แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1959

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๓


ผู้ฟัง อาจารย์ท่านหนึ่งก็ไปเรียนที่นี่ สนทนาธรรมกันก็บอกว่า ได้ผลดีมาก เหมือนกับคนที่จะเอาแต่โลกุตตระ อย่างที่อาจารย์กล่าวถึง

สุ. ท่านผู้นี้ก็ได้เล่าให้ฟังถึงการที่ท่านไปสู่สำนักปฏิบัติว่า ไปกันมากๆ เป็นกลุ่ม จัดเป็นคณะในการปฏิบัติธรรม หลังจากที่นั่งกันไปแล้ว ก็มีการกระซิบกระซาบถามกันว่าเห็นอะไรบ้าง บางคนก็เห็นเป็นแสงสีฟ้า สีเขียว หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่สำหรับท่านผู้นั้น ท่านไม่เห็น

แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะห้ามสนทนากัน นอกจากจะห้ามฟังวิทยุ มีชีวิตตามปกติประจำวันแล้ว ก็ยังมีความอยากได้ หรืออยากเห็นหลังจากที่นั่งแล้ว แสดงว่า ไม่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ เมื่อได้ฟังคำว่า ปฏิบัติ ก็อยากจะทำ และมีหลายคนที่คิดว่า จำเป็นต้องทำอย่างเข้มข้นผลจึงจะเกิด แต่ผล ก็คือมีการไต่ถามกันว่า เห็นอะไรบ้าง

แสดงว่า ปัญญาที่จะต้องอบรม ต้องมีตั้งแต่ความเข้าใจที่ถูกต้องในขั้นต้น ถ้าความเข้าใจที่ถูกต้องในขั้นต้นไม่มีแล้ว ปัญญาก็เจริญไม่ได้

และได้สนทนาธรรมกับท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง ท่านก็บอกว่า เรื่องของการ เจริญกุศลเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เพราะแต่ละท่านก็มีฉันทะ มีอัธยาศัย มีการสะสมไม่เหมือนกัน บางคนฟังพระธรรมแล้วก็พอใจที่จะเกิดศรัทธาในการกระทำกรรมดี แต่ไม่อยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลส รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ฝืนใจที่จะดับกิเลส ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ก็เพียงต้องการมีชีวิตดำเนินไปเป็นคนดี ในวันหนึ่งๆ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงโยนิโสมนสิการของแต่ละท่าน ซึ่งฟังพระธรรมด้วยกัน แต่มีการพิจารณาธรรม มีศรัทธาต่างๆ กัน

แต่ละท่านต้องยอมรับตามความเป็นจริง ถ้าท่านยังเป็นเพียงขั้นที่ฟังพระธรรมและเกิดศรัทธาที่จะเป็นคนดี แต่ยังไกลนักต่อการที่จะดับกิเลส เพราะว่ายังไม่ถึงขั้น ที่อยากจะดับกิเลสหรืออยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เป็นความจริง เพราะแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว กุศลศรัทธาของแต่ละท่านจะเป็นระดับใด ก็ต้องเป็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น แต่ก็ต้องฟังพระธรรมต่อไปอีก ไม่ใช่เพียงหยุดอยู่ที่ขั้นเป็นคนดี และไม่สนใจที่จะละคลายกิเลสมากกว่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ทุกท่านจึงต้องเป็นผู้ที่ฟังอย่างละเอียด เพื่อเห็นประโยชน์ของ พระธรรมจริงๆ และจะค่อยๆ มีศรัทธาที่จะละคลายกิเลสเพิ่มขึ้น

ชีวิตของแต่ละท่านที่ดำรงอยู่และดำเนินไปในวันหนึ่งๆ นั้น ก็คือศีล เพราะว่าศีล คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งมีทั้งอกุศลศีล กุศลศีล และ อัพยากตศีล

ถ้ากายวาจาเป็นไปทางฝ่ายอกุศลเป็นปกติ ก็เป็นอกุศลศีล และขณะใดที่กายวาจาเป็นไปทางฝ่ายกุศลเป็นปกติเหมือนกัน ก็เป็นกุศลศีล สำหรับอัพยากตศีลนั้น สำหรับผู้ที่ดับกิเลสหมด

เพราะฉะนั้น ศีล ซึ่งเป็นการกระทำทางกาย วาจา ก็เป็นการวัดกำลังของกิเลส ปกติทุกคนมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีความขุ่นเคืองใจ แต่ถ้าล่วงศีลเมื่อไร เมื่อนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของอกุศลว่ามีมาก ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดง พระธรรมทั้งหมดเพื่อให้พุทธบริษัทมีความประพฤติดี ให้กุศลจิตเกิดทุกระดับตั้งแต่ขั้นต้นในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ถ้าบางท่านละเลยการขัดเกลาอกุศลในเบื้องต้น มุ่งหน้าที่จะไปสู่การ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมอย่างเดียว ย่อมเป็นผู้ที่ประมาท เพราะถ้าในขั้นต้น เบื้องต้น ยังเป็นคนดีไม่ได้ จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้อย่างไร

และสำหรับการเป็นคนดี ทุกท่านที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ยังดีไม่พอ เพราะว่าความดีของท่านนั้นยังเสื่อมได้ ยังสามารถล่วงศีลเมื่อพร้อมด้วยเหตุปัจจัย แต่สำหรับผู้เป็นพระอริยบุคคลนั้น ซึ่งความหมายของอริยะ คือ เป็นผู้ที่ไม่เสื่อม เพราะได้อบรมเจริญคุณความดีจนถึงระดับขั้นที่ไม่เสื่อม ไม่ทำให้เกิดในอบายภูมิ ซึ่งการอบรมเจริญกุศลจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องอาศัยสัจจะ ความจริงใจ ในการที่จะเป็นผู้ที่ประพฤติดี เป็นคนดี และขัดเกลากิเลส โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน นอกจากการรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

สำหรับชีวิตประจำวันของทุกท่าน บางท่านอาจจะไม่ได้สังเกตว่า ความประพฤติของคนที่ดีโดยละเอียดนั้นเป็นอย่างไร แต่ถ้าศึกษาความประพฤติที่ดีของ พระโพธิสัตว์ก่อนที่พระองค์จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง ก็จะได้ประพฤติตามอย่างชีวิตของพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีความละเอียด ในเรื่องของความดี

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความว่า

อนึ่ง พึงทราบลำดับแห่งการปฏิบัติศีลบารมีต่อไป

มหาบุรุษผู้ประสงค์จะตบแต่งสัตว์ทั้งหลายด้วยเครื่องประดับ คือ ศีลของ พระสัพพัญญู ควรชำระศีลของตนตั้งแต่ต้นก่อน

อนึ่ง ศีลย่อมบริสุทธิ์โดยอาการ ๔ อย่าง คือ โดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ๑ โดยการสมาทาน ๑ โดยไม่ก้าวล่วง ๑ และโดยทำให้เป็นปกติเมื่อมีการก้าวล่วง ๑

นี่คือการตรวจสอบชีวิตประจำวันของทุกท่านในเรื่องศีล เพราะแต่ละท่าน ย่อมทราบดีว่า ท่านมีศีลบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์

ข้อความต่อไปมีว่า

จริงอยู่ บางคนมีตนเป็นใหญ่ เพราะอัธยาศัยบริสุทธิ์ รังเกียจบาป ยังหิริให้ปรากฏในภายใน แล้วมีสมาจารบริสุทธิ์ด้วยดี

อนึ่ง บางคนมีการสมาทาน ถือโลกเป็นใหญ่ สะดุ้งต่อบาป ยังโอตตัปปะ ให้ปรากฏ เป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ด้วยดี

นี่สำหรับผู้ที่สมาทานโดยถือโลกเป็นใหญ่

ด้วยประการฉะนี้ คนเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ในศีล เพราะไม่ล่วงแม้ทั้งสองอย่าง (คือ ทั้งอัธยาศัยของตนเองและทั้งสมาทาน) ก็แต่ว่าบางคราว เพราะหลงลืมไป ศีลก็จะพึงขาดเป็นต้น กระทำศีลที่ขาดไปนั้นให้เป็นปกติโดยเร็ว ด้วยการอยู่กรรม เป็นต้น เพื่อความถึงพร้อมแห่งหิริโอตตัปปะตามที่กล่าวแล้วนั้น

นี่คือศีลบริสุทธิ์ด้วยอาการ ๔ อย่าง โดยอัธยาศัย มีตนเป็นใหญ่ เพราะคิดว่าตนควรเป็นผู้มีความประพฤติดี เป็นผู้มีคุณธรรม จึงรักษาศีล บางท่านมีการสมาทาน เพราะถือโลกเป็นใหญ่ สะดุ้งต่อบาป เกรงว่าคนอื่นจะรังเกียจติเตียน เพราะฉะนั้น ก็ตั้งมั่นอยู่ในศีลด้วยเหตุ ๒ ประการ แต่แม้กระนั้นบางคราวก็ล่วงศีลไป แต่เมื่อล่วง ไปแล้วก็ระลึกได้ กระทำศีลที่ขาดไปนั้นให้เป็นปกติโดยเร็ว เพราะถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ

ถ. คำว่า มีตนเป็นใหญ่ กับมีโลกเป็นใหญ่ คืออะไร ยังไม่ค่อยเข้าใจ

สุ. มีตนเป็นใหญ่ คือ เห็นว่าตนควรเป็นผู้มีศีล มีความประพฤติดี คิดถึงตัวเองว่า ตัวเองควรจะเป็นคนดี ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อธิปไตยสูตร แสดงว่า อธิปไตยมี ๓ คือ อัตตาธิปไตย ๑ โลกาธิปไตย ๑ ธรรมาธิปไตย ๑

อัตตาธิปไตย คือ ผู้ที่เห็นว่าตนเองควรจะมีความประพฤติดี ไม่ได้คิดถึงคนอื่นว่า เขาจะมองอย่างไร จะเข้าใจอย่างไร จะคิดอย่างไร แต่เห็นว่าตนเองเท่านั้นที่ควรประพฤติดี

ถ้าโลกาธิปไตย ก็คิดถึงคนอื่นว่า คนอื่นจะรังเกียจ คนอื่นจะติเตียน

สำหรับธัมมาธิปไตย ก็เพื่อปฏิบัติตามพระธรรม เพราะรู้ว่าพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เป็นไปเพื่อการขัดเกลา เพื่อประโยชน์ของตนเอง

ข้อความต่อไป จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา แสดงเรื่องศีลว่า

ศีลนี้มี ๒ อย่าง คือ วาริตศีล ๑ จาริตศีล ๑

สำหรับวาริตศีล คือ สิ่งที่ควรเว้น จาริตศีล คือ สิ่งที่ควรกระทำ เพราะ บางคนเข้าใจว่าเป็นคนดีแล้วที่ไม่ล่วงศีล ๕ แต่ไม่มีจาริตศีล คือ ความดีที่ควร กระทำ แม้ไม่ล่วงศีล ๕

ในศีล ๒ อย่างนั้น พึงทราบลำดับการปฏิบัติในวาริตศีลของพระโพธิสัตว์ ดังต่อไปนี้

ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้เห็นความละเอียดว่า ชีวิตของพระโพธิสัตว์ในเรื่องการละเว้นอกุศลนั้น พระองค์ประพฤติปฏิบัติอย่างไรในอดีต

พึงเป็นผู้มีจิตเอ็นดูในสรรพสัตว์ โดยที่แม้ฝันก็ไม่พึงเกิดความอาฆาต

ทดสอบได้ ท่านที่มักโกรธ ขุ่นเคืองใจ เคยฝันถึงคนที่ท่านไม่ชอบและยังมีกิริยาอาการที่โกรธเคืองบุคคลนั้นไหม

มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านฝันว่าท่านโหดร้ายมากในฝัน ท่านเป็นผู้หญิง และร้องเพลงเก่ง เล่นดนตรีเก่ง กระโดดร่มได้ มีความกล้าหาญ มีความสามารถหลายอย่าง แต่ในแต่ละคืนที่ท่านฝัน ท่านมักจะฝันว่า ท่านดุร้าย โหดเหี้ยม ฆ่าฟัน ทำสงคราม แสดงให้เห็นว่า การสะสมในเรื่องของโทสะจากภพหนึ่งชาติหนึ่ง จะทำให้แม้ปกติชีวิตประจำวันไม่เป็นอย่างนั้น แต่ยังสามารถติดตามไปแม้ในความฝัน ซึ่งสำหรับพระโพธิสัตว์นั้น เป็นผู้มีจิตเอ็นดูในสรรพสัตว์ โดยที่แม้ฝันก็ไม่พึงเกิดความอาฆาต

ข้อความต่อไป

ไม่พึงจับต้องของของคนอื่นดุจงู

นี่คือความประพฤติของพระองค์เมื่อครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์

เพราะยินดีในการช่วยเหลือผู้อื่น

หากเป็นบรรพชิต เป็นผู้ห่างไกลจากอพรหมจรรย์ ปราศจากเมถุนสังโยค ๗ อย่าง ไม่ต้องพูดถึงการล่วงภรรยาของคนอื่นล่ะ

อนึ่ง หากว่าเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่บรรพชิต แม้จิตลามกก็มิให้เกิดขึ้นในภรรยาของผู้อื่นทุกเมื่อ

เรื่องของเมถุนสังโยคเป็นความละเอียด ซึ่งสำหรับบรรพชิต เป็นผู้ประพฤติห่างไกลจากอพรหมจรรย์ ปราศจากเมถุนสังโยค ๗ อย่าง เมถุนสังโยค คือ การเกี่ยวพันข้องเกี่ยวระลึกถึงเป็นไปในเรื่องของกาม หรือในเรื่องเมถุนธรรม ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เมถุนสูตร แสดงความละเอียดของอกุศลซึ่งจะรู้ได้ด้วยสติสัมปชัญญะ

ชานุสโสณีพราหมณ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

อะไรชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม แต่ยังยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และนวดเฟ้นของมาตุคาม พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

ดูกร พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้

สมณะ พราหมณ์ หมายความถึงบรรพชิต ไม่จำเป็นต้องเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถึงสมณะหรือพราหมณ์ บางคนในโลกนี้ที่ ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม แต่ยังยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และนวดเฟ้นของมาตุคาม พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อยแห่งพรหมจรรย์

ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะจะระลึกได้ไหมว่า เป็นผู้มีความยินดีแม้เพียงการ นวดเฟ้นของมาตุคาม เพราะว่าก็จะต้องมีการรักษาโรค มีการนวด แล้วแต่ว่า บุคคลใดจะมีความรู้สึกที่ยินดีพอใจ แต่สำหรับผู้ที่ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี คือ ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมเป็นผู้ที่มีความระวังและมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า แม้ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคามก็จริง แต่ยังมีเมถุนสังโยค คือการเกี่ยวข้องด้วยความพอใจและยินดีอย่างนั้นหรือไม่ ถ้ามี ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และนวดเฟ้นของมาตุคาม แต่ยังกระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการเสสรวลนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

นี่เป็นความละเอียดซึ่งสติสัมปชัญญะจะทำให้ระลึกได้ว่า เป็นผู้ที่มีศีลสมบูรณ์หรือขาด ทะลุ ด่าง พร้อย

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่ยินดีการ ขัดสี ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม แต่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

ชีวิตของบรรพชิตต้องบริสุทธิ์มาก ต้องเป็นผู้ที่รู้สึกตัวว่า ไกลแสนไกลก็จริง แต่เพียง เพ่งดู จ้องดูจักษุของมาตุคามด้วยจักษุของตน และ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

ประการต่อไปเป็นความละเอียดขึ้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ แม้ไม่ยินดีการขัดสี การนวดเฟ้น ไม่ยินดีการเพ่งดู จ้องดูจักษุของมาตุคาม แต่ ได้ฟังเสียงมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอก ฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

เพศบรรพชิต กับเพศคฤหัสถ์ ห่างกันไกลแสนไกลจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่จะระลึก และรู้อกุศลของตนเอง

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ยินดีการขัดสี การลูบไล้ ไม่ยินดีการกระซิกกระซี้ เล่นหัว ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุ แม้ด้วยฟังเสียงหัวเราะ หรือพูด หรือขับร้อง หรือร้องไห้ข้างนอกฝา ข้างนอกกำแพงของมาตุคามก็จริง แต่ตามนึกถึง การหัวเราะ พูดเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน ก็พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

ละเอียดขึ้นอีก ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แม้ว่าจะไม่ยินดีโดยประการก่อนๆ นั้น แต่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุม ๕ บำเรอตนอยู่ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

เปิด  234
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565