แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1978

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๔


สุ. สิ่งที่เราดูเหมือนเป็นชีวิตประจำวันและไม่มีอะไร แต่ความจริงถ้ารู้ จะเห็นได้ว่า การที่สภาพธรรมแต่ละอย่างที่จะเกิดขึ้นแต่ละขณะนั้น ต้องมีปัจจัย ปรุงแต่งที่จะให้เกิดขึ้นมาก ทั้งจิต เจตสิก และรูป โดยปัจจัยต่างๆ กันด้วย ยิ่งรู้ ก็ยิ่งเห็นความลึกซึ้งของทุกขณะที่เกิดมา

ข้อความสั้นๆ ตอนท้ายของกวฬิงการาหาร ผัสสาหาร และมโนสัญเจตนาหารใน ปุตตมังสสูตร ซึ่งทุกคนฟังข้อความนี้ผ่านไปแล้วในคราวก่อนๆ

ข้อความตอนท้ายของกวฬิงการาหาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬิงการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดี ซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ ได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี

ข้อความตอนท้ายของผัสสาหาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยะสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกเลย

ข้อความตอนท้ายของมโนสัญเจตนาหาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

ฟังดูสั้นมาก ตั้งแต่กวฬิงการาหารซึ่งบริโภคเป็นประจำ แต่ข้อความสั้นๆ ที่ว่า เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี นี่ต้องเป็นผู้ที่ฟังและเข้าใจว่า จะเป็นไปได้อย่างไร หรือแม้ข้อความตอนท้ายของผัสสาหารที่ว่า เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

และสำหรับมโนสัญเจตนาหาร ซึ่งได้แก่ กรรม คือ กุศลจิต อกุศลจิต พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เมื่ออริยะสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

ฟังเพียงเท่านี้ ก็ยังต้องพิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจถึงหนทางที่จะทำให้ สามารถไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก หรือไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว เมื่อเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ซึ่งจะพิจารณาตั้งแต่กวฬิงการาหารอีกก็ได้ เพราะว่าทุกคนบริโภคทุกวัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้อีกที่จะทำให้เกิดปัญญา ซึ่งต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งกวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร ก็จะทำให้ปัญญาเกิด เมื่อเข้าใจการที่จะพิจารณาธรรมว่า ควรพิจารณาอย่างไร

เช่น น่าคิดว่า เกิดมาแล้วทำไมต้องหิวด้วย เคยคิดบ้างไหม หรือว่าหิวก็หิว เกิดมาก็หิว แต่น่าคิดจริงๆ ว่า เมื่อเกิดมาแล้วทำไมต้องหิว ในเมื่อทุกข์อื่นๆ ก็ยัง ไม่จรมา ชีวิตประจำวันก็มีทุกข์ประจำ คือ ความหิว เป็นทุกข์กายอย่างหนึ่งซึ่ง สัตว์โลกมีเป็นประจำ ยังไม่ต้องกล่าวถึงทุกข์ป่วยไข้ได้เจ็บหรือทุกข์อื่น แต่วันหนึ่งๆ ทุกคนก็มีความหิว ซึ่งเป็นทุกข์ประจำร่างกาย วันละหลายครั้ง

สำหรับผู้ฟังพระธรรมมามากๆ ในชาติก่อน ก็อาจจะเป็นอนุสสติเตือนให้ระลึกถึงทุกข์ของกายซึ่งมีแล้วประจำ เมื่อเกิดก็ต้องหิวเป็นของธรรมดา แต่ถ้าไม่มีการพิจารณาเห็นทุกข์เลยแม้ทุกข์อย่างนี้ ก็ไม่มีทางที่จะพิจารณาให้เข้าใจทุกข์ที่ ยิ่งกว่านี้ คือ ทุกข์ที่เป็นอริยสัจจะได้

พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดที่จะทำให้ผู้มีอัธยาศัย ต่างๆ กันได้ฟังพระธรรมแต่ละตอน แต่ละข้อความต่างๆ กัน ได้สะสมความเข้าใจ ทีละเล็กทีละน้อยทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถา เพื่อให้มีกำลังของปัญญาที่จะทำให้ระลึกได้ และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ ไม่ว่าจะในขณะที่กำลังหิว หรือ ไม่หิวก็ตาม แต่มีข้อที่น่าคิดว่า ทำไมต้องหิว ซึ่งไม่มีใครบังคับที่จะไม่ให้หิวได้

ความหิว ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีนามธรรมและมีรูปธรรม เป็นสัตว์โลกในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องบริโภคอาหารในภูมิของมนุษย์และเทวดา แต่สำหรับในรูปพรหมภูมิ ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วยกำลังของฌาน เพราะฉะนั้น ในรูปพรหมภูมิไม่มีกวฬิงการาหารที่จะต้องบริโภคเป็นคำๆ นี่เป็นความต่างกันของระดับจิตและภูมิต่างๆ ซึ่งการที่จะเกิดเป็นรูปพรหม หรือ เป็นพรหมบุคคลนั้น ต้องตามเหตุตามปัจจัยด้วย แต่ท่านผู้ฟังในยุคนี้คงไม่มีการเกิด ในรูปพรหมและอรูปพรหม เพราะเป็นผู้ที่ยังยินดีอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ การทำกุศลใดๆ ก็เป็นไปเนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปในเรื่องของทาน เป็นไปในเรื่องของศีล เป็นไปในเรื่องของความสงบของจิตในชีวิตประจำวัน ซึ่งยากแสนยากที่จะทำให้บรรลุถึงฌานจิตซึ่งเป็นกุศลที่สงบมั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัย ที่จะทำให้เมื่อเกิดอีกก็เกิดในกามภูมิ และก็ต้องมีความหิวอีก

อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์ พรรณนาทุกนิทเทส ในรูปวิภัตติ พระบาลีกวฬิงการาหารนิทเทส ข้อ ๖๔๕ มีข้อความบางตอนว่า

สัตว์ทั้งหลายยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชาใด รูปทั้งนี้เรียกว่า กวฬิงการาหาร

อาหารที่เราบริโภคมีโอชาที่ทำให้เกิดรูป ซึ่งอุปถัมภ์ค้ำจุนรูปอื่นๆ ที่เกิดจากกรรม จิต และอุตุ ให้ดำรงอยู่ได้ คือ ทุกรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอื่น ต้องอาศัยรูปที่เกิดจากอาหารด้วย

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอาหาร ด้วยอรรถว่า นำมาซึ่งรูป

พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์จะแสดงกวฬิงการาหารด้วยอำนาจแห่งกิจ จึงตรัสว่า เป็นของอิ่มท้อง

จริงอยู่ วัตถุย่อมบำบัดความลำบากแห่งร่างกาย แต่ไม่สามารถจะบำรุงร่างกาย โอชารูปย่อมบำรุงร่างกาย แต่ไม่สามารถจะบำบัดความลำบากของร่างกาย ทั้ง ๒ อย่างรวมกันเข้า ย่อมสามารถแม้เพื่อจะบำรุงร่างกาย แม้เพื่อจะบำบัดความลำบากร่างกาย

นี่คืออาหารซึ่งอยู่ในอาหารที่เป็นคำๆ

โอชารูปเป็นรูปที่อยู่ในกลุ่มของอวินิพโภครูป ๘ ซึ่งได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส และโอชา โอชารูปเป็นรูปซึ่งทำให้เกิดรูป ส่วนธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส ไม่เป็นรูปที่จะทำให้เกิดรูป แต่ปราศจากกันไม่ได้เลย และเฉพาะโอชารูปรูปเดียวในกลุ่มของรูป ๘ รูปนั้น ที่ทำให้บำรุงร่างกายหรือทำให้ รูปเกิดได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็ที่ชื่อว่าความลำบากร่างกายนี้ได้แก่อะไร ได้แก่ เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรม ด้วยว่าเมื่อวัตถุมีข้าวสุกเป็นต้นไม่มีอยู่ภายในท้อง เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมเกิดขึ้น ที่พื้นท้องทำให้รู้สึกหิว และเมื่อบริโภคอาหารแล้ว เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรม ก็ย่อยอาหาร ทำให้หายหิว รู้สึกสบาย

นี่คือนามธรรมและรูปธรรม เป็นชีวิตปกติประจำวัน ซึ่งขณะใดที่สติระลึก แม้ในขณะที่กำลังหิว ก็สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมที่หิว รู้ลักษณะของรูปธรรมส่วนหนึ่งส่วนใด แต่ในขณะที่หิว ความทุกข์กายเกิดที่ท้อง เพราะว่า เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมเกิดที่พื้นท้องทำให้รู้สึกหิว และเมื่อบริโภคอาหารแล้ว เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมก็ย่อยอาหาร ทำให้หายหิว รู้สึกสบาย เป็นสิ่งที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่สามารถบังคับหรือเปลี่ยนแปลงได้ แต่เริ่มเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องใดก็ตาม เป็นเรื่องของสัจจธรรม เป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องของรูปธรรม ซึ่งล้วนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น

ถ้าเพียงฟังอย่างนี้และเห็นความเป็นอนัตตา ย่อมทำให้เข้าใจที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราในขณะที่หิว และถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งสามารถรู้ได้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป กว่านี้อีกแล้ว

ถ. ข้อความที่ว่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ หมายความว่า กำหนดอาหาร สมมติว่ากวฬิงการาหาร ท่านจะกำหนดอย่างไร

สุ. ตาเห็นไหม หรือมีกวฬิงการาหารโดยไม่มีสีปรากฏให้เห็นเลย

สำหรับลักษณะเป็นต้นของกวฬิงการาหาร ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า แม้ว่าโดยลักษณะเป็นต้น กวฬิงการาหาร พึงทราบว่า มีโอชาเป็นลักษณะ มีการนำมาซึ่งรูปเป็นรสะ มีการอุปถัมภ์เป็นปัจจุปัฏฐาน มีวัตถุที่พึงทำเป็นคำ แล้วกลืนกินเป็นปทัฏฐาน

คือ จะปราศจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รสไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังแสวงหาอาหาร กำลังตระเตรียมปรุงอาหาร ต้องมีการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ต้องมีเสียงปรากฏ ต้องมีกลิ่นปรากฏ ขณะที่ลิ้มก็มีรสปรากฏ ขณะที่กระทบสัมผัสก็มีโผฏฐัพพะปรากฏ ขณะที่คิดนึก ขณะนั้นมีนามธรรมที่จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ก็ครบทั้ง ๖ ทวาร

ถ. หมายความว่าขณะนั้นมีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตลอดเวลา

สุ. ทั้งหมดเป็นปัฏฐานของสติที่จะระลึกได้ทั้งสิ้น แม้ในขณะที่ต้องบริโภคอาหาร

ถ. หมายความว่าขณะนั้นความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ต้องสมบูรณ์แล้ว ที่จะระลึกรู้สภาพธรรมได้ตลอดเวลา ที่ว่าไม่มีอะไรที่จะกำหนด ยิ่งไปกว่านี้ หมายความว่าเมื่อท่านกำหนดอย่างนั้นแล้ว ท่านจะต้องบรรลุมรรคผล

สุ. สำหรับพระอริยสาวก

ถ. ไม่ใช่สำหรับคนธรรมดาทั่วไป

สุ. ก่อนที่ท่านจะเป็นพระอริยสาวก สติปัฏฐานของท่านต้องค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จากการไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกระทั่งมีเหตุปัจจัย คือ การฟังพระธรรม ฟังเรื่องปัฏฐานของสติที่สติจะระลึก จนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ไม่มีหนทางอื่น นอกจากสติเท่านั้นที่ระลึกจึงจะเข้าใจ และเริ่มรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ความเข้าใจที่มั่นคงอย่างนี้จะทำให้สติปัฏฐานเกิดเป็นปกติ สลับกับกุศลจิต หรืออกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้

ถ. ที่ท่านพูดว่า ไม่มีอะไรที่จะกำหนด ท่านพูดไว้สำหรับท่านผู้ที่รู้แล้ว หรือผู้ที่เป็นพระอริยะ ท่านรู้แล้ว

สุ. การที่จะรู้อย่างนี้ได้ ก็คือรู้ชีวิตปกติประจำวัน โดยมากท่านผู้ฟังคิดถึงผลไกล แต่ผลใกล้ คือ ความเข้าใจสภาพธรรม การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เท่านั้นเอง ขณะใดที่สติเกิดและเริ่มที่จะเข้าใจ นั่นคือหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมในวันหนึ่ง

ถ. เป็นความจริง ส่วนใหญ่มุ่งหวังจะให้ได้ผลมากกว่าความเข้าใจ เมื่อ ๒ – ๓ วันก่อน ผมท่องมหาสติปัฏฐาน ความมุ่งหวังก็อยากจะรู้ว่า ในมหาสติปัฏฐาน ท่านสอนให้เราทำอะไร แต่เวลาท่อง ไปมุ่งหวังให้จำได้มากกว่า ไปคิดว่า ท่านพูดว่าเดิน ขณะนี้เรามีเดินไหม ท่านพูดว่านั่ง ขณะนี้เรามีนั่งไหม ท่านพูดว่านอน ขณะนี้เรามีนอนไหม ท่านพูดว่ายืน ขณะนี้เรามียืนไหม ท่านพูดว่าเดิน ยืน นั่ง นอน ขณะนี้เรามีเดิน ยืน นั่ง นอนไหม พูดว่าเหลียว คู้ เหยียด พูดว่าเหลียวซ้ายแลขวา ขณะนี้ในชีวิตประจำวันมีไหม ไปคิดว่าจะจำอย่างเดียว ก็ได้แค่จำ ไม่มีความเข้าใจ สติปัฏฐานท่านพูดถึงเรื่องชีวิตของเราจริงๆ ผมรู้สึกว่าเป็นจริงอย่างนั้น

สุ. ขณะที่กำลังฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เข้าใจหรือเปล่า

ถ. ก็เข้าใจ แต่ไม่เข้าใจตลอด

สุ. และขณะที่อ่านสติปัฏฐาน มีความต่างกัน หรือเหมือนกันกับที่เข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่ฟัง

ถ. ขณะอ่านสติปัฏฐาน มุ่งหวังอยากจะจำได้มากกว่า ที่พูดไว้ในหนังสือกับของจริงๆ ที่ปรากฏ มักจะไม่ค่อยน้อมเข้ามาจริงจัง ยังเห็นเป็นคนละอย่าง ในหนังสืออย่างหนึ่ง ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็อย่างหนึ่ง ยังไม่เห็นว่าปริยัติกับปฏิบัติเป็นอันเดียวกัน ยังเห็นแยกแตกต่างกันอยู่

สุ. แสดงให้เห็นถึงการที่จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดในการเข้าใจพระธรรม เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ต้องทรงแสดงธรรมอื่นนอกจาก สติปัฏฐานสูตรเดียว แต่เพราะการเข้าใจธรรมไม่ใช่เพราะสติปัฏฐานสูตรเดียว แต่ต้องทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก และอรรถกถา ตามปัญญาของผู้ที่ศึกษา

ถ้าเป็นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ท่านพระสารีบุตรท่านฟัง พระธรรมสั้นๆ ท่านก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่สำหรับคนในยุคนี้สมัยนี้ สติปัฏฐานทั้งสูตรก็ยังไม่เกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้ ๔๕ พรรษาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ก็เพื่อพวกเรายุคหลัง ที่สติปัญญาน้อย ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังมาก การพิจารณามาก การศึกษา การไตร่ตรอง การสนทนาธรรมมาก จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

เหตุปัจจัยของสติปัฏฐาน คือ ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ขอให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมในขณะนี้ และจะถึงสติปัฏฐานเอง เมื่อมีความเข้าใจ ที่มั่นคงจริงๆ

ถ. ตอนท้ายข้อความในอาหาร ๔ ที่อาจารย์กล่าว อย่างกวฬิงการาหารนั้น หมายถึงพระอริยสาวกที่ท่านกำหนดได้แล้ว ท่านคงต้องเป็นพระอนาคามี

สุ. ไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก เพราะว่าละความยินดีในเบญจกามคุณ

ถ. ข้อความอย่างนี้ อ่านแล้วบางทีก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้หมายความว่าอย่างไร

สุ. ต้องศึกษาส่วนอื่นประกอบด้วยว่า ผู้ที่ละความต้องการยินดีติดข้องในเบญจกามคุณ ก็ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้วต้องเกิด ในพรหมโลก

ถ. ในผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร ก็หมายถึง พระอรหันต์

สุ. ก็ละเอียดขึ้นๆ ข้อสำคัญ คือ เป็นชีวิตประจำวัน

ถ. ข้อความที่ว่า เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

เมื่อกำหนดรู้ผัสสาหาร ท่านต้องมีผัสสเจตสิกเป็นอารมณ์ขณะนั้นหรือเปล่า

สุ. ขณะที่กำลังเห็น แม้ว่าผัสสเจตสิกไม่ปรากฏ แต่ปัญญาสามารถรู้ว่า ขณะนี้สภาพใดเป็นนามธรรม ขณะนี้สภาพใดเป็นรูปธรรม และจะรู้ไหมว่า นามธรรมนี้เกิดได้เพราะอะไร

ถ. เพราะมีผัสสะ

เปิด  231
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565