แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1971

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๓


ผู้ฟัง ลมหายใจเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มีลมหายใจแสดงว่ามีจิต แต่บางครั้งมีจิตไม่มีลมหายใจก็ได้ เช่น ผู้ที่เจริญอานาปานสติจนถึงจตุตถฌาน ดับลมหายใจได้ มีจิตแต่ไม่มีลมหายใจ และผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติ ไม่มีทั้งลมหายใจ ไม่มีทั้งจิต แต่ยังมีชีวิต

สุ. ก็เป็นไปตามเหตุ คือ แล้วแต่ว่าในขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด แต่ ต้องไม่ปนกับลมข้างนอก จุดสำคัญ คือ ไม่ปนกับลมข้างนอก

ผู้ฟัง ผมขอแสดงความคิดเห็นว่า ลมหายใจเป็นอาการของจิต ก็เหมือน รูปต่างๆ อาการยกมือก็เกิดจากจิต การหายใจก็เป็นอาการหนึ่งที่จิตทำให้เกิดขึ้น เหมือนอาการเคลื่อนไหวต่างๆ แต่เราจะหายใจเอาอากาศอะไรเข้าไปนั้นก็สุดแล้วแต่บรรยากาศรอบๆ ที่จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ถ้าอากาศมีพิษ หายใจเข้าไปก็ตาย ถ้าอากาศบริสุทธิ์ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ถึงแม้ดำลงไปในน้ำ จิตเราก็ยังไม่ขาด อาการหายใจนั้นมีแต่เราไม่หายใจ เมื่อพ้นจากน้ำขึ้นมาเราก็หายใจเข้าไป ก็มีชีวิตอยู่ได้ต่อไป เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ใต้น้ำอยู่ได้ไม่นาน จึงต้องมีเครื่องช่วยหายใจ

สุ. ถ้าพิจารณาโดยละเอียด ชีวิตของทุกคนมีรูปกับนาม และรูปก็ ละเอียดมาก รูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุก็มี รูปที่ เกิดจากอาหารก็มี ซึ่งส่วนใหญ่เราจะพิจารณารูปที่เรามองเห็น หรือการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็รู้ว่าเพราะมีจิต แต่ในขณะที่กำลังเคลื่อนไหวจริงๆ สามารถรู้รูปซึ่งเกิดจากจิตจริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงแต่นึกและเข้าใจว่า ที่เดิน ที่นั่ง ที่เคลื่อนไหวไป เพราะมีจิตจึงได้มีกิริยาอาการอย่างนั้นได้ แต่สามารถรู้รูปแท้ๆ ที่เกิดเพราะจิตไหม ถ้าสามารถรู้รูปแท้ๆ ที่เกิดเพราะจิต จะไม่สงสัยเรื่องลมหายใจซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะว่ารูปอื่นที่เกิดเพราะจิตที่ร่างกายนี้ก็มี ลมหายใจก็เป็นรูป ๘ รูป เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน และมีความสัมพันธ์กับ รูปอื่นภายนอกเช่นเดียวกับรูปอื่นๆ ที่เกิดจากจิต เกิดจากกรรม เกิดจากอุตุ เกิดจากอาหารเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความสัมพันธ์กันเลย เมื่อลมหายใจเป็นส่วนที่เกิดจากจิต ก็ต้องอาศัยอุตุภายนอกด้วย ไม่ใช่ว่า ไม่ต้องอาศัยอุตุภายนอก ทุกอย่างเลย รูปที่ร่างกายทั้งหมด ก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา เป็นรูปที่แยกกันไม่ได้ และธาตุไฟที่มีอยู่ก็เป็นอุตุที่ทำให้เกิด รูปภายใน ซึ่งอุตุภายในของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน ธาตุไฟที่ต่างกันตั้งแต่เกิด คือปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้วิบากจิตประเภทนั้นเกิดพร้อมกับรูป ซึ่งในขณะแรกที่เกิดไม่มีใครมองเห็นรูป ๓ กลุ่มเล็กๆ ถ้าเกิดในครรภ์ ไม่มีใคร สามารถเห็นรูปร่างว่า จะเป็นรูปคน จะเป็นรูปสัตว์ จะเป็นรูปนก จะเป็นรูปช้าง จะเป็นรูปอะไรก็ไม่เห็นเลย ซึ่งกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะกรรมคือกัมมชรูปนั้น มีอุตุคือธาตุไฟรวมอยู่ด้วย และธาตุไฟในรูปนั้นเองทำให้เกิดรูป เพราะธาตุไฟนั้น เป็นอุตุ จึงมีอุตุชรูป คือ รูปที่เกิดเพราะอุตุ ซึ่งทำให้รูปร่างกายของแต่ละบุคคลเมื่อเจริญเติบโตแล้วต่างกัน มีผิวพรรณที่ต่างกัน มีรูปร่างที่ต่างกัน เป็นสัตว์แต่ละชนิด หรือแม้เป็นคนก็มีการปรุงแต่งเพราะกรรมที่ทำให้กัมมชรูปเกิดและอุตุที่เกิด เพราะกรรมด้วย เนื่องจากกัมมชรูปต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และธาตุไฟนั้นเป็นอุตุ ที่ทำให้รูปอื่นเกิดขึ้นตามกรรม แสดงให้เห็นถึงความละเอียดจริงๆ

สำหรับรูปที่เกิดจากจิตก็ควรจะรู้ว่ามีรูปอะไรบ้าง ในขณะที่ยังไม่เคลื่อนไหวเลย ก็ต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา เป็นรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ซึ่งลมหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปที่เกิดเพราะจิต เพราะว่าอยู่ที่กาย ลมหายใจไม่ได้ออกไปนอกกายเลย แม้ไม่ได้อยู่ข้างในกายจริงๆ แต่รูปนั้นก็เกิดที่กาย และมีส่วนสัมพันธ์กับรูปอื่นๆ ภายนอก เช่น อากาศ หรืออุตุ ความเย็นความร้อนภายนอก ก็เหมือนกัน และเมื่อได้ส่วนที่เหมาะที่ควรก็เป็นปัจจัยทำให้รูปนั้นสะดวกสบาย นี่เป็นเหตุที่ว่า ถ้าอยู่ในที่อากาศไม่เหมาะ ไม่ดี ไม่ควร ร่างกายก็ไม่สมบูรณ์ ไม่แข็งแรง หรือการหายใจก็ไม่สะดวกเป็นต้น

ต้องแยกลมหายใจออกจากรูปอื่น เพราะลมหายใจจริงๆ ต้องเป็นส่วนของรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน และไม่ได้ลึกอย่างที่เราทำอาการสูดเข้าลึกๆ หรืออะไร แต่เป็นเพียงส่วนเฉพาะของรูปที่เกิดจากจิตเท่านั้นจริงๆ ส่วนอาการที่เราจะอาศัยรูปภายนอกโดยการหายใจลึก หรือสั้น หรือยาวต่างๆ นั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ส่วนของลมหายใจที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะพูดถึงรูปอะไรก็ตาม ให้ทราบว่า ทรงแสดงไว้โดยละเอียดอย่างนั้น และเราเพียงฟังและเข้าใจว่า ขณะที่กำลังพูดมีการเคลื่อนไหว ซึ่งจิตทำให้ธาตุลมเกิดขึ้นและไหวไปกระทบธาตุดินทำให้มีเสียงออกมา แต่เรารู้ในลักษณะของธาตุลม หรือรู้ในลักษณะของจิตตชรูปจริงๆ หรือเปล่า หรือรู้ในลักษณะของกัมมชรูปอุตุชรูปในร่างกายของเราจริงๆ หรือเปล่า

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ว่า ลมหายใจเป็นรูปที่เกิดเพราะจิต เพราะฉะนั้น การที่จะรู้เฉพาะรูปลมหายใจซึ่งเกิดจากจิตเท่านั้น ก็ต้องต่างหากไปจากการที่เราจะหายใจเข้าออกลึกๆ หรือสั้นๆ

ผู้ฟัง เมื่อสักครู่พูดถึงลมหายใจว่าเป็นลมที่เกิดจากจิต ก็คิดถึงเรื่องการเจริญ อานาปานสติ ขณะเจริญอานาปานสติ จริงๆ ไม่ได้รู้ธาตุลม เพราะว่าก็เคยพิจารณา ไม่มีลมปรากฏเลย แต่ในพยัญชนะบาลีก็ดี หรือในอรรถกถาก็ดี แสดงว่า ให้พิจารณาลมที่เกิดจากจิต แต่ที่พิจารณารู้สึกว่าจะเป็นธาตุดินหรืออย่างอื่นไป ความร้อนบ้าง ความเย็นบ้าง แต่ธาตุลมไม่ปรากฏ จึงเห็นว่า การเจริญอานาปานสติไม่ใช่ของง่าย เป็นของละเอียดมาก

สุ. ทำไมจึงเข้าใจว่า อานาปานสติเป็นสิ่งที่ง่าย เพราะความจริงแล้ว ไม่ง่ายเลย

ผู้ฟัง ที่คิดว่าง่าย เพราะอ่านเพียงพยัญชนะในพระไตรปิฎกว่า พิจารณา ลมหายใจเข้าบ้าง ออกบ้าง คิดว่าพิจารณาแค่นี้เป็นการเจริญที่ถูกต้อง จนกระทั่ง ได้ยินได้ฟังธรรมละเอียดขึ้นก็รู้ว่า การศึกษาแบบนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของปัญญา ที่เข้าใจว่าง่าย เพราะว่านั่งเพ่งลมหายใจรู้สึกง่ายดี มีลมหายใจเข้า หายใจออก เป็นอารมณ์

สุ. ถ้าเป็นอานาปานสติจริงๆ ไม่ง่าย แต่ที่ว่าง่ายดีนั้น ต้องไม่ใช่ อานาปานสติ เพียงแต่ใช้ชื่อว่าอานาปานสติ แต่ไม่ใช่การเจริญอานาปานสติ เพราะว่าอานาปานสติไม่ง่าย

ผู้ฟัง ยอมรับ เพราะว่าจริงๆ แล้วลมหายใจยังไม่เคยปรากฏ และไม่เคยพิจารณาได้เลยว่าธาตุลมอยู่ที่ไหน มีแต่ความตึงความไหวของร่างกายที่ปรากฏชัดๆ เช่น ขณะที่เดินบ้าง นั่งบ้าง เป็นต้น เท่านั้น ส่วนความละเอียดที่โพรงจมูกไม่เคยปรากฏจริงๆ

สุ. ประการสำคัญที่สุด ทุกท่านที่ใคร่จะเจริญสมถวิปัสสนา ควรจะพิจารณาให้เข้าใจความหมายและสภาพของจิตในขณะที่เจริญสมถวิปัสสนาจริงๆ ว่า ต้องเป็นปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส และต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ พร้อมด้วยสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมด้วยปัญญาที่รู้ตรงตามลักษณะของ สภาพธรรม ด้วยจิตที่เป็นกุศล

ก่อนอื่นต้องรู้ว่า จิตที่เป็นกุศลต่างกับจิตที่เป็นอกุศลอย่างไร ซึ่งไม่ใช่โดยตำรา แต่ต้องโดยสติสัมปชัญญะ เช่น ในขณะนี้ที่นั่งฟังพระธรรม พิจารณาจิตหรือเปล่า ถ้าไม่ได้พิจารณาจิตจะรู้ไหมว่า จิตที่เป็นกุศลมีลักษณะอย่างไร ต่างกับขณะที่จิตเป็นอกุศลอย่างไร แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ฟัง ไม่ใช่ขณะที่กำลังเจริญสมถภาวนาหรือ สติปัฏฐาน เพียงเป็นขั้นการฟังเรื่องของธรรม ซึ่งในขณะนั้นเป็นกุศล และในขณะนั้นถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องในปรมัตถสัจจะ ขณะนั้นก็เป็นปัญญา ไม่ใช่เรา แต่ที่จะให้รู้จริงๆ ว่า ปัญญาไม่ใช่เรา หรือขณะนั้นเป็นกุศลไม่ใช่อกุศล จะต้องประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ

ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา ที่จะไม่รู้ว่าสติสัมปชัญญะคืออย่างไร เป็นไปไม่ได้เลย และถ้าใครไม่สามารถบอกได้ว่า สติสัมปชัญญะคืออย่างไร ผู้นั้นก็จะไปทำสมาธิและใช้คำว่า เจริญสมถะหรือเจริญสติปัฏฐาน แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ ไม่พิจารณาจริงๆ ไม่เป็นปัญญาจริงๆ แล้ว เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า อานาปานสติง่าย ไม่ถูกต้อง

เรื่องของอานาปานสติ ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม หรือใครที่คิดว่า ยังทำอานาปานสติ แต่ความจริงขอเรียนให้ทราบว่า ถ้าไม่เป็นปัญญาที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว ไม่ใช่อานาปานสติแน่นอน

ถ. ปัญญากับสัมปชัญญะ สัมปชัญญะนี่ไม่ใช่ปัญญาหรือ

สุ. เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงธรรมโดยละเอียด คนที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นมีสติ ในขณะที่ให้ทานต้องเป็นสติที่ระลึกเป็นไปในการให้ แต่ขณะนั้น รู้ลักษณะของจิตหรือเปล่า หรือขณะที่กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้เป็นกุศลจิต โดยการศึกษาทราบว่า การฟังพระธรรมเป็นกุศลจิต ไม่ใช่ไปเที่ยว แต่สติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะของกุศลจิตหรือเปล่า นี่คือความหมายของสติสัมปชัญญะ

ถ. หมายถึงมีสติและปัญญาในขั้นหนึ่งด้วย

สุ. แน่นอน ไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง เพราะขั้นการฟัง สติมี แต่สัมปชัญญะจะรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนี้ไหม

ถ. กุศลที่เป็นสติสัมปชัญญะ คือ มีปัญญาประกอบร่วมด้วย

สุ. ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจ เพราะว่าเราเรียนเรื่องจิต จิตเห็น จิตได้ยิน ขณะนี้มีจิตเห็น มีจิตได้ยิน มีสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจ แต่ขึ้นอยู่กับสติสัมปชัญญะว่า มีสติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้การเห็นการได้ยิน ในขณะนี้ตามความเป็นจริงหรือเปล่า หรือว่าพูดเรื่องเห็น พูดเรื่องได้ยิน และ กำลังเห็น กำลังได้ยิน แต่ก็ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า เห็นเป็นนามธรรมอย่างที่ได้ฟัง เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงปัญญาที่ต่างขั้นกัน

ไม่ทราบว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ ก็ยังทำต่อไปหรือเปล่า เพราะ บางท่านบอกว่า ท่านติดแล้ว และบางคนก็อ้างว่า ยังดีกว่าอกุศลประเภทอื่น แต่ ไม่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิว่าทำให้ติด เพราะเป็นการ ทำขึ้น ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของโลภะตามธรรมดาซึ่งเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย

ทุกคนมีโลภะตามธรรมดา อย่างขณะที่บริโภคอาหารที่อร่อยถูกปาก มีความพอใจ ขณะนั้นไม่ต้องไปสร้างหรือไปทำขึ้นเลย แต่เป็นสภาพธรรมที่แสดงให้เห็น การสะสมตามความเป็นจริงตามเหตุตามปัจจัยว่า สภาพธรรมนี้เกิดโดยไม่ได้บังคับ หรือไม่ได้ต้องการ แต่ในขณะที่ต้องการทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น ให้เห็นลักษณะของความติดความพอใจว่ามากเพียงใด แม้ยังไม่มี ยังไม่เกิด ก็ทำให้เกิดมี เกิดเป็น เพื่อที่จะติด หรือเพื่อที่จะพอใจอีก แต่สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือกุศล ปัญญาสามารถรู้ตามความ เป็นจริงและละคลาย เพราะรู้ความเป็นปัจจัยว่า สภาพธรรมนั้นๆ เกิดตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่ต้องไปทำอะไรขึ้น

เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาเพิ่มขึ้นๆ จากการรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะไม่ทำอะไรเลยที่ผิดปกติ หรือที่จะต้องทำขึ้น เพราะระลึกได้ทันทีว่า มีสภาพธรรมที่กำลังเกิดและปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ซึ่งไม่ต้องทำอะไรเลย

พระ ก็คือปัญญาที่เจริญเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งไม่ต้องทำอะไรเลย อาตมาเองดูเหมือนจะเข้าใจ หลายปีแล้ว ยอมรับว่าก่อนที่อาตมาบวช นานมากได้ทำลมหายใจ ไม่ใช้คำว่า อานาปานสติ แต่ทำลมหายใจมานาน จนกระทั่งเป็นความเคยชิน เมื่อไรที่อยู่ในอิริยาบถนั่งหลับตา ก็จะเพ่งอยู่ที่ลมหายใจ ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่รู้ว่าเป็นโลภะ และปัญญาก็ไม่ได้รู้เลยว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แม้กระทั่งลมจริงๆ ก็ไม่รู้ เริ่มได้ยินได้ฟังสิ่งที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเชื่อมั่นว่า จะเลิกทำได้มากขึ้นๆ ทุกที ไม่คิดว่า อันนี้ก็ถูก อันนั้นก็ถูก อันนี้ก็ทำไปด้วย แต่พยายามถามอยู่เรื่อย บางครั้ง ก็ไม่กล้าถาม บางครั้งก็กล้าถาม ยอมรับว่าไม่เป็นเรื่องของปัญญา เรื่องของ ความสงบยังไม่เห็นว่าจะสงบสักเท่าไร แต่ความสงบเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเจริญเมตตาเป็นต้น มีการช่วยเหลือ หรือสาราณียธรรมในหมู่ภิกษุ หรือการให้ธรรมเป็นทาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถอบรมได้ รู้สึกว่าเป็นกุศลที่แท้จริง เท่าที่พิจารณาดู ก็ขออนุโมทนา

สุ. เจ้าค่ะ แสดงว่าขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นสติสัมปชัญญะสามารถรู้ลักษณะของความสงบของจิตที่เป็นกุศล เพราะว่าขณะนั้นเป็นกุศล แต่ขณะที่เพียร ไปจ้องอยู่ที่ลมหายใจซึ่งไม่ใช่กุศล ความสงบก็ไม่มีปรากฏให้รู้ว่าเป็นความสงบ เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต

สำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาคือสติปัฏฐาน ให้ทราบว่า การอบรมเจริญ สติปัฏฐานก็เพื่อปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงเพราะฉะนั้น เป็นเรื่องละ ไม่ใช่เป็นเรื่องต้องการอะไรเลย เวลาที่สติระลึก ก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึก ไม่ใช่ที่เราเลือก แต่ถ้าเป็นลมหายใจ มีความรู้สึกว่า จะต้องทำลมหายใจ และจะรู้ที่ลมหายใจ ซึ่งไม่มีโอกาสที่ปัญญาจะรู้ทั่ว ทางตา ที่กำลังเห็นเป็นปกติ ไม่เคยระลึก ทางหูที่กำลังได้ยินเป็นปกติ ไม่ระลึก โลภะเกิดขึ้น มีความยินดีพอใจตามปกติ ไม่ระลึก แต่มีความต้องการที่จะให้รู้ลมหายใจและจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม

ถ. ผมติดใจคำว่า ติด ไปกำหนดลมหายใจแล้วก็ติด ติดสุขพอที่จะเข้าใจได้ว่า ไม่เป็นกุศล แต่ผมติดฟังเทปอาจารย์จะเป็นอย่างไร ติดเหมือนกัน

สุ. ฟังแล้วได้ประโยชน์ หรือไม่ได้ประโยชน์

ถ. ข้อนี้แล้วแต่เครื่องรับของผม หมายความถึงตัวผมเอง ถ้าตั้งใจฟัง อย่างฟังในห้องนี้ ได้ประโยชน์มาก ฟังวิทยุบางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่ามีสติ ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจหรือเปล่า ก็ขอตอบว่า ถ้าตั้งใจฟังเป็นอย่างดี มีประโยชน์มาก

สุ. โดยเฉพาะฟังเพื่อรู้สิ่งที่ไม่รู้แล้วละ นี่เป็นจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด ไม่ได้เพื่ออะไรทั้งหมดนอกจากเพื่อละความไม่รู้ ถ้าไม่ฟังก็ยังคงมีความไม่รู้อยู่ แต่เมื่อฟังแล้วก็ละความไม่รู้ซึ่งเกิดจากการไม่ฟัง และยังไม่พอ ยังจะต้องรู้ขึ้นเพื่อที่จะละมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังพระธรรมจริงๆ เพื่อละคลายอกุศลของตนเอง ด้วยความรู้ซึ่งเจริญขึ้น นั่นคือประโยชน์ของการฟัง ไม่ใช่การติด

เปิด  237
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565