แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1957

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๙ กันยายน ๒๕๓๓


ถ. สมมติว่าเห็นของสวย ถ้าบอกว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา อย่างนั้นเขาเรียกว่าเกิดปัญญา แต่ก่อนที่จะเกิดปัญญา เห็นแล้วชอบ อยากได้ และเราก็รู้ว่าเราอยากได้ เป็นสภาพธรรมทางนามธรรมที่เกิดขึ้น อย่างนี้จะได้ไหม คือ รู้สึกตัวว่าโลภแล้ว

สุ. ทั้งหมดต้องรู้จนทั่ว ไม่ได้กั้นว่าไม่ให้พอใจ เพราะถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ก็ต้องเกิดพอใจขึ้น แต่ปัญญาสามารถรู้แม้ความรู้สึกที่ต่างกัน ขณะที่กำลังพอใจ เป็นสุข และกำลังเห็น ต่างกันแล้ว คือ สามารถที่จะละการที่เคยยึดถือและติดใน สิ่งนั้น เพราะปัญญาสามารถรู้ว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรมและนามธรรมเท่านั้น

เป็นเรื่องละโดยตลอด เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา คือ ละความไม่รู้ เพราะรู้ขึ้นว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

ถ. ถ้าเป็นอย่างนี้ เรายังละไม่ค่อยได้ แต่เรารู้ว่าเรามีกิเลส เรารู้ว่าโกรธ เรารู้ว่าหมั่นไส้ การรู้นั้นเริ่มจะมีปัญญาได้ไหม

สุ. เป็นปัญญาต่างขั้น จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งก็คือการรู้ในขณะที่กำลังหมั่นไส้นั้นว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และยังเห็นว่า เป็นอกุศลด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่รู้ ก็หมั่นไส้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น นอกจากจะรู้ว่าเป็นนามธรรมแล้ว ยังรู้ว่าเป็นอกุศลด้วย

ถ. อย่างนี้เรียกว่า ยิงเร็ว ได้ไหม

สุ. ต้องเป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

ถ. บุคคลที่มีปัญญาละเอียด เช่น พระโพธิสัตว์ เป็นต้น เป็นผู้ที่ใคร่ครวญธรรมเนืองนิตย์ และมีปัญญาคมที่จะละเอียดในนามธรรมรูปธรรมต่างๆ ซึ่งต่างกับบุคคลผู้บรรลุ เช่น บรรลุเป็นพระโสดาบันที่ไม่สามารถแทงตลอดเป็นพระอรหันต์ได้ แสดงว่าความละเอียดในการพิจารณาธรรมนั้นต่างกัน ใช่ไหม

สุ. ปัญญาไม่ถึงความสมบูรณ์ที่จะเป็นพระอรหันต์ ถ้าพระโพธิสัตว์ กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งในระหว่างที่ท่านกำลังบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ปัญญาถ้าต้องการที่จะเป็นพระอรหันต์ สามารถที่จะแทงตลอดในอริยสัจจธรรม ในขณะนั้น เพราะเหตุว่าคือธรรมธรรมดา ตามปกติ ไม่ผิดปกติเลย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญารู้ว่า ปัญญารู้สิ่งที่มีจริงๆ ตามปกติ ตามธรรมดานั่นเอง ด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงสามารถรู้จักปัญญาของตนเองตามความเป็นจริงว่า รู้จริงหรือเปล่าในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ารู้จริงหมายความว่าสามารถ แทงตลอดเมื่อเหตุสมควรแก่ผล แต่เนื่องจากพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อแข็งปรากฏกับพระโพธิสัตว์ แต่ยังไม่มีความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยประจักษ์แจ้งการเกิดดับของแข็งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

สำหรับบุคคลอื่น อย่างพระโสดาบัน มีการสะสมมาที่จะประจักษ์แจ้ง การเกิดดับของแข็ง ของนามธรรมและรูปธรรม สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในขณะที่กำลังเห็น กำลังฟัง กำลังได้ยิน อาจจะกำลังหมั่นไส้ หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าความสมบูรณ์ของปัญญาจะพร้อมในกาลไหน บุคคลอื่นไม่สามารถรู้ได้เลย เพียงแต่การที่แข็งปรากฏและสติระลึก เริ่มที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม นี่เป็นเหตุที่จะให้บรรลุถึงการดับกิเลส แทงตลอดในการเกิดดับของสภาพที่รู้แข็งและแข็งได้ แต่เหตุนี้จะสมบูรณ์วันไหน เมื่อไร ไม่มีใครสามารถรู้ได้

สำหรับพระโพธิสัตว์มีปัญญาที่จะแทงตลอดได้ แต่เนื่องจากทรงปรารถนาการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่พร้อมที่จะแทงตลอดเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในระหว่างที่กำลังทรงบำเพ็ญพระบารมีได้ แต่เมื่อถึงกาลที่บารมีครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พระอริยบุคคลแต่ละท่านก็รู้ว่า สภาพธรรมที่เป็นอนัตตาเกิดขึ้นรู้และประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเพราะความสมบูรณ์ของปัญญาที่สะสมมาแล้ว แล้วแต่ว่าปัญญานั้นจะเป็นขั้นพระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี หรือ พระอรหันต์ แต่สภาพธรรมก็ตามปกติอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันท่านก็ทราบว่า ปัญญาของท่านไม่ถึงขั้น พระสกทาคามี แม้ว่าสภาพธรรมก็คือแข็งตามธรรมดา เห็นตามธรรมดา ได้ยินตามธรรมดา แต่ต่างกันที่ปัญญา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องของปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องการอยากจะเอาสติไปไว้ตรงนั้นตรงนี้ ทุ่มเทความเพียร ความพยายาม โดยที่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ. เท่ากับว่า ปัญญาอบรมลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ รู้ความจริง ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสมบูรณ์ ถึงพร้อมขั้นไหน ก็บรรลุขั้นนั้น

สุ. และบุคคลนั้นจะเป็นผู้รู้ว่า ปัญญาแค่ไหน ขณะที่กำลังเห็น สติระลึก รู้แค่ไหน ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ขณะที่กำลังคิดนึก ปัญญา ขั้นไหน หรือปัญญาแค่ไหน ผู้นั้นเป็นผู้รู้ด้วยตนเอง เป็นปัจจัตตัง

ถ. ผมสงสัยเรื่องลักษณะของรูปนาม ขอเรียนถามว่า กุศล อกุศล เป็นลักษณะของนาม ใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง ถ้าทราบว่า รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น สภาพรู้ทั้งหมด เป็นนามธรรม รูปไม่หิว รูปไม่เหนื่อย รูปไม่ริษยา รูปไม่ได้จำอะไร รูปไม่อิ่ม สภาพของอาการรู้ทั้งหมดไม่ว่าจะโดยลักษณะใดๆ เป็นนามธรรมแต่ละชนิด

ถ. อกุศลกรรมเป็นนามธรรมหรือเปล่า

สุ. เป็นนามธรรม

ถ. โลภะเป็นสภาพรู้หรือ

สุ. เป็นนามธรรม ใช้คำว่า สภาพรู้ ซึ่งต่างจากรูป ถ้าจะแยกสิ่งที่มีจริงออกเป็น ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้ และอีกอย่างหนึ่ง เป็นสภาพรู้ อย่างความตั้งใจ รูปไม่ได้ตั้งใจอะไรเลย รูปไม่เห็น รูปไม่ได้ยิน

ถ. ขณะที่เราทราบว่า โลภะ หรือโทสะเกิด เป็นสติสัมปชัญญะขั้นธรรมดาใช่ไหม

สุ. ขั้นธรรมดา จนกว่าจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม จึงจะเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าสติสัมปชัญญะก็เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ

ถ. อาจารย์กล่าวว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุปัจจัย เหตุปัจจัยเป็นลักษณะของโยนิโสมนสิการ หรือเป็นลักษณะของปัจจยปริคคหญาณ

สุ. ไม่ใช้ชื่อได้ไหม แต่ถ้าใช้คำว่า ปัจจยปริคคหญาณ หมายความว่า เป็นปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่กำลังรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และรู้ด้วยว่าสภาพธรรมนั้นเกิดเพราะเหตุปัจจัย จึงละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน นั่นคือปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งเกิดหลังจากที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว แต่สำหรับเหตุปัจจัยตามธรรมดา ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาพธรรมใดที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย จึงทำให้เกิดทั้งนั้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย สภาพธรรมใดๆ จะเกิดไม่ได้เลย

ถ. ญาณแต่ละขั้นไม่เคยเกิดมาในสังสารวัฏฏ์ ใช่ไหม

สุ. ถ้าวันนี้ผู้ที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ปัจจยปริคคหญาณเกิดแล้ว สัมมสนญาณเกิดแล้ว และตาย ชาติหน้าก็เกิดอีก จะบอกว่า นามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เคยเกิดได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยเกิดเลย เวลาที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิด เป็นครั้งแรก ก็เกิด แต่ไม่ใช่จะเป็นผู้ที่สงสัยว่า ชาติก่อนเคยเกิดไหม หรืออะไรอย่างนี้ ถ้าคนนั้นตายไปแล้วก็มีการเกิดอีก การอบรมเจริญปัญญาก็เจริญต่อไปอีก ข้อสำคัญที่สุด ที่ใช้คำว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ถ้าเราไม่คิดถึงคำนี้เลย เพราะว่า คำนี้แทนสภาพของปัญญาที่กำลังประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยไม่มีตัวตนเลยในขณะนั้น ไม่มีโลกที่รวมกันอย่างนี้ แต่เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่างทางมโนทวารที่ปัญญากำลังแทงตลอด ถ้าเข้าใจความหมายนี้ เวลาถึง ปัจจยปริคคหญาณก็ไม่ต่างกัน คือ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ทางมโนทวาร และมี สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง แต่ความรู้เพิ่มขึ้น และเวลาที่เป็นสัมมสนญาณ ก็ไม่ต่างอีก คือ ต้องเป็นมโนทวารวิถี จะต้องเป็นการรู้ด้วยปัญญาทางมโนทวาร และมีสภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง ไม่ได้รวมกันอย่างโลกที่กำลังปรากฏรวมกันอย่างนี้ แต่ปัญญาเพิ่มขึ้นอีก แต่ละวิปัสสนาญาณก็คือการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร และปัญญาเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปติดที่ชื่อว่า นี่จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ หรือจะ เป็นสัมมสนญาณ หรือนามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดอีกหรือเปล่า แต่ให้เข้าใจว่า ที่ใช้คำว่า วิปัสสนาญาณ เพราะว่าเป็นการประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ไม่รวมกัน

ต้องทราบความต่างกันของวิปัสสนาญาณ กับขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ คือ ขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ โลกรวมกันทั้ง ๖ ไม่ใช่การแทงตลอด แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ โลกไม่มีเลย ไม่มีการรวมกัน แต่มีสภาพธรรมปรากฏแน่นอน จะไม่มีสภาพธรรมปรากฏไม่ได้ ขณะนี้สภาพธรรมก็ปรากฏ แต่รวมกัน แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ สภาพธรรมปรากฏแต่ไม่รวมกันเลย ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งคือวิปัสสนาญาณก็ต้องประจักษ์แจ้งการ ไม่รวมกันทางมโนทวารทีละอย่าง เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เป็นเรื่องของความรู้ที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น

ข้อสำคัญที่สุด คือ ละคลายเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีการละคลาย ไม่ใช่การอบรม เจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จะนั่ง ไม่ใช่การละคลาย ไม่ใช่การอบรม เจริญปัญญา ขณะที่ตั้งใจจะเอาสติไปไว้ตรงนั้นตรงนี้ ขณะนั้นไม่ใช่การละคลาย จึงไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

การละคลาย คือ ขณะนี้มีกิเลส มีอวิชชา มีความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ละคลาย คือ สติเกิด และค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือ ละคลายความไม่รู้ตั้งแต่ต้น จนกว่าจะถึงการดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

ถ. ยังไม่เข้าใจพยัญชนะที่ว่า การสั่งสมบุญและการสั่งสมบาป คือ จิต เจตสิก รูปเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น จะมีการสั่งสมบุญและบาปได้อย่างไร

สุ. จิตขณะที่ดับไปเป็นปัจจัยให้ขณะจิตต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตขณะต่อไปก็มีทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งจิตขณะก่อนได้สะสมไว้ สืบต่อไปจากขณะนี้ สู่อีกขณะหนึ่ง

ทุกท่านก็คงได้เคยฟังพระธรรมมาแล้ว เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี มิฉะนั้นคงไม่สนใจ ที่จะฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และคงจะก่อนนั้นไปอีก คือ ในสมัย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็คงเป็นผู้ที่ได้เคยฟังพระธรรมมาแล้ว แต่ผลของการฟังพระธรรมในชาตินี้ ซึ่งสืบต่อเนื่องมาในชาติก่อนๆ ๒,๕๐๐ กว่าปี หรือก่อนนั้นไปอีก ชาตินี้ปัญญาเพิ่มขึ้นอีกน้อยหรือมาก

ถ้าเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย ตั้งนานมาแล้วผลจากการฟังจนถึงชาตินี้ ได้เข้าใจแค่นี้ เพราะฉะนั้น ต้องฟังต่อไปอีก เพื่อจะได้เข้าใจต่อไปอีก และสติปัฏฐานก็จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อที่จะเข้าใจต่อไปอีก

นี่เป็นเหตุที่ทุกคนเป็นผู้ตรง แต่ไม่ท้อถอย เพราะว่ามีสภาพธรรมให้ศึกษา อยู่ตลอดเวลา โดยการฟังพระธรรมและเข้าใจขึ้นๆ และเจริญกุศลทุกประการเพื่อ ขัดเกลาอกุศลด้วยความจริงใจที่จะละคลายอกุศล ไม่ใช่ต้องการหรือปรารถนาสิ่งอื่น

นี่คือผู้ที่เห็นคุณของพระธรรม และเห็นโทษของอกุศล และรู้ว่าสิ่งที่ควรเจริญ ในชาตินี้ คือ ปัญญา เพราะว่าสิ่งอื่นไม่สามารถติดตามไปได้ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่ มีอยู่ก็ติดตามไปไม่ได้ แต่ปัญญา ความเข้าใจพระธรรมจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบขณะจิตที่เป็นผู้ที่จริงใจต่อการ เจริญกุศลเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส หรือว่าขณะนั้นมีความต้องการอย่างอื่น

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถา ปณิหิตอัจฉวรรคที่ ๕ อรรถกถาสูตรที่ ๒ มีข้อความที่แสดงความหมายของจิตที่ ตั้งไว้ผิด ซึ่งข้อความมีว่า

... กุศลมีจำนวนน้อย ไม่ว่าจะเป็นการให้ใบไม้ประมาณกำมือหนึ่ง หรือกุศลใหญ่ๆ เช่น การให้ของเวลามพราหมณ์เป็นต้น ก็ตามเถิด ถ้าปรารถนาวัฏฏสมบัติ จิตชื่อว่าตั้งไว้ผิด ด้วยอำนาจอิงวัฏฏะ สามารถนำวัฏฏะเท่านั้นมาให้ หาสามารถนำวิวัฏฏะมาให้ไม่ แต่เมื่อบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะอย่างนี้ว่า ขอทานกุศลของเรานี้ จงนำมาซึ่งความสิ้นอาสวะ ชื่อว่าตั้งไว้ชอบด้วยอำนาจวิวัฏฏะ ย่อมสามารถให้ ทั้งพระอรหัต ทั้งปัจเจกโพธิญาณทีเดียว สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า

ปฏิสัมภิทา ๑ วิโมกข์ ๑ สาวกบารมี ๑ ปัจเจกโพธิ ๑ พุทธภูมิ ๑ ทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยจิตที่ตั้งไว้ชอบนั้น

ก็ในสูตรทั้ง ๒ นี้ ท่านกล่าวทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๒

ซึ่งในสูตรที่ ๑ ก็มีความข้อความคล้ายคลึงกัน

เพราะฉะนั้น กว่ากิเลสจะหมด ต้องเป็นผู้ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ไม่ได้ปรารถนาอย่างอื่น แม้ในขณะที่เจริญกุศล ก็เพื่อขัดเกลากิเลส

ถ. ฟังแล้วอยากจะเชื่อ แต่ไม่ค่อยมั่นใจ ขอให้อาจารย์พูดให้มั่นใจ กุศลน้อยก็ตาม กุศลใหญ่ก็ตาม กุศลนิดเดียว ใส่บาตรองค์เดียว พ้นวัฏฏะได้ไหม

สุ. ตั้งปรารถนาอย่างไร

ถ. ขอพ้นวัฏฏะ

สุ. ก็คือไม่ติดในผลที่จะได้รับเพราะทานนั้น ต้องการสละเท่านั้น

ถ. ขณะที่จิตโกรธ หรือยินดี หลง ถือว่าตั้งจิตไว้ผิดหรือเปล่า

สุ. ตั้งไว้ผิด เพราะเพียงแต่เวลาที่ทำกุศลและปรารถนาอย่างอื่น ขณะนั้นจิตก็ตั้งไว้ผิดแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงขณะที่เป็นอกุศล เพราะแม้ทำกุศลและปรารถนา ผลอื่นของกุศลนั้น ก็เป็นจิตที่ตั้งไว้ผิดแล้ว

ถ. ถือว่าตั้งไว้ผิด ไม่ต้องถึงกับเป็นอกุศล

สุ. ไม่ต้องกล่าวถึงอกุศล เพราะแม้กุศลและปรารถนาผลของกุศลก็ยังเป็นจิตที่ตั้งไว้ผิด เพราะนำมาได้แต่วัฏฏะ ไม่สามารถนำออกจากวัฏฏะได้

ถ. ที่ถือว่าตั้งไว้ผิด ก็เพราะเป็นกุศลที่เป็นไปในวัฏฏะ

สุ. อิงวัฏฏะ

ถ. ถ้าไม่อิงวัฏฏะ เป็นวิวัฏฏกุศล จึงจะถือว่าตั้งจิตไว้ชอบ

สุ. เพราะฉะนั้น แต่ละท่านที่ทำกุศลสามารถรู้ตนเองได้ว่า ขณะนั้น จิตตั้งไว้ผิด หรือจิตตั้งไว้ชอบ

ถ. จิตที่ตั้งไว้ถูกกับตั้งไว้ผิดในขณะทำบุญทำทาน ก่อนอาจารย์จะ บรรยาย คุณพี่สงวน สุจริตกุล มาชวนไปทำบุญ ตอนนั้นไม่ได้ตั้งอะไรไว้เลย และ ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะบริจาคด้วย คุณพี่สงวนมาชวนก็บอกว่า เอา ๒ ชุดแล้วกัน แต่ขณะนั้นจนถึงเดี๋ยวนี้ถ้าอาจารย์ไม่มาเตือน ก็ยังไม่ได้ตั้งอะไรเลย ให้ไปเฉยๆ

สุ. ไม่ปรารถนาผลอะไร ก็ถูกแล้ว

ถ. จะกลายเป็นโมฆะหรือเปล่า

สุ. นี่หวังแล้ว บางท่านยังไม่ทันจะทำกุศลเลย ถามก่อนว่า ทำบุญอย่างนี้ได้บุญมากไหม ยังไม่ได้ทำ แต่หวัง ทำบุญอย่างนี้จะได้บุญมากไหม ทำอย่างนี้จะได้บุญน้อยหรือได้บุญมาก แสดงถึงการหวังผลซึ่งอิงวัฏฏะ เป็นการตั้งจิตไว้ผิด

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. การตั้งไม่ได้หมายความว่า จะต้องตั้ง ไม่ได้หวังอะไร แต่มีการขัดเกลากิเลส นั่นคือการเป็นผู้ที่ไม่ติดในผล เพราะบางคนไม่รู้ตัวว่าติด ยังไม่ได้ทำแต่คิดถึง ผลแล้ว นั่นคือเป็นผู้ติดในผล

ถ. การเจริญกุศลเพื่อให้อกุศลหมดไป เช่น ให้ทานโดยไม่หวังผล และเห็นโทษขณะที่อกุศลเกิดขึ้นว่ามีโทษ และต้องการให้อกุศลนั้นหมดไป เปลี่ยนเป็นกุศลขึ้น อย่างนี้ก็ชื่อว่าเพื่อถึงฝั่งพระนิพพาน ใช่ไหม

สุ. บารมีทั้งหมดเป็นเครื่องประกอบของปัญญาบารมี เพราะฉะนั้น ต้องมีปัญญาบารมีที่จะรู้ด้วย ไม่ใช่ไม่เจริญปัญญาเลย หวังอย่างเดียว คือ ให้ทาน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ถึงฝั่ง คือ การหมดจากกิเลส

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565