แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1982

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๔


ถ. บอกให้ทำโดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ก็ผิดตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว

สุ. เพราะส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นปัญญา สมาธิไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ สภาพธรรมอื่นก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ การรู้แจ้งสภาพธรรมต้องเป็นหน้าที่หรือเป็นกิจของปัญญาเจตสิก ขณะนี้ สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่เจริญอบรมแล้วประจักษ์ไม่ได้ อวิชชา ไม่สามารถเห็นอริยสัจจธรรม เพราะว่าอวิชชาปกคลุมหุ้มห่อไม่ให้อริยสัจจธรรมปรากฏซึ่งมีผู้เข้าใจว่า ท่านปฏิบัติเองโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม และมีความเข้าใจว่า ท่านได้ประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมด้วย

นี่เป็นสิ่งที่ทุกท่านควรจะต้องพิจารณา เนื่องจากการรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ข้อสำคัญที่สุด คือ ถ้ายังไม่ได้ศึกษา ยังไม่ได้ฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ และยึดถือว่าเป็นเรามาตลอด ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้น การที่จะไถ่ถอนความยึดมั่นที่เคย เห็นว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน เราสุข เราทุกข์ ก็ต้องอาศัยความรู้ที่เกิดจากการฟัง พระธรรมให้เข้าใจว่า ปัญญาที่เป็นการภาวนาที่จะต้องอบรมจากชาติหนึ่งไปอีก ชาติหนึ่ง หรือจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง จากวันหนึ่งไปอีกวันหนึ่ง เรื่อยไปในสังสารวัฏฏ์ ก็คือปัญญาที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เมื่อไม่ใช่ตัวตนแล้ว สภาพธรรมในขณะนี้เป็นอะไร

ในขั้นของการฟัง จะต้องเข้าใจ และเมื่อฟังแล้วก็รู้ว่านั่นเป็นความเข้าใจขั้นฟัง เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฟังเลย แต่คิดว่าได้เข้าใจธรรมแล้ว ได้รู้แจ้งธรรมแล้ว ได้ประจักษ์ธรรมแล้ว ผู้นั้นก็ควรจะเฉลียวใจและพิจารณาว่า ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจธรรมก่อนแล้วไปปฏิบัติ หรือคิดว่าท่านสามารถปฏิบัติเองได้โดยที่ไม่ต้องเข้าใจธรรมปฏิบัติไปโดยไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรเลยก่อน ผลจะเป็นอย่างไร

ท่านอาจจะเข้าใจว่า ท่านได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแล้ว แต่ขอให้ใคร่ครวญว่า ปฏิบัติอย่างไร ในเมื่อไม่รู้อะไรเลย ผลจะเป็นอย่างไรจากการที่ไม่รู้ และความรู้ที่ต้องการนั้น ท่านผู้นั้นอาจจะยังไม่เข้าใจว่าจะต้องเริ่มจากที่ไหน เพราะท่านเข้าใจว่า ท่านปฏิบัติแล้ว ประจักษ์แล้ว และท่านมาฟังก็เพื่อที่จะได้รู้คำที่ใช้เรียกสิ่งที่ท่านได้ประจักษ์

นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาและรู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาจริงๆ นั้น คืออะไร ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นการเตือนให้ผู้ฟังได้พิจารณาว่า ปัญญาที่ถูกต้อง ปัญญาที่แท้จริงนั้นรู้อะไร เช่น ข้อความใน ปุตตมังสสูตร ตอนท้ายของมโนสัญเจตนาหาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นหนทางปฏิบัติที่ไม่รู้ตัณหา หนทางนั้นจะถูกหรือจะผิด ในเมื่อตัณหามีทั้งวัน ตัณหาหรือโลภะก็คือสภาพธรรมที่ต้องการ อยากได้ ติดข้อง ซึ่งวันหนึ่งๆ เมื่อเห็นแล้วก็เกิดความยินดีพอใจ ได้ยินแล้วก็เกิดความยินดีพอใจ ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ขณะใดที่ไม่เป็นความไม่แช่มชื่น ไม่ขุ่นเคือง ไม่สบายใจ ขณะนั้นแม้เป็นโลภะก็ไม่รู้ว่าเป็นโลภะ

หนทางที่ไม่ทำให้รู้จักโลภะแต่มีความรู้สึกว่า ได้ประจักษ์ธรรมแล้ว สบาย โดยไม่รู้ว่าที่สบายนั้นเป็นโลภะ ไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นโลภะ เพราะเข้าใจว่า กิเลสหมด ไม่มีกิเลสแล้วสบาย หนทางนั้นจะเป็นหนทางที่ถูกได้ไหม ในเมื่อโลภะ มีมากในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น หนทางใดที่ทำให้เห็นโลภะตามความเป็นจริง รู้จักโลภะตามความเป็นจริง หนทางนั้นเป็นหนทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ใช่หนทางที่จะ ทำให้เห็นโลภะ หนทางนั้นไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง

ถ้าจะไม่ให้มีโลภะแล้วปฏิบัติ หรือปฏิบัติแล้วไม่เห็นโลภะ หนทางนั้นจะถูกไม่ได้เลย เพราะแม้โลภะมีอยู่ก็ไม่เห็น จะชื่อว่าเป็นปัญญาไม่ได้

ผู้ฟัง ผู้ที่ฟังอาจารย์บรรยายทางวิทยุก็ดี ตั้งแต่วัดสระเกศ หรือวัดมหาธาตุ ตลอดมาจนถึงที่วัดบวรนิเวศนี้ก็ดี บางคนฟังอยู่เฉยๆ ข้างเดียว ฟังอยู่กับบ้าน และไม่เคยไปสนทนากับใคร วันหนึ่งออกมาข้างนอก เจอกันเข้าก็บอกว่า ตนเองได้ รู้แจ้งแล้ว ได้ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมเกิดดับแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเหมือนกัน เพราะผมเองสมัยที่ฟังอาจารย์อยู่ข้างเดียวตลอดเวลาประมาณ ๕ ปี ก็มีความรู้สึกว่า เราได้เข้าใจอย่างนี้แล้ว อย่างโน้นแล้ว มีการประจักษ์บ้างแล้ว แต่ก็ยังสงสัยอยู่ มีครั้งหนึ่งท่านอาจารย์ได้ชวนสนทนาธรรมที่ตึก ส.ว. เป็นโอกาสที่ดีมาก นับว่าเป็น ปุพเพกตปุญญตาทีเดียว ถ้าไม่ได้สนทนาธรรมกับอาจารย์วันนั้น คงเข้าใจอะไรผิดๆ กว่าจะเข้าใจถูกได้คงต้องอีกนาน ตั้งแต่วันนั้นมาได้ทบทวนธรรมกับท่านอาจารย์ หลายๆ ข้อ หลายๆ อย่าง เป็นเวลา ๒ – ๓ เดือน ในช่วงนั้นเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องจากเดิมที่ฟังข้างเดียวไม่ออกมาดูโลกภายนอกเขา

เพราะฉะนั้น การสนทนาธรรมสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนทนาธรรม กับท่านอาจารย์สำคัญมากจริงๆ มิฉะนั้นแล้วตัวเองจะเข้าใจผิดว่า อย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ใช่แล้วอย่างนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับแล้ว เมื่อฟังๆ ไปแล้ว ท่านอาจารย์จะให้ข้อธรรมต่างๆ กับเรา อย่างเช่นถามว่า โลภะมีไหม ตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้โลภะมีไหม บอกไม่มี เวลานี้สบายมากอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ อย่างนี้ แสดงถึงความไม่เข้าใจ ผมยกตัวอย่างตอนหนึ่งที่ผมพอจำได้ที่เขาบอกว่า เขาไม่มี โลภะแล้ว ทุกข์ก็ไม่มี ขณะนี้เขายืนเป็นสุข เป็นต้น เพราะฉะนั้น การสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ สำคัญมากจริงๆ

สุ. ส่วนมากมักจะเข้าใจเองจากที่เริ่มฟัง เพราะไม่ทราบว่า ปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ นั้น ต้องอบรมเจริญจนกระทั่งมีกำลัง คมกล้าจริงๆ

บางท่านก็คิดว่า รู้แล้ว เช่น เวลาโกรธก็รู้ว่าโกรธ หรือสภาพที่แข็งก็รู้ว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เวลาที่ฟังว่า แข็งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรม ในขณะที่ฟังอย่างนั้นและมีลักษณะที่แข็งปรากฏ และก็รู้ว่าขณะนั้น แข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ท่านผู้นั้นก็คิดว่า นั่นเป็นปัญญาแล้ว นั่นประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับขั้นการประจักษ์ เพราะในขณะนั้นผู้นั้นจะต้องเริ่มเข้าใจว่า ก่อนฟังไม่ได้รู้เรื่องของนามธรรมและรูปธรรม และเมื่อเริ่มฟังก็เริ่มเข้าใจ แต่สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่คิดโดยชื่อว่า ที่แข็งนี่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นก็จะรู้ว่า ปัญญาขั้นนี้ไม่พอ แค่นี้ไม่พอ และต้อง รู้หนทางว่า จะอบรมเจริญปัญญาที่รู้ขึ้นๆ ในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้อย่างไร ซึ่งก็คือสติปัฏฐาน คือ จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ โดยแยกออกจากกัน ไม่ใช่เพียงนึกว่าขณะที่แข็งเป็นรูป แต่ต้องรู้ว่าตลอดชีวิตที่เคยยึดถือว่าเป็นเรานั้น เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง เพียงฟังรู้จักชื่อของ สภาพธรรม แต่ยังไม่รู้ยังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ เช่น ในขณะที่ฟัง กำลังเห็น และก็ฟังว่า เห็นไม่ใช่เรา เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ถ้าในขณะนี้ที่กำลังเห็นและสติไม่ระลึกที่จะรู้ว่า กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ ขณะนั้นก็เพียงแต่รู้ชื่อและก็บอกได้ว่า เห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปธรรม

แต่ถ้าฟังด้วยความแยบคายจะรู้ว่า ปัญญาจะต้องอบรมเจริญมากสักเท่าไร ที่จะละคลายการที่เคยเห็นสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งแท้ที่จริงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ คือ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

ถ้าระลึกลักษณะของสภาพธรรม และอบรมเจริญความรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทาง คือ ทางตาเริ่มที่จะเข้าใจในขณะที่กำลังเห็น ทางหู ก็เริ่มเข้าใจในขณะที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งสามารถแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทางออกได้เป็นปกติ ก็จะรู้ได้ เลยว่า ในขณะที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ในขณะนั้นเป็นนามธรรมประเภทไหน เพราะว่าก่อนนั้นไม่เคยเลยที่จะรู้

อย่างทางตาก็ยังแยกนามธรรมและรูปธรรมไม่ออก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่อยังไม่ได้แยกลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทาง ๖ ทวารนี้ จะไปประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมได้อย่างไร และจะเข้าใจว่าได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมแล้วก็ไม่ได้ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่ตรงต่อตนเองก็จะต้องรู้ว่า ปัญญายังอ่อน และเมื่อปัญญายังอ่อนก็ไม่มีหน้าที่อื่นใดเลย นอกจากเมื่อใดที่ได้ฟัง พระธรรมแล้วก็มีปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึก เริ่มที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย

ไม่น่าจะเบื่อ ใช่ไหม เป็นชีวิตประจำวัน ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่การฟังพระธรรมที่เข้าใจแล้วเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเมื่อสติดับก็ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร เพราะ รู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น จะไม่มีการขวนขวาย ไม่มีการดิ้นรนเดือดร้อนคิดว่า สติเกิดน้อย ปัญญาเกิดน้อย

แต่อะไรที่ทำให้คิดอย่างนั้น ความต้องการทำให้เดือดร้อนเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ขณะนั้นก็เป็นโลภะ เป็นความต้องการ ซึ่งไม่ได้ต้องการรูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ แต่กลับมีความต้องการปัญญา และถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะนั้นเองก็ไม่เดือดร้อนอีก เพราะระลึกรู้ลักษณะที่กำลังต้องการว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือลักษณะของโลภะ นี่คือลักษณะของความต้องการ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่เดือดร้อนเลย อกุศลเกิด มีเหตุปัจจัยจึงเกิด เมื่อสติเกิดจึงระลึก ถ้าสติไม่เกิด สภาพธรรมอื่นไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของการละคลายเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น คือ ละคลายแม้แต่ความต้องการที่จะให้สติเกิดมากๆ หรือปัญญาเกิดมากๆ เพราะว่าเป็นผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง

สติจะเกิดหรือไม่เกิด ใครจะทำอะไรได้ ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจขึ้นเป็น หนทางเดียวที่จะเป็นปัจจัยทำให้สติระลึกได้ และเมื่อสติดับ ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะต้องรู้ว่า ทางตาในขณะที่เห็นแล้วไม่รู้ขณะใด หนทางเดียวที่จะรู้ขึ้น คือ ขณะที่ สติระลึกได้ และค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เพิ่มความเข้าใจขึ้น

ด้วยเหตุนี้ผู้นั้นเองเป็นผู้ที่รู้ว่า การละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนต้องมี ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมโดยไม่มี ความรู้ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีการค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ ละคลายความสงสัยความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน หนทางที่ถูก คือ หนทางละความต้องการแม้ผล เพราะว่าผลไม่ได้เกิดจากความต้องการ แต่เกิดในขณะที่สติเกิด

ได้ทราบว่า มีท่านที่มาจากต่างจังหวัดและสงสัยเรื่องการปฏิบัติ ขอเชิญ

ถ. ผมเดินทางมาจากจังหวัดสุพรรณ มีปัญหาหลายข้อ ขอถามปัญหาเกี่ยวกับสมถกัมมัฏฐาน ที่บ้านผมมีหลายสำนักที่เขาเจริญสมถะแบบนี้ คือ นำเอาพระพุทธรูปมาตั้ง และนั่งบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ เอาพระพุทธรูปนั้นเป็นอารมณ์ ผมเคยศึกษามาบ้างว่า พุทโธนั้นหมานความถึงผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้บรรลุอริยสัจจ์ ๔ และทรงสอนให้มนุษย์ เทวดา มาร พรหมทั้งหลายรู้ตาม ถ้าอย่างนั้นจะไม่ขัดกันหรือ และเป็นพุทธานุสสติกัมมัฏฐานหรือเปล่า

สุ. สมถภาวนา หมายถึงจิตที่เป็นกุศลที่สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศล เพราะว่าวันหนึ่งๆ สภาพของจิตหลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว คิดนึกเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่รู้ว่าจิตขณะนี้เป็นกุศลหรืออกุศล ผู้นั้นจึงสามารถอบรมเจริญสมถภาวนาได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต

ถ. ผมเข้าใจว่า เขาคงยึดเอานิมิตคือพระพุทธรูปทั้งองค์เป็นอารมณ์ เขาคงไม่ได้ระลึกในพระคุณของพระพุทธเจ้า จะเป็นสมถะหรือไม่

สุ. ถ้าใช้คำว่า สมาธิ คงจะไม่ผิดใช่ไหม เพราะในขณะนั้นจิตตั้งมั่นจดจ่ออยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด

ถ. เป็นสมาธิ คงไม่ผิด ใช่ไหม

สุ. แต่สมาธิมี ๒ อย่าง สัมมาสมาธิ กับมิจฉาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ต้องเป็นกุศลจิต และต้องประกอบด้วยปัญญาจิตจึงจะสงบมั่นคงขึ้น ถ้าเพียงแต่ นึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่ แต่ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิต ในขณะนั้นว่าสงบหรือไม่สงบ ขณะนั้นก็ไม่ได้เจริญกุศล เพราะต้องเป็นกุศลจิตจึงสงบ ถ้าเป็นอกุศลจิตไม่สงบ

ถ. คงจะน้อยคนที่จะเข้าใจว่า จิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะเขาไม่ได้ศึกษาปรมัตถธรรม

สุ. ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่สมถภาวนา

ถ. ถ้าเพ่งพระพุทธรูปเป็นอารมณ์อย่างที่ผมว่า แต่เปลี่ยนคำว่า พุทโธ เป็นคำว่า ภควา จะผิดไหม เพราะภควาที่ผมศึกษามาแปลว่า ผู้ที่มีบุญ ๖ ประการ และมีสิริอยู่ด้วยซึ่งหมายความว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีรูปร่างงดงามชวนดูไม่เบื่อ ถ้าเอาเป็นอารมณ์ โดยเอาพระพุทธรูปแทนองค์ของพระพุทธเจ้า จะเจริญในข้อที่ว่า ภควา ได้ไหม

สุ. ใช้ชื่ออะไร ใช้คำอะไร ก็เหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจ เพราะว่าการเห็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น พระพุทธรูป จะถือว่าพระพุทธรูปนั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้

ถ. เข้าใจว่า ส่วนมากคิดอย่างนั้น

สุ. เพียงแต่เป็นสิ่งที่เตือนให้ระลึกถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าเป็นการระลึกถึงพระคุณ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ขณะที่จิตระลึกถึงด้วยความนอบน้อมในพระคุณ ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ถ้าเพียงพูด คำว่า ภควา หรือพูดคำว่า พุทโธ โดยที่ไม่เข้าใจความหมายอะไรเลย หรือโดยคิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างนั้นก็ไม่ถูก

ถ. อย่างนั้นจะเป็น ... กสิณได้ไหม

สุ. ต้องจิตสงบ แต่ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีทางรู้ได้แน่นอนว่า สงบหรือไม่สงบ อาจจะคิดว่าสงบ แต่ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะจะไม่รู้ว่า สงบ ต่างกับไม่สงบ

เปิด  235
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566