แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1968

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๓


อนึ่ง สองสามีภรรยานั้นมิได้ดูหมิ่นกันและกันว่า ส่วนของท่าน ส่วนของเรา บุตรของท่าน บุตรของเรา แต่มีความพร้อมเพรียงบันเทิงเคี้ยวกิน ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บิณฑบาตแล้ว ไม่พึงดูหมิ่นใครๆ อย่างที่ภิกษุบางพวกดูหมิ่นเพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีลว่า ใครจักให้แก่คนอย่างพวกท่าน พวกท่านเป็นผู้ไม่มีเหตุ เที่ยวลื่นล้มที่ธรณีประตู แม้มารดาผู้บังเกิดเกล้าของท่านก็ไม่สำคัญของที่จะให้ แต่พวกเราย่อมได้จีวรเป็นต้นที่ประณีตในที่ที่ไปแล้วๆ อย่างที่พระองค์หมายตรัสไว้ว่า ภิกษุนั้นดูหมิ่นภิกษุเหล่าอื่นผู้มีศีลเป็นที่รักโดยลาภสักการะและสรรเสริญนั้น ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นย่อมมีแก่โมฆะบุรุษนั้น เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอด กาลนาน ดังนี้ พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงบันเทิงบริโภคกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งปวง

จะเห็นได้ว่า แม้แต่เพียงเรื่องสั้นๆ เท่านั้น แต่การคิดการพิจารณายาวตลอดไปได้ ในทางที่เป็นกุศลก็คิด ตรึกได้มาก เปรียบเทียบเป็นเรื่องๆ ไป แต่สำหรับบางท่านซึ่งเป็นอกุศล ก็ผ่านไป ไม่เห็นประโยชน์เลย ในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ซึ่งจะเห็นได้ว่า สำหรับผู้ที่สะสมปัญญา ความคิดไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การบริโภคอาหารเท่านั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า ปริญฺญาเต ได้แก่ การกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้

ที่ใช้คำว่า กำหนด บางท่านก็รู้สึกว่าเข้าใจยาก กำหนดรู้ จะให้ทำอย่างไร แต่ถ้าพิจารณาด้วยสติสัมปชัญญะ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างถี่ถ้วน โดยละเอียดรอบ นั่นคือความหมายของการรู้สภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมก็กำลังปรากฏ บางท่านสติสัมปชัญญะก็เกิดและเพียงระลึก แต่การที่จะให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ว่าไม่มีความเข้าใจธรรมใดๆ เลย และเมื่อสติระลึกก็คอยจดจ้องที่จะให้ประจักษ์การเกิดดับ หรือให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นเบื้องต้น

เพราะฉะนั้น การแสดงหนทางที่จะไปสู่การเจริญมรรคมีองค์ ๘ ต้องเริ่มจากความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ามีใครบอกหนทางปฏิบัติโดยที่ ไม่ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญได้ แต่ถ้าใครก็ตามแม้ไม่พูดเรื่องการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ช่วยให้คนอื่นเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรง คือ ลักษณะของรูปธรรมเป็นรูปธรรมอย่างไร ลักษณะของนามธรรมเป็นนามธรรมอย่างไร เมื่อมีความเข้าใจขึ้นๆ นั่นคือหนทาง ที่จะนำไปสู่การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งต้องเริ่มจากความเข้าใจที่ถูกต้อง

และจะเห็นได้ว่า แม้ในเรื่องของธรรมในชีวิตประจำวัน คือ การบริโภคอาหาร เมื่อพิจารณาด้วยดี เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่ใช่ว่า จะทำ แต่อาศัยความเข้าใจจริงๆ จากการที่ได้ฟังเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นปัจจัยทำให้สติเกิดระลึก เพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องตามความเป็นจริง

ฟังเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฟังเรื่องจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตคิดนึก ฟังเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรมบ่อยๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็หมายความว่า ยังไม่มีปัจจัย ที่จะให้สติปัฏฐานระลึกว่า ในขณะที่เห็นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องการเห็นที่ได้ฟัง แต่ขณะที่เห็นจริงๆ ในขณะนี้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เสียงกระทบหูทำให้เกิดจิตได้ยินฉันใด ความเข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอย่างละเอียด อย่างถี่ถ้วน อย่างหนักแน่น อย่างมั่นคงไม่หลงลืม ก็เป็นปัจจัยทำให้สติปัฏฐานระลึกในขณะที่กำลังเห็น กำลัง ได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก แต่ถ้า ไม่มีเสียงกระทบหู จิตได้ยินเกิดไม่ได้ฉันใด ถ้าไม่มีความเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และจะให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

ข้อความต่อไปใน อรรถกถาปุตตมังสสูตร มีว่า

บทว่า ปริญฺญาเต ได้แก่ การกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา

ในขณะที่บริโภคอาหาร ปริญญาทั้ง ๓ สามารถเกิดได้

กำหนดอย่างไร (พิจารณารู้อย่างไร) คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดว่า ชื่อว่ากวฬิงการาหารนี้เป็นรูป มีโอชาเป็นที่ ๘ (โอชัฏฐมกรูป)

โอชัฏฐมกรูปกระทบในที่ไหน กระทบที่ชิวหาปสาท ชิวหาปสาทอาศัยอะไร อาศัยมหาภูตรูป ๔ รูปมีโอชาเป็นที่ ๘ ชิวหาปสาท มหาภูตรูป อันเป็นปัจจัยแห่งชิวหาปสาทนั้น ธรรมเหล่านี้ ดังว่ามานี้ ชื่อว่ารูปขันธ์

ไม่พ้นจากปกติชีวิตประจำวันเลย แต่ปัญญาสามารถพิจารณา เมื่อเข้าใจแล้วก็ระลึกได้ และแทงตลอดในลักษณะของรูป แม้อาหาร หรือชิวหาปสาท หรือ มหาภูตรูป

เมื่อภิกษุกำหนดรูปขันธ์ ธรรมอันมีผัสสะเป็นที่ ๕ ที่เกิดขึ้น ชื่อว่าอรูปขันธ์ ๔

ธรรมอันมีผัสสะเป็นที่ ๕ ซึ่งเป็นอรูปขันธ์ ๔ คือ ผัสสะ ๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ เจตนา ๑ วิญญาณ ๑

จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมได้ไหม ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในขณะที่รสกำลังปรากฏและรู้ว่ารสเป็นรูป เพราะฉะนั้น สภาพรู้ในขณะนั้นซึ่งได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติสามารถรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมใด เพราะว่าความรู้สึกในขณะที่กำลังรับประทานอาหารก็มี ความจำในอาหารที่กำลังรับประทานก็มี หรือเจตนา ความตั้งใจ จงใจในขณะที่รับประทานอาหารก็มี เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็แล้วแต่ว่าปัญญาสามารถพิจารณารู้พร้อมสติในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

ธรรมแม้ทั้งหมดเหล่านี้ ชื่อว่าขันธ์ ๕ โดยสังเขปย่อมเป็นเพียงนามรูป ภิกษุนั้นครั้นกำหนดธรรมเหล่านั้น โดยลักษณะพร้อมด้วยกิจ แล้วแสวงหาปัจจัยของธรรมเหล่านั้น ย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาทอันเป็นอนุโลม ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ เป็นอันภิกษุนั้นกำหนดรู้กวฬิงการาหารด้วยญาตปริญญา เพราะเห็นนามรูปพร้อมด้วยปัจจัยโดยมุขคือกวฬิงการาหารตามความเป็นจริง

เธอยกนามรูปพร้อมด้วยปัจจัยนั้นนั่นแลขึ้นสู่ลักษณะ ๓ ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วพิจารณาเห็นด้วยอนุปัสนา ๗ ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ เป็นอันเธอกำหนดรู้กวฬิงการาหารนั้น กล่าวคือญาณเป็นเครื่องแทงตลอดและพิจารณาเห็น ไตรลักษณ์ด้วยตีรณปริญญา ก็กวฬิงการาหารนั้น เป็นอันเธอกำหนดรู้ด้วย ปหานปริญญา เพราะกำหนดรู้ด้วยอนาคามิมรรคอันคร่าเสียซึ่งฉันทราคะ ในนามรูปนั้นเอง

เมื่อไหร่จะถึงวันนั้น ก็ต้องค่อยๆ ฟังพระธรรม และอบรมไปเรื่อยๆ ที่จะให้ สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยต้องเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขั้นการฟังละเอียดขึ้น เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้เมื่อสติเกิดปัญญาสามารถ รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงได้

ถ. ที่กล่าวว่า โดยมีกวฬิงการาหารเป็นมุข ช่วยอธิบายคำว่า มุข

สุ. มุข หมายความว่าเป็นเบื้องต้น ปัญญาเกิดแต่การบริโภคอาหาร ปัญญาเป็นลำดับตั้งแต่ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา

ถ. คือ โดยสติเกิดในขณะบริโภคอาหาร ก็สามารถแทงตลอดทั้งนาม และรูปได้

สุ. จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ละความยินดีพอใจในกามคุณ ๕ ได้

ถ. ปฏิจจสมุปบาทมีธรรม ๑๒ ประการ แต่ทำไมรับประทานคำข้าวแล้วเจริญสติปัญญาจนกระทั่งเรื่อยไปตามลำดับที่ว่ามาทั้งหมดนี้ได้ ไม่เข้าใจเลย

สุ. ถ้าอาหารไม่กระทบลิ้น การรู้รสจะมีได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. เพราะฉะนั้น ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ขณะที่กำลังบริโภคต้องมีความรู้สึกในขณะนั้น ในขณะที่บริโภครสอร่อยเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ความยินดี ในอาหารนั้น เรื่อยไปเป็นข้อๆ สามารถที่จะเข้าใจได้ในขณะนั้น เพราะว่า ปฏิจจสมุปบาทก็ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่ในขณะที่ผัสสะกำลังกระทบอารมณ์ เวทนาก็มี ความยินดีพอใจในอาหารก็มี ตลอดไปจนกระทั่งถึงการยึดมั่น จนกระทั่งถึงกรรม จนกระทั่งถึงการเกิด

ถ. ตรงนี้ผมติด จากอุปาทาน และตอนเกิดภพ เกิดชาติ ไม่เข้าใจว่า จะไปได้อย่างไร

สุ. ผู้ที่มีปัญญาย่อมรู้ว่า ถ้ายังมีความยินดีพอใจยึดมั่นอยู่ ภพชาติ ไม่สิ้นสุด ก็จะต้องมีการกระทบ มีการแสวงหา มีความยินดี มีความพอใจเรื่อยไป ไม่จำเป็นต้องเรียง เอาตำรามากางว่า ปฏิจจสมุปบาทมีองค์อะไรบ้าง แต่ในขณะที่กำลังเกิดความยินดีพอใจ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดบุคคลนั้นย่อมรู้ว่า ไม่สิ้นภพชาติ เพราะยังมีความยินดีพอใจอยู่

ถ. ที่ท่านบอกว่า พึงบริโภคตามลำดับเหมือนราชสีห์ เป็นอย่างไร

สุ. อาหารที่บริโภคมีหลายอย่าง บางอย่างก็อร่อยถูกปาก บางอย่างก็ อร่อยถูกปากน้อย หรือบางอย่างอาจจะไม่ถูกปากเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่บริโภคด้วยสติสัมปชัญญะ จะเลือกบริโภคเฉพาะที่ถูกปากอย่างเดียว หรือแล้วแต่อาหารที่อยู่เฉพาะหน้าก็บริโภคได้ ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจในอาหารนั้น

ถ. ไม่เข้าใจว่า ราชสีห์บริโภคอย่างไร

สุ. คือ ไม่เลือก บริโภคอาหารที่อยู่ตรงหน้า

ผู้ฟัง การบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างที่ดอกเตอร์ชินวุฒิถามถึงการบริโภคอย่างราชสีห์ อาจารย์ได้อธิบายก็เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า เป็นการบริโภคเฉพาะหน้า ถ้าทำแค่นั้นก็เรียกว่าดีมากแล้ว เวลานี้ถ้าพวกเราไปภัตตาคารเขาเอาอาหารมา ๓ – ๔ อย่าง ดีๆ ทั้งนั้นก็ยังต้องเลือก และน้ำจิ้มก็ยังต้องเลือกว่าอย่างไหนจึงจะอร่อย กิเลสนี่ละเอียดยิบเลย สติที่จะระลึกในขณะที่บริโภคอาหารจึงเกิดยาก ตัวอย่างที่พระสูตรนี้ยกมาผมว่าดีมาก ถ้าเราระลึกได้บ่อยๆ ว่า การบริโภคอาหารเปรียบเสมือนการบริโภคเนื้อบุตรในทางกันดาร คงจะช่วยได้ แต่กลับไปเย็นนี้ไม่รู้จะนึกได้หรือเปล่า อาหารบนโต๊ะมีไม่กี่อย่าง อันไหนใกล้ก็เอาก่อน รับประทานเฉพาะหน้าได้ก็เรียกว่าดีแล้ว ไม่ต้องเอื้อม สำหรับตัวผมเองเวลาบริโภคอาหาร ตอนนี้ก็พยายาม แต่ยังไม่ได้พิจารณาเท่าที่อาจารย์ได้พูดมา พิจารณาแต่ว่าแม้ไม่อร่อย โทสะก็ไม่เกิด เพื่ออยู่ เพื่อให้คืนนี้ผ่านพ้นไปจะได้ไม่หิว เพื่อบำบัดทุกข์เวทนาเก่า ได้แค่นั้นเอง เพราะว่าสำหรับตัวเองเรื่องอาหารเป็นเรื่องใหญ่ วิ่งไปหาจนทั่ว

สุ. ถ้าจิตเป็นกุศลรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะเห็นว่า โลภะในขณะบริโภคอาหารมีมากแค่ไหน ถ้าไม่เห็นก็ยังคงเลี้ยงยากและเลือกมาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล รู้ว่าโลภะมากอยู่แล้ว ก็ยังมากอีกในขณะกำลังบริโภคอาหารแต่ละชนิด แต่ละวัน แต่ละมื้อ ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ขัดเกลา มีความอดทนในอาหารที่กำลังบริโภคได้

นี่เป็นประโยชน์ที่จะทำให้เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะรู้สภาพธรรมตรงตาม ความเป็นจริงในขณะนั้น เพราะว่าโลภะมีมาก ถ้าไม่เห็นตามความเป็นจริงก็ไม่ละ ผู้ที่จะละโลภะได้ ต้องเห็นโลภะตามความเป็นจริง ซึ่งโลภะไม่ใช่สภาพธรรมที่ดี เป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นและรู้ตัวว่ามีมาก ก็ควรที่สติสัมปชัญญะจะเกิดเห็นโทษในขณะนั้น และค่อยๆ ละคลาย

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า ปญฺจกามคุณิโก เป็นอันเธอกำหนดรู้การเกิดแห่งกามคุณ ๕ แต่ในที่นี้ ปริญญา ๓ (อีกนัยหนึ่ง) ได้แก่ เอกปริญญา สัพพปริญญา มูลปริญญา

ถามว่า เอกปริญญาเป็นไฉน.

แก้ว่า ภิกษุใดพิจารณารู้ตัณหามีรสเป็นอันเดียวในชิวหาทวาร ภิกษุนั้นชื่อว่าพิจารณาราคะอันเป็นไปในกามคุณ ๕

เพราะเหตุไร เพราะตัณหานั้นแลเกิดขึ้นในที่นั้น จริงอยู่ ตัณหานั้นแลเกิดขึ้นในจักขุทวารชื่อว่าเป็นรูปราคะ ในโสตทวารเป็นต้นก็เกิดสัททราคะเป็นต้น ดังนั้น ราคะอันเป็นไปในกามคุณ ๕ เป็นอันภิกษุนั้นพิจารณารู้แล้วด้วยการพิจารณารู้ รสตัณหาในชิวหาทวาร เหมือนเมื่อราชบุรุษจับโจรคนหนึ่งผู้ฆ่าคนในทาง ๕ สายได้ ในทางสายหนึ่งแล้วตัดศีรษะเสีย หนทางทั้ง ๕ สายย่อมเป็นทางปลอดภัยฉะนั้น นี้ชื่อว่าเอกปริญญา

คือ เพียงพิจารณารู้ลักษณะของความยินดีพอใจในรส รู้จริงๆ ในลักษณะที่ เป็นความยินดีพอใจ จะทำให้สามารถรู้ตลอดไปจนถึงความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ความยินดีพอใจในเสียงที่เกิดทางหู ความยินดีพอใจในกลิ่นที่กระทบจมูก ความยินดีพอใจในโผฏฐัพพะที่กระทบกาย เพราะลักษณะของความยินดีเป็น ความยินดีเหมือนกัน เป็นความติดข้อง เป็นความเพลิดเพลิน เป็นความพอใจ ไม่ว่าจะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ นี่คือเอกปริญญา คือ รู้อย่างเดียว ก็สามารถรู้ลักษณะอย่างเดียวนั้นตลอดในทุกทวาร

ถามว่า สัพพปริญญาเป็นไฉน

แก้ว่า ความจริง เมื่อบิณฑบาตที่เขาใส่ลงในบาตร อย่างเดียวเท่านั้น ย่อมได้ความยินดีอันประกอบด้วยกามคุณ ๕ อย่างไร

คือ อันดับแรก เมื่อภิกษุนั้นแลดูสีอันบริสุทธิ์ ความยินดีในรูปย่อมมี เมื่อราดเนยใสอันร้อนลงในที่นั้นเสียงย่อมดัง ปฏะปฏะ เมื่อเคี้ยวของที่ควรเคี้ยวเห็นปานนั้น เสียงว่า มุรุ มุรุ ย่อมดังขึ้น เมื่อได้ยินเสียงนั้น ความยินดีในเสียงย่อมเกิดขึ้น เมื่อยินดีกลิ่นเครื่องปรุงมียี่หร่าเป็นต้น ความยินดีในกลิ่นย่อมเกิดขึ้น ความยินดีในรสด้วยอำนาจรสที่ดีย่อมเกิดขึ้น เมื่อยินดีว่าโภชนะอ่อนละมุนน่าสัมผัส ความยินดีในโผฏฐัพพะย่อมเกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อภิกษุกำหนดอาหารด้วยสติและสัมปชัญญะ แล้วบริโภค ด้วยการบริโภคที่ปราศจากราคะ การบริโภคทั้งหมดเป็นอันชื่อว่า อันภิกษุกำหนดรู้แล้ว การกำหนดรู้ดังว่ามานี้ ชื่อว่าสัพพปริญญา

เปิด  260
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565