แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2006

สนทนาธรรมที่โรงแรมโบบินน่า เมืองโครักขปูร์

วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๓


สุ. แต่ละคนจะมีจิตเพียงชั่วขณะเดียวที่เกิดขึ้นและดับอย่างเร็ว และ การดับของจิตขณะก่อนก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น การเกิดของทุกคน หมายความว่าต้องมีกิเลส ถ้าไม่มีกิเลสเลยจะไม่เกิด แม้แต่พระชาติสุดท้าย ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ อนุสัยกิเลสเต็ม เพราะฉะนั้น เราต้องทราบว่าอนุสัยกิเลสมีอะไรบ้าง ที่ทราบกัน ก็มีอนุสัย ๗ ซึ่งคงจะไม่ต้องกล่าวละเอียด ลักษณะของกิเลสที่เป็นอนุสัยก็คือกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เรานอนหลับสนิทกิเลสก็ไม่ได้ดับ ทำให้เวลาที่ตื่น ทันทีที่ตื่นกิเลสก็ตื่นด้วย เห็นแล้ว ก็ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏ ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส หรือแม้แต่ คิดนึก เวลานี้ถ้าทุกคนจะคิดถึงคำว่า โครักขปูร์ จิตขณะที่คิด โค – รัก – ขะ – ปูร์ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

ถ. เป็นอกุศล

สุ. แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ความคิดในวันหนึ่งๆ ก็ยังไม่รู้ว่า เป็นการส่องถึงสภาพของจิตที่คิดว่า ถ้าไม่อยากจะคิดเรื่องนั้น คำนี้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ โทสมูลจิต ก็ต้องเป็นโลภมูลจิต เป็นประจำตั้งแต่ตื่นมา เราจึงมีเพื่อนสนิท คือ กิเลส ใช้คำว่า จรมา หมายความว่า ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ กิเลสทั้งหมดเลยผลัดกันเข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่เพียงคำว่า โครักขปูร์ ก็ไม่สามารถรู้ได้ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตแล้ว แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ รู้เลยทุกเรื่องที่คิด ทุกคำที่คิด เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อกุศลจะมากสักแค่ไหน ขณะที่นอนหลับสนิทเหมือนไม่มีอกุศลเลย แต่เมื่อตื่นจะรู้ได้ว่าใครมี ใครไม่มีอกุศล คือ พระอรหันต์ตื่นขึ้นไม่มี กิเลสใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าปุถุชนตื่น ไม่พ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสอย่างกลาง เป็น ปริยุฏฐานกิเลส หมายความถึงพัวพันกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสที่พัวพันอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังไม่มีกำลังถึงกับล่วงทุจริต ถ้าล่วงทุจริตก็เป็นกิเลสหยาบ

เพราะฉะนั้น กิเลสจึงมี ๓ ขั้น คือ อนุสัยกิเลส กิเลสที่ละเอียดมาก คือ ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ปริยุฏฐานกิเลส คือ ขณะที่ตื่น มีการเห็น การได้ยิน พวกนี้ กิเลสจะจรมาทีเดียว และขณะที่เป็นกิเลสหยาบ คือ ขณะที่ ล่วงทุจริต สำหรับประเภทของจิต แบ่งออกเป็นชาติกุศลประเภทหนึ่ง ชาติอกุศล ประเภทหนึ่ง ชาติวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลและอกุศลประเภทหนึ่ง และชาติกิริยา ซึ่งไม่ใช่กุศล อกุศล และวิบาก นี่เป็นประเภทของจิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้และไม่ทรงแสดงธรรมก็ยากที่ใครจะเห็นความเป็นอนัตตา เพียงเห็นจะบอกว่าไม่ใช่ตัวตน ยากแสนยาก ถ้าไม่มีปัญญา ที่รู้ละเอียดขึ้น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเหมือนกัน

นี่เป็นเหตุที่ผู้จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมต้องเป็นพหูสูต คือ เป็นผู้ที่ฟังมาก และ เมื่อฟังแล้วต้องคิด ต้องเข้าใจ และต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมที่กำลังฟังอยู่ เช่น กำลังเห็นเป็นสิ่งที่มีจริง แต่กำลังฟังเรื่องจิตเห็น นี่คือความต่างกัน กำลังได้ยิน ได้ยินเป็นสภาพที่มีจริงๆ แต่กำลังฟังเรื่องได้ยินเพราะฉะนั้น สติจึงมีหลายขั้น สติขั้นฟังเรื่องได้ยินและเข้าใจ ขั้นหนึ่ง และในขณะที่กำลังฟังนั้นเอง สติอาจจะระลึกลักษณะที่กำลังได้ยินเมื่อเสียงปรากฏก็ได้ นี่เป็น การอบรมเจริญปัญญาเป็นขั้นๆ

ถ. เมื่อกี้ฟังท่านอาจารย์ไม่ทัน ได้ยินคำว่า โครักขปูร์ เป็นกิเลสแล้ว ใช่ไหม

สุ. เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะว่าทุกคนมีจิต และเกิดดับสืบต่อ เร็วมาก เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงคำว่า โครักขปูร์ ที่คิดนึกขึ้นมา ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหนที่คิดคำว่า โครักขปูร์ เพราะว่ามีจิตที่เป็นกุศล มีจิตที่เป็นอกุศล มีจิต ที่เป็นวิบาก มีจิตที่เป็นกิริยา

ถ. โครักขปูร์ ถ้าเราคิดว่า โครักกะปู

สุ. เป็นชื่อเมืองนี้

ถ. เวลาโคเขาเดินไป มีรักมีเมตตาต่อปู เวลาเขาก้าวไป เขาจะได้ไม่เหยียบปู ผมก็นึกว่า น่าจะเป็นกุศล

สุ. หมายความว่าโคมีเมตตากับปู เพราะฉะนั้น โครักกะปู โคเดินไป ก็ไม่เหยียบปู นั่นเรื่องยาว แต่นี่เป็นเพียงชื่อเมือง ปุระ หรือปุรี โครักขปูร์ แต่เผอิญฟังเป็นชื่อโคกับปู พอจะเข้าใจไหมว่า ทันทีที่นึกถึงคำว่า โครักขปูร์ เป็นอกุศลแล้ว ไม่ใช่กุศล คิดถึงบางลำพู คิดถึงวิทยุ คิดถึงอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่คือความเป็นผู้ตรงต่อธรรม เพราะถ้าความคิดไม่ตรง ปัญญาเกิดไม่ได้เลย

ถ. ไม่เข้าใจว่าเป็นอกุศลได้อย่างไร

สุ. ขณะใดที่จิตไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในการอบรมเจริญสมถะหรือวิปัสสนา ทั้งหมดต้องเป็นอกุศล

ถ. เวลาที่เราเห็นอะไรหรือได้ยินอะไร ที่อาจารย์บอกว่า ถ้าไม่เป็นไป ในทาน ในศีล หรือในภาวนา ก็จะเป็นโลภะ …

สุ. เป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด

ถ. อะไรที่เราคิดขึ้นมาในทางที่เป็นทาน ศีล ภาวนา เป็นกุศล ใช่ไหม

สุ. ใช่

ถ. สมมติว่าเราเห็นของสิ่งหนึ่ง เช่น เห็นโซนี่ตัวนี้ เราคิดว่าเป็นเครื่องบันทึกเทปอย่างนี้เฉยๆ ก็เป็นอกุศล

สุ. แน่นอน

ถ. แต่ถ้าเราเห็นว่า เครื่องบันทึกเทปนี้ดีนะ จะเอาไปถวายพระ …

สุ. ขณะคิดที่จะให้ ขณะนั้นเป็นทาน ต้องเป็นกุศลขณะที่เป็นทาน แต่ถ้าคิดว่าสวยดี ขณะนั้นเป็นอกุศล

ถ. หมายความว่า เป็นความคิดที่เราปรุงแต่ง เป็นความคิดที่ติดตามมาหลังจากที่เราเห็นของสิ่งนี้ ใช่ไหม

สุ. ความคิด เราคิดมากกว่าเราพูด และในขณะที่คิด ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดเราจะไม่ทราบว่ากุศลจิตคิดหรืออกุศลจิตคิด แต่ทางของกุศล คือ เป็นไป ในทาน ๑ ในศีล ๑ ในความสงบของจิต ๑ ในการอบรมเจริญปัญญา ๑ นี่เป็น ทางของกุศล นอกจากนั้นเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น กุศลหรืออกุศล เราไม่ต้องถามคนอื่นเลย ต้องเป็นตัวเรา คนเดียวที่จะรู้จริงๆ เพราะคนอื่นเขาจะบอกได้อย่างไร คนนี้นั่งนิ่งๆ คนนั้นก็นั่งนิ่งๆ และคนที่นั่งนิ่งคนนี้เป็นกุศลหรืออกุศล คนอื่นบอกไม่ได้เลย ต้องเป็นบุคคลนั้นเอง ที่จะรู้ด้วยสติสัมปชัญญะของตัวเองว่า ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ. เวลาที่เราเห็น อย่างเมื่อวานนี้ เรานั่งรถผ่านท้องทุ่ง ดิฉันก็คิดว่า จะพยายามฝึกตัวเองที่จะเจริญสติปัฏฐาน วันนั้นฟังอาจารย์บอกว่า เห็นแล้ว ไม่ให้แปล เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเห็นตัวโคยืนอยู่ในทุ่งนา เราก็ไม่แปล คือ เหมือนกับแค่แวบผ่านไป เรารู้ว่าเราเห็น แต่เราจะไม่ตีความหมายว่าเป็นโคเพราะว่าเป็นบัญญัติ และใจยุ้ยก็ไปคิดเรื่องศีล หรือคิดถึงพระพุทธคุณ จิตอย่างนี้เท่ากับว่า เราได้เจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า

สุ. การฟังต้องพิจารณา ดิฉันไม่ได้บอกว่า ไม่ให้แปล ไม่เคยบอกว่า ไม่ให้แปล แต่ให้ทราบว่า ชีวิตประจำวันเมื่อเห็นแล้ว หลังจากที่เห็นแล้ว มีจิตที่ นึกคิดสิ่งที่เห็น การนึกคิดเหมือนการแปลสิ่งที่ปรากฏออกมาเป็นเรื่องราวต่างๆ คือ เป็นคนกำลังนั่ง กำลังเดิน เป็นวัวกำลังนั่ง กำลังเดิน แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้คิด

การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การบังคับ หรือการมีอัตตาที่จะไปพยายามทำ อย่างหนึ่งอย่างใด แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ การที่จะอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างที่ปรากฏ ต้องใช้คำว่า ทุกอย่าง ที่ปรากฏ

ในขณะที่เห็นว่าเป็นโค ก็ต้องรู้ว่าเป็นจิตชนิดหนึ่ง ต่างกับเพียงเห็น นี่คือ จุดที่จะต้องเข้าใจว่า เห็นมี หลังจากเห็นแล้วนึกถึงสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นคนหนึ่งคนใดก็เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิตเห็น แต่ไม่ใช่ไปบังคับว่า เห็นเท่านั้น ไม่ให้รู้ความหมาย นั่นไม่ถูก ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วผิดเลย ไม่อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็ต้องจำท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ หรือใครๆ ไม่ได้เลย การอบรมเจริญสติปัฏฐานเหมือนนักรบที่ยิงไวและยิงไกล หมายความว่า สภาพธรรมทั้งหมดที่ปรากฏสลับกันอย่างรวดเร็วอย่างไรก็ตาม สติสัมปชัญญะสามารถที่จะรู้ความต่างกันตามความเป็นจริง

ขณะนี้มีจิตเห็น จริง ขณะนี้มีจิตคิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ จริง เพราะฉะนั้น การที่จะไม่ยึดถือว่าไม่มีตัวตน ก็เพราะปัญญาสามารถรู้ขณะที่เห็นและสติเกิด ขณะนั้นกำลังเข้าใจหรือพยายามที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เพียง ปรากฏทางตา และขณะที่รู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็เป็นนามธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติ ไม่มีการผิดปกติใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีวิธีการว่าให้ยกขึ้นมา และค่อยย่างลงไป และก็เหยียบ ไม่ให้อ่านหนังสือ ไม่ให้ฟังวิทยุ แต่ไม่ใช่เลย ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วผิดจากความจริง ขณะที่ฟังวิทยุก็จะไม่รู้ว่า เป็นนามธรรมที่ได้ยินแล้วคิด ขณะที่รู้เรื่อง

เพราะฉะนั้น เป็นความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างไร ปัญญาต้องรวดเร็วที่จะรู้ตาม จึงจะละคลายว่าทั้งหมดไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ว่าต้องหยุด หรือไม่ให้แปล อย่างนั้นไม่ถูก

ถ. คำว่า สติ สมมติว่าเราตกใจ จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ในทางโลก เราพูดว่า เรารวบรวมสติ หรือตั้งสติ สติที่ว่านี้ ขอเรียนถามว่าคืออะไร

สุ. ขณะที่เราไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบ ของจิต ไม่เป็นไปในการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นไม่ใช่สติ เพราะว่า สติเป็นโสภณสาธารณเจตสิก

ถ. ทางโลก เราก็นึกว่าตัวนั้นเป็นตัวสติ สมมติว่าเรารวบรวมสติที่จะแก้ปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่ง เราตกใจและจะให้เกิดสติ สตินี้ เรียนถามอาจารย์ว่า ทางธรรมคืออะไร

สุ. เจตนามี ความจงใจ ความตั้งใจมี สมาธิมี และสมาธิเป็นมิจฉาสมาธิก็ได้ เป็นสัมมาสมาธิก็ได้ แต่สติที่เป็นอกุศลไม่มี

ถ. อย่างไฟไหม้ ต้องรวบรวมตั้งสติ

สุ. สมาธิดีกว่าไหม

ถ. อ้อ เป็นสมาธิ

สุ. สติต้องเป็นไปในทาน ในศีล

ถ. หมายความว่าใช้คำสับสนกัน ดิฉันอยากจะเคลียร์เรื่องนี้ อีกคำหนึ่ง คือ คนสติไม่ดี คนบ้า สติที่ว่านี้คืออะไร

สุ. คนบ้าจะมีสติไม่ได้

ถ. คนที่เป็นบ้า ไม่มีสติอยู่แล้ว

สุ. อกุศลจิตมากมาย

ถ. มีความฟุ้งซ่านมากมาย

สุ. นั่นคืออกุศลจิต อกุศลเจตสิกเยอะ

ถ. ตัวสติเราจะใช้กับ …

สุ. สติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี

ถ. ในขณะที่เรากำลังนอนอยู่บนเตียงผ่าตัด หมอเขากำลังวางยาสลบ กำลังผ่าตัดเรา แต่เรายังมีความรู้สึกอยู่ และใจเราอาจจะมีความกลัว และต้องการเจริญสติอยู่ข้างในใจลึกๆ ณ เวลานั้นเป็นจิตอะไร

สุ. ย้อนถามไปถึงครั้งโน้น ซึ่งคนที่จะรู้ดีก็คือตัวเอง และคนนั้นต้องมีความรู้เรื่องสติปัฏฐาน หรือไม่มีความรู้เรื่องสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่มีความรู้เลยจะบอกว่าขณะนั้นจิตเป็นอะไรๆ ก็บอกไม่ได้ แต่แน่นอนที่สุด คือ ต้องมีจิต ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้น เกิดมาจนกระทั่งตายต้องมีจิตเจตสิกเกิดพร้อมกับรูปซึ่งเกิดดับ และเป็นจิตประเภทต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยสติสัมปชัญญะจึงจะสามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตอะไร เป็นเจตสิกอะไร

โดยมากถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจะมีแต่ความสงสัย สงสัยตลอด ตอนนั้น เป็นอะไร เป็นเวทนาประเภทไหน หรือเป็นกุศลหรืออกุศล และใจก็จะหันกลับไปคิดถึงเรื่องนั้น เพราะว่ายังข้องใจอยู่ ยังสงสัยอยู่ แต่คิดสักเท่าไรไม่มีทางที่จะรู้ความจริง เพราะว่าเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ผู้ที่มีปัญญาไม่สนใจเลย ในกาลครั้งหนึ่งจิตสับสนวุ่นวายไม่รู้ว่าเป็นอกุศลประเภทไหน หรืออาจจะเป็นกุศล หรืออาจจะเป็นอะไร ตัดไปได้เลย เพราะว่าขณะนี้กำลังเห็น ขณะนี้กำลังได้ยิน ขณะนี้กำลังได้กลิ่น ขณะนี้กำลังลิ้มรส ขณะนี้กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนี้กำลังคิดนึก ถ้าพลาดโอกาสที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ สงสัยอีกแล้ว ผ่านไปไม่นานก็ เอ๊ะ เมื่อกี้จิตของเราเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลประเภทไหนอย่างไร ซึ่งไม่มีทางเลย ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐานจึงทำให้ไม่คำนึงถึงอดีต และไม่นึกถึงอนาคต เพราะว่ามีสภาพธรรมกำลังเป็นของจริงที่ปรากฏให้สติและปัญญารู้ชัดยิ่งกว่า จะไปตามนึกคิดถึงเรื่องเก่าๆ เพราะฉะนั้น ไม่มีประโยชน์เลย ต้องทิ้งไป และให้รู้ประโยชน์จริงๆ คือ ขณะนี้เป็นจิต เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ซึ่งจะทำให้เมื่อเข้าใจแล้ว ปัญหาอื่นจะไม่ติดตามมาอีก แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิด ปัญหาจะตามมาตลอด

ถ. เหมือนกับเราเป็นคนไม่รู้ เราก็อยากจะเทียบเคียงว่า แหล่งความรู้สึกตรงนั้นมาจากไหน

สุ. ผ่านไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ ต้องรู้เดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏจึงจะหมดสงสัย ต่อให้ใครจะบอกอย่างไรๆ ก็ตาม เราก็เพียงแต่รับฟัง แต่ความรู้สึกที่กำลังตามคิดเหมือนเดิมหรือเปล่า ขณะไหนแน่นอนกว่ากัน เพราะว่าความรู้สึกขณะนั้นหลายขณะ สับสนวุ่นวาย และเราไม่สามารถรู้ได้ชัดเจนเท่ากับขณะที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

. ขอบพระคุณ

สุ. ดีที่สุด คือ พระธรรมให้เราเป็นผู้ละ แต่ทั้งหมดของคำถามอย่างนี้ เรายังเป็นผู้ติด คือ อยากจะรู้เรื่องจิตตรงนั้นตรงนี้ ขณะนั้น ขณะนี้ แต่พระธรรม สอนให้เราละ รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่รู้แจ้งได้ แม้แต่ขณะที่คิดถึงเรื่องเก่า จิตเก่าๆ หรืออะไรก็ตามแต่ ก็เป็นแต่เพียงคิดนึก พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องละทั้งหมด

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถแยกได้ว่า หนทางปฏิบัติไหนเป็นหนทางที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หนทางที่ทรงแสดงเป็นเรื่องละตลอดตั้งแต่ต้น ส่วน หนทางที่ไม่ใช่หนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หนทางนั้นให้เราติด ให้เราสงสัย และให้เราไม่รู้ตลอด ไม่มีทางที่จะหมดความสงสัยได้เลย

ถ. การอุปมาการเจริญสติว่า เปรียบเหมือนการจับด้ามมีดหมายความว่าอย่างไร

สุ. ลองจับด้ามมีด ถ้าจับนานๆ เข้า ด้ามมีดจะสึกเพราะการจับ แต่ ขณะที่จับครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๑๐๐ ครั้งที่ ๑,๐๐๐ ไม่เห็นว่าด้ามมีดสึกเลย ต่อเมื่อไรที่ด้ามมีดสึกแล้ว เมื่อนั้นจึงรู้ว่าสึกเพราะการจับ

อวิชชา ความไม่รู้ หรือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ที่จะค่อยๆ คลาย ค่อยๆ หมดไปได้ ก็เพราะสติระลึกแล้วระลึกอีก จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ขึ้น เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถดับความเห็นผิด ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่ต้องคิดถึงความอดทนของคนจับด้ามมีด ถ้าไม่อดทน จับสัก ๑๐๐ ปี ด้ามมีดอาจจะยังไม่สึกก็ได้ แต่จับต่อไปอีก วันหนึ่งก็ต้องสึกได้

เพราะฉะนั้น เราฟังธรรมไม่กี่วัน ไม่กี่เดือนกี่ปี และสติเราก็เกิดไม่มากเลย แต่เราอยากให้ปัญญาไปถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เป็นการข้ามขั้น เหตุไม่สมควร แก่ผล

ข้อสำคัญที่สุด ไม่ต้องคิดถึงวิปัสสนาญาณ หรือความรู้อะไรทั้งสิ้น ขณะกำลังเห็น สติกำลังรู้ลักษณะของเห็นหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็ไม่ต้องไปถึงไหน ขณะกำลังได้ยิน ขณะกำลังได้กลิ่น ขณะกำลังลิ้มรส ขณะกำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะกำลังคิดนึก ปัญญาและสติรู้ลักษณะของสภาพนั้นบ้างหรือเปล่า ค่อยๆ ไป ตามปกติ ตามธรรมชาติ มิฉะนั้นก็เป็นเรื่องอยากอีกแล้ว เพราะ ถ้ามีคำถามว่า ทำไมวันนี้สติเกิดน้อย รู้ได้เลยว่าทำไมคนนั้นถึงถามอย่างนี้ ถ้าไม่อยากจะถามอย่างนี้ไหม แทนที่จะเป็นปกติธรรมดา มีเหตุปัจจัยสติก็เกิด และก็หลงลืมสติ และเมื่อสติเกิด ควรที่จะค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ลักษณะของ สภาพธรรม นั่นเป็นการอบรมเจริญเหตุ ซึ่งวันหนึ่งต้องสมบูรณ์ และผลก็ปรากฏได้ แต่ส่วนมากไม่ชอบอย่างนี้

เปิด  244
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565