แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1980

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๔


อนึ่ง เวทนานั้นยังเป็นไปอยู่ตราบใด ก็พูดได้ว่า สัตว์ยังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น เมื่อใดเวทนานั้นไม่เป็นไป เมื่อนั้นเรียกว่า สัตว์ตาย คือ ดับ

จะเห็นได้ว่า เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง จึงกล่าวได้ว่า ตราบใดที่เวทนายังเป็นไปอยู่ สัตว์นั้นก็ชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น เมื่อใดเวทนานั้นไม่เป็นไป เมื่อนั้นเรียกว่า สัตว์ตาย คือ ดับ ไม่มีความรู้สึกอีกต่อไป นั่นคือสิ้นชีวิต แต่ถ้ายังมีเวทนาความรู้สึกอยู่ ก็ยังไม่สิ้นชีวิต

ความข้อนี้ พึงแสดง (เปรียบเทียบ) ด้วยสระน้ำ เหมือนอย่างบุรุษก่อสร้างสระให้สมบูรณ์ด้วยทางน้ำ ๕ สาย เมื่อฝนตกลงมาครั้งแรก น้ำพึงไหลไปตามทางน้ำ ทั้ง ๕ สายจนเต็มบ่อภายในสระ ครั้นฝนตกอยู่บ่อยๆ น้ำพึงขังเต็มทางน้ำ ไหลลงสู่ทางประมาณคาวุตหนึ่งบ้าง กึ่งโยชน์บ้าง น้ำที่หลากมาแต่ที่นั้นๆ ครั้นเขาเปิดท่อสำหรับไขน้ำทำการงานในนา น้ำก็ไหลออกไป ในเวลาที่ข้าวกล้าแก่ น้ำก็ไหลออก น้ำแห้งถึงการที่ควรกล่าวว่า เราจะจับปลา จากนั้นอีก ๒ - ๓ วัน น้ำก็ขังอยู่ในบ่อนั่นเอง

น้ำนี้ก็คือเวทนา

และถ้าในบ่อยังมีน้ำขังอยู่ตราบใด ก็ย่อมจะนับได้ว่า ในสระใหญ่มีน้ำอยู่ตราบนั้น แต่ถ้าน้ำในบ่อนั้นแห้งเมื่อใด เมื่อนั้นก็พูดได้ว่า ในสระไม่มีน้ำ ฉันใด พึงทราบข้อเปรียบเทียบ ฉันนั้น

เวลาที่เวทนาอันเป็นไปทางมโนทวาร ตั้งอยู่ใน (หทย) วัตถุรูปในขณะปฏิสนธิครั้งแรกนั่นเอง เหมือนเวลาเมื่อฝนตกอยู่ครั้งแรก น้ำไหลเข้าไปตามทาง ๕ สาย บ่อก็เต็ม เมื่อเวทนาทาง ๕ ทวารเป็นไปแล้ว ก็เหมือนเวลาเมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ ทาง ๕ สายก็เต็ม

ภาวะที่เวทนาอันเป็นไปทางทวารทั้ง ๕ นั้นมีกำลังมากยิ่ง ด้วยอำนาจความรักเป็นต้นในเวลาที่คนมีอายุ ๒๐ ปี ในปฐมวัย เหมือนน้ำที่ท่วมท้นทางตั้งคาวุตหนึ่ง หรือกึ่งโยชน์ น้ำยังไม่ไหลออกจากสระตราบใด เวลาที่เวทนานั้นตั้งอยู่ในเวลาที่คน มีอายุ ๕๐ ปี เหมือนเวลาที่น้ำยังขังอยู่ในสระเก่าตราบนั้น ความเสื่อมแห่งเวทนานั้น จำเดิมแต่เวลาที่คนมีอายุ ๖๐ ปี เหมือนเวลาที่เขาเปิดท่อสำหรับไขน้ำทำการงานอยู่ น้ำก็ไหลออก เวลาที่เวทนาอันเป็นไปทางทวาร ๕ อ่อนลง ในเวลาที่คนมีอายุ ๘๐ - ๙๐ ปี เหมือนเวลาเมื่อฝนตกแล้ว น้ำทรงอยู่โดยรอบในทางน้ำ

... เมื่อในสระมีน้ำอยู่แม้เพียงนิดหน่อย ก็ควรกล่าวว่า ในสระมีน้ำอยู่ ตราบใด เมื่อเวทนาอันเป็นไปทางมโนทวารยังเป็นไปอยู่ ก็ย่อมกล่าวได้ว่า สัตว์ยังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น

อนึ่ง เมื่อน้ำในบ่อแห้งขาดไป ย่อมกล่าวได้ว่า ไม่มีน้ำในสระ ฉันใด เมื่อเวทนาอันเป็นไปทางมโนทวารไม่เป็นไปอยู่ (คือ ไม่เกิด) สัตว์ก็เรียกว่า ตายแล้วฉันนั้น

ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เวทนาที่เกิดนั้นเป็นปัจจัยแก่ตัณหา และตัณหาก็เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน อุปาทานก็เป็นปัจจัยแก่ภพ คือ มโนสัญเจตนาหาร เพราะฉะนั้น ถ้ากำหนดรู้มโนสัญเจตนาหาร ย่อมจะต้องเห็นตัณหา ๓ ด้วย

การบรรยายเรื่องแนวทางการเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า มีพระธรรมใน ๓ ปิฎกเป็นส่วนประกอบ เพราะว่าสติเป็นอนัตตา ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มีปัจจัยทำให้สติระลึกรู้บ่อยๆ และถึงแม้ว่าจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องจิตบ้าง เจตสิกบ้าง รูปบ้าง สติปัฏฐานก็ยังไม่ค่อยจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงต้องอาศัยการฟังข้อความในพระไตรปิฎกส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นการให้สติระลึก พิจารณา รู้ลักษณะสภาพของจิตเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจการงานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

แม้ว่าพระสูตรจะแสดงข้อความต่างๆ โดยนัยต่างๆ ผู้ที่ได้ศึกษา พระอภิธรรมแล้วก็เข้าใจได้ว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องของอาหาร ๔ เช่น เรื่องของ กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร หรือข้อความอื่นใด ในพระไตรปิฎกทั้งหมด ก็เพื่อเป็นการเตือนให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เช่น เวทนา ความรู้สึก ถ้ากล่าวถึงความรู้สึกในขณะนี้ อาจจะเตือนให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของเวทนาในขณะนี้ได้ สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องของเวทนา คือ ความรู้สึก แต่แม้จะกล่าวถึงเวทนาซึ่งในขณะนี้ก็มี สติก็ยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาอีก จึงต้องฟังเรื่องของเวทนาตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ และ ตามข้อความในอรรถกถาที่ได้กล่าวถึงเวทนาโดยนัยต่างๆ

เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นการเตือนอีกแล้วให้ระลึก รู้ว่า ในขณะนี้ไม่ได้ปราศจากเวทนาเลย และเมื่อเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ก็ควรจะได้พิจารณาความเป็นไปของเวทนา ให้เห็นความเป็นอนัตตาของเวทนาตั้งแต่เกิดจนตายด้วย

ถ้าแยกจิตเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ก็ได้แก่ จิตที่เป็นวิถีจิต อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต และสำหรับเวทนานั้นอาจจะแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภทเหมือนกัน คือ เวทนาที่เป็นไปทางปัญจทวาร รวมเป็น ๑ และเวทนาที่ไม่ใช่ทางปัญจทวาร ๑

นี่เป็นการทบทวนความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูปนั่นเอง และให้ทราบว่า สามารถกล่าวถึงธรรมต่างๆ โดยนัยต่างๆ ได้ เพราะ เคยทราบว่า เวทนาที่เป็นไปทางอารมณ์ ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้าจะจัดใหม่ ก็แยกเป็นเวทนาที่เป็นไปทาง ปัญจทวารรวมเป็น ๑ และเวทนาที่ไม่ใช่ทางปัญจทวารอีก ๑

สำหรับเวทนาที่ไม่ใช่ทางปัญจทวาร ก็ได้แก่เวทนาที่เกิดขึ้นกับจิตที่เป็นไปทางมโนทวาร และจิตที่ไม่ใช่การรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อรรถกถา ปริวีมังสนสูตร แสดงว่า บรรดาเวทนาทั้ง ๒ นั้น คือ เวทนาที่เป็นไปทางทวาร ๕ เกิดขึ้นทีหลัง แต่ดับก่อน เวทนาที่ไม่ใช่ทางทวาร ๕ เกิดขึ้นก่อน แต่ดับทีหลัง แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของเวทนาตั้งแต่ปฏิสนธิ คือ ในขณะปฏิสนธิ เวทนาต้องเกิดกับปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นอกุศลวิบากจิต หรือกุศลวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมใด แล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมทำให้อกุศลวิบากจิตปฏิสนธิ หรือเป็นกุศลกรรมทำให้กุศลวิบากปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเวทนาที่เกิดร่วมกับวิบากจิตที่ทำปฏิสนธิจิตในขณะนั้น ไม่ได้เป็นไปทางทวารหนึ่งทวารใดเลย จึงอยู่ในประเภทเวทนาที่ ๒ เพราะถ้าแยกเวทนาเป็น ๒ ก็รวมเวทนาทางปัญจทวารเป็น ๑ และเวทนาที่ไม่เป็นไปทางปัญจทวารอีก ๑

ในขณะปฏิสนธิ ขณะนั้นเวทนาไม่ได้เป็นไปทางปัญจทวาร หรือแม้ทาง มโนทวาร เพราะขณะนั้นจิตไม่ได้รู้อารมณ์ทางใจ เพราะฉะนั้น เวทนาที่เกิดกับปฏิสนธิจิตจึงเกิดก่อนเวทนาที่เกิดกับวิญญาณ ๕ คือ เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ

นี่เป็นการลำดับเวทนาเท่านั้นเองว่า ตั้งแต่เริ่มเกิด เวทนาประเภทไหนจะเกิดก่อน และเวทนาที่เกิดก่อนนั้นเองจะดับทีหลัง ส่วนเวทนาที่เกิดทีหลังจะดับก่อน คือ เมื่อเกิดแล้วภายหลังก็มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เวทนาที่เกิดกับวิญญาณทั้ง ๕ เกิดภายหลังปฏิสนธิ แต่จะดับก่อน จุติจิต

แสดงให้เห็นถึงเวทนาในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดมาแล้ว เวทนาจะเกิดกับจิตทุกขณะ ดับพร้อมจิตทุกขณะ ค่อยๆ สะสมเพิ่มกำลังขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่เกิด ก็เริ่มเจริญเติบโต มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ค่อยๆ สะสมเพิ่มกำลังของเวทนาขึ้น

ข้อความในอรรถกถาอุปมาเหมือนฝนตก ซึ่งเมื่อฝนตกแล้วน้ำก็ไหลเข้าไป ในสระตามทาง ๕ สาย ทำให้สระนั้นค่อยๆ เพิ่มน้ำจนกระทั่งเต็มสระจนล้น เมื่อเวลาทีคนอายุ ๒๐ ปีเป็นต้น ในปฐมวัย ย่อมมีกำลังแรงยิ่ง ด้วยอำนาจความรัก ความโกรธ และความหลง ในเวลาอายุ ๕๐ ปี คงที่ และเริ่มเสื่อมลงเมื่ออายุ ๖๐ ปี และอ่อนลงไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ ๘๐ - ๙๐ ปี ความรู้สึกทางทวาร ๕ จะค่อยๆ เสื่อมลง คือ เกิดทีหลังจริง ความรู้สึกที่เกิดกับวิญญาณ ๕ แต่จะดับก่อน คือ ทางตาก็ไม่ค่อยจะเห็น หรือการเห็นไม่ค่อยจะไวเหมือนเดิม ทางหูที่เคยได้ยินชัด ก็ไม่ค่อยจะได้ยิน ทางจมูกก็ไม่ค่อยจะได้กลิ่น ทางลิ้น รสจะเปรี้ยว จะหวาน จะเค็ม ความรู้สึกก็ไม่ไว ทางกายที่กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง บางครั้งบางท่านอาจไม่รู้สึก หรือมีความรู้สึกน้อยลง แต่ตราบใดที่เวทนายังเป็นไปอยู่ ตราบนั้นก็กล่าวได้ว่า สัตว์ยังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น เมื่อใดเวทนานั้นไม่เป็นไป เมื่อนั้นเรียกว่า สัตว์ตาย คือ ดับ

เพราะฉะนั้น ความรู้สึกมีอยู่ตลอด จนกว่าจะถึงจุติจิต และความรู้สึกคือเวทนานั้นก็เป็นที่ตั้งของความยึดถือ เป็นสิ่งที่ยึดมั่นสำคัญว่าเป็นเรา จนกระทั่งบางขณะยังลืมจิต แต่ไม่ลืมความรู้สึกที่เป็นสุขต่างๆ ทำให้ในวันหนึ่งๆ คิดแสวงหาแต่เรื่องของสุขเวทนา ซึ่งในขณะที่เวทนาเกิดเป็นเวทนาต่างๆ เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คือ ความพอใจ ความยินดี ความต้องการในความรู้สึกที่เป็นสุขนั้น ต่างกับ พระอรหันต์ผู้ดับความยินดี แม้ในความรู้สึก ในเวทนาต่างๆ ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีความพอใจ ไม่มีความต้องการในเวทนานั้นๆ อีก แต่ผู้ที่ยังมีกิเลส ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม มีแต่ความปรารถนา มีแต่ความติดข้อง มีแต่ความยินดีพอใจในเวทนา ถึงแม้ว่าเป็นทุกขเวทนาก็ยังไม่รู้สึกหน่าย เพราะผู้ที่เพลิดเพลินอยู่ในความสุขชื่อว่า แม้ว่ามีทุกข์ก็ยังเพลิดเพลินได้ คือ ไม่ได้เป็นผู้ที่ไม่ปรารถนาเวทนาอีกต่อไป แม้ว่าขณะที่มีความสุขหรือกว่าจะได้ความรู้สึกที่เป็นสุข จะต้องผ่านความรู้สึกที่เป็นทุกข์มากมายก็ยังยอม เพราะมีความยึดมั่นในความรู้สึกที่เป็นสุขนั้น

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นตัณหา ความต้องการ ความยินดี ความพอใจ ความติดข้อง ความเพลิดเพลินในเวทนา วันนี้มีมาก แต่จะเห็นหรือไม่เห็น เพราะว่าสภาพธรรม แม้มีจริงแต่เป็นสภาพธรรมที่เห็นยาก เพราะว่าลึกซึ้ง อย่างเวทนา ความรู้สึก ในวันหนึ่งๆ ซึ่งมีอยู่ตลอด และความยินดีพอใจก็พอใจในความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์นั่นเอง แต่แม้กระนั้น วันนี้ก็ไม่ได้เห็นตัณหา

ด้วยเหตุนี้ธรรมจึงเป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงฟัง และเมื่อ ฟังแล้วก็ต้องเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย เพราะเมื่อได้ฟังว่า สภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ก็ต้องฟังหนทางที่จะทำให้สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ด้วย ซึ่งข้อความตอนท้ายของ ปุตตมังสสูตร ตอนท้ายของกวฬิงการาหาร มีว่า

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬิงการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดี ซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ ได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี

เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระอริยสาวก ยังไม่ได้กำหนดรู้ความยินดีในเบญจกามคุณ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ต้องกลับมาสู่ โลกนี้อีก เมื่อตายแล้ว ไม่ไปไหน ต้องมาสู่ภูมิที่มีขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นกามภูมิ แล้วแต่ว่า จะไปสู่สุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ หรือเกิดในอบายภูมิ แต่ ไม่พ้นจากกามภูมิ

ข้อความตอนท้ายของผัสสาหาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นการอบรมเจริญปัญญา เวทนามี กำลังมี ไม่พิจารณา ไม่ระลึก ไม่รู้ ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยสาวก ต่อเมื่อใด อริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ซึ่งทางเดียวที่จะทำให้รู้เวทนาในขณะนี้ได้ คือ เมื่อรู้ว่าเวทนามี สติระลึก หรือจะไม่ใช้คำว่าสติก็ได้ ขณะนี้ระลึกลักษณะของเวทนา แต่ถ้าไม่ระลึกลักษณะของเวทนา สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมอย่างอื่นก็ได้ เพราะในขณะที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่น จะทำให้ระลึกลักษณะของเวทนาได้ เช่น ในขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่ร้อน สติระลึกลักษณะที่ร้อน หรือจะระลึกลักษณะของความรู้สึกไม่สบาย ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ขณะที่กระทบกับธาตุร้อน หรือสภาพที่ร้อนในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติ แต่เป็นเรื่องที่แม้กระทบกับลักษณะที่ร้อน สภาพร้อนปรากฏ สติจะเกิดหรือไม่เกิดเท่านั้นเอง

ถ้าหลงลืมสติ ก็เป็นปกติ แต่ถ้าสติเกิด ก็ไม่ใช่ขณะอื่น นอกจากระลึกลักษณะความรู้สึกที่กำลังร้อนในขณะนั้น ไม่ใช่ระลึกเท่านั้น ยังรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริงๆ ค่อยๆ ระลึกไป บ่อยๆ เนืองๆ ฟังพระธรรมไปแล้วก็ระลึกไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด เป็นปกติในชีวิตประจำวัน และจะทำให้รู้ถึงตัณหา ความยินดีที่ติดข้องในลักษณะของเวทนานั้นด้วย

ข้อความตอนท้ายของมโนสัญเจตนาหาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้มโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหา ทั้ง ๓ ได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

ถ. ขอให้ทบทวนเรื่องเวทนาที่เกิดก่อนดับทีหลัง และเวทนาที่เกิดทีหลัง ดับก่อน ผมยังไม่เข้าใจ

สุ. เวทนาที่เกิดก่อน คือ ปฏิสนธิจิต เป็นวิบากจิต มีเวทนาเจตสิกเกิด ร่วมด้วย ขณะนั้นไม่ใช่เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะว่าโดยนัยนี้แบ่งเวทนาเป็น ๒ ประเภท คือ เวทนาที่เป็นไปกับจิตที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางปัญจทวาร ๕ รวมเป็น ๑ และเวทนาที่เกิดกับจิตอื่นที่ไม่ใช่เป็นไปทางทวาร ๕ เพราะฉะนั้น ก็ได้แก่จิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร และจิตที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเลย

ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะแรก ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย แต่มี เวทนาเจตสิกเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ความรู้สึกที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตเหมือนฝนเริ่มตก และภายหลังเมื่อมีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นการสะสมความรู้สึก เหมือนกับฝนที่ตกและไหลเข้าสู่สระโดยทาง ๕ ทาง ซึ่งได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำให้มีความยินดี ความพอใจ จนกระทั่งล้น ถ้ามากในวัยที่ยังเป็นวัยต้นก็จะทำให้ มีความรู้สึกที่รุนแรง และภายหลังค่อยๆ ลดลง เสื่อมลง จนกระทั่งในที่สุดถึงวัย ที่เสื่อม ทำให้เห็นก็ไม่ค่อยจะเห็น ได้ยินก็ไม่ค่อยจะได้ยิน ค่อยๆ ลดไป

เป็นแต่เพียงการเปรียบเทียบให้เห็นความเป็นไปของเวทนาในชาติหนึ่ง แต่เป็นความจริง เพราะว่าเมื่อจุติจิตเกิดและดับ จุติจิตนั้นไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน จิตที่ได้กลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบกาย เพราะฉะนั้น จึงกล่าวรวมว่า เวทนา ๕ เกิดทีหลัง และดับก่อน

เปิด  246
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566