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นของจริง ของไม่จริง ในนัย ของสีลัพพตปรามาส เชื่อเครื่องรางของขลัง ตรงไหนเป็น ตรงไหนไม่เป็น หรือเมื่อไรจึงจะเป็นการระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

สิ่งที่งงต่อไป คือ พระเครื่องบางองค์มีคุณประโยชน์จริงๆ เครื่องบินตกก็ ไม่ตายบ้าง มีอันตรายมากมายก็หลุดพ้นมาได้บ้าง เป็นที่เชื่อถือเคารพนับถือกัน และเสาะแสวงหากันด้วยราคาแพงๆ เลยไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นการเคารพบูชาถึง พระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นสัจจบารมีตามที่อาจารย์พูดถึง และตรงไหนเป็น สีลัพพตปรามาส งงไปหมด

สุ. ไม่มีในสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ท่านพระอานนท์กล่าว ไม่มีเลย เรื่องพระเครื่อง เรื่องอะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่สังคายนาพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นธรรมรัตนะ เป็นการถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นสรณะ ไม่ใช่การขอ แต่เป็นการถึงพระผู้มีพระภาคโดยการศึกษาและเข้าใจพระธรรม และประพฤติปฏิบัติตาม เพราะว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เพื่อให้สัตว์โลกผู้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้ศึกษา ได้ฟัง ได้เข้าใจ ได้อบรม จนกระทั่งสามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ แต่พระเครื่องไม่ได้ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ใครจะนับถือพระเครื่องสักเท่าไร คนนั้นก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ไม่ใช่ว่าจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะถ้าพ้นทุกข์อย่างแท้จริง คือ การไม่ต้องเกิดอีก เมื่อไม่เกิด ก็ไม่แก่ และไม่เจ็บ และไม่มีเรื่องเดือดร้อนที่จะต้องมาขอพระเครื่อง หรือให้พระเครื่องช่วยต่างๆ ซึ่งความจริงแล้วถ้ามีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรม เป็นผู้ที่มีปัญญา จะเข้าใจว่า ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

ถ. ถ้าไม่มุ่งต่อการหลุดพ้น พระเครื่องจะเกิดประโยชน์บ้างไหมจากเมตตา ของผู้สร้าง หรือจากบารมี หรือจากอานิสงส์ หรือจากอะไรก็ตามแต่ อาจารย์ที่ ทำการปลุกเสกอาจจะนึกถึงพระธรรม หรืออะไรก็ตามแต่ ...

สุ. ถ้าคิดว่า มีพระมาปลุกเสกก็น่าที่จะนับถือพระเครื่องนั้น เพราะว่า ได้รับการปลุกเสก ก็หมายความว่า นับถือพระภิกษุบุคคลผู้ปลุกเสก แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงว่าอย่างไร

ถ. อาจารย์พูดก็เข้าใจชัดเจน ผมก็เชื่อว่าอย่างนั้น แต่ก็ชวนให้สงสัย ตะกี้ที่ท่านอาจารย์พูดถึงการสร้างวัดวาอารามเป็นที่อาศัย ...

สุ. เป็นที่พักพิง เป็นที่ให้ความรู้ แม้แต่ขณะนี้ทุกท่านก็กำลังฟังพระธรรม ที่วัด แต่วัดไม่ใช่ของภิกษุบุคคล เพราะฉะนั้น ต้องมีปฏิการะ คือ การระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งวัดวาอารามทั้งหลายได้มีขึ้น สร้างขึ้น ก็โดยศรัทธาใน พระรัตนตรัย เพราะฉะนั้น ต้องมีปฏิการะ การทำในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ พระรัตนตรัย

ถ. ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ คือ เวลานี้เรากำลังทำการบูชาด้วยอามิส และสิ่งหนึ่งที่ทำกันมากซึ่งอาจจะไม่ใช่อามิสก็ได้ คือ สร้างวัดวาอาราม สร้างพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนในที่สุดสร้างพระเครื่อง พระบูชาต่างๆ เป็นปฏิการะหรือเปล่า

สุ. ต้องเป็นที่พึ่งพิงให้ได้เข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง

ถ. ตรงนี้ที่ผมพยายามถาม อยากจะติงว่า ถ้าจะทำ ก็ทำให้เกิดประโยชน์และตรงตามพระธรรมวินัย

สุ. ต้องตรงต่อพระรัตนตรัย สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพระรัตนตรัย ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความเห็นผิด ก็ต้องเป็นผู้ตรงที่จะไม่ส่งเสริม

ถ. จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่น่าจะเน้นกัน ใช่ไหม ถ้าจะสร้างวัดวาอาราม หรืออะไรก็ตาม ต้องเป็นปฏิการะ

สุ. เพื่อให้เข้าใจพระธรรม

ถ. แม้จะสร้างพระพุทธรูปใหญ่ๆ พระประธาน พระเครื่องก็ตาม ถ้าคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญในเจตนาที่จะสร้าง ...

สุ. ขอประทานโทษ ถ้าคุณชินวุฒิมีพระเครื่อง จะโดยที่ใครให้มาก็ตาม หรือได้มาโดยวิธีหนึ่งวิธีใดก็ตาม คุณชินวุฒิจะทำอย่างไร

ถ. วันนี้ผมไม่ได้แขวน ปกติผมแขวน ผมเจอพระที่ไหนๆ ในที่มืด ผมก็ไหว้พระพุทธรูป ไม่ใช่ต้องต่อหน้าคนอื่นจึงไหว้ นั่นคืออยู่ที่ใจ ก่อนที่ผมจะสวมพระเครื่อง ผมก็บูชาพระรัตนตรัย

สุ. ถ้ามีพระเครื่อง จะโกรธใคร ต้องระลึกได้ โกรธไม่ได้เสียแล้ว ใช่ไหม

ถ. ข้อนี้ดี ผมเพิ่งจะได้ยิน

สุ. ถ้ามีพระไว้สำหรับเป็นเครื่องระลึกถึงพระคุณ ถึงพระธรรมคำสอน ถึงการที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม พระเครื่องจะมีประโยชน์ต่อเมื่อทำให้ระลึกถึงว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงไว้ ไม่ใช่ว่ามีไว้เฉยๆ หรือมีไว้ขอ แต่มีเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม เตือนตัวเอง กำลังจะพูดสิ่งซึ่งไร้สาระ พระเครื่องอยู่ที่นี่ ต้องให้เป็นประโยชน์จริงๆ

ถ. เป็นประโยชน์อย่างสูง ผมได้ยินครั้งแรก ต้องจดจำไว้ใช้ต่อไป ดีจริงๆ เมื่อก่อนนี้เวลาโกรธใคร นึกหมั่นไส้ใคร ก็นึกแต่ว่าเป็นเพียงโทสะ ระลึกได้ก็ระลึกว่าเป็นโทสะ มานะ อิจฉา มันหมั่นไส้เขา แต่ตรงนี้ดี เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า มีพระเครื่อง เพื่อนึกถึงพระธรรมวินัย

สุ. ไม่เคยขอ ใช่ไหม

ถ. ไม่เคยขอ

สุ. มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า ท่านอธิษฐานเสียจนเหนื่อย อธิษฐานเสียจนเบื่อ เพราะก่อนจะนอนท่านสวดมนต์ไหว้พระ และขอทุกคืนๆ ตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี เดี๋ยวนี้ ไม่ขอแล้ว ขอก็เท่านั้น ไม่ขอก็เท่านั้น เพราะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ได้กระทำแล้ว

ถ้าเป็นผู้ที่กระทำสิ่งที่ดี และมีความมั่นใจในกรรมที่ดี ต้องขอไหม ในเมื่อทำกรรมดี และเวลาที่ได้รับอกุศลวิบากก็ต้องรู้ว่า ไม่ใช่คนอื่นทำให้เลย ถ้าบังเอิญมี คนอื่นเกี่ยวข้องกระทำให้ท่านบาดเจ็บเดือดร้อน ท่านอาจจะคิดว่า คนอื่นทำให้ แต่ถ้าไม่มีบุคคลนั้น ท่านเป็นเอง จะโกรธใคร ในเมื่อรู้ว่าต้องเป็นกรรมของท่านเองเท่านั้น

เปิด  240
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565