แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1950

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๓


ทั้งพระสูตร พระวินัย ก็เป็นเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป ทั้งอกุศลจิต อกุศลเจตสิก ทั้งโสภณจิต โสภณเจตสิก ตามที่ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรม แม้ในขณะนี้เองซึ่งหลายท่านก็คิดว่า ท่านอยู่นอกพระสูตร หรืออยู่นอก พระวินัย แต่ไม่พ้นจากพระอภิธรรมเลย เพราะขณะนี้ก็เป็นโสภณจิตและโสภณเจตสิก ซึ่งกำลังเกิดในขณะที่ฟังพระธรรมและเข้าใจ และถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดก็อาจจะสังเกต ได้ว่า มีอกุศลจิตและอกุศลเจตสิกเกิดแทรกคั่นได้บ้างบางกาล แสดงให้เห็นถึง การเกิดดับสลับอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม

ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ปัญญาก็ต้องรู้แจ้งชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ มิฉะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญาจริงๆ แต่เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญา จะสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าขณะนั้นจะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ก็ตาม

เรื่องพระวินัยเป็นเรื่องละเอียด ขอกล่าวถึงอีกเล็กน้อย เช่น ความจริงใจ ในกุศล ไม่ว่าจะเป็นในเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์

พระวินัยปิฎก จตุตถปาราชิกกัณฑ์ วินีตวัตถุ

วินีตวัตถุ คือ เรื่องตัวอย่างที่ทรงวินิจฉัยแล้ว

ข้อ ๒๘๔

ภิกษุอยู่ป่าหรือบิณฑบาตเพราะอยากให้คนยกย่อง ต้องอาบัติทุกกฏ

เล็กน้อยแค่ไหน คิดดู เพียงภิกษุอยู่ป่าเพราะอยากให้คนยกย่องก็เป็น อาบัติแล้ว คือ อาบัติทุกกฏ

ข้อ ๒๘๖

ภิกษุนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน ด้วยอาการที่ตั้งใจให้คนยกย่อง ต้องอาบัติทุกกฏ

นี่คือบรรพชิต เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ก็คิดดูว่า กิเลสจะมากมายสักแค่ไหน เพราะแม้เป็นบรรพชิตแล้ว แต่ขณะจิตนิดเดียวที่ต้องการการยกย่องจากเพียง อาการยืนที่น่าเลื่อมใส หรือเดินเพื่อต้องการให้คนอื่นยกย่อง หรือนอนก็ตาม ด้วยอาการที่ตั้งใจให้คนยกย่อง แม้ขณะนั้นก็เป็นอาบัติทุกกฏ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของกิเลสที่มากจริงๆ สำหรับคฤหัสถ์ถ้าไม่พิจารณาก็มากเท่ากัน เพียงแต่คฤหัสถ์ไม่เป็นอาบัติ

ผู้ที่ตรงต่อเหตุผล เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง เป็นผู้มีใจจริง วาจาจริง เป็นผู้ที่ ไม่บิดเบือน จึงเป็นผู้ที่สามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะขัดเกลากิเลสถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ มิฉะนั้นแล้วเพียงการบิดเบือนนิดเดียวก็จะไม่รู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด เพราะว่าจิตที่บิดเบือนไป บิดเบือนไปด้วยความต้องการ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ต้องการที่ไม่เป็นกุศลจึงบิดเบือน และเมื่อบิดเบือนแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นผิด ไม่ใช่ถูก เพราะว่าขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นความต้องการ แม้เพียงเล็กน้อย เพียงบิดเบือน ก็เป็นผู้ไม่ตรงต่อการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าในขณะใดที่บิดเบือน หรือในขณะใดที่เป็นอกุศล ในขณะใดที่ไม่ตรง ในขณะใดที่ ไม่จริง ขณะนั้นไม่มีสติสัมปชัญญะ

ถ้าเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะจริงๆ บิดเบือนไม่ได้ หรือไม่ตรงไม่ได้ ไม่จริงไม่ได้ เพราะขณะนั้นเป็นผู้ที่กำลังมีสติสัมปชัญญะ และการที่สติสัมปชัญญะจะเกิด ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม คิดดู ต้องเป็นสติสัมปชัญญะในขณะนี้ ที่ระลึกลักษณะแข็งที่กำลังปรากฏ หรือลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือ เสียงที่กำลังปรากฏทางหู ต้องเป็นสติสัมปชัญญะจึงระลึกได้

ขณะใดก็ตามที่บิดเบือน หรือเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติสัมปชัญญะ จึงไม่ใช่ผู้สะสมความเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ เมื่อไม่ใช่ผู้ที่สะสมความสมบูรณ์ของสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะจึงไม่มีปัจจัยที่จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้สัจจะ ความจริง จึงเป็นบารมี เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าขณะนั้นแสดงถึงความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

ชีวิตประจำวันในอดีตและปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นต่างๆ ของบุคคล ซึ่งบางท่านก็สะสมมาที่จะเป็นผู้ที่เห็นผิด บางท่านก็สะสมมาที่จะเป็นผู้ที่เห็นถูก ในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ระลึกถึงเหตุผลที่เป็นสัจจธรรมที่เป็นความจริงได้ สำหรับผู้ที่สะสมมาที่จะมีสติสัมปชัญญะที่จะระลึกได้ว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด

ขอกล่าวถึงข้อความใน ขุททกนิกาย อุทาน ชฏิลสูตร ข้อ ๔๖ ซึ่งท่านผู้ฟังที่นี่สะสมความเห็นถูก สะสมการพิจารณาในเหตุในผลมาแล้วจะรู้ว่า เป็นสิ่งที่ ไม่น่าจะมีใครเชื่อ เพราะไม่ประกอบด้วยเหตุผล แต่คนที่สะสมความเห็นผิดมา ก็สามารถหลงผิดและเชื่อได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่ได้สะสมสติสัมปชัญญะ

ข้อความใน ชฏิลสูตร ข้อ ๔๖ มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คยาสีสะประเทศ ใกล้บ้านคยา ก็สมัยนั้นแล ชฎิลมากด้วยกันผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้าง ที่ท่าแม่น้ำคยา ในสมัยหิมะตกในระหว่าง ๘ วัน ในราตรีมีความหนาว ในเหมันตฤดู ด้วยคิดเห็นว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยการกระทำนี้

พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิลเหล่านั้นผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้าง ที่ท่าแม่น้ำคยา ในสมัยหิมะตก ในระหว่าง ๘ วัน ในราตรีมีความหนาวในเหมันตฤดู ด้วยคิดเห็นว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยการกระทำนี้

บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำเหล่านี้ แต่การกระทำที่คล้ายคลึง ทำนองนี้มีไหมที่จะเห็นด้วย เช่น บางท่านอาจจะคิดว่า การรดน้ำมนต์สามารถทำให้แคล้วคลาดจากภัยพิบัติ หรือพ้นจากเคราะห์หามยามร้ายต่างๆ จะเหมือนกับพวกที่ผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ผุดขึ้นและดำลงบ้าง ที่ท่าแม่น้ำคยาบ้างไหม

คิดดู ความเห็นที่ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ผิด ถ้าสะสมความเห็นอย่างนั้น จะทำให้เกิดความเห็นอย่างนี้ได้ไหม

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ แต่ชนเป็นอันมากยังอาบอยู่ในน้ำนี้ สัจจะและธรรมมีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดและเป็นพราหมณ์

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน อธิบายว่า

ความสะอาดด้วยน้ำอันเป็นตัวทำกิริยามีการผุดขึ้นเป็นต้น ไม่ชื่อว่าเป็นความบริสุทธิ์ของสัตว์

เพราะเหตุไร

เพราะชนเป็นอันมากอาบน้ำนี้ เพราะถ้าชื่อว่าความบริสุทธิ์จากบาปจะพึงมีเพราะการลงน้ำเป็นต้นตามที่กล่าวแล้วไซร้ ชนเป็นอันมากก็จะพากันอาบน้ำนี้ คือ คนผู้ทำกรรมชั่วมีมาตุฆาตเป็นต้น และสัตว์อื่นมีโคกระบือเป็นต้น ชั้นที่สุดปลา และเต่าก็จะพากันอาบน้ำนี้ คนและสัตว์ทั้งหมดนั้นก็จะพลอยบริสุทธิ์จากบาปไปด้วย

แต่ข้อนั้นหาเป็นอย่างนั้นไม่

เพราะเหตุไร

เพราะการอาบน้ำไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อเหตุแห่งบาป ก็สิ่งใดทำสิ่งใดให้พินาศไปได้ สิ่งนั้นก็เป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งนั้น เหมือนแสงสว่างเป็นปฏิปักษ์ต่อความมืด และวิชชา เป็นปฏิปักษ์ต่ออวิชชา การอาบน้ำหาเป็นปฏิปักษ์ต่อบาปเช่นนั้นไม่ เพราะฉะนั้น จึงควรตกลงในข้อนี้ว่า ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ

ก็เพื่อจะแสดงธรรมอันเป็นเหตุทำให้สะอาด จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยมฺหิ สจฺจญฺจ ดังนี้

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยมฺหิ ได้แก่ ในบุคคลใด

บทว่า สจฺจํ ได้แก่ วจีสัจจะและวิรัติสัจจะ อีกอย่างหนึ่งบทว่า สจฺจํ ได้แก่ ญาณสัจจะ และปรมัตถสัจจะ

บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมคืออริยมรรค และธรรมคือผลจิต ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมได้ในบุคคลใด บุคคลนั้นคือพระอริยบุคคล โดยพิเศษ ได้แก่ พระขีณาสพ ชื่อว่าเป็นผู้สะอาด และชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเป็นผู้หมดจดโดยสิ้นเชิง

ก็เพราะเหตุไร ในข้อนี้ สัจจะ ท่านจึงแยกถือเอาจากธรรม

เพราะสัจจะมีอุปการะมาก จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประกาศคุณของสัจจะไว้ในสุตตบทเป็นอันมาก โดยนัยมีอาทิว่า คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย สัจจะแลดีกว่ารสทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้ตั้งอยู่ในสัจจะอันเป็นอรรถและธรรมว่าเป็นสัตบุรุษ และว่าสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในสัจจะ

ประกาศโทษของธรรมที่ตรงกันข้ามกับสัจจะ โดยนัยมีอาทิว่า สัตว์ผู้มักพูดเท็จ ล่วงธรรมเอกเสีย และว่า ผู้พูดคำอันไม่เป็นจริงย่อมเข้าถึงนรกแล

จบ อรรถกถาชฎิลสูตรที่ ๙

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถา เอกปุคคลวรรคที่ ๑๓ อรรถกถาสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

จริงอยู่เทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ อย่าง คือ สมมติเทศนา ๑ และปรมัตถเทศนา ๑ ใน ๒ อย่างนั้น เทศนาทำนองนี้ว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทวดา มาร ชื่อว่าสมมติเทศนา เทศนาทำนองนี้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน ชื่อว่าปรมัตถเทศนา

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ใน ๓ ปิฎก จะมีทั้งสมมติเทศนาและปรมัตถเทศนา เพราะถ้าพูดถึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ได้หมายความถึงคน แต่หมายความถึงลักษณะของสังขตธรรม สังขารธรรมที่เกิดปรุงแต่งให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิด และดับไป ไม่เที่ยง ไม่ได้กล่าวว่า เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้

ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย ในขณะนี้ รูปเป็นรูปขันธ์ เวทนาความรู้สึกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาความจำเป็น สัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์

ถ้าโดยลำดับ คล่องทีเดียว รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ขณะนี้ขันธ์ไหนที่สติกำลังระลึกรู้

นี่เป็นสิ่งที่จะต้องทราบว่า เทศนาทำนองนี้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน เป็นต้น ชื่อว่าปรมัตถเทศนา

ในเทศนา ๒ อย่างนั้น ชนเหล่าใดฟังเทศนาเนื่องด้วยสมมติ สามารถเข้าใจเนื้อความละโมหะ บรรลุคุณพิเศษได้ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงสมมติเทศนา แก่ชนเหล่านั้น ส่วนชนเหล่าใดฟังเทศนาเนื่องด้วยปรมัตถ์ แล้วสามารถเข้าใจเนื้อความละโมหะ บรรลุคุณพิเศษได้ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงปรมัตถเทศนา แก่ชนเหล่านั้น

ฟังดู บางคนเผินก็อาจจะคิดว่า เพียงฟังสมมติเทศนาก็สามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ แต่ตามความเป็นจริง คนที่ฟังสมมติเทศนาและสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเป็นเพราะปัญญาของผู้นั้นสามารถรู้ได้ว่า สมมติเทศนานั้น เป็นสมมติเรื่องหรือลักษณะสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ เข้าใจเพียงสมมติบัญญัติเท่านั้น แต่ไม่เข้าใจปรมัตถลักษณะของสภาพธรรม ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงบุคคลนี้ฟังเทศนาเรื่องนี้แล้วบรรลุ โดยไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

ข้อความต่อไป อุปมาว่า

เหมือนอย่างว่า อาจารย์ผู้ฉลาดในภาษาท้องถิ่น ผู้บรรยายเนื้อความแห่ง เวททั้ง ๓ ชนเหล่าใดเมื่อพูดด้วยภาษาทมิฬย่อมรู้ใจความได้ ก็จะสอนชนเหล่านั้นด้วยภาษาทมิฬ ชนเหล่าใดเมื่อพูดด้วยภาษาใดภาษาหนึ่งในบรรดาภาษาของ ชาวอันธะเป็นต้นย่อมรู้ใจความได้ ก็จะสอนด้วยภาษานั้นๆ แก่ชนเหล่านั้น เมื่อเป็นดังนั้น มานพเหล่านั้น อาศัยอาจารย์ผู้ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมเรียนศิลปะได้โดยฉับพลันทีเดียว

ในอุปมานั้นพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนอาจารย์ ปิฎก ๓ ตั้งอยู่ในภาวะที่จะต้องบอกกล่าวเปรียบเหมือนเวท ๓ ความเป็นผู้ฉลาดในสมมติและปรมัตถ์เหมือนความเป็นผู้ฉลาดในภาษาท้องถิ่น เวไนยสัตว์ผู้สามารถเข้าใจ ความได้ด้วยอำนาจแห่งสมมติและปรมัตถ์เหมือนมานพผู้รู้ภาษาท้องถิ่นต่างๆ กัน เทศนาด้วยอำนาจสมมติและปรมัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนการสอน ด้วยภาษา มีภาษาทมิฬเป็นต้นของอาจารย์

สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอดของ ผู้กล่าวสอนทั้งหลาย ได้ตรัสสัจจะ ๒ อย่าง คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ไม่ตรัสสัจจะที่ ๓ คำที่ชาวโลกหมายรู้กันก็เป็นสัจจะ เพราะมีโลกสมมติเป็นเหตุ คำที่ระบุถึงสิ่งที่เป็นปรมัตถ์ก็เป็นสัจจะ เพราะมีความจริงของธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น มุสาวาทจึงไม่เกิดแก่พระโลกนาถผู้ศาสดา ผู้ฉลาดในโวหาร ผู้ตรัส ตามสมมติ

ถ. ที่พูดถึงสมมติเทศนากับปรมัตถเทศนา ที่อ่านจากอรรถกถาตอนต้นเลย ผมฟังไม่ค่อยถนัดว่า ชนเหล่าใดรู้สมมติเทศนา ก็หลุดพ้นได้เหมือนกัน หรืออย่างไร ขออีกครั้งเถิด

สุ. ชนเหล่าใดฟังเทศนาเนื่องด้วยสมมติ สามารถเข้าใจเนื้อความละโมหะ อย่าลืมว่า สามารถเข้าใจเนื้อความ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ สามารถเข้าใจเนื้อความแล้ว ละโมหะคือความไม่รู้ด้วย บรรลุคุณพิเศษได้ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง สมมติเทศนาแก่ชนเหล่านั้น ส่วนชนเหล่าใดฟังเทศนาเนื่องด้วยปรมัตถ์ แล้วสามารถเข้าใจเนื้อความละโมหะ บรรลุคุณพิเศษได้ พระผู้มีพระภาคย่อมทางแสดง ปรมัตถเทศนาแก่ชนเหล่านั้น

ถ. เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงมีพระสัพพัญญุตญาณ สามารถหยั่งรู้ว่า ท่านผู้นั้นสามารถบรรลุได้เพียงสมมติเทศนา ก็ทรงโปรดเพียงแค่นั้น มาถึง โลกปัจจุบัน ผมไม่รู้ว่าเขาจะรู้กันหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อาจจะเป็นไปได้หรือเปล่า ก็ไม่ทราบที่บางแห่งบางท่านบอกว่า ไม่ต้องพูดกันถึงปรมัตถ์ก็ได้ หรือไม่ก็ ทิ้งปริยัติทั้งหมดเลย ก็คงจะบรรลุได้ ถ้าสามารถเข้าใจได้ ฟังดูแล้วท่านอาจจะอ้างตรงนี้ก็ได้หรือเปล่า

สุ. เรื่องอ้าง อ้างได้ตลอดที่จะไม่ศึกษา ใช่ไหม

ถ. แต่ท่านไม่ได้อ้าง ผมพูดสมมติเอา

สุ. ถ้าใครจะอ้าง ก็อ้างได้ แต่ต้องพิจารณาตามความเป็นจริงว่า แม้ในครั้งพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงแสดงแต่สมมติเทศนา หรือปรมัตถเทศนาด้วย เพราะเหตุใด ต้องมีเหตุผล

พระธรรม ๔๕ พรรษา มีทั้งสมมติเทศนา และปรมัตถเทศนา เพราะการที่จะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขอให้คิดดูว่า ถ้าไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคลคือผู้ที่ได้ฟังเพียง คาถาสั้นๆ ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ซึ่งบุคคลอย่างนั้นมีน้อยมากแม้ในสมัย พระผู้มีพระภาค ฉะนั้น ถ้าไม่ใช่บุคคลผู้เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล ผู้รู้แจ้งอริยสัจจ์ได้เร็ว หรือวิปัญจิตัญญูบุคคลคือผู้ที่เมื่อจบเทศนาแล้วสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อเนยยบุคคล และปทปรมบุคคล ทั้งสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ แม้ว่าพระองค์จะทรงรู้อัธยาศัย อธิมุตติ คือ การสะสมของศรัทธาก็ตาม หรืออัธยาศัยที่จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรม ของแต่ละบุคคล แต่ก็ทรงแสดงทั้งสมมติเทศนาและปรมัตถเทศนา

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าฟังเพียงปรมัตถธรรม เช่น กามาวจรจิตมี ๕๔ ดวง หรือ ๕๔ ประเภท เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นกามโสภณจิต ๒๔ ดวง และอธิบายละเอียดลงไปอีกว่า อกุศลจิต ๑๒ ดวง มีอะไรบ้าง มีเจตสิกประกอบเท่าไรบ้าง ละกิเลสได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องทั้งสมมติเทศนาและปรมัตถเทศนา

เปิด  256
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565