แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1989

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๔


สุ. คราวก่อนเป็นเรื่องของทุกข์ ซึ่งทุกคนเกิดมาแล้วที่จะไม่มีความทุกข์ ไม่มีความโศกเศร้าเสียใจ เป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าความทุกข์จะเกิดขึ้นกับใคร ในวันไหน ในลักษณะอย่างไร และจะเป็นทุกข์ที่ร้ายแรงในความรู้สึก หรือเป็นทุกข์ เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ร้ายแรง

ขอเล่าให้ฟังถึงท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งสามีของท่าน เข้าไปในบ้านและบอกท่านว่า ลูกหายไป ซึ่งลูกท่านยังเล็กอยู่ ท่านตกใจมาก เป็นทุกข์ใหญ่หลวงในชีวิตของท่าน ถ้าเหตุการณ์นี้ไม่เกิดกับท่าน ท่านจะไม่ทราบเลยว่า ความรู้สึกเป็นทุกข์อย่างมากมายนั้นเป็นอย่างไร ลูกเล็กหายไป คิดดู สำหรับ ทุกท่านจะรู้สึกอย่างไร คนที่ไม่เป็นทุกข์คงไม่มี แต่ขณะนั้นท่านผู้นั้นเป็นผู้ได้ฟัง พระธรรม ท่านก็เห็นจริงว่า โลภะ ความผูกพัน เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อย่าง ใหญ่หลวงสักแค่ไหน ถ้าไม่มีข่าวว่าลูกของท่านหายไป ท่านจะไม่รู้เลยว่า ความผูกพันอย่างมาก ย่อมนำทุกข์อย่างมากมาให้

ถ้ามีความผูกพันไม่มาก ทุกข์ก็คงไม่มาก แต่เมื่อมีความผูกพันมาก ทุกข์นั้น ก็ย่อมมาก แต่ในที่สุดก็เป็นข่าวดี คือ ลูกของท่านไม่ได้หาย เพียงแต่ไปเล่นบ้าน ข้างๆ โดยไม่ได้บอกให้ใครทราบ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็หากันนาน ในที่สุดก็ทราบจากคนที่อยู่บ้านที่ลูกไปเล่นว่า ความจริงลูกเล่นที่บ้านนั้นนานแล้ว แต่เหตุการณ์นั้นก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ได้อย่างมาก นี่เป็นช่วงหนึ่งที่คิดว่าหายแต่ไม่หาย แต่ถ้าเป็นการหายไปจริงๆ ความทุกข์นั้นจะมากมายสักแค่ไหน

เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคนซึ่งมีความผูกพัน เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ ที่ทำให้ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ผูกพันยึดมั่นก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าคิดถึงพระโสดาบัน ท่านจะตกใจไหม เป็นของธรรมดาที่ทุกคนจะต้องตกใจและโศกเศร้า เมื่อยังมีเหตุที่จะให้โศกเศร้าอยู่ แสดงว่าขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ขณะนั้นความโศกเศร้าก็ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นๆ แต่ถ้าปัญญาพร้อมสติเกิดขึ้นในขณะใด ชั่วขณะที่ปัญญาและสติเกิด ขณะนั้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ความรู้สึกเสียใจ โทมนัส ความโศกเศร้าอย่างรุนแรงนั้น ก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว เพราะในขณะนั้นก็เห็น ซึ่งขณะเห็นไม่ใช่ขณะที่โศกเศร้า ขณะที่ได้ยิน ก็ไม่ใช่ขณะที่โศกเศร้า เพราะฉะนั้น จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ สภาพธรรมแต่ละขณะ แต่ละประเภทซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เพราะว่าปัญญายังรู้ไม่ทั่ว เวลาที่มีความโศกเศร้ามากๆ ขณะนั้นสติปัฏฐานก็ไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นซึ่งไม่ใช่ลักษณะของความโศกเศร้าเสียใจ ทำให้มีความรู้สึกเหมือน กับว่าเป็นความทุกข์อย่างใหญ่หลวง เหมือนกับว่าไม่ได้ดับไปเลย แต่ความจริงทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนาเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะและดับไป และมีสภาพธรรมอื่นปรากฏ นี่คือกิจของปัญญาจริงๆ

ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีอะไรที่จะผ่อนคลายความทุกข์ความโศกเศร้านั้นๆ ได้ แต่ก็เป็นแนวทางที่จะทำให้ทุกท่านได้พิจารณาเห็นโทษของโลภะว่า ถ้ามีโลภะมากๆ ความทุกข์ก็ต้องมาก เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่ความทุกข์จะลดน้อยลง ก็คือมีความ ติดข้องมีความผูกพันลดน้อยลง และทุกข์นั้นก็เป็นทุกข์ทางใจ เป็นโทมนัส เป็นทุกข์ประเภทหนึ่งซึ่งปัญญาสามารถระงับได้ แต่ก็ยังมีทุกข์อย่างอื่นอีกมาก ซึ่งถ้าเป็น ทุกข์กายที่เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนสภาพของ ทุกข์กายนั้นให้เป็นสุขทางกายได้ และสำหรับทุกข์กายในภูมิมนุษย์ที่ว่ามาก สำหรับท่านที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเป็นโรคภัยอย่างร้ายแรง ถ้าเปรียบเทียบทุกข์กายนั้นกับในนรก หรือเปรต ก็ย่อมจะเทียบกันไม่ได้เลย เพราะว่าทุกข์ในทุคติภูมินั้น ต้องมีมากกว่าทุกข์กายในสุคติภูมิ

ขอกล่าวถึงข้อความใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พาลบัณฑิตสูตร ข้อ ๔๖๗ – ๔๘๐ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ณ พระวิหารเชตวันว่า

คนพาล คือ ผู้ที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ๓ อย่าง ในปัจจุบัน คือ

เมื่อคนอื่นกล่าวถึงโทษภัยของทุจริตต่างๆ อกุศลจิต อกุศลกรรม สภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ในขณะนั้นผู้นั้นก็รู้ตัวว่า เขาประพฤติอย่างนั้น เขามี สภาพธรรมอย่างนั้น ขณะนั้นจึงเป็นทุกข์โทมนัสข้อที่ ๑ ในปัจจุบัน

ใครก็ตามที่กระทำผิดทางกาย ทางวาจา ทางใจ และได้ฟังพระธรรม และรู้ว่า พระธรรมได้แสดงเหตุผลว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศล ผู้ที่มีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ ย่อมจะรู้สึกตัวว่า ตนเองเป็นผู้ที่มี สภาพธรรมที่ไม่ดี ในขณะนั้นจะรู้สึกเป็นทุกข์โทมนัส นี่เป็นทุกข์โทมนัสข้อที่ ๑ ในปัจจุบัน

และเมื่อเขาเห็นโทษภัยที่ผู้ทำทุจริตถูกลงโทษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายที่ได้รับการทรมานต่างๆ ก็ย่อมกลัวที่จะได้รับโทษภัยเพราะอกุศลกรรม ที่ตนได้กระทำแล้วนั้น จึงเป็นทุกข์โทมนัสข้อที่ ๒ แม้ในปัจจุบัน

คือ ทำอกุศลแล้วย่อมกลัวผลของอกุศลกรรมที่จะต้องเกิดขึ้นกับตน ในขณะที่หวั่นไหว กลัวโทษ กลัวผลของอกุศลกรรม ในขณะนั้นก็เป็นทุกข์โทมนัสข้อที่ ๒ ในปัจจุบัน

และเมื่อเขาไม่ว่าจะนั่งบนตั่ง นอนบนเตียง หรือบนพื้นดิน ก็คิดถึงผลของอกุศลกรรมที่จะได้รับในภพภูมิข้างหน้าต่อไปคือในนรกเป็นต้น ขณะนั้นก็ย่อมเศร้าโศกโทมนัส เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ย่อมปกคลุมครอบงำแผ่นดินในเวลาเย็น คนพาลย่อมเสวยทุกข์โทมนัสข้อที่ ๓ นี้แล ในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่มีความคิดชั่ว มีวาจาชั่ว มีการกระทำชั่ว แสดงให้เห็นว่า ทุกข์ย่อมติดตามคนนั้นไป แม้ในขณะที่รู้ เพราะว่าได้ฟังพระธรรม ในขณะที่เห็นผลของอกุศลกรรมที่คนอื่นได้รับ ก็ย่อมรู้สึกโทมนัสว่าตนเองต้องได้รับด้วยในปัจจุบันชาติ และเมื่อคิดถึงในภพภูมิต่อไป ก็รู้ว่าเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิก็เป็นทุกข์โทมนัส ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสทุกข์ในนรกว่า ยากที่จะเปรียบกับทุกข์ในภูมิมนุษย์ได้ เพราะทุกข์ในมนุษย์นั้นไม่ถึงเสี้ยวของทุกข์ในนรก

ข้อ ๔๗๖

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้น ย่อมใช้ฟันและเล็มกินหญ้าสด ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกที่มีหญ้าเป็นภักษาคืออะไร คือ ม้า โค ลา แพะ เนื้อ หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่มีหญ้าเป็นภักษา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกมีหญ้าเป็นภักษาเหล่านั้น

ทุกคนจะเห็นได้ว่า พระธรรมทรงแสดงแม้เพียงบทเดียว ก็สืบเนื่องตลอดไปจนถึงบทอื่นๆ เช่น คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในเบื้องต้น ในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกมีหญ้าเป็นภักษาเหล่านั้น เพราะความติดในรสตั้งแต่เริ่มเกิด ตั้งแต่เด็กเล็กๆ และเจริญเติบโตขึ้น ก็ไม่หมดความติดในรส จนกระทั่งถึงตายก็ยังคงเป็นผู้ติดในรสอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการติดในอื่น เช่น ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในโผฏฐัพพะ เพียงรสที่ติดก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้มีอุปาทาน มีความยึดมั่น และ มีการแสวงหาที่เป็นไปในทางทุจริตกรรมต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นโดยประการนั้นๆ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวก มีหญ้าเป็นภักษาเหล่านั้น

ข้อ ๔๗๗

พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา

สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้น ได้กลิ่นคูถแต่ไกลๆ ย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่าจะกินตรงนี้ เปรียบเหมือนพวกพราหมณ์เดินไปตามกลิ่นเครื่องบูชาด้วยตั้งใจว่าจักกินตรงนี้ๆ … ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษาคืออย่างไร คือ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขป่า หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่มีคูถเป็นภักษา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกมีคูถเป็นภักษาเหล่านั้น

ทุกท่านคงจะเห็นสัตว์ที่มีคูถเป็นภักษาในโลกนี้ เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาว่า กรรมอะไรที่ทำให้สัตว์เหล่านี้ต้องมีคูถเป็นภักษา ก็จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้มีความติดในรส และเป็นผู้ที่กระทำอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น เมื่อกระทำอกุศลกรรมนั้นแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกมีคูถเป็นภักษาเหล่านั้น

ข้อ ๔๗๘

พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกที่เกิดแก่ตายในที่มืด คือ พวกตั๊กแตน บุ้ง ไส้เดือน เป็นต้น โดยนัยเดียวกัน

ข้อ ๔๗๙

พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกที่เกิดแก่ตายในน้ำ คือ ปลา เต่า จระเข้ เป็นต้น โดยนัยเดียวกัน

ข้อ ๔­๘๐

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครก ก็สัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครกคืออะไร คือ เหล่าสัตว์ที่เกิดแก่ ตายในปลาเน่าก็มี ในศพเน่าก็มี ในขนมกุมมาสเน่าก็มี ในน้ำครำก็มี ในหลุมโสโครกก็มี หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เกิดแก่ตายในของโสโครก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจในรสในเบื้องต้น ในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวถึงกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานแม้โดยอเนกปริยายแลเพียงเท่านี้ จะกล่าวให้ถึงกระทั่งกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานเป็นทุกข์ มิใช่ทำได้ง่าย

แสดงให้เห็นว่า กำเนิดต่างๆ ซึ่งเป็นผลของกรรมต่างๆ และมีทุกข์ต่างๆ มีมาก เพราะฉะนั้น ที่เกิดเป็นมนุษย์ และยังไม่ได้รับผลของกรรมในอบายภูมิ ก็ยังเป็นผู้มีโอกาสที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ ที่จะไม่เกิดในอบายภูมิตามควรแก่เหตุ ถ้าตราบใดยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีปัจจัยทำให้เกิดในอบายภูมิได้ แต่เมื่อได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันแล้วเมื่อไร ก็จะไม่เกิดในอบายภูมิอีกเลย

ถ. ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน และยังติดในรส เมื่อติดในรสแล้ว ตายไปก็ต้องมีคูถเป็นภักษาหรือ

สุ. แล้วแต่กรรม แล้วแต่กรรมจริงๆ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็น แม้เพียงการติดในรสซึ่งเป็นเบื้องต้นในโลกนี้ คือ เกิดมายังไม่ติดในอย่างอื่น ที่จะปรากฏให้เห็น แต่ที่ปรากฏให้เห็นทุกคน คือ การติดในรส แม้เป็นเด็กเล็กๆ อาจจะยังไม่สนใจในเรื่องรูปทางตาที่สวยๆ งามๆ หรือเสียงทางหู ยังไม่ติดมาก แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในเบื้องต้น คือ การติดในรส

เพราะฉะนั้น ทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้น และต่อไปจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงติด ในรสอย่างเดียว ยังมีการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และต้องเป็นผู้ที่ทำอกุศลกรรม

ถ. … สรุปแล้วผมคงเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งใน ๕ นี้แน่ๆ เพราะว่า ติดในรสอาหารทุกวันๆ เดี๋ยวเติมนั่นเติมนี่ ใช่ไหม

สุ. ทุกคน ไม่เว้นเลย

ถ. จะเป็นสหายกันทั้งหมดเลยหรือ

สุ. แล้วแต่กรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้

ถ. แล้วแต่กรรมไหน อ่านตรงนี้แล้วไม่มีทางเลือกเลย เพราะเราพูดถึง ติดในรสอาหารและประกอบอกุศลกรรม ใหญ่น้อยแค่ไหนก็ไม่ทราบ พวกเราประกอบทั้งนั้น ผมก็เลยมึนงง ท่านอาจารย์กรุณาฉายแสงให้พอมีความหวังบ้าง

สุ. ในอบายภูมิ ๔ คือ นรก ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑ เดียรัจฉาน ๑ จะเห็นได้ว่า นรกได้รับความทรมานอย่างมากมาย ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องความทนทุกข์ทรมานในนรกไว้มาก ซึ่งไม่มีเลยในสุคติภูมิที่จะเป็นถึงอย่างในนรก เพราะว่าที่นั่นเป็นการทรมานไม่รู้จบ จนกว่าจะสิ้นผลของอกุศลกรรม

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นกรรมหนัก และสำหรับการเกิดเป็นเปรตก็เหมือนกัน ต้องเป็นผู้ทำทุจริตกรรม มีโลภะ มีความโลภ มีความไม่พอ และทำให้คนอื่นลำบากเดือดร้อน ผลคือต้องเป็นผู้หิวกระหาย

และเบาบางกว่านั้น คือ เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่ใช่ในนรก ไม่ได้เป็นเปรต แต่ก็ยังเป็นภูมิต่ำ และมีอาหารเช่นคูถ หรืออะไรก็แล้วแต่ซึ่งเป็นที่พอใจของสัตว์เหล่านั้นด้วยอกุศลกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ไม่มีใครจะไปรู้เรื่องกรรมและผลของกรรม เพราะว่าไม่ใช่วิสัยของบุคคลอื่น นอกจากเป็นวิสัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อเห็นสัตว์เหล่านี้ซึ่งมีอาหารต่างๆ กัน มีกำเนิดต่างๆ กัน ก็ย่อมรู้ว่าเป็นผล ของอกุศลกรรม

สำหรับการติดในรส ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ และเมื่อไปทำอกุศลกรรม ก็คงจะเนื่องกับรส เพราะถ้าจะพูดจริงๆ แล้ว ความทุกข์ที่แท้จริงของทุกคนก็คือทุกข์กาย ธรรมดาก็โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ประจำวันก็คือความหิว เพราะฉะนั้น ถ้ามีอกุศลกรรมซึ่งเป็นไปกับเรื่องของการบริโภค เพราะว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ต้องมีการแสวงหา และภายหลังก็ไม่มีความพอในทุกสิ่งทุกประการจนกระทั่งกระทำทุจริตกรรม

ถ้าทุจริตกรรมนั้นเป็นไปเพราะรส หรือเนื่องจากรส ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ ไม่มากมายเท่ากับอกุศลกรรมอื่นที่จะทำให้ไปเกิดในนรก หรือเกิดเป็นเปรต เพราะฉะนั้น ก็เป็นสัตว์เดียรัจฉาน เพราะว่ายังเป็นผู้ที่ติดในรสและกระทำอกุศลกรรมด้วย

ผู้ที่ทำอกุศลกรรม จะบอกว่าไม่ติดในรสได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมก็จำแนกไปว่า เป็นผู้ติดในรสจริง แต่ทำอกุศลกรรมอะไร หนักมากน้อย แค่ไหน และผู้ที่กระทำอกุศลกรรมแม้เล็กแม้น้อยก็ตาม เป็นผู้ที่ยังติดในรสหรือเปล่า ก็ยังเป็นผู้ติดในรสอยู่ เมื่อยังเป็นผู้ติดรส คือ ยังเป็นผู้มีกิเลส และเป็นผู้ที่ได้ทำอกุศลกรรม จึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดเป็นสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ได้

เปิด  226
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565