แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1935

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๓


ถ. ตอนไปกรุงเวสาลีที่ว่า พระอานนท์ทำการอารักขาทั่วเมือง เป็นการ ปะพรมน้ำมนต์หรืออย่างไร

สุ. ทุกท่านต้องคิดถึงเรื่องนี้แน่นอน และคงอยากจะทราบว่า ธรรมเนียมนี้มาจากครั้งไหน ที่ไหน อย่างไร

ความจริงก็คือว่า มีทุพภิกขภัยที่เวสาลี และเจ้าลิจฉวีมาทูลเชิญเสด็จ พระผู้มีพระภาคไป เพราะเห็นว่าพระองค์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เลิศ และกุศลของบุคคลอื่นที่จะเกิดจากการฟังธรรมย่อมเป็นปัจจัยทำให้ได้รับผลของกุศลนั้นๆ เพราะว่าไม่มีกุศลอื่นที่จะกระทำ นอกจากการฟังพระธรรม ไม่ใช่ทูลเชิญเสด็จไปเฉยๆ และพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงพิจารณาแล้วว่า เมื่อเสด็จไปเวสาลีและแสดงธรรมแล้ว จะมีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมมากมาย จึงได้เสด็จไปที่นั่น นี่ประการหนึ่ง

และเมื่อทรงแสดงรัตนสูตร ท่านพระอานนท์ก็กล่าวธรรมที่แสดงถึงคุณของ พระรัตนตรัยและปะพรมน้ำไป น่าคิด ใช่ไหม เพราะท่านพระอานนท์เป็นผู้ทำ แต่ อย่าลืม กุศลของใครก็ของคนนั้น กรรมของใครก็ของคนนั้น เพราะฉะนั้น กรรมของชาวเวสาลีมีไหมที่จะได้รับทุพภิกขภัย หรือมีกุศลกรรมไหมที่จะทำให้พ้นจากทุพภิกขภัย ถ้าผู้นั้นมีกุศลที่มั่นคงในพระรัตนตรัย เพราะว่ายามที่เดือดร้อนมีทุกข์ภัยต่างๆ ลืมคิดถึงพระธรรมกันส่วนใหญ่ อย่างที่บอกว่า ขอ ง่ายดี เร็วดีด้วย ไม่ต้องทำอะไรก็ขอ ขอพระภิกษุบุคคล หรือพระเครื่อง หรือพระพุทธรูปอะไรก็ขอ นั่นดูจะเป็นวิธีลัด เป็นวิธีง่าย แต่ไม่ใช่เหตุผล เหตุผลก็คือว่า กรรมของใครก็ของคนนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าชาวเวสาลีเกิดกุศลจิตมั่นคงในพระรัตนตรัย ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้พ้นจากภัยพิบัติและทุพภิกขภัยได้

และการที่ท่านพระอานนท์เอาบาตรของพระผู้มีพระภาคใส่น้ำ เดินไปทั่ว กรุงเวสาลี ก็เลยทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจในเหตุผลทำตาม เพราะว่าธรรมเนียมประเพณี ต่างๆ ถ้าไม่พิจารณาในเหตุผล เพียงทำ จะไม่เข้าใจในเหตุผลเลยสักอย่างเดียว แต่ธรรมเนียมทุกอย่างถ้าศึกษาให้เข้าใจถึงเหตุผล ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่า น้ำที่ ท่านพระอานนท์ประพรมไปนั้นจะมีประโยชน์อะไรบ้างหรือเปล่า

ท่านผู้ฟังฟังพระธรรม ก็หลงลืมสติบ้าง ใช่ไหม เผลอบ่อยๆ ถ้ามีคนเตือน อาจจะระลึกได้ และท่านพระอานนท์จะเตือนอย่างไร คนตั้งมากมายทั่วพระนคร เวสาลี แต่ถ้าประพรมน้ำเพื่อเป็นการเตือนให้ตั้งใจ ให้ระลึกถึงพระธรรม ให้เกิด กุศลจิต ให้ฟัง ให้มีใจที่มั่นคงแน่วแน่ อย่างนั้นก็เป็นอุบายอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้นั้น ไม่หลงลืมสติ แต่ไม่ใช่ว่าน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่คนมีโรคภัยไข้เจ็บ มีทุกข์ ไปพรมน้ำมนต์ที่ไหนก็จะหาย และถ้าหาย ก็เพราะว่าถึงกาลที่กรรมของเขาจะให้ผลอย่างนั้นๆ ถ้าไม่หาย ก็เป็นกรรมของบุคคลนั้นเองที่จะต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นคนที่มีเหตุผล

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังสามารถจะมีสติโดยไม่ต้องให้ใครมาสะกิด หรือ มาพรมน้ำมนต์ก็ได้ ท่านพระอานนท์ เมื่อจะกล่าวรัตนสูตร ได้เอาบาตรของ พระผู้มีพระภาคใส่น้ำเดินประพรมไปทั่วพระนคร ไม่ใช่พรมเฉยๆ แต่ เมื่อจะกล่าวรัตนสูตร และไม่ใช่กล่าวอย่างคนสมัยนี้ เพราะว่าอาจจะมีบางแห่งที่พรมน้ำมนต์แล้ว กล่าวรัตนสูตร แต่คนฟังเข้าใจในสูตรที่กล่าวหรือเปล่า นั่นก็แล้วแต่กุศลของแต่ละบุคคล

ถ. ที่อาจารย์พูดผมเข้าใจ แต่ผมสงสัยว่า ที่เมืองเวสาลีจะมีคนรู้ว่า ท่านพระอานนท์มาสะกิดให้คิดอย่างนี้สักกี่คน ผมว่าไม่มีเลย

สุ. นั่นชาวเวสาลี นี่ชาวกรุงเทพ เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เป็นกาลสมบัติ พระอรหันต์มากมาย นอกจากพระอรหันต์แล้วยังมีพระอริยบุคคล ทั้งพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี คนที่ฟังธรรมแล้วบรรลุได้ทันทีมี เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้คิดว่า ต่างกันไหม คนกรุงเทพมหานคร กับคนกรุงเวสาลี

ของเรายังต้องฟังและยังต้องคิดพิจารณาในเหตุผล แต่ท่านเหล่านั้นท่านต้องได้ฟังพระธรรมมาแล้วท่านจึงรู้ว่า ไม่มีรัตนะใดที่จะประเสริฐเท่าพระรัตนตรัย

ถ. เข้าใจแล้ว และที่พูดถึงพระรัตนตรัยว่า ยิ่งกว่ารัตนะทั้งหลาย คำว่า ยำเกรง ผมไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร

สุ. ไม่ดูหมิ่น ไม่ลบหลู่ ท่านผู้ฟังเห็นที่บูชาพระสกปรก ขัดถูเช็ดหรือเปล่า มีฝุ่นละออง ยำเกรงไหม หรือทิ้งไว้ ปล่อยไป

ประการที่ ๒

ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นใดชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า มีค่ามาก เช่น ผ้าแคว้นกาสี แม้เก่าก็ยังมีสีสัน มีสัมผัสสบาย และมีค่ามาก ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ แม้นั้นเสมอด้วยพระพุทธรัตนะย่อมไม่มี

ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า มีค่ามาก พระตถาคตเท่านั้นชื่อว่ารัตนะ

จริงอยู่ พระตถาคตทรงรับแม้บังสุกุลจีวรของชนเหล่าใด ทานนั้นของชนเหล่านั้นย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ทั้งนี้ก็เพราะพระตถาคตนั้นมีค่ามาก

รัตนะเสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่า มีค่ามาก ย่อมไม่มี ด้วยประการฉะนี้

เพราะถึงแม้จะมีทรัพย์เครื่องปลื้มใจอื่นๆ แต่ก็ไม่พ้นจากทุกข์ คนที่มีสมบัติมาก มีแก้วแหวนเพชรนิลจินดามาก โกรธหรือเปล่า เป็นทุกข์หรือเปล่า สำคัญตนหรือเปล่า เดือดเนื้อร้อนใจหรือเปล่า นี่ก็แสดงให้เห็นว่า รัตนะอื่นไม่ได้มี ค่ามากจริงๆ เพราะไม่ได้ทำให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ แต่พระพุทธรัตนะนั้น มีค่ามาก ด้วยการทรงตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็ทราบแล้วว่า อะไรมีค่าสูงสุดในชีวิต

ประการที่ ๓

ทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า ชั่งไม่ได้ ก็เหมือนกัน เช่น จักรรัตนะ ... หัตถิรัตนะ ช้างแก้ว ... อัสสรัตนะ ม้าแก้ว ... มณีรัตนะ ... อิตถีรัตนะ นางแก้ว ... คหปติรัตนะ เศรษฐีแก้ว ก็คือผู้ทำการงานตามปกติของพระราชา เพราะท่านเป็นผู้ที่สามารถเห็นขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ ท่านก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน และกระทำกิจที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของพระราชา เพื่อพระราชาจะได้ ไม่ทรงกังวล

ปริณายกรัตนะ ก็คือผู้ที่บริหารงานแผ่นดินแทนพระราชา เพราะเป็นผู้ที่ มีปัญญา รู้จิตใจของบริษัทหมู่ใหญ่ สามารถในการลงโทษ ในการยกย่อง เป็นผู้ที่ควบคุมบริหารงานและบริษัทบริวารได้

ก็หรือว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้อื่นใดเห็นปานนั้นชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า ชั่งไม่ได้ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันใดไม่สามารถพินิจพิจารณาตีราคาว่า มีค่า ๑๐๐ ๑,๐๐๐ หรือ ๑ โกฏิ ในทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้น แม้รัตนะสักอย่างหนึ่งซึ่งเสมอด้วยพุทธรัตนะไม่มีเลย

หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า ชั่งไม่ได้ พระตถาคตเท่านั้นชื่อว่ารัตนะ

จริงอยู่ พระตถาคต ใครๆ ก็ไม่สามารถพินิจพิจารณาโดยศีล โดยสมาธิ หรือโดยบรรดาปัญญาเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วกำหนดว่า ทรงมีพระคุณเท่านี้ ทรงเสมอหรือเทียบเคียงกับผู้นี้

รัตนะเสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่า ชั่งไม่ได้ ไม่มีเลย ด้วยประการฉะนี้

สมบัติพอชั่งได้ แต่สิ่งที่มีค่าจริงๆ ไม่ทราบว่าจะชั่งอย่างไร เหนือกว่านั้นคือ ไม่มีใครสามารถที่จะชั่งศีล สมาธิ หรือปัญญาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น รัตนะ โดยอรรถว่า ชั่งไม่ได้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ชื่อว่ารัตนะ

ประการที่ ๔

ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นใดชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า เห็นได้ยาก (คือ หายาก) ก็เหมือนกัน ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนี้ ก็คือ ความเป็นของปรากฏได้ยาก ได้แก่ พระจักรพรรดิ และรัตนะ ๗ ประการของพระจักรพรรดินั้น (ได้แก่ จักรรัตนะ หัตถิรัตนะ อัสสรัตนะ มณีรัตนะ อิตถีรัตนะ คหบดีรัตนะ ปริณายกรัตนะ) รัตนะแม้นั้นที่เสมอด้วยพุทธรัตนะไม่มี

ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า เห็นได้ยากไซร้ พระตถาคตเท่านั้นชื่อว่ารัตนะ ความเป็นรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น จักเห็นได้ยากมาแต่ไหนเล่า

คือ เมื่อเทียบกับการเห็นได้ยาก (การหาได้ยาก) หรือการเกิดขึ้นได้ยากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

จริงอยู่ รัตนะเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นเป็นอันมากในกัปเดียวเท่านั้น แต่เพราะ เหตุที่โลกต้องว่างเปล่าจากพระตถาคตนับเป็นอสงไขยกัป ฉะนั้น พระตถาคตเท่านั้น ชื่อว่าเห็นได้ยาก

ต้องคอยกันนานมาก กว่าจะมีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละพระองค์ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นรัตนะจริงๆ เพราะว่าหาได้ยาก

ประการต่อไป คือ ประการที่ ๕ ข้อความในอรรถกถามีว่า

ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นได้ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภค ใช้สอยของผู้ไม่ต่ำทราม ก็เหมือนกัน

ทุกท่านมีทรัพย์ ก็คงทราบประโยชน์ของทรัพย์ว่า มีไว้สำหรับบริโภคใช้สอย ถ้ามีทรัพย์แล้วเก็บไม่ใช้สอยเลย ก็ลองคิดดูว่า จะได้ประโยชน์อะไรจากทรัพย์นั้นบ้าง เพราะฉะนั้น แม้พระรัตนตรัยก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เก็บ ไม่ใช้ ไม่บริโภค แต่ต้องบริโภคเพื่อประโยชน์

ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้นคืออะไร คือ รัตนะเป็นต้นของพระเจ้าจักรพรรดิ

จริงอยู่ รัตนะนั้นไม่ใช่บังเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องบริโภคแม้ด้วยความฝันของ บุรุษต่ำทราม ผู้ซึ่งมีทรัพย์ตั้งแสนโกฏิก็ดี อยู่บนมหาปราสาท ๗ ชั้นก็ดี และของผู้มีตระกูลต่ำ เช่น คนจัณฑาล ช่างจักสาน พราน ช่างรถ และคนเทขยะเป็นต้น แต่เป็นเครื่องบริโภคของบุคคลผู้ไม่ต่ำทราม เพราะบังเกิดเพื่อเป็นเครื่องบริโภคของพระราชามหากษัตริย์ ผู้เป็นอุภโตสุชาติ บำเพ็ญจักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการบริบูรณ์ แม้รัตนะนั้น ที่เสมอกับพุทธรัตนะ ไม่มีเลย

ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องบริโภคของ ผู้ไม่ต่ำทรามไซร้ พระตถาคตเท่านั้นชื่อว่ารัตนะ

จริงอยู่ พระตถาคตไม่ใช่เป็นเครื่องบริโภคแม้ด้วยความฝันของครูทั้ง ๖ มีบูรณกัสสปเป็นต้น ซึ่งสมมติกันว่าเป็นบุคคลผู้ต่ำทราม ผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย มีทัศนะอันวิปริต และของบุคคลเหล่าอื่นเห็นปานนั้น แต่เป็นเครื่องบริโภคของ เหล่าท่านผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ผู้สามารถบรรลุพระอรหัตเมื่อจบคาถาแม้ ๔ บท ผู้มีญาณทัสสนะทำลายกิเลส มีท่านพระพาหิยทารุจีริยะเป็นต้น และของ พระมหาสาวกทั้งหลายอื่นๆ ผู้เป็นบุตรของตระกูลใหญ่

จริงอยู่ เหล่าบุคคลผู้ไม่ต่ำทรามเหล่านั้น เมื่อยังทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ และปาริจริยานุตริยะเป็นต้นให้สำเร็จ ชื่อว่าบริโภคใช้สอยพระตถาคต

รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภคของสัตว์ ผู้ไม่ต่ำทราม ไม่มีเลย ด้วยประการฉะนี้

พระองค์ทรงอุปมาให้เห็นว่า รัตนะ คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ พระรัตนตรัยเป็นเครื่องบริโภคใช้สอย ไม่ใช่ให้อยู่เฉยๆ หรือเก็บไว้ และต้องสำหรับบุคคลผู้ไม่ต่ำทราม เพราะว่าบุคคลผู้ต่ำทรามหมายถึงบุคคลที่ มีความเห็นผิด หรือไม่ได้สะสมกุศลมา แม้จะมีทรัพย์ตั้งแสนโกฏิ หรืออยู่บนปราสาท ๗ ชั้น แต่ถ้ามีจิตใจสกปรก ถึงเป็นเศรษฐีมีเงิน ก็เป็นผู้ที่ต่ำทราม เพราะฉะนั้น ทรัพย์ที่เป็นรัตนะไม่ใช่บังเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องบริโภคแม้ด้วยความฝันของบุรุษ ผู้ต่ำทราม

ความฝันเป็นสิ่งที่ทุกคนห้ามไม่ได้ แต่ที่จะฝันว่าไปบริโภคจักรรัตนะของ พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่าว่าแต่ความจริง แม้ ความฝันก็เป็นไปไม่ได้ ฉันใด สำหรับผู้ที่มีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด ผู้ที่ไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย จริงอยู่ พระตถาคตมิใช่เป็นเครื่องบริโภคแม้ด้วยความฝันของ ครูทั้ง ๖ มีบูรณกัสสปเป็นต้น

จะฝันว่า อบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไม่ใช่ความจริง เพราะ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจผิด มีความเห็นผิดแล้ว ฝันไม่ได้

จริงไหม เวลาที่ไม่ฝัน สติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด และถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด จะฝันว่าสติปัฏฐานเกิด ปัญญาเกิด รู้แจ้งสภาพธรรม ก็ต้องเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะฉะนั้น รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภคของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม ไม่มีเลย

ทุกคนกำลังบริโภคธรรมขณะที่ศึกษา พิจารณา เข้าใจ และจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อเป็นผู้ที่ได้ใช้สอยพระธรรม

ถ. ผมต้องขอสารภาพว่า ผมไม่ค่อยมีสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมเท่าไร ก็พยายามพากเพียร แต่ที่ทำอยู่เสมอ คือ เวลาโกรธ เตือนตัวเองว่านี่โกรธ หรือมีมานะ ก็นี่เรามานะ หรือนี่เราอิจฉาเขาแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้หมายความว่า มีสติระลึกรู้สภาพนามธรรมได้หรือเปล่า

สุ. ทุกคนทราบว่า ขณะนี้กำลังมีปรมัตถธรรม และกำลังฟังเรื่องของปรมัตถธรรม บางขณะก็มีสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ยังไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน บางคนอาจจะใส่ชื่อของปรมัตถธรรมนั้นๆ บางคนก็เริ่มด้วย นี่โลภะ และบางคนโกรธ ก็ว่านี่โทสะ และบางคนพอแข็ง ก็ว่านี่แข็ง คือ มีชื่อเข้าไปนึกคิด อยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นยังคงเป็นเรื่องของปรมัตถธรรม

เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะที่จะทำให้รู้ว่า ขณะนี้เป็นการรู้ชื่อ หรือเป็นการ รู้เรื่อง หรือเป็นการรู้สภาพธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาและสังเกตโดยรู้ว่า ลักษณะรู้ สภาพรู้ คือ ขณะนี้เอง แล้วแต่ว่าสติจะระลึกและเข้าใจในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ หรือในขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้ หรือในขณะที่กำลังคิดนึกขณะนี้ หรือในขณะที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อนแข็งขณะนี้ คือ มีสภาพธรรมปรากฏ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องของความเข้าใจ

ปัญญาเริ่มจากความเข้าใจ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องปรมัตถ์ แต่กำลังเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมในขณะนี้ เป็นปกติ ไม่ต้องไปทำสติ ไม่ต้อง ตั้งสติ เพราะขณะนั้นไม่ใช่ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่เป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ และขณะใดสติเกิด ซึ่งเป็นปกติจริงๆ

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นมรรคองค์ที่ ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ ขาด สัมมาทิฏฐิไม่ได้เลย การอบรมเจริญปัญญาต้องรู้จริงๆ ว่า ปัญญารู้ลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏ โดยเริ่มเข้าใจ นี่คือสัมมาทิฏฐิ

เปิด  263
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566