แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1963

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๓


สุ. ในเรื่องความละเอียดของจิตใจ ต้องสังเกตว่า แม้คฤหัสถ์ด้วยกัน ไม่ใช่บรรพชิต ถ้าเห็นชีวิตของใครมีความสุขสำราญ มีการบำเรอตน มีความฟุ่มเฟือยเกินเหตุ ท่านรู้สึกอย่างไร ท่านยินดีด้วยที่เขาเพลิดเพลินในกามคุณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจถึงอย่างนั้น หรือท่านมีความรู้สึกว่า ไม่มีสาระ เขาควรจะได้ประโยชน์ยิ่งกว่านั้น คือ แทนที่จะมีชีวิตในวันหนึ่งๆ ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความเพลิดเพลินหมกมุ่นอย่างมากมาย ก็ควรที่จะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี

แม้ว่าใครจะมีเพชรนิลจินดามากมายสักเท่าไร ก็พิจารณาดูจิตของท่านว่า มีความเพลิดเพลินยินดีไปกับบุคคลเหล่านั้นด้วยหรือเปล่า ถ้ายังคงมีแม้ความเพลิดเพลินยินดีไปกับเขา ถ้าเป็นสมณพราหมณ์หรือบรรพชิต ขณะนั้นก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์

เพราะฉะนั้น หลังจากฟังพระธรรมแล้ว ท่านก็คงพอที่จะได้พิจารณาจิตใจของท่านเองเวลาที่เห็นบุคคลอื่นกำลังบำเรอตนว่า ในขณะนั้นรู้สึกอย่างไร

แม้แต่เพียงการบำเรอตนก็เป็นเมถุนสังโยค เพราะว่ายังเกี่ยวข้องกับเมถุนธรรม ยังเกี่ยวข้องยินดีเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เนื่องจาก ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า เพียงพอใจทางตาที่เห็น ทางหู ที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่นหอม ทางลิ้นที่ได้ลิ้มอาหารอร่อย ทางกายที่กระทบสัมผัส สิ่งที่สบายเท่านั้น ไม่น่าจะเป็นเมถุนสังโยคเลย แต่ขอให้คิดถึงกำลังของอกุศล ซึ่งวันนั้นอาจจะยังมีกำลังไม่พอ แต่วันต่อไป ตราบใดที่ยังมีกำลัง ยังมีความติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเพิ่มขึ้นอีกๆ โดยที่กิเลสยังไม่ดับถึงความ เป็นพระอนาคามีบุคคล ก็ยังคงมีเหตุปัจจัยทำให้เกี่ยวข้องยินดีกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ แม้จะไม่ใช่พระอนาคามี หรือ ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล แต่คงพอที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมว่า แม้ยังติด แต่ก็ลดคลายลงสักเล็กน้อยได้บ้างหรือเปล่า

ถ้าในกาลนี้สามารถลดคลายลงได้บ้างสักเล็กน้อยก็เป็นการดี คือ สะสม การละคลาย สะสมความไม่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในขณะนั้น เพื่อที่ขณะอื่นซึ่งละคลายไม่ได้ ก็ยังมีกำลังของการที่ได้เคยละคลายมาบ้าง แม้เพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ค่อยๆ สะสมทางฝ่ายกุศลไปเพื่อเวลาที่ทางฝ่ายอกุศลมีกำลังมาก อย่างน้อยก็จะผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไปได้ เพราะเคยสะสม เหตุปัจจัยคือการละคลายความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทำให้ไม่ประพฤติทุจริตกรรม และยังสามารถรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญถึงขั้นที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ประมาทอกุศลไม่ได้เลย

กุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นได้ก็ด้วยความอดทนที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ สภาพธรรมให้ถูกต้อง ไม่ให้คลาดเคลื่อน ไม่ให้เห็นผิด ไม่ให้เข้าใจผิด มิฉะนั้นแล้ว บางคนก็เข้าใจว่าตนเองหมดกิเลสแล้ว เพียงแต่ไปปฏิบัติโดยที่ปัญญาไม่ได้เกิดเลย แต่คิดว่าหมดกิเลส ซึ่งจะทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้นไม่ได้เลย เพราะว่ายังเต็มไปด้วยความไม่รู้และความเห็นผิดในหนทางปฏิบัติที่จะดับกิเลส

ถ. เรื่องกรรม อย่างการฆ่าสัตว์ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ แต่ถ้าไม่ครบองค์ จะได้รับวิบากของอกุศลกรรมหรือเปล่า

สุ. การฆ่าสำเร็จหรือเปล่า

ถ. เป็นความเข้าใจผิด สมมติว่านายพรานเข้าไปในป่า เห็นใบไม้ไหวๆ นึกว่าสัตว์เลยยิง แต่ไปดูก็เห็นว่าเป็นต้นไม้ อย่างนี้จะบาปหรือเปล่า

สุ. การฆ่าสำเร็จหรือเปล่า

ถ. ก็ไม่มีอะไรที่ตาย

สุ. ไม่มี ก็ไม่เป็น เป็นอกุศลจิตแน่ แต่ไม่ใช่ปาณาติบาต เพราะว่า ไม่มีการฆ่าอะไรเลย

รู้สึกหลายท่านเป็นห่วงเรื่องกรรมบถ เรื่ององค์ของกรรม แต่ที่ควรห่วงคือ ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง แทนที่จะไปคิดชั่งน้ำหนักเรื่องของกรรมซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ ชั่งได้ เพราะว่าสภาพของจิต ในแต่ละขณะต่างกัน แม้แต่ในขณะที่เกิดโทสะอย่างแรง บางท่านอาจจะมีความรู้สึกเหมือนกับอยากจะให้คนนั้นตายเสีย ตามที่เคยได้ยิน คือ บางท่านเห็นว่า บุคคลนี้ ทำไม่ถูก ทำทุจริตคดโกงต่างๆ ตายเสียก็ดี มีความคิดรุนแรงอย่างนั้น ถ้าผู้นั้นตาย ก็คงจะดี หมดเรื่อง หมดปัญหา โดยเฉพาะคนที่ทำความลำบากให้แก่โลก ขณะนี้ ก็อาจจะมีหลายคนที่คิดว่า ถ้าคนนั้นตายก็คงจะดี แต่ไม่ได้คิดถึงเรื่องกรรมว่า อย่างไรๆ คนนั้นก็ต้องตาย และในเมื่อเขาจะต้องตายอยู่แล้ว ทำไมจิตเราต้องเป็นอกุศล

ถ. ไม่ครบองค์ที่จะเป็นทุจริตกรรม ไม่สำเร็จ ไม่ได้ฆ่า แต่เจตนามี ซึ่งเจตนาคือกรรม เพราะฉะนั้น เป็นอกุศลกรรม ใช่ไหม

สุ. เป็นอกุศลจิต เป็นมโนกรรมได้ แต่การฆ่าไม่ได้สำเร็จ ถามอย่างนี้ เพื่ออะไร

ถ. เพื่อจะได้ขัดเกลา ไม่คิดฆ่า

สุ. ขัดเกลาอกุศลจิตด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้าโกรธใครที่ทำให้โลกปั่นป่วนเวลานี้ ก็จะได้รู้ว่า ขณะนั้นเลวเท่าเขา เพราะขณะนั้นเป็นอกุศลจิตของตนเอง ถ้าดีกว่าเขา คือ ไม่ว่าใครจะเลว หรือใครจะทำไม่ดี ผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะที่กุศลจิตจะเกิด ไม่ต้องไปเดือดร้อน ใครจะเป็นจะตายก็ต้องเป็นไปตามกรรมทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่อกุศลจิตที่เกิด ขณะนั้นเป็นสภาพที่เศร้าหมอง เป็นอกุศล

สำหรับการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องมีสติสัมปชัญญะ อบรมเจริญกุศล ทุกประการด้วยความอดทน และไม่ต้องหวังว่าเมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะถ้าย้อนกลับมาพิจารณาจิตของตนเองก็จะรู้ได้ว่า ตราบใดที่ทุกวันๆ ยังมีอกุศลมากมาย บ่อยๆ และอยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไกลมากทีเดียว ควรเริ่มสะสมกุศล ทุกประการเพื่อเป็นบารมี

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา นิทานคาถาวรรณนา มีข้อความตอนหนึ่งที่แสดงว่า ทุกบารมีประกอบกัน เกื้อกูลส่งเสริมกัน คือ

ก็ความอดทนอย่างยิ่ง ในการบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เพื่อปัจเจกโพธิญาณ หรือสาวกโพธิญาณ นี้ชื่อว่าวิริยะ

ความอดทนต่อความโกรธนั้นใด นี้ชื่อว่าขันติ

การให้ทาน การสมาทานศีลเป็นต้น และการไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อน (จากความเป็นจริง) อันใด นี้ชื่อว่าสัจจะ

การอธิษฐานใจที่ไม่หวั่นไหวแน่วแน่ อันให้สำเร็จประโยชน์ในที่ทั่วไปนั่นแหละ ชื่อว่าอธิษฐาน

การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทานและศีลเป็นต้นนี้ ชื่อว่าเมตตา

การวางเฉยในประการที่ไม่เหมาะสมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว ชื่อว่าอุเบกขา

ดังนั้น เมื่อทาน ศีล ภาวนา และศีล สมาธิ ปัญญามีอยู่ บารมีทั้งหลาย มีวิริยะบารมีเป็นต้น ย่อมชื่อว่าสำเร็จแล้วทีเดียว ด้วยอาการอย่างนี้

การที่จะบำเพ็ญทานต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง มีวิริยะ มีจิตไม่หวั่นไหว แน่วแน่ในอันให้สำเร็จประโยชน์ในที่ทั่วไป

นอกจากนั้น การกล่าวถึงบารมีโดยนัยต่างๆ แม้ที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยความหมายเดียวกันก็ยังเกื้อกูล เช่น ข้อความที่ว่า การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทานและศีลเป็นต้นนี้ ชื่อว่าเมตตา ก็จะได้ทราบลักษณะของเมตตาอีกความหมายหนึ่ง คือ การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ เป็นพื้นฐานของทานและศีล

ท่านผู้ใดที่ให้ทาน ท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาจิตใจในขณะนั้นว่าเพราะเมตตา ท่านมีอุปนิสัยที่จะให้ ท่านก็ให้ ท่านสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขต่อบุคคลอื่น แต่ถ้าจะพิจารณาพื้นฐานที่ทำให้เกิดการกระทำนั้นก็คือเมตตา หรือท่านที่วิรัติทุจริต ทั้งกายและวาจา ก็จะได้เห็นว่า พื้นฐานที่ทำให้ท่านวิรัติทุจริตนั้นก็คือเมตตาด้วย ไม่ต้องการให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเป็นทุกข์แม้ด้วยกายหรือวาจาของท่านขณะนั้น ก็เพราะเมตตา

ถ. ลักษณะของขันติ ไม่โกรธ มีอโทสเจตสิกเป็นองค์ธรรม กับเมตตา ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายอารมณ์ที่ต่างกัน หรือลักษณะที่ต่างกัน

สุ. เมตตาต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

ถ. ขันติมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ด้วยได้ไหม

สุ. ขันติหมายถึงความไม่โกรธ ความอดทน อย่างอธิวาสนขันติ อดทนต่อความร้อน ความหนาว ต่อสิ่งแวดล้อมทุกประการในชีวิต

ถ. ขณะที่มีเมตตาต่อสัตว์บุคคล ชื่อว่ามีขันติด้วยได้ไหม

สุ. ขณะนั้นเป็นขันติ แต่ในลักษณะของเมตตาไม่ใช่ไม่มีอโทสะ มีอโทสะ แต่อโทสะนั้นเป็นไปในสัตว์บุคคล

ถ. ลักษณะของอนุโมทนากับมุทิตา ต่างกันอย่างไร

สุ. อนุโมทนา คือ พลอยยินดีในกุศลที่ผู้อื่นกระทำ ส่วนมุทิตา เวลาที่ สัตว์อื่นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็มีจิตยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขที่บุคคลนั้นได้ ไม่ริษยา

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา แสดงกุศลบารมีแต่ละบารมีว่า เป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศลอย่างไรบ้าง คือ

ทานเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะ โทสะ และโมหะ เพราะประกอบด้วยคุณ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ในไทยธรรม (คือ วัตถุทาน) ปฏิคาหก (คือ ผู้รับทาน) และผลของทาน

แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ทานบารมีก็ยังเป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะในขณะที่ให้ทานหรือที่บำเพ็ญทานนั้น ประกอบด้วยคุณ คือ อโลภะ ความไม่โลภ ไม่ติดข้องในไทยธรรม คือ วัตถุที่จะให้ เพราะถ้ายังติดข้องอยู่ ให้ไม่ได้ ยังนึกเสียดาย ยังไม่ให้ หรือคิดที่จะให้ แต่ก็ยังให้ไม่ได้ ยังรอโอกาสอยู่ หรือยังเป็นผู้ที่มีจิตใจไม่มั่นคง ยังหวั่นไหว คิดว่าจะให้ แต่ไม่ให้ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นยังไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะ

แต่ในขณะที่เป็นทานกุศล ขณะนั้นประกอบด้วยคุณ คือ อโลภะ ไม่ติดข้องในวัตถุทาน คือ ไทยธรรม ปราศจากโทสะ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นประกอบด้วยคุณธรรม คือ อโทสะในผู้รับ เพราะถ้ามีความขุ่นเคืองไม่พอใจในผู้รับขณะนั้นก็ไม่ให้ อย่างบางท่านเวลาที่เดินไปเห็นคนขอทาน อาจจะมีจิตขุ่นเคืองในคนขอทานก็ไม่ให้ เพราะว่าร่างกายแข็งแรงดีประการหนึ่ง ทำให้รู้สึกไม่พอใจที่มาขอทาน หรืออาจจะเห็นเด็กเล็กๆ ซึ่งพิการ ก็ขุ่นเคืองใจที่เอาเด็กมาทรมานเพื่อขอทาน ก็ไม่ให้อีก แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่ทานกุศลเกิด ขณะนั้นต้องประกอบด้วยคุณ คือ อโลภะในไทยธรรมคือวัตถุทาน อโทสะในปฏิคาหกคือผู้รับ และอโมหะ เมื่อรู้ผลของทานทั้งหลายว่าเป็นสิ่งที่ดี ขณะนั้นเป็นการบริจาค เป็นการสละกิเลสของตนเองด้วย

ข้อความต่อไป

ศีลเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะเป็นต้น เพราะปราศจากความคดคือโทสะ มีกายทุจริตเป็นต้น

เนกขัมมะเป็นปฏิปักษ์แก่หมวด ๓ แห่งโทสะ เพราะเว้นจากกามสุข การเข้าไปเบียดเบียนผู้อื่น และการทำตนให้ลำบาก

เมื่อไม่ติด ไม่ยินดีในกาม โทสะก็ต้องลดน้อยลงเป็นของธรรมดา เพราะถ้าใครติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมาก โทสะของคนนั้นก็มากด้วย เมื่อไม่ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ต้องการ ขณะนั้นก็เกิดความขุ่นเคือง แต่ถ้าสละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะลงไป ก็ย่อมเกิดโทสะน้อยลงไปด้วย

ปัญญาเป็นปฏิปักษ์ของโลภะเป็นต้น เพราะทำความมืดมนแก่โลภะเป็นต้น และเพราะทำความไม่มืดมนแก่ญาณ

นี่คือคำอธิบายความหมายของปัญญาที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล เพราะว่าปัญญา ทำความมืดมนแก่โลภะเป็นต้น และเพราะทำความไม่มืดมนแก่ญาณ

เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วโลภะเกิดทันที ปัญญาเกิดไม่ทัน โลภะไม่ติดขัด ไม่มืดมนเลย เกิดได้คล่องแคล่วดี ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิด ปัญญาเท่านั้นเป็นปฏิปักษ์ของโลภะเป็นต้น เพราะขณะนั้นทำความมืดมนแก่โลภะ โลภะไม่สามารถเกิดได้ในขณะนั้น เพราะปัญญาเกิด ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงเป็นปฏิปักษ์ของโลภะ เพราะ ทำความมืดมน แก่โลภะเป็นต้น และเพราะทำความไม่มืดมนแก่ญาณ

เวลาที่ปัญญาเกิดสามารถรู้และเข้าใจสิ่งที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล และเจริญยิ่งขึ้นจนกระทั่งรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ทำความไม่มืดมนแก่ญาณที่สามารถรู้และเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

วิริยะเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะเป็นต้น ด้วยไม่ย่อหย่อน ไม่ฟุ้งซ่าน และปรารภเพื่อความรู้

ขันติเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะเป็นต้น เพราะอดทนต่อความสูญของสิ่งที่ น่าปรารถนา และอดทนต่อสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา

บารมีทุกบารมีมีประโยชน์มาก ถ้าเพียงแต่ค่อยๆ ระลึกได้และบำเพ็ญไป ถ้ามีเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดความไม่อดทน และคิดถึงขันติ ความอดทน ในขณะนั้น ก็จะเป็นการสะสมความอดทนต่อสภาพที่ไม่น่าพอใจ หรือต่อความสูญของสิ่งที่ น่าปรารถนา

สัจจะเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะเป็นต้น เพราะเป็นไปตามความเป็นจริง เมื่อผู้อื่นทำอุปการะและทำความเสียหาย

สามารถรู้ตามความเป็นจริงว่า อะไรถูก อะไรผิด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

อธิษฐานเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะครอบงำโลกธรรม แล้ว ไม่หวั่นไหวในการสั่งสมบารมีตามที่สมาทานแล้ว

แสดงให้เห็นว่า กว่าจิตใจจะมั่นคงหนักแน่นจริงๆ ในการเจริญกุศล ผู้นั้น จะเป็นผู้รู้ตัวดีว่า ขณะนั้นเป็นไปตามอธิษฐาน ความตั้งใจมั่นจริงๆ หรือเปล่า เพราะจิตใจเปลี่ยนง่าย กลับกลอกง่าย ศรัทธาก็หวั่นไหวง่าย เปลี่ยนแปลงง่ายด้วย

ถ. ลักษณะของอธิษฐาน ขณะที่มีสัจจะ รู้สึกว่ามีสัจจะเป็นเหตุใกล้มาก ขณะที่ตรงต่อตัวเองและพิจารณาสิ่งที่ผิด ก็ยอมรับว่าผิด สิ่งที่ถูก ก็ยอมรับว่าถูกแล้ว รู้สึกว่ามีความไม่หวั่นไหวปรากฏขึ้น นี่เป็นเหตุใกล้โดยตรงหรือเปล่า

สุ. สัจจะก็ต้องอาศัยอธิษฐานบารมีด้วย ที่จริงแล้วสัจจะต้องอาศัยความมั่นคงในความจริงนั้นด้วย เพราะถ้าไม่มีความมั่นคง สัจจะนั้นก็ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะฉะนั้น อธิษฐานบารมีเป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อบารมีอื่นๆ

เปิด  236
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565