แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1951

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๓


ถ. ถ้ามองอย่างกว้าง คือ ไม่ว่าท่านจะสั่งสอนโดยวิธีไหนอย่างไร แต่ให้ละกิเลสเป็นหลักสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงปริยัติหรือปรมัตถเทศนา จะเป็นไปได้ไหม

สุ. ละกิเลสอะไร

ถ. ผมคิดเอาเอง เช่น ทำจิตให้สงบ ตอนแรกๆ ก็ให้มีเอกัคคตา และตอนหลังก็ทำให้สงบ

สุ. เอกัคคตาก็ไม่รู้จัก

ถ. เขาก็บอกให้มีจิตเป็นหนึ่ง

สุ. จิตเป็นหนึ่งก็ไม่รู้จัก

ถ. เขารู้จัก

สุ. ไม่รู้จัก ทำก็ไม่ได้ ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น จะทำได้อย่างไร ถ้าไม่รู้จัก ต้องรู้จักก่อน

ถ. เขาก็รู้จักว่า เอาสติไว้ตรงลูกแก้ว

สุ. และปัญญารู้อะไร

ถ. ปัญญารู้ลูกแก้วไปก่อน

สุ. รู้ลูกแก้ว ไม่ใช่ปัญญา

ถ. ยังไม่ถึง เดี๋ยวก่อน

สุ. มิได้ อย่าใช้คำว่า ปัญญารู้ลูกแก้ว

ถ. ผมตอบอาจารย์ แต่ความจริงก็ไม่ได้ไปซักถามเขา เขาบอกว่า ลูกแก้วก็ลูกแก้ว

สุ. ไม่ได้ จะบอกว่า ลูกแก้วเป็นปัญญา หรือปัญญาเป็นลูกแก้ว ใครจะเชื่อ ใครจะทำก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีพระธรรมเป็นสรณะต้องสอบถามว่า ถ้าจะให้ละกิเลส กิเลสอะไร ต้องถามก่อนว่ากิเลสอะไร

ถ. ถ้าถามอย่างนั้นต้องมาที่วัดบวรนี่ ส่วนพวกไม่ถามก็ไปเรื่อยๆ ตอนหลังเขาก็จะรู้สึกว่า เขามีความสงบ มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา มีเมตตา เรียกว่ากินน้อย ใช้น้อย ธรรมปลูกศรัทธา ก็มีมาก

สุ. ข้อความตอนหนึ่งในอรรถกถามีว่า ผู้ที่สอนสิ่งที่ไม่จริง เป็นมุสาวาท มุสาวาทในที่นี้หมายความว่า คำที่สอนทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่จริง ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นผล ไม่เป็นหนทางที่แท้จริงที่จะให้เกิดปัญญาได้ เพราะฉะนั้น คำสอนนั้นๆ ทั้งหมด เป็นมุสาวาท แต่ถ้าเป็นพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นความจริงทั้งหมด ไม่ตรัสมุสาวาทเลย

ผู้ฟังต้องเป็นผู้ที่พิจารณาด้วยเหตุผล โดยมีพระธรรมเป็นสรณะ และเป็นผู้ที่สามารถคิดพิจารณาด้วยตนเองได้ ถ้ามีใครบอกว่า ให้ละกิเลส กิเลสอะไร มีสิทธิ์ที่จะถามได้ ขอความรู้ว่า กิเลสอะไร และขณะนี้มีกิเลสไหม ถ้าขณะนี้มีกิเลส จะละกิเลสขณะนี้ได้อย่างไร และสภาพธรรมใดเป็นสภาพธรรมที่ละกิเลส

ทาน ละกิเลสได้ไหม อโลภะ ละกิเลสได้ไหม อโทสะ ดับกิเลสได้ไหม หรือ ต้องเป็นปัญญาจึงจะละอวิชชาได้ เพราะว่ากิเลสทั้งหลายมีอวิชชาเป็นมูล ถ้าไม่มีอวิชชา กิเลสทั้งหมดเกิดไม่ได้เลย และการที่จะมีวิชชาซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชา ต้องรู้ว่า ขณะนี้ไม่รู้อะไร และขณะนี้มีกิเลสอะไร ถ้าไม่รู้ในขณะนี้จะไปละกิเลส กันที่ไหน ก็ขณะนี้กำลังมีกิเลสแต่ไม่ละ จะไปละกิเลสอะไร ขณะหน้าก็ยังไม่มาถึง แต่ขณะที่กำลังเห็นทางตาในขณะนี้ ถ้าไม่เข้าใจ หรือสติสัมปชัญญะไม่เกิด สติปัฏฐานไม่เกิด ทันทีที่เห็น อกุศลจิตก็เกิดแล้ว รวดเร็วอย่างนั้น แต่ไม่รู้

ขณะนี้ที่เห็น และมีกิเลสเป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง หรือโมหมูลจิตบ้าง จะละกิเลสในขณะนี้ได้อย่างไร ถ้าขณะนี้ไม่ละกิเลส ขณะหน้าก็ยังไม่มาถึง จะละกิเลสได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผล ถ้าขาดเหตุผลก็เป็นมุสาวาท คือ เป็นคำไม่จริง เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจทั้งสมมติและปรมัตถ์ ไม่ใช่เข้าใจสมมติอย่างเดียว และจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถา เอกปุคคลวรรคที่ ๑๓ อรรถกถาสูตรที่ ๑

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสปุคคลกถา ว่าด้วยบุคคล ด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ เพื่อทรงแสดงหิริ ความละอาย และโอตตัปปะ ความเกรงกลัว ๑ เพื่อทรงแสดงกัมมัสสกตา (ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน) ๑ เพื่อทรงแสดงบุคคลผู้กระทำเฉพาะตน ๑ เพื่อทรงแสดงถึงอนันตริยกรรม (กรรมก่อนกรรมอื่นๆ ที่ให้ผล) ๑ เพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา) ๑ เพื่อทรงแสดงถึงปุพเพนิวาสญาณ (ระลึกชาติก่อนได้) ๑ เพื่อทรงแสดงถึงทักขิณาวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์แห่งทักขิณา) ๑ และเพื่อไม่ทรงละโลกสมมติ ๑

ปุคคลบัญญัติ เป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์

คำอธิบายมีว่า

เมื่อพระองค์ตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลาย ย่อมละอาย ย่อมเกรงกลัว ดังนี้ มหาชนย่อมไม่เข้าใจ ย่อมงงงวย กลับเป็นศัตรู (โต้แย้ง) ว่า นี่อะไรกัน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมละอาย ย่อมเกรงกลัว แต่เมื่อตรัสว่า หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ และมาร ย่อมละอาย ย่อมเกรงกลัว มหาชนย่อมเข้าใจ ย่อมไม่งงงวย ไม่กลับเป็นศัตรู (ไม่โต้แย้ง) เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสปุคคลกถา (กถาว่าด้วยบุคคล) ก็เพื่อทรงแสดงหิริและโอตตัปปะ

ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย แต่ปกติโดยมากจะเข้าใจแต่สมมติบัญญัติ ลืม นึกถึงปรมัตถธรรม เช่น บอกว่าคนนั้นโกรธ นึกถึงปรมัตถธรรมอะไรหรือเปล่า หรือคิดว่าคนนั้นกำลังโกรธ แทนที่จะนึกว่า ลักษณะโกรธกำลังเกิดขึ้นเป็นไปมีกิริยาอาการต่างๆ ทำให้มีรูปปรากฏโดยลักษณะอาการต่างๆ

ถ้าเข้าถึงลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ว่าในเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ เป็นคนซึ่งเคยมีเรื่องเกิดขึ้นต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาแล้วเป็น ธรรมทั้งหมดโดยตลอด ไม่มีใครเลย นอกจากสภาพธรรม โกรธเกิดขึ้นบ้าง โลภเกิดขึ้นบ้าง ริษยาเกิดขึ้นบ้าง มานะเกิดขึ้นบ้าง ความตระหนี่เกิดขึ้นบ้าง เมตตาเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งนี่คือปรมัตถธรรมจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยอาศัยบัญญัติ เพื่อให้เข้าใจได้

แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ทั้งหลาย ธาตุทั้งหลาย อายตนะทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน ก็มีนัยนี้เหมือนกัน เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสปุคคลกถา เพื่อทรงแสดงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน

เวลาพูดถึงเรื่องแต่ละคนมีกรรมเป็นของตน หรือมีกุศลอกุศลที่กำลังเกิด ในขณะนั้นซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ ผู้ที่เห็นธรรมก็สามารถเข้าใจได้ว่า แท้ที่จริงแล้วขณะที่บุคคลนั้นกำลังเป็นอกุศลอย่างนั้นๆ หรือแม้แต่ตนเองที่กำลังเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างนั้นๆ ก็เพราะการสะสมของวิถีจิตในอดีต และเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วจึงทำให้มีการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีการได้ยินเสียงที่กำลังได้ยินทางหู ในขณะนี้ ถ้าทุกคนจะพิจารณา เป็นธรรมทั้งหมด ก็จะพิจารณาได้แม้แต่ข้อความที่ว่า ขันธ์ทั้งหลาย ธาตุทั้งหลาย อายตนะทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ก็มีโดยนัยนี้เหมือนกัน คือ แทนที่จะเป็นคน เป็นสัตว์ แต่เพราะได้กระทำกรรมในอดีตจึงเป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบากในขณะนี้เกิดขึ้นเห็น และต่อจากนั้นกุศลอกุศลที่สะสมไว้ มีปัจจัยก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย ในขณะที่ฟัง แม้สมมติบัญญัติ ก็สามารถเข้าใจถึงปรมัตถสัจจะได้ในขณะนั้น

ในขณะนี้ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน ใช่ไหม ที่กำลังเห็น และไม่ใช่เราด้วย เป็นแต่เพียงอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้เห็นในขณะนี้ พิจารณาได้ โดยตลอด ถ้าขณะนี้เป็นกุศลจิต ก็ต้องมีกุศลที่ได้สะสมไว้ในปางก่อนเป็นปัจจัยทำให้พอใจในการฟังพระธรรม และมีการพิจารณาให้เข้าใจขึ้นโดยที่ขณะนี้ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แท้ที่จริงแล้วก็เป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะทั้งหลายนั่นเอง แต่ถ้าไม่พิจารณาก็ฟังเป็นเรื่อง และก็ลืมว่าปรมัตถธรรมคืออะไร

แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า มหาวิหารทั้งหลาย มีเวฬุวันเป็นต้น อันขันธ์ ธาตุ อายตนะสร้างแล้ว ก็มีนัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง ปุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงบุคคลผู้กระทำเฉพาะตน

ทุกท่านเคยได้ยินชื่อพระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน พระวิหารนิโครธาราม ซึ่งก็ต้องมีผู้สร้างพระวิหารเหล่านั้น และท่านผู้ฟังก็ทราบว่า ผู้สร้างพระวิหารเชตวัน คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และท่านมหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นผู้สร้างพระวิหาร ปุพพาราม เป็นเรื่อง แต่ถ้าคิดว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะ ซึ่งสะสมเหตุปัจจัยมาที่จะทำให้เป็นผู้ที่เกิดในยุคนั้น สมัยนั้น มี โภคสมบัติอย่างนั้น มีกุศลจิตอย่างนั้นที่ได้กระทำกรรมอย่างนั้นๆ แม้แต่ในขณะนี้ท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านเป็นเทพชั้นดุสิต ก็เป็นเรื่องของอดีตกรรมที่ได้ทำแล้ว เพราะฉะนั้น ก็มีกรรมเป็นของตนที่จะได้เห็นสิ่งต่างๆ ในสวรรค์ชั้นดุสิต และกุศลทั้งหลายที่จะเกิด ก็ตามการสะสมในปางก่อนทั้งหมด ถ้าพิจารณาอย่างนี้จะเห็น สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมปลงชีวิตบิดามารดา พระอรหันต์ กระทำกรรมคือยังพระโลหิตให้ห้อ และกระทำสังฆเภท ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงปุคคลกถา เพื่อทรงแสดงอนันตริยกรรม

มิฉะนั้นแล้วจะไม่รู้เลยว่า ใคร ขันธ์ไหน ธาตุไหน อายตนะไหน ได้กระทำอนันตริยกรรม ขณะที่ได้ยินว่า บุคคลใดกระทำอนันตริยกรรมหรือกรรมอื่นๆ ก็ตาม ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นการสะสมของชวนวิถีในอดีตที่ทำให้อกุศลมีกำลังจนกระทั่งสามารถกระทำกรรมที่หนักได้ แสดงให้เห็นว่า ไม่พ้นจากปรมัตถธรรมเลย ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของสมมติเทศนา

แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงปุคคลกถา เพื่อทรงแสดงพรหมวิหารธรรม

แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณ ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงปุคคลกถา เพื่อทรงแสดงปุพเพนิวาสญาณ

แม้เมื่อกล่าวว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมรับทาน มหาชนย่อมไม่เข้าใจ ย่อมงงงวย กลับเป็นศัตรูว่า นี้อะไรกัน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมรับทาน แต่เมื่อกล่าวว่า บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม เป็นต้น มหาชนย่อมเข้าใจ ย่อมไม่งงงวย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงปุคคลกถา เพื่อทรงแสดงความหมดจด แห่งทักษิณา

เป็นชีวิตประจำวันทั้งหมด แต่ขอให้เพิกสมมติบัญญัติ และให้ระลึกถึง จิต เจตสิก รูป ให้เข้าใจปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะเป็นตัวเองหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ตาม

ประการที่ ๘

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ย่อมไม่ละโลกสมมติ ตั้งอยู่ในชื่อของชาวโลก ในภาษาของชาวโลก ในคำพูดจากันของชาวโลกนั่นแลแสดงธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงปุคคลกถา แม้เพื่อไม่ละโลกสมมติ

ท่านผู้ฟังก็จะต้องกล่าวถึงสมมติบัญญัติไปเรื่อยๆ แต่ผู้ที่มีความรู้เรื่อง ปรมัตถธรรมสามารถระลึกได้และเข้าใจได้ว่า สมมติเป็นเพียงชื่อ เพื่อให้เข้าใจ การสะสม หรือสภาพของขันธ์ ของธาตุ ของอายตนะนั่นเอง

สำหรับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มาจากการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นคำจริงทั้งหมด เป็นสัจจธรรม ไม่มีการผิดพลาดเลย

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

ชื่อว่าตถาคต เพราะมีพระวาจาที่แท้จริงเป็นอย่างไร

ราตรีใดพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอปราชิตบัลลังก์ ณ โพธิมัณฑสถาน ตรัสรู้ยิ่งเองซึ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และราตรีใดเสด็จปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ ในระหว่างราตรีนั้น ในเวลาที่พระองค์มีพรรษาประมาณ ๔๕ พรรษา พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์อันใด ในปฐมโพธิกาลบ้าง มัชฌิมโพธิกาลบ้าง ปัจฉิมโพธิกาลบ้าง คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ พระพุทธพจน์ทั้งหมดนั้น ใครๆ ตำหนิไม่ได้ ทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ไม่ขาด ไม่เกิน บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง เป็นเครื่องย่ำยีราคะ ในพระพุทธพจน์นั้น ไม่มีความผิดพลาดแม้เพียงปลายขนทราย

พระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น เหมือนประทับไว้ด้วยตราอันเดียวกัน เหมือนตวงด้วยทะนานเดียวกัน และเหมือนชั่งด้วยตาชั่งอันเดียวกัน จึงเป็นของแท้แน่นอนทั้งนั้น ไม่มีที่ไม่แท้ ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงตรัสว่า

ดูกร จุนทะ ตถาคตตรัสรู้ยิ่งเองซึ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ระหว่างราตรีนั้น (คือ ระหว่างตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งปรินิพพาน) ได้ภาษิต ได้กล่าว ชี้แจง คำพูดอันใด อันนั้น เป็นของแท้อย่างเดียว ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต

นี่คือคำที่พระองค์ตรัสถึงพระองค์เอง คือ ตรัสเรียกพระองค์ว่า ตถาคต

เรื่องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องเป็นเรื่องจริงใจตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เมื่อเริ่มทรงบำเพ็ญพระบารมีจนกระทั่งทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงแสดง พระธรรมระหว่างทรงตรัสรู้จนกระทั่งปรินิพพาน และการกระทำทั้งหมดของพระองค์ต้องเป็นสัจจะ จริงต่อวาจาที่ตรัสด้วย

ชื่อว่าตถาคต เพราะเป็นผู้มีปกติกระทำอย่างที่ตรัสนั้นเป็นอย่างไร

เพราะว่า พระกายของพระผู้มีพระภาคย่อมอนุโลมแก่พระวาจา แม้พระวาจา ก็อนุโลมแก่พระกาย เพราะเหตุนั้น พระองค์ตรัสอย่างใด ก็ทรงกระทำอย่างนั้น และทรงกระทำอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น ก็พระวาจาของพระองค์ผู้เป็นอย่างนั้นตรัสอย่างใด แม้พระกายก็ไปอย่างนั้น อธิบายว่า ดำเนินไปอย่างนั้น

อนึ่ง พระกายทรงกระทำอย่างใด แม้พระวาจาก็ตรัสอย่างนั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าตถาคต ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างใด กระทำอย่างนั้น กระทำอย่างใด ก็พูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต

ชื่อว่าตถาคต เพราะเป็นผู้มีปกติกระทำอย่างที่ตรัสนั้น ด้วยประการฉะนี้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจะ จะเป็นผู้ที่ไม่จริง จะเป็นผู้ที่หลอกลวง หรือเป็นผู้ไม่ตรง ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ใครก็ตามที่ยังไม่ได้เห็นคุณประโยชน์ของความเป็นผู้ตรง ความเป็นผู้จริง หรือสัจจะ ก็ต้องพิจารณาเห็นโทษของความเท็จ และต้องรู้ว่า ถ้ายังคงมีความเท็จหรือความไม่จริง เป็นผู้ที่ขาดสติสัมปชัญญะ ที่จะหวังให้สติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องตั้งต้นที่จะเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของสัจจบารมี แม้เพียงคำไม่จริงเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยพูดมาก่อน ก็ต้องเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรละ และสะสม สัจจบารมีเพิ่มขึ้น

เปิด  226
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566