แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1988

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔


สุ. ชีวิตประจำวันปกติ จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ยังไม่ได้ทำกิจ การงานอะไร เพียงแต่นอนเฉยๆ เห็นก็มี สักครู่หนึ่งก็มีได้ยิน สักครู่หนึ่งก็มีคิดนึก สัญญาสามารถเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานในขณะที่คิดได้ ระลึกได้ไหม ถ้ายังไม่ทั่ว ทั้ง ๕ ขันธ์ ละความยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ได้

สำหรับสังขารขันธ์ก็จะเห็นชัด ช่างปรุงแต่งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง คิดนึกไปได้สารพัดเรื่อง จะคิดนึกอย่างใฝ่ฝัน คิดถึงอนาคตต่างๆ นั่นคือสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง ให้คิดนึกไป จะคิดด้วยความไม่แช่มชื่น ด้วยความโกรธเคือง ความทุกข์ก็ทุกข์ ชั่วในขณะที่คิดเท่านั้นเอง ถ้าขณะนั้นไม่คิดให้เป็นทุกข์อย่างนั้น ความทุกข์จากความคิดในขณะนั้นก็ไม่มี

ใครที่ว่าเป็นทุกข์มากๆ ขอให้พิจารณาว่า เพราะความคิด ใช่ไหม ถ้าไม่คิด ทุกข์นั้นก็ไม่มีจริงๆ ถ้าไม่คิด ลืมไปแล้วเรื่องนั้น ก็ไม่ทุกข์แล้ว แต่ขณะที่คิดถึง ขณะนั้นสัญญาก็จำ สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่ง เวทนาในขณะนั้นก็แล้วแต่ว่าจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ รูปขันธ์ในขณะนั้นก็ปรากฏบ้างที่เป็นปรมัตถธรรมสลับกับจิตที่คิดนึก เพราะถ้ามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ จะให้คิดอย่างเดียวโดยไม่เห็น โดยไม่ได้ยิน โดยไม่ได้กลิ่น โดยไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรม แต่ละอย่างมีเหตุปัจจัยพร้อมที่ปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นไป โดยที่แต่ละคนไม่ต้องทำอะไร อีกเลย

ทำไม่ได้ แต่สามารถอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยจึงทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะเราทำ ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรมซึ่งจะต้องเกิด จะหยุดยั้งการเกิดของรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้เกิด แต่สภาพธรรมก็ต้องเกิด เพราะว่า มีปัจจัยให้เกิด ถ้าอยากไม่เห็นทั้งๆ ที่มีตา ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อยากไม่ได้ยินเลยทั้งๆ ที่มีหู ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน แสดงให้เห็นว่า ไม่มีตัวตนที่จะทำ แต่มีสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันจนทั่ว ต้องเป็นความอดทนในการที่จะเจริญปัญญาจริงๆ เพราะว่ามีสภาพธรรม แต่ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการพิจารณา ไม่มีการอบรม สติจะไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน

ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อรรถกถาอุรควรรค อุรคสูตร ที่ได้กล่าวถึงแล้ว เปรียบเทียบต้นไม้ คือ อัตภาพที่เจริญเติบโตเพราะรสดินและรสน้ำ คือ รสของกิเลสทั้งหลาย และแสดงการอบรมเจริญปัญญา มีข้อความว่า

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า บุรุษบางคนเบื่อในดอกและผลเป็นต้นของ ต้นไม้นั้นนั่นแหละ จะพึงใส่ยาพิษชื่อมันฑุกกัณฑกะลงที่ต้นไม้ในทิศทั้ง ๔ เมื่อเป็นเช่นนั้น ต้นไม้นั้นได้รับสัมผัสที่เป็นพิษนั้นถูกต้องเข้าแล้ว ก็ไม่พึงสามารถเพื่อจะให้การสืบต่อเกิดขึ้นอีกได้ เพราะมีน้ำออกน้อยเป็นธรรมดา เนื่องจากรสแห่งแผ่นดินและรสแห่งน้ำถูกยาพิษครอบงำแล้วฉันใด กุลบุตรผู้เบื่อหน่ายในความเป็นไปของขันธ์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปรารภการเจริญมรรค ๔ ในสันดานของตน ดุจการที่ บุรุษนั้นประกอบยาพิษในทิศทั้ง ๔ เมื่อเป็นเช่นนั้น ขันธสันดานนั้นของกุลบุตรนั้น ที่แตกต่างกันโดยกรรมทั้งปวง มีกายกรรมที่เข้าถึงสักว่าความเป็นกิริยาเป็นต้น เพราะกิเลสมีวัฏฏะเป็นมูลถูกสัมผัสคือยาพิษในมรรคทั้ง ๔ นั้นครอบงำแล้ว โดยประการทั้งปวง จึงไม่สามารถที่จะทำสันดานคือภพใหม่ให้บังเกิดได้ เพราะถึงความไม่เกิดขึ้นในภพใหม่เป็นธรรมดา ดุจไฟป่าบังเกิดขึ้นแล้วดับไปเพราะหมดเชื้อฉะนั้น

การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เพราะว่าต้นไม้ต้นนี้ใหญ่เหลือเกิน รากลึกมาก เวลาที่ปรากฏออกมาทางกาย เป็นกายทุจริต ทางวาจาเป็นวาจาทุจริต และทางใจเป็นความคิดที่เป็นอกุศล ก็เพียงแต่เหมือนดอกและผลและใบอ่อน แต่ถ้าจะหยั่งลงไปถึงการสะสมในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานมาก ก็จะเห็นความหนาแน่นเหนียวแน่นของกิเลส ซึ่งทำให้ต้นไม้นั้นเจริญเติบโตต่อไป ถ้ายังคงได้รับรสของดิน รสของน้ำ คือ รสของกิเลสทั้งหลาย แต่ถ้ามีคนที่ปรารถนาจะทำลายต้นไม้ใหญ่นั้น ก็ต้องมีความอดทน เพราะรู้ว่าจะต้อง ใส่ยาพิษลงที่ต้นไม้นั้นทั้ง ๔ ทิศ จนกว่าจะซึมเข้าไปแทนรสของดินและรสของน้ำ จนกระทั่งต้นไม้นั้นค่อยๆ หมดเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญต่อไปได้ และในที่สุด ก็สามารถดับหรือทำลายต้นไม้นั้นได้

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ต้องอดทนที่จะเจริญปัญญาต่อไป จนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

ถ. ต้นไม้ต้นนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไร รุนแรงเหลือเกิน อาจารย์บอกให้ไปหายามาใส่ คือ สติปัฏฐาน ๔ ใส่ก็แล้ว อะไรก็แล้ว ก็คงต้องอดทนอย่างที่อาจารย์ว่า ชาตินี้จะได้สักแค่ไหน และอดที่จะคิดปรุงแต่งไม่ได้ว่า เราศึกษาธรรมมากๆ วันหนึ่งเกิดฟลุ๊คขึ้นมาได้ดวงตาเห็นธรรมจะเป็นอย่างไร อดคิดไม่ได้ แต่เป็นไปไม่ได้

สุ. นั่นเป็นความหวังด้วยอวิชชา ถ้าเป็นอวิชชาจะทำให้หวังไปโดยปราศจากเหตุที่ถูกต้อง

ถ. ก็คงต้องทำเหตุที่ถูกต้อง คือ มาให้อาจารย์อบรมบ่มสังขารขันธ์ เพื่อปรุงแต่งให้มีสติเจริญขึ้น มีปัญญาเจริญขึ้น ระลึกรู้ เพื่อให้ต้นไม้นี้หมดไป ซึ่งคงจะไม่ใช่ชาตินี้

สุ. พอใจในสัญญาขันธ์ไหม ความจำเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ จำว่า เป็นตัวตน ยังชอบอยู่ ใช่ไหม ไม่ใช่นานมาแล้ว แต่ทุกขณะ เพราะถ้าบอกว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม พอใจไหม หรือว่าพอใจในสัญญาที่จะจำว่าเป็นคน เป็นสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องราวต่างๆ

ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญามามาก เพียงฟังว่าลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏเกิดแล้วดับไป สามารถรู้ได้จริงๆ ว่าเป็นอย่างนั้น และเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว สัญญาก็ไม่ได้จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ตามความเป็นจริง แม้แต่เสียงก็ไม่ใช่เสียงเดียว เสียงปรากฏแล้วก็หมดไป เห็นก็ไม่ใช่ได้ยิน

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ได้อบรมแล้วจริงๆ สามารถทำให้สัญญาเปลี่ยน จากการที่เคยยึดถือ เคยพอใจในสัญญาที่ต้องเป็นคน ต้องเป็นเรา ต้องเป็นวัตถุ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นการที่สิ่งใดก็ตามเกิดแล้ว ดับแล้ว หมดแล้ว จบแล้วทุกขณะ ซึ่งเป็นจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ต้องอบรมอย่างที่ว่า ต้องรู้ว่ายังมีความยินดีพอใจ ในความจำเรื่องราวต่างๆ ซึ่งบางคนก็บอกว่า ถ้าไม่จำอย่างนั้นก็ไม่สนุก

ความสนุก ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง ขอให้เพียงรู้ว่า ขณะที่สนุก จริง แต่ไม่ใช่เห็น ลักษณะของความรู้สึกไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สามารถรู้ ความจริงของสภาพธรรมทุกอย่าง และค่อยๆ เข้าใจว่า มีความติดในขันธ์ใดมากน้อยเพียงใด และปัญญาที่ระลึกรู้สามารถรู้ลักษณะของขันธ์ใดเพิ่มขึ้น ก็จะมีการละคลายเพิ่มขึ้นตามกำลังของปัญญา เพราะเมื่อมีความรู้ในขันธ์ทั้งหลาย การละคลายจึงจะเพิ่มขึ้นได้

ผู้ฟัง หนักๆ ด้วยกันทุกขันธ์ สัญญาขันธ์ก็ดี เวทนาขันธ์ก็ดี หนักๆ ทั้งนั้น ไม่มีเบาเลย ขันธ์ ๕ นี่อาจารย์พูดมามาก ได้ฟังทั้งเช้าทั้งเย็นว่า ขันธ์ ๕ ต้องรู้ อาจารย์พูดถึงสัญญาขันธ์ ก็ได้ระลึกสัญญาขันธ์บ้าง แต่หนักๆ ทั้งนั้นเลยแต่ละขันธ์

สุ. ดีที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ยังหนัก แต่ปัญญาจะทำให้อวิชชาค่อยๆ ลดคลาย และจะค่อยๆ เบาบางลงไป จนกระทั่งสามารถดับได้เป็นสมุจเฉท

สำหรับผู้ที่รู้ทุกข์จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่รู้การเกิดดับของสภาพธรรม ซึ่งมีปัจจัยเกิดและปรากฏเพียงสั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และต้องเป็นผู้ที่เห็นภัยของวิญญาณาหาร คือ เห็นความจริงว่า เมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณ มีการเกิด ย่อมนำมาซึ่งทุกข์ทั้งปวง

ปุตตมังสสูตร ข้อ ๒๔๔ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องอาหารประการที่ ๔ คือ วิญญาณาหาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร เหมือนอย่างว่า พวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้วแสดงแก่พระราชาว่า ขอเดชะ ด้วยโจรผู้นี้กระทำผิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ลงโทษโจรผู้นี้ ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงประหารเสียด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ในเวลาเช้านี้

เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ช่วยประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้าต่อมาเป็นเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงช่วยกันประหารมันเสียด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ในเวลาเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ประหารนักโทษ คนนั้นเสียด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ในเวลาเที่ยงวัน

ไม่ใช่ใครอื่น เป็นทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ เพียงแต่ยังไม่ทราบว่า ข้ออุปมานี้หมายความอย่างไร

ต่อมาเป็นเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ นักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงประหารมันเสียด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ในเวลาเย็น เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ในเวลาเย็น

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่าเมื่อเขากำลังถูกประหารด้วยหอก ๑๐๐ เล่มตลอดวันอยู่นั้น จะพึงได้เสวยแต่ทุกข์โทมนัสซึ่งมี การประหารนั้นเป็นเหตุเท่านั้นมิใช่หรือ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็พึงเสวยความทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุ แต่จะกล่าวไปใยถึงเมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอก ๓๐๐ เล่มเล่า ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า จะพึงเห็นวิญญาณาหารฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหาร ได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ฯ

ผู้ที่เห็นการเกิดดับของสภาพธรรม และรู้ทุกข์จริงๆ จะรู้ว่า ทุกข์นั้นมาจากไหน และเกิดขึ้นได้อย่างไร

ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

กรรมพึงเห็นเหมือนพระราชา ปุถุชนคนโง่ผู้อาศัยวัฏฏะเหมือนบุรุษผู้ ประพฤติชั่ว ปฏิสนธิวิญญาณเหมือนหอก ๓๐๐ เล่ม เวลาที่พระราชาคือกรรม จับปุถุชนผู้อาศัยวัฏฏะซัดไปในปฏิสนธิ เหมือนเวลาที่พระราชาจับบุรุษผู้ประพฤติชั่ว สั่งบังคับว่า จงประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม

ในอุปมาเหล่านั้น ปฏิสนธิวิญญาณเปรียบเหมือนหอก ๓๐๐ เล่มก็จริง ถึงอย่างนั้น ทุกข์ย่อมไม่มีในหอก ทุกข์มีปากแผลที่ถูกหอกแทงเป็นมูล ทุกข์ เหมือนกัน ย่อมไม่มีแม้ในปฏิสนธิ แต่เมื่อวิบากให้ปฏิสนธิ วิบากทุกข์ในปัจจุบัน ย่อมเป็นเหมือนทุกข์มีปากแผลที่ถูกหอกแทงเป็นมูล

บทว่า นามรูปํ ได้แก่ เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดมีนามรูป เพราะเมื่อกำหนดรู้วิญญาณ ย่อมเป็นอันกำหนดรู้นามรูปนั้นเหมือนกัน เพราะมีวิญญาณนั้นเป็นปัจจัย และเพราะเกิดพร้อมกัน ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันตรัสเทศนาจนถึง พระอรหัต แม้ด้วยอำนาจวิญญาณาหารแล

ในขณะนี้มีหอกกี่เล่ม ตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น เพราะว่าทุกข์ที่จะมีได้ต้องอาศัยปฏิสนธิ แต่ในขณะที่ปฏิสนธิ ขณะนั้นไม่ได้เป็นทุกข์ เหมือนกับทุกข์ไม่มี ในหอก แต่ทุกข์มีที่ปากแผลที่ถูกหอกแทง เพราะฉะนั้น เมื่อมีปากแผลที่ถูกหอกแทง ก็ย่อมเป็นทุกข์ ด้วยการที่เกิดมาแล้วมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีสิ่งที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และทุกข์ที่แท้จริงคือ การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ตราบใดที่ยังไม่เห็นการเกิดดับ ตราบนั้นก็ไม่สามารถประจักษ์แจ้งทุกข์ที่เป็นอริยสัจจะ เพียงแต่ว่าขณะใดที่ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เข้าใจว่าเป็นทุกข์ แต่ต้องสาวไปถึงต้นเหตุว่า ทุกข์จริงๆ นั้นมาจากไหน ถ้าไม่มีการเกิด ทุกข์ทั้งหมดจะมีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีกรรม ก็ต้องมีปฏิสนธิ และทุกข์ก็หมดไม่ได้

ผู้ฟัง เรื่องของขันธ์ ๕ เมื่อกี้ขณะฟังธรรมได้เหตุได้ปัจจัยจริงๆ สุนัขเห่า เสียงดังลั่น สิ่งที่ปรากฏทางหูก็ปรากฏขึ้น ในระหว่างที่นั่งฟังอาจารย์ไป สภาพธรรม ก็เกิดขึ้น มีสติระลึก เก็บเล็กผสมน้อยไปอย่างนี้ วันไหนถ้าได้คุยเรื่องสติปัฏฐาน กับอาจารย์ ก็ได้เหตุปัจจัยทำให้สติระลึกได้บ่อยจนกระทั่งบางทีถึงวันอังคาร วันพุธ หลังจากนั้นก็จางลง และเสียงที่ฟังจากอาจารย์ที่นี่กับฟังทางวิทยุก็ไม่เหมือนกัน เวลาฟังทางวิทยุ บางคนฟังไปกวาดบ้านไป ออกกำลังกายไป สติไม่ระลึก เหมือนกับไม่มีอะไรมากระตุ้น

สุ. เป็นชีวิตประจำวันของบุคคลนั้น ขณะนั้นสติก็ระลึกได้

ผู้ฟัง ระลึกได้แน่นอนตามที่ได้ศึกษามา เป็นอนัตตาอยู่แล้ว ได้เหตุได้ปัจจัย ก็ระลึกได้ ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฟังอาจารย์แล้ว ก็เกิดความคิดว่า ทำไมช่างมากมาย

สุ. อะไรมาก

ผู้ฟัง ธรรมของพระพุทธองค์

สุ. ธรรมมากอยู่แล้ว แต่ไม่รู้

ผู้ฟัง แต่กิเลสก็คงไม่น้อยกว่าธรรมของพระพุทธองค์

สุ. ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ไม่สามารถรู้เลยว่า ธรรมมากแค่ไหน และกิเลสอกุศลมากแค่ไหน แต่รู้ดีกว่าไม่รู้ ใช่ไหม

ผู้ฟัง มีอีกมากที่ยังไม่เคยฟัง อย่างไปอ่านเรื่องอเหตุกเจตสิก ก็ไม่ค่อยได้ฟัง ไปอ่านในปริจเฉท ๓ ทำให้คิดอีกว่า สิ่งนี้ไม่เคยฟัง เราก็ต้องทำความคุ้นเคยขึ้นมาอีก อ่านเที่ยวแรกไม่เข้าใจ ต้องอ่านเที่ยวสอง เพราะเราไม่คุ้นเคยกับอเหตุกเจตสิก และธรรมของพระพุทธองค์มากแสนมาก กลางคืนอ่านของอาจารย์ เล่มปรมัตถธรรม เช้าขึ้นมาที่ทำงานอ่านอรรถกถาบ้าง พระไตรปิฎกบ้าง และยังมีปริจเฉทที่ ๑ ถึง ปริจเฉทที่ ๙ อีก

สุ. ล้วนแต่เกื้อกูลทั้งนั้น เป็นประโยชน์

ผู้ฟัง นอกจากนั้นยังมีอีก ที่อาจารย์แนะนำไว้ในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป อย่างมิลินทปัญหา ก็ยังไม่ได้ไปพบเลย

สุ. บางท่านก็บอกว่า ธรรมมากเกินไป ทำไมมากอย่างนี้ จะเรียนอย่างไรไหว แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์แล้วรู้ว่า ยิ่งมากยิ่งดี เพราะว่าเกื้อกูลโดยละเอียดให้พิจารณาทุกแง่ ทุกมุม ทุกด้าน ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะไม่มีผู้ที่แนะนำชี้ทาง ให้ไตร่ตรองพิจารณาให้ปัญญาเจริญขึ้น

ผู้ฟัง ทำให้เกิดสังขารขันธ์คิดอีก

สุ. ก็ดี ที่รู้ว่าขณะนั้นเป็นชั่วขณะหนึ่ง

ผู้ฟัง เคยคิดว่า ชาตินี้เอาแค่นี้ อดคิดไม่ได้ แต่ไม่ถูกต้อง เพราะอาจารย์บอกไว้แล้วว่า อย่าไปตีกรอบ อย่าไปขีดเส้น จำได้ ไม่ลืม แต่อดคิดไม่ได้ว่า มากเหลือเกิน

สุ. ก็ให้รู้ว่าขณะนั้นเพียงคิด

เปิด  237
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565