แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1961
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๓
ข้อความต่อไปใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีว่า
อนึ่ง มหาบุรุษเป็นผู้นำคนตาบอด บอกทางให้ ให้สัญญาด้วยนิ้วมือแก่ คนหูหนวก อนุเคราะห์ประโยชน์ คนใบ้ก็เหมือนกัน ให้ตั่ง ให้ยานแก่คนพิการ หรือนำไป คนไม่มีศรัทธาพยายามให้มีศรัทธา คนเกียจคร้านพยายามให้เกิดอุตสาหะ คนหลงลืมพยายามให้ได้สติ คนมีใจวุ่นวายพยายามให้ได้สมาธิ คนมีปัญญาทราม พยายามให้มีปัญญา คนหมกมุ่นในกามฉันทะพยายามบรรเทากามฉันทะ คนหมกมุ่นในพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา พยายามให้บรรเทาวิจิกิจฉา คนมีปกติมีกามวิตกเป็นต้น พยายามบรรเทามิจฉาวิตกมีกามวิตกเป็นต้น อาศัยความเป็นผู้รู้คุณที่ทำแล้วแก่สัตว์ผู้เป็นบุพการี จึงพูดขึ้นก่อน พูดน่ารัก สงเคราะห์ นับถือ โดยทำการตอบแทนเช่นเดียวกัน หรือยิ่งกว่า
มหาบุรุษย่อมติดตามช่วยเหลือสหายในอันตรายทั้งหลาย มหาบุรุษกำหนด รู้ตนและสภาพปกติของสหายเหล่านั้นๆ แล้ว อยู่รวมกับสหายเหมือนที่เคยอยู่ ร่วมกันมา อนึ่ง ปฏิบัติในสหายเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา ด้วยให้พ้นจากอกุศล แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล มิใช่ให้ตั้งอยู่โดยอย่างอื่น เพราะการตามรักษาจิตของผู้อื่น ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อความเจริญยิ่งเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ควรทะเลาะ ไม่ควรให้ถึงความเป็นผู้เก้อเขินเพราะอัธยาศัยนั้น ไม่ควรให้เกิดความรังเกียจสัตว์อื่น ควรทักท้วงในฐานะที่ควรข่ม เมื่อเขาอยู่ต่ำกว่า ไม่ควรวางตนในที่สูงกว่า ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ
แต่ละข้อต้องพิจารณาจริงๆ จึงจะประพฤติปฏิบัติตามได้ถูกต้องจริงๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
แต่คบสัตว์ที่ควรคบตามสมควรแก่กาลเทศะ ไม่ติเตียนคนที่รักหรือสรรเสริญ คนที่ไม่รักต่อหน้าผู้อื่น ไม่วิสาสะกับคนที่ไม่คุ้นเคย ไม่ปฏิเสธการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม ไม่แสดงตัวมากไป ไม่รับของมากเกินไป
นี่เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ที่จะต้องพิจารณา ซึ่งต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ ในขณะนั้น มิฉะนั้นวาจาก็ล่วงไปโดยไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้คนอื่นไม่สบายใจ เพราะขณะนั้นแม้ว่าจะเป็นความหวังดี แต่อาจจะผิดกาลเทศะ เช่น ไม่ติเตียนคนที่รักหรือสรรเสริญคนที่ไม่รักต่อหน้าผู้อื่น
บางท่านมีความรักเพื่อน และเพื่อนทำไม่ดี เผลอไป ติทันทีต่อหน้าคนอื่น ซึ่งถ้าสติสัมปชัญญะเกิด รอไว้ก่อน มีโอกาสที่สมควรเมื่อไหร่ค่อยพูดกันทีหลัง แต่มักจะเผลอ กลัวว่าจะลืมติ หรือลืมเตือน ก็เตือนไปทันที ซึ่งความจริงแล้ว ยังมีโอกาส
แสดงให้เห็นว่า แต่ละท่านกว่าจะหมดกิเลส ต้องขัดเกลาอย่างมากทีเดียวแม้แต่ข้อความที่ว่า มหาบุรุษย่อมติดตามช่วยเหลือสหายในอันตรายทั้งหลาย มหาบุรุษกำหนดรู้ตนและสภาพปกติของสหายเหล่านั้นๆ แล้ว อยู่รวมกับสหายเหมือนที่เคยอยู่ร่วมกันมา แสดงให้เห็นว่า ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงขึ้นลง แต่เมื่อเป็นมิตรจริงๆ ไม่ว่าคนนั้นจะเปลี่ยนแปลงอยู่ในสภาพอย่างไร เคยเป็นอย่างไรก็เหมือน อย่างนั้น ปฏิบัติในสหายเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา ด้วยให้พ้นจากอกุศลแล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล มิใช่ให้ตั้งอยู่โดยอย่างอื่น ไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ควรทะเลาะ ไม่ควรให้ถึงความเป็นผู้เก้อเขิน ไม่ควรให้เกิดความรังเกียจสัตว์อื่น เพราะบางคน ช่างรังเกียจจริงๆ รังเกียจโดยเชื้อชาติบ้าง รังเกียจโดยข้อประการต่างๆ แต่ถ้า เป็นมิตรดีก็ควรเตือนบุคคลนั้นว่า ไม่ควรรังเกียจคนอื่น
ควรทักท้วงในฐานะที่ควรข่ม เมื่อเขาอยู่ต่ำกว่าไม่ควรวางตนในที่สูงกว่า ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้
นี่เป็นเรื่องของการคบหาสมาคมในชีวิตประจำวัน
ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ
ต้องพิจารณาทั้งนั้น ใช่ไหม มิฉะนั้นก็คงจะขัดกันที่ว่า ไม่ควรคบในผู้อื่น จนหมดสิ้นก็หามิได้ และ ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ ควรคบตามสมควรแก่กาลเทศะ
ถ. การคบเพื่อน คือ ต้องทุ่มเทจิตใจทั้งหมด ไม่ใช่เพียงบางส่วน หรือ ปิดๆ บังๆ
สุ. ถูกต้อง ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ หมายความว่าเป็นเพื่อนอย่างจริงทีเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ผิวเผิน
ถ. ถ้ายังคบกันครึ่งๆ กลางๆ ถือว่าไม่ใช่เพื่อน
สุ. และที่ว่า ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ นี่ก็ต่างกันกับ ที่จะคบใครก็คบอย่างจริงใจที่ว่า ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ คือ ต้องเป็นเพื่อนจริงๆ
ถ. หมายความว่าต้องคบอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่คบอย่างครึ่งๆ กลางๆ หรือต่อหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอย่างหนึ่ง
สุ. และข้อความต่อไป ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ ฟังดูเหมือนจะขัดกัน แต่ความจริงไม่ขัดกัน คือ แม้แต่มิตรสหายก็ไม่ควรคลุกคลีจนเกินไป จนพร่ำเพรื่อ เพราะจะเป็นไปในเรื่องของการติดข้อง หรือทำให้เกิดโทษ
ถ. มิตรรักไปหากันบ่อยๆ ก็อาจแตกคอกันได้
สุ. แน่นอน
ถ. ที่ว่าไม่รับของมากเกินไป ถ้าเขาให้ด้วยศรัทธาในตัวเรา จะขัดกันไหม
สุ. ทุกท่านปฏิเสธศรัทธาของคนอื่นไม่ได้ เพราะว่าผู้นั้นกำลังมีศรัทธา จริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อรับแล้วควรจะพิจารณาด้วยว่า มากเกินไปเมื่อไหร่ ก็ไม่ควรที่จะรับเมื่อนั้น คือ รับให้พอดีๆ และเมื่อสนิทสนมคุ้นเคยกันมากขึ้น ก็อาจจะปฏิเสธ หรือชี้แจงให้ฟังว่าควรจะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้น ไม่ปฏิเสธในศรัทธาของคนอื่นก็จริง แต่ไม่ควรรับมากเกินไปด้วย เพราะว่าบางท่านอาจจะมีศรัทธา แต่ทำให้เขาไม่มีโอกาสในการทำกุศลอย่างอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรให้เขาได้ทำกุศลทุกอย่างด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่ต้องการจะให้ และผู้นั้นก็รับๆ มากตลอดเวลา นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดของสติสัมปชัญญะ
ไม่ปฏิเสธการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม ไม่แสดงตัวมากเกินไป ก็เป็นเรื่องความละเอียดของการรู้จักกาลเทศะ
ผู้ฟัง เมื่อวันเสาร์ก่อนโน้นมีการสนทนาธรรมกันที่โบสถ์ ท่านผู้หนึ่งบอกว่า การเห็นพัดลมพัดอยู่เป็นอาการไหว หรือเห็นรถกำลังวิ่งก็ดี หรือเห็นคนกำลังโบกไม้โบกมือก็ดี เป็นอาการไหว เป็นลักษณะไหว รู้ได้ด้วยตา ตาเห็นก็รู้ได้ด้วยตา ซึ่งหลายๆ คนด้วยกันที่ฟังอาจารย์เข้าใจก็บอกว่า อาการไหวไม่ใช่เป็นการเห็นด้วยตา เพราะอาการตึงหรือไหวรู้ได้ทางกายปสาท ไม่ใช่จักขุวิญญาณรู้ เพราะฉะนั้น ที่เห็นพัดลมกำลังพัดอยู่ก็ดี ใบไม้กำลังไหวก็ดี เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่สิ่งที่ปรากฏ ทางตานั้นปรากฏหลายๆ ครั้ง
พูดกันอย่างนี้หลายๆ คน เขาก็ยังไม่เข้าใจ ในเทปอาจารย์มีพูดไว้หลายครั้งว่า ไหวอย่างนั้นไม่ใช่ไหวทางกายปสาท ไม่ใช่ทางกาย เป็นการเคลื่อนไหวของรูป ที่ปรากฏทางตา เป็นรูปธรรม แตกต่างกับรูปทางกาย เขาก็บอกไม่เข้าใจ พยายามเค้นให้พวกเราหาคำพูดมาอธิบายให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ก็ไม่สำเร็จ
เมื่อวานนี้เขาก็บอกว่า ไปสนทนาธรรมกับอาจารย์มาแล้ว ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็มีเทปอาจารย์ที่ออกอากาศเมื่อ ๒๐ กันยายน ครั้งที่ ๒๑๗๕ มีผู้หวังดีไปถอดเทปออกมาแจ่มแจ้งเลย คำตอบอยู่ในนี้หมด ถ่ายเอกสารมาให้คนละชุด ก็อ่านกันช้าๆ ทุกตัวอักษร ถามว่าอ่านแล้วเข้าใจไหม เขาก็บอกว่าไม่เข้าใจ ซึ่งคำตอบต่างๆ ที่ พวกเราช่วยกันตอบก็เหมือนๆ กับที่อาจารย์บรรยาย แต่อาจารย์บรรยายละเอียดกว่า ให้อ่านทีละตัว เขาก็ยังไม่เข้าใจ ต้องอาศัยปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เพราะว่าปัญญาของพวกเราเข้าใจกันขนาดนี้ ก็อธิบายได้แค่นี้เท่านั้น
การเห็นแต่ละครั้ง เมื่อเห็นก็คิด เมื่อเห็นก็จำ คิดนึกด้วย จำด้วย และเห็น อีกภาพหนึ่ง เพราะฉะนั้น เป็นภาพ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เป็นการเคลื่อนไหว เพราะว่าการเคลื่อนไหวอย่างนั้นกับการเคลื่อนไหวทางกายต่างกัน เขาก็ยังไม่เข้าใจ อาจารย์จะมีอะไรที่ดีกว่า ช่วยอธิบายเรื่องนี้
สุ. แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมแม้ปรากฏ มีจริง ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก ต้องอาศัยการอบรมเจริญบารมีจริงๆ และอย่าสงสัยอยู่แต่ตรงนี้ ใครจะพูด จะอธิบายอะไรก็คอยแต่จะให้เข้าใจตรงนี้ โดยละเลยอย่างอื่น ซึ่งความเป็นจริงแล้ว พระธรรมทั้งหมดมีประโยชน์
เมื่อเห็นว่าพระธรรมมีจริง แต่เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก ควรจะทำอะไรก่อน ก็คือมีสัจจะ ความจริงใจที่จะฟังพระธรรมโดยครบถ้วนทุกประการ โดยไม่เจาะจง ซึ่งจะเป็นการสะสมของสังขารขันธ์ที่จะทำให้พิจารณาสิ่งที่ได้ฟังละเอียดขึ้น มีความแยบคายในการพิจารณาที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ โดยอาศัยกุศลธรรมอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่มุ่งหน้าอย่างเดียวโดยไม่ฟังอื่นเลย จะฟังแต่เฉพาะตอนนั้น เพราะฉะนั้น จึงควรฟังไปทั้งหมด
ถ. ขออนุโมทนาในกุศลจิต ที่มีผู้ถอดคำพูดในเทปเพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่ยัง ไม่เข้าใจ ซึ่งไม่มีทางอื่นเลยนอกจากเป็นผู้ที่มีความเพียรที่จะฟังต่อไป เพราะว่า พระธรรมต้องอาศัยการฟังมาก
สุ. และส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นอีกแสนไกล ถ้าไม่อบรมเจริญกุศลทุกประการ มุ่งมั่นอย่างเดียวจะให้ไประลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ให้เกิดความรู้ชัดและละคลาย ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าผู้นั้นขาดสติสัมปชัญญะละเลยแม้กุศลธรรม เช่น วาริตศีลและจาริตศีลในชีวิตประจำวัน คือ สิ่งที่ควรเว้น และสิ่งที่ควรทำ
สิ่งที่ควรเว้นใหญ่ๆ มี ๕ ข้อ แต่ความละเอียดมีมากกว่านั้นอีก คือ เว้นคำ ที่จะทำให้คนอื่นไม่สบายใจ ซึ่งอาจจะคิดว่าเล็กน้อยเหลือเกิน เพราะไม่ใช่เป็น คำหยาบ แต่แม้กระนั้นก็ต้องมีความละเอียดด้วยก่อนที่กิเลสจะหมดไปได้
สัปดาห์ก่อนได้เดินทางไปต่างจังหวัด และได้สนทนาธรรมกันระหว่างผู้ที่ร่วมเดินทาง และก็มีท่านที่สนใจซึ่งไม่ได้ร่วมเดินไปด้วยแต่อยู่ที่จังหวัดนั้นได้ร่วมสนทนาธรรมด้วย เมื่อกล่าวถึงธรรมและจิตที่ต่างกันเป็นประเภทต่างๆ ท่านผู้นั้นก็ถามว่า ทำไมต้องฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรมละเอียดถึงอย่างนี้
ขอเชิญท่านผู้ฟังให้ความคิดเห็น ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วย
พระ เรื่องการศึกษาธรรม ต้องเป็นผู้ละเอียด ก่อนที่อาตมาจะศึกษาธรรมอย่างละเอียดนั้น เมื่อได้ยินพระธรรมใหม่ๆ เรื่องความไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นได้ยินเพียงคำว่า ธรรมทั้งหลายไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ก็มีความคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวตน แต่ยังไม่ได้หาเหตุผล เพียงแต่ได้ยินพยัญชนะเท่านั้นเอง ภายหลังได้ยินพยัญชนะเสริมว่า ธรรมต่างๆ นั้นสูญจากตัวตน อาตมาก็พิจารณาว่า ถ้าไม่มีตัวตนก็น่าจะดี เพราะจะไม่มีความทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างให้มองเป็นไม่มีตัวตน ข้อนี้อาตมาชี้ให้เห็นว่า ความไม่ละเอียดในการศึกษาธรรม ทำให้อาตมาเชื่ออย่างนั้นอยู่นาน พยายามคิดว่า สิ่งต่างๆ นั้นไม่มีตัวไม่มีตน แม่ก็ไม่มี พ่อก็ไม่มี อาตมาเกือบจะเชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน แต่รู้สึกขัดแย้ง เกิดความเสียใจว่า ทำไมเราทอดทิ้งความดีงามที่ท่านมีกับเรา เกิดความขัดแย้งอยู่นานมาก อาตมาปฏิบัติทาง สายนี้มาเป็นเวลาเกือบปี และตั้งท่าเอาจริงเอาจัง คิดว่าถ้าไม่มีตัวตนแล้วก็จะหลุดพ้น
เมื่อไม่นานมานี้มีพระภิกษุที่เป็นเพื่อนกัน เมื่อได้สนทนากันก็ทราบว่า ท่านก็เชื่อแบบนี้ ซึ่งท่านเองก็ชอบทำบุญ แต่เมื่อคิดไปคิดมา บุญก็ไม่มี ทำบุญไปทำไม ท่านกลุ้มใจถึงกับจะทิ้งกิจการด้วย เกิดความสับสนจนเครียดมาก ไม่มีที่พึ่ง ไม่รู้จะปรึกษาใคร เพราะว่าธรรมที่ท่านศึกษาก็ให้เพียงสั้นๆ เท่านี้เองว่า ทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ท่านก็พึ่งพระธรรม เริ่มศึกษาพระอภิธรรมท่านก็รู้ว่า ความจริงมีจิตหลายประเภท มีรูปหลายประเภท เป็นปรมัตถธรรม และรู้ว่าเรายึดถือผิดจากความไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ท่านก็รู้สึกสบายใจขึ้นมาก และท่านก็รู้ว่า การศึกษา พระธรรมที่ละเอียดมีคุณมากอย่างนี้เอง นี่เป็นประสบการณ์ของอาตมา
ถ. ทำไมจึงต้องศึกษาธรรมโดยละเอียด จากการที่ผมได้ฟังท่านอาจารย์ มาหลายปี คิดว่าตัวเองมีความรู้เพียงเล็กๆ น้อยๆ และมีโอกาสได้สนทนาธรรมกับเพื่อนร่วมงานหลายๆ ท่าน ก็มีปัญหาว่า ทำไมต้องศึกษาให้ละเอียดถึงปานนี้ เขาบอกว่า การศึกษาพระธรรมมากๆ นั้นก็เพื่อแสดงโวหารว่า ได้รู้มาก ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาอะไรเลย แต่เขาอาจจะประพฤติดีประพฤติชอบและสามารถบรรลุเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้ ปัญหานี้ท่านอาจารย์จะช่วยกรุณาแนะนำอย่างไร สำหรับ ผู้ที่เข้าใจอย่างนี้