แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1945

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓


ถ้าศึกษาพระวินัย จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยโดยครบถ้วน ย่อมเหมือนกับผู้ที่ดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ คือ ทั้งกายและวาจาจะไม่มีการกระทำด้วยกิเลสทั้งหลายเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่รู้ว่า ภิกษุใดเป็นสมมติสงฆ์ ภิกษุใดเป็นอริยสงฆ์ คือ ปรมัตถสงฆ์

การที่จะรู้ว่าบุคคลใดเป็นภิกษุหรือไม่ จะรู้ได้โดยพระวินัย ส่วนการที่จะรู้ว่า บุคคลใดเป็นอริยสงฆ์ เป็นสังฆรัตนะหรือไม่ ต้องรู้ด้วยปัญญา จึงมีความจำเป็น ที่พุทธบริษัทจะต้องศึกษาพระวินัยตามสมควร เพื่อจะได้เข้าใจว่า พระภิกษุรูปใดเป็น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย และภิกษุรูปใดประพฤติผิดข้อใด ถ้าถึงขั้นอาบัติปาราชิก ก็ไม่มีความเป็นภิกษุต่อไป

สำหรับพระภิกษุที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัยไว้โดยครบถ้วนนั้น ทำกิจของคฤหัสถ์ไม่ได้เลย กิจของคฤหัสถ์กับกิจของบรรพชิตแยกกัน คฤหัสถ์ก็มีกิจ ที่จะทำกิจกรรมธุรการงานต่างๆ ตามเพศของคฤหัสถ์ แต่บรรพชิตจะทำอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ ซื้อขายอะไรไม่ได้เลย หรือแม้การแลกเปลี่ยนกันมีประการต่างๆ ก็เป็น นิสสัคคียปาจิตตีย์ เป็นอาบัติที่ต้องสละวัตถุที่ได้มานั้นเสียก่อน จึงจะปลงอาบัติได้ คือ พ้นจากอาบัตินั้นได้ ถ้ายังไม่สละวัตถุนั้น ก็พ้นอาบัติไม่ได้

ข้อความอธิบายมีว่า

ที่ชื่อว่ารูปิยะ ได้แก่ ทองคำ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสก ที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้

ที่ชื่อว่ามีประการต่างๆ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้ โดยที่สุด แม้ก้อนฝุ่น ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า

ถ้ามีการแลกเปลี่ยนก็เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์

แสดงให้เห็นถึงการที่จะต้องเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า กำลังกระทำอะไร และสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร เพราะขณะที่กล่าวขอแลกว่า จงจ่าย ของสิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ หรือจงแลกของสิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ ในขณะที่พูดนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ แต่เมื่อเปลี่ยนของคนอื่นมาอยู่ในมือของตน ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ ต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่บุคคล เป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะถ้าสละให้ภิกษุบุคคล ภิกษุผู้รับสละ พึงรับอาบัติ พึงคืนของที่เสียสละให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้ของสิ่งนี้แก่ท่าน คือ คืนให้คนที่สละให้ ถ้าไม่คืนให้ ภิกษุนั้นอาบัติทุกกฏ

เป็นชีวิตประจำวันของอีกเพศหนึ่ง ซึ่งเป็นเพศที่ละเอียดและสูง ที่จะต้องศึกษาเรื่องของการขัดเกลาจริงๆ ให้รู้โดยละเอียดว่า ควรทำสิ่งใด และไม่ควรทำสิ่งใด

เรื่องของนิสสัคคียปาจิตตีย์ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ควรที่จะได้รู้ว่า ผู้ที่ตรงต่อพระรัตนตรัย เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยจริงๆ ควรที่จะได้สงเคราะห์พระภิกษุไม่ให้ท่านต้องลำบากใจ ไม่ทำให้ท่านต้องอาบัติที่ท่านจะต้องทำกิจของสงฆ์คือ การสละวัตถุนั้น

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์ ข้อ ๑๑๐ แสดงวิธีเสียสละของที่ซื้อขายด้วยรูปิยะ ด้วยเหตุว่าพระภิกษุซื้อขายไม่ได้เลย

ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงฆ์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้ แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งเท้าประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ ของสิ่งนี้ ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าขอสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์

สำหรับนิสสัคคียปาจิตตีย์ ถ้าไม่สละ ปลงอาบัติไม่ได้

ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ ถ้าคน ทำการวัด หรืออุบาสกเดินมาในสถานที่เสียสละนั้น พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้ของสิ่งนี้ (คือ แสดงให้เห็นสิ่งของที่สละนั้น) ถ้าเขาถามว่า จะให้ผมนำของสิ่งนี้ไปหาอะไรมา อย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา ควรบอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ถ้าเขานำเอาของสิ่งนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะ มาถวาย เว้นภิกษุผู้ซื้อขายด้วยรูปิยะ ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี

คือ ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็เป็นการดี

ถ้าไม่ได้ พึงบอกเขาว่า โปรดช่วยทิ้งของสิ่งนี้ ถ้าเขาทิ้งให้ นั่นเป็นการดี ถ้าเขาไม่ทิ้งให้ พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ

ผู้ที่จะทิ้งรูปิยะ ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะกระทำกิจทิ้งรูปิยะนั้นได้

องค์ ๕ ของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ

องค์ ๕ นั้น คือ ๑.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ ๒.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง ๓.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย ๔.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ ๕.รู้จักว่า ทำอย่างไรจึงเป็นอันทิ้ง หรือไม่เป็นอันทิ้ง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติภิกษุนั้น อย่างนี้

วิธีสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ

พึงขอภิกษุให้รับตกลงก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

สำนวนของพระวินัย ฟังแล้วเป็นภาษาใหม่อีกภาษาหนึ่ง ท่านผู้ฟังที่ศึกษา พระอภิธรรมก็เห็นว่า พระอภิธรรมก็มีภาษาของพระอภิธรรม ภาษาปรมัตถ์ต่างๆ แต่เมื่อถึงพระวินัย ก็มีภาษาของพระวินัย ซึ่งถ้าคุ้นหูแล้วไม่ยาก เพราะว่ากรรมวาจา ก็คือการกระทำด้วยวาจา ญัตติทุติยกรรมวาจา ก็หมายความว่าต้องมีการประกาศ สองครั้ง ทุติย คือ สอง ญัตติ คือ เรื่องซึ่งแจ้งให้สงฆ์ทราบที่จะกระทำ

พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

คำสมมติ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ นี้เป็นญัตติ

นี่เป็นวาจาประกาศให้สงฆ์ทราบ คือ เป็นญัตติ เป็นกรรมวาจาที่ ๑

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

นี่เป็นกรรมวาจาครั้งที่ ๒

ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้

ภิกษุผู้รับสมมติแล้วนั้น พึงทิ้งอย่าหมายที่ตก ถ้าทิ้งหมายที่ตก ต้องอาบัติ ทุกกฏ

น่าศึกษาไหม พระวินัย เพื่อจะได้รู้ความต่างกันของเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต นอกจากนั้นยังเห็นคุณของพระอริยสงฆ์ว่า พระอริยสงฆ์เป็นผู้ที่บริสุทธิ์หมดจด จากกิเลส และเมื่อท่านดับกิเลสหมดถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ผู้ที่กระทำตาม พระวินัยทั้งหมด ก็ดูเหมือนกับพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะว่าไม่มีกิเลสใดๆ ที่จะปรากฏทางกาย ทางวาจาเลย และการกล่าวถึงอาจาระของพระภิกษุตาม พระวินัยบัญญัติก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระรัตนตรัย

ผู้ที่จะรู้ว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ บริสุทธิ์จริงอย่างไรๆ ก็ต้องโดยการศึกษาพระวินัยจึงจะรู้ว่า ผู้ที่ประพฤติอย่างนั้น เป็นผู้ที่บริสุทธิ์จริงๆ

เรื่องของอกุศลเป็นเรื่องละเอียด เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงตัวอย่าง อีกบางตัวอย่างในพระวินัย ซึ่งคฤหัสถ์ฟังแล้วก็เทียบเคียงกับจิตใจของท่านเอง และเมื่อรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี แม้เป็นวินัยสำหรับพระภิกษุ ท่านก็ประพฤติปฏิบัติตามได้ เมื่อเห็นประโยชน์

อีกเรื่องหนึ่งคือใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค วินีตวัตถุ ใน สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๖ เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี ข้อ ๔๙๖ - ข้อ ๕๐๐ มีข้อความว่า

ภิกษุชาวรัฐอาฬวี ท่านสร้างกุฎีใหญ่ ไม่มีกำหนด ต้องขอให้ชาวบ้านมาช่วย และขอสิ่งของต่างๆ เช่น ขอสิ่ว ขอเถาวัลย์ ขอไม้ไผ่ ขอดิน ขออุปกรณ์ต่างๆ ในการที่จะสร้างกุฎี ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการวิงวอน ด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว หวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หนีไปเสียบ้าง เดินเลี่ยงไปเสียทางอื่นบ้าง เมินหน้าเสียบ้าง ปิดประตูเสียบ้าง แม้พบแม่โคเข้าก็หนี สำคัญว่าพวกภิกษุ

ถ้าชาวบ้านได้รับการขอมากๆ ผลคืออย่างนี้ คือ เกินฐานะของความเป็น เพศบรรพชิต ทำให้ชาวบ้านไม่มีศรัทธา แต่ถ้าเป็นไปตามฐานะเพศบรรพชิต ชาวบ้านย่อมมีศรัทธา

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะจำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ แล้วออกเดินทางมุ่งไปรัฐอาฬวี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ถึงรัฐอาฬวีแล้ว พักอยู่ที่ อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น

ครั้นเวลาเช้า ท่านเข้าไปบิณฑบาตในรัฐอาฬวี ประชาชนเห็นท่านแล้ว หวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หลบหนีไปบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าบ้าง ปิดประตูบ้านบ้าง เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาต เวลาหลังภัตตาหารแล้ว ท่านก็เรียกภิกษุทั้งหลายมาสอบถาม ซึ่งพระภิกษุเหล่านั้นก็กราบเรียนเรื่องนั้นให้ท่าน พระมหากัสสปะทราบ

คราวนั้น พระผู้มีพระภาคประทับในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปสู่รัฐอาฬวี ประทับที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น ท่านพระมหากัสสปะเข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงติเตียน ภิกษุชาวรัฐอาฬวีโดยอเนกปริยาย ตรัสโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ความเป็น คนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน และตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย

ท่านผู้ฟังอาจจะฟังแล้วผ่านไป ซึ่งความจริงเป็นชีวิตที่ต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต สำหรับบรรพชิตต้องเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ ขัดเกลา ท่านผู้ฟังซึ่งเป็นคฤหัสถ์ก็พิจารณาชีวิตประจำวันว่า ท่านเป็นคนที่เลี้ยงง่ายหรือเปล่า หรือเลี้ยงยาก อย่างนี้ก็ไม่อร่อย ต้องอย่างนั้น หรืออย่างนี้ก็เย็นไป อย่างนั้นก็เผ็ดไป อย่างนี้ก็ คือ สารพัดเรื่อง แสดงให้เห็นว่า เป็นคนที่เลี้ยงง่ายหรือเลี้ยงยาก

เพราะฉะนั้น สองเพศนี้ต่างกัน ความเป็นคนบำรุงง่ายต้องเป็นภิกษุ หรือบรรพชิต ความเป็นคนบำรุงยากต้องเป็นคฤหัสถ์ เรื่องของคฤหัสถ์นี่กลับไปดู ที่บ้าน มีเรื่องที่จะบำรุงความสะดวกสบายมากมาย เพราะว่าเป็นผู้ที่บำรุงยาก แต่สำหรับบรรพชิตลดลงไปหมดเหลือแต่ที่บำรุงง่ายจริงๆ คือ ตามควรที่จะมีชีวิตเป็นไปได้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อเป็นผู้บำรุงง่าย เลี้ยงง่าย ก็ต้องเป็นเพราะเป็นผู้ที่ มักน้อย แต่ผู้ใดที่บำรุงยาก เลี้ยงยาก ก็จะได้เห็นกิเลสของตนเองว่า เป็นผู้ที่มักมาก ไม่สันโดษ ไม่ขัดเกลา นี่คือการแสดงความต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบแล้ว ก็ตรัสเรื่องในอดีตให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า ถ้าไม่ต้องการให้ใครมาสนิทสนมคุ้นเคยด้วยก็มีวิธี ซึ่งท่านผู้ฟังทราบไหมว่าวิธีนั้นจะทำอย่างไร ใครก็ตามที่ไปมาหาสู่คุ้นเคยสนิทสนม แต่ถ้า ท่านไม่อยากให้ผู้นั้นคุ้นเคยสนิทสนมกับท่าน เพราะว่าเป็นเรื่องของการคลุกคลี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าไม่ต้องการให้ใครมาสนิทสนมคุ้นเคยด้วย ก็ให้ขอสิ่งซึ่ง เป็นที่พอใจของผู้นั้น และพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง

ข้อความในเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสเล่านั้นมีว่า

บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นที่รักของเขา ไม่ควรขอสิ่งนั้น อนึ่ง คนย่อมเป็นที่เกลียดชัง ก็เพราะขอจัด

และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงรัฐปาลกุลบุตรว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว บิดาของรัฐปาลกุลบุตรได้กล่าวถาม รัฐปาลกุลบุตรด้วยคาถา ความว่าดังนี้

แน่ะพ่อรัฐปาล เออก็คนเป็นอันมากที่พากันมาหาเรา เราไม่รู้จัก ไฉนเจ้า ไม่ขอเรา

คือ คนที่มาขอท่าน บางคนก็เป็นคนที่ท่านไม่รู้จัก แต่บุตรของท่านเอง ไฉนเจ้าไม่ขอเรา

รัฐปาลกุลบุตรได้กล่าวตอบบิดาด้วยคาถา ความว่าดังนี้

คนผู้ขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของคนผู้ถูกขอ ฝ่ายคนผู้ถูกขอ เมื่อไม่ให้ ก็ย่อม ไม่เป็นที่รักของผู้ขอ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ขอท่าน

เคยขออะไรมารดาบิดา ก็ขอให้คิดพิจารณาถึงจิตใจของท่าน ซึ่งแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าขอมากๆ คนถูกขอจะทนไม่ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รัฐปาลกุลบุตรนั้น ยังได้กล่าวตอบอย่างนี้กับบิดาของตนแล้ว ก็จะป่วยกล่าวไปใยเล่าถึงคนอื่นต่อคนอื่น

เป็นคติที่ท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาชีวิตประจำวันจริงๆ ตามพระวินัยบัญญัติ ท่านพระรัฐปาลเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวกผู้บวชด้วยศรัทธา ในชาติสุดท้ายความคุ้นเคยของพระธรรมที่ท่านได้สะสมมานาน แม้ว่าท่านจะเกิดในตระกูล ที่สามารถรวบรวมรัฐที่แตกแยกออก จึงได้นามตามตระกูลวงศ์ว่า รัฐปาล ท่านเป็นบุตรของรัฐปาลเศรษฐี มีบริวารมาก ดำรงอยู่ในยศใหญ่ เสวยสมบัติดุจสมบัติทิพย์ มีภรรยาที่สมควรที่บิดามารดาหาให้ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยัง ถุลลโกฏฐิกนิคม ในแคว้นกุรุรัฐ ท่านได้เข้าเฝ้าฟังพระธรรม และได้ขออนุญาตมารดาบิดาบวชอย่างแสนยาก คือ ท่านต้องอดอาหารถึง ๗ วัน

เมื่อท่านบรรลุพระอรหันต์แล้ว ได้ทูลขออนุญาตพระผู้มีพระภาคไปยัง ถุลลโกฏฐิกนิคมเพื่อเยี่ยมมารดาบิดา ท่านได้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกใน นิคมนั้น ได้ขนมกุมมาสบูดที่เรือนของบิดา เพราะว่าปกติแม้ก่อนบวช ท่านก็ไม่ขอ เพราะฉะนั้น เมื่อบวชแล้วและกลับไปเพื่อเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของมารดาบิดา ท่านก็บิณฑบาตไปตามลำดับตรอก และได้ขนมกุมมาสบูดจากเรือนของบิดานั่นเอง เพราะว่าท่านไม่ได้ไปแสดงตนว่าท่านเป็นบุตร

เมื่อคนในบ้านจำได้ บิดาท่านก็ได้นิมนต์ท่านให้ฉันบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น ซึ่งท่านก็ได้กล่าวคาถากลับใจหญิงในเรือนที่ตบแต่งประดับประดา และกล่าวกับ ท่านว่า นางฟ้าเหล่านั้นเป็นอย่างไร อันเป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์

คือ ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งมีฉันทะ มีการฝักใฝ่ในการที่จะเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นปุถุชน ไม่สามารถเข้าใจจิตใจของผู้ที่สะสมคุ้นเคยกับพระธรรม ที่จะประพฤติปฏิบัติเจริญขึ้นในฝ่ายธรรม แม้แต่ภรรยาของท่านก็ได้กล่าวกับท่านว่า นางฟ้าเหล่านั้นเป็นอย่างไร อันเป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์

คิดว่ายังเป็นชาวโลก จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งก็เพราะเหตุว่านางฟ้านั้น คงจะต่างกับภรรยาของท่าน

เปิด  232
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566