แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2000

สนทนาธรรมที่โรงแรมอโศก เมืองโพปาล

วันอาทิตย์ ๒๔ ตุลาคม

ต่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๓


ถ. จิตเป็นสภาพรู้ และเจตสิกก็เป็นสภาพรู้ วันนั้นที่โรงแรมอโศก มีเพื่อนสนทนาธรรมเขาสนใจ อยากให้อธิบายความต่างของจิตและเจตสิก ผมก็อธิบายไม่ได้ละเอียด ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายอีกครั้งถึงการสังเกตสภาพธรรมว่า จะเข้าใจได้อย่างไรว่าธรรมที่เราฟังนี้เป็นจิตหรือเจตสิก

สุ. ถ้าจะสังเกตเข้าใจลักษณะ ไม่ต้องเรียกชื่อ อย่างเวลาที่เกิดโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่ต้องเรียกชื่อ นั่นคือรู้ลักษณะ แต่โดยการศึกษาเราทราบว่า จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน และจิตไม่สามารถมีลักษณะของเจตสิกแต่ละเจตสิกได้เลย เจตสิกแต่ละเจตสิกก็มีลักษณะและกิจการงานเฉพาะแต่ละเจตสิกนั้นๆ แม้เจตสิก จะเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต เกิดที่เดียวกับจิต แต่การรู้อารมณ์ของเจตสิกแต่ละเจตสิกก็เป็นไปตามสภาพลักษณะของเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิก มี เป็นนามธรรม ไม่ใช่จิต โดยมากเรากำลังเห็น เราก็สามารถเข้าใจว่า เป็นจิตที่เห็น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้มีผัสสเจตสิก มีสภาพนามธรรมที่เกิดร่วมกันอย่างน้อยที่สุดถึง ๗ ชนิด อย่างผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกรู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่รู้เพียงโดย กระทบเท่านั้น ไม่เกินกว่านั้น เพราะว่าลักษณะของผัสสะต้องกระทบ นี่เป็นลักษณะของเจตสิก

ถ. โทสมูลจิต และโทสเจตสิก สภาพธรรม ๒ อย่างต่างกันอย่างไร

สุ. เวลาที่เรารู้ลักษณะ เราไม่ไปรู้ชื่อ แต่เรารู้ลักษณะของความเป็นใหญ่ อย่างการเห็น หรือสภาพที่เป็นจิต แต่ลักษณะของเจตสิก อย่างโทสเจตสิก ก็เป็นสภาพที่กำลังขุ่นเคือง แข็งกระด้าง หยาบกระด้างในขณะนั้น ไม่จำเป็นต้องไปแยกว่า นี่จิต นี่เจตสิก โดยชื่อ แต่แล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพนามธรรมใดปรากฏ

ถ. วันหนึ่งๆ แม้จะได้ฟังธรรมเรื่อยๆ แต่โอกาสหลงลืมสติมีมากเหลือเกิน บางครั้งก็เป็นอกุศลจิตเรื่อยๆ และระลึกได้บ้าง เราฟังแล้วจะเริ่มพิจารณาธรรมอย่างไรดี จึงจะมีโอกาสได้เจริญกุศลที่เป็นสติปัฏฐานเพิ่มขึ้น

สุ. ไม่ใช่อย่างไรดี ฟังเหมือนกับคุณณรงค์จะทำ มีความคิด มีความต้องการ แต่ลืมว่าขณะที่ต้องการนั้นไม่ใช่ขณะที่สติระลึก เราเป็นผู้ที่รู้หนทางอยู่แล้วว่า มีทางเดียวที่จะเจริญปัญญาคือโดยสติระลึก แต่แทนที่จะระลึกก็จะทำอย่างไรดี แสดงว่า พลาดไปอีกแล้ว ไม่มีทางอื่นเลย

ผู้ฟัง เริ่มรู้สึกตั้งแต่มาอินเดียว่า กว่าที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติในโลกก็แสนยาก โอกาสได้ฟังธรรม โอกาสพบสัตบุรุษ โอกาสได้พบท่านอาจารย์ที่แสดงธรรมที่ถูกต้อง โอกาสนี้ถ้าเราเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น เริ่มอบรมเจริญสติได้มากขึ้น และละคลายอกุศล ได้มากขึ้นก็คงจะดี แต่ไม่ได้หมายความว่า จะทำ และบางครั้งก็รู้สึกว่า หลงลืมไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา รู้สึกว่า วันหนึ่งมีอกุศลจิตมากกว่ากุศลจิต

สุ. ถ้าสติระลึกจริงๆ อกุศลก็เป็นธรรมดา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จะเดือดร้อนอะไร แต่ว่าไม่ได้ระลึก เพียงแต่นึกเรื่องว่าเราไม่ได้เจริญสติ สติไม่เกิด สติน้อย เมื่อเป็นเรื่อง ก็มีความอยากที่จะให้มีกุศล เพราะฉะนั้น โลภะเขาต้องการแม้แต่กุศลก็ต้องการ ทำไมไม่รู้จักตัวโลภะ ไม่รู้จักหน้าตาของโลภะ เพราะว่าปัญญาเท่านั้นที่จะละโลภะได้ คุณนีน่าต้องตอบอีกที เหมือนอย่างวันที่เวียนเทียนที่สาญจี

นีน่า มีหลายอย่างที่ปรากฏทางตาและคิดมากกว่า แต่ไม่ต้องบังคับว่า ไม่ให้มีอกุศล เพราะว่าเป็นธรรมดา ทุกอย่างต้องเป็นธรรมดา ที่เราพูดกันเรื่องนามรูปธรรมดาที่สุด ไม่ต้องบังคับเลย เป็นธรรมชาติทุกอย่าง ไม่ต้องคิดว่าเดี๋ยวจะไป สังเวชนียสถาน ต้องมีความคิดที่ดีเท่านั้น ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะไม่ใช่ความจริง เป็นสัจจบารมีถ้ารู้ตัวเองตามความเป็นจริงเท่านั้น ถ้าไม่รู้ความจริง เจริญปัญญา ไม่ได้เลย

สุ. เวลาที่อกุศลเกิดและอยากให้เป็นกุศล นี่ผิด แต่เวลาที่อกุศลเกิดและ รู้ว่าอกุศลเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน นั่นถูก และจะอยากอะไร

ถ. ดิฉันยังงงอยู่ว่า เจตสิกกับโลภะต่างกันอย่างไร ตอนไหน

สุ. ถ้าพูดถึงสภาพของจิตซึ่งเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ที่ใช้คำว่า เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เพราะว่าจิตทำอย่างอื่นไม่ได้เลย และการที่จิตจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเจตสิกเป็นปัจจัยปรุงแต่งเกิดร่วมกัน ถ้าปราศจากเจตสิก จิตก็เกิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตขณะหนึ่งจะเกิด ต้องมีเจตสิกอย่างน้อยถึง ๗ ประเภท ทำกิจการงานเป็นปัจจัยแต่ละอย่างในขณะที่เกิดพร้อมจิต เพื่อให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เป็นประธานเฉพาะการรู้อย่างเดียว จิตจำอะไรไม่ได้ จิตโกรธไม่ได้ จิตรักไม่ได้ จิตเมตตาไม่ได้ เพราะว่าสภาพต่างๆ เหล่านี้เป็นเจตสิกทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้จะแยกเป็นเจตสิก ๕๒ และจิต ๑ ก็ได้ ที่ว่าเป็นจิต ๑ เพราะว่า จิตรู้อย่างเดียว แต่เจตสิก ๕๒ ชนิด มีลักษณะของเจตสิกแต่ละอย่างๆ เช่น ผัสสเจตสิก รู้อารมณ์เดียวกับจิตโดยกระทบอารมณ์ มากกว่านั้นไม่ได้ รู้เพียงแค่กระทบ เวทนาเจตสิกก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่เป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์

ในขณะนี้ทุกคนบอกว่าเห็น เห็นคือจิต ไม่ใช่เจตสิก แต่ขณะที่เห็นนั้น ต้องมีความรู้สึกประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดร่วมกับจิต เวลาเห็น ขณะที่เห็น ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ชั่วขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ ขณะนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา ซึ่งเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ขณะใดที่เจตสิกนี้เกิดขึ้นต้อง เป็นลักษณะที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือดีใจ หรือเสียใจ หรือเฉยๆ เป็นสภาพความรู้สึก ถ้าไม่แยกทางกายกับทางใจ ก็มี ๓ อย่าง คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา ถ้าแยกเป็นทางกายกับทางใจ ทางกายก็เป็นสุข เป็นทุกข์ ทางใจก็เป็นโสมนัส โทมนัส และอุเบกขาคือเฉยๆ นี่คือเวทนาเจตสิก

โทสเจตสิกไม่ใช่จิต สภาพลักษณะของโทสะเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง เกิดขึ้นขณะใดก็ขุ่นมัว หยาบกระด้าง ทำให้จิตนั้นเป็นอกุศลจิต ทั้งๆ ที่จิตในขณะนั้นกำลังรู้อารมณ์ รู้อารมณ์อยู่เฉยๆ รู้อารมณ์อยู่แท้ๆ แต่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งแล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งเป็นจิตประเภทใด เช่น จิตกำลังเห็นและดับไป มีจิตขณะต่อไปเกิดขึ้น มีความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น ในขณะที่กำลังยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ลักษณะของจิต คือ เห็นสิ่งนั้นเท่านั้นทางตา ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาลักษณะของจิต คือ เพียงเห็น ส่วนความพอใจไม่ใช่จิต แต่เกิดร่วมกับจิต ทำให้จิตในขณะนั้นติด ต้องการสิ่งที่กำลังปรากฏ ส่วนเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตที่ยินดีพอใจนั้น อาจจะ มีความโสมนัส ดีใจมาก เพลิดเพลินมาก พอใจมากก็ได้ หรือมีความรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ นี่คือเจตสิกที่เกิดกับจิต โดยที่จิตไม่ใช่เจตสิกเหล่านั้น แต่เป็นใหญ่โดยการรู้อารมณ์นั้น

ทางหูที่กำลังได้ยิน มีเสียงปรากฏ จิตเป็นสภาพที่ได้ยิน แต่เจตสิกเกิดกับจิตกระทบเสียงบ้าง จำเสียงบ้าง รู้สึกพอใจไม่พอใจในเสียงบ้าง หรือเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง หรือเป็นเมตตาบ้าง เป็นกรุณาบ้าง เป็นริษยาบ้าง นั่นคือลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพของเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเกิด ให้ทราบว่าขณะนั้นต้องมีจิต แต่ลักษณะของเจตสิกปรากฏ ทำให้รู้ในลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทนั้นว่า เป็นสภาพอื่นต่างหากจากจิตซึ่งกำลังรู้อารมณ์นั้น

ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ มีเพียง ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นอกจากนั้นเป็นบัญญัติทั้งสิ้น คือ จิตรู้เรื่อง คิดนึกเรื่องราวของ สภาพปรมัตถธรรม เรื่องราวนั้นไม่มีจริง เป็นแต่เรื่องราวของปรมัตถธรรมที่จิตจำ และปรุงแต่ง และคิดนึก เพราะฉะนั้น บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์

สรุปว่า ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

อย่างคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราว เป็นบัญญัติทั้งนั้น ฝันก็เป็นบัญญัติ เพราะว่าเป็นการคิดเรื่องที่ฝัน เมื่อเป็นเรื่องเมื่อไร เป็นบัญญัติเมื่อนั้น

ถ. รู้สึกใกล้ชิดมาก ตัวเรื่องเป็นบัญญัติ คิดเป็นปรมัตถ์ ตัวเรื่องเช่น เราเห็นใครเหาะมา ตัวที่เหาะมาไม่มี เป็นสมมติ แต่ที่คิดว่าคนเหาะ เป็นปรมัตถ์ ใช่ไหม

สุ. มีสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา คือ มีสี จึงบอกได้ว่าเห็น เมื่อเห็นแล้ว คิดนึกเรื่องนั้น เป็นบัญญัติ

นีน่า ส่วนมากเราคิดเรื่อง แต่ไม่รู้ลักษณะของการคิดว่าเป็นนามธรรม

ถ. เมื่อเรารู้อย่างนี้ เราก็เห็นสภาพคิดนั้นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ถูกไหม

สุ. นามธรรมที่เกิดขึ้นเหมือนกันหมด คือ เป็นสภาพรู้ ในขณะที่คิด ถ้าไม่มีจิตที่รู้เรื่องนั้น เรื่องนั้นจะมีอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังรู้ กำลังคิดเรื่องนั้น

ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีจิตที่กำลังเห็น คือ รู้ หรือจะกล่าวว่ารู้สิ่งที่ปรากฏทางตาโดยเห็น ซึ่งก็คือเห็นนั่นเอง ขณะที่กำลังได้ยินเสียง เสียงปรากฏ ก็ต้องมีจิตซึ่งเป็นสภาพที่ได้ยิน คือ รู้เสียง หรือจิตที่รู้เสียงนั้น ก็รู้โดยได้ยิน การได้ยินนั่นเองที่เรียกว่ารู้เสียง

เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดนึกก็เหมือนกัน ขณะที่เรื่องปรากฏ ก็ต้องเป็นเพราะจิตกำลังคิดถึงเรื่องนั้น เหมือนกับเสียงที่กำลังปรากฏก็เพราะจิตกำลังรู้เสียง ฉันใด เวลาคิดนึกเรื่องราวไปวันหนึ่งๆ ก่อนจะนอนก็คิดสารพัดคิด ให้รู้ว่าขณะนั้นจิตกำลัง รู้เรื่องที่คิด จิต เจตสิก ต้องเป็นสภาพรู้

ถ. สภาพคิดนี่คล้ายๆ พูดอยู่ในใจ หรือทางตาก็เหมือนมองเห็นลางๆ เป็นภาพ หรือทางหูก็เหมือนกับเราได้ยินเสียง เราคิดเป็นเสียงปืนใหญ่ เสียงประทัด หรือระเบิด ก็เหมือนฟังเสียงอย่างหนึ่งเหมือนกัน นี่เป็นคิดแต่ละทวารไปตามนั้น ถูกไหม

สุ. เพราะฉะนั้น การคิดอาจจะคิดเพียง ทางตาคิดถึงรูปร่างสัณฐานก็ได้ ทางหูก็คิดถึงเสียงก็ได้ หรือคิดถึงเรื่องราวก็ได้ คิดได้ทุกอย่าง จำได้ทุกอย่าง

ผู้ฟัง เมื่อวานหรือสองวันที่แล้ว ผมทานไอศกรีม สติเกิด เหมือนเป็นอีก โลกหนึ่ง เมื่อมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ บอกไม่ถูก เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่ง ไม่มีชื่อ บอกไม่ถูกจริงๆ

สุ. ถ้าจะกล่าวว่า ก็คือโลกนี้แหละ แต่เราค่อยๆ รู้จักขึ้น ค่อยๆ เข้าใจ สิ่งนั้นขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่เป็นโลกนี้จริงๆ ไม่พ้นไปจากโลกนี้ รสไอศกรีมก็คือ รสไอศกรีมเก่า แต่การรู้จักลักษณะของรสกำลังเพิ่มขึ้น เป็นของธรรมดาๆ ทุกวัน แต่ปัญญา ความรู้ ค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่เคยปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เพิ่มขึ้น ให้เห็นว่าเป็นธรรมดาเพื่อจะได้ละคลายความไม่รู้ในชีวิตประจำวันตามธรรมดา

ผู้ฟัง ก็ไม่ได้เกิดบ่อยครั้ง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว รู้สึกว่าจะโยงไปทางทวารอื่นด้วย สมมติว่าเรามีความรู้สึกอย่างนี้ หรือพิจารณาธรรมชาตินี้ และมาพิจารณาทางกายทวาร ขณะที่สติเกิดระลึกถึงความแข็ง ลักษณะที่ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีสัตว์บุคคล ไม่มีเชื้อไม่มีชาติ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ไม่มีภาษาที่จะเรียก และก็เปลี่ยนไปอีก ทวารหนึ่งได้ ซึ่งก็คงเป็นสภาวธรรมเดียวกัน ใช่ไหม

สุ. โดยมากสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวัน ตามเหตุ ตามปัจจัย แต่เราอยากจะทำอะไรกับเขาสักอย่างหนึ่ง แทนที่จะปล่อยให้ เขาเกิดดับและสติระลึกตามปกติตามธรรมดา ระลึกนิดหนึ่งดับไป ระลึกนิดหนึ่ง และระลึกใหม่ก็ได้ หรือระลึกครั้งแรกยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่ก็เริ่มระลึกแล้ว แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะฉะนั้น ระลึกอีก และ ค่อยๆ พยายามเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ตามปกติ

นี่คือการอบรมเจริญปัญญา สภาพธรรมเขาก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แต่ก็อยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับเขา ใช่ไหม

ผู้ฟัง ผมจะไปทำเหมือนกัน อดไม่ได้ ตัวโลภะ ความต้องการแสวงหา คงจะตามมา

ผู้ฟัง ตั้งแต่เรียนธรรมมา รู้สึกว่าโทสะเกิดเยอะจังเลย ที่จริงแล้วเพราะไม่เคยสังเกตและไม่รู้จักลักษณะของโทสะ เมื่อได้เรียนธรรม รู้จักลักษณะของโทสะ ก็เลย คิดว่า โทสะเยอะจังเลยตั้งแต่เรียนธรรมมา

สุ. สภาพธรรมเกิดขึ้นตามปกติ ดับไปแล้ว ก็แล้วไป บางคนเสียดาย แหม เมื่อกี้สติปัฏฐานไม่เกิด จะไปยุ่งอะไรกับเขาอีก ช่างยุ่งจริงๆ สภาพธรรมดับไปแล้ว ก็แล้วไป ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ระลึกเพื่อที่จะเข้าใจ นั่นคือหน้าที่ของสติและปัญญาที่จะอบรมเจริญขึ้น โดยไม่ต้องไปคิดจะทำ หรือไปนั่งเสียดาย เวลาที่เสียดายก็เริ่มจะทำอีกแล้ว แทนที่จะรู้ว่า ขณะใดสติเกิดก็รู้ ขณะใดสติไม่เกิดก็ หลงลืมสติไป และสภาพธรรมก็ต้องเป็นปกติด้วย ตามธรรมดา ตามปกติ แต่เวลาที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เหมือนต้องจ้อง หรือต้องดู ขณะนั้นผิด เพราะไม่ใช่ปกติ ต้องปกติจริงๆ

ถ. ตอนนี้เราก็ทราบว่าสภาพธรรมเกิดขึ้น ปรากฏ และก็ดับไปตลอดเวลา เช่น ทางตา เดี๋ยวทางตาดับไป ทางหู และก็ทางตาอีก ทางกายก็เกิดดับสลับกัน และทางใจ นานๆ ก็ทางจมูกสักครั้งหนึ่ง และทางลิ้น ถ้าสภาพธรรมเกิดขึ้นและเรา พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง ระลึกได้บ้าง หลงลืมไปบ้าง …

สุ. แล้วแต่ นี่แหละคือธรรมดา จะทำอย่างไรอีก เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

ธรรมในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ต้องเป็นธรรมที่เจริญตามรอยพระบาทของพระโพธิสัตว์ คือ บารมี ๑๐ ซึ่งแต่ละท่านคงได้ฟังเรื่องของบารมีมาแล้ว

ประการแรก ทานบารมี คือ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ซึ่งจะเป็นวัตถุทาน อามิสทาน สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปทางตา เสียงทางหู กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ต้องแล้วแต่มนสิการของแต่ละท่าน เช่น ถ้าเห็นสิ่งที่งามประณีต จะถวายเป็นการบูชาก็ได้ หรือจะให้ได้ยินเสียงธรรม ชักชวนชี้แจงให้คนอื่นได้สนใจธรรม ได้ฟังธรรม แม้เสียงนั้นก็จัดว่าเป็นธรรมทาน เพราะว่าเป็นการให้เสียงเพื่อ เป็นประโยชน์แก่เขา โดยการชักชวนให้เขาฟังธรรม

กลิ่น รส โผฏฐัพพะ การกระทบสัมผัส ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ถ้าเป็นทางกายก็ให้สิ่งที่กระทบสัมผัสสบาย เช่น ไตรจีวร เป็นต้น หรือแม้แต่เครื่องใช้ในกุฎีที่จำเป็น ที่เป็นที่สะดวกสบาย นั่นก็เป็นโผฏฐัพพะที่เป็นทานได้ แต่ไม่จำเป็นที่ทานต้องเป็นไปกับพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แม้แต่เหล่าคฤหัสถ์ด้วยกัน ก็สามารถให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ นี่คือวัตถุทาน หรืออามิสทาน

ทานอีกอย่างหนึ่ง คือ อภัยทาน อะ แปลว่า ไม่ ภัย แปลว่า อันตรายต่างๆ ความเดือดร้อนต่างๆ เพราะฉะนั้น อภัยทาน คือ การให้ที่ไม่เป็นโทษ หรือ ให้สิ่งที่ไม่เป็นภัยแก่คนอื่น ซึ่งเราก็คงทราบว่า ภัยที่จะให้แก่คนอื่นนั้น ทางกายก็ได้ การประทุษร้ายต่างๆ ทางวาจาก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นเป็นอภัยทาน ทานที่ให้ไม่เป็นโทษไม่เป็นภัยแก่คนอื่น ก็ให้สิ่งซึ่งไม่ทำให้เขาเดือดร้อนเป็นต้น เช่น การปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า พวกนี้ที่ถือว่าให้ชีวิต หมายความว่า ให้ความไม่เป็นภัยแก่สัตว์ต่างๆ เหล่านั้น

ทานอีกประการหนึ่ง คือ ธรรมทาน

นี่เป็นเรื่องของทาน เป็นบารมีหนึ่ง ซึ่งยากที่จะบำเพ็ญได้เนืองๆ บ่อยๆ ต้องแล้วแต่กาล แล้วแต่ปัจจัย และแล้วแต่ผู้รับ หลายประการ

เปิด  220
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565