แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1985

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔


ถ. สัมมาอรหัง ขออาจารย์สมพรช่วยอธิบายด้วย

สมพร สัมมาอรหัง ความจริงไม่ใช่มาโดยตรง เขานำมาผสมกัน สัมมาควรจะต่อกับสัมพุทโธ ไม่ใช่สัมมาอรหัง เดิมเขามีแค่อรหันตสัมมาสัมพุทโธ ไม่ใช่สัมมาอรหัง สัมมาอรหังอาจารย์รุ่นหลังมาคิดต่อเอาเอง

ในพระไตรปิฎก ในพระพุทธคุณก็มี อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน ไม่ใช่สัมมาอรหัง

ให้แปลก็แปลได้ แต่ไม่ได้ถูกหลักตามพระไตรปิฎกที่แสดงไว้ สัมมา แปลว่า โดยชอบ อะระหังก็เป็นพระอรหันต์ คือ ไกลจากกิเลส แปลได้แต่หมายความไม่ตรงกับที่พระอรรถกถาจารย์แสดงไว้

สัมมาต้องคู่กับสัมพุทโธ สัมมา แปลว่า โดยชอบ สัมมาสัมพุทโธ แปลว่า ตรัสรู้เองโดยชอบ ความหมายเป็นอย่างนี้

สุ. ถ้าทางตา สติระลึกและรู้ว่า เห็นเป็นนามธรรม เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่งซึ่งกำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะเข้าใจ ในความหมายของอรหันตสัมมาสัมพุทโธไหม

ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้และกล่าวว่า สัมมาอรหัง ก็ไม่รู้ความหมาย สัมมาอรหัง คืออะไรก็ไม่ทราบ แต่ถ้ารู้ว่า ทางตา ผู้ที่ไม่รู้ขณะนั้นเพราะอวิชชา และผู้ที่รู้นั้น ขณะที่รู้ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นขณะที่ปัญญาเกิดจึงรู้ ขณะที่เข้าใจอย่างนี้ว่า ปัญญาสามารถเจริญรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จะเข้าใจในความหมายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม

ถ้าเพียงแต่ท่องว่า สัมมาอรหัง แต่ไม่รู้เลยว่า ทางตาปัญญารู้อะไร และ จะอบรมปัญญาให้เกิดได้ในขณะไหน ก็ไม่มีทางเข้าใจความหมายของคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

พระพุทธศาสนาทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดปัญญาของตนเอง แต่การกระทำใดๆ ก็ตาม วิธีใดๆ ก็ตาม และที่ใช้คำว่า ภาวนา จะแบบไหนก็ตาม ถ้าไม่ทำให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

คงจะมีบางท่านที่ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่ก็มีความรู้สึกว่า สภาพธรรมไม่เที่ยง เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป ไม่คงที่ ไม่น่าจะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นที่พอใจยินดี คงจะมีบางคน บางขณะ บางครั้งที่คิดอย่างนี้ แต่เพียงรู้แค่นั้นนับว่ายังหยาบมาก เพราะเป็นเพียงความคิดในเรื่องความไม่เที่ยงของสภาพธรรม ไม่ใช่ปัญญาที่กำลัง รู้แจ้งประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้จริงๆ

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ความคิดในเชิงหรือในทำนองของ สภาพธรรมมีบ้าง แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมและไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ แล้ว ยังไม่สามารถละคลายกิเลสใดๆ ได้เลย เพราะว่ากิจที่จะละกิเลสไม่ใช่กิจของโลภะ หรือความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนที่เป็นเราที่จะสามารถละได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่ รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมดเป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้ทุกท่านรู้ตัวว่า ยังมีกิเลสอยู่มากๆ อย่าหลงผิดว่าลดน้อยลงไปมากแล้ว เพราะถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ กิเลสจะลดไม่ได้ และถ้าไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา กิเลสก็ยังไม่ปรากฏให้รู้ว่าขณะนั้นสะสมอกุศลไว้มากมายเพียงใด

ขอกล่าวถึงข้อความใน ขุททกนิกาย อุทาน ปิณโฑลภารทวาชสูตร ข้อ ๑๐๐ ที่จะทำให้ท่านผู้ฟังรู้สึกว่า พระธรรมทั้งหมด สะกิดใจให้ท่านระลึกถึงการสะสมอกุศลของท่านซึ่งมีมาก

ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระปิณโฑลภารทวาช ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร ผู้มีวาทะกำจัด (คือ ธุตวาทะ) หมั่นประกอบในอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นท่านพระปิณโฑลภารทวาชนั่งอยู่ในที่ไม่ไกลนั้น ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ใน เวลานั้นว่า

การไม่ว่าร้ายกัน ๑ การไม่เบียดเบียนกัน ๑ การสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในภัต ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรใน อธิจิต ๑ นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

จบ ปิณโฑลภารทวาชสูตรที่ ๖

ณ พระวิหารเชตวัน มีพระภิกษุมากหลายรูป และแล้วแต่ว่าท่านพระภิกษุเหล่านั้นจะอยู่ในอาการอย่างไร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบก็ได้ทรงเปล่งอุทาน ซึ่งคำอุทานนั้นจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ฟังที่ไม่ผ่านเลยไป แต่คิดถึงตัวเองว่า เป็นผู้ที่สะสมอกุศลมามากหรือน้อย และจะรู้เมื่อไร ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยคิดว่าตัวเองร้าย อาจจะคิดว่าเป็นผู้สะสมกุศลมามากมาย แต่ขอให้คิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงเตือน ให้รู้ว่า แต่ละท่านสะสมอกุศลมามากเพียงไร เช่น ว่าร้ายกัน มีบ้างไหม เพียงเท่านี้ก็เป็นการเบียดเบียนกันทางวาจา

เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานว่า การไม่ว่าร้ายกัน ๑ คือ การไม่เบียดเบียนกันทางวาจา การไม่เบียดเบียนกัน ๑ คือ การไม่เบียดเบียนกันทางกาย การสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในภัต ๑ ที่นอน ที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ ซึ่งก่อนที่จะว่าร้ายทราบไหมว่า อกุศลจิตเกิดมากสักเท่าไร ต้องคิดอยู่ ในใจนานแล้วกว่าจะเปล่งคำที่จะว่าร้าย หรือที่จะเบียดเบียนกันทางวาจาออกมาได้ แสดงให้เห็นว่า อกุศลไม่ใช่มีแต่เพียงชั่วขณะที่ว่าร้าย แต่ก่อนนั้นขอให้พิจารณาดูว่า กี่วัน กี่เดือน และในขณะที่ว่าร้ายก็ควรมีสติระลึกได้ว่า ขณะนั้นอกุศลที่ตนเอง สะสมมาช่างมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งทำให้วาจาไหวเป็นคำที่ว่าร้ายกันได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ลึกลงไปจากสิ่งที่ปรากฏทางกาย ทางวาจา แต่ละคนมีอกุศล ที่หนาแน่นและเหนียวแน่นสะสมมาจนทำให้กายวาจาที่เป็นไปในทางอกุศลเกิดได้ มิฉะนั้นแล้วก็คงไม่เกิด

และบางท่านก็กล่าวว่า เวลาสติปัฏฐานไม่เกิด ท่านอยากมีหิริโอตตัปปะ คือละอายที่สติปัฏฐานไม่เกิด แต่ทำไมไม่ละอายเวลาที่อกุศลอื่นๆ เกิด ต้องการเพียงแต่จะให้มีหิริโอตตัปปะเฉพาะเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิดและอยากให้สติปัฏฐานเกิด แต่เวลาอื่นซึ่งเป็นอกุศล ทำไมไม่คิดให้มีหิริโอตตัปปะ ละอายที่อกุศลนั้นๆ เกิด ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสภาพของอกุศลที่ได้สะสมมามาก

ด้วยเหตุนี้พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสหรือทรงอุทาน ทุกท่านอาจจะเห็นว่า ช่างเป็นคำธรรมดาเหลือเกิน เหมือนคำสอนทั่วๆ ไป เหมือนศีลธรรมทั่วๆ ไป แต่ ลึกลงไปกว่านั้น เป็นคำที่จะสะกิดใจ เตือนใจพุทธบริษัทให้พิจารณาตนเองว่า มีอกุศลมากที่จะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่เพียงหวังแต่จะให้สติปัฏฐานเกิดในเวลาอื่น โดยที่ไม่ให้เกิดในขณะที่เป็นอกุศล

ในยุคนี้สมัยนี้ก็มีผู้ที่ศึกษาธรรมร่วมกัน เป็นสหายธรรม และคงจะเหมือนใน ยุคก่อนๆ ที่ผู้เป็นสหายธรรมไปฟังพระธรรมที่พระวิหารเชตวันด้วยกัน หรือไปฟัง พระธรรมที่พระวิหารเวฬุวันด้วยกัน เป็นสหายธรรมกัน และชีวิตประจำวันของ ทุกบุคคลในทุกกาล ก็ไม่พ้นจากกุศลและอกุศล

สำหรับในยุคนี้ ก็มีเรื่องของผู้ศึกษาธรรมด้วยกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะทำให้ ท่านผู้ฟังได้พิจารณา และเห็นกุศล อกุศล ตามกำลัง

มีท่านผู้หนึ่งท่านจำชื่อของสหายธรรมคนหนึ่งไม่ได้ เรียกผิดทุกที และเวลาที่ท่านผู้นี้เรียกชื่อท่านนั้นผิด สหายธรรมของท่านก็เตือนว่า เขาไม่ได้ชื่ออย่างนั้น และแก้ให้หลายครั้ง ท่านผู้นั้นก็ยังคงเรียกผิดอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านที่เป็นสหายธรรมก็บอกว่า เท่านี้ก็ยังจำไม่ได้ จะไปละกิเลสได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นมา ท่านผู้นั้นเรียกชื่อสหายคนนั้นไม่ผิดอีกเลย

แสดงให้เห็นว่า ชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่มีใครสามารถไปยับยั้งกุศลบ้าง อกุศลบ้างซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน

และมีสหายธรรมอีกท่านหนึ่ง ถามผู้ที่ถูกต่อว่าว่าแค่นี้ก็จำไม่ได้จะไปละกิเลสอะไรได้ว่า เมื่อได้ยินอย่างนั้นแล้วโกรธไหม ท่านผู้นั้นก็ตอบว่า ไม่โกรธ ท่านที่ถามก็บอกว่า ดี เป็นบัณฑิต เพราะถ้าโกรธก็เป็นคนพาล

ก็เป็นการใช้ภาษาธรรม เป็นเรื่องธรรม เรื่องจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ลืมว่าเป็นธรรม ก็เตือนกันด้วยธรรม และก็รู้สภาพธรรมของจิตใจในขณะนั้นด้วย แสดงให้เห็นว่า ระหว่างสหายธรรมด้วยกันก็มีการกล่าวเตือนสติที่เป็นธรรมต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นท่านใดก็ตามใน ๓ ท่าน ถ้าพิจารณาจิตในขณะนั้นจะรู้ได้ตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นโทสะบ้างหรือเปล่า ตามความเป็นจริง เพราะพระธรรมทั้งหมดทำให้บุคคลไตร่ตรอง เปรียบเทียบ และพิจารณารู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงโดยไม่เลือกว่า เป็นตัวท่าน หรือเป็นผู้อื่น คือ ไม่มีเขา ไม่มีเรา

ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อุรควรรค อรรถกถา กสิภารทวาชสูตร มีข้อความที่เมื่อกสิภารทวาชพราหมณ์ได้ฟังพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วก็เลื่อมใส และกล่าวคำชมเชยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า

พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญแจ่มแจ้งนัก เพราะยังโทสะให้พินาศ แจ่มแจ้งนักเพราะบรรลุคุณ เพราะให้เกิดศรัทธา เพราะให้เกิดปัญญา เพราะมีอรรถ เพราะมีพยัญชนะ เพราะบทตื้น (คือ คำธรรมดาๆ ที่เข้าใจได้) เพราะอรรถลึก เพราะไพเราะหู เพราะถึงใจ เพราะไม่ยกตน เพราะไม่ข่มผู้อื่น เพราะเย็นด้วยศีล เพราะผ่องแผ้วด้วยปัญญา เพราะไปทางอันพึงรื่นรมย์ เพราะกำจัดความมัวเมา เพราะนอนเป็นสุข เพราะประโยชน์เกื้อกูลที่ต้องพิจารณา เป็นต้น

ทั้ง ๓ ท่าน ถ้าจะซาบซึ้งในคำชมเชยของกสิภารทวาชพราหมณ์ ซึ่งได้ชมเชยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ก็ควรจะพิจารณาว่า ทำให้ท่านละข้อไหนได้บ้าง หรือ ยังละไม่ทั่ว เพราะว่าท่านที่อบรมเจริญเมตตาจริงๆ ต้องไม่ปรารถนาทุกข์แก่คนอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีโทสะแม้นิดเดียว อาจจะลืมว่า ขณะใดที่โทสะเกิด ขณะนั้นปรารถนาทุกข์แก่ผู้นั้นแล้ว ไม่ว่าท่านจะโกรธใครก็ตาม

ถ้าเพียงแต่คิดจะเจริญเมตตามากๆ แต่กายวาจาก็ยังก่อทุกข์ให้คนอื่นอยู่บ้างแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็แสดงว่า ยังเป็นผู้ไม่ละเอียด แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ก็ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม และเห็นประโยชน์แม้พระธรรมที่ทรงแสดง ละเอียดขึ้นๆ ในทุกเรื่อง เช่น ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อุรควรรค อรรถกถาเมตตสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน

มีอธิบายอย่างไร มีอธิบายว่า ไม่พึงเจริญเมตตาด้วยอำนาจแห่งการมนสิการ มีอาทิว่า จงมีความสุข มีความเกษมเถิด อย่างเดียวเท่านั้น แต่พึงเจริญมนสิการ แม้อย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอบุคคลอื่นบางคนไม่พึงข่มขี่บุคคลอื่นไรๆ ด้วยคำโกรธทั้งหลายมีการหลอกลวงเป็นต้น และไม่พึงดูหมิ่นบุคคลอื่นไรๆ ในประเทศใด ประเทศหนึ่งด้วยเรื่องมานะมีชาติเป็นต้น คือ ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความฉุนเฉียว หรือเพราะความเคียดแค้น

พอที่จะพิจารณาตนเองได้ไหม ละเอียดขึ้นอีก แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีการ ฟังพระธรรมละเอียดและไม่ลืม และสติเกิด ก็จะทำให้เป็นผู้ที่กล่าวคำชมเชย พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคจริงๆ ว่า

พระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แจ่มแจ้งนัก เพราะยังโทสะให้พินาศ แจ่มแจ้งนักเพราะบรรลุคุณ เพราะให้เกิดศรัทธา เพราะให้เกิดปัญญา เพราะมีอรรถ เพราะมีพยัญชนะ เพราะบทตื้น เพราะอรรถลึก

บทตื้นจริง แต่อรรถลึก

เพราะไพเราะหู เพราะถึงใจ เพราะไม่ยกตน เพราะไม่ข่มผู้อื่น เพราะเย็นด้วยศีล เพราะผ่องแผ้วด้วยปัญญา เพราะไปทางอันพึงรื่นรมย์ เพราะกำจัดความ มัวเมา เพราะนอนเป็นสุข เพราะประโยชน์เกื้อกูลที่ต้องพิจารณา เป็นต้น

ถ. ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด สติระลึกตรงแข็งที่ปรากฏ ปัญญาก็รู้ว่า นั่นเป็นเพียงแข็ง เป็นสภาพธรรม ขอเรียนถามว่า ที่ปัญญารู้ลักษณะสภาพธรรมเช่นนี้ ยังไม่ชื่อว่ารู้อนัตตลักษณะ ใช่ไหม

สุ. ขณะนี้ก็มีแข็ง และตั้งแต่เช้ามาก็กระทบแข็ง ถ้ามีคนถามว่า แข็งไหม ก็ตอบได้ว่า แข็ง ถ้าเพียงเท่านั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ และไม่ใช่สติปัฏฐาน

แข็งที่กระทบ บางครั้งเป็นเพียงกายวิญญาณคือจิตที่รู้แข็งเท่านั้น แต่บางครั้งในขณะที่จิตกำลังรู้แข็งนั่นเอง สติระลึกได้ และระลึกตรงลักษณะที่แข็ง ขณะนั้นจะ รู้ว่าสติเกิด เพราะอาการของสติปรากฏ คือ มีการระลึก นั่นคืออาการของสติ ไม่ใช่เพียงแต่แข็งเฉยๆ

เพราะฉะนั้น ในขณะที่อาการของสติเกิด คือ มีการระลึกตรงลักษณะที่แข็ง และมีความรู้ความเข้าใจว่า แข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และมีสภาพที่กำลัง รู้แข็งด้วย และสภาพที่รู้แข็งต่างกับแข็ง ถ้ารู้ว่าขณะนั้นลักษณะที่รู้คืออย่างหนึ่ง และสภาพที่แข็งเป็นอีกอย่างหนึ่ง จะทำให้เข้าใจความหมายของนามธรรมว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565