แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1995

สนทนาธรรมที่โรงแรมอโศก เมืองโพปาล

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๓


สุ. สติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังเห็นนี่เป็นของจริง และไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นเพียงสภาพรู้

เพียงคำว่า สภาพรู้ เข้าใจความหมายของคำนี้ชัดเจนลึกซึ้งแจ่มแจ้งแค่ไหน เพียงคำว่า เป็นสภาพรู้ แม้แต่เห็น เราเคยชินกับการเห็น แต่เราไม่เคยระลึกรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เราเลยที่กำลังเห็น และที่กำลังเห็น ที่ใช้คำว่า เห็น ก็คือมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ คือ ให้เห็น ขณะที่กำลังได้ยิน บอกว่าได้ยิน เราเข้าใจ มีคนถามว่า ได้ยินไหม เราบอกว่าได้ยิน ไม่มีใครสงสัยเรื่องการได้ยินเลย เพราะว่าทุกคนได้ยินและชินกับ ได้ยิน แต่เมื่อบอกว่า ได้ยินไม่ใช่เรา เป็นสภาพรู้ เท่านี้ก็แย่แล้วใช่ไหมที่จะคิดให้เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพรู้เป็นอย่างไร ในเมื่อได้ยินเคยเป็นเราได้ยิน และเดี๋ยวนี้จะให้ไม่ใช่เราที่ได้ยิน เป็นแต่เพียงสภาพรู้อย่างหนึ่งซึ่งรู้เสียง

ที่ใช้คำว่า ได้ยิน หมายความว่า รู้เสียง คือ ได้ยินนั่นเอง อธิบายได้ยิน ออกมาชัดๆ ก็คือ มีเสียงปรากฏขณะใด ต้องมีการได้ยินขณะนั้น เพราะฉะนั้น การได้ยิน คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งรู้เฉพาะเสียง ได้ยินเสียงเท่านั้น จะไปเห็น จะไปคิดนึกไม่ได้เลย

นี่คือปัญญาที่จะต้องเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โดยขั้นการฟัง เพราะว่าไม่มีใครจะไปทำให้สติปัฏฐานเกิดและระลึก ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงโดยเพียง ขั้นฟัง ๒ – ๓ ครั้ง

แม้แต่เพียงคำว่า นามธรรม หรือสภาพรู้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาแล้ว พิจารณาอีก บ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะรู้ว่า ที่กำลังเห็น ลักษณะที่เห็น เป็นธาตุ ชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง

สำหรับเรื่องสติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไร อย่างไร จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม กี่ขั้น อย่างไร ยังไม่ต้องพูดถึงทั้งสิ้น ถ้ายังไม่สามารถเข้าใจความหมายของธาตุรู้ หรือสภาพรู้ที่กำลังเห็น

ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งที่ว่า ทุกคนมีจิต เรื่องจิตก็ไม่สงสัยอีกเหมือนกัน ไม่มีจิตก็ไม่เกิด แต่ขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงคิดว่า เข้าใจชื่อแล้วว่าทุกคนมีจิต แต่ขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ถ้าฟังต่อไปอีกก็ทราบว่า จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ ขณะที่เห็นจึงเป็นการรู้สิ่งที่ กำลังปรากฏ ส่วนโต๊ะเก้าอี้พวกนี้ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเลย เพราะว่าไม่มีสภาพรู้

ถ้าพูดถึงสภาพรู้ล้วนๆ ไม่พูดถึงอะไรเลย สภาพนี้มี และกำลังเห็น นั่นคือลักษณะของจิตชนิดหนึ่ง เวลาที่เข้าใจอย่างนี้จะทำให้ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรทั้งหมด ก็สามารถจะรู้เรื่องสิ่งนั้น เช่น เรารู้ว่าเรามีจิต แต่ถ้าไม่ฟังพระธรรม อธิบายไม่ได้ จะออกไปในรูปของจิตใต้สำนึก หรือจิตอะไรๆ ตามหลักที่เคยได้ยินได้ฟังโดยสาขา วิชาอื่น แต่ไม่ใช่วิชาพระพุทธศาสนา จนกว่าเมื่อได้ฟังพระธรรม จึงสามารถเริ่มเข้าใจว่าจิตเป็นสภาพรู้จริงๆ แต่ต้องเข้าใจความหมายว่า สภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ จะมีแต่เฉพาะสภาพรู้โดยไม่มีสิ่งปรากฏให้รู้ไม่ได้ อย่างทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ระลึกบ้างหรือเปล่าว่า ต้องมีสภาพที่กำลังเห็นหรือรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ จึงปรากฏได้

นี่คือการแยกลักษณะของนามธรรมออกจากรูปธรรม คือ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตากับสภาพที่กำลังรู้หรือกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่เข้าใจตอนนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสติปัฏฐานอีก ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะแม้เพียงขั้นการฟัง ก็ยังไม่สามารถเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตนเพราะอะไร

พระธรรมทั้งหมดทั้ง ๓ ปิฎก มุ่งที่สภาพธรรมที่เป็นจริง คือ ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะใครจะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก ไม่ว่าจะเป็นคำสอนในศาสนาไหนทั้งหมดจะไม่มีอนัตตา อาจจะมีอย่างอื่น มีศีลธรรม มีอะไรก็ได้ แต่สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่าง สภาพธรรมแต่ละอย่าง คำสอนแบบนี้ในศาสนาอื่นจะไม่มีเลย เพราะว่าเป็นสัจจธรรมซึ่งจะต้องอาศัยการบำเพ็ญบารมีมามากและนานกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ต้องฟังตามลำดับ และต้องเข้าใจตามลำดับ ไม่ข้ามขั้น ถ้าตอนนี้ไม่เข้าใจ อย่าพูดเรื่องเจตสิกกี่ดวง เกิดกับจิตดวงไหน เกิดก่อนดวงนี้หรืออะไรอย่างนั้น เพราะว่าไม่เข้าใจ จิตอยู่ที่ไหนอย่างไร เป็นสภาพรู้อย่างไร ก็ยังไม่รู้ และจะไปพูดถึงเรื่องชื่อต่างๆ ก็เป็นเพียงการเรียนเรื่องชื่อ ไม่ใช่การเรียนด้วยความเข้าใจ

ถ้าเป็นการเรียนด้วยความเข้าใจ เพียงฟัง จะต้องเป็นเหตุให้เกิดการตรึก เกิดการพิจารณา เกิดโยนิโสมนสิการที่จะรู้ว่า นามธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม เพราะว่านามธรรมเป็นสภาพรู้

และแม้จะรู้ว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ เพียงเท่านี้ก็ยังไม่พอ นี่เป็นเหตุที่ว่า ความรู้จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น และไม่ว่าจะศึกษาส่วนใดในพระไตรปิฎก ก็ไม่พ้นจากเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าศึกษาเข้าใจอย่างนี้ จะเป็นแนวทางให้สติปัฏฐานเกิด แต่ถ้าศึกษาโดย วิธีอื่น ก็ไม่ใช่แนวทางที่จะให้สติปัฏฐานเกิด

อาจจะมีคนบอกว่า ไปทำวิปัสสนา ไปนั่งวิปัสสนา และปัญญาจะเกิดพร้อมเอกัคคตาหรือสมาธิ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ไม่มี ไม่สอดคล้อง ไม่ถูกต้อง สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าสติปัฏฐานไม่ใช่อื่น นอกจากระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่เรากำลังพูดถึง คือ เรื่องนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ แต่ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึกได้ ต้องเข้าใจโดยขั้นการฟังก่อนว่า นามธรรมต่างกับรูปธรรมอย่างไร

ถ. ที่กล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพธรรมได้แก่รูปธรรมนามธรรม ใช่ไหม เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมนามธรรม ต้องอาศัยข้อปฏิบัติโดยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

สุ. โดยเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมก่อน ยังไม่ต้องคิดถึง สติปัฏฐานเลย เข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ ฟังบ่อยๆ เมื่อฟังแล้วต้องพิจารณา ถ้าวันนี้ฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรมแล้วทิ้งเลย ไม่มีทาง ที่สติปัฏฐานจะเกิด แต่เมื่อฟังว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ กำลังได้ยินเป็นสภาพรู้ กำลังคิดนึกเป็นสภาพรู้ ความรู้สึกต่างๆ เป็นสภาพรู้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เป็นเหตุที่จะทำให้มนสิการ พิจารณา ระลึกถึงอรรถความหมายลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงฟังแล้วทิ้งไปเลย นี่คือเหตุให้สติปัฏฐานเกิด หมายความว่าความเข้าใจต้องเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงฟังและตอบได้ว่า เห็นเป็นนามธรรม จบ ซึ่งจบไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะที่เป็นธาตุรู้จริงๆ ไม่ใช่ชื่อ

ถ. ปกติส่วนใหญ่ตื่นขึ้นมาลืมตาเห็น จะเห็นเป็นวัตถุต่างๆ เลย จะถือว่าวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏนั้นเป็นรูปธรรมได้ไหม

สุ. หมายความอย่างไรที่ว่า ถือ และยังให้อนุญาตว่า ได้ไหม สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น จะต้องเข้าใจให้ถูก ไม่ใช่ไปขอคำรับรองจากที่อื่น มาเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมไม่เปลี่ยน แต่ความรู้ความเข้าใจ เรื่องสภาพธรรมนั้นตรงและถูกต้องหรือยังเท่านั้น

ถ. เปลี่ยนคำพูดใหม่ว่า ในขณะที่เราลืมตาตื่นขึ้น เราเห็นสิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็นกระจก เห็นเก้าอี้ เห็นโต๊ะนี่ ...

สุ. เวลานี้ก็กำลังเห็น

ถ. กำลังเห็น เพราะฉะนั้น สิ่งที่เห็นเดี๋ยวนี้ ลักษณะที่เป็นรูปจริงๆ และ สิ่งที่รู้ว่ามีรูปปรากฏ ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายให้ละเอียดอีกสักนิดหนึ่ง

สุ. ไม่มีคำอื่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะเปลี่ยนไปปรากฏทางหู ทางจมูกไม่ได้ และขณะนี้ก็กำลังปรากฏอยู่แล้ว แต่อวิชชาไม่สามารถรู้ เพราะฉะนั้น ต้องฟังจนกว่าวิชชาจะเกิด เพราะว่าวิชชาเท่านั้นที่จะรู้

ไม่ใช่ว่าขณะนี้ไม่ใช่รูปธรรม เป็นรูปธรรมอยู่แล้ว ใครจะรู้หรือไม่รู้รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม รูปธรรมเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูปธรรม เพราะ เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะมีลักษณะปรากฏ เพราะกำลังเห็นสิ่งนั้น จะเอาสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ไปโยนทิ้ง ใครทำได้ ใครจะบันดาลให้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ไม่มีเลย หายไปหมด ใครทำได้

ไม่มีใครทำได้ ใช่ไหม ทำไม่ได้ เพราะว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ต้องฟังและพิจารณาจนกว่าจะเริ่มเข้าใจถูก ขั้นการฟัง

ถ. แสดงว่า ลักษณะที่เป็นสภาพธรรมที่เรากำลังพูดถึงนี้ ยังไม่ปรากฏ กับตัวเรา

สุ. ลักษณะของสภาพธรรมมีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม

ถ. แต่ปรากฏ ใช่ไหม

สุ. ก็เวลานี้เห็น เห็นอะไร

ถ. ทุกท่านช่วยกันคิดหน่อยว่า ทุกท่านกำลังเห็นอะไร เห็นอาจารย์

สุ. เห็นคนเดียวหรือ คุณจารุวรรณเห็นดิฉันคนเดียวหรือ เห็นคนเดียวไม่ได้ เห็นอะไรอีก เห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ใช่ไหม แต่อาจจะนึกถึงรูปร่างสัณฐานของ สิ่งเดียวได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ใครจะนึกถึงหรือไม่นึกถึง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏ

ทะเล ท้องฟ้า มีทุกอย่างหมด เป็นสิ่งที่ปรากฏ ใครจะนึกถึงหรือไม่นึกถึง ไม่สนใจเลย เพราะสภาพนั้นไม่ใช่สภาพรู้ ฉันใด สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาทั้งหมด แต่ก่อนนั้นเราแยกเป็นทะเล เป็นท้องฟ้า เป็นเสา เป็นต้นไม้ใบหญ้า นั่นคือการแยก หรือการจำแนก หรือการทรงจำ คือ การคิดนึกถึงลักษณะสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเพียงแต่ไม่คิดนึก ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เหมือนกันหมดเลยไม่ว่าจะเป็นอะไร เพราะว่ายังไม่แยก ใช่ไหม

ฟ้ากับน้ำยังไม่ได้แยก ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าแยกจริงๆ จะต้องใช้สายตาที่ดีพอที่จะแยกได้ระหว่างฟ้ากับน้ำซึ่งเหมือนสีเดียวกัน แต่ที่แยกอย่างนี้ เพราะคิดนึก สิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงปรากฏ ไม่เปลี่ยนลักษณะ ทุกสิ่ง ถ้าจะบอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เห็นเป็นคน กับสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เห็นเป็นเก้าอี้ ลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนกันหมด แต่ความทรงจำทำให้จำแนกว่า คนนั่งบนเก้าอี้ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เปลี่ยน คือ ปรากฏได้เฉพาะทางตาเท่านั้น

นี่คือก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด ต้องเข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดจริงๆ มิฉะนั้นสติจะระลึกอะไร กาย เวทนา จิต ธรรม ระลึกไม่ได้เลย ระลึกไม่ถูก เพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพนั้นพอที่จะเข้าใจว่าสิ่งนั้นคืออะไร เช่น คำถามของคุณศุกล สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้ว ลืมตาทีไรปรากฏทุกที แต่ไม่รู้ เพราะนึกถึงรูปร่างสัณฐานและทรงจำไว้เหนียวแน่นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ ยังไม่ถ่ายถอนความคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าสติปัฏฐานจะระลึก นี่คือการที่จะไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีวัตถุสิ่งใดๆ มิฉะนั้นแล้ว ต้องมี เพราะว่านึกถึงรูปร่างสัณฐานอยู่ตลอดเวลา

ผู้ฟัง จากที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายอย่างละเอียดอย่างนี้ ไม่ทราบว่าทุกท่าน ที่ฟังแล้วจะมีความเห็นคล้อยตาม หรือยังมีความสงสัยว่า จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างกำลังปรากฏเป็นจริงอยู่ ... เมื่อเรามองไปที่ทะเลสาบ ลักษณะของรูป อยู่ตรงไหน มีใครสงสัยอย่างนี้บ้างไหม เพราะว่าลักษณะที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เวลานี้เรามองไปกว้างๆ จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างหมด ถ้าถามว่าเห็นอะไร ก็ต้องมุ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่ง ตรงนั้นนั่นแหละก่อนที่จะเป็นชื่อหรือเป็นบัญญัติ ต้องเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังจะมีความคิดเห็นอย่างไร ขอเชิญ

ผู้ฟัง ขอเล่าประสบการณ์ที่ผมศึกษาธรรมในแนวของท่านอาจารย์สุจินต์ ผมฟังจากวิทยุตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ และได้ไปฟังบรรยายธรรมที่ตึกสมเด็จ หลังจากนั้น ก็ฟังวิทยุ แต่อยู่ที่อ่างทองฟังไม่ค่อยชัด เกิดความเบื่อหน่าย ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง ตอนนั้นหนังสือยังไม่มี มีความมั่นใจอยู่พอสมควร แต่ยังจับประเด็นอะไรไม่ได้ในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เที่ยวศึกษาจากอาจารย์ต่างๆ แต่ไม่ได้ไปนั่งอะไร ศึกษาขั้นทฤษฎี ขั้นปริยัติ เอาเทปมาฟัง ๑๐ กว่าม้วน ฟังนานๆ เข้ามันตัน เหตุผลไปไม่ได้ ก็ต้องทิ้ง ผมทำงานธนาคารเพื่อการเกษตร ลาออกเมื่อปี ๒๕๑๒ เมื่อลาออกมาแล้วเป็นผลดีที่ว่ามีเวลาว่างมาก กุศลส่งผล ๒ อย่าง คือ ออกมาแล้วก็ทำกิจการค้าส่วนตัวเกี่ยวกับที่ดิน เรียกว่าได้มากพอสมควรในทางลาภ และทางธรรม ขอเทปจากคุณดวงเดือนมาฟัง เมื่อมีโอกาสฟังมากๆ เข้า ความเข้าใจเพิ่มขึ้น คือ ลักษณะแนวทางของท่านอาจารย์สุจินต์นั้น ต้องไปตามลำดับขั้น ต้องปริยัติ ปฏิบัติ จึงจะถึงปฏิเวธได้ คือ ต้องฟัง เพราะฉะนั้น ผมฟังมาก และมีความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า อนัตตา ถ้าเข้าใจอนัตตายังไม่ถูก ปฏิบัติวิปัสสนาไม่ได้ จะไปทำโยนิโสมนสิการบ้าง ทำวิปัสสนาบ้าง ต่างคนต่างทำ เพราะ ไม่เข้าใจคำว่า อนัตตา

ผู้ฟัง ผมขอประมวลอะไรบางอย่าง และถามอาจารย์ด้วย เพราะผมอาจจะเข้าใจผิด มีตอนหนึ่งที่คุณนีน่าบอกว่า มนุษย์เราเกิดมาจะเห็นสมมติสัจจะเป็น ส่วนใหญ่ ปรมัตถสัจจะนั้นไม่รู้เรื่องเลย ทั้งนี้เพราะอวิชชาเป็นตัวทำให้มนุษย์เกิดมาเป็นอย่างนั้น สำหรับการศึกษาเรื่องสติปัฏฐานจะเป็นตอนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาหรือวิชชาเกิดมากแล้ว เราจะมองเห็นเรื่องของปรมัตถสัจจะมากขึ้น โดยศึกษาละเอียดขึ้นเหมือนกับวิชาการทางโลก คือ รู้ว่าสิ่งไหนเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร ปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย และ ในลักษณะไหนที่ปรากฏตัวให้เห็น ในขณะที่จิตของเราบางทีไปเจอสภาพตอนปฏิบัติว่า อ้อ สภาพอย่างนั้นเป็นทุกข์ อย่างนั้นไม่เที่ยง จริงๆ ไม่ได้เกิดกับผม แต่ ผมประมวลมาจากการฟังว่า ลักษณะเป็นอย่างนั้นนั้นใช่หรือไม่

ไม่เที่ยง นั่นเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง ที่ไม่เที่ยงเพราะเป็นอนัตตา ไม่มีตัว ไม่มีตน เมื่อไม่มีตัว ไม่มีตนแล้ว จะเป็นรูปหรือเป็นนามก็ดี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา อนัตตานี้หมายถึง ไม่มีอะไรเป็นตัวตน เพียงแต่ทุกอย่างมาประกอบกันขึ้นก็เกิดขึ้น จะเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นโลกก็ได้ เป็นรูปก็ได้ เป็นนามก็ได้ เราศึกษาสติปัฏฐานก็คงจะเพื่อทำให้เกิดวิชชา มากขึ้นๆ เพื่อจะรู้ในสิ่งเหล่านี้ ผมประมวลจากการฟังของอาจารย์ อย่างนี้จะถูกหรือไม่

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565