แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1981

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๔


ถ. แต่ข้อเท็จจริง เวทนาที่เกิดกับปฏิสนธิจิตก็ต้องดับพร้อมกับปฏิสนธิจิต

สุ. แน่นอน แต่ที่พูดในพระสูตรนี่หมายความถึงในช่วงหนึ่งของชาติหนึ่งว่า เวทนาไหนจะเกิดก่อนเวทนาไหน และเวทนาประเภทไหนจะดับทีหลัง

ถ. คล้ายกับท่านจะพูดว่า คนเราเกิดมายังหนุ่มยังสาวอยู่ อะไรๆ ก็กระชุ่มกระชวย รู้สึกว่าไม่แก่ แต่เมื่อแก่แล้ว อะไรๆ ก็รู้สึกจะหายไป อย่างหูเคย ได้ยินถนัดชัดเจนก็ชักจะไม่ค่อยได้ยิน ตาเคยเห็นถนัดชัดเจนก็ไม่ค่อยจะเห็น อะไรทำนองนี้ ก็เป็นอันว่าเกิดทีหลังแต่ดับก่อน คือ ดับก่อนจุติจะเกิด ใช่ไหม

สุ. เป็นการแสดงประกอบกันทั้งพระอภิธรรมและพระสูตร แสดงให้เห็นว่า ถ้าโดยนัยของพระอภิธรรมแล้ว เวทนาเจตสิกเกิดกับจิต ดับพร้อมจิต แต่โดยนัยของพระสูตรจะแสดงให้เห็นช่วงชีวิตว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่เวทนา ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเกิดมาก็จะค่อยๆ เริ่มเจริญขึ้น เพิ่มขึ้น มากขึ้น และเสื่อมลง จนกระทั่งดับเมื่อไรก็ชื่อว่าสัตว์ตายเมื่อนั้น และแสดงให้เห็นว่า ในบรรดาเวทนาที่เป็นไปทางทวาร ๕ กับเวทนาที่ไม่ใช่ทางทวาร ๕ นั้น เวทนาใดเกิดก่อน แต่ดับทีหลัง ไม่ใช่ยังไม่ดับและไปดับเอาตอนจุติ

ถ. พูดถึงเวทนา ๓ ที่มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา คนเรามักจะติดในสุขเวทนา ทำอะไรก็เอาสุขเป็นที่ตั้ง ไม่ทราบว่ามีทางใดที่จะละเลิกลงได้บ้าง

สุ. ต้องฟังพระธรรมและเห็นว่าเวทนานั้นสั้นมาก เพียงชั่วขณะจิตเดียว ทุกอย่างที่เป็นสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏที่เป็นกามาวจรธรรมสั้นที่สุด เพียงเกิดและดับ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดูเหมือนมี แท้ที่จริงหมดแล้ว สิ่งที่มีก็กลับไม่มี ไม่มีอะไรเหลืออีกจริงๆ

ถ. ข้อความที่ว่า เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีในกวฬิงการาหารได้แล้ว ก็เป็นกำหนดรู้ความยินดีในเบญจกามคุณ ๕ และเมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีในเบญจกามคุณ ๕ ได้แล้ว สังโยชน์ที่จะชักนำอริยสาวกมาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มีอีกแล้ว เรียนถามท่านอาจารย์ว่า ที่ท่านบอกว่า กำหนดรู้ความยินดีในเบญจกามคุณ ๕ หมายถึงละได้แล้ว หรือเพียงกำหนดรู้เท่านั้น

สุ. ก่อนจะละก็ต้องรู้

ถ. หมายถึงทั้งกำหนดรู้และก็ละได้แล้ว ใช่ไหม จึงไม่มีสังโยชน์ที่ชักนำให้ท่านกลับมาสู่โลกนี้

สุ. ใช่

ถ. ได้ยินบ่อยๆ ที่กล่าวว่า ตามนัยพระอภิธรรม กับนัยตามพระสูตร และก็ต่างกัน ผมฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ ทำไมต้องต่างกัน

สุ. ที่จริงประกอบกัน ไม่ใช่ต่างกัน ต่างกันไม่ได้เลย แต่ประกอบกัน

ถ. ผมได้ยินเหมือนกับว่า ตามนัยของพระอภิธรรมแล้ว เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แต่นัยของพระสูตรนั้น มีการเกิดก่อน ...

สุ. ความหมายที่ว่า เกิดก่อนดับทีหลัง หมายถึงบรรดาเวทนาซึ่งแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เวทนาที่เป็นไปทางทวาร ๕ และเวทนาที่ไม่เป็นไปทางทวาร ๕ เวทนาที่ไม่ได้เป็นไปทางทวาร ๕ เกิดก่อน และเกิดดับๆ ไป แต่ท้ายที่สุดดับทีหลัง หมายความว่า เมื่อจะจากโลกนี้ไป ขณะที่จุติจิตเกิด ไม่ใช่ขณะที่จักขุวิญญาณเกิด ไม่ใช่ขณะที่โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเกิด เพราะฉะนั้น จึงแสดงว่า เวทนาที่ไม่ใช่ทางทวาร ๕ ดับทีหลัง

ถ. เข้าใจ เพราะฉะนั้น ตามนัยของพระอภิธรรมก็เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันก็ไม่ถูก

สุ. นัยของพระสูตร ผู้นั้นต้องเข้าใจพระอภิธรรมดี ถ้าไม่เข้าใจพระอภิธรรม จะไม่เข้าใจพระสูตรเลย หรืออาจจะเข้าใจผิด แต่เวลาที่เข้าใจพระอภิธรรมแล้ว พระสูตรจะประกอบพระอภิธรรม ซึ่งจะทำให้เห็นว่า ในสังสารวัฏฏ์เริ่มอย่างไรใน ชาติหนึ่ง คือ ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะนั้นเป็นเวทนาซึ่งไม่ใช่เป็นไปทางทวาร ๕ นั่นตอนหนึ่ง และระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้หมายความว่าปฏิสนธิจิตไม่ได้ดับเลย ปฏิสนธิจิตต้องดับ ผู้ที่เข้าใจธรรมแล้วต้องรู้ว่า สภาพธรรมทุกอย่างเกิดดับ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับทันที

ถ. ตรงนั้นเข้าใจ

สุ. เมื่อเข้าใจแล้ว หลังจากนั้นต่อมา เว้นช่วงยาว แล้วแต่ว่าจักขุวิญญาณจะเกิด หรือโสตวิญญาณจะเกิด ฆานวิญญาณจะเกิด ชิวหาวิญญาณจะเกิด ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน แม้ในวันนี้ แสดงให้เห็นว่า เวทนาเกิดกับจิตแต่ละขณะ แต่ถ้าเป็นไปทางทวาร ๕ ก็จัดเป็นประเภทหนึ่ง และถ้าไม่เป็นไปทางทวาร ๕ ก็เป็น อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งจะดับทีหลัง เมื่อเข้าใจแล้วจะพูดอย่างสั้นก็ย่อมได้

ถ. สรุปถ้าเข้าใจแล้วจะมองเห็นว่า ทุกอย่างเหมือนกัน

สุ. จะเข้าใจความหมายที่มีอยู่ในข้อความนั้น

ถ. เรื่องเวทนาเป็นเรื่องยากมาก สำหรับผมเองการระลึกรู้ในสภาพธรรมเกี่ยวกับเวทนา จะพูดว่าไม่เคยเกิดเลยก็ได้ ทั้งๆ ที่เวทนาเจตสิกเป็นปรมัตถธรรม ๑ ในปรมัตถธรรม ๔ เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง มีอยู่ตลอดเวลา และเป็นหนึ่งในสี่ ของสติปัฏฐาน คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และอ่านในหนังสืออาจารย์พบว่า ถ้ายังไม่ระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นเวทนา ไม่มีทางรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็สะกิดใจว่า ทำอย่างไรจะรู้เวทนาบ้าง ซึ่งอาจารย์ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเวทนาว่า เมื่อเวทนาเกิดขึ้น ถ้าระลึกต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คือ เป็นนามธรรม

เมื่อกี้อาจารย์ก็ได้ยกตัวอย่างว่า ระลึกที่แข็ง เมื่อระลึกที่แข็งแล้วจะมีเวทนาเกิดขึ้น ในขณะนั้นถ้าเป็นแข็งหรืออ่อนเกินไปอาจจะไม่สบาย แต่ถ้าพอดีมีความสบายก็เกิดสุขเวทนา ถ้าแข็งเกินไปอาจจะเกิดทุกขเวทนาได้ ซึ่งก็เป็นเวทนาที่เกิด ในชีวิตประจำวันอยู่ตลอด แต่แม้กระนั้นเวทนาก็ยังไม่เคยเกิดเลย ผมเข้าใจว่าคงยัง ฟังไม่พอ

สุ. ขออนุโมทนา นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาจริงๆ เพราะต้องเป็นผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นผู้รีบร้อนอยากจะทำ และ ก็อยากจะหมดกิเลส แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟัง พิจารณา และรู้ตามความเป็นจริงว่า สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด และยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดบ้าง เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาฟังพระธรรมทุกคนมีความเข้าใจขั้นปริยัติ แต่บางท่านก็ได้สนทนาธรรมกันและถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าจิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

โดยตำราตอบได้ กุศลจิตย่อมเป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในภาวนาบ้าง และในทานก็มีทั้งอามิสทาน วัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน สำหรับศีลเป็นเรื่อง ทั้งกายวาจาที่เว้นไม่ควรกระทำทุจริต ควรกระทำสิ่งที่ดีงาม แต่แม้กระนั้นในขณะนี้ ที่กำลังนั่งอยู่ ก็ยังมีผู้ที่ถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

เพียงคำถามสั้นๆ อย่างนี้ จะตอบว่าอย่างไร ขณะนี้จะรู้ได้อย่างไรว่า จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แสดงให้แล้วเห็นว่า ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะพูดเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องเวทนา เรื่องความติดข้อง เรื่องโลภะต่างๆ ทั้งๆ ที่มีอยู่ แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เช่น ถ้ารู้ว่าขณะใดที่จิตระลึกถึงประโยชน์สุขของบุคคลอื่นโดย ไม่มีความติดข้อง จะมีการกระทำทางกาย ทางวาจา ต่อบุคคลอื่นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเขา โดยไม่มีความยึดมั่น หรือไม่มีความผูกพันที่เป็นโลภะ ขณะนั้นจึงจะเป็นกุศลแม้แต่การให้ก็ยังต้องพิจารณาจิตว่า ในขณะนั้นให้ด้วยความผูกพัน หรือ ให้โดยไม่ติดข้อง ไม่ผูกพันเลย แต่ให้เพราะคำนึงถึงประโยชน์สุขของผู้รับ ก็จะเห็น ได้ว่า ลักษณะของกุศลจิตจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร นี่โดยขั้นฟัง แต่เวลาที่จะรู้จักลักษณะของกุศลจิต หรือไม่ใช่กุศลจิต ต้องเป็นสติปัฏฐานที่ระลึก และรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นที่เป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรมเสียก่อน

เรื่องสภาพธรรมเป็นเรื่องที่รู้ยาก แม้แต่เวทนา อย่างที่หลายท่านก็กล่าวว่า ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา และแม้แต่ข้อความตอนท้ายของมโนสัญเจตนาหาร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหา ทั้ง ๓ ได้แล้ว

ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้เลย ใช่ไหม แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว ทุกคนมีตัณหา แต่ถ้าไม่รู้ ก็เหมือนไม่มี

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

แสดงให้เห็นถึงการที่จะต้องรู้ยากแค่ไหน แม้แต่ในเรื่องของตัณหา

สำหรับมโนสัญเจตนาหาร ข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อรรถกถาวิภังคสูตรที่ ๒ มีข้อความเรื่องสังขาร คือ

สังขารมีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ ก็ในการจำแนกสังขารนั้น มีอธิบายดังนี้ คำว่า กายสังขารนี้ เป็นชื่อแห่งกายสัญเจตนา ๒๐ คือ ฝ่ายกามาวจรกุศลจิต ๘ ฝ่ายอกุศลจิต ๑๒ ที่เป็นไปด้วยอำนาจไหวกายทวาร

ทุกคนมีจิต และวันหนึ่งๆ ก็มีกุศลจิต อกุศลจิต และมีการไหวกาย ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางรู้เลยว่าที่กายไหวนั้นเพราะอกุศลจิตหรือกุศลจิต แต่ ถ้ารู้ความหมายจะเห็นว่า ชีวิตประจำวันก็คือข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัส เรื่องการไหวทางกาย กายสังขาร ซึ่งเป็นไปโดยกามาวจรกุศลจิต ๘ หรืออกุศลจิต ๑๒ นั่นเอง

เป็นเรื่องจริง เป็นความจริง และพิสูจน์ได้ ถ้าสติระลึกในขณะที่มีการไหวกาย บางท่านกำลังไหวกายอยู่ ถ้าสติระลึกจะรู้ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เป็นความต้องการ แม้แต่เพียงจะเอื้อมมือซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะมีการขยับมือเท้า ร่างกายส่วนต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และบางท่านอาจจะบริหารร่างกายเพื่อสุขภาพ เป็นประจำ ในขณะนั้นก็มีการเคลื่อนไหวมือเท้า กายสังขารในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิต ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีการระลึก ก็ไม่เห็นโลภะ แต่ถ้ามีการระลึกรู้ จะรู้ได้เลยว่า ขณะนั้นจิตมีความต้องการรูปนั้นจึงไหวไป

คำว่า วจีสังขารนี้ เป็นชื่อแห่งวจีสัญเจตนา ๒๐ เหมือนกัน ที่เป็นไปด้วยอำนาจการเปล่งวาจาในวจีทวาร

ชีวิตประจำวันทุกคนก็พูดหลายเรื่อง แล้วแต่ว่าในขณะนั้นพูดด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิต แม้แต่ที่กำลังพูดก็เป็นสภาพธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป และสามารถรู้ได้ว่า พูดด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ หรือด้วยกุศลจิต ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการเห็นตัณหา แต่ขณะใดที่พูดสามารถรู้ได้เลยว่า พูดด้วยความพอใจเรื่องที่กำลังสนุกสนาน หรือพูดด้วยจิตที่ขุ่นเคืองไม่เบิกบาน ไม่แช่มชื่น ขณะนั้นเป็นโทสะ

สภาพธรรมมีเป็นประจำจริงๆ แต่ก็ยากที่จะรู้ได้

คำว่า จิตตสังขารนี้ เป็นชื่อแห่งมโนสัญเจตนา ๒๙ คือ กุศลจิต ๑๗ และอกุศลจิต ๑๒

คือ ทางใจ เพิ่มจากกามาวจรกุศล ๘ อีก ๙ ซึ่งได้แก่ รูปาวจรกุศล ๕ อรูปาวจรกุศล ๔ รวมเป็น ๑๗

เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่มีการไหวไปทางกายหรือทางวาจา ขณะนั้นใจไม่ได้ หยุดนิ่ง มีสังขารธรรมที่จะปรุงแต่งให้เป็นกุศลหรืออกุศลอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ความ คิดนึก ขณะนั้นยังไม่ได้พูด แต่ก็คิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต หรือยังไม่ได้เคลื่อนไหวเลย ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตได้ สำหรับผู้ที่ฌานจิตไม่เกิด เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมมีอยู่ แต่ว่ายากที่จะรู้ได้

สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อรรถกถา วิภังคสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

สัจจะทั้ง ๒ ข้างต้น (คือ ทุกข์และทุกขสมุทัย) ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยาก

ทุกขสมุทัย คือ ตัณหา มีอยู่ตลอดเวลาก็ไม่สามารถเห็นได้ สิ่งนั้นไม่ใช่ว่า ไม่มี สิ่งนั้นไม่ใช่ว่าไม่เกิด สิ่งนั้นเกิดขึ้นมีแต่ไม่เห็น เพราะว่าลึกซึ้งที่จะเห็น

สัจจะทั้ง ๒ ข้างท้าย (คือ นิโรธสัจจะ และนิโรธคามินีปฏิปทาคือมรรคสัจจะ) เห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง

ไม่ใช่มีอยู่เป็นประจำให้เห็นเหมือนอย่างทุกข์และทุกขสมุทัย แต่ว่ายากที่จะเกิด เพราะเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก รู้ยาก ที่จะเข้าใจว่าหนทางใดเป็นสัมมามรรคจริงๆ เป็นมัชฌิมาปฏิปทาจริงๆ คือ ทันทีที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้น ไม่มีอภิชฌาและโทมนัส ขณะนั้นไม่ใช่กลัวที่จะไม่ระลึกลักษณะของโลภะ

โลภะมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะใด ขณะนั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นหนทางสายกลาง ซึ่งขณะนั้นไม่ได้เป็นไปด้วยโทมนัสหรืออภิชฌา

ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก ลึกซึ้ง เห็นยาก

ข้อความในอรรถกถามีว่า

เพราะเห็นสภาวะลักษณะโดยอรรถที่ควรกล่าวได้ยาก (ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่) ย่อมเป็นไปในความไม่รู้นั้น เพราะยึดถือคลาดเคลื่อนไปจากความจริง

แสดงให้เห็นว่า การรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ มีหนทางเดียว คือ เมื่อ รู้ว่าในขณะนี้มีสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นทันที

ผู้ฟัง ปัญหาที่มีผู้ถามท่านอาจารย์เมื่อสักครู่นี้ เป็นปัญหาที่เกิดมาก ทุกคนที่สนใจธรรมจริงๆ จะเกิดความสับสนในเรื่องเหล่านี้มาก แต่มีสิ่งที่น่าสังเกต อย่างหนึ่ง คือ ส่วนมากเรามักจะศึกษาธรรมก่อนเพื่อให้รู้จักสภาวธรรม ก็เหมือนเราจะเดินทาง ทางมีอยู่แล้ว แต่เราศึกษาทางโดยแผนที่ ตัวเรายังไม่ได้ลงไปเดินจริงๆ เราจึงไม่รู้จักทุกข์ที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร กิเลสมันนอนเนื่องอยู่ เลยไม่รู้ทุกข์จริงๆ ว่า อยู่ตรงไหน ทำไมพระพุทธองค์ตรัสเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นมา คือ เป็นทางสายกลาง ความจริงทางสายกลาง ถ้าคนไม่ได้ศึกษาธรรมจริงๆ ไม่มีอยู่ในธรรมจริงๆ ก็คงเพียงรู้สึกว่าเป็นทางสายกลางเท่านั้น แต่จริงๆ เป็นอย่างไรคงไม่ทราบ ในเมื่อไม่ทราบว่า เป็นอย่างไร ปัญญาที่จะไปหาให้รู้แจ้งทางสายกลางนั้นก็หาไม่เจอ เป็นลูกโซ่ติดตามไปเช่นนี้

ถ. เป็นไปได้ไหมว่า ไม่ได้ศึกษาอะไร ลงมือเดินเลย ทำเลย เหมือนท่านเมื่อกี้ที่พูดว่า การศึกษาจะวุ่นวายยุ่งยากสับสน เพราะต้องไปจำข้อธรรมอะไรมากมาย ลงมือทำเลย เดินเลย เหมือนอย่างกับเดินทาง ไม่ต้องไปศึกษาแผนที่ ลงมือเดินเลย จะเป็นไปได้ไหมที่ไม่รู้อะไรและปฏิบัติ

สุ. เดินไปไหน

ถ. ไม่ทราบเหมือนกัน

สุ. ไม่ทราบไม่ได้ เดินได้ แต่ไปไหน ทุกคนก็เดินได้ แต่เดินไปไหน ถ้ามีคนถามว่าไปไหน บอกว่าไม่ทราบ ก็ยิ่งแย่

ถ. ลงมือเดินแล้วจะรู้เอง เห็นมีอยู่ ๒ ท่านเท่านั้นเอง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ไม่ต้องศึกษาจากใคร นอกนั้นต้องศึกษา จะน้อยจะมากเท่านั้น ขอให้มีความเข้าใจ

สุ. เฉพาะในชาติที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ไม่ต้องศึกษาจากใคร ไม่ได้หมายความว่าในอดีตอนันตชาติพระองค์ไม่ได้ทรงศึกษาจากคนอื่น ต้องเป็นพหูสูต

เปิด  244
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566