แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2010
สนทนาธรรมที่โรงแรมโบบินน่า เมืองโครักขปูร์
วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๓
ถ. ผู้ที่มีการศึกษา มีความเข้าใจในขั้นการฟัง ในขั้นเหตุผล และเริ่มมีสติ สมมติว่าได้สะสมสติมา คงจะไม่ใช่ใหม่ๆ จะไม่มีครั้งใดเลยหรือที่จะมีปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์
สุ. ตั้งแต่เริ่มเจริญสติปัฏฐานทีเดียว จะต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ถ้าไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์แล้วเมื่อไรจะมี ตามปกติธรรมดาขณะนี้ก็กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แต่ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม
เพราะฉะนั้น ความต่างกันของสติปัฏฐานกับขณะที่หลงลืมสติก็คือว่า ขณะที่หลงลืมสติก็มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์แต่ไม่รู้ สำหรับขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และค่อยๆ รู้ขึ้นว่าเป็นปรมัตถธรรม
ถ. แสดงว่ามีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แต่ค่อยๆ รู้ขึ้น
สุ. ว่าเป็นปรมัตถธรรม คุณธงชัยมีแข็งปรากฏที่ไหนบ้าง
ถ. ก็มีที่พื้น
สุ. เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า
ถ. เป็น
สุ. สติปัฏฐานรู้หรือเปล่าว่าเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง สติปัฏฐานเกิดระลึกหรือเปล่า นี่คือความต่างกัน คือ หลงลืมสติ หรือสติเกิด เห็นปกติธรรมดา ได้ยินก็ปกติธรรมดา ได้กลิ่นก็ปกติธรรมดา ขณะนี้ทุกคนกำลัง ลิ้มรส ปกติธรรมดา ขณะนี้กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งหรือเย็น เป็นปกติธรรมดา แต่หลงลืมสติเสมอ คือ ไม่ได้มีการระลึกรู้ตรงลักษณะที่มีจริงๆ และค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ลักษณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
นี่คือความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ
ขณะที่หลงลืมสติ ดื่มน้ำชาก็มีรสน้ำชา นี่หลงลืมสติ ก็อร่อยดีเป็นน้ำชา แต่เวลาที่สติเกิดก็คือว่า ในขณะที่รสกำลังปรากฏ ไม่ได้ต่างกับขณะที่หลงลืมสติเลย แต่สติระลึกที่รส นี่คือความต่างกัน เพราะว่าขณะนี้แข็งมีเสมอๆ แต่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดขึ้นก็คือที่แข็งที่มีเสมอนั้น สติระลึกตรงนั้นเพื่อที่จะได้รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น และก็รู้ความต่างกันว่า ขณะหลงลืมสติคืออย่างนั้น ขณะที่สติเกิดคืออย่างนี้ คือ สภาพธรรมเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่สติระลึกจึงรู้ตรงลักษณะนั้นที่แข็ง หรือเป็น รสหวาน หรือเป็นกลิ่นอะไรก็ตามแต่ หรือเป็นเสียง หรือเป็นสภาพที่กำลังได้ยิน เพื่อที่จะค่อยๆ รู้ขึ้นในสภาพของปรมัตถธรรมซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา
ถ. เมื่อกี้พูดถึงปุถุชน เพราะฉะนั้น แม้สัตว์ดิรัจฉานก็มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์หรือ
สุ. ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น ใครจะรู้หรือไม่รู้ ปรมัตถธรรมก็คือปรมัตถธรรม
ถ. เพราะมีอยู่แล้ว
สุ. มีสัตว์ไหม คุณพรชัย สัตว์ที่เกิดขึ้นมา เป็นจิต เจตสิก รูป ใช่ไหม เป็นปรมัตถธรรม ใช่ไหม
ผู้ฟัง ปรมัตถธรรมมีอยู่ตลอดเวลา รู้หรือไม่รู้เป็นสภาพของจิต เป็นเรื่องของจิตที่จะรู้ลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เข้าใจแล้ว
สุ. เข้าใจว่าปัญหาอยู่ตรงที่ว่า จิต เจตสิกเป็นสภาพรู้ และรูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นเป็นจิตเจตสิกที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทุกคนมีจิต กุศลจิตก็มี อกุศลจิตก็มี วิบากจิตก็มี กิริยาจิตก็มี เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน ตามประเภทของจิตนั้นๆ แต่ปัญญาที่เกิดกับกุศลจิต และเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรม และอบรมจนกระทั่งเจริญขึ้นจากมหากุศลจิตจนถึงโลกุตตรจิต นั่นเป็นปัญญาที่ได้อบรมเจริญขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นแต่เพียงจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ แต่ต้องเป็นปัญญาซึ่งจะต้องค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น เพราะจิตเห็นก็เป็นจิตอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไร จิตได้ยินก็เป็นจิตอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไร แต่ที่จะรู้ว่า เห็นเป็นจิต เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เรา นั่นต้องเป็นปัญญา อวิชชาไม่รู้ลักษณะของ ปรมัตถธรรม แต่ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม
ถ. ถ้าหากว่าผ่านทางปัญจทวารวิถีไปทางมโนทวารวิถีนั้น มีรูป เป็นอารมณ์ ต่อจาก
สุ. แน่นอน ต่อจากทางปัญจทวาร
ถ. แต่บางครั้งไม่ได้ผ่านทางปัญจทวาร เกิดทางมโนทวารอย่างเดียว
สุ. ก็เป็นเรื่องที่คิดนึกขึ้น
ถ. ก็มีนามรูปด้วย
สุ. รูปต้องมี ขาดไม่ได้เลยในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แต่ไม่ใช่เป็นอารมณ์ เพราะว่าขณะนั้นกำลังคิดนึกเรื่องราว
ถ. หมายความว่าทางมโนทวารที่ไม่ผ่านทางปัญจทวารนั้น มีแต่นามธรรม
สุ. นี่เป็นเรื่องที่ใครไม่ทราบไปจับคู่
ถ. ผมเอง เป็นคนจับคู่
สุ. เขาจัดกันมานานแล้ว ทางตา เห็นเป็นนาม สีเป็นรูป ทางหู ได้ยิน เป็นนาม เสียงเป็นรูป ทางจมูก ได้กลิ่นเป็นนาม กลิ่นเป็นรูป ทางลิ้น รู้รสหรือลิ้มรสเป็นนาม รสเป็นรูป ทางกาย รู้เย็นรู้ร้อน รู้อ่อนรู้แข็ง รู้ตึงหรือไหวเป็นนาม เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเป็นรูป เมื่อถึงทางใจ ไม่ได้ตรงกับปริยัติที่ได้ ศึกษาเลย เพราะว่าไปพยายามหารูปมาคู่กับนาม แต่ตามความเป็นจริง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เมื่อจักขุทวารวิถีจิตเกิดตามลำดับของวิถีจิตแล้วดับ โดยรูปดับหมด ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตรู้รูปนั้นต่อ ไม่มีใครยกขึ้นมากล่าวเลยว่า มโนทวารรู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ แต่ไปพยายามจับคู่ ไปหารูปมาให้ มโนทวารรู้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องราวอะไรที่จะต้องไปทำอย่างนั้นเลย นี่เป็นเหตุที่ทำให้คนรุ่นนี้เกิดความสงสัยว่า มโนทวารมีรูปอะไร หรือรู้รูปอะไร ไม่ใช่ว่าไปรู้รูปอะไร มโนทวารรับรู้รูปต่อจากทางปัญจทวาร ทุกวาระของทางปัญจทวาร
ถ. ผมฟังอาจารย์มาก็อย่างนี้
สุ. แล้วทำไมต้องหาคู่ให้กับทางใจ
ถ. สงสัยเพราะทางทวารอื่นมีเป็นคู่
สุ. นักจับคู่ก็หาคู่ ความจริงไม่ใช่เรื่องอย่างนั้นเลย เรื่องอะไรที่ไกลไป อย่าไปคิดจะดีไหม เพราะว่าคิดแล้วก็สงสัยอยู่ในตำรา ต้องพลิกเล่มนั้นเล่มนี้ เอาเหตุเอาผลของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและเข้าใจเป็นลำดับขั้นจะดีกว่า ถ้าเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้มากขึ้น จะช่วยเกื้อกูลในการศึกษาของเราอย่างมาก เพราะไม่ว่าเราจะอ่านตำรับตำราเล่มไหนต่อไป ก็ต้องเป็นเรื่องของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยละเอียดขึ้นเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถรู้เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นธรรม จะทำให้ต่อไปเราอ่านความละเอียดแล้วเราก็เข้าใจได้ แต่พื้นฐานต้องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ปรมัตถธรรม และบัญญัติ
ถ. ย้อนไปถึงตอนกลางวันที่แอ๊วถามอาจารย์ และคุณธงชัยมีข้อแนะนำ ๒ ข้อ คือ ต้องเรียนอภิธรรมเพื่อเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานได้ง่ายขึ้น อีกข้อหนึ่ง ถ้าจำเป็นต้องท่องก็ควรจะท่อง ถ้าจำไม่ได้ อยากจะขอคำแนะนำเพิ่มเติม
ผู้ฟัง เท่าที่ผมอยู่ในวงการเผยแพร่ธรรมมา ผมเห็นว่า ถ้าไม่ได้มีโอกาสศึกษาพระอภิธรรม ซึ่งการศึกษาในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้เข้าไปในห้องเรียน ท่อง และก็สอบอภิธรรมตรี โท เอก ไม่จำเป็นอย่างนั้น แต่ขอให้ได้มีโอกาสอ่านตำรา ที่เป็นพระอภิธรรม เช่น หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ก็มีปรมัตถธรรมย่อๆ ซึ่งผมซาบซึ้งคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ที่บรรยายที่วัดสระเกศ แต่ไม่หมด เพียงจิตเจตสิกเท่านั้น ส่วนปริจเฉทอื่นยังไม่มี แต่ก็รู้สึกว่าสำคัญมากทีเดียวเรื่องจิต เจตสิก ผมว่าคำบรรยายนั้น ผมอ่านแล้วซาบซึ้ง และผมถ่ายเอกสารให้ผู้อื่นอ่าน เขาก็เข้าใจ ผมเห็นว่าเมื่อได้ศึกษาอย่างนี้แล้ว ฟังธรรมเข้าใจมากขึ้น ไม่ถึงกับต้องท่อง ผมคิดว่าพระอภิธรรมนี่ท่องยากมากโดยเฉพาะผู้มีอายุมากอย่างผม ท่องแล้วก็ไม่จำ แต่อาศัยความเข้าใจ ส่วนที่ไม่เข้าใจก็ผ่านไป ส่วนที่เข้าใจก็ค่อยๆ เก็บไว้ ส่วนที่เข้าใจหมายความว่า เมื่ออ่านไปแล้ว ฟังจากท่านอาจารย์อธิบาย และสังเกตในชีวิตประจำวัน จะทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น โลภะมีลักษณะอย่างไร และ มีชื่อสารพัดเลย คนที่ไม่เคยเรียนพระอภิธรรมมาเลยคงยากที่จะเข้าใจ แม้เรียนมาแล้วก็อาจจะยังไม่เข้าใจ เช่น อโลภะ ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ และไม่เคยมีสติพิจารณา อโลภเจตสิกตัวนี้ด้วย ส่วนโทสะเข้าใจง่าย แต่ถ้าเราไม่ได้เรียนพระอภิธรรม เราก็คิดว่าเป็นความโกรธ ความขุ่นเคืองที่มากๆ แต่ความจริง แม้ความหงุดหงิด ความไม่สบายใจเล็กๆ น้อยๆ หรือความกังวล ถือเป็นโทสะทั้งสิ้น ละเอียดลออ อย่างนั้นเลย
เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีโอกาสเรียนก็เรียน และจะเข้าใจ แต่ถ้าไม่เรียนเลย และมาฟัง จะต้องปะติดปะต่อกันนานหน่อย เข้าใจแต่ต้องใช้เวลานานหน่อย กว่าจะฟังท่านอาจารย์บรรยายครบทุกองค์ธรรม เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า คุณธนิต
ผู้ฟัง ผมเองจำได้ครั้งหนึ่งไปที่บ้านท่านอาจารย์ คุณพรชัยถามอวินิพโภครูปมีอะไรบ้าง เชื่อไหม หนังสือเล่มสีเทา ผมอ่าน เมื่ออ่านใหม่ๆ รูป ๒๘ นี่ จำได้ ท่องได้ แต่วันนั้นจำไม่ได้ หลังจากนั้นมาก็เปิดทบทวน จำได้อีก เวลานี้จำไม่ได้ อีกแล้ว ผมมานึกถึงตัวผมเองว่า เรื่องการศึกษาพระอภิธรรม ตอนนี้ ๖๐ กว่าแล้ว คงจะไม่มีโอกาสในชาตินี้ที่จะเข้าใจพระอภิธรรม ก็เอาแค่นี้ก่อนว่า ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป จิตคืออะไร จิตเป็นอย่างไร และสังเกตความหมายของคำว่า จิต คือ สภาพรู้ ขณะนี้สภาพรู้กำลังปรากฏ เห็นขณะนี้ก็เป็นสภาพรู้ ได้ยินก็เป็นสภาพรู้ ฟังอาจารย์อยู่ทุกวันๆ เวลาได้ยินท่านอาจารย์พูดว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เสียงที่กำลังปรากฏนี่รู้ ชาตินี้เอาแค่นี้พอ เอาว่ารู้ในขณะที่เกิดขึ้น เมื่อคิดอย่างนี้ ผมว่าชาตินี้ผมคงไปไม่ได้ไกล
ผู้ฟัง พระอภิธรรมผมศรัทธาเลื่อมใส ที่ศึกษาเพราะพระอภิธรรมอธิบายธรรมชาติแต่ละตัวไว้ และพิจารณาในชีวิตประจำวันทำให้ซาบซึ้ง เช่น ความตระหนี่ มัจฉริยะ มีอาการปรากฏ คือ มีการปกปิดทรัพย์สินของเรา เรามีเงินมีทองไม่อยาก ให้ใครรู้ พยายามปกปิดว่าเรามีน้อย หรืออิจฉาคนอื่น ก็มีทรัพย์สินชื่อเสียงผู้อื่น เป็นอารมณ์ ทำให้เราอิจฉาเขา ทำให้เราซาบซึ้ง คนอื่นมีทรัพย์สินมากๆ ทำให้เราอิจฉา มีลาภ มียศ มีชื่อเสียง ผมว่านี่เป็นเรื่องวิเศษที่เราควรจะศึกษา
สุ. จากที่คุณธงชัยกับคุณธนิตพูด ก็พอจะเห็นความจริงอันหนึ่งว่า เรื่องของการท่อง เป็นเรื่องที่ฟังดูเผินๆ เหมือนมีประโยชน์ แต่ความจริงแล้ว ที่คุณธงชัยพูดถึงความซาบซึ้งในการศึกษาพระอภิธรรมก็คือความเข้าใจ อย่างลักษณะของมัจฉริยะ เข้าใจว่ามีลักษณะอย่างนั้น หรือริษยา อิสสา ก็มีลักษณะอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องท่อง ใครคิดว่าไม่มีเวลาท่อง ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าไม่ต้องท่อง หรือใครพยายามเอาเวลาไปท่อง ก็อย่าเอาเวลานั้นไปท่องเลย เพราะว่าคุณธนิตท่องมาแล้วก็ลืม
ขอให้ทราบว่า อย่างท่านอัญญาโกณฑัญญะ ในอดีตชาติท่านก็เคยฟัง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ซึ่งได้แสดงธรรมเหมือนกันหมด คือ อริยสัจจธรรม และพระอภิธรรมก็ต้องแสดง และแสดงโดยละเอียดเหมือนๆ กันด้วย แต่ในบางชาติท่านไม่มีโอกาสพบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแม้ในชาตินั้น ก่อนที่จะได้พบ ท่านก็ไม่ได้มีโอกาสไปนึกถึงเรื่องเหตุปัจจัย หรืออารัมมณปัจจัย หรือ จิตกี่ดวง เจตสิกกี่ดวง แต่ความเข้าใจธรรมมี ทันทีที่ได้ฟังพระธรรม
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในขณะนี้ธรรมมี และการศึกษาของเราจะเป็นปริจเฉทๆ หรือจะเป็นตำราคัมภีร์กี่เล่มก็ตาม ทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่ไปท่องหรือไปจำเป็นครั้งคราวโดยที่ไม่เข้าใจ
แทนที่จะท่อง พยายามนึกตรึกพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ เพราะว่าวันนี้ ก็มีท่านที่ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง คือ สุ จิ ปุ ลิ คือ ท่านฟัง ท่านคิด ท่านถาม และก็จด
แสดงให้เห็นว่า การที่เราจะเข้าใจเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน เพราะถ้าเข้าใจ และจดไว้ ก็เตือนความจำ แต่ถ้าเราไม่กลับมาพลิกดูอีก สมุดเล่มนั้นก็ไม่มี ประโยชน์เลย เพราะที่เราจด เราจดทำไม ก็จดเพื่อเวลาที่เรานึกถึงธรรมข้อหนึ่งข้อใด จะเป็นทางที่เราจะได้พลิกดูได้ว่า ธรรมข้อนี้เราเคยเข้าใจว่าอย่างนี้ จดไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ตำรับตำราที่ท่านพระเถระทั้งหลายได้สืบต่อมาถึงเรา ตั้งแต่มุขปาฐะ คือท่องจำกันมาจนกระทั่งได้จารึกเป็นตัวอักษร ก็เพื่อเตือนให้คนที่ได้เห็น ได้อ่าน ได้พิจารณา ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ทั้งหมดนี้ขอให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องของความเข้าใจมากกว่าเป็นเรื่องของการท่อง คนที่ไม่อยากจะท่อง ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาท่อง คนที่คิดจะท่อง ก็ขอให้พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้วก็อาจจะจำได้ แต่ถ้าจำไม่ได้ จะมีการจดไว้ พลิกดูอีก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ให้ทราบว่า เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ และเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เข้าใจไปสอบ แต่เข้าใจโดยที่ว่าขณะนี้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏทางตา ที่ได้ยินแล้วในวันนี้ และกำลังเห็นอยู่ในขณะนี้เป็นสภาพรู้อย่างไร กำลังเป็นสภาพรู้ ใช่ไหม เป็นลักษณะอาการของธาตุรู้ชนิดหนึ่ง นี่คือพิจารณาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
และภพหน้าต่อไปเราก็ต้องเปลี่ยนสภาพจากความเป็นบุคคลนี้ สิ่งที่เราเคยเข้าใจธรรมแล้ว เวลาที่เราไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังอีกก็ตาม สังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่ง ทำให้ความคิดอ่านของเราเป็นไปในคลองของธรรมพอที่จะระลึกได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ซึ่งปกติธรรมดาเราอาจจะไม่นึก หรือเราอาจจะระลึกถึงความตาย หรือระลึกถึงอะไรก็ได้ที่เป็นแนวทางของธรรม แม้ไม่ได้ออกมาเป็นข้อๆ ว่าอยู่ในหมวดของ สมถภาวนาที่เท่าไร เช่น อนุสสติมี ๑๐ หรืออะไร ก็ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการที่จะเกื้อกูลให้สภาพจิตของเราสะสมสิ่งที่เป็นไปในคลองของการที่จะเข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้น
ชาติหน้าต่อไปจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราได้รับฟังในวันนี้ก็สะสมสืบต่อ ที่จะเป็นการตรึกนึกคิดในคลองของธรรม และถ้าเราสะสมไว้มากๆ เมื่อมีโอกาส ได้ฟังพระธรรม จะเข้าใจได้เร็ว ไม่ต้องช้า แล้วแต่บุคคล มีโอกาสเฝ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นพระองค์ไหนก็ตามแต่ ก็อาจจะเป็นอย่างท่านอัญญาโกณฑัญญะ หรือพระสาวกท่านหนึ่งท่านใดก็ได้
เราไม่สามารถรู้อนาคตข้างหน้าของเราว่า เราจะเกิดเป็นใคร ที่ไหน และจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมอีกไหม แต่สิ่งที่เราเข้าใจในวันนี้จะติดตามไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าเราจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ผู้ฟัง เมื่อตอนเช้าผมมีโอกาสสนทนากับคุณนีน่าเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ทราบ คุณนีน่ามีอะไรเพิ่มเติมไหม และมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ เรื่องวิปัสสนาญาณ กับสติปัฏฐาน ขอให้คุณนีน่าแยกแยะให้เราฟังด้วย เรื่องสติปัฏฐานกับวิปัสสนาญาณต่างกันอย่างไร
นีน่า อารมณ์เหมือนกัน นามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวันที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ แต่ขณะที่วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ปัญญารู้ชัด รู้ทางมโนทวาร ไม่มีตัวตนเลย ไม่มีโลก มีแต่นามและรูปที่ปรากฏ และรู้ลักษณะ และวิปัสสนาญาณดับ มีโลกอีก ต้องอบรมต่อไป
ถ. คุณนีน่าถามว่า ถ้าเป็นสติปัฏฐานจะชัดอย่างไร ผมก็บอกว่า ตามความเห็นของผม ถ้าสติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมจะปรากฏทีละอย่างและชัดเจน ไม่ใช่คิดนึก ถ้าเป็นคิดนึกอาจจะเป็นปัญญาขั้นอื่นที่ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน อาจจะเป็นมหากุศล หรือเป็นโลภะก็ได้ ไม่ทราบถูกต้องหรือเปล่า
สุ. สติปัฏฐานหมายความถึงสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เวลานี้ สภาพธรรมทั้งนั้น ใช่ไหม ทางตาที่กำลังปรากฏก็เป็นสภาพธรรม ทางหูที่กำลังปรากฏก็เป็นสภาพธรรม ถ้ามีทางจมูก ทางลิ้นปรากฏ ก็เป็นสภาพธรรม ทางกายที่ปรากฏ ก็เป็นสภาพธรรม ทางใจที่คิดนึกก็เป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะที่สติเกิด ที่เป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้นกำลังระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสภาพธรรมอื่นปรากฏเลย ทั้งๆ ที่ทางตาก็เห็น และทางกายกำลังกระทบสัมผัส ซึ่งสลับกันอย่างเร็วมากเป็นปกติธรรมดาไม่เปลี่ยน เวลาที่สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง หมายความว่าในขณะนั้นไม่ได้ระลึกที่สภาพธรรมอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่า สภาพธรรมอื่นไม่ได้ปรากฏ นี่จึงจะเป็นความจริง เช่น ในขณะนี้ เห็น และทุกอย่าง ก็มีปรากฏ แต่ถ้าจะระลึกที่ลักษณะที่แข็ง ก็หมายความว่าในขณะนั้นแข็งก็มี และสติเริ่มระลึกตรงลักษณะแข็ง ทั้งๆ ที่ทางตาก็กำลังเกิดดับสลับอยู่ ไม่ได้หมายความว่าขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดและระลึก ทางอื่นจะไม่มีหายไปหมดเลย ใช่ไหม ต้องเป็นความจริงอย่างนั้น แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้นที่สภาพธรรมจะปรากฏทีละขณะ ไม่ก้าวก่าย ไม่สับสน ไม่ปนกันเลย จึงจะเป็นวิปัสสนาญาณ