แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1948

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๓


พระ อาตมาสงสัยในสัจจบารมีที่สัมพันธ์กับปัญญาบารมี คือ อาตมา มีเพื่อนเป็นพระภิกษุชาวเขมรรูปหนึ่ง ท่านมีความสนใจในการศึกษาธรรมและ ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าท่านบอกความจริงว่าตนเองเป็นคนชาติอะไร จะทำให้ท่านไม่สามารถฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาซึ่งเป็นธรรมที่ถูกต้องได้ เพราะต้องกลับไปสู่ภูมิลำเนาเดิม ทำให้ขาดการฟังธรรมที่ถูกต้องไป แต่ถ้าทำ ใบสุทธิปลอม หรือโกหกว่าตนเองเป็นคนไทย จะทำให้ได้ฟังธรรมต่อไป เรื่องนี้ อาตมาไม่สามารถวินิจฉัยได้ถูกต้อง ยังสับสนอยู่พอสมควร

สุ. ความเป็นภิกษุ ต้องเป็นความประพฤติที่สมบูรณ์พร้อมทั้งกาย วาจา ใจในทางที่เป็นกุศล ต่างกับชีวิตของคฤหัสถ์มาก ถ้ามีความบกพร่องในเรื่องของ ความประพฤติที่ไม่ถูกต้องสำหรับเพศบรรพชิต ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแน่นอน เพราะว่าตั้งต้นก็ไม่ถูก ต่อไปจะถูกได้อย่างไร แม้แต่คฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าตั้งต้นไม่ถูก จะไปถึงที่สุดของความถูกต้อง ที่จะสมบูรณ์ถึงกับการรู้แจ้งอริยสัจจ์ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

พระ หมายถึงต้องมีสัจจบารมี

สุ. แน่นอน เจ้าค่ะ

ขอกล่าวถึงข้อความซึ่งเกี่ยวเนื่องกับตอนนี้

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ปาฏิโภควรรคที่ ๑ อรรถกถาโลภสูตร ข้อ ๑๗๙ แสดงอธิษฐานธรรม คือ ธรรม ที่มั่นคงในบารมี ๑๐

ในบารมี ๑๐ นี้ อธิษฐานธรรมที่เป็นบารมี เป็นไปในธรรม ๔ คือ สัจจะ จาคะ อุปสมะ และปัญญา

ถึงแม้ว่าจะมีสัจจะ ความจริงใจ ตรงต่อการที่จะเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ก็ต้องรู้ว่า ขาดความหนักแน่นมั่นคงไม่ได้ เพราะว่าบางคน คลอนแคลน มีความตั้งใจ และล้มเลิกความตั้งใจ และก็ตั้งใจอีก และก็เลิกอีก แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคง ไม่เป็นอธิษฐาน ไม่มั่นคงในบารมี เพราะฉะนั้น ในบรรดาบารมี จะต้องมีอธิษฐานธรรมซึ่งเป็นไปในธรรม ๔ คือ ในสัจจะ ๑ ในจาคะ ๑ ในอุปสมะ ๑ ความสงบ และในปัญญา ๑

สำหรับในความหมายของอรหังนั้น แสดงว่าต้องมีความจริงใจ คือ สัจจะ ต่อการอบรมเจริญกุศล

ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

อนึ่ง ด้วยบทแรก (ภควตา) ท่านประกาศถึงความบริบูรณ์แห่งอธิษฐานธรรม คือสัจจะ และอธิษฐานธรรมคือจาคะ โดยแสดงถึงปฏิญญาสัจจะ วจีสัจจะ และญาณสัจจะของพระตถาคต

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความมั่นคงในสัจจะและในจาคะ ไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแน่นอน และถ้าพูดถึงสัจจะ ก็มีหลายอย่าง คือ ปฏิญญาสัจจะ วจีสัจจะ และ ญาณสัจจะ

โดยแสดงถึงการสละทิ้งกามคุณ ความเป็นใหญ่ทางโลก ลาภ ยศ และสักการะ เป็นต้น และโดยแสดงถึงการสละทิ้งอภิสังขารคือกิเลสไม่มีเหลือ

ถ้าพูดถึงจาคะ บางคนคิดถึงเพียงวัตถุ แต่จาคะในการที่จะสละต้องสละทิ้งกามคุณ ความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ นอกจากนั้น ยังต้องสละความเป็นใหญ่ทางโลก สละลาภ ยศ และสักการะ เป็นต้น และโดย แสดงถึงการสละทิ้งอภิสังขารคือกิเลสอื่นๆ ทั้งหมด ไม่มีเหลือ เพราะว่าบางท่าน ท่านอาจจะเป็นผู้ที่มักน้อย ไม่ได้ต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ หรือสักการะใหญ่ จากบุคคลอื่น แต่ไม่สละกิเลส คือ กิเลสของตนเองมีเท่าไร ก็ยังพอใจที่จะมีกิเลส นั้นๆ อยู่เท่านั้น เพราะคิดว่าไม่ได้เบียดเบียนใคร และไม่ได้ต้องการสักการะ หรือลาภยศจากใครด้วย แต่ให้ทราบว่า การที่จะสละจริงๆ ต้องทั้งหมด แม้แต่สละ กิเลสทั้งปวงด้วย และต้องมีสัจจะ ความจริงใจ มั่นคง หนักแน่นตั้งแต่ต้น จึงจะ ถึงการดับกิเลสได้

ทุกวันๆ ทุกคนก็ได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม และรู้ว่ากิเลสก็ยังมากมาย แสดงให้เห็นว่า ต้องอาศัยบารมีอื่นๆ อีกในการที่จะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงคิดว่า ฟังนิดหน่อย หรือเจริญสติปัฏฐานเพียงเล็กน้อย และ เพียรให้มากๆ เพื่อให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ข้ามเรื่องของบารมีทั้งหมดเหล่านี้ ไปไม่ได้เลย เพราะว่ากิเลสมีมาก ต้องอาศัยบารมีที่สะสมมากขึ้นๆ จึงจะสามารถ ละคลายได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ด้วยบทที่ ๒ (อรหตา) ท่านประกาศถึงความบริบูรณ์แห่งอธิษฐานธรรมคือ อุปสมะ (ความสงบระงับ) และอธิษฐานธรรมคือปัญญา โดยแสดงถึงการได้บรรลุ การสงบระงับสังขารทั้งหมด และโดยแสดงถึงการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ข้อความต่อไป แสดงถึงความสำคัญของสัจจะ คือ

จริงอย่างนั้น ความมีอธิษฐานธรรมคือสัจจะ เป็นบารมีของพระผู้มีพระภาค ผู้ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทำอภินิหารไว้ในโลกุตตรคุณถึงความบริบูรณ์ เพราะ ทรงบำเพ็ญบารมีทุกข้อตามปฏิญญา เนื่องจากทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ

อภินิหาร คือ เหตุใหญ่ที่ควรแก่การที่จะได้รับผลใหญ่ คือ การบรรลุ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความมีอธิษฐานธรรมคือจาคะ เป็นบารมีถึงความบริบูรณ์ เพราะสละทิ้ง สิ่งที่เป็นข้าศึก

ถ้าไม่ได้เป็นไปในความจริงตั้งแต่ต้น ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพียงศึกษาไม่ได้ทำให้ประพฤติจริง แต่ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาและรู้ว่า ความจริงเป็น สิ่งสำคัญในการที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ทุกท่านที่ได้ฟังธรรม จะฟังสักเท่าไรๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง และเป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ในวันหนึ่งๆ กิเลสมากมายเหลือเกิน และที่จะรู้ได้ว่า แต่ละท่านมีกิเลสมากแค่ไหน และเป็นกิเลสระดับใด ก็ต้องศึกษาหรือ ฟังพระวินัยบัญญัติ เพราะถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดจะไม่ทราบเลยว่า กิเลสที่มีจนชินเป็นประจำเป็นกิเลสขั้นไหนบ้าง

ประโยชน์จากการฟังและการศึกษาพระวินัย ก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะรู้ระดับขั้นกิเลสของตนเองในวันหนึ่งๆ ละเอียดขึ้น และเมื่อเห็นว่าสิ่งใด เป็นความประพฤติที่สมควรที่แม้คฤหัสถ์ก็สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ ก็จะได้ ขัดเกลายิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วจะชินกับกิเลสจนกระทั่งไม่สามารถรู้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่มีความจริงใจต่อการที่จะขัดเกลากิเลส สามารถขัดเกลาเพิ่มขึ้นอีกได้ ถ้าได้เข้าใจพระวินัยเพิ่มขึ้น

สำหรับวันนี้ ขอกล่าวถึง จูฬสงคราม คือ ในขณะที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น และ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นหรือเป็นผู้ที่วินิจฉัยคดี ควรจะมีธรรมประการใดบ้าง เพราะว่าทุกวันๆ ทุกคนที่มีกิเลสก็ต้องทำผิด และเมื่อมีผู้ที่ทำผิด ก็ต้องมี ผู้ที่ถูกกระทำผิดต่อด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะวินิจฉัยเรื่องผิดถูก ต้องเป็นผู้ตรง เป็นผู้มีคุณธรรม ข้อความในพระวินัยเป็นการทดสอบความเป็นผู้ตรงต่อธรรม ซึ่งแม้แต่คฤหัสถ์และยังไม่มีคดีใดๆ ก็ตาม ถ้าได้ฟังไว้ ก็เป็นทางที่จะทำให้รู้จักกิเลสของตนเองยิ่งขึ้นว่า ต้องเป็นผู้ตรงต่อความจริงและขัดเกลากิเลสได้

พระวินัยปิฎก ปริวาร ข้อ ๑๐๘๓ มีข้อความว่า

อันภิกษุผู้เข้าสงครามเมื่อเข้าหาสงฆ์ พึงเป็นผู้มีจิตยำเกรง มีจิตเสมอด้วย ผ้าเช็ดธุลี เข้าหาสงฆ์ พึงเป็นผู้รู้จักที่นั่ง รู้จักการนั่ง ไม่เบียดเบียนภิกษุผู้เถระ ไม่ห้ามภิกษุผู้อ่อนกว่าด้วยอาสนะ พึงนั่งอาสนะตามสมควร ไม่พึงพูดเรื่องต่างๆ ไม่พึงพูดเรื่องดิรัจฉานกถา พึงกล่าวธรรมเอง หรือพึงเชื้อเชิญภิกษุรูปอื่น ไม่พึงดูหมิ่นอริยดุษณีภาพ

ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็นเลยว่า เป็นชีวิตประจำวันของทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ เพราะว่าเมื่อมีกาย มีวาจา มีการที่จะต้องกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้ากระทำในทางที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่ถ้าเพียงผิดนิดเดียว ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เช่น เมื่อเข้าหาสงฆ์ พึงเป็นผู้มีจิตยำเกรง

สำหรับคฤหัสถ์ ถ้าเป็นผู้ที่จะไปมาหาสู่บุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใด กาลใด เทศะใด ถ้าขณะนั้นมีกุศลจิต เป็นผู้ที่อ่อนน้อม เป็นผู้ที่ยำเกรง เห็นความต่างกันของขณะที่สบายๆ ไม่อ่อนน้อม และไม่ยำเกรง แม้เพียงเท่านี้ก็จะไม่เห็นเลยว่า กิเลสเกิดขึ้นเมื่อไร ในขณะไหน แต่ถ้าได้ฟังพระวินัยแล้วจะเห็นได้จริงๆ ว่า แม้ชีวิตที่ต่างกันระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ แต่ก็สามารถที่จะเทียบเคียงให้เห็นกิเลส ที่มีอยู่ในจิตใจเป็นประจำได้

สำหรับพระภิกษุนั้น เมื่อเข้าหาสงฆ์ พึงเป็นผู้มีจิตยำเกรง มีจิตเสมอด้วย ผ้าเช็ดธุลี

เห็นคุณค่าของการเป็นผู้มีจิตเหมือนผ้าเช็ดธุลีไหม มีความอ่อนน้อม ไม่มีมานะ ไม่มีความสำคัญตน ถ้าเป็นผ้าเช็ดธุลีได้เสมอๆ ก็เป็นความสบายใจ ไม่ว่าใครจะประพฤติต่อท่านด้วยกายวาจาอย่างไร ไม่เดือดร้อนเลย เพราะไม่ถือตนว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญ

พึงเป็นผู้รู้จักที่นั่ง รู้จักการนั่ง เพียงเท่านี้ก็เป็นกุศลหรืออกุศลแล้ว แม้เพียงการที่จะนั่ง

ไม่เบียดเบียนภิกษุผู้เถระ ไม่ห้ามภิกษุผู้อ่อนกว่าด้วยอาสนะ บางคนอาจจะ กีดกันอาสนะ และห้ามภิกษุผู้อ่อนกว่า ขณะนั้นพิจารณาได้ว่า แม้ไม่ใช่สงฆ์ แต่ที่ใด ก็ตามมีที่นั่ง ท่านไม่ให้บุคคลอื่นนั่ง เพราะต้องการที่จะให้ผู้อื่นนั่ง คิดดูว่า นี่เป็นเรื่องอกุศลทั้งนั้น ถ้าพิจารณาโดยละเอียด

พึงนั่งอาสนะตามสมควร ไม่พึงพูดเรื่องต่างๆ ไม่พึงพูดเรื่องดิรัจฉานกถา พึงกล่าวธรรมเอง หรือพึงเชื้อเชิญภิกษุรูปอื่น ไม่พึงดูหมิ่นอริยดุษณีภาพ

ถ้าจะพูด ก็พูดเรื่องที่สมควร พูดด้วยกุศลจิต พูดด้วยเมตตาจิต หรือไม่พึงพูดเรื่องดิรัจฉานกถา สำหรับคฤหัสถ์ไม่มีวินัยในข้อเหล่านี้ แต่สำหรับพระภิกษุ ไม่พึงดูหมิ่นอริยะดุษณีภาพ ต้องเห็นว่า ถ้าจะพูดเรื่องที่ไร้สาระ ก็นิ่งไม่พูดเสียดีกว่า โดยที่ว่าไม่ต้องลำบากเดือดร้อนใจ เพราะว่าการไม่พูด ก็ไม่มีเรื่องที่จะทำให้คนอื่นเกิดโลภะ โทสะ หรืออกุศลต่างๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ในการที่จะพิจารณา และเห็นคุณของพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นส่วนของพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรม

ข้อความต่อไป

อันภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ที่สงฆ์อนุมัติแล้ว

การที่ภิกษุรูปใดจะเป็นผู้วินิจฉัยคดีหรือเรื่องที่จะกระทำ ตามพระวินัยแล้ว ต้องให้สงฆ์ คือ หมู่คณะของภิกษุที่จำกัดจำนวนไว้ เป็นผู้อนุมัติ ไม่ใช่ใครก็ตามจะไปตัดสินคดีต่างๆ ได้ตามใจชอบ

อันภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ที่สงฆ์อนุมัติแล้ว มีประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์ ไม่พึงถามถึงอุปัชฌายะ ไม่พึงถามถึงอาจารย์ ไม่พึงถามถึงสัทธิวิหาริก ไม่พึงถามถึงอันเตวาสิก ไม่พึงถามถึงภิกษุปูนอุปัชฌายะ ไม่พึงถามถึงภิกษุปูนอาจารย์ ไม่พึงถามถึงชาติ ไม่พึงถามถึงชื่อ ไม่พึงถามถึงโคตร ไม่พึงถามถึงอาคม ไม่พึง ถามถึงตระกูล ไม่พึงถามถึงชาติภูมิ เพราะเหตุไร เพราะความรักหรือความชัง จะพึงมีในบุคคลนั้น เมื่อมีความรักหรือความชัง พึงลำเอียงเพราะความชอบบ้าง พึงลำเอียงเพราะความชังบ้าง พึงลำเอียงเพราะความหลงบ้าง พึงลำเอียงเพราะความกลัวบ้าง

ความละเอียดในการเป็นผู้ตรงต่อธรรมจริงๆ คือ สิ่งที่เกิดขึ้น ความถูก และความผิด เพราะฉะนั้น ก็วินิจฉัยตามเหตุการณ์ โดยไม่ถามถึงแม้อุปัชฌาย์อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ไม่ว่าบุคคลที่แวดล้อมบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ผู้ที่ตรงก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อเหตุผลและธรรม ไม่มีความลำเอียงเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว

สำหรับข้อปฏิบัติของพระภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ มีข้อความว่า

อันภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ที่สงฆ์อนุมัติแล้ว มีประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์ พึงเป็นผู้หนักในสงฆ์ ไม่พึงเป็นผู้หนักในบุคคล พึงเป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่พึงเป็นผู้หนักในอามิส พึงเป็นผู้เป็นไปตามอำนาจแห่งคดี ไม่พึงเป็นผู้เห็นแก่บริษัท พึงวินิจฉัยโดยกาลอันควร ไม่พึงวินิจฉัยโดยกาลไม่ควร พึงวินิจฉัยด้วยคำจริง ไม่พึงวินิจฉัยด้วยคำไม่จริง พึงวินิจฉัยด้วยคำสุภาพ ไม่พึงวินิจฉัยด้วยคำหยาบ พึงวินิจฉัยด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงวินิจฉัยด้วยคำไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พึงเป็นผู้มีเมตตาวินิจฉัย ไม่พึงเป็นผู้มุ่งร้ายวินิจฉัย

ไม่พึงเป็นผู้กระซิบที่หู ไม่พึงคอยจับผิด ไม่พึงขยิบตา ไม่พึงเลิกคิ้ว ไม่พึงชะเง้อศีรษะ ไม่พึงทำวิการแห่งมือ ไม่พึงแสดงปลายนิ้วมือ

พึงเป็นผู้รู้จักที่นั่ง พึงเป็นผู้รู้จักการนั่ง พึงนั่งบนอาสนะของตน ทอดตา ชั่วแอก เพ่งเนื้อความและไม่ลุกจากอาสนะไปข้างไหน ไม่พึงยังการวินิจฉัย ให้บกพร่อง ไม่พึงเสพทางผิด ไม่พึงพูดส่ายคำ

พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วน ไม่ผลุนผลัน ไม่ดุดัน เป็นผู้อดได้ต่อถ้อยคำ พึงเป็นผู้มีเมตตาจิต คิดเอ็นดูเพื่อประโยชน์ พึงเป็นผู้มีกรุณา ขวนขวายเพื่อประโยชน์

พึงเป็นผู้ไม่พูดพล่อย พึงเป็นผู้พูดมีที่สุด พึงเป็นผู้ไม่ผูกเวร ไม่ขัดเคือง พึงรู้จักตน พึงรู้จักผู้อื่น

พึงสังเกตโจทก์ พึงสังเกตจำเลย พึงกำหนดรู้ผู้โจทผู้ไม่เป็นธรรม พึงกำหนดรู้ผู้ถูกโจทผู้ไม่เป็นธรรม พึงกำหนดรู้ผู้โจทผู้เป็นธรรม พึงกำหนดรู้ ผู้ถูกโจทผู้เป็นธรรม

พึงกำหนดข้อความอันสองฝ่ายกล่าวมิให้ตกหล่น ไม่แซมข้อความอันเขา มิได้กล่าว พึงจำบทพยัญชนะอันเข้าประเด็นไว้เป็นอย่างดี สอบสวนจำเลย แล้วพึงปรับตามคำรับสารภาพ

โจทก์หรือจำเลยประหม่า พึงพูดเอาใจ เมื่อเป็นผู้ขลาด พึงพูดปลอบ เมื่อเป็นผู้ดุ พึงห้ามเสีย เมื่อเป็นผู้ไม่สะอาด พึงตัดเสีย เมื่อเป็นผู้ตรง พึงประพฤติต่อด้วยความอ่อนโยน ไม่พึงถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ พึงวางตน เป็นกลาง ทั้งในธรรม ทั้งในบุคคล

ก็แล ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ เมื่อวินิจฉัยอธิกรณ์ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ทำตามคำสอนของพระศาสดา เป็นที่รัก ที่ชอบใจ ที่เคารพ ที่สรรเสริญ แห่งสพรหมจารีย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู

เป็นชีวิตประจำวันของทุกคนได้ไหมที่จะละเอียดขึ้นๆ และมีการระลึกได้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ขณะใดเป็นไปด้วยกิเลสประเภทใด ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ โดยละเอียด ก็คงไม่มีการระลึกได้

เปิด  212
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565