แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1965

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๓


ขอกล่าวถึงเรื่องการให้ซึ่งเป็นสัจจะ ความจริงใจ ที่ทุกท่านจะได้เปรียบเทียบกับการให้ของพระโพธิสัตว์ ซึ่งข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก แสดงทานบารมี ๓ อย่าง คือ อามิสทาน ๑ อภัยทาน ๑ ธัมมทาน ๑ เพราะฉะนั้น บางท่านที่มุ่งอย่างเดียว คือ อามิสทาน ไม่สนใจอภัยทานและธัมมทาน ขอให้ทราบว่า ความจริงต้องมีทานทั้ง ๓ อย่าง

ข้อความอรรถกถามีว่า

ในทานบารมีนั้น มีทาน ๓ อย่าง โดยเป็นวัตถุที่ควรให้ คือ อามิสทาน ๑ อภัยทาน ๑ ธรรมทาน ๑ ...

ในวัตถุเหล่านั้น พระมหาบุรุษ เมื่อจะให้วัตถุภายนอกรู้ด้วยตนเองว่า จะให้วัตถุแก่ผู้มีความต้องการ แม้เขาไม่ขอก็ให้ ไม่ต้องพูดถึงขอละ

นี่คือบารมี ผู้ที่พร้อมจะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เมื่อเห็น เมื่อรู้ความต้องการของบุคคลอื่น ก็เป็นผู้ละเอียดในการเจริญกุศล เพราะรู้ความจำเป็นและมีจิตกรุณาเกิดขึ้น ไม่ต้องรอให้เขาขอก็ให้ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ

ข้อความต่อไปมีว่า

มีของให้ จึงให้ ไม่มีของให้ ย่อมไม่ให้

ถูกไหม ไม่ทำตนให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ เพราะบางทีอยากจะให้ แต่ไม่มีจะให้ ก็วุ่นวาย แต่พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่มีของให้ จึงให้ ไม่มีของให้ ย่อมไม่ให้

ให้สิ่งที่ปรารถนา เมื่อมีไทยธรรม ย่อมไม่ให้สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา

ถ้ามี ก็ให้สิ่งที่คนอื่นต้องการ เว้นแต่ไม่มีจะให้

อาศัยอุปการะตอบย่อมให้ เมื่อไม่มีไทยธรรมย่อมแบ่งสิ่งที่ปรารถนาให้สมควรแก่การแจกจ่าย

อนึ่ง ไม่ให้ศัสตรายาพิษและของเมาเป็นต้น อันจะนำมาซึ่งความเบียดเบียนผู้อื่น แม้ของเล่นอันประกอบด้วยความพินาศและนำมาซึ่งความประมาท ก็ไม่ให้

อนึ่ง ไม่ให้ของไม่เป็นที่สบายมีน้ำดื่มและของบริโภคเป็นต้น หรือของที่ เว้นจากการพิจารณาแก่ผู้ขอที่เป็นไข้ แต่ให้ของเป็นที่สบายเท่านั้นอันสมควรแก่ประมาณ

ถ้าต้องการช่วยเหลือใครจริงๆ แม้แต่ผู้ที่เจ็บป่วย ก็ต้องเป็นผู้มีความกรุณา ที่จะพิจารณา ไม่ใช่เพียงแต่จะให้ๆ ไป แต่ต้องรู้ความเหมาะความควรว่า จะเป็นประโยชน์กับคนเจ็บป่วยมากน้อยประการใดด้วย

เรื่องของกุศล เป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องที่จะต้องไม่ประมาท คือ คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรให้ก็ให้ แต่จะต้องพิจารณามากกว่านั้น ผู้ที่เป็นนายแพทย์ก็คงจะทราบดีว่า อาการของคนไข้แต่ละคนๆ จะเหมาะแก่ยากี่มื้อ กี่เม็ด ไม่ใช่เพียงแต่ให้ไปเท่านั้น

อนึ่ง คฤหัสถ์ขอก็ให้ของสมควรแก่คฤหัสถ์ บรรพชิตขอก็ให้ของสมควรแก่บรรพชิต ให้ ไม่ให้เกิดความเบียดเบียนแก่ใครๆ ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ คือ มารดา บิดา ญาติสาโลหิต มิตรอำมาตย์ บุตรภรรยา ทาส และกรรมกร

อนึ่ง รู้ไทยธรรมดี จึงไม่ให้ของเศร้าหมอง

อนึ่ง ไม่ให้อาศัยลาภ สักการะ ความสรรเสริญ ไม่ให้อาศัยการตอบแทน ไม่ให้หวังผล เว้นแต่สัมมาสัมโพธิญาณ

นี่สำหรับผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์

ไม่ให้รังเกียจผู้ขอ หรือไทยธรรม

อนึ่ง ไม่ให้ทานทอดทิ้งแก่ยาจกผู้ไม่สำรวม แม้ผู้ด่าและผู้โกรธ

เป็นความละเอียดในการที่จะให้แต่ละครั้ง ต้องมีจิตใจที่อ่อนโยนจริงๆ เป็นกุศลจริงๆ ไม่รังเกียจผู้ขอ หรือไทยธรรม คือ วัตถุที่ให้ และ ไม่ให้ทานทอดทิ้งแก่ยาจกผู้ไม่สำรวม แม้ผู้ด่าและผู้โกรธ

ทำได้ไหม ถ้าคนอื่นโกรธ หรือผู้รับซึ่งบางครั้งกิริยาอาการไม่สุภาพเลย แต่ แม้กระนั้นผู้ให้ก็มีจิตใจที่อ่อนโยนให้โดยไม่รังเกียจ แม้ผู้รับจะมีกิริยาอาการไม่สำรวม ไม่สมควร หรืออาจจะด่า หรืออาจจะโกรธผู้ให้ก็ได้ เพราะอาจจะบอกว่าให้น้อยไป หรือไม่อยากได้ของที่จะให้ แต่แม้กระนั้นผู้ให้ก็มีจิตใจที่ไม่หวั่นไหว

ที่แท้มีจิตเลื่อมใสให้ อนุเคราะห์ด้วยความเคารพอย่างเดียว

เป็นการขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ แม้แต่ในขณะที่ให้

ไม่ให้เพราะเชื่อมงคลตื่นข่าว ให้เพราะเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมเท่านั้น ไม่ให้โดยที่ทำยาจกให้เศร้าหมอง ด้วยการให้เข้าไปนั่งใกล้เป็นต้น

อนึ่ง ไม่ให้เพื่อประสงค์จะลวง หรือประสงค์จะทำลายผู้อื่น ให้มีจิต ไม่เศร้าหมองอย่างเดียว ไม่ให้ทานใช้วาจาหยาบ หน้านิ่วคิ้วขมวด ให้พูดน่ารัก พูดก่อน พูดพอประมาณ

โลภะมีมากในไทยธรรมใด เพราะความพอใจยิ่งก็ดี เพราะสะสมมานานก็ดี เพราะความอยากตามสภาพก็ดี พระโพธิสัตว์รู้อยู่ บรรเทาความพอใจในไทยธรรมนั้นโดยเร็ว แล้วแสวงหายาจกให้

นี่คือผู้ที่รู้จักจิตใจของตนเองว่า ติดในสิ่งไหนมากพอที่จะสละหรือไม่สละ บางทีอาจจะคิดต่อสู้กันไปมา แต่สำหรับพระโพธิสัตว์นั้น โลภะมีมากในไทยธรรมใด เพราะความพอใจยิ่งก็ดี เพราะสะสมมานานก็ดี เพราะความอยากตามสภาพก็ดี พระโพธิสัตว์รู้อยู่ บรรเทาความพอใจในไทยธรรมนั้นโดยเร็ว แล้วแสวงหายาจกให้

นี่เป็นเรื่องของอามิสทาน ซึ่งใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ได้แสดงความประพฤติของพระโพธิสัตว์ละเอียดมากกว่านี้ กว่าที่จะบำเพ็ญพระบารมีจนบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ขอกล่าวถึงข้อความเพียงบางประการที่จะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาจิตใจของตนเองละเอียดขึ้น จะได้เจริญกุศลยิ่งขึ้น

ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของอภัยทาน มีข้อความว่า

ส่วนอภัยทาน พึงทราบโดยความป้องกันจากภัย ที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย จากพระราชา โจร ไฟ น้ำ ศัตรู สัตว์ร้ายมีราชสีห์ เสือโคร่ง เป็นต้น

ส่วนธรรมทาน ได้แก่ การแสดงธรรมไม่วิปริตแก่ผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง การชี้แจงประโยชน์อันสมควร นำผู้ยังไม่เข้าถึงศาสนาให้เข้าถึง ผู้เข้าถึงแล้วให้เจริญงอกงาม ด้วยทิฏฐธรรมิกประโยชน์ (คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน) สัมปรายิกและ ปรมัตถประโยชน์ (คือ ประโยชน์ในภพหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง)

ในการแสดงธรรมนั้น พึงทราบนัยโดยสังเขปดังนี้ก่อน คือ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษและความเศร้าหมองของกาม และอานิสงส์ในการออกจากกาม

ถึงแม้ทุกคนจะมีชีวิตประจำวันในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องโทษของกาม ในเรื่องอานิสงส์ของการออกจากกาม แต่ถ้าเผลอ ไม่ฟังพระธรรมเมื่อไหร่ ก็เป็นไปตามอำนาจของกิเลสเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าได้ฟังบ่อยๆ แม้ในเรื่องเก่าๆ แม้ในเรื่องชีวิตประจำวันจริงๆ ก็เป็นการเตือนให้ระลึกได้ในการที่จะสะสมกุศลยิ่งขึ้น

ส่วนโดยพิสดาร พึงทราบการประดิษฐาน และการทำให้ผ่องแผ้วในธรรมนั้นๆ ตามสมควร ด้วยสามารถการประกาศคุณของธรรมเหล่านั้น แก่ผู้มีจิตน้อมไปแล้ว ในสาวกโพธิญาณ คือ การเข้าถึงสรณะ การสำรวมศีล การคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความรู้จักประมาณในการบริโภค การประกอบความเพียรเนืองๆ

เท่านี้ท่านผู้ฟังก็ทราบแล้วว่า ท่านผู้ฟังอยู่ในระดับไหน เพราะว่า ส่วนโดยพิสดาร พึงทราบการประดิษฐาน และการทำให้ผ่องแผ้วในธรรมนั้นๆ ตามสมควร ด้วยสามารถการประกาศคุณของธรรมเหล่านั้น แก่ผู้มีจิตน้อมไปแล้วใน สาวกโพธิญาณ เพราะฉะนั้น ท่านที่สนใจเรื่องสติปัฏฐาน เรื่องที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เรื่องการอบรมเจริญกุศลเป็นบารมีในชีวิตประจำวัน คือ ผู้มีจิตน้อมไปแล้วในสาวกโพธิญาณ คือ การเข้าถึงสรณะ การสำรวมศีล การคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย การรู้จักประมาณในการบริโภค การประกอบความเพียรเนืองๆ

ทุกชีวิตก็จะต้องเป็นอย่างนี้ แต่สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การสั่งสมทานบารมีย่อมเป็นสังขารขันธ์ เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผลของการสะสมทานบารมีนั้นๆ คือ สำหรับพระผู้มีพระภาคเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์

อนึ่ง พระมหาบุรุษเมื่อให้อามิสทานแก่สัตว์ทั้งหลาย ย่อมให้ทานข้าวด้วยตั้งใจว่า เราพึงยังสมบัติมีอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณเป็นต้น และสมบัติคือ ผลเลิศน่ารื่นรมย์ให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยทานนี้

อนึ่ง ให้น้ำเพื่อระงับความกระหายคือกามกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย ให้ผ้า เพื่อให้ผิวพรรณงาม และเพื่อให้สำเร็จเครื่องประดับคือหิริโอตตัปปะ ให้ยานเพื่อให้สำเร็จอิทธิวิธีคือการแสดงฤทธิ์ได้ และนิพพานสุข

ให้ของหอมเพื่อให้สำเร็จความหอมคือศีล ให้ดอกไม้และเครื่องลูบไล้เพื่อให้สำเร็จความงามด้วยพุทธคุณ ให้อาสนะเพื่อให้สำเร็จอาสนะ ณ โพธิมณฑล ให้ที่นอน เพื่อให้สำเร็จตถาคตไสยา คือ นอนแบบพระตถาคต ให้ที่พักเพื่อให้สำเร็จความเป็นสรณะ ให้ประทีปเพื่อให้ได้ปัญญาจักษุ

ให้รูปเป็นทานเพื่อให้สำเร็จรัศมีออกจากกายวาหนึ่ง ให้เสียงเป็นทานเพื่อให้สำเร็จเสียงดุจเสียงพรหม ให้รสเป็นทานเพื่อเป็นที่รักของโลกทั้งปวง ให้โผฏฐัพพะ เป็นทานเพื่อความเป็นพุทธสุขุมาล คือ ความละเอียดอ่อนของพระพุทธเจ้า

ให้เภสัชเป็นทานเพื่อความไม่แก่ไม่ตาย ให้ความเป็นไทแก่ทาสทั้งหลายเพื่อปลดเปลื้องความเป็นทาสคือกิเลส ให้ความยินดีในของเล่นที่ไม่มีโทษเป็นทานเพื่อความยินดีในพระสัทธรรม

ให้บุตรเป็นทานเพื่อนำสัตว์ทั้งหมดออกไปจากความเป็นบุตรของตนในชาติ เป็นอริยะ ให้ภรรยาเป็นทานเพื่อถึงความเป็นใหญ่แห่งโลกทั้งสิ้น

ให้ทอง แก้วมณี แก้วมุกดา แก้วประพาฬ เป็นต้น เป็นทาน เพื่อความสมบูรณ์ด้วยลักษณะงาม ให้เครื่องประดับนานาชนิดเป็นทานเพื่อความสมบูรณ์แห่งอนุพยัญชนะ ให้คลังสมบัติเป็นทานเพื่อบรรลุพระสัทธรรม ให้ราชสมบัติเป็นทาน เพื่อความเป็นพระธรรมราชา ให้สวน สระ ป่า เป็นทาน เพื่อความสมบูรณ์แห่งฌานเป็นต้น

ให้เท้าเป็นทานเพื่อก้าวไปสู่รัศมีโพธิมณฑลด้วยเท้ามีรอยจักร ให้มือเป็นทาน เพื่อให้มือคือพระสัทธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเพื่อถอนออกจากโอฆะ ๔ ให้หูและจมูก เป็นทานเพื่อได้อินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้น ให้จักษุเป็นทานเพื่อได้สมันตจักษุคือจักษุโดยรอบ

ให้เนื้อและเลือดเป็นทานด้วยหวังว่า จะนำประโยชน์สุขมาให้แก่สรรพสัตว์ตลอดกาลทั้งปวง ในการเห็น การฟัง การระลึกถึง การบำเรอ เป็นต้น และ กายของเราพึงเป็นกายอันโลกทั้งปวงพึงเข้าไปอาศัย

ให้อวัยวะสูงที่สุดเป็นทานด้วยหวังว่า เราจะพึงเป็นผู้

สูงที่สุดในโลกทั้งปวง

ผล คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วยผลทั้งหมดที่ได้ให้ทานไปแล้ว

ถ. ให้รูปเป็นทาน แปลว่าอะไร

สุ. เช่น ถวายดอกไม้ ก็เป็นการให้รูปเหมือนกัน คือ สีสันต่างๆ ดอกไม้ ก็มีหลายชนิด เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่กุศลศรัทธาที่จะบูชา แม้ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ยินดีกับรูปทั้งหลาย แต่ผู้มีกุศลศรัทธาก็ไม่มีทางอื่น จึงน้อมอุทิศบูชาด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา คือ ในกาลที่ไม่มีอามิสบูชาก็มี ปฏิบัติบูชาได้ หรือเมื่อมีอามิสแล้วควรจะบูชาใคร ก็ควรบูชาผู้ที่ทรงคุณสูงที่สุด ผู้ที่มีคุณความดี

ถ. ขอให้อาจารย์อธิบายเรื่องการให้เสียงเป็นทานของพระโพธิสัตว์

สุ. ข้อความในอรรถกถามีว่า พึงทราบการให้เสียงเป็นทานด้วยเสียงกลองเป็นต้น ในการให้เสียงเป็นทานนั้นไม่สามารถให้เสียงได้ดุจถอนเหง้าและรากบัว และดุจวางกำดอกบัวเขียวลงบนมือ แต่ทำให้พร้อมกับวัตถุ แล้วให้ชื่อว่าให้เสียงเป็นทาน

นี่ก็อย่างหนึ่ง เช่น ให้กลองสำหรับประโยชน์แก่วัดวาอาราม นี่ก็ชื่อว่าให้เสียง เพราะกลองมีไว้สำหรับฟังเสียงที่จะรู้ว่า กี่โมง กี่ยาม เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ในกาลใดทำเอง และใช้ให้ทำเพลงบูชาพระรัตนตรัยด้วยดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่งมีกลองและตะโพนเป็นต้น ด้วยคิดว่าเราจักให้เสียงเป็นทาน ตั้งไว้เองและให้ผู้อื่นตั้งกลองเป็นต้น ด้วยตั้งใจว่าเสียงเป็นทานของเรา ให้ยาเสียง มีน้ำมันและน้ำผึ้งเป็นต้นแก่พระธรรมกถึกทั้งหลาย ประกาศฟังธรรม สวดสรภัญญะ กล่าวธรรมกถา ทำเองและให้ผู้อื่นทำอุปนิสินนกถา คือ คาถาของผู้เข้าไปนั่งใกล้ และแม้อนุโมทนากถา คือ คาถาอนุโมทนา ในกาลนั้นชื่อว่าให้เสียงเป็นทาน

เวลาที่อนุโมทนาดัง และให้คนอื่นอนุโมทนา หรือร่วมอนุโมทนาด้วย ขณะนั้นผู้นั้นชื่อว่าให้เสียงเป็นทาน ทำให้ผู้อื่นเกิดเสียงเช่นเดียวกัน อนุโมทนาร่วมกัน

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง พระมหาบุรุษเมื่อให้อย่างนี้ ไม่ให้เพื่อแสวงหาผิด ไม่ให้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ให้เพราะกลัว เพราะละอาย เพราะเคืองทักขิเนยยบุคคล เมื่อมีของประณีต ไม่ให้ของเศร้าหมอง ไม่ให้ด้วยการยกตน ด้วยการข่มผู้อื่น ด้วยหวังผล ด้วยเกลียดยาจก ด้วยไม่เคารพ ที่แท้ให้ด้วยความเคารพ ให้ด้วยมือของตน ให้ตามกาล ทำความเคารพแล้วให้ ให้ด้วยไม่แบ่งออก ให้ด้วยความยินดีใน ๓ กาล (คือ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากที่ให้แล้ว) ครั้นให้แล้วก็ไม่เดือดร้อนในภายหลัง ไม่ยกย่อง และดูหมิ่นปฏิคาหก เปล่งถ้อยคำน่ารัก รู้คำพูด ผู้เข้าไปขอให้พร้อมทั้งบริวาร เพราะเมื่อให้ข้าวเป็นทานย่อมให้พร้อมด้วยผ้าเป็นต้น ด้วยตั้งใจว่า เราจะทำสิ่งนั้นให้เป็นบริวารแล้วให้ อนึ่ง เมื่อให้ผ้าเป็นทานย่อมให้พร้อมกับข้าวเป็นต้น ด้วยตั้งใจว่า เราจักทำข้าวนั้นให้เป็นบริวารแล้วให้

นี่คือเรื่องการให้ที่ไม่จำกัด และให้อย่างอื่นเป็นบริวารด้วย

สำหรับชีวิตประจำวัน ท่านผู้ฟังก็พิจารณาสัจจธรรมที่เกิดกับท่านเอง ตามความเป็นจริงได้ว่า แม้จะได้ฟังอย่างนี้ๆ การให้ของท่านก็ยังเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่สามารถเป็นไปอย่างพระโพธิสัตว์ได้

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีข้อความที่แสดงถึง เมื่อพระโพธิสัตว์มีวัตถุที่จะให้ แต่จิตไม่คิดให้ ขณะนั้นพระโพธิสัตว์ท่านคิดอย่างไร

ข้อความมีว่า

ในกาลใด เมื่อไทยธรรมมีอยู่แก่พระมหาโพธิสัตว์ และเมื่อยาจกปรากฏ จิตที่จะให้ไม่แล่นไปไม่ก้าวไป ด้วยเหตุนั้นควรแน่ใจในข้อนั้นได้ว่า เมื่อก่อนเรามิได้สะสมในการให้เป็นแน่

จะเห็นได้ว่า บังคับไม่ได้เรื่องที่จะให้หรือไม่ให้ ถ้าสะสมเรื่องการให้บ่อยๆ เนืองๆ มากๆ จะเห็นได้ว่า คนนั้นเร็วและไว และให้โดยที่ไม่ลังเลเลย หรือไม่ต้อง คิดแล้วคิดอีก เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่การให้ไม่แล่นไปโดยเร็ว หรืออาจจะลังเล ควรแน่ใจในข้อนั้นได้ว่า เมื่อก่อนเรามิได้สะสมในการให้เป็นแน่

ข้อความต่อไป

ดังนั้นในบัดนี้ ความใคร่ที่จะให้ของเราจึงไม่ตั้งอยู่ในใจ พระมหาโพธิสัตว์นั้นบริจาค มีมือสะอาด ยินดีในการเสียสละ มีผู้ขอ ยินดีในการแจกทาน ย่อมให้ทานด้วยคิดว่า ต่อจากนี้ไปเราจักมีใจยินดีในทานเป็นอย่างยิ่ง เอาเถิดเราจะให้ทานตั้งแต่วันนี้ไป การผูกใจในข้อที่ ๑ เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไปด้วยประการฉะนี้

นี่คือการพิจารณาเรื่องของจิตขณะที่ไม่ให้

ต่อไปประการที่ ๒

อนึ่ง พระมหาสัตว์เมื่อไทยธรรมมีน้อยและบกพร่อง ย่อมสำเหนียกว่า เมื่อก่อนเพราะเราไม่ชอบให้ บัดนี้เราจึงขาดแคลนปัจจัยอย่างนี้ เพราะฉะนั้น บัดนี้แม้เราจะเบียดเบียนตนด้วยไทยธรรมตามที่ได้นิดหน่อยก็ตาม เลวก็ตาม จะต้อง ให้ทานจนได้ เราจักบรรลุทานบารมีแม้ต่อไปจนถึงที่สุด พระมหาสัตว์นั้น บริจาค มีฝ่ามือสะอาด ยินดีในการเสียสละ มีผู้ขอ ยินดีในการแจกจ่ายทาน ให้ทานตามมีตามได้ การผูกใจในทานข้อที่ ๒ เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไป ด้วยอาการอย่างนี้

เปิด  223
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566