แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1953

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๓


ขณะที่กำลังฟังระลึกถึงพระคุณหรือเปล่า ถ้าไม่ระลึกขณะที่กำลังฟัง จะระลึกเมื่อไร กลับไปก็เรื่องอื่นแล้ว แต่ในขณะที่ฟังพระธรรม ก็เป็นขณะที่ระลึก ถึงคุณอันเป็นโลกียะและโลกุตตระของพระผู้มีพระภาค เหมือนท่านพระอานนท์เถระ เจริญการระลึกเนืองๆ ย่อมบรรลุโสตาปัตติมรรค

ถ้าจิตในขณะนี้สามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นเหมือน การระลึกถึงพระคุณ เพราะถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงหนทาง สติปัฏฐานของใครจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ แต่เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทาง เพราะฉะนั้น ขณะที่ระลึกถึงพระคุณ และไม่ใช่เพียงระลึกเท่านั้น ยังปฏิบัติโดยสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นการระลึกที่ยอดเยี่ยม

บทว่า อเนกธาตุปฏิเวโธ ความว่า การแทงตลอดธาตุ ๑๘ มีคำว่า จักขุธาตุ รูปธาตุ ดังนี้ เป็นต้น ย่อมมีในพุทธุปบาทกาลเท่านั้น เว้นพุทธุปบาทกาล ย่อมไม่มี

ฉะนั้น ถ้าไม่มีการศึกษา พ้นสมัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ถ. อนุตตริยะต้องเจริญจนบรรลุอริยสัจจธรรมหรือเปล่า

สุ. แน่นอน

ถ. การปรนนิบัติพระธรรม ซึ่งเป็นผู้แทนของพระบรมศาสดา ปรนนิบัติอย่างไร และจะบรรลุได้อย่างไร

สุ. ต้องเข้าใจพระธรรมก่อน ถ้าไม่เข้าใจพระธรรม ไม่ได้ปรนนิบัติ พระธรรมแน่ ปรนนิบัติอื่น และเข้าใจว่าอื่นนั้นคือพระธรรม แต่ถ้าได้ศึกษา เข้าใจพระธรรมจริงๆ แล้ว จะรู้ว่าปรนนิบัติธรรมคืออย่างไร

ถ. การสร้างพระไตรปิฎกถวายวัด ๒๐ วัด ก็ไม่เรียกว่าปรนนิบัติพระธรรม

สุ. การช่วยให้บุคคลอื่นเข้าใจพระธรรม พระไตรปิฎกสำหรับให้เข้าใจ ให้ศึกษา

ได้สนทนากับท่านผู้ฟังที่เพิ่งจะเริ่มฟัง ท่านก็มีปัญหาถามเรื่องการปฏิบัติ อีกท่านหนึ่งก็ตอบว่า สำหรับการปฏิบัตินั้น ต้องศึกษาพิจารณาให้เข้าใจก่อน ไม่ใช่เรื่องรีบร้อน หรือรีบเร่งที่จะปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย

แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ผู้ฟังหรือพุทธศาสนิกชนเกิดปัญญาของตนเอง โดยฟัง และศึกษาพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังจนกระทั่งเป็นความเข้าใจ เป็นปัญญาของตนเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เราเคยคิดเคยเข้าใจตามที่เมื่อยินได้ฟังว่า ปฏิบัติ ก็จะทำ นั่นไม่ใช่ นั่นเป็นภาษาไทยที่เราเคยเข้าใจว่า ปฏิบัติคือทำ แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้วและรู้ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยและดับไป เพราะฉะนั้น ใครปฏิบัติ ก็เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสภาพธรรมนั้นๆ

สำหรับการปฏิบัติธรรมที่เป็นการอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติเมื่อยังไม่ถึงโลกุตตรจิตจะมีมรรคเพียง ๕ องค์ ไม่ครบ ๘ คือ เว้นวิรตีเจตสิก ๓ ได้แก่ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ เพราะฉะนั้น จึงประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๕ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ สำหรับวิรตีเจตสิก ๓ นั้น จะเกิดต่างขณะกัน เกิดพร้อมกันทั้ง ๓ ไม่ได้ ซึ่งในบางกาลจะมีวิรตีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และในบางกาลเมื่อไม่มีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเกิดร่วมด้วย ก็ต้องมีเจตสิก ๕ องค์ซึ่งทำกิจของเจตสิกนั้นๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเพียงได้ยินเรื่องปฏิบัติก็จะทำ แสดงว่าผู้นั้นยังไม่มีปัญญาเป็นของตนเองเลย ต้องฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร สติจึงจะเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ท่านผู้ฟังทุกท่านก็เป็นอย่างนี้ ใช่ไหม

ไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติได้ทันที หรืออยากจะปฏิบัติก็ปฏิบัติได้ ต้องแล้วแต่ว่า สติเกิดหรือไม่เกิด ขณะใดสติไม่เกิดคือขณะนั้นไม่ระลึก มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่สติไม่เกิด จึงไม่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

แต่ในขณะนี้เอง ขณะที่สติเกิด ก็คือกำลังระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นจะเข้าใจถูกว่า สติเกิดขึ้นกระทำกิจของสติ คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรม นี่คือการอบรมเจริญปัญญาโดยสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่ว่ามีใครที่จะทำ หรือที่จะปฏิบัติ

ท่านที่กล่าวว่าการปฏิบัติเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจก่อน ท่านบอกว่า ท่านได้อ่านเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งทุกท่านที่อ่านหนังสือธรรมะไม่ว่าเรื่องใดทั้งสิ้น ควรจะรู้จุดประสงค์ของการอ่านว่า เพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง ให้ลึกซึ้ง ให้ครบถ้วน ไม่ใช่เพียงแต่อ่าน

แม้แต่คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ถ้าแปลก็คือทางสายกลาง คือ ไม่ตกไปใน กามสุขัลลิกานุโยค หรืออัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้น บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า ขณะใดจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะพระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา บางคนก็แปลเองว่า ต้องพอดีๆ แต่อย่างไรจึงจะเป็นพอดี

ในขณะนี้ที่กำลังเห็น และเกิดโลภะ สมมติว่าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วเกิดชอบใจ เพลินไปอย่างยิ่ง สติปัฏฐานเป็นมัชฌิมาปฏิปทาขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของความพอใจ เพราะว่าความพอใจเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ กำลังดูหนัง ดูละคร อ่านหนังสือ สนุก สติปัฏฐานระลึกลักษณะของความพอใจอย่างยิ่งในขณะนั้นซึ่งมีจริงๆ เพราะว่า เกิดขึ้นแล้ว กำลังปรากฏ

เพราะเหตุใดจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่าขณะนั้นตัตรมัชฌัตตตา เป็นสภาพธรรมที่เป็นกลางสามารถระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะใดที่ปัญญาสามารถระลึกศึกษาพิจารณาเข้าใจได้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริง ขณะนั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่าสามารถ เป็นกลาง รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ว่า แม้เป็นโลภะอย่างแรง ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ปัญญา คือ ขณะใดที่สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวันและรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งต้องเป็นปัญญาจึงรู้ได้ ตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นๆ เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้ารู้อย่างนี้ คือ มัชฌิมาปฏิปทา ไม่เข้าใจผิด

แต่ถ้าเป็นอกุศล สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร อาจจะรู้สึกชอบ หรือไม่ชอบลักษณะของสภาพธรรมนั้น เช่น เวลาที่เกิดโกรธ ก็อาจจะมีกายวาจาที่เปลี่ยนไป จากปกติ ผู้นั้นก็รู้สึกไม่ชอบอาการนั้น ขณะนั้นไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่าไม่ใช่ขณะที่ปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมและรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น โสภณเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิต โดยเฉพาะเกิดกับสติสัมปชัญญะ ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมและสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ตามความเป็นจริงได้ จึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ไม่ใช่ว่าต้องรับประทานอาหารพอดีๆ แต่ไม่รู้ว่าพอดีอย่างไร จะเป็น ๑ จานพอดี หรือ ๒ จานพอดี หรือจานครึ่งพอดี และพยายามไปหามัชฌิมาปฏิปทา นั่นไม่ใช่

มัชฌิมาปฏิปทา ต้องเป็นกุศลจิตที่เกิดพร้อมสติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแล้วเป็นกลาง คือ รู้ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น จึงจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง

ถ. ขณะที่สติระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถ่ายถอนอัตตสัญญาออกไปทีละเล็กทีละน้อย ใช่ไหม

สุ. ถ้าไม่ระลึก ไม่มีโอกาสศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นตามความเป็นจริง แต่ในขณะที่กำลังระลึกขึ้นอยู่กับปัญญาว่า ปัญญาสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องหรือยัง เพราะถ้าเป็นผู้ที่เริ่มอบรมเจริญปัญญาจริงๆ สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่เมื่อยังไม่ได้ศึกษาความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นกล่าวไม่ได้ว่า สามารถรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าจะมีความคิดเกิดขึ้นแทรก ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม และภายหลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมอีกแต่ก็ยังไม่สามารถรู้ชัดว่านามธรรมต่างกับรูปธรรม จนกว่าจะระลึกเนืองๆ บ่อยๆ และพิจารณาเพิ่มขึ้น และบุคคลนั้นเองจะเป็นผู้รู้ว่า ปัญญาค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นเพิ่มขึ้น หรือยังไม่เพิ่ม

ถ้ายัง ก็ระลึกอีกเนืองๆ บ่อยๆ เพราะว่าเป็นหนทางเดียว ในเมื่อสภาพธรรม มีจริงๆ และกำลังปรากฏด้วย แต่เมื่อสติเพิ่งเริ่มระลึก ปัญญายังไม่สามารถเข้าใจ ได้ทันที ต้องอาศัยการฟังและความเข้าใจจากการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม จนเมื่อสติระลึกอีก ก็มีปัญญาซึ่งเข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นอีกเป็นเหตุให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึกได้ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยอาศัยการฟังและความเข้าใจ เมื่อสติระลึกเพราะเข้าใจแล้ว ก็สามารถพิจารณาได้ถูกต้องว่า ลักษณะใดเป็นสภาพนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม

ถ. แสดงว่าปัญญาขั้นต้นๆ ยังไม่ชัด

สุ. ชัดไม่ได้ ถ้าชัดได้ก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์กันแล้ว

ถ. ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

สุ. โดยผู้นั้นเองเป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริง ถ้ายังสงสัย ความสงสัยก็มี จริงๆ ถ้าค่อยๆ รู้ และสงสัยอีก เพราะว่าระลึกแล้วก็รู้นิดเดียวและหมดไปอีก และอวิชชาก็เกิดมากมาย โลภะบ้าง โทสะบ้างในวันหนึ่งๆ เมื่อสติเริ่มระลึกใหม่ ความรู้เดิมก็ไม่พอที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจึงรู้ว่า ไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่เป็นเรื่องเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นว่า แม้สติก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น และปัญญาที่จะรู้มากหรือน้อย ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยด้วย

ถ้าเป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังน้อย ไม่รู้เรื่องของนามธรรมและรูปธรรม และบอกให้สติระลึก ก็ไม่สามารถเข้าใจลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะว่าการฟังน้อย ความเข้าใจน้อย

ถ. ที่อ่านจากหนังสือ ท่านอาจารย์บอกว่า แม้ประจักษ์ขั้น ๑ แล้ว โลกก็ยังรวมกันอีกเหมือนเดิม

สุ. วิปัสสนาญาณไม่ใช่ปัญญาเริ่มต้น แต่เป็นผลของการอบรมเจริญจนกระทั่งถึงพร้อมในขณะที่ปัญญาแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่มีสภาพธรรมอื่นปะปน ทีละอย่าง เพราะฉะนั้น ไม่มีโลกที่รวมกันปรากฏเหมือนในขณะนี้ แต่แม้กระนั้นก็ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะว่าเป็นเพียงวิปัสสนาญาณขั้นต้น เป็นตรุณวิปัสสนา

เรื่องธรรมเป็นเรื่องจริง ทุกท่านพิสูจน์ได้ และสามารถรู้ปัญญาของตนเองได้

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ไม่มีใครเป็นผู้ปฏิบัติ ฟังยากอยู่ ช่วยอธิบายอีก

สุ. ไม่มีใครสามารถทำสติ ทำปัญญา ทำเห็น ทำได้ยิน ทำโลภะ ทำโทสะ เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เช่น การเห็น ต้องอาศัยจักขุปสาท รูปารมณ์กระทบกัน และขณะนั้นจักขุทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น และดับไป จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นเห็นได้

แสดงให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายเกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เพราะฉะนั้น จะทำสติก็ทำไม่ได้ ถ้าสติไม่เกิด และเวลาที่สติเกิด สติก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทำได้ยินก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยจิตได้ยินก็เกิด ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ใครจะทำให้จิตได้ยินเกิด ก็ทำไม่ได้

พระพุทธศาสนาต้องศึกษาจริงๆ ให้เข้าใจถูก ให้เข้าใจลึกซึ้ง ให้เข้าใจ โดยครบถ้วน มิฉะนั้นแล้วก็เพียงอ่าน มัชฌิมาปฏิปทาก็เข้าใจแต่เพียงลอยๆ ว่า ทางสายกลาง แต่ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องการเป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นสติปัฏฐาน จะเข้าใจมัชฌิมาปฏิปทาเพียงชื่อ ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นมัชฌิมาปฏิปทา และอาจจะพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เป็นทางสายกลาง

ขณะใดก็ตามที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นจะชื่อว่ามัชฌิมาปฏิปทาไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ไม่ว่าจะเป็นเมตตา ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ใครรู้ ก็คือปัญญาพร้อมสติที่ระลึกจึงรู้ว่า แม้โลภะก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แม้เมตตาก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง โลภะไม่ได้ยั่งยืนฉันใด ลักษณะของเมตตาก็ไม่ได้ยั่งยืนฉันนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ปัญญาที่สามารถรู้ตามความเป็นจริง จึงเป็นกลาง ไม่ตกไปด้วยความชัง หรือความชอบในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินชื่อปฏิปทา ๓ คือ กามสุขัลลิกานุโยค การเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถือว่าเป็นสุขแล้ว นั่นเป็นหนทางข้อปฏิบัติหนึ่ง ซึ่งจะพิจารณาเห็นได้ว่า บางคนมีความสมบูรณ์ในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เพลิดเพลินอยู่แต่ในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นคือ กามสุขัลลิกานุโยค

สำหรับหนทางข้อปฏิบัติอีกทางหนึ่ง คือ อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตนด้วยประการต่างๆ เพื่อให้กิเลสหมด บางคนก็อดอาหาร ลองอดดูว่าความหิวจะเป็นอย่างไร บางคนก็อาจจะลองวันหนึ่ง บางคนเก่งแล้วก็ลอง ๒ วัน บางคนอาจจะ บอกว่า เดี๋ยวนี้เก่งขึ้นอีก ลองอดได้ ๓ วัน แต่นั่นไม่ใช่ทางอบรมเจริญปัญญา หนทางที่ทรมานตนทั้งหมดไม่มีมีประโยชน์ นั่นคืออัตตกิลมถานุโยค

ส่วนทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พระสูตรที่ไม่สงเคราะห์เข้า ในปัณณาสก์ ว่าด้วยปฏิปทา ๓ ข้อ ๕๙๖ แสดงอีกชื่อหนึ่ง ความหมายเหมือนกัน คือ อาคาฬหปฏิปทา เป็นข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า เห็นว่า กามไม่มีโทษ จึงตกไปในกาม ซึ่งทุกคนอาจจะคิดอย่างนี้ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ดูไม่เห็นเป็นโทษอะไรเลย ตราบใดที่ไม่ได้ทำทุจริตกรรม บางคนก็เพลิดเพลินไปมากทีเดียวในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะไม่เห็นโทษเลยจริงๆ

สำหรับผู้ที่เห็นว่าเป็นโทษแต่ยังละไม่ได้ตามความเป็นจริงก็รู้ว่า การที่จะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต้องด้วยปัญญาขั้น พระอนาคามีบุคคล แต่แม้กระนั้นความที่เคยเพลินไปมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยังสามารถลดลงบ้าง หรือคลายลงเท่าที่การสะสมมาจะเป็นไปได้ และก็รู้กำลังของตนเองว่า ยังไม่สามารถดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่สามารถที่จะสะสมความสันโดษ ความพอใจ ความขัดเกลา ไม่ยินดีเพลิดเพลินมากมายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

แต่ผู้ที่ไม่เห็นว่าเป็นโทษ จะประพฤติเป็นอาคาฬหปฏิปทา คือ เห็นว่ากามไม่มีโทษ จึงตกไปในกาม

ปฏิปทาอีกทางหนึ่ง คือ นิชฌามปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างทรมาน ได้แก่ การอดอาหาร หรือทรมานตัวต่างๆ เช่น นอนบนหนาม ยืนกระโหย่ง หรือแม้ อากาศจะหนาวก็อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง หรือบริโภคแต่เฉพาะข้าวฟ่าง หรือผัก หรือผลไม้เท่านั้น เป็นข้อปฏิบัติอย่างทรมาน คือ นิชฌามปฏิปทา

เปิด  213
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565