แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1987

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔


สุ. ไม่มีใครปรารถนาทุกข์ แต่ทุกคนมีทุกข์ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ด้วยว่า อะไรเป็นเหตุของทุกข์ เหตุของทุกข์ คือ โลภะนั่นเอง

เมื่อมีความปรารถนาสุข เมื่อมีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วไม่ได้ความสุขที่ต้องการ ขณะนั้นจึงเป็นทุกข์ แต่ขอให้คิดถึงผู้ที่ไม่มีความปรารถนาอะไรเลย ดับ ความปรารถนาหมด ผู้นั้นจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร

แสดงให้เห็นว่า แม้คนเป็นโรคก็ยังไม่รู้ว่า โรคของตนนั้นเกิดจากอะไร แต่ ถ้าเป็นผู้ที่รู้จริงๆ ว่า ความไม่สบายใจ ความทุกข์ใจทั้งหมดเกิดจากโลภะ เพราะฉะนั้น ถ้าโลภะลดน้อยลง ทุกข์ก็คลายลงด้วย คือ รู้ว่าโลภะเป็นสภาพธรรม ที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และต้องรู้โลภะในขณะที่โลภะกำลังเกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่เข้าใจว่า โลภะเป็นเหตุของความทุกข์ แต่ทุกวันๆ ที่มีโลภะตั้งแต่ตื่น ขณะนั้น ไม่รู้ว่าเป็นโลภะ ก็ไม่มีทางที่จะรู้จักโลภะ เมื่อไม่รู้จักโลภะ ก็ไม่สามารถละโลภะได้

การรู้จักโลภะ มีหนทางเดียว คือ ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงจะเห็นโลภะได้ แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไปทำอย่างหนึ่งอย่างใด คิดว่าต้องไม่ให้มีโลภะก่อนปัญญาจึงจะเจริญ ขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เห็นโลภะตามปกติในชีวิตประจำวัน

ผู้ฟัง โลภะเห็นยาก ผมพ่ายแพ้ต่อโลภะมาตลอด ถ้าจะระลึก ต้องขณะนั้น ถ้าเลยขณะนั้นก็พลาดแล้ว เมื่อวานก็ไปพ่ายแพ้ต่อโลภะอย่างหนัก อยากได้ก็ไปซื้อ เวลานี้มีโลภะที่มายั่วยวนอยู่เกือบ ๑๐ วัน คือ งานราชทัณฑ์ ผมนึกถึงทีไรก็มีโลภะ ถ้าไม่ไปเพราะฝืนเอาไว้ ก็ยังหวั่นไหว รู้ว่าเป็นโลภะ เราจะไปซื้อเครื่องไม้ เครื่องเรือน อดไม่ได้ต้องไปเกือบทุกปี ต้องพ่ายแพ้ต่อโลภะมาตลอด ทั้งๆ ที่ได้ศึกษาธรรมแล้ว ฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้วว่า โลภะเป็นสมุทัย เป็นตัวร้ายที่จะต้อง ละก่อน ก็ยังละไม่ได้ พ่ายแพ้ตลอด ปีหนึ่ง ๓๖๕ วัน ต้องพ่ายแพ้ต่อโลภะ ๓๐๐ กว่าวันทีเดียว โอกาสที่จะชนะมีน้อยมาก

สุ. ถ้าโดยวิธีนี้ ไม่ใช่วิธีที่จะละโลภะ ต้องเข้าใจมัชฌิมาปฏิปทาจริงๆ ทางสายกลาง เวลาที่โลภะเกิด ไม่เป็นไปกับโลภะด้วยความเป็นตัวตนจึงจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่ไปบีบ หรือไปบังคับ เพราะไม่มีทางที่จะชนะโลภะได้เลย ถ้าปัญญายังไม่รู้ว่า โลภะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

มัชฌิมาปฏิปทา ขอให้ทราบว่า ขณะที่สติระลึกที่ลักษณะสภาพธรรมนั้น และเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น มัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตรงปัญญาที่รู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่เรา

ผู้ฟัง มัชฌิมาปฏิปทา ก็จะเข้าข้างตัวเอง

สุ. ไม่เข้าข้าง ถ้ามีคนถามว่า แล้วอย่างไร จะซื้อหรือไม่ซื้อ อาหาร จะให้อร่อยหรือไม่ให้อร่อย ทุกอย่างจะให้สวยหรือไม่ให้สวย ถ้าเป็นปัญหาอย่างนี้ แสดงว่าไม่เข้าใจมัชฌิมาปฏิปทา เพราะจะเอาใครมาเป็นคนวัด หรือจะเอาเครื่องอะไรมาวัดว่าเท่านี้พอ เท่านั้นมากเกินไป

มัชฌิมาปฏิปทา คือ ขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมและไม่เป็นไป ด้วยความเป็นตัวตน ถ้าเกิดโลภะอย่างแรง ขณะนั้นจริง มีเหตุปัจจัยที่จะให้โลภะระดับนั้นเกิด เป็นของจริง เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว เพราะมีปัจจัยทำให้โลภะขั้นนั้นเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นของจริงซึ่งเห็นความเป็นปัจจัยว่าไม่ใช่เรา ไม่มีใครอยากให้โลภะอย่างนั้นเกิดขึ้น และเมื่อโลภะอย่างนั้นเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ปัญญาคือ รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ผู้ฟัง ยังไม่ถึงขั้นว่าไม่ใช่เรา แต่ขณะที่สติเกิด ขณะนั้นจะทำให้โลภะ เบาบางจนกระทั่งว่า นี่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งก็แปลอยู่ในตัวว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราแน่นอนอยู่แล้ว แต่ตลอดเวลาที่ระลึกได้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับเรา เมื่อมีเหตุมีปัจจัยเกิดขึ้นก็ต้องเกิดขึ้น ก็ระลึกได้ และถ้าระลึกได้ก็ละได้ ไม่ได้ต้องการอะไรมาก ก็อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาอย่างที่อาจารย์ว่าได้ อย่างผมก็เหมือนบ้าสิ่งของอย่างหนึ่ง คือ เวลานี้นาฬิกา ๑๐ กว่าเรือนแล้ว จะไปบอกว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ได้เด็ดขาด

สุ. ขณะที่สติปัฏฐานเกิด และรู้สภาพของความยินดี หรือความยินร้าย หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสิ่งที่ปรากฏทางหู หรือเรื่องราวที่กำลังคิดนึกจำว่า เป็นนาฬิกา ขณะนั้นปัญญารู้ว่าเป็นสัญญา เป็นความจำแล้ว เป็นการคิดนึกแล้ว ไม่ใช่ปรมัตถอารมณ์แล้ว มัชฌิมาปฏิปทา ปัญญาต้องรู้ละเอียดจริงๆ

ผู้ฟัง แต่ไม่ได้เกิดตลอด เดี๋ยวนี้ก็ยังไปเปิดตู้ดูอยู่เรื่อย

สุ. ขณะที่เปิดตู้ จริงไหม

ผู้ฟัง. ถ้าสติเกิด ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่นั่นเอง

สุ. ชีวิตประจำวัน คือ ไปเปิดตู้ดูนาฬิกา

ผู้ฟัง ไม่ได้เปิดบ่อย แต่เมื่อเปิดก็อดดูไม่ได้

สุ. ไม่ได้กล่าวถึงบ่อย แต่กล่าวถึงชีวิตประจำวัน ทุกคนจะทำอะไร วันหนึ่งๆ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ปัญญาต้องรู้ทั่ว อย่าลืม การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ฝืน ไม่ใช่ทำ ยิ่งรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ยิ่งรู้ว่า ทุกขณะจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่ต้องทำอะไร ไม่มีใครที่จะทำ แต่สติจะระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้ในขณะที่เดินไป แม้ในขณะที่เปิด แม้ในขณะที่เห็น แม้ในขณะที่คิด สติปัฏฐานจะรู้ทั่วในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

ผู้ฟัง ตามที่ได้ศึกษามาเป็นสภาวธรรม ก็เข้าใจ แต่ความเข้าใจยังไม่ทั่ว ปัญญายังไม่คมพอถึงขั้นที่จะละโลภะได้ แต่เข้าใจ ก็นำเอาชีวิตประจำวันของตนเองมาเล่าสู่กันฟังว่า โลภะนี่ร้ายกาจจริงๆ

สุ. แต่ต้องรู้ จึงจะละได้

ถ. ชีวิตประจำวันที่ต้องเป็นทุกข์เพราะกิเลสที่บีบคั้น และปัญญาก็รู้ว่า หนทางเดียวเท่านั้นที่จะดับกิเลสและละคลายได้ คือ ศึกษาธรรมให้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน น้อมไปที่จะเจริญกุศลทุกประการ ไม่ทราบว่าการเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันหรือเปล่า

สุ. ถูกต้อง เป็นปกติ และเห็นตัวเองชัดเพราะว่าเป็นปกติ ทุกคนที่จะรู้จักตัวเอง ต้องเป็นปกติจึงจะเห็นตัวเองได้ และจะรู้ว่า การอบรมเจริญปัญญา ต้องละเอียดมาก กว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ และการที่ปัญญาจะเจริญก็คือรู้ชีวิตประจำวันตามปกติว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งทุกคนมีโลภะทั่วทั้ง ๕ ขันธ์ ทำให้เข้าใจความหมายของอุปาทานขันธ์ ๕ ที่เคยได้ยินบ่อยๆ

ขันธ์ ๕ ก็ได้แก่ รูปขันธ์ รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ อีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ จิตทุกประเภทเป็นวิญญาณขันธ์ ซึ่งทุกคนก็รู้จักขันธ์ ๕

สำหรับอุปาทานขันธ์ ก็คือขันธ์ ๕ นั้นเป็นที่ตั้งของความยึดถือ ปัญญาต้องรู้ตามความเป็นจริง ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานก็ไม่เข้าใจ ก็พูดแต่คำว่า อุปาทานขันธ์ ๕ๆ แต่เวลาที่ขันธ์กำลังเป็นที่ตั้งของความยึดถืออย่างมาก ขณะนั้นไม่เห็น จนกว่าจะเป็น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

ถ. เราจะละโลภะ ละไม่ได้ เราต้องมีโลภะเพราะเราต้องทำมาหากิน เช่นเราเล่นหุ้น ขณะนั้นมีโลภะ ขณะดูตัวเลขขึ้นๆ ลงๆ สั่งซื้อ สั่งขาย ถ้าเราเลิก เราจะหากินอย่างไร

สุ. ไม่ได้บอกให้เลิก

ถ. ต้องปล่อยให้มีโลภะไป

สุ. รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าใครจะ ทำมาหากินอะไร ใครจะคิดอะไร ห้ามได้ไหม ยับยั้งได้ไหม มีเหตุปัจจัยเกิดแล้ว ทำให้คนนี้คิดอย่างนี้ คนนั้นคิดอย่างนั้น แต่ทุกคนต้องรู้จักโลภะของตัวเองตามความ เป็นจริงก่อน ตามความเป็นจริง คือ รู้ว่าโลภะไม่ใช่เรา โลภะมีจริงๆ ขอให้เห็นโลภะ วันนี้มีโลภะมากมาย แต่ไม่เห็น ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ยังไม่รู้จักโลภะ ต่อเมื่อใดเป็น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อนั้นจะเห็นโลภะ เพราะว่าโลภะทั่วไปในขันธ์ทั้ง ๕

ถ. คือ เราไม่ต้องพยายามละ เรารู้จักก็แล้วกัน เพียงแต่รู้ว่าขณะนี้เป็นโลภะ แต่ก็ช่างมัน

สุ. ไม่มีตัวตนที่จะละ ใช่ไหม สติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นเท่านั้นที่ปัญญาจะสามารถรู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริงได้ ถ้าสติ ไม่เกิด ไม่มีตัวตนที่จะไปละโลภะได้

ถ. สติเกิด และรู้ว่าตอนนี้มีโลภะ ถ้าตัวเลขหุ้นขึ้นก็ดีใจ

สุ. ดีใจเป็นขันธ์อะไร สบายใจ สุขใจ เพลิดเพลิน

ถ. เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง

สุ. เป็นเวทนาขันธ์ ชอบไหม ติดไหมในเวทนาขันธ์ ซึ่งความรู้สึกนั้น ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวัน เวลาที่สุขเวทนาหรือ โสมนัสเวทนาเกิดเพราะอะไร บุคคลนั้นก็รู้ดีว่า เป็นผู้ที่ยังติดยังพอใจในเวทนาขันธ์ ในความรู้สึกนั้นอย่างมาก

เริ่มเห็นโลภะตามความเป็นจริงว่า มากเหลือเกินในชาติหนึ่งๆ ในวันหนึ่งๆ และการจะดับโลภะไม่ง่าย ต้องเป็นปัญญาที่รู้จริง คือ รู้ทั่ว ถ้าเพียงแต่รู้ว่ามีความติด มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังดับความยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนไม่ได้ ดับกิเลสไม่ได้ เพราะนั่นเป็นแต่เพียงการรู้ลักษณะของโลภะในรูปขันธ์เท่านั้น ยังต้องรู้ทั่วถึงการติดยึดถือโลภะในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ ในวิญญาณขันธ์ ซึ่งปัญญาจะต้องรู้ ปัญญาจะต้องเจริญอย่างละเอียดจริงๆ เพราะในขณะนั้นที่กำลังพอใจเรื่องตัวเลข ขณะนั้นก็เป็นเรา ไม่ได้รู้ว่า ความรู้สึกนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นและดับไป

ถ. รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง แม้จะรู้ ก็ต้องช่างมัน

สุ. จะทำอะไรได้

ถ. ทำไม่ได้

สุ. ทำอะไรไม่ได้ แต่อบรมเจริญปัญญาต่อไปอีกได้ คือ ขอให้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และให้เข้าใจความหมายของมัชฌิมาปฏิปทาว่า ไม่ใช่ เอาใครมาวัด แต่ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ขณะนั้นคือมัชฌิมาปฏิปทา เพราะไม่เป็นไปกับโลภะว่า โลภะของเรา หรือเราเป็นโลภะ หรือเรามีโลภะ หรือโลภะอยู่ในเรา

เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด และปัญญารู้ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ขณะนั้นเท่านั้น ที่ชื่อว่ามัชฌิมาปฏิปทา

คงจะไม่สงสัยเรื่องมรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐาน และมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมา

วันนี้มีใครรู้ว่ามีโลภะในรูปขันธ์บ้าง

มากไหม ทางตาก็มี ทางหูก็มี ทางจมูกก็มี ทางลิ้นก็มี ทางกายก็มี ทางใจก็มี อยู่เฉยๆ ยังไม่ได้ทำอะไร นอนอยู่เฉยๆ นั่งอยู่เฉยๆ คิดเรื่องรูป คิดหรือเปล่า เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ เรื่องสมมติบัญญัติต่างๆ ขณะนั้นสติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของโลภะ ความติดในรูปขันธ์ และเวลาที่สติปัฏฐานเกิด สามารถรู้ลักษณะของรูปซึ่งต่างกับนามธรรม ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่า ลักษณะของรูปซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจนั้น แท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงธรรม อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เช่น ทางตาที่กำลังเห็น มีความชอบใจในดอกไม้สวยๆ ดอกกุหลาบสวย เป็นปกติ หรือผิดปกติ ความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นปกติ หรือผิดปกติ ก็เป็นปกติ สติปัฏฐานสามารถรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงความยินดีในสิ่งที่ปรากฏ

และถ้ารู้จริงๆ จะรู้ว่า ขณะที่นึกคิดเป็นเรื่องของดอกกุหลาบ ไม่ใช่ในขณะที่กำลังยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่จะไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย มีแต่ความ นึกคิดว่าดอกกุหลาบ ก็เป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม จะให้มีแต่ความคิดเรื่องดอกกุหลาบ โดยไม่มีสี ไม่มีกลิ่นของดอกกุหลาบ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ให้เห็นว่า ความติดในรูปที่ปรากฏทางตา ในเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นประจำวัน

ค่อยๆ เห็นความละเอียดของการติด ความยึดมั่นในรูปขันธ์ ไม่ว่าจะเป็น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่กำลังพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความรู้สึกในขณะนั้นมี เป็นสุข สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นของจริง เคยยึดถือว่าเป็นเราสุขมานานแสนนาน แต่ถ้าปัญญาอบรมเจริญจริงๆ จะรู้ว่า เพียงชั่วขณะที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ ก็สามารถทำให้โสมนัสเวทนาเกิดได้ เพียงนึกถึงเรื่องที่ถูกใจ ขณะนั้นพลอยเพลิน พลอยสนุกกับเรื่องที่คิดเท่านั้นเอง ชั่วขณะหนึ่งและดับไป ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ความรู้สึกนั้นก็ดับไป แต่ความพอใจในความรู้สึกเป็นสุขหรือเพลิดเพลินเป็นโสมนัสนั้นไม่หมด เพราะว่ามีความติดความยึดมั่นในความรู้สึกที่ เป็นสุขนั้นมาก จนกระทั่งแสวงหาแล้วแสวงหาอีก ไม่หยุดเลย

นี่คือการที่จะรู้ว่า ขณะใดมีความเพลิดเพลิน ความรู้สึกโสมนัสยินดี ขณะนั้นเป็นอุปาทานขันธ์

สัญญาขันธ์ เคยเห็นบ้างไหม ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่รู้ว่าสัญญาขันธ์เป็นอย่างไร ละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงต้องทั่วทั้ง ๕ ขันธ์ และสัญญาขันธ์ ก็ไม่ใช่จะเห็นยาก แต่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเป็นปกติจริงๆ จนกระทั่งสามารถ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทาง จึงสามารถแยกรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นขณะที่สติระลึกที่สัญญา ความจำ

ขณะที่ได้ยินเสียง เป็นของธรรมดา เมื่อเสียงมีจริง กระทบกับโสตปสาท จิตได้ยินก็เกิดขึ้น นึกถึงอะไรหรือเปล่า ถ้านึก ขณะนั้นเพราะสัญญาจำจึงนึกถึง เรื่องนั้นได้

เพราะฉะนั้น ความคิดทั้งหมด เพราะจำ เพราะสัญญา วันนี้ที่กำลังคิด จะคิดเรื่องอะไรก็ตาม สติปัฏฐานสามารถระลึกทันทีที่คิดว่า นี่คือสัญญา ความจำในเรื่องนั้นที่กำลังคิด และก็คิดกันบ่อยๆ เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตาก็คิด ได้ยินเสียงก็คิด ได้กลิ่นก็คิด เพราะฉะนั้น สัญญามีอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ว่าสติจะระลึกและพิจารณารู้ลักษณะของสัญญา ความจำหรือไม่ เท่านั้นเอง

เปิด  229
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565