แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1969

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๓


เพียงในขณะที่บริโภค ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย สามารถที่จะมีสัพพปริญญา คือ รู้ทั่วตลอดไปจนกระทั่งถึงความพอใจในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือในเสียง

ส่วนมากอาหารที่อร่อยก็จะมีหน้าตาดี สีสวย และบางท่านก็มีกรรมวิธีพิเศษ ในการปรุง อาจจะมีเหล้าราดลงไปในขนมที่ปรุงพิเศษทำให้เกิดเสียงดัง ซึ่งในขณะที่เกิดเสียงดังก็พอใจว่าอาหารนั้นต้องเป็นอาหารที่อร่อย เพราะกรรมวิธีในการทำเป็นกรรมวิธีที่พิเศษ และเวลาได้กลิ่นของอาหาร ความยินดีในกลิ่นก็เกิดขึ้น

เรื่องของรสเป็นเรื่องธรรมดา ขณะที่บริโภคและบอกว่า อร่อย อร่อยมาก ขณะนั้นก็เป็นความยินดีในรส หรืออาหารบางชนิดมีโผฏฐัพพะที่อ่อนละมุน เช่น ขนมบางอย่างก็นิ่ม ขณะนั้นจะรู้ว่า เป็นโผฏฐัพพะที่มีสัมผัสอันสบาย ทำให้พอใจ อย่างบางท่านก็ต้องบอกว่า ข้าวต้องหุงให้พอดีๆ แสดงให้เห็นถึงความยินดีพอใจในโผฏฐัพพะ แต่ เมื่อภิกษุกำหนดอาหารด้วยสติและสัมปชัญญะแล้วบริโภค ด้วยการบริโภคที่ปราศจากราคะ การบริโภคทั้งหมดเป็นอันชื่อว่า อันภิกษุกำหนดรู้แล้ว การกำหนดรู้ดังว่ามานี้ ชื่อว่าสัพพปริญญา

จะไม่ทั่วได้อย่างไร ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดระลึกได้ตลอดจริงๆ สำหรับผู้ที่อบรมมาแล้ว แต่ผู้ที่เริ่ม ทางตาก็ยาก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ต้องค่อยๆ สะสมไป แต่ ทุกท่านจะเห็นความชำนาญของการสะสม ไม่ว่าจะเป็นการสะสมเรื่องอะไรทั้งสิ้น เมื่อสะสมมากเข้าๆ ความชำนาญจะทำให้เป็นเรื่องที่ไม่ลำบากในการที่กุศลจิต หรือสติสัมปชัญญะจะเกิด

ข้อความต่อไปมีว่า

มูลปริญญาเป็นไฉน

จริงอยู่ กวฬิงการาหารเป็นมูลแห่งความยินดีอันเป็นไปในกามคุณ ๕

เพราะเหตุไร เพราะเมื่อกวฬิงการาหารยังมีอยู่ ความยินดีในอาหารนั้นอันเป็นไป ในกามคุณ ๕ ก็เกิดขึ้น

ทางตาไม่มีเสียงปรากฏ ก็ชอบในสีสันต่างๆ ทางหูก็ไม่มีรูปมาปรากฏ ก็พอใจในเสียงต่างๆ แต่อาหารพร้อมหมดในขณะที่บริโภค ไม่ใช่มีแต่ ชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรส ทางตาก็เห็นอาหาร ทางหูก็ได้ยิน ทางจมูกก็ได้กลิ่น ทางกายก็กระทบสัมผัส ด้วยเหตุนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังมีความยินดีติดข้องพอใจ ในอาหาร ตราบนั้นก็ยังเป็นผู้ที่ยินดีพอใจในกามคุณ ๕ ดังนั้น กวฬิงการาหารจึงเป็นมูลแห่งความยินดีอันเป็นไปในกามคุณ ๕ และเมื่อรู้อย่างนี้ คือ มูลปริญญา

ดังนั้น เมื่อกำหนดรู้อาหารที่เป็นมูลได้แล้ว ก็เป็นอันชื่อว่าภิกษุกำหนดรู้ราคะ ความยินดีอันเป็นไปในกามคุณ ๕ ด้วย ดังว่ามานี้ ชื่อว่ามูลปริญญา

บทว่า นตฺถิ ตํ สํโยชนํ ความว่า สังโยชน์นั้นไม่มี เพราะอริยสาวกละธรรมอันมีที่ตั้งเดียวกับธรรมที่ควรละพร้อมทั้งราคะนั้นได้

เทศนานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้จนถึงอนาคามิมรรคด้วยประการฉะนี้ แต่ควรเจริญวิปัสสนาในขันธ์ ๕ ด้วยสามารถแห่งรูปเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล แล้วตรัสจนถึงพระอรหัต ด้วยทรงดำริว่า ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุทั้งหลายอย่าได้ถึงความสิ้นสุดเลย

คือ อย่าเป็นทาสของอาหาร ซึ่งเป็นมูลของความติดพอใจในกามคุณ ๕

ผู้ฟัง สมมติว่าอาหารมื้อนี้เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ผมว่าอาหารมื้อนี้ คุ้มค่ามาก สามารถเจริญได้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร อาจจะว่าลิ้นเป็นมูลก็ได้ หลังจากนั้นก็ เป็นกลิ่น อาจจะมีสี สมัยนี้ก็ยังมีเสียงอีกด้วย คือ มีเสียงเพลงคลุกเคล้าเข้ามา มื้อใดก็ตามถ้านำสูตรนี้เข้าไปเปรียบเทียบได้ ผมว่ามื้อนั้นเป็นอาหารที่คุ้มค่ามาก น่าจะเป็นอนุสสติในการเจริญสติปัฏฐานได้

มีพยัญชนะอยู่คำหนึ่ง คือ กำหนด ในหลายๆ แห่ง ซึ่งผู้ฟังธรรมใหม่ๆ หรือฟังมานานแล้วก็ยังสงสัยว่า กำหนดคืออะไร ซึ่งอาจารย์ก็ได้อธิบายไปแล้ว ผมขอย้ำอีกทีว่า กำหนดก็คือการพิจารณานั่นเอง

สุ. พิจารณาโดยรอบ เพราะถ้าไม่รอบก็ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างทางตา พิจารณาโดยรอบในรูปารมณ์ที่ปรากฏ หรือในสภาพของจิตที่กำลังเห็น คือ พิจารณาจนกระทั่งสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า ลักษณะนี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นของจริงอย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อไรที่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อนั้นแสดงว่า เข้าใจลักษณะของ รูปารมณ์ตามความเป็นจริง

ถ. ที่กำลังพูดกันอยู่นี้ คล้ายๆ กับในวิทยุที่มีอยู่ตอนนี้ คือ พูดถึงเรื่อง สติปัฏฐานเป็นทางเอก ทางเดียว ก็มีการถามตอบกัน บางท่านก็บอกว่า ไม่ได้หรอก ทางเดียว ต้องมีทางอื่นมาประกอบด้วยจึงจะได้ แต่ฟังอาจารย์วันนี้ แม้แต่รับประทานอาหารเป็นคำข้าว ก็สามารถรู้แจ้งเห็นจริงได้ทั้งนั้น จึงมีความเห็นว่า ทุกเรื่องสามารถจับขึ้นมาและสามารถเจริญปัญญาได้จนถึงมูลปริญญา จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

สุ. นี่คือการพิจารณาสภาพธรรมด้วยปัญญาที่ตรง คือ กุศลธรรมเป็น กุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม และกุศลธรรมก็มีหลายขั้น นี่คือการตรงต่อ สภาพธรรมยิ่งขึ้นจากการฟังพระธรรมและพิจารณา แม้แต่เรื่องการบริโภคก็จะเห็น ได้ว่า ถ้าสติปัญญาเจริญอบรมแล้ว สามารถถึงความเป็นพระอรหันต์เวลาที่สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะสภาพธรรมในขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในขณะที่บริโภคอาหาร แต่ขณะนี้ หรือขณะไหนก็ตาม สำคัญที่ปัญญาว่าสมบูรณ์ถึงกาลที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมหรือยัง ถ้ายังก็มีทางเดียว คือ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะโดยการฟัง โดยการพิจารณา โดยสติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ สภาพธรรมมีปรากฏอยู่ตลอด ไม่เคยพ้นไปเลย ไม่ว่าจะชาติไหน ภพไหน ก็มีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ แต่อวิชชาไม่สามารถรู้ได้ และถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมไว้โดยครบถ้วน ก็ไม่มีใครสามารถพิจารณาโดยนัยต่างๆ โดยรอบจนปัญญาสามารถค่อยๆ เจริญขึ้น

ถ. ฟังมาถึงตรงนี้แล้ว ก็หวนไปนึกถึงสมัยพุทธกาลที่มีพระภิกษุบางรูป บำเพ็ญเพียรเท่าไรก็ไม่สำเร็จ พระผู้มีพระภาคทรงรู้อัธยาศัยจึงนิมิตดอกไม้ ให้พิจารณา จนสามารถเจริญปัญญาบรรลุอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น คงเป็น อะไรก็ได้ที่ก่อให้เกิดปัญญาสามารถพิจารณาทะลุปรุโปร่งได้

สุ. เป็นเครื่องเตือนให้บุคคลนั้นได้เกิดความเข้าใจตามที่เคยสะสมมา ถ้าเคยสะสมมาที่จะมีชีวิตอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น ถ้ามีโอกาสได้ฟังคำที่ทำให้ระลึกถึงการที่เคยสะสม เคยเข้าใจมา ก็ทำให้เกิดปัญญาในขณะนั้นได้

การตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมเป็นการตรงต่อปรมัตถสัจจะ เพราะว่าสภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน ความรู้สึกสุขทุกข์ต่างๆ ล้วนเป็นปรมัตถธรรม แม้ขณะที่กำลังบริโภคอาหารก็เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรม ถ้าปัญญาสะสมมาพอก็สามารถพิจารณาไตร่ตรองลักษณะของปรมัตถสัจจะทำให้เข้าใจในเหตุผลของธรรมทั้งหลายได้ถูกต้อง เพราะว่าธรรมทั้งหลายย่อมเป็นปัจจัยอาศัยกันและกันเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าสติสามารถระลึกตรงต่อลักษณะของปรมัตถสัจจะ จะทำให้เข้าใจในเหตุในผลของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ เช่น ขณะที่เกิดความยินดีพอใจติดข้อง ในขณะที่บริโภคอาหารซึ่งในภาษาบาลีใช้คำว่ากวฬิงการาหาร ขณะนั้นเป็นความยินดีพอใจที่พร้อมหมด คือ ประกอบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ ถ้าพิจารณาตรงต่อปรมัตถสัจจะ จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นถ้าขาดสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ความยินดีพอใจในอาหารก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย ซึ่งสภาพธรรมนั้นก็คือผัสสเจตสิก เป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ผัสสเจตสิกจึงเป็นผัสสาหาร เป็นอาหารปัจจัย เพราะนำมาซึ่งธรรมทั้งหลาย

นี่เป็นความสำคัญของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ผัสสเจตสิก

ข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปุตตมังสสูตร มีว่า

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่ เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างนั้น คือ๑. กวฬิงการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ๒. ผัสสาหาร ๓. มโนสัญเจตนาหาร ๔. วิญญาณาหาร

ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้แล เพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์โลก ที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด

พระธรรมที่ทรงแสดงจะเตือนแม้ขณะที่กำลังบริโภคอาหาร หรือแม้ขณะอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า ความสำคัญของธรรมแต่ละอย่างๆ เช่น ผัสสะ ย่อมทำให้พิจารณาตลอดไปจนถึงการที่จะต้องดำรงอยู่ในสังสารวัฏฏ์ต่อไป

ทุกคนยังไม่จากโลกนี้ไป เพราะว่ายังมีอาหารเพื่ออนุเคราะห์ หรือเพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว ต้องรับประทานอาหารตลอด แต่ในขณะที่รับประทานอาหาร จะมีความยินดีพอใจในอาหาร และมีธรรมอื่นๆ ซึ่งเกิดสืบเนื่องจากความยินดีพอใจในอาหารแต่ละครั้งที่บริโภค ทำให้ไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์

ขอกล่าวถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องผัสสาหารต่อ ซึ่งมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ผัสสาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

ขณะนี้ทุกคนก็มีผัสสเจตสิก กำลังเกิดอยู่ทุกขณะจิต ถ้าไม่ฟังพระธรรมบ่อยๆ ก็ไม่มีการระลึกถึงผัสสเจตสิกเลย แต่ขณะที่ฟังพระธรรมจะทำให้พิจารณาตาม และเริ่มเห็นว่า ผัสสาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างว่า แม่โคนมที่ไม่มีหนังหุ้ม ถ้ายืนพิงฝาอยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์อาศัยฝาเจาะกิน

ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า ที่ใช้คำว่า แม่โค ไม่ใช่พ่อโค ก็เพราะว่ามาตุคาม คือ เพศหญิง ไม่สามารถจะอดกลั้นทุกขเวทนาได้ ซึ่งพิจารณาดูก็เป็น ความจริง บุรุษย่อมมีความองอาจ มีความเข้มแข็ง มีความสามารถกล้าหาญใน การรบ แสดงให้เห็นว่า มีความอดทนต่อทุกขเวทนา เพราะฉะนั้น เมื่อจะแสดงผัสสาหาร ก็แสดงลักษณะของแม่โคนมที่ไม่มีหนังหุ้ม ถ้ายืนพิงฝาอยู่ก็จะถูกพวก สัตว์อาศัยฝาเจาะกิน ซึ่งก็ได้แก่พวกแมงมุม จิ้งจก ตุ๊กแก เป็นต้น

ถ้ายืนพิงต้นไม้อยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ชนิดอาศัยต้นไม้ไชกิน (ได้แก่ พวกตัวบุ้งเป็นต้น) หากลงไปยืนแช่น้ำอยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดและกัดกิน (เช่น ปลาและจระเข้เป็นต้น) ถ้ายืนอยู่ในที่ว่าง ก็จะถูกมวลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะกัดและจิกกิน (ได้แก่ เหลือบ ยุง กา แร้ง เป็นต้น) เป็นอันว่าแม่โคนม ตัวนั้นที่ไร้หนังหุ้ม จะไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็ถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ กัดกินอยู่ร่ำไป ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่าพึงเห็นผัสสาหารฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำ ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมปัญญามา สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์ทันทีได้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี แต่สำหรับ ผู้ที่ฟังแล้วและยังจะต้องอบรมเจริญปัญญาอีกมาก ก็ต้องอาศัยข้อความที่ พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาให้เห็นลักษณะของผัสสาหาร ซึ่งข้อความในอรรถกถา มีต่อไปว่า

… ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นภัยคือการเคี้ยวกินของปาณกสัตว์ คือกิเลสอันมีผัสสาหารเป็นมูล ย่อมไม่มีความต้องการด้วยผัสสะอันเป็นไปในภูมิ ๓

… เมื่อกำหนดรู้ผัสสาหารด้วยปริญญา ๓ อย่างนี้แล้ว เวทนา ๓ ย่อมเป็นอันกำหนดรู้แล้วเหมือนกัน เพราะมีผัสสาหารนั้นเป็นมูล และเพราะสัมปยุตต์ด้วยผัสสาหารนั้น ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันตรัสเทศนาจนถึงพระอรหัตด้วยอำนาจผัสสาหาร

ถ. ผมยังไม่เข้าใจผัสสาหาร จากแม่โคตัวนั้นไปพิงกำแพง โดนสัตว์ที่อาศัยที่นั่นแทะ หมายความถึงผัสสาหารอย่างไร

สุ. ถ้าผัสสะไม่เกิด เวทนาก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ทรงอุปมาว่าเหมือนแม่โคที่ไม่มีหนังหุ้ม เพื่อจะได้เห็นว่า ย่อมกระทบกับอารมณ์และ ทำให้เกิดเวทนา เพราะถ้ามีหนังหุ้ม ความรู้สึกของแม่โคก็อาจจะไม่ชัดเหมือนกับ ไม่มีหนังหุ้ม จะปราศจากเวทนาไม่ได้เลย ไม่ว่าจะยืนพิงฝา ยืนพิงต้นไม้ หรือลงไป แช่ในน้ำ หรือยืนอยู่ในที่ว่าง ก็ปราศจากเวทนาไม่ได้ เหมือนกับทุกคนในขณะนี้ ซึ่งผัสสะกระทบอารมณ์และทำให้เกิดเวทนาอยู่ทุกขณะ แต่เพราะไม่รู้ปรมัตถสัจจะ ไม่รู้ความจริงของปรมัตถธรรมก็เลยไม่รู้ว่า เวทนาในขณะนี้เกิดเพราะอะไร และต้องเกิดอยู่ทุกขณะด้วย ถ้าสติปัฏฐานเกิดพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมก็สามารถเข้าใจตลอดไปในเหตุผลของธรรมนั้นๆ

ถ. ผัสสะเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก แต่เราไม่เคยระลึกเลย จึงทรงอุปมาให้เราระลึกถึงผัสสะโดยอุปมาเรื่องแม่โคไม่มีหนัง

สุ. ธรรมที่มีในอภิธรรมทั้งหมด เช่น โสภณสาธารณเจตสิกที่กำลังกล่าวถึง รวมทั้งข้อความอื่นๆ ด้วย ก็คือชีวิตประจำวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทั้งพระสูตรและ พระอภิธรรมต้องตรงกันและเกื้อกูลกันด้วย

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565