แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1956
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๙ กันยายน ๒๕๓๓
นี่เป็นยุคสมัยซึ่งแต่ละบุคคลต้องช่วยตัวเอง เพราะถ้าไม่พิจารณาข้อปฏิบัติ จริงๆ ย่อมหลงไปสู่หนทางที่ไม่ทำให้เกิดปัญญา แม้ในสมัยพระผู้มีพระภาคก็มีผู้ที่แสดงหนทางผิด และมีผู้ที่ประพฤติตามผู้ที่แสดงหนทางผิดๆ นั้นด้วย
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อุโปสถสูตร ข้อ ๕๑๐ มีข้อความโดยย่อว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสกับวิสาขามิคารมารดาเรื่องนิคัณฐอุโบสถ ซึ่งพวกนิครนถ์สอนสาวกอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่าใดอยู่ทางทิศตะวันออก ตะวันตก เหนือ ใต้ อยู่เกินเขต ๑๐๐ โยชน์ออกไป จะทำร้าย หรือจะตี จะฆ่าก็ได้ และสอนให้กรุณาสัตว์ บางเหล่า ไม่กรุณาสัตว์บางเหล่า ในวันอุโบสถพวกนิครนถ์สอนให้สาวกเปลื้องผ้า ออกให้หมด แล้วให้พูดอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องต่อใครๆ ที่ไหนๆ ความกังวลในสิ่งไรๆ ที่ไหนๆ ก็ไม่มี
แต่ความจริง มารดาบิดาของเขาก็รู้อยู่ว่า นี่บุตรของเรา ตัวเขาก็รู้อยู่ว่า นี่มารดาบิดาของเรา
อนึ่ง บุตรและภรรยาของเขาก็รู้อยู่ว่า นี่สามีของเรา เขาก็รู้ว่า นี่บุตรภรรยาของเรา ทาสกรรมกรและคนอาศัยของเขารู้ว่า นี่นายของพวกเรา เขาก็รู้ว่า ทาสกรรมกรและคนอาศัยของเรา ด้วยประการฉะนี้ เขาสอนคนอื่นให้ถือความจริง ในเวลาใด ก็ชื่อว่าเขาสอนให้ถือมุสาวาทในเวลานั้น เรากล่าวการสอนของเขานี้ ในฐานมุสาวาท
ล่วงราตรีนั้นแล้ว เขาบริโภค (กินอยู่ใช้สอย) โภคะ เป็นอย่างของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เรากล่าวการบริโภคของเขานี้ในฐานอทินนาทาน
เพราะว่าผู้มีศรัทธาให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เพื่อเป็นการบูชาคุณของผู้ที่ ประพฤติถูก ให้ด้วยความศรัทธาในข้อปฏิบัติที่ถูก ที่เหมาะ ที่ควร แต่ถ้าผู้นั้นมี ข้อปฏิบัติที่ผิด ที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อบริโภคปัจจัยที่ผู้อื่นมอบให้นั้น ก็เท่ากับ เป็นอทินนาทาน เพราะว่าเขาไม่ได้ให้ผู้ที่ประพฤติผิด ปฏิบัติผิด แต่เมื่อได้รับมา และเป็นผู้ประพฤติผิด การบริโภคของบุคคลเช่นนั้น จึงเป็นดังเช่นกับอทินนาทาน และคำสอนที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นคำสอนที่แท้จริง ก็เป็นคำสอนโดยฐานะของมุสาวาท
ถ. สืบเนื่องมาจากได้ฟังเทปของอาจารย์ และที่ผมต้องฟังเทป เพราะ ในระยะ ๑๐ ปีหลังต้องไปทำงานต่างประเทศ ไม่ได้อยู่เมืองไทย จึงไม่ได้ฟังอภิธรรมมานาน เผอิญ ๒ ปีสุดท้ายโชคดีมีคนส่งเทปไปให้ฟัง ซึ่งการฟังเทปก็เหมือนการ เรียนหนังสือด้วยตนเอง มีปัญหาที่ไม่เข้าใจก็ไม่รู้จะไปถามใคร ปัญหาบางอย่าง เป็นเพียงเส้นผมบังภูเขา หรือบางครั้งก็อาจจะสรุปผิดๆ ก็ได้ ขอเรียนถามอาจารย์ สัก ๒ – ๓ ข้อก่อน
ข้อแรก การเจริญสติปัฏฐาน ผมเข้าใจว่า เราไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดอิริยาบถ ไม่จำกัดอารมณ์ ปัญหาคือสำหรับคนธรรมดา อารมณ์ที่เข้ามา ทางตากับทางหู กับความนึกคิดทางใจ เข้ามาพร้อมๆ กัน จะทำอย่างไร
สุ. จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ และจะมีอารมณ์พร้อมกันในขณะเดียวกัน ๒ อย่างไม่ได้ นี่เป็นความเข้าใจขั้นปริยัติซึ่งจะต้องมีก่อนที่สติปัฏฐานจะเจริญ คือ ต้องทราบว่า จิตเกิดขึ้นทีละขณะ และรู้อารมณ์ทีละอย่าง
ในเมื่อสภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ ปัญญาก็ต้องอบรมจนกระทั่งสามารถรู้ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ โดยที่พิสูจน์ธรรมได้เลย ในขณะนี้ ทุกคนเห็น และได้ยิน และก็คิดนึก จิตเกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก แต่ปัญญาไม่สามารถจะรู้ความจริง เพราะความรวดเร็วของจิตซึ่งเกิดดับ และสติปัฏฐานยังไม่เคยเกิดเลย จึงต้องอาศัยปริยัติคือความเข้าใจในสัจจญาณจริงๆ ว่า สัจจธรรมหรืออริยสัจจธรรม ก็คือการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปตามความเป็นจริงในขณะนี้เอง
เพราะฉะนั้น ต้องทราบ ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ มิฉะนั้นแล้ว สติเจริญไม่ได้ อย่างทางตาที่กำลังเห็น ปกติหลงลืมสติ แต่ขณะใดที่สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมทางตา คืออย่างไร ขณะที่ได้ยินเสียงเป็นปกติในชีวิตประจำวันมักจะหลงลืมสติ แต่เวลาที่ได้ยินและสติเกิดระลึกเพื่อรู้ลักษณะของสภาพได้ยินหรือเสียง ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง คืออย่างไร ซึ่งก็จะรู้ได้จากขณะที่สติเกิด เท่านั้น แต่ถ้าสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็เป็นการศึกษาตามปริยัติว่า จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะและดับไป และรู้อารมณ์ทีละขณะ
เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในขณะนี้ เพียงชั่วขณะ นิดเดียวที่สติระลึกที่แข็ง หรือระลึกทางตาที่กำลังเห็น และปัญญาเกิด นั่นคือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ต้องไปคิดถึงสถานที่ หรือเลือกอารมณ์ที่ยังไม่ปรากฏ
ถ. ถ้าเป็นความคิดนึกทางใจที่ไม่ได้เนื่องมาจากปัญจทวาร สมมติว่า เรามีความฟุ้งซ่าน ความเดือดร้อนต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาเองต่างหาก ถือเป็นผลของ อดีตกรรมหรือเปล่า
สุ. ไม่เป็น ถ้าเป็นผลของอดีตกรรม ต้องเป็นวิบากจิต ต้องทราบว่า วันหนึ่งๆ จิตขณะไหนเป็นวิบากจิต จิตขณะไหนเป็นกุศลจิต อกุศลจิต ถ้าเป็นกุศลจิต อกุศลจิต ไม่ใช่ผลของอดีตกรรม ไม่ใช่วิบาก แต่เป็นผลจากการสะสมซึ่งไม่ใช่วิบาก
ถ. อีกข้อหนึ่ง อาจารย์เคยบรรยายในเทปว่า กรรมที่ให้ผล จะเป็นฝ่ายกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ขึ้นกับเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ต้องถึงพร้อมด้วยคติสมบัติ อุปธิสมบัติ กาลสมบัติ ปโยคสมบัติ และเมื่อไรกรรมจะสิ้นผล กรรมนี่คล้ายๆ พลังงานอย่างหนึ่ง ใช่ไหม หรืออย่างไรไม่ทราบ
สุ. หมายความว่า กรรมหนึ่งๆ จะหมดเมื่อไรหรือ
ถ. ใช่ วิบากของกรรม
สุ. ไม่มีใครรู้ได้
ถ. เช่น คนทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ เป็นอกุศลกรรม อกุศลกรรมนี้ให้ผลนานเท่าไรจึงจะหมด
สุ. แล้วแต่กำลังของกรรม พูดได้แต่ว่า แล้วแต่กำลังของกรรม อย่างขณะนี้ที่เห็น ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลัง ได้ยินเดี๋ยวนี้ ทราบแต่เพียงว่าเป็นวิบากจิต แต่จะบอกว่าเป็นผลของกรรมในชาตินี้ หรือเป็นผลของกรรมในชาติก่อน หรือเป็นผลของกรรมในแสนโกฏิกัปป์ บอกไม่ได้เลย
ถ. มีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งฟังเหมือนกับจะเข้าใจ แต่จริงๆ ไม่เข้าใจ คือ ที่อาจารย์ชอบพูดเสมอๆ เวลาใครเอาสติไปไว้ตรงไหน อะไรพวกนี้ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า สติเป็นอนัตตา อย่างเรานึกขึ้นได้ว่า เรายืน นี่แข็ง และได้ยินเป็นเสียง สติที่รู้ตอนนั้นเป็นอนัตตาหรือเปล่า
สุ. ทุกขณะเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่อนัตตา เห็นก็เป็นอนัตตา ได้ยินก็เป็นอนัตตา คิดนึกก็เป็นอนัตตา สติก็เป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา จึงยึดถือว่าเป็นเรา
ถ. ถ้าไปยึดถือว่าเป็นเรา ก็ไม่เป็นอนัตตา มีอีกคำที่อาจารย์พูดเสมอว่า เอาจิตไปจดจ้องเป็นโลภะ ผมงงว่า และแบบที่เจริญสติให้รู้ว่าตรงนี้แข็ง หรือได้ยินเสียงน้ำฝนก็ว่าเป็นเสียง จะผิดกับแบบที่เขาทำอานาปานสติ หายใจเข้ารู้ว่าเข้า ออกรู้ว่าออกอย่างไร ซึ่งตรงนั้นก็บอกว่าเป็นโลภะ ผิดตรงนั้น ไม่เป็นอนัตตา เป็นตัวเรา สองแบบนี้ผมแยกไม่ค่อยออก
สุ. ธรรมต้องสอดคล้องกัน จิตเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยและดับไป เพราะฉะนั้น จะเอาสติ ทำอย่างไร จะเอาได้อย่างไร จิตทุกขณะเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย สติก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าสติเกิดก็มีปัจจัยที่สติจะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าสติไม่เกิด สภาพธรรมอื่นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
แม้แต่คำที่ว่า จะเอาสติไปตั้ง ก็ยังมองไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ตอนไหน เพราะว่าจิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นเห็น จะเอาไปตั้งไว้ที่ไหน ใครจะเป็นคนเอาสติมาตั้งไว้ ที่เห็น หรือลมหายใจก็มีเป็นปกติ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิด เพราะฉะนั้น ใครจะเอาสติจากไหนไปตั้ง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่จะต้องอบรมเจริญปัญญา เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ปัญญา หมายความว่าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น แต่อบรมเจริญความรู้ ความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ
ถ. ที่ผมกำลังพยายามเข้าใจ แต่ยังไม่เข้าใจ คือ ที่เจริญสติปัฏฐาน เจริญให้รู้ว่า นี่เป็นเสียง ตรงนี้เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง กับที่เอาสติไประลึกรู้ว่า นี่เป็นเพียงแข็ง ไม่ได้เป็นรูปร่างสัณฐาน หรือเสียงก็สักแต่ว่าเสียง ตรงนี้ต่างกันตรงไหน
สุ. ตั้งต้นใหม่ เปลี่ยนใหม่ อบรมเจริญความเข้าใจ ไม่ต้องไปนึกถึง สติปัฏฐาน หรืออะไรทั้งหมด อบรมเจริญความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ลืมเรื่องสติ ไม่ต้องนึกถึงชื่อสติ แต่ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา อบรมเจริญปัญญาเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นั่นก็คือตัวสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าอยากให้สติไปตั้งที่นั่น อยากจะให้สติไปตั้งที่นี่ แต่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังปรากฏหรือเปล่า และวิธีที่จะเข้าใจก็คือ ฟังมาแล้วเรื่องของสภาพธรรมว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ทางตาที่กำลัง เห็นเดี๋ยวนี้ก็เป็นสภาพรู้ อบรมความเข้าใจว่า ขณะที่กำลังเห็นนี่เป็นสภาพรู้ นั่นคือ สติปัฏฐานโดยตรง
ไม่มีการเอาสติไปตั้งตรงนั้นตรงนี้เลย และไม่มีการสงสัยว่า ทำอย่างไรจึงจะ รู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะเหตุว่าเสียงเข้าใจแล้วว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่ที่ เสียงปรากฏ เพราะปรากฏกับสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เสียงปรากฏตามปกติ ปัญญารู้ในลักษณะของเสียงซึ่งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หรือรู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพที่กำลังรู้เสียง ไม่มีเราอีกต่อไป มีแต่เพียงสภาพรู้เสียงที่กำลังได้ยินเสียง นี่คือ อบรมเจริญความรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ถ. ตรงนี้สำคัญมาก ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์
สุ. ปกติของปุถุชน เห็น หลงลืมสติ ทันทีที่ตื่นลืมตา หลงแล้ว มีโลภะเกิดขึ้น มีความต้องการติดตามไปตลอดวันที่โทสะไม่เกิด หรือกุศลจิตไม่เกิด
นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกัน เปรียบเทียบดูว่า วันหนึ่งๆ ของคนที่มีกิเลส เห็นแล้วเป็นอกุศลโดยตลอด แต่คนที่สะสมปัญญามา เห็นแล้วเป็นปัญญาจึงดับ กิเลสได้ มิฉะนั้นแล้วจะดับกิเลสไม่ได้เลย เพราะอะไร ก็เพราะเมื่อเห็นแล้วกิเลสเกิด เพราะฉะนั้น จะดับกิเลสได้ต่อเมื่อเห็นแล้วปัญญาเกิด เวลาได้ยินแล้วกิเลสเกิด จะดับกิเลสได้ก็ต่อเมื่อกำลังได้ยินนั้นแหละปัญญาเกิด จึงดับกิเลสในขณะนั้นได้ จนกระทั่งไม่มีกิเลสเหลือเลย
นี่คือความต่างกันของปัญญาขั้นต่างๆ เช่น ขั้นการฟัง ไม่มีใครที่จะไม่เข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรม เรื่องสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เรื่องนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เรื่องรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีใครสงสัย แต่กำลังเห็น ปัญญาเกิดคืออย่างไร
ถ. เห็นแล้วปัญญาเกิด เห็นแล้วโลภะเกิด หรือกิเลสเกิด คือ โกรธ เห็นแล้วหมั่นไส้ขึ้นมา ๒ จุดนี้ ผมว่าคงกระโดดจากจุดนี้ไปยาก แต่เป็นอย่างนี้ได้ไหม คือ ตอนแรกก็หมั่นไส้ และเราก็รู้สึกว่า นี่เราหมั่นไส้แล้ว เตือนตัวเองว่า เราจะ ขัดเกลาลดความหมั่นไส้ลง อย่างนี้ได้ไหม จะเรียกว่า ปัญญาค่อยๆ งอกขึ้นมา นิดหนึ่งได้ไหม เป็นไปได้ไหมลักษณะนี้
สุ. ไม่ใช่เรื่องอนุญาต แต่เป็นเรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า นามธรรมทั้งหมด ไม่ว่าริษยาก็เป็นนามธรรม หมั่นไส้ก็เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะไม่เข้าใจพยัญชนะที่ว่า ผู้เจริญสติปัฏฐาน คือ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเหมือนนักรบที่ยิงไกลและยิงไว จะไม่เข้าใจเลย ถ้าไม่ใช่เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานโดยถูกต้องและอบรมแล้ว จะรู้ได้เลยว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาและไม่มีตัวตน และสภาพธรรม ที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นไปอย่างรวดเร็วและสั้นมาก ถ้าสติไม่เกิด ขณะนี้อาจจะกำลังจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด กำลังสนใจที่หนึ่งที่ใด แต่ถ้าสติเกิด ละคลายความติด แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ จะเห็นสภาพธรรมละเอียดขึ้น เพราะว่าเพียงเสียงนิดเดียว ก็ได้ยินแล้ว อย่างเวลานี้ อาจจะเป็นเสียงน้ำฝนหยด นี่โดยพยัญชนะที่ใช้คำว่า เสียงน้ำฝนหยด แต่จริงๆ แล้วเสียงนั้นเล็กแผ่ว แต่ก็ดัง และก็รู้แล้ว เพราะฉะนั้น ปัญญาที่รู้ รู้ในขณะที่เสียงนั้นปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และทันทีที่เสียงนั้นหมดไป สภาพธรรมอื่นมีปัจจัยเกิด สติก็ระลึกรู้ในลักษณะของ สภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้น จะเห็นความเป็นปริตตธรรม คือ ธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิด และดับอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเห็นว่าไม่มีสาระ ไม่ว่าจะสุข ความรู้สึกนิดเดียว ก็เปลี่ยนเป็นเห็น เปลี่ยนเป็นได้ยิน เปลี่ยนเป็นการรู้สึกแข็ง สามารถที่จะยิงไกล คือ สิ่งซึ่งเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิดจะเหมือนไม่ปรากฏ แต่ความจริงแล้วจิตได้ยิน แต่โมหะแทนปัญญาจึงไม่รู้ในเสียงที่ปรากฏ ผ่านไปเหมือนกับว่าไม่ได้ยิน หรือกำลังเห็น ก็ผ่านไปเหมือนไม่เห็น แต่ถ้าปัญญาสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทั่ว ทั้ง ๖ ทวาร และเป็นผู้ที่ยิ่งรู้ก็ยิ่งละ สภาพธรรมจะยิ่งปรากฏโดยละเอียดขึ้น เหมือนกับการยิงซึ่งยิงได้ไกลมาก ไม่ว่าสิ่งนั้นจะปรากฏเพียงเล็กน้อยนิดหน่อย สักเท่าไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพียงแวบเดียวที่เกิดขึ้นปรากฏ ก็สามารถรู้ในลักษณะซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมได้
นี่คือผู้ที่ยิงไกล คือ สิ่งที่แต่ก่อนนี้ไม่เคยสังเกต ไม่เคยรู้ว่าเกิดขึ้นปรากฏเพียงชั่วขณะสั้นๆ และดับไป เพราะว่าไม่สนใจในเสียงนั้น ในกลิ่นนั้น และก็หลงลืมสติ เพราะอวิชชาทำให้ไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่สติมีลักษณะตรงกันข้ามกับอวิชชา เพราะว่าสภาพธรรมใดที่ปรากฏเป็นปกติ เวลาที่สติระลึก สภาพธรรมนั้นก็ปรากฏเหมือนปกติ แต่ปรากฏกับสติด้วย
อย่างแข็ง ทุกคนกระทบได้ มีสภาพที่รู้แข็ง คือ กายวิญญาณ ไม่ใช่เรา เป็นสภาพรู้ที่อาศัยกายจึงเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสว่าแข็ง ขณะนั้นโดยปกติแล้วหลงลืมสติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสติ แข็งนั้นก็ปรากฏตามปกติกับสติด้วย ด้วยเหตุนั้น จึงรู้ลักษณะของแข็ง และรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง พร้อมกันนั้นก็รู้ว่าไม่ใช่เรา ที่กำลังรู้แข็ง แต่เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้เท่านั้น
นี่คือปกติธรรมดาจริงๆ แต่ปัญญาเท่านั้นที่เจริญขึ้นๆ จนสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป จึงชื่อว่ายิงไว เพราะว่าทันทีที่สภาพธรรมเกิดและดับ ก็สามารถรู้ได้ตามความเป็นจริง