แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1979

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๔


สุ. เพราะฉะนั้น ไม่มีการจงใจที่จะไปรู้ผัสสเจตสิก นี่เป็นปัญหามาก เวลาที่ท่านผู้ฟังผ่านพยัญชนะหนึ่งพยัญชนะใด และก็มีความข้องใจคล้ายๆ กับว่า ต้องรู้ผัสสเจตสิกเพราะข้อความกล่าวว่าอย่างนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ปัญญาจะข้ามขั้นไม่ได้เลย และไม่มีการจงใจไปรู้นามหนึ่งนามใดด้วย เช่น ผัสสเจตสิก มีแน่ๆ แต่ถ้าผัสสเจตสิกไม่ปรากฏ เหมือนหิริเจตสิกไม่ปรากฏ โอตตัปปเจตสิกไม่ปรากฏ กายุชุกตาเจตสิกไม่ปรากฏ หรือชีวิตินทริยเจตสิกไม่ปรากฏ แต่ขณะนี้อะไรปรากฏที่ปัญญาจะต้องรู้ แทนที่จะไปจงใจเจาะจงให้รู้ผัสสาหาร และความเข้าใจก็จะเพิ่มขึ้น ชัดเจนขึ้น สามารถที่จะเข้าใจถึงเหตุปัจจัย แม้โดยไม่ทั่วแต่ก็ยังรู้ว่าสภาพธรรมที่เกิดนี้มีปัจจัยจึงเกิด เพราะว่าละคลายการจดจ้องหรือ ความต้องการนามธรรมหนึ่งนามธรรมใด รูปธรรมหนึ่งรูปธรรมใด มิฉะนั้นแล้วก็จะ เป็นเครื่องกั้น ไม่สามารถรู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นๆ ได้

เช่น ในขณะนี้ที่ได้ยิน อย่างน้อยก็รู้ปัจจัยแล้วว่า ต้องมีเสียง จะมีการได้ยิน โดยไม่มีเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่เสียงปรากฏต้องมีเสียง และเมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่รู้เสียง ก็ย่อมสามารถรู้ต่อไปในขณะนั้น โดยรู้จริงๆ ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงว่า เสียงเป็นปัจจัย เพราะขณะนั้นจิตกำลังรู้เสียง และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของปัจจัย เช่น อารัมมณปัจจัย ผู้ที่กำลังเจริญสติปัฏฐานจะไม่สงสัยเลยว่า ขณะที่กำลังได้ยิน กำลังรู้นั้น มีเสียงเป็น อารัมมณปัจจัย เพราะถ้าเสียงไม่เป็นอารมณ์ จิตได้ยินเกิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จิตได้ยินต้องอาศัยเสียงเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ และจิตได้ยินก็ไม่ใช่ไปคอยอยู่ที่ไหน ที่พร้อมให้เสียงมากระทบก็ได้ยิน ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ยังไม่มีจิตได้ยิน จิตได้ยินยัง ไม่เกิด ต่อเมื่อใดเสียงกระทบกับโสตปสาทที่ยังไม่ดับ ทั้งโสตปสาทและเสียงยังไม่ดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้น

แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมต้องเข้าใจละเอียดขึ้นๆ ตามลำดับขั้น โดยขั้นต้นต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรม ต้องแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมออกจากกันในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ ไม่ใช่ในขณะที่คิด ในขณะที่ฟัง แต่ในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏและสติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงจะไม่มีตัวตนในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น กว่าตัวตนจะดับหมดไป ต้องอาศัยการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย แม้เพียงชั่วขณะเดียวก็มีประโยชน์จริงๆ ต้องเห็น สาตถกสัมปชัญญะของการที่สติระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรมเพียงชั่วขณะเดียวว่า จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้จริงๆ

ถ. เมื่อกำหนดรู้ผัสสะได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนา ๓ ได้ เพราะผัสสะ ท่านแสดงไว้ในปฏิจจสมุปบาทว่า ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ใช่ไหม และเมื่อ จิตเกิดก็มีเจตสิกอื่นเกิดขึ้นด้วย อย่างผัสสเจตสิกเกิดก็ต้องมีจิตด้วย จิตก็เป็นปัจจัยกับผัสสะโดยปัจจัยอื่นด้วย ผมสงสัยว่า ทำไมท่านยกตัวอย่างว่า เมื่อกำหนดรู้ผัสสะได้แล้ว จึงชื่อว่ากำหนดรู้เวทนาได้ และอย่างอื่น เช่น กำหนดรู้จิต หรือเจตสิกอื่น ทำไมไม่เป็นอันกำหนดรู้เวทนา ๓

สุ. เพราะนี่เป็นเรื่องราวของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่ ทำให้ชีวิตเกิดดับสืบต่อวนเวียนในสังสารวัฏฏ์ว่าเนื่องมาจากอะไร เช่น ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า ในชีวิตประจำวันแท้ๆ มีอะไรที่เป็นองค์ที่ทำให้สืบเนื่องอยู่ เรื่อยๆ เพราะเวลาที่ผัสสะกระทบอารมณ์ ทุกท่านยึดมั่นในเวทนา มีความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และมีความยินดีพอใจยึดมั่นต้องการในเวทนานั้นด้วย

แสดงให้เห็นถึงปัจจัยของการที่ชีวิตจะดำเนินไปในวันหนึ่งๆ ในภพหนึ่งๆ สืบเนื่องติดต่อกันไป จึงได้แสดงว่า ผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา

ถ. ฟังก็เข้าใจ แต่ซักไปซักมา ชักจะยุ่ง ตอนที่ท่านพูดถึงกวฬิงการาหาร บอกว่า รู้อาหาร เห็น ได้กลิ่น รวมทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นผัสสะ และมาถึงผัสสาหาร ก็เน้นเรื่องผัสสะให้เกิดเวทนา ต่อเมื่อเป็นอริยสาวกแล้วไม่พึงต้องระลึกถึงอะไรยิ่งกว่า ก็เป็นอันจบไป นอกจากจบอย่างนี้แล้ว ยังบอกว่าผัสสาหารทำให้เกิดเจตนา และ คุณณรงค์ก็มาพูดตามปฏิจจสมุปบาท ก็วนไป ทำให้คิดว่า ที่ท่านพูดทั้งหมด พูดเพื่ออะไร ผมเกิดความสงสัยอย่างที่น่าเวียนหัวว่า พูดทำไม ไม่เกิดประโยชน์แก่เราในฐานะที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล เกินความจำเป็น พูดถึงอาหารอย่างเดียวก็ หลุดพ้นแล้ว ไม่ต้องอะไรอื่นยิ่งกว่า และก็พูดอาหารอีกอย่างๆ เฉพาะพระอริยบุคคลด้วย จึงสงสัยว่า ธรรมข้อนี้จะเกิดประโยชน์แก่ปุถุชนธรรมดาอย่างไร ที่ผมถามนี่ เป็นเรื่องสำคัญเพราะต้องมองให้ออกว่า กล่าวอย่างนี้เพื่อประสงค์อะไร

สุ. ก่อนจะเป็นพระอริยบุคคล ปัญญาต้องเจริญขึ้น แล้วแต่ว่าแต่ละบุคคลได้ฟังธรรมข้อไหน เรื่องไหน และมีความเข้าใจ ปัญญาจะค่อยๆ เห็นสภาพธรรมว่าเป็นอนัตตา แม้แต่ในเรื่องของอาหารซึ่งทุกคนต้องบริโภค และบางคนอาจจะลืมคิด อย่างที่ถามว่าทำไมถึงต้องหิว เมื่อมีนามธรรมและรูปธรรมก็ต้องหิว และก็รู้ว่า ความหิวนั้นเกิดจากเตโชธาตุซึ่งเกิดจากกรรมในขณะที่ไม่มีอาหารอยู่ในท้อง เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการบริโภค และแม้แต่อาหารนั้น ในกลุ่มหนึ่งๆ รูปใดเป็นสมุฏฐานที่จะทำให้อาหารชรูปเกิด รูปใดเพียงแต่ทำให้หายหิว เพราะว่าเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งจะต้องประกอบกัน

แสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวันว่า ที่ชีวิตจะดำรงอยู่ได้ในวันหนึ่งๆ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้ไป คือ เกิดมาก็เห็นไป ได้ยินไป ตายไปก็ไม่รู้ ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าจะรู้ก็ต้องรู้ความจริงตั้งแต่ที่ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดทั้งหมดไม่ว่าจะหิวหรือไม่หิว เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่หิวหรือในขณะที่ต้องบริโภคกวฬิงการาหารซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น ก็จะได้มีความรู้ความเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และแม้ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ว่าไม่เป็นนามเป็นรูป กำลังบริโภคอาหารซึ่งเคยเป็นเราก็จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นนามเป็นรูปอย่างไร

ตลอดทั้งพระไตรปิฎกเป็นเรื่องของอนัตตา เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องเข้าใจแต่ละตอนมาประกอบกัน เพื่อให้เป็นความรู้ในสิ่งละอันพันละน้อยของธรรมต่างๆ ที่จะสะสมเพื่อให้ปัญญามีกำลังที่สติจะเกิด และรู้ตามความเป็นจริงตามที่ได้ฟัง เพราะได้ฟังมาแล้วว่า ไม่มีตัวตน ฟังไปอีกร้อยชาติ พันชาติ ก็ไม่มีตัวตน ก็ยังไม่พอ ที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องสติ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมก่อน

มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า ขอให้แสดงเบื้องต้นของสติปัฏฐาน ดิฉันได้รับเชิญไปที่สำนักแห่งหนึ่ง ที่นั่นก็ขอให้แสดงเบื้องต้นของสติปัฏฐาน ซึ่งถ้าดิฉันกล่าวถึงนามธรรมและรูปธรรม คนนั้นจะสามารถเข้าใจได้ไหมว่า นี่คือเบื้องต้นของสติปัฏฐาน แต่ถ้ากล่าวว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นไม่ใช่เบื้องต้นของสติปัฏฐานแน่

ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ให้คนนั้นเริ่มเข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย แม้จะไม่บอกว่านี่คือเบื้องต้นสติปัฏฐาน แต่ความเข้าใจของ บุคคลนั้นในเรื่องนามธรรมและรูปธรรมนั่นเองเป็นเบื้องต้นที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิด ในภายหลังได้ เมื่อเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่กล่าวถึง เป็นเรื่องของผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อให้สติที่ยังไม่เกิดเกิด และเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจละเอียดขึ้นจากกวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร แต่ต้องเป็นผู้ที่ใจเย็นๆ อย่างที่ว่า คือ ต้องพิจารณาธรรมโดยละเอียด และค่อยๆ เข้าใจไป พิจารณาจนเห็นความเป็นอนัตตาทุกแง่มุมของพระธรรม

ถ. ขอบพระคุณมาก ผมขออนุญาตทบทวนสักนิด ช่วงหลังที่อาจารย์ตอบ ผมเข้าใจ คือ เราไต่เต้าไปตามเป็นลำดับในการเจริญสติปัฏฐาน แต่ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงอาหารทั้ง ๔ อย่าง ก็น่าจะมาต่อตอนท้าย ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานถึงขนาดเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ไปจับตรงไหน เจริญตรงไหน แม้แต่ผัสสาหารหรืออาหารเป็นคำๆ ก็สามารถดำเนินต่อไปได้ เป็นเหตุเป็นผล เป็นปัจจัยสืบเนื่องจนกระทั่งหลุดพ้นเลย

สุ. แต่ก่อนที่จะเป็นอย่างนั้น ชั่วขณะเดียวที่สติเกิดผู้นั้นเห็น สาตถกสัมปชัญญะ ประโยชน์ของสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่หวังที่จะไปทำให้สติเกิดมากๆ แต่เป็นผู้ที่มีความรู้เกิดขึ้นว่า สติเป็นอนัตตา ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะใดที่สติเกิด เพราะฉะนั้น ผู้นั้นเองที่จะรู้ประโยชน์ของสติสัมปชัญญะ ที่จะไม่ทำอย่างอื่น นอกจากเมื่อสติเกิดก็สลับกับสภาพธรรม แต่ละอย่างที่สติระลึกตามปกติ

ถ. ระลึกโดยทันทีด้วย

สุ. ไม่ใช่เรา สติเกิดจึงระลึก ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่มีการระลึก

เรื่องของความอดทน เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ผู้ใดที่อดทนและผู้ใดที่ละเอียด ผู้นั้นมีโอกาสเข้าใจธรรมลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสามารถระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ข้อความในพระไตรปิฎกและ อรรถกถามากเหลือเกิน มากจริงๆ ที่จะอ่านกันทั่ว อ่านตลอด หรืออ่านกลับไปกลับมา อ่านแล้วอ่านอีก ก็ต้องด้วยฉันทะ ความพอใจ ด้วยศรัทธา ด้วยสติ ด้วย การเห็นคุณประโยชน์จริงๆ และไม่ละเลยแม้ข้อความเล็กๆ น้อยๆ เพราะว่า ฟังไปแล้วก็ค่อยๆ สะสมสิ่งละอันพันละน้อย ประกอบไป ปรุงไป จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด และเมื่อสติปัฏฐานเกิดแล้ว จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจธรรม และฟังไป ระลึกไป สะสมไป เข้าใจธรรมไป ก็จะค่อยๆ คลายการเห็นผิด การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ขอแทรกข้อความบางตอนในเรื่องของเวทนา ความรู้สึก ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ ตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมนี่ไม่ว่าจับส่วนไหน ตอนไหน เรื่องไหน ก็เป็นชีวิตจริง ทุกขณะ เป็นสัจจธรรม ซึ่งผู้ที่ฟังพระธรรมเพื่อประโยชน์ย่อมสามารถเข้าใจและ เห็นคุณประโยชน์ได้ แม้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทำให้เห็นความเป็นอนัตตา และทำให้เห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงพระธรรมไว้ละเอียดจริงๆ สำหรับผู้ที่สติปัฏฐานเกิดยาก หรือไม่ได้อบรมมาพอที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ทั่วทั้ง ๖ ทาง

สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อรรถกถา ปริวีมังสนสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

บรรดาเวทนาทั้งสองนั้น เวทนาที่เป็นไปทางทวาร ๕ เกิดขึ้นทีหลัง แต่ดับก่อน เวทนาที่เป็นไปทางมโนทวารเกิดขึ้นก่อน แต่ดับทีหลัง

เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้เข้าใจ ถ้าไม่อ่านต่อไป ไม่อดทน ไม่มีฉันทะ ไม่มีศรัทธา ก็จะไม่เข้าใจข้อความตอนนี้ เพราะว่ามาเป็นเวทนา ๒ อีกแล้ว

นี่คือพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งทรงแสดงสภาพธรรมทุกอย่างโดยหลายหลากนัย ยากที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะแสดงได้ แต่ผู้ที่มีศรัทธาจริงๆ สามารถติดตาม รับฟัง พิจารณา เข้าใจ และเห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมนั้นๆ คือ เป็นการลับปัญญาให้คม ให้มีกำลัง ให้ไวที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้

สำหรับเวทนาทั้งสองนั้น คือ รวมเวทนาที่เป็นไปทางทวารห้า ๑ และเวทนาที่เป็นไปทางมโนทวาร ๑ สำหรับเวทนาทั้งสองนั้น เวทนาที่เป็นไปทางทวาร ๕ เกิดขึ้น ทีหลัง แต่ดับก่อน เวทนาที่เป็นไปทางมโนทวารเกิดขึ้นก่อน แต่ดับทีหลัง หมายถึงตั้งแต่ขณะเกิด คือ ขณะปฏิสนธิ จนถึงขณะจุติ เพราะว่าทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป ขณะนั้นลักษณะของเวทนาไม่ได้ปรากฏ เพราะเป็นวิบากจิต แต่หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิดเป็นวาระแรก

เมื่อภวังคจลนะดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อและดับไป มโนทวาราวัชชนจิตเกิดและดับไปแล้ว โลภมูลจิตก็เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะทางมโนทวาร ทุกภพชาติ แสดงให้เห็นถึงปัจจัยว่า โลภะมีกำลังเป็นสมุทัยมากสักแค่ไหน เพราะว่าทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับไป วาระแรกของวิถีจิตต้องเป็นมโนทวารวิถี และมีโลภมูลจิตทำชวนกิจ

ถ้าทุกท่านจะคิดถึงชีวิตประจำวัน ก่อนหลับคืนนี้ ชวนจิตของท่านเป็นอะไร สติปัฏฐาน หรือโลภะ ปกติธรรมดาแล้วถ้าไม่เป็นโทสะ ไม่มีเรื่องขุ่นใจบุคคลใด จิตก็ ไม่พ้นจากความคิด และเรื่องที่คิดก็คิดด้วยโลภมูลจิต โดยที่ทุกท่านอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่า ไม่ว่าจะคิดอะไรสักอย่างหนึ่ง ขณะนั้นถ้าไม่เป็นโทสะซึ่งขุ่นเคืองใจ ไม่สบายใจ ก็ต้องเป็นโลภมูลจิต

ทุกวันก่อนนอน ก่อนจะหลับ โลภชวนะก็เกิด ไม่พูดถึงวิถีจิตอื่นๆ ขอพูดแต่เฉพาะชวนวิถีเท่านั้น และทันทีที่ตื่นก็เหมือนกัน ตอนหลับก็หลับไปด้วยโลภะก่อนหลับ เวลาตื่นบางคนก็ตื่นพร้อมกับโลภะทันที โดยยังไม่ทันรู้ตัวว่าจะทำอะไรเลย แสดง ให้เห็นถึงการเสพคุ้นเคยของการสะสม เพราะฉะนั้น แม้จะเปลี่ยนภพชาติ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตเกิดและดับไป วิถีจิตทางมโนทวารเกิดต่อก็ต้องเป็น โลภมูลจิต ๗ ขณะทำชวนะกิจ

เพราะฉะนั้น เวทนาที่เป็นไปทางมโนทวาร เกิดก่อนวิถีจิตทางปัญจทวาร แต่ดับทีหลังในปวัตติกาล คือ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้วจนกระทั่งถึงจุตินั่นเป็น ปวัตติกาล ในปวัตติกาลเวทนาที่เป็นไปในทวาร ๕ เป็นไปอยู่ด้วยอำนาจทวาร ๕ แล้วแต่ว่าทางตาจะเห็น ทางหูจะได้ยิน ทางจมูกจะได้กลิ่น ทางลิ้นจะลิ้มรส ทางกายจะกระทบสัมผัส ก็เกิดหลังมโนทวารวิถีซึ่งเป็นวาระแรกหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับเพราะฉะนั้น เวทนาที่เป็นไปทางทวาร ๕ เกิดขึ้นทีหลัง แต่ดับก่อน

... ในเวลาที่คนมีอายุ ๒๐ ปี เป็นต้น ในปฐมวัย ย่อมมีกำลังแรงยิ่งด้วยอำนาจความรัก ความโกรธ และความหลง ในเวลาที่คนมีอายุ ๕๐ ปี ย่อมคงที่ จำเดิมแต่เวลาที่คนมีอายุ ๖๐ ปี ก็จะเสื่อมลง ครั้นถึงเวลาที่คนมีอายุได้ ๘๐ - ๙๐ ปี ก็จะอ่อนลง (ในที่สุด) ในครั้งนั้น (คือในเวลาที่อายุ ๘๐ - ๙๐ ปี) เมื่อพวกชนกล่าวว่า พวกเรานั่งนอนรวมกันเป็นเวลานาน ท่านเหล่านั้นก็กล่าวว่า พวกเราไม่รู้สึก คือ ย่อมกล่าวถึงอารมณ์มีรูปเป็นต้นแม้มีประมาณยิ่งว่า เราไม่เห็น ไม่ได้ยิน คือไม่รู้ว่า กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น ดีหรือไม่ดี แข็งหรืออ่อน เวทนาอันเป็นไปทางทวาร ๕ ของชนเหล่านั้นย่อมเป็นอันเสื่อมแล้วอย่างนี้ ส่วนเวทนาที่เป็นไปทางมโนทวารยัง เป็นไปอยู่ เวทนาแม้นั้น เมื่อเสื่อมไปโดยลำดับ ย่อมอาศัยที่สุดแห่งหทัยนั่นแหละเป็นไปในเวลามรณะ

เปิด  241
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566