แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1934
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๓
ถ. เรื่องขอนี่ ผมว่าขอกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว พ่อแม่ก็สอนไว้ ขอทั้งนั้น
สุ. ยังไม่เหนื่อย
ถ. ผมอยากเสนอว่า ขอในลักษณะที่เป็นอย่างนี้ คือ ขอให้กุศลผลบุญ ที่เราประกอบนี้จงเป็นผลให้เป็นอย่างนั้นๆ ผมรู้สึกว่าการทำอย่างนี้ ทำให้เราเป็น คนใฝ่ดี มีความตั้งใจมั่นที่จะทำดีเพิ่มขึ้นไปๆ ตามลำดับ ผมรู้สึกว่ามีประโยชน์
สุ. อย่างนั้นเป็นผู้ที่รู้เหตุผล ไม่ใช่เป็นผู้ที่ไม่ทำเหตุแต่ขอ ถ้าเคราะห์ร้าย ก็ไปสะเดาะเคราะห์ ไม่ทำกรรมดี แต่ถ้าทำกรรมดีจะไม่ดีกว่าหรือ
เวลาที่รู้เหตุกับผล คือ รู้ว่ากุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นวิบากชนิดใดที่ปรารถนา ก็จะสำเร็จได้เพราะกุศลกรรมตามควรแก่เหตุนั้นด้วย ไม่ใช่ว่าปรารถนาผลใหญ่แต่เหตุนิดเดียว ถ้าปรารถนาผลใหญ่ เหตุก็ต้องใหญ่ด้วย และรู้ด้วยว่า เหตุนั้นจะทำให้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ และจะสำเร็จเมื่อไรก็แล้วแต่ ปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย ไม่ใช่ว่าเมื่อทำดีแล้วก็ขอให้กรรมดีให้ผลอย่างนั้นๆ และเวลาที่กรรมดียังไม่ให้ผลอย่างนั้นๆ ก็เริ่มโกรธ เริ่มเบื่อ หรือเริ่มคิดสงสัยว่า ทำไม ทำดีและขอมาตั้งนานแล้ว ยังไม่สำเร็จสักที ใช่ไหม
ถ. ใช่ ถ้าเราจะขอก็ให้มีหลัก ใช่ไหม
สุ. เป็นผู้ที่รู้เหตุผล รู้ว่ากุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากได้ แต่เมื่อไรไม่ทราบ จะตรงหรือไม่ตรง มากหรือน้อย ไม่ทราบ ต้องเป็นไปตามเหตุ
ถ้ามีความทุกข์ มีภัยพิบัติ มีเรื่องเดือดร้อน จะพึงพระรัตนตรัยอย่างไร
ถ. ก็คิดว่าเป็นเรื่องของกรรม เราสร้างเหตุดีวันนี้ดีกว่า สร้างเหตุที่ดี และพยายามค่อยๆ ลดกิเลส โลภ โกรธ หลงลงไป เท่านั้นแหละ และจะดีเอง
สุ. เห็นความจริงของพระธรรมที่ทรงแสดงไหม
ถ. เห็นชัดเจนแน่นอน
สุ. จะมีสุขตลอดไม่ได้ ทุกคนต้องมีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง และควรระลึกถึงหนทางที่จะทำให้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจริงๆ
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นที่นับถือของคนที่ มีความทุกข์มาก คนที่เดือดร้อนไปให้ท่านพรมน้ำมนต์ ก็พ้นทุกข์พ้นเคราะห์ ทำให้ มีผู้ที่เลื่อมใสมากทีเดียว ซึ่งพระภิกษุรูปนั้นท่านก็ได้เล่าให้ท่านผู้นั้นฟังว่า ท่านไม่ได้ ทำอะไรเป็นพิเศษเลย นอกจากน้อมระลึกถึงสัจจะ ความจริง คือ พระคุณของ พระรัตนตรัย และตั้งใจว่า ถ้าบุคคลนั้นมีกรรมที่สามารถจะหมดสิ้นไปได้ด้วยกุศล ที่ท่านมีการน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ก็ขอให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน แต่ถ้าไม่ใช่ถึงกาลที่เขาจะพ้นทุกข์พ้นความเดือดร้อน ถึงอย่างไรก็ พ้นทุกข์พ้นความเดือดร้อนไปไม่ได้
นี่ก็เป็นเรื่องจริง ธรรมดา ใช่ไหม ถ้าใครกำลังเดือดร้อน คนนั้นถ้ายังไม่หมดกรรม หรือยังต้องเดือดร้อนต่อไป ก็ต้องเดือดร้อนต่อไป แม้ไม่ไปหาภิกษุรูปนั้นก็ตาม แต่แม้กระนั้น ภิกษุรูปนั้นก็ไม่ได้ทำอย่างอื่น นอกจากระลึกถึงพระคุณของ พระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสัจจะ เป็นความจริง และมีการน้อมระลึกถึงกุศลของบุคคลนั้นว่า ถ้าเขาหมดเคราะห์ หรือมีโอกาสที่กรรมที่เป็นกุศลจะให้ผล ก็ขอให้กุศลที่เขามี ความเลื่อมใสนั้น ทำให้พ้นจากภัยอันตรายหรือความเดือดร้อนนั้นๆ
คิดดู ถ้าไม่ไป ระลึกเองก็ได้ ใช่หรือเปล่า หรือถ้าไปแล้ว มีโอกาสที่จะได้รับฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น มีความมั่นคงในเหตุในผล ในพระรัตนตรัยเพิ่มขึ้น ในกรรมเพิ่มขึ้น จะมีประโยชน์กว่าไหม ไม่ใช่เพียงแต่ไปรดน้ำมนต์เท่านั้น
สำหรับเรื่องของภัยพิบัติในชีวิต ไม่ได้มีแต่เฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ แม้สมัยก่อน ก็มี และสมัยต่อไปก็มี ซึ่งขอกล่าวถึงการบำบัดทุกข์ด้วยกุศลจิตที่ตั้งมั่นใน พระรัตนตรัย
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตรมีข้อความว่า
เมื่อกรุงเวสาลีเกิดทุพภิกขภัยและโรคภัยเบียดเบียนนั้น พวกเจ้าลิจฉวีเสด็จไปทูลเชิญพระผู้มีพระภาคให้เสด็จไปกรุงเวสาลี พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาว่า เมื่อพระองค์ตรัสรัตนสูตรที่กรุงเวสาลีจบแล้ว จะมีผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก จึงทรงรับนิมนต์
พระเจ้าพิมพิสารทรงตระเตรียมหนทางเสด็จ แล้วส่งเสด็จถึงแม่น้ำคงคา พวกเจ้าลิจฉวีพากันบูชารับเสด็จพระผู้มีพระภาคเป็นสองเท่าที่พระเจ้าพิมพิสาร ทรงกระทำการส่งเสด็จ
ลำดับนั้น มหาเมฆก็ตั้งขึ้นทั้ง ๔ ทิศ พอพระผู้มีพระภาคทรงยกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ใครต้องการเปียกก็เปียก ใครไม่ต้องการก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่งน้ำไหลพัดสิ่งปฏิกูลทั้งหลายลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน
พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ทุกๆ หนึ่งโยชน์ในระหว่างทาง ถวายมหาทาน ทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี
พระผู้มีพระภาคประทับยืนใกล้ประตูพระนคร ตรัสรัตนสูตร ท่านพระอานนท์เมื่อจะกล่าวรัตนสูตรเพื่อเป็นปริตร (ป้องกันอุปัทวอันตราย) ได้เอาบาตรของ พระผู้มีพระภาคใส่น้ำเดินปะพรมไปทั่วพระนคร โรคก็สงบไป
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับที่อาสนะที่เขาปูลาดไว้ ท่านพระอานนท์เมื่อทำอารักขาแล้ว ได้เข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมกับ ชาวกรุงเวสาลี พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสรัตนสูตร
พระผู้มีพระภาคทรงเริ่มตรัสสัจจวาจา เพื่อระงับอุปัทวภัยของมนุษย์เหล่านั้น และเพื่อการฟังธรรมของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยการประกาศคุณของ พระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
พระผู้มีพระภาคตรัสให้เทวดาและมนุษย์ที่มาเฝ้าฟังพระธรรม ตั้งใจฟัง เพราะเหตุว่าเทวดาและมนุษย์ ละทิพยสถานและความพรั่งพร้อมแห่งเครื่อง อุปโภคบริโภคในสถานนั้นๆ มาประชุมในที่นี้ก็เพื่อฟังธรรม ไม่ใช่เพื่อดูการรำ การฟ้อนเป็นต้น
อนึ่ง ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีจิตใจดีงาม ด้วยการตั้งตนไว้ชอบ ด้วย โยนิโสมนสิการ และด้วยความเป็นผู้อยากฟังโดยเคารพ ด้วยความเพียรที่ถูกต้อง อันเป็นเหตุใกล้ให้เข้าหาสัตบุรุษและการฟังธรรมจากผู้อื่น ฉะนั้น จึงควรตั้งใจฟัง
สำหรับเทวดาก็ละทิพยสถาน สำหรับมนุษย์ก็ละความพรั่งพร้อมแห่งเครื่องอุปโภคบริโภคในบ้านเรือนเพื่อมาฟังธรรม ไม่ใช่มาดูการฟ้อน การรำ ก็ควรที่จะ ฟังด้วยความตั้งใจ
เพราะเหตุที่ธรรมดาภาษิตของพระพุทธเจ้าหาได้ยากยิ่ง เพราะเป็นขณะที่ เว้นจากอขณะทั้งปวง จึงเป็นขณะที่หาได้ยากและมีอานิสงส์มาก เพราะเป็นขณะที่เป็นไปด้วยพระปัญญาคุณและพระมหากรุณาคุณเป็นต้น
เป็นความจริงไหม วันนี้ ถ้าตั้งใจฟังจริงๆ จะได้รับประโยชน์เต็มที่ แต่ถ้า ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง เผลอบ้าง นึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง เมื่อกี้พูดอะไร ลืมไป ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังพระธรรมก็ไม่เต็มที่
จากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสให้คนเหล่านั้นรวมทั้งเทพและอมนุษย์ทั้งหลาย มีเมตตาต่อผู้ที่ได้รับภัยพิบัติ อย่าเบียดเบียน และให้กตัญญู อารักขามนุษย์ผู้ทำการนอบน้อมเทพและทำบุญอุทิศแก่เทพ โดยถวายสลากภัตและจัดให้มีการฟังธรรม เป็นต้น
พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้มีเมตตาจิตก่อนฟังธรรม ขอให้ระลึกถึงประโยชน์ ที่จะได้รับจากการฟังพระธรรมจริงๆ ถ้าท่านผู้ใดโกรธมาจากบ้าน หรือยังผูกโกรธ คนหนึ่งคนใดอยู่และมาฟังพระธรรมทั้งๆ ที่กำลังโกรธ คิดดู จะรับพระธรรมได้ เต็มที่ไหม แต่บุคคลใดก็ตามที่มีเมตตาจิต ขณะนั้นจิตย่อมสงบจากอกุศลทั้งหลาย ขณะนั้นไม่คิดที่จะเบียดเบียนใครด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การรับฟังในขณะนั้น ก็ย่อมมีประโยชน์มาก
แม้แต่เพียงการจะฟังก็ควรรู้ว่า ก่อนฟังควรจะเป็นอย่างไร คือ ควรเป็นกุศล และมีเมตตา ขณะนั้นจิตไม่กังวล ไม่หมกมุ่น ไม่คิดถึงเรื่องความผูกโกรธ เรื่องโลภะ เรื่องโทสะ ซึ่งตามปกติจะมีการให้รับศีลก่อนฟังธรรม แต่ควรจะทราบว่า ศีลทั้งหลายจะสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อมีเมตตา เพราะขณะใดที่มีเมตตา ขณะนั้นไม่ล่วงศีล
ไม่ใช่เพียงรับศีล แต่ยังโกรธ เพราะว่าความโกรธอาจจะยังติดอยู่ ยังผูกไว้ ยังไม่ลืม เพราะฉะนั้น ฟังไปอาจจะเกิดโกรธอีกก็ได้ ถ้าหากไม่คิดว่ารับศีลก่อนแล้วฟัง แต่คิดว่าต้องมีเมตตาจิตด้วย ก็จะทำให้จิตใจในขณะนั้นผ่องใส เมื่อฟังเข้าใจ ก็จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามได้อย่างเต็มที่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บรรดาทรัพย์เครื่องปลื้มใจและรัตนะทั้งหลายนั้น รัตนะแม้แต่สักอย่างหนึ่ง ซึ่งเสมอด้วยพุทธรัตนะนั้น ไม่มีเลย
เวลากราบไหว้พระพุทธรูป เวลาเห็นพระเครื่อง หรือเวลาเห็นแก้วแหวนเงินทอง คิดอย่างนี้หรือเปล่า แหวนเพชรก็เป็นรัตนะ แต่ บรรดาทรัพย์เครื่องปลื้มใจและรัตนะทั้งหลายนั้น รัตนะแม้แต่สักอย่างหนึ่งซึ่งเสมอด้วยพระพุทธรัตนะนั้น ไม่มีเลย
ประการที่ ๑ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะว่าทำให้เกิดความยำเกรงสิ่งที่เป็นรัตนะ ไม่มีใครทิ้ง ใช่ไหม ไม่มีใครละทิ้ง ไม่มีใครทอดทิ้งสมบัติทั้งหลาย แต่ย่อมทำการพิทักษ์รักษาดูแลเป็นอย่างดี ให้ควรค่าแก่ความเป็นรัตนะนั้นๆ
ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า ทำให้เกิดความเคารพยำเกรง พระตถาคตเท่านั้นชื่อว่ารัตนะ
จริงอยู่ เมื่อพระตถาคตทรงอุบัติแล้ว เทวดาและมนุษย์ผู้มีศักดิ์มาก ทุกหมู่เหล่า ย่อมไม่ทำความเคารพยำเกรงในรัตนะอื่น ย่อมไม่บูชารัตนะอะไรๆ อื่น จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม เทวดาเหล่าอื่น และมนุษย์ทั้งหลาย มีพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าโกศล และท่านอนาถบิณฑิกะเป็นต้น ก็บูชาตามกำลัง พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสละพระราชทรัพย์ ๙๖ โกฏิ ทรงสร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง ทั่วชมพูทวีปอุทิศถวายพระผู้มีพระภาค แม้ทรงปรินิพพานแล้ว
ผู้ที่เคารพยำเกรงพระผู้มีพระภาค ย่อมกระทำการเคารพยำเกรงแม้สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่ทรงแสดงพระธรรมจักร และสถานที่ปรินิพพาน หรือแม้เจติยะ คือ พระปฏิมา (พระพุทธรูป)
รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต แม้อรรถว่า ทำให้เกิดความยำเกรง ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้
แก้วแหวนเงินทองเพชรนิลจินดาเป็นรัตนะ มีใครกราบไหว้บ้างหรือเปล่า ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าเป็นรัตนะจริงๆ ไหม แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัททั้งหลายก็ยังเคารพยำเกรงแม้สถานที่ที่ประสูติ สถานที่ที่ตรัสรู้ สถานที่ที่ประกาศพระธรรมจักร และสถานที่ที่ปรินิพพาน
ผู้ฟัง ธรรมของพระพุทธองค์แจ่มแจ้งทุกอย่าง พระพุทธรัตนะก็ประเสริฐที่สุด แม้อย่างนั้น เราเองฟังมาก็ดี หรือพูดว่า พุทธังสรณังคัจฉามิ ธัมมังสรณังคัจฉามิ สังฆังสรณังคัจฉามิก็แล้ว พระพุทธองค์ก็ตรัสพระธรรมเทศนาอีกว่า ต้อง ทุติยัมปิ ตติยัมปิ ตั้ง ๓ ครั้ง ปากเราก็พร่ำไปอยู่อย่างนั้น แต่เราก็ไม่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจริงๆ ได้ ตัวอย่างเช่น เวลาเดือดร้อนหนักๆ ป่วยเจ็บก็ดี หรือญาติพี่น้องพลัดพราก ขณะนั้นก็ระลึกถึงพระธรรมบทนั้นบ้างบทนี้บ้างว่าจะช่วยได้ไหม ก็คง ช่วยไม่ได้ เพราะไม่ทำให้ทุกข์โศกลดคลายไปได้เลย
สำหรับตัวเองแล้ว คิดว่าต้องเป็นประโยชน์แน่ แต่เราก็ไม่ได้ระลึกถึงเป็นที่พึ่ง จริงๆ เพราะเรายังประพฤติปฏิบัติหรือบำเพ็ญมาไม่เพียงพอ ยังไม่ได้เหตุปัจจัยพอที่จะระงับทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ เหล่านั้นได้ และพระพุทธองค์ก็ไม่ได้บอกว่า เมื่อนึกถึงแล้วโรคภัยจะหายไป ในขณะนั้นเราสามารถพิจารณาเรื่องกรรม เป็นของตน ซึ่งพระพุทธองค์ก็ตรัสไว้แล้วว่า คนเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา เมื่อนึกถึงคำสอนนี้ก็คลายทุกข์ไปได้บ้าง แต่คนที่อยู่ ใกล้ๆ กัน มีญาติป่วยเจ็บขนาดหนัก แต่ไม่สามารถพึ่งพาพระธรรมได้เลย
สุ. ถ้าไม่เข้าใจพระธรรมก็พึ่งพระธรรมไม่ได้
ผู้ฟัง ก็พยายามเข้าใจพระธรรมให้มากขึ้นๆ ผมจำได้ตัวผมเอง ๘ - ๑๐ ปี ป่วยชนิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เลย อยากเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิไปเลย แต่ในระหว่างที่ศึกษาธรรม ธรรมกับการป่วยเจ็บก็ต่อสู้กันว่า อะไรจริง สิ่งที่เราป่วยเจ็บ จริงแน่ๆ แต่ธรรมของพระพุทธองค์ที่ท่านตรัสไว้ก็จริง บางครั้งก็คิดว่า ป่วยเจ็บคง ไม่เที่ยงเหมือนกัน เดี๋ยวก็คงหาย มาเมื่อต้นปีนี้ รู้สึกว่าอาการป่วยเจ็บนั้นคลี่คลายไป ทำให้มองเห็นพระธรรมแจ่มชัดขึ้นว่า พระธรรมของพระพุทธองค์ท่านสอนทุกอย่าง ทุกแง่ ทุกมุม แม้เจ็บป่วยอยู่เราก็นำพระธรรมบทนั้นมาได้ หรือญาติพี่น้องป่วยเจ็บทุกข์ร้อน ก็นำมาช่วยได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เป็นยาที่ทาปุ๊บหายปั๊บ ต้องใช้เวลานาน ก็ยังยึดถืออยู่ในพระธรรมตลอดไป คิดว่าอย่างนั้น และพยายามระลึกถึง ธัมมังสรณังคัจฉามิ แต่บางครั้งก็มีการขอ เพราะความไม่มั่นคงในธรรม และอย่างที่อาจารย์ว่า ขอมานานแล้ว ขอมาตั้งแต่ยังไม่เรียนธรรม ขอแล้วได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เวลาได้ก็คิดว่าขอได้ เวลาไม่ได้ก็คิดว่า ขอไม่ได้นี่ ก็ต่อสู้กันว่า ขอได้ หรือขอไม่ได้ ถามตัวเอง แต่เมื่อศึกษาพระธรรมแล้วก็ต้องตอบว่า ขอไม่ได้ อย่างไรก็ขอไม่ได้ แต่ก็อดขอไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาไปรับคดีใหญ่ๆ มา เป็นกังวล อยากจะชนะคดีความ ก็มักจะขอในคดีนั้นอยู่เรื่อย อดไม่ได้เวลาที่เห็นวัด ก็ขอให้คดีนี้ชนะเถิด ยังอดขอไม่ได้ ยังมีอยู่เหมือนกัน