แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1984

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔


ข้อความตอนท้ายของมโนสัญเจตนาหาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งอื่นที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

เพียงเท่านี้ ไม่มีสิ่งอื่นที่ต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ถ้าสามารถกำหนดรู้ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ภวตัณหา ความยินดีพอใจในภพ หรือในความเห็นผิดว่าเที่ยง และวิภวตัณหา ความยินดีพอใจในความเห็นว่าตายแล้วสูญ

ถ้ารู้จริงๆ ใช้คำว่า รู้จริงๆ เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งอื่นที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

ขณะใดที่ไม่ได้เคลื่อนไหวกาย วาจา จิตไม่ได้ปรุงแต่งให้กายไหวไปเป็น กายสังขารหรือวจีสังขาร ขณะนั้นมีจิตและมีเจตนาเกิดร่วมด้วยเป็นมโนสัญเจตนาหาร

เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว ยังไม่ต้องเคลื่อนไหว แต่จิตไม่อยู่นิ่ง จิตเห็นเกิดแล้วดับไป จิตได้ยินเกิดแล้วดับไป จิตก็คิดนึก ถ้าสติปัฏฐานเกิดรู้สภาพของจิตที่คิดนึกในขณะที่กายยังไม่ได้ไหว ยังไม่ได้กล่าววาจาใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นจะเห็นโลภะไหม

จิตที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ โดยมากท่านผู้ฟังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อาจจะมีความสนใจในสิ่งที่ทำ ต้องการทำสิ่งนั้นจนลืมพิจารณาสภาพของจิตที่ต้องการทำสิ่งนั้น ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะจิตที่ต้องการ แต่ถ้าอยู่เฉยๆ และสติเกิดระลึกลักษณะของจิตในขณะนั้น จะรู้ได้เลยว่า มีจิตที่คิดนึกเรื่องราวบัญญัติสลับกับ จิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน ซึ่งเป็นชั่วขณะที่สั้นๆ

ทุกคนอาจจะไม่เคยพิจารณาจิต แต่ถ้าเริ่มพิจารณาระลึกลักษณะของจิต จะเห็นได้ว่า มีจิตที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ

ในขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ จะไม่ทราบว่าเป็นโลภมูลจิต จนกว่าจะ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรมเสียก่อน ถ้ายังไม่รู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ นามธรรมคือสภาพที่กำลังเห็น คือ กำลังรู้ เป็นสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะที่อยู่เฉยๆ ยังไม่ได้เคลื่อนไหวกาย วาจา ระลึกลักษณะของจิต ก็คิดนึกเป็นปกติ นี่คือชีวิตธรรมดา มีใครที่ชีวิตธรรมดาไม่เป็นอย่างนี้บ้างไหม อยู่เฉยๆ โดยไม่คิดอะไร มีไหม ไม่มี ปกติแล้วก็ต้องคิด

ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ต่างกับขณะที่คิด เพราะฉะนั้น ผู้มีปกติเจริญ สติปัฏฐานที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพจิตที่คิด ไม่มี และต้องรู้ด้วยว่า แม้ขณะนั้น เป็นของจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งคิดเรื่องราวต่างๆ ในขณะนั้นสามารถรู้ความต่างกันของปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะ เพราะถ้าเป็นปรมัตถสัจจะก็เป็นการรู้รูปบ้าง รู้เสียงบ้าง รู้กลิ่นบ้าง รู้รสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง แต่เวลาที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ในขณะนั้นจิตรู้สมมติสัจจะ เพราะว่าไม่ได้มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์

ปัญญาต้องเริ่มเจริญจนกระทั่งรู้ว่า ขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะใดไม่ได้มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ จึงเริ่มเห็นความไม่มีสาระของความนึกคิดว่า ความนึกคิดเกิดเพียงชั่วขณะและหมดไป และในขณะที่เห็นไม่ใช่ในขณะที่คิด

ความคิดนึกจะสลับกับปรมัตถอารมณ์ เมื่ออบรมเจริญต่อไปก็สามารถรู้ได้ว่า จิตที่คิดในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เป็นความยินดี เป็นความต้องการ ไม่ว่าจะคิดเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จึงสามารถเห็นได้ว่า คิดเป็นกามตัณหา เป็นความชอบใจ คิดไป เพลินไป ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือคิดเป็นภวตัณหา มีความยินดีในความเห็นว่าเที่ยง หรือคิดด้วยวิภวตัณหา มีความชอบใจในความคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดแล้วก็สูญไปเมื่อตาย

แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมตามปกติเป็นความจริงอย่างไร ปัญญาก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่ต่างกันเลย

มีท่านผู้ฟังสงสัยในตอนนี้ไหมที่ว่า เมื่อเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และรู้ มโนสัญเจตนาหารย่อมรู้ตัณหา ๓

ผู้ฟัง สำหรับคนที่มีความคิดเห็นว่า เที่ยงก็ดี หรือสูญก็ดี ขณะที่เขาคิด เขาเพลินไป เขาก็ไม่รู้ด้วย

สุ. เพราะสติปัฏฐานไม่เกิด

ผู้ฟัง สำหรับผู้ที่ไม่ได้สดับ

สุ. ไม่มีทางเลย

ผู้ฟัง อย่างเราคิดเพลินไป ก็ยังมีสติระลึกได้บ้างว่า เราไปเพลินกับสิ่งที่ผิดๆ ว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง แต่สำหรับคนที่ไม่ได้สดับเลย น่ากลัว มืดบอดสนิท

ถ. กามตัณหา เป็นคิดอย่างไร

สุ. ยินดีพอใจคิดไปในเรื่องรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง ในเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะบ้าง

ถ. สำหรับภวตัณหากับวิภวตัณหา มีผู้กล่าวว่า ภวตัณหา หมายความว่ามีความยินดีพอใจในสิ่งที่ตนมี ตนเป็น ส่วนวิภวตัณหา ก็ไม่พอใจ หรือไม่ยินดีต่อ สิ่งที่มีที่เป็น เป็นคำอธิบายที่ผิดหรือ

สุ. สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อรรถกถา วิภังคสูตรที่ ๒ พุทธวรรค อภิสมยสังยุต มีข้อความว่า

ตัณหาที่มีรูปเป็นอารมณ์ ชื่อว่ารูปตัณหา เพราะมีความอยากได้ในรูป ตัณหานั้นชอบใจรูป เป็นไปอยู่โดยเป็นกามราคะ ชื่อว่ากามตัณหา

รูปในที่นี้รวมถึงเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย

ส่วนที่ชอบใจเป็นไปอย่างนี้ว่า รูปเที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ โดยความเป็นราคะที่เกิดร่วมด้วยทิฏฐิ ชื่อว่าภวตัณหา

ส่วนที่ชอบใจเป็นไปอย่างนี้ว่า รูปขาดสูญ พินาศ ละไปแล้วย่อมไม่เกิด ชื่อว่าวิภวตัณหา

ข้อความชัดเจน ในพระไตรปิฎกจะเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด

สำหรับภวตัณหา คือ ความยินดีในภพซึ่งไม่ใช่กามตัณหาอย่างหนึ่ง และความยินดีที่เกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิที่มีความเห็นว่าเที่ยงอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ภวตัณหามี ๒ อย่าง ส่วนวิภวตัณหามีอย่างเดียว คือ เป็นราคะ ที่ชอบใจเป็นไป อย่างนี้ว่า รูปขาดสูญ พินาศ ละไปแล้วย่อมไม่เกิด ชื่อว่าวิภวตัณหา และไม่ใช่รูปอย่างเดียว ทั้งนามด้วย

ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ข้อความเป็นอย่างนี้ ตรงทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของพระไตรปิฎก

ขณะที่คิด และสติปัฏฐานเกิด จะทำให้รู้ในลักษณะของสภาพธรรมอื่น ซึ่งปรากฏได้ เพราะว่าสภาพธรรมมีอายุที่สั้นมาก สภาพธรรมที่เกิดและสติปัฏฐานระลึกได้ เป็นผู้ที่ชำนาญ สภาพธรรมทั้งหมดจะปรากฏตามความเป็นจริง คือ เกิดขึ้นปรากฏเพียงสั้นๆ เล็กน้อยเท่านั้นเอง ไม่ว่าสภาพธรรมใดซึ่งท่านผู้ฟังเคยสงสัยว่า จะรู้ได้ไหมสภาพธรรมนี้ หรือจะรู้ลักษณะของเวทนาได้ไหม หรือจะรู้ลักษณะของสังขารขันธ์ได้ไหม แต่เวลาที่ไม่มีตัวตน สภาพธรรมเกิดปรากฏเองด้วยสติที่เป็น ผู้ไม่หลงลืมในขณะนั้น และจะเห็นว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีลักษณะต่างๆ กัน เช่น ในขณะที่คิด มีความรู้สึกเป็นสุขไหม เพลินไหมกับ ความคิดนั้น เคยสงสัยว่าเวทนา ความรู้สึกเป็นอย่างไร เวลาที่คิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด และลักษณะความรู้สึกปรากฏ จะรู้ได้เลยว่าขณะนั้นเป็นความรู้สึกที่เพลินพอใจ ในเรื่องที่คิด หรือขุ่นเคืองใจ ไม่ชอบใจในเรื่องที่คิด เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมตามความ เป็นจริงโดยสติรู้ว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา แม้แต่สติในขณะนั้นที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมสืบเนื่องติดต่อกันทางทวารทั้ง ๖ ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเมื่อได้สะสมอบรมแล้ว

เพราะฉะนั้น ในขณะที่คิด แทนที่เพียงแต่จะรู้ว่าเป็นสภาพของจิตที่คิด คือวิญญาณขันธ์ ก็ยังสามารถรู้ลักษณะของความรู้สึกที่เกิดร่วมกับความคิด ในขณะนั้นว่า เป็นความเพลิดเพลินยินดี หรือเป็นความรู้สึกขุ่นเคืองไม่พอใจ

ปกติถึงแม้สติปัฏฐานไม่เกิด เวลาคิดท่านผู้ฟังก็รู้สึกตัวได้ว่าคิดแล้วไม่สบายใจ คิดแล้วโกรธอย่างมากๆ คิดต่อไปก็ยังขุ่นใจอีก ไม่หายโกรธ นี่คือปกติที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด แต่เป็นตัวตน คือ เป็นเราที่คิด เป็นเราที่ไม่สบายใจเลยในขณะนั้น แต่สภาพธรรมไม่เปลี่ยน ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิดและรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม มีความรู้ ความเข้าใจในลักษณะ ที่เป็นนามธรรมจริงๆ ว่าเป็นสภาพที่กำลังคิด และในขณะนั้นสติปัฏฐานยังสามารถเกิดต่อไป ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ สภาพธรรมอื่นๆ ก็ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง เช่น ความขุ่นเคืองใจ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง บุคคลนั้นจึงมีความรู้ความเข้าใจในขันธ์ทั้ง ๕ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด

เมื่อรู้ว่ารูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ขณะนั้นก็รู้ลักษณะของรูปขันธ์ ขณะที่มีความรู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ ขณะนั้นเป็นการรู้ลักษณะของเวทนาขันธ์ ขณะที่มีความเมตตาคิดถึงคนอื่น หรือมีความกรุณาคิดถึงคนที่ป่วยไข้ได้เจ็บ มีความคิดที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นก็รู้สภาพลักษณะของกรุณา ความเห็นใจ หรือความต้องการที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลนั้น ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา ชีวิตปกติประจำวันทุกขณะเป็นนามธรรมและรูปธรรม แล้วแต่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดหรือไม่เกิดเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องไปทำและไม่รู้ ไปทำแล้วก็สงสัย ไปทำแล้วก็คิดว่า ทำอย่างนี้ได้ไหม ทำอย่างนั้นได้ไหม ทำอย่างนี้ถูกหรือเปล่า ทำอย่างนี้ผิดหรือเปล่า แต่เป็นการอบรมเจริญปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริง เหมือนตอนที่หลงลืมสติ สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น เวลาที่หลงลืมสติก็เป็นเรา เป็นตัวตน แต่เวลาที่สติเกิด สภาพธรรมแต่ละอย่างก็ปรากฏพร้อมด้วยปัญญาที่เกิดพร้อมสติซึ่งรู้ความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ขณะที่กาย วาจา ยังไม่ได้เคลื่อนไหว ยังสามารถรู้สภาพของจิตที่เกิดในขณะนั้นว่า คิดนึกเป็นโลภะ เวลาที่กายวาจาเคลื่อนไหวไป สติปัฏฐานเกิด จะไม่รู้หรือว่าขณะนั้นพูดด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ หรือด้วยกุศลจิต แสดงให้เห็นว่า เป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ที่ต้องรู้ทั่วว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคนอื่นจะบอก หรือจะสั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ และคนอื่นๆ ก็ปฏิบัติ แต่ท่านผู้นั้นเองเป็นผู้ที่รู้ว่า เริ่มเข้าใจสภาพธรรมตั้งแต่ การฟังด้วยดี ด้วยการพิจารณา ด้วยการที่เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษเลย และผู้นั้นก็รู้ว่า นั่นเป็นการอบรมเจริญปัญญา และเป็นผู้ตรงต่อตัวเองที่จะรู้ว่า ปัญญารู้แค่ไหน หรือจริงๆ แล้วรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง หรือบางครั้งก็พอจะรู้ขึ้นมานิดๆ ว่า เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ แต่ยังไม่หมดความสงสัย ต่อไปก็สงสัยอีก ต้องใคร่ครวญอีก ต้องระลึกอีก ต้องรู้อีก ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร เพราะฉะนั่น เป็นชีวิตปกติตามความเป็นจริงตลอด ทุกชาติๆ ที่อบรมเจริญปัญญา ไม่มีการที่จะผิดหรือคลาดเคลื่อนไปจากลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน และผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้ด้วยตนเอง

ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำ ทุกวันนี้ก็มากมาย จากการศึกษาและได้เจริญสติปัฏฐาน สักครู่นี้อาจารย์ได้พูดว่า ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางที่จะระลึกถึงโลภะได้เลย จากที่ผมได้ประพฤติปฏิบัติตาม แม้ได้ระลึกบ้างแล้ว ก็เป็นปีๆ กว่าจะระลึกถึงโลภะได้สักครั้ง ผมจำได้ว่า เมื่อสัก ๒ – ๓ วัน ได้ระลึกถึง โลภะอยู่ครั้งหนึ่ง คือ ขณะที่กำลังคิดว่าจะไปซื้อสิ่งนี้ให้ได้ คือ เทปเปล่าเพื่อมาอัดรายการธรรม ก็เกิดความวุ่นวายว่า ถ้าเอารถไปจอดตรงนั้นก็จะจอดไม่ได้ ก็มี แวบหนึ่งเข้ามาว่า นี่เราอยากได้ นั่นล่ะเป็นโลภะ ซึ่งนานเหลือเกินกว่าได้พบได้เห็นกัน สักที

สุ. ขออนุโมทนา นานเหลือเกินกว่าจะเห็นโลภะ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า โลภะซุกซ่อนอยู่เงียบๆ สนิทมากทีเดียว เพราะว่ามีทุกวัน ลืมตาก็มีโลภะ ได้ยินเสียงก็มีโลภะ ได้กลิ่นก็มีโลภะ ลิ้มรสก็มีโลภะ กระทบสัมผัสกายก็มีโลภะ คิดนึกก็ ด้วยโลภะตลอด แต่แม้กระนั้นนานๆ จะรู้จักของลักษณะโลภะสักทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น กว่าจะชินกับลักษณะของโลภะ และเห็นสภาพที่เป็นอกุศลของโลภะ จึงจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเพราะโลภะนี่เองจึงทำให้เหมือนกับพืชเชื้อที่ไม่มีวันหมด สืบต่อกันไป อยู่เรื่อยๆ จากชาติหนึ่งถึงอีกชาติหนึ่ง เพราะไม่หมดโลภะความยินดีต้องการนั่นเอง

ต่อไปเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้น ผู้นั้นก็จะรู้ว่า การที่ปัญญาของท่านเอง เจริญขึ้นจริงๆ นั้น เริ่มจากการฟังเรื่องของสภาพธรรม และพิจารณาจนกระทั่ง สติปัฏฐานเกิด และปัญญาค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งแม้จิตคิด เพียงคำเดียว ท่านก็รู้ว่าขณะนั้นคิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต และถ้ารู้ตามความ เป็นจริงอย่างนั้น ต่อไปก็รู้ว่า ผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้วคิดด้วยกิริยาจิต เพราะว่ากิเลส ดับนั่นเอง แต่จิตคิดก็ยังคงคิดเรื่องนั้นๆ แต่เพราะไม่มีความผูกพัน ไม่มีความต้องการ ไม่มีกิเลสที่ยึดถือในขันธ์ทั้ง ๕ จึงทำให้เมื่อดับกิเลสหมดแล้ว จิตที่คิดนั้น เป็นกิริยาจิต ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นกุศลจิตและอกุศลจิต

ถ. วิชาธรรมกายต่างกับสติปัฏฐานของเราอย่างไร คือ การเพ่งลูกแก้วอะไรพวกนี้

สุ. ไม่มีในพระไตรปิฎก ขณะที่กำลังเห็นนี้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงหรือเปล่า ในขณะที่กำลังเห็น ก่อนอื่นขั้นต้นต้องมีปัญญารู้ว่า ขณะที่เห็นนี่เอง รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร หรือไม่รู้ ขณะใดที่ไม่รู้ ขณะนั้นเป็นอวิชชา ขณะที่รู้จึงเป็นวิชชา ขณะที่เห็นและรู้ว่า สภาพที่เห็นมีจริงๆ ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ความรู้อย่างนี้ถูกต้อง ซึ่งรู้ว่าลักษณะของสภาพที่เห็นต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมที่มีจริงๆ และกำลังปรากฏ เท่านั้นเอง

ถ. วิชาธรรมกาย ถามอาจารย์ที่เก่งๆ หลายคนบอกว่า ลูกแก้วเป็น แสงสว่าง เป็นอโลกกสิณได้ เป็นสมถะ แสงสว่าง และสัมมาอรหัง เป็นพุทธานุสสติ

สุ. ทั้งหมดเป็นชื่อ แต่ปัญญารู้อะไร

ถ. ต่างกันตรงไหน

สุ. ต่างกันที่ ปัญญาที่เกิดจากการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นหนทางเดียวที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะดับกิเลส

ถ. อาจารย์ไม่สามารถอธิบายธรรมกายได้หรือ

สุ. ธรรมกายคืออะไร ถ้าไม่รู้ก็ไม่ต้องสนใจในสิ่งที่ไม่รู้ แต่เห็นมีจริงๆ และขณะที่กำลังเห็น ไม่รู้ว่าเห็นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นั่นคืออวิชชา แต่ขณะใดที่เห็นและรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นวิชชา

ธรรมกายเป็นวิชชาหรือเปล่า รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมกาย หรือคำใดๆ ก็ตามแต่ ก็คือไม่รู้ ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ได้สำคัญที่ชื่อ แต่สำคัญที่กำลังเห็นเป็นอวิชชาหรือปัญญา ถ้าเป็นอวิชชาจะไม่รู้เลยว่า ไม่ใช่ตัวตน

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565