แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1970

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๓


ถ. องค์ธรรมของกวฬิงการาหารแต่ก่อนเข้าใจว่าเป็นโอชารูป แต่ตามที่อรรถกถาแสดงไว้ ขณะที่ทางตาเห็นอาหารที่เป็นคำข้าว ขณะนั้นรูปารมณ์ก็น่าจะเป็นกวฬิงการาหาร สัททารมณ์ คันธารมณ์ หรือรสารมณ์ รวมทั้งโผฏฐัพพารมณ์ ก็คงด้วย ดังนั้น กวฬิงการาหารเป็นอวินิพโภครูป ๘ ได้หรือ

สุ. แยกกันไม่ออก หมายความว่า ในที่ใดมีโอชารูปแล้ว ไม่ใช่ในที่นั้นจะไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่เนื่องจากแยกกันไม่ออก ต้องอาศัยกัน แม้แต่ในการบริโภคจะบริโภคแต่โอชารูปอย่างเดียวไม่ได้ เพราะโอชารูปเป็นอุปาทายรูป เป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป เพราะฉะนั้น จะมีโอชารูปโดยไม่มีมหาภูตรูปไม่ได้

ถ. ถ้าจะคลายการติดกวฬิงการาหาร ก็พิจารณาลักษณะของปรมัตถธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

สุ. ปัญญาต้องรู้ทั่วจริงๆ ถ้ารู้ไม่ทั่ว ไม่สามารถละคลายการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

ถ. อีกคำถามหนึ่ง ได้ยินได้ฟังเรื่องของผัสสเจตสิกหลายครั้ง ก็พยายามพิจารณาลักษณะของผัสสะ ซึ่งลักษณะของผัสสะตั้งแต่เกิดมาผัสสะก็ปรากฏหลายครั้ง แต่อวิชชาทำให้ไม่เข้าใจลักษณะของผัสสะ สติไม่สามารถเกิดระลึกลักษณะของผัสสะได้ ที่ท่านอาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ขณะที่มีเวทนาปรากฏนั้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัยกระทบจึงมีเวทนา ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายขณะที่ผัสสะปรากฏ มีลักษณะอย่างไร

สุ. ถ้าสภาพธรรมใดไม่ปรากฏ จะไปพยายามพิจารณาสภาพธรรมนั้น ไม่ได้เลย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เช่น เจตสิก ๕๒ ประเภท ถ้าไม่ได้ฟังมาก่อน ไม่มีทางที่จะเข้าใจลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทนั้นได้เลย และเมื่อเข้าใจในขั้นการฟัง ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ใครไปพยายามรู้เจตสิกแต่ละเจตสิกนั้น แต่หมายความว่า ในขณะนี้สภาพธรรมเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ยังไม่ต้องแยกเป็นอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมว่าเป็นเพียงนามธรรม และยังไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะของรูปธรรมว่าเป็นเพียงรูปธรรม

เพราะฉะนั้น การฟังปริยัติก็เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจโดยละเอียด ซึ่งเกื้อกูลต่อการเข้าใจในสภาพที่เป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่ไปท่อง หรือไปพยายามรู้สิ่งซึ่งขณะนั้น ไม่สามารถจะรู้ได้ เช่น ในขณะเห็นมีผัสสเจตสิก ในขณะที่ได้ยินก็มีผัสสเจตสิก ในขณะที่คิดนึกก็มีผัสสเจตสิก ไม่ว่าจิตจะเกิดขึ้นขณะใดก็ต้องมีผัสสเจตสิก แต่ยัง ไม่รู้เลยว่า นามธรรมคืออะไร มีลักษณะอย่างไร จะไปรู้ลักษณะเฉพาะของผัสสเจตสิกย่อมไม่ได้

สำหรับสิ่งใดที่ปรากฏ เช่น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ อย่างความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏที่เห็น กับผัสสะ อย่างไหน ที่จะปรากฏ ลักษณะของผัสสะปรากฏ หรือลักษณะของความยินดีพอใจปรากฏ

ถ. เวทนาปรากฏ ความยินดีพอใจปรากฏ

สุ. เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ปรากฏ ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น โดยไม่ขวนขวายไปรู้เจตสิกแต่ละประเภท เพียงแต่ว่าการฟังทำให้สามารถเข้าใจเพื่อเป็นพื้นฐานสะสมทำให้สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน

ถ. เพราะฉะนั้น ลักษณะของเจตสิกใด เช่น ถ้าเวทนาเกิดก็สามารถรู้ได้ เพราะว่าปรากฏ และเข้าใจในขณะนั้นสติก็เกิดได้ ถ้าสภาพธรรมใดไม่ปรากฏ ก็ระลึกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟังต่อไปอีก สติและปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ทีละลักษณะไปว่า ลักษณะของนามธรรมต่างกับรูปธรรม จนกระทั่งสามารถรู้นามธรรม ที่แยกกันอีก ละเอียดขึ้นไปอีก ซึ่งไม่ปนรูปและนามด้วย

สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ ปัญญา ซึ่งลักษณะของปัญญานั้นรู้แล้วละ เพราะฉะนั้น ใครจะไปละก่อนรู้ไม่ได้ กุศลจิตเกิดจริง แต่กุศลนั้นไม่สามารถดับหรือ ละอกุศลที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ต้องอาศัยการฟัง จนกระทั่งสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ และขณะใดที่เกิดความต้องการขึ้น ขณะนั้นถ้าปัญญาไม่เกิดที่จะรู้ว่าเป็นสภาพนามธรรมอย่างหนึ่ง ก็เดือดร้อนมาก เพราะว่าบางคนอาจจะไม่ชอบในลักษณะของโลภะประเภทนั้นๆ ที่เกิดขึ้นกับตน เมื่อไม่ชอบก็พยายามหาทางอื่นที่จะไม่ให้โลภะนั้นเกิด แทนที่จะระลึกและรู้ว่า ลักษณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่อาจหาญ กล้าหาญที่จะรู้ทัน รู้ตามในขณะนั้นได้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น มิฉะนั้นจะทำอย่างอื่นกันทั้งหมด

ถ. ได้สนทนากับผู้ที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน สนทนากันว่า สติปัฏฐานไม่เกิดบ่อย และขณะที่เกิดก็เล็กน้อยเท่านั้นเอง เช่น แข็งปรากฏ รู้เพียงแข็งที่ปรากฏว่า เป็นแข็งเท่านั้น แต่ไม่ได้รู้ไปถึงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็คิดว่า การปฏิบัตินี้ควรจะยิ่งขึ้นไปอีก ท่านผู้นั้นก็อธิบายว่า ได้มีการสนทนากับท่านอาจารย์ว่า ในขณะที่ลักษณะธรรมอะไรปรากฏ ก็ระลึกที่ลักษณะนั้นเท่านั้นเอง และปัญญา ก็รู้ตามกำลังของปัญญา และลักษณะใดปรากฏอีก ก็รู้ลักษณะนั้นๆ ไปอีก แทนที่จะต้องการให้ปรากฏชัดและคลายการยึดถือสภาพธรรม

สุ. หนทางเดียว คือ ระลึกแล้วรู้ขึ้น ถ้ายังไม่รู้ ก็ระลึกอีกเนืองๆ บ่อยๆ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นกุศลขั้นสูงสุดที่ควรจะอบรมในแต่ละภพแต่ละชาติ ที่มีโอกาสได้ฟังเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่เข้าใจผิดคิดว่า มีหนทางลัด หรือมีวิธีที่ไม่ต้องอาศัยการอบรมเจริญอะไรเลย เพียงแต่ต้องการก็ใช้ความเพียรมากๆ และจะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม หรือวิปัสสนาญาณจะเกิดจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า แม้เพียงขั้นการฟัง ก็ฟังเพื่อให้ละคลายความต้องการ ที่จะไปทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมมีแล้ว เกิดแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย เพียงสติปัฏฐานเกิดระลึกเมื่อไร ก็จะค่อยๆ พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้น และจะรู้จริงตรงตามที่ได้ศึกษาทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ละความไม่รู้ และค่อยๆ คลายความต้องการ ถ้าใครยังมีความต้องการมากๆ และอยากจะทำวิปัสสนา หรือใช้คำว่า อยากจะเจริญสติปัฏฐาน ผู้นั้นไม่สามารถจะ กั้นกระแสของความต้องการได้

ถ. เพราะได้ยินว่า ระลึกแล้วรู้ขึ้น จึงคิดว่า ระลึกทุกครั้งก็ควรจะรู้ขึ้นๆ

สุ. แต่น้อยมาก ควรจะรู้ขึ้น ไม่ใช่หมายความว่ารู้ขึ้นทันที มิฉะนั้นคงไม่มีข้ออุปมาที่ว่าเหมือนการจับด้ามมีด ข้ออุปมาตรงที่สุด คือ ทุกครั้งที่จับด้ามมีด เห็นหรือเปล่าว่าด้ามมีดสึก เมื่อไม่เห็น และจะให้ทุกครั้งที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เป็นความรู้ขึ้นมาว่า รู้ขึ้น ได้อย่างไร

ถ. บางครั้งฟังไม่แยบคายพอ ไม่เข้าใจพอ จึงไม่รู้ว่า ขณะที่ระลึกแล้วปัญญาก็รู้เท่านั้น ตามแต่กำลังของปัญญาเท่านั้น

สุ. ต้องมีความมั่นคงว่า หนทางเดียวที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ไม่มีวิธีอื่น นอกจากระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ ซึ่งบังคับไม่ได้ อาจจะไม่ได้ระลึกก็ได้ แต่เมื่อระลึกเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็รู้ว่า ไม่ได้หลงลืมสติ เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมให้รู้ แต่จะรู้มากหรือรู้น้อย จะรู้ช้าหรือรู้เร็ว จะรู้ขึ้นทีละน้อยที่สุดจนกระทั่งไม่รู้สึกตัวก็ได้ และค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จนกระทั่งในที่สุดก็ ค่อยๆ รู้ขึ้นจริงๆ ไม่แสวงหาทางอื่น รู้ว่าหนทางนี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้คลายความต้องการด้วย มิฉะนั้นก็ไปทำอย่างอื่น ซึ่งถ้าทำอย่างอื่นจะปิดบังทันที ไม่ทำให้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความ เป็นจริง

ถ. อาหารคืออะไร เมื่ออาทิตย์ที่แล้วพูดถึงกวฬิงการาหารก็เข้าใจว่า อาหารเป็นคำใส่ปาก และก็มาพูดถึงเอกปริญญา แค่นั้นไม่พอ ต้องเป็นสัพพปริญญา ได้กลิ่น ได้เห็น ได้ลิ้มรส หมดเลย ทำให้เกิดเจตนา และสามารถพิจารณาไปถึงปฏิจจสมุปบาทได้ ก็เข้าใจ แต่วันนี้ขึ้นผัสสาหาร ไม่เข้าใจ และต่อไปคงไม่เข้าใจ ไปเรื่อยๆ อาหารหมายความตรงไหน ถึงได้รวม ๔ อย่างนี้เข้าไป อาหารคืออะไร

สุ. ธรรมที่เป็นอาหาร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่ามี ๔ อย่าง ด้วยความหมายว่า เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด ตราบใดที่ยังมีอาหาร ก็ย่อมมีสิ่งที่นำมาซึ่งผล

ถ. ตรงนี้ไม่เข้าใจ จำได้ที่ท่านอาจารย์พูดในรอบแรกว่า เป็นสิ่งที่อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายที่แสวงที่เกิด อาหารเท่านั้นหรือ ผมยังไม่พอใจกับคำ จำกัดความนี้ เพราะไม่ทำให้เข้าใจอาหารทั้ง ๔ ชนิด ยังสงสัยอยู่

สุ. ถ้าไม่มีอาหารจะอยู่ได้ไหม

ถ. อยู่ไม่ได้

สุ. เพราะฉะนั้น เข้าใจความหมายของอาหารหรือยัง

ถ. อากาศก็เหมือนกัน ลมหายใจก็ใช่

สุ. แต่อาหารต่างจากอย่างอื่นอย่างไร สิ่งจำเป็นทั้งหลายๆ ที่กล่าว มีอย่างหนึ่งที่จำเป็นที่สุด คือ อาหาร

ถ. และลมหายใจ

สุ. ถ้าพูดถึงลมหายใจจริงๆ ท่านผู้ฟังลืมคิดว่า ลมหายใจเป็นรูปที่เกิดจากจิต สัตว์ที่มีชีวิตเกิดขึ้นเพราะกรรม จะมีลมหายใจซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากจิต เพราะว่าสัตว์นั้นมีจิต เพราะฉะนั้น ลมหายใจเป็นรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

ถ้าจะพูดละเอียด สิ่งที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่มีปัจจัย ๔ ใช่ไหม ทั่วๆ ไป อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นความจำเป็น แต่ถ้าพูดถึงอาหาร เป็นสิ่งที่ทุกคนขาดไม่ได้ เด็กเกิดมาก็ต้องกินอาหารแล้ว

ถ. เด็กเกิดมาก็ต้องมีลมหายใจแล้ว

สุ. เพราะว่าเป็นสัตว์โลก เมื่อมีจิตต้องมีลมหายใจ โดยมากคนคิดว่า ลมหายใจอยู่ข้างนอกหรือเปล่า ที่กล่าวว่า อาศัยลมหายใจ

ถ. อยู่ข้างนอก

สุ. ไม่ใช่ ลมหายใจเกิดจากจิต ขณะนี้ที่กำลังยืนและมีลมหายใจ ที่ใช้ คำว่า ลมหายใจ ไม่ใช่ลมอื่น และลมหายใจนี้ไม่ได้เกิดจากอุตุ ไม่ใช่เกิดจากกรรม ไม่ใช่เกิดจากอาหาร แต่ลมหายใจนี้เกิดจากจิต เพราะฉะนั้น สัตว์โลกที่มีจิตเท่านั้น ที่มีลมหายใจ และจำกัดเอาไว้ด้วยว่า ในภูมิไหน และบางภูมิก็ไม่มีลมหายใจ

ถ. ผมควรจะเชื่อท่านอาจารย์ เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ท่านบอกมา ผมไม่ใช่ดื้อรั้น แต่ไม่เข้าใจ ที่พูดว่า ลมหายใจเกิดจากจิต ผมกลับมองเห็นว่า ตัวลมหายใจที่ว่าเกิดจากจิต หมายความว่ามีชีวิต เหมือนกับหัวใจ หยุดเต้นก็ตาย ไม่มีลมหายใจก็ตาย ถ้าอย่างนั้นก็บอกว่า การเต้นของหัวใจก็เกิดจากจิตเหมือนกัน ใช่หรือไม่

สุ. ไม่ได้บอกไว้

ถ. หมายความว่า สิ่งที่แสดงว่ายังมีชีวิตอยู่ก็คือลมหายใจ เหมือนจะพูดว่าอย่างนั้น แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจ ที่ว่าเกิดจากจิต คงไม่เหมือนจิตตชรูป ใช่ไหม

สุ. รูปที่เกิดจากจิต ชื่อว่าจิตตชรูป ความหมายของจิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิต อาจารย์สมพรกรุณาให้ความหมายภาษาบาลีของคำว่า อาหาร ได้ไหม

สมพร อาหาร ถ้าแปลก็แปลว่า นำมาซึ่งผล ถ้าโดยความหมาย อาหาร หมายถึงปัจจัย อรรถกถาจารย์ท่านบอกว่า ที่ชื่อว่าอาหารนั้นเพราะเป็นปัจจัย

คำว่า จิตตชรูป แปลว่ารูปที่เกิดจากจิต ทางกาย เช่น ยกมือ ทางปาก เช่น พูด นี่เกิดจากจิตโดยเฉพาะเลย ลมหายใจก็เป็นจิตตชรูป มีจิตจึงมีลมหายใจ ถ้า ไม่มีจิตก็ไม่มีลมหายใจ

สุ. คุณชินวุฒิพูดว่า เวลาที่คนตาย หมายความถึงไม่มีลมหายใจแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นการกลับให้เห็นได้ว่า เพราะจิตดับ ลมหายใจจึงไม่มี แต่เมื่อไม่สามารถรู้ว่า จิตดับไป ไม่เกิดอีกเลยในภพนี้ เพราะฉะนั้น ก็อาศัยลมหายใจ พิจารณาว่ามีลมหายใจหรือเปล่า แต่ลมหายใจไม่ใช่ลมอื่น ลมนี้ต้องเกิดจากจิต เป็นสมุฏฐาน

ถ. ลมหายใจไม่ใช่อื่น เรื่องของจิต แต่ผมว่าอื่น

สุ. มิได้ ลมหายใจไม่ใช่ลมอื่น เป็นลมที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

ถ. แต่ก็คือลมที่อยู่รอบๆ ตัวเรานี่

สุ. ไม่ใช่

ถ. ผมขอยกตัวอย่าง เช่น คนลงไปที่ลึกๆ เป็นสุญญากาศ ก็ตายเพราะขาดอากาศ เพราะลมนั้นไม่มีก็ตาย เพราะฉะนั้น อะไรเป็นเหตุเป็นผล ผมว่า ลมเป็นเหตุ

สุ. อุตุได้ไหม

ถ. ลม ผมหมายความถึงออกซิเจน

สุ. อุตุได้ไหม

ถ. ได้

สุ. เพราะฉะนั้น อุตุไม่ใช่ลมหายใจ อย่าลืม ต้องแยกลมหายใจออกมา ต่างหากจากลมและอากาศข้างนอกตัว จะเอาอากาศข้างนอกตัวเป็นลมหายใจไม่ได้

ถ. แล้วเอาที่ไหนเป็นลมหายใจ

สุ. เวลานี้กำลังหายใจอยู่ ลมนั่นแหละเกิดจากจิต ลมนั้นจะเกิดจากอื่นไม่ได้เลยทั้งสิ้น

ถ. ถ้าไปอยู่ในที่ที่ไม่มีอากาศ อย่างลึกเลยในท่อ ในปล่อง ออกซิเจนไม่มี หัวใจขาดออกซิเจน ก็เป็นไปตามลำดับ คือ ไม่มีลมข้างนอกก่อนจึงตาย ตายแล้วก็ไม่มีลมหายใจ หัวใจหยุดเต้น ปอดหยุดทำงาน ไม่รู้อะไรเกิดก่อน แต่ออกซิเจนไม่มีก่อน จึงเกิดอาการที่กำลังจะตาย ตายก็ไม่มีจิตแล้ว จิตดับ ลมไม่ได้เกิดแต่จิต แต่ ลมไม่มี จิตเลยดับ

สุ. ลมอะไร

ถ. ลมที่จะสูดเข้าไป ออกซิเจน

สุ. พวกนั้นเป็นอากาศ เป็นอุตุทั้งหมด เพราะว่ารูปมี ๔ สมุฏฐาน รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดจากอุตุ เป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น อย่าละเลยเรื่องของอุตุ ความเย็น ความร้อนภายนอก ซึ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนกับมีลม ลมอื่นมีได้ ที่กำลังพัดนี่ก็เกิดจากอุตุ แต่ไม่ใช่ลมหายใจ ลมหายใจต้องเกิดจากจิตเท่านั้น

ขณะนี้ลมหายใจเกิดจากอะไร ที่กำลังมีอยู่ ที่กำลังปรากฏ

ถ. พูดตรงๆ เลยว่า ลมหายใจเกิดเพราะเรายังมีชีวิตอยู่

สุ. เพราะมีจิต

ถ. อย่างนั้นก็ต้องแปลว่า ถ้าตายแล้วไม่มีจิต จิตหยุดทำงาน ลมก็หายไป อย่างนี้ก็คงเข้าใจ แต่ผมกำลังพูดกลับกัน ผมพูดให้อาจารย์เวียนหัวหรือเปล่าไม่ทราบ

สุ. ทุกคนก็พูดถึงออกซิเจน คนไข้ที่กำลังเจ็บหนัก และอะไรๆ แต่อย่าลืม ลมหายใจแท้ๆ เป็นของบุคคลนั้น แต่ส่วนประกอบอื่นๆ เป็นภายนอก ที่จะทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้สะดวกสบายต้องอาศัยอุตุด้วย ต้องอาศัยอาหารด้วย ต้องอาศัยกรรมด้วย ถ้าคนที่คุณชินวุฒิยกตัวอย่างในเหตุการณ์อย่างนั้นแล้วไม่ตาย ก็จะมีปัญหาว่า ทำไมอยู่ในสถานที่ถึงอย่างนั้นแล้วยังไม่ตาย ก็อย่าลืมว่า ยังมีกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นมโนสัญเจตนาหาร เป็นวิญญาณาหาร เป็นอาหารอื่นๆ ที่ทำให้ เราทุกคนยังอยู่ในที่นี้ ยังไม่จากโลกนี้ไป เพราะเหตุว่ายังพร้อมด้วยอาหารทั้ง ๔

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565