แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1966

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๓


เวลาที่ไม่ให้ จะมีการคิดประการต่างๆ เช่น คิดว่า ไม่เคยสะสมในการให้ เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้จะสะสมการให้ นั่นก็ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเห็นว่า ที่ขาดแคลนหรือมีของน้อย เพราะไม่ได้ให้ เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไปแม้มีน้อยก็ต้อง ให้ด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง พระมหาสัตว์เมื่อจิตใคร่จะไม่ให้เกิดขึ้นเพราะเสียดายไทยธรรม ย่อมสำเหนียกว่า ดูกร สัตบุรุษ ท่านปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณอย่างสูงสุดประเสริฐกว่าสิ่งทั้งปวงมิใช่หรือ เพราะฉะนั้น ท่านควรให้ไทยธรรมที่พอใจอย่างยิ่ง เพื่อสัมมาสัมโพธิญาณนั้นเท่านั้น พระมหาสัตว์นั้น บริจาค มีมือสะอาด ยินดีในการเสียสละ มีผู้ขอ ยินดีในการแจกจ่ายทาน การผูกใจในทานข้อที่ ๓ ของพระมหาสัตว์เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไป ด้วยอาการอย่างนี้

ถ้าเกิดนึกเสียดาย ก็ระลึกว่า ปรารถนาอะไร ปรารถนาสิ่งนั้น หรือ ปรารถนาการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้มีการให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นการขจัดการไม่ให้ในขณะนั้นได้

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง พระมหาสัตว์เมื่อให้ทาน ย่อมเห็นความสิ้นเปลืองของไทยธรรมในกาลใด ย่อมสำเหนียกว่า สภาพของโภคะทั้งหลายเป็นอย่างนี้ คือ มีความสิ้นไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา อีกอย่างหนึ่ง เพราะเราไม่ทำทานเช่นนั้นมาก่อน โภคะทั้งหลายจึงปรากฏความสิ้นไปอย่างนี้ เอาเถิดเราจะพึงให้ทานด้วยไทยธรรมตามที่ได้ น้อยก็ตาม ไพบูลย์ก็ตาม เราจะบรรลุถึงที่สุดแห่งทานบารมีต่อไป พระมหาสัตว์นั้น บริจาค มีมือสะอาด ยินดีในการเสียสละ มีผู้ขอ ยินดีในการแจกจ่ายทาน ให้ทานด้วยของตามที่ได้ การผูกใจในทานข้อที่ ๔ ของพระมหาสัตว์เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไป ด้วยอาการอย่างนี้

บางท่านคิดว่า ให้ไปแล้วทรัพย์สมบัติก็จะหมด แต่ตามความเป็นจริง ทรัพย์สมบัติย่อมหมดไปเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เราจะให้หรือไม่ให้ก็ตาม แล้วแต่กาล ของสมบัตินั้น เมื่อถึงกาลที่จะหมดก็หมด บางคนเสียดายว่า รู้อย่างนี้ให้ทานเสียดีกว่า คือ มีสมบัติมาก แต่ไม่ได้แจกจ่ายให้ไปเพราะเกรงว่าจะหมด และเมื่อเกิด ภัยพิบัติ จะเป็นไฟไหม้ น้ำท่วม โจร พระราชา หรืออะไรก็ตามแต่ บุคคลนั้นก็เกิดความเสียดายว่า รู้อย่างนี้ให้เสียดีกว่า เพราะฉะนั้น การที่จะหมดไปไม่ใช่เป็นเพราะ การให้ แต่ต้องแล้วแต่กรรมที่จะทำให้เมื่อไหร่มีทรัพย์ หรือเสื่อมทรัพย์ ต้องเป็นไป ตามกรรมนั้นๆ

เรื่องบารมีเป็นเรื่องยาก แม้จะได้ยินได้ฟัง ก็แล้วแต่กำลังของแต่ละบุคคล ที่จะเจริญกุศลถึงระดับใด ขั้นใด เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ สะสมอบรมไปพร้อมกับปัญญา และบารมีอื่นๆ ทั้งหมดก็ต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ถ้ารู้ว่ากิเลสยังมากมาย และปัญญาที่จะตัดกิเลสนั้นก็ยาก เพราะว่ากิเลสมากเหลือเกิน

สำหรับผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล จะมีการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องค่อยๆ ขัดเกลากิเลสไปในแต่ละชาติจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน จึงสามารถมีการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง อบรมเจริญปัญญาพร้อมด้วยบารมีอื่นๆ ซึ่งจะขาดบารมีหนึ่งบารมีใดไม่ได้ เพราะว่าทุกบารมีเกื้อกูลกัน แม้แต่ในเรื่องของสัจจะ ในเรื่องของทาน ถ้าไม่มีสัจจะ ทานบารมีก็สำเร็จไปไม่ได้ และถ้าไม่มีสัจจะ การที่จะรักษาศีลให้สมบูรณ์ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น สัจจะจึงเป็น บารมีหนึ่งในบารมี ๑๐ ที่เกื้อกูลบารมีอื่นๆ เป็นแกนสำคัญที่ทำให้บารมีอื่นๆ เจริญขึ้น

ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อุรควรรค อรรถกถาอาฬวกสูตร มีข้อความอธิบายความหมายของสัจจะว่า

บทว่า สจฺจํ ความว่า ก็สัจจะศัพท์นี้ ย่อมปรากฏในอรรถหลายประการ คือ ย่อมปรากฏในวาจาสัจจะ … ปรากฏในวิรัติสัจจะ (คือ ความตั้งอยู่ในความจริง คือเว้นทุจริตกรรม) … ปรากฏในทิฏฐิสัจจะ (คือ ความจริงในความเห็นถูก) … พราหมณสัจจะ ปรมัตถสัจจะ อริยสัจจะ

แสดงให้เห็นว่า มีหลายความหมาย แล้วแต่ที่จะใช้

ข้อความต่อไปมีว่า

บุคคลย่อมทดแม้น้ำได้ด้วยสัจจวาจา บัณฑิตทั้งหลายย่อมกำจัดแม้พิษ ได้ด้วยสัจจะ เทพย่อมหลั่งน้ำนมด้วยสัจจะ บัณฑิตทั้งหลายดำรงอยู่ในสัจจะ ย่อมปรารถนาพระนิพพาน รสเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ในแผ่นดิน สัจจะเทียวดีกว่า รสเหล่านั้น สมณะและพราหมณ์ดำรงอยู่ในสัจจะ ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติมรณะได้ ดังนี้

สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเป็นของจริง ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ คือ กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล นั่นก็คือสัจจะด้วย สัจจะเป็นสิ่งซึ่งสำคัญ และจำเป็นในการดำเนินไปสู่พระนิพพาน อรรถกถา มุนิสูตร มีข้อความที่แสดงว่า บุคคลที่เป็นผู้ตรง มีสัจจะ เมื่อสะสมปัญญามาเห็นอะไรก็เป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดได้

ข้อความในอรรถกถามีว่า

ได้ยินว่า ธิดาเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ลงจากปราสาทไปสู่โรงทอผ้า ในปราสาทชั้นล่าง เห็นคนทั้งหลายสอดกระสวยอยู่ จึงเกิดความคิดที่เปรียบกับกระสวยว่า กระสวยเป็นธรรมชาติตรง โอหนอ สัตว์ทั้งปวงละความคดทางกาย และทางวาจา พึงเป็นผู้มีจิตตรงเหมือนกระสวย

นางแม้ขึ้นสู่ปราสาทแล้ว ก็นึกถึงเรื่องนั้นบ่อยๆ ไม่นานอนิจจลักษณะ ก็ปรากฏ และแม้ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะก็ปรากฏ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระคันธกุฎี ทรงเปล่งแสงสว่างให้ นางเห็น ดุจประทับอยู่ ณ ที่นั้น เมื่อนางยืนประคองอัญชลี พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนา เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธิดาเศรษฐีก็ดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล

น่าจะเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม ทุกคนปรารถนาเหลือเกิน แต่ต้องมีการสะสม ซึ่งเป็นบารมี เมื่อมีการสะสมที่เป็นบารมีพร้อม แม้เพียงเห็นคนทั้งหลายสอดกระสวยทอผ้า ก็ยังสามารถเกิดความคิดซึ่งต้องมีปัจจัยปรุงแต่งที่จะทำให้คิดอย่างนั้น เพราะว่าทำไมคนอื่นเห็นคนงานในโรงงานทอผ้าก็ไม่เคยคิดอย่างนี้ แต่ผู้ที่สะสมปัญญาและบารมีอื่นๆ มาแล้ว ก็เห็นว่า กระสวยเป็นธรรมชาติตรง สัตว์ทั้งปวง ละความคดทางกายและทางวาจา พึงเป็นผู้มีจิตตรงเหมือนกระสวย

แม้เห็นแล้วก็ยังนึกถึงบ่อยๆ ถึงการเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม เพราะได้สะสมบารมีพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงเปล่งแสงสว่างให้เห็นและทรงแสดงธรรม ซึ่งเมื่อจบพระธรรมเทศนา ธิดาเศรษฐีดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล ดูง่ายเหลือเกินสำหรับผู้ที่ได้อบรมบารมีมาแล้ว แต่ธิดาเศรษฐีคนนี้เป็นคนละคนกับธิดาช่างหูกที่เมืองอาฬวี ที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปโปรดและตรัสถามว่า มาจากไหน ซึ่งนางก็ตอบว่า ไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า เพราะนางไม่ทราบว่า นางมาปฏิสนธิในชาตินี้จากไหน

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า จะไปไหน นางก็ทูลว่า ไม่ทราบ เพราะนางก็ไม่ทราบว่า หลังจากโลกนี้แล้ว นางจะไปสู่นรกหรือจะไปสู่เทวโลก

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ไม่ทราบหรือ นางก็ทูลตอบว่า ทราบ พระพุทธเจ้าข้า เพราะว่าความตายเป็นของธรรมดา คนซึ่งเกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ทราบหรือ นางก็กราบทูลว่า ไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า เพราะไม่ทราบว่าจะตายวันไหน และเมื่อไร เมื่อจบเทศนา ทาริกาช่างหูกนั้นก็เป็นพระโสดาบัน แต่ถูกบิดาโกรธที่นาง กลับช้า จึงเอากระสวยพุ่งถูกนางตาย บิดาก็หลบหนีไปบวช ไม่นานก็ได้บรรลุ พระอรหันต์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ภิกษุนี้มิได้ฆ่าธิดา ธิดานั้นตายตามกรรมของตน

ถ้าได้เข้าใจเรื่องสภาพธรรมจริงๆ ก็จะรู้ว่า ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในแต่ละยุค แต่ละสมัย แม้ในขณะนี้ ก็ต้องมีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะทำให้สภาพธรรมคือแต่ละ ขณะจิตซึ่งดับไปแล้ว เกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ

สำหรับความคิด ต้องวิจิตรตามการสะสม ถ้ามีคนไปที่โรงงานทอผ้าและ เห็นคนสอดกระสวยในโรงทอผ้า ก็คงจะคิดกันไปต่างๆ นานา แต่ผู้ที่สะสมกุศลมา ที่จะตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม มีปัญญาที่ได้สะสมมาแล้ว ย่อมมีการคิดพิจารณาต่างกับคนอื่น ดังนั้น แม้เมื่อธิดาเศรษฐีขึ้นสู่ปราสาทแล้ว ก็นึกถึงเรื่องนั้นบ่อยๆ ไม่นานอนิจจลักษณะก็ปรากฏ แม้ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะทั้งหลาย ก็ปรากฏ

แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของการสะสมของความคิด และการปรุงแต่งของ การสะสมกุศลและปัญญาซึ่งละเอียดมาก ตั้งแต่ขั้นของการฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง ซึ่งพระธรรมที่ได้รับฟังบ่อยๆ จะสะสมปรุงแต่งเป็นการพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

ท่านผู้ฟังคงจะพิจารณาได้ว่า ขณะใดที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ความคิดของท่านจะเป็นไปในเรื่องของอกุศล และขณะที่กำลังคิดเป็นไปในเรื่องของอกุศลจะตรงต่อลักษณะสภาพธรรมไหม ขณะนี้กำลังเห็นทางตา และคิดเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องอาศัยการฟังพระธรรมมากๆ จึงจะทำให้ความคิดที่เคยคิดเรื่องอื่นมานาน ก็สามารถที่จะคิดพิจารณาเรื่องของธรรม ในขณะที่ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้นเอง ทำให้ปัญญาค่อยๆ พิจารณาเห็นความเป็นจริงของสภาพธรรมในแต่ละ พระพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ว่าจะขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน สิ่งต่างๆ กำลังได้กลิ่น กำลังแม้ลิ้มรส ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันปกติก็คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ และขอให้เริ่มพิจารณาความคิดว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว วันไหนที่จะทำให้ความคิดหลังจากที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตรงต่อลักษณะ ของสภาพธรรม

ขอกล่าวถึงข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมยสังยุต อรรถกถาปุตตมังสสูตรที่ ๓ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาว่า การพิจารณาตรงลักษณะของสภาพธรรมแม้ในเรื่องเดียว ก็สามารถ แทงตลอดไปจนกระทั่งถึงความตรงต่อลักษณะของสภาพทั้งหมดที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ เพราะว่าในขณะนี้ก็ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น เพียงธรรมเรื่องเดียวสามารถที่จะโยงสัมพันธ์ไปจนตลอดตั้งแต่อกุศล และเมื่อพิจารณาเป็นกุศล ก็จะปรุงแต่งปัญญาจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล จนถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัญญา และความคิด ที่เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ปัญญาเจริญขึ้น

ข้อความในอรรถกถามีว่า

ได้ยินว่า ลาภและสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค เหมือนสมัยทรงสร้างสมพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญตลอด ๔ อสงไขย จริงอยู่ บารมีทั้งหมดของ พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นประหนึ่งประมวลมาว่า เราจักให้วิบากในอัตภาพหนึ่ง จึงยังห้วงน้ำใหญ่คือลาภและสักการะให้บังเกิด เหมือนเมฆใหญ่ตั้งขึ้นแล้วยังห้วงน้ำใหญ่ให้บังเกิดฉะนั้น

ชนทั้งหลายมีกษัตริย์และพราหมณ์เป็นต้น ต่างถือข้าว น้ำ ยาน ผ้า ระเบียบดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นต้นมาจากที่นั้นๆ พากันคิดว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ที่ไหน พระผู้เป็นเทพแห่งเทพ ผู้องอาจกว่านระ ผู้เป็นบุรุษเยี่ยงราชสีห์อยู่ไหน ดังนี้แล้ว จึงเสาะหาพระผู้มีพระภาค

ทุกคนก็คงเคยเสาะหามาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ก็ยังคงเสาะหา ที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว

ข้อความต่อไปมีว่า

ลำดับนั้น พระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่สงัด ทรงพระดำริว่า ลาภและ สักการะใหญ่ได้เป็นของสมควรแม้แก่พระพุทธเจ้าในอดีต ทั้งจะสมควรแก่พระพุทธเจ้า ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะอันกำหนดเอาอาหาร เป็นอารมณ์ เป็นผู้วางตนเป็นกลาง ปราศจากฉันทราคะ ไม่มีความพอใจและ ความยินดี สามารถบริโภคหรือหนอ หรือจะไม่สามารถบริโภค

ลาภและสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคและแก่สงฆ์นี้ รวมแล้วประมาณไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงปริวิตก เวลาที่ภิกษุสงฆ์มีลาภสักการะมาก การที่จะบริโภคลาภสักการะ จะบริโภคด้วยสติสัมปชัญญะหรือว่าจะเป็นอกุศล ซึ่งแม้แต่ในเรื่องอาหารเรื่องเดียว ก็จะทำให้ปัญญาสามารถพิจารณาสัมพันธ์ไปถึง สภาพธรรมต่างๆ จนกระทั่งปัญญาเกิดตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง

พระองค์ได้ทรงเห็นกุลบุตรบางพวกผู้บวชใหม่ ผู้ไม่พิจารณาแล้วบริโภคอาหาร ครั้นพระองค์ทรงเห็นแล้ว ทรงพระดำริว่า เราบำเพ็ญบารมีสิ้นสี่อสงไขยแสนกัป จะได้บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปัจจัยจีวรเป็นต้นก็หาไม่ แต่ที่แท้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แก่พระอรหัตอันเป็นผลสูงสุด ภิกษุแม้เหล่านี้บวชในสำนักเรา มิได้บวชเพราะ เหตุแห่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น แต่บวชเพื่อประโยชน์แก่พระอรหัตนั่นเอง บัดนี้ ภิกษุเหล่านั้นกระทำสิ่งที่ไม่เป็นสาระนั่นว่าเป็นสาระ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั่นแลว่าเป็นประโยชน์ ธรรมสังเวชเกิดขึ้นแก่พระองค์ด้วยประการฉะนี้

ลำดับนั้น พระองค์ทรงพระดำริว่า ถ้าจักสามารถบัญญัติปัญจมปาราชิกขึ้น ได้ไซร้ เราก็จะพึงบัญญัติการบริโภคอาหารโดยไม่พิจารณาให้เป็นปัญจมปาราชิก แต่ไม่อาจทรงทำอย่างนี้ได้ เพราะว่าอาหารนั้นเป็นที่ส้องเสพประจำของสัตว์ทั้งหลาย แต่เมื่อเราตรัสไว้ ภิกษุเหล่านั้นก็จักเห็นข้อนั้นเหมือนปัญจมปาราชิก เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็จักตั้งการบริโภคอาหารที่ไม่พิจารณานั้นว่า เป็นกระจกธรรม เป็นข้อสังวร เป็นขอบเขต ซึ่งเหล่าภิกษุในอนาคตรำลึกแล้ว จักพิจารณาปัจจัย ๔ เสียก่อน แล้วบริโภค

นี่ก็เห็นความละเอียดของกิเลส ซึ่งคนธรรมดาคิดว่าเล็กน้อยเหลือเกิน คือ การติดในรสอาหาร ในการบริโภคปัจจัย แต่พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริละเอียดรู้ว่า สิ่งใดเป็นมูลเป็นรากของอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ถ้าจักสามารถบัญญัติ ปัญจมปาราชิกขึ้นได้ไซร้ ก็จะพึงบัญญัติการบริโภคอาหารโดยไม่พิจารณาให้เป็น ปัญจมปาราชิก

เปิด  209
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566