แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2007

สนทนาธรรมที่โรงแรมโบบินน่า เมืองโครักขปูร์

วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๓


ถ. ขณะที่เรามีความกลัวมากๆ เราสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ ใช่ไหม

สุ. ไม่มีเรา เพราะฉะนั้น อย่าไปหวังว่า ตอนเรากลัว และอย่าไปหวังว่า ตอนเราตกใจ หรืออย่าไปหวังว่า ตอนเราดีใจ หรืออย่าไปหวังว่า ตอนสงบนั่งเฉยๆ คนเดียว ไม่ใช่เรื่องหวัง แต่เป็นเรื่องที่จะเห็นความเป็นอนัตตาว่า สังขารขันธ์ หมายความว่าอะไร ทำไมพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงปรมัตถธรรม ๔ แล้ว ยังต้องแยกปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ ก็เพราะเป็นการชี้ให้เราเห็นชัดเจนว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รูปขันธ์ก็ไม่ใช่ตัวตน เวทนาขันธ์ ความรู้สึก เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวตน สัญญาขันธ์ที่จำทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ใช่ตัวตน และยังสังขารขันธ์ตั้งมากมาย สติก็เป็นสังขารขันธ์ ปัญญาก็เป็นสังขารขันธ์ ผัสสะ เจตนา เมตตา กรุณา โลภะ โทสะ อโลภะ อโทสะ พวกนี้เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด และทรงแสดงทำไมถ้าเราไม่เข้าใจว่าสังขารขันธ์ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพที่ปรุงแต่งอยู่ทุกขณะที่เกิดขึ้น

ถ. ที่จะถามก็คือ เมื่อมีอาการกลัวเกิดขึ้น สามารถเจริญสติปัฏฐานได้ ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่สามารถจะเจริญ สติเกิดได้ทุกขณะ ขณะไหนก็ได้ เมื่อไม่เกิด ก็ไม่เกิด

ผู้ฟัง เมื่อคืนนี้ที่หินตกใส่ศีรษะ ร้องให้ใครช่วยหรือเปล่า

ถ. ร้อง แต่ไม่มีใครช่วย ไม่มีใครได้ยินเสียงแอ๊วเลยจึงได้กลัวมาก ที่จริงกลัวตอนที่จะโดนเย็บสดๆ ตอนนั้นกลัวมาก

สุ. เย็บหรือเปล่า

ถ. คุณหมอเผ่าใจดีมาก บอกว่าไม่ต้องเย็บ

ถ. คนที่กำลังจะตาย และเขาบอกว่า ตั้งสติ สติที่คนตายตั้งคืออะไร

สุ. ถ้าคนตายจะตั้งได้ ก่อนจะตายก็ต้องตั้งได้ ตั้งเสียเดี๋ยวนี้ ดีไหม

ถ. สติที่เขามีๆ กัน

สุ. ที่เขามีๆ กัน เราผ่านไปเถอะ เพราะว่าเขาไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ก็เอาคำในภาษาธรรมไปใช้ตามใจชอบ

ถ. บอกให้ตั้งสตินึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตัวสติที่เขาพูดหมายความถึงอะไร

สุ. กุศลจิต กุศลธรรม สติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี

ถ. เรียนอาจารย์ช่วยให้ตัวอย่างสั้นๆ เกี่ยวกับสติในเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของภาวนา ขั้นตอนเป็นอย่างไร

สุ. เมื่อวานนี้ให้ทานหรือเปล่า

ถ. ให้

สุ. นั่นแหละคือสติ ไม่ใช่เรา เพราะว่าวันหนึ่งๆ ตั้งแต่เช้าลืมตาตื่น ทุกคนคิดเรื่องเอา ไม่ได้คิดเรื่องให้ ตื่นขึ้นมาก็จะแปรงฟัน จะล้างหน้า จะหยิบนั่น จะทำนี่ จะพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะเปิดกระเป๋า

ถ. สมมติว่าเป็นอภัยทาน เราให้อภัยเขา ก็ถือว่าให้ทาน

สุ. วันหนึ่งๆ ขณะใดที่มีการระลึกเป็นไปที่จะให้ประโยชน์สุขแก่คนอื่น ขณะนั้นเป็นสติ แต่ถ้าไม่ศึกษาพระพุทธศาสนาก็เป็นเรา ศึกษาแล้วจะรู้ว่า สตินั่นเองที่ระลึกเป็นไปที่จะให้ ในขณะที่จะให้ ไม่มีเราเลย เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

ถ. แต่เป็นสติของเรานี่

สุ. อยู่ที่ไหนเวลานี้ ของเรา หามาซิ

ถ. คือ ไม่มีตัวสุรีย์ แต่ไม่รู้ว่าสติอยู่ตรงไหน

สุ. สติที่ให้ทานเมื่อวันก่อนนั้นอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นของเรา เอามาซิ อยู่ที่ไหน สติเกิดแล้วก็ดับไปแล้ว สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้วจะเป็นของใคร ไม่มีเหลือเลย ยังจะเป็นของใครอีก

ถ. ตอนนี้เข้าใจสติเรื่องทาน และเรื่องศีลเป็นอย่างไร

สุ. ขณะที่วิรัติทุจริต ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน เป็นสติที่กำลังวิรัติทุจริต

ถ. เราบอกว่า วันนี้จะไม่ฆ่าสัตว์ เราเห็นสัตว์ เราคิดจะฆ่า แต่วันนี้รับศีลเราไม่ฆ่า คิดว่าอันนี้ไม่ใช่สติ เป็นโลภมากกว่า ถูกไหม

สุ. แล้วแต่ เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก ขณะที่ตั้งใจจะรักษาศีล ขณะนั้นเป็นเจตนา เป็นเพียงความตั้งใจ ยังรับประกันไม่ได้ ถ้าเห็นมด เห็นยุง อาจจะฆ่าทันทีทั้งๆ ที่สมาทานไว้แล้วก็ได้

นี่เป็นเหตุที่ขณะที่สมาทานนั้นเป็นตอนหนึ่ง ขณะที่วิรัติคืองดเว้นจริงๆ นั้น เป็นอีกตอนหนึ่ง

ถ. ที่จริงเวลายุงจะกัดเรา จะตบเลยทั้งๆ ที่รับศีลมา แต่ถ้าเราระลึกได้ว่า วันนี้เรารับศีล เราไม่ตบ อย่างนี้เกิดสติหรือเปล่า

สุ. ขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่เราเลย ตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีเรา

ถ. พูดถึงภาวนา อาจารย์กรุณาให้ความกระจ่างนิดหนึ่ง

สุ. ภาวนามี ๒ อย่าง อบรมเจริญความสงบของจิต กับอบรมเจริญ ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นการอบรมเจริญความสงบ ของจิตเป็นสมถภาวนา ถ้าอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ขณะนั้นเป็นวิปัสสนาภาวนา

ถ. พูดถึงสมถะ ถ้าเรานั่งหลับตา จิตไม่สงบ ตอนนั้นไม่เป็นกุศล ถูกไหม

สุ. สมถะ ไม่ใช่นั่งหลับตา

ถ. เราทำใจให้สงบ

สุ. ทำไม่ได้ เราอาจจะเข้าใจว่าสงบ แต่ความจริงไม่สงบ เป็นความพอใจต้องการ

ถ. ทำอย่างไรจะรู้ว่านั่นไม่สงบ

สุ. ไม่ใช่ทำอย่างไร เป็นเรื่องปัญญารู้ว่า สมถะ ความสงบ คือ ขณะไหนอย่างไร ถ้าปัญญาไม่เกิดก็เป็นความต้องการของเรา ไปนั่งหลับตาและคิดว่าสงบ ความจริงเราพอใจที่จะให้จิตจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใดไม่ซัดส่าย แต่นั่นเป็นความพอใจ ของเรา ไม่ใช่ความสงบ

ถ. และตอนปัญญา

สุ. ปัญญา ขณะนี้มีสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ. ตราบใดที่เราคิดได้อย่างนั้น

สุ. ไม่ใช่คิด สติระลึกที่ลักษณะที่ไม่ใช่เราแต่ละอย่าง และค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ภวังคจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อยกว่า คนธรรมดามาก ถ้าเราทำสติปัฏฐานมากๆ ภวังคจิตของเราจะน้อยลงไหม และ ทำไมถึงน้อยลง หรือไม่จำเป็น

สุ. เราอยากให้ภวังค์น้อยหรือเปล่า

ถ. ไม่อยาก

สุ. ไม่อยาก ก็ไม่ต้องห่วง เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อละความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และเพื่ออบรมเจริญปัญญาละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้น ภวังค์ของคนที่เจริญสติปัฏฐานจะมาก จะน้อยต่างกัน ไม่สนใจ ไม่ใช่ว่าเราจะไปเป็นอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ภวังคจิตน้อย ต้องรู้ด้วยว่าในกาลไหน ปกติธรรมดาระหว่างที่ทรงเทศนาและประชาชนสาธุการ ทรงเข้าผลสมาบัติ และเมื่อเขาสาธุการจบก็ทรงแสดงพระธรรมต่อ แม้แต่ขณะที่ทรงจงกรม หรือทำอะไร ก็ตาม ผลสมาบัติของพระองค์ก็สลับได้ด้วยความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะขณะที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์พิเศษ ต้องอาศัย ความรวดเร็วอย่างมาก ภวังคจิตก็ต้องน้อยกว่าขณะอื่น แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ จะน้อยจะมากไม่ต้องห่วง เพราะไม่ใช่เรา ข้อสำคัญที่สุด คือ เมื่อไม่ใช่เราแล้ว ไม่ต้องขวนขวายกระวนกระวายอะไรอีกเลย แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละขันธ์

ถ. อยากจะพ้นไวๆ

สุ. นี่อยากหรือเปล่า พ้นไวๆ

ถ. หมายความว่าเป็นฉันทะ

สุ. ไม่ได้ ขณะนี้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาหรือยัง เท่านี้ ไม่ต้องไปที่อื่นเลย ไม่ต้องไว ไม่ต้องเร็ว ไม่ต้องอยาก ของจริง ตามความ เป็นจริง ทางตาที่กำลังเห็น สติระลึกแล้วรู้แค่ไหน ทางหูกำลังได้ยิน สติระลึก ที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และรู้ในลักษณะของนามธรรมหรือยัง รู้ในลักษณะของรูปธรรมหรือยัง เป็นเรื่องชีวิตประจำวันที่ตรงตามความเป็นจริง ถ้าไม่รู้ก็ไม่ต้องกล่าวถึงภวังค์น้อยภวังค์มาก

ถ. อาจารย์บอกว่า ถ้ารู้ต้องรู้ครบหมดทุกทาง ถ้าเรารู้ทางเดียว และเอาไปแอพพลาย (apply) กับทางอื่นได้ไหม

สุ. ไม่มีทางที่เราจะมีตัวตนไปแอพพลายโน่น แอพพลายนี่ เพราะว่า สติทำกิจของสติ ปัญญาทำกิจของปัญญา วิตกเจตสิกทำกิจของวิตกเจตสิก ปัญญาจะทำกิจของสติเจตสิกไม่ได้ สติจะทำกิจของปัญญาเจตสิกไม่ได้ วิตกเจตสิกจะไปทำกิจของสัมมาวายามะ หรือความเพียร หรือวิริยเจตสิกไม่ได้

เจตสิกแต่ละอย่างเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งมีกิจหน้าที่ ที่ปัญญาจะรู้ ตามความเป็นจริงแล้วละ ข้อสำคัญที่สุด คือ รู้ตามความเป็นจริงแล้วละ

ถ. เมื่อวานนี้แอ๊วสนทนากับสามีเกี่ยวกับเรื่องจะเรียนพระอภิธรรมดีหรือ ไม่เรียนดี คือ เราสองคนไม่ได้สะสมมา แอ๊วอยากให้พื้นฐานที่เรียนสติปัฏฐานกับอาจารย์ ตรงและถูกต้อง ไม่คดเคี้ยวไปไหน รู้ตัวเองว่า ความรู้ทางอภิธรรมน้อยมาก เพราะทั้ง ๒ คนไม่ได้เรียนเลย สามีก็บอกว่า ทำไมเราต้องตามคนอื่น ในเมื่อเราไม่ได้สะสมมา วันหนึ่งเราอาจจะมีโอกาสได้เรียนและอาจสนใจมาก และเรียนรู้มากขึ้น แต่ปัจจุบันนี้แอ๊วกับสามีก็ไปเรื่อยๆ เจริญสติอะไรได้ก็เจริญ คือ เป็นขั้นต้นธรรมดาทั่วๆ ไป

เมื่อวานนี้แอ๊วหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน มีหลายคำที่ไม่เข้าใจ โทสะเกิดขึ้น

สุ. ไม่เข้าใจแล้วทำไมต้องมีโทสะ

ถ. โทสะเกิดตรงที่ว่า ถ้าอย่างนั้นเราควรจะท่อง ก็เถียงกับสามีว่า ควรจะท่อง ถ้าไม่ท่องจำไม่ได้ว่าอะไรหมายถึงอะไร เพราะอาจารย์เคยบอกว่า การเรียนพระอภิธรรมที่สูงๆ ขึ้นไป เวลามีเหตุปัจจัยพร้อม คำๆ นั้นอาจจะคลิก ในสมองเราก็ได้ว่าหมายถึงอย่างนี้ๆ และเราก็จะรู้ลักษณะของคำๆ นั้น แอ๊วอยากเรียนถามอาจารย์ว่า แอ๊วควรจะทำอย่างไรดี เพราะว่าแอ๊วอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้น มีความรู้สึกว่าทุกวันนี้ตัวเองไปได้กระเตาะกระแตะ นิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่ว่าอยากจะมีให้เพิ่มขึ้น แต่บางทีฟังเพื่อนๆ พี่ๆ รุ่นน้อง เขามีความรู้มากมาย สามารถสนทนากับอาจารย์ได้ทุกอย่าง ทำไมตัวเราเรียนตั้งหลายปีแล้วยังกระเตาะกระแตะอยู่เลย อาจารย์เป็นตัวอย่างที่ดี แอ๊วก็อยากจะเรียนหรืออยากเดินตามรอย สามีก็บอกว่า ในเมื่อเราไม่ได้สะสมมาเหมือนอาจารย์ ทำไมเราต้องไปตามอาจารย์หรือตามคนอื่น ทำไมเราไม่เป็นตัวของตัวเอง ก็เรียนไปเรื่อยๆ และเจริญสติเท่าที่จะเจริญได้

สุ. ที่จริงแล้วทุกคนต้องทราบจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม นี่สำคัญมากที่สุด แต่ละคนเข้าวัดโดยลักษณะต่างๆ กัน ถ้าเป็นกลุ่มอื่นที่อื่นรู้สึกว่า ไปวัดเพื่อต้องการบุญ ไปฟังธรรมแล้วได้บุญ คือ มุ่งไปที่บุญโดยไม่มีความรู้เลยว่า บุญคืออะไร และก็ถูกคนอื่นชักชวน เช่น ให้ปฏิบัติ ให้นั่งขัดสมาธิ ให้เห็นอะไร ต่ออะไร ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญญาของตัวเองเลย ไม่มีธรรมเป็นสรณะ ทั้งๆ ที่เรากล่าวว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ แต่ไม่ตรง ใช่ไหม

ถ้าพึ่งพระพุทธเจ้าให้หายป่วยไข้ ให้ได้ลาภ ได้ยศ พระพุทธเจ้าไม่ได้มาเป็น ที่พึ่งของเราเพื่อให้เราติดในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราไม่รู้เลยว่าคำสอนของพระองค์ ให้เราละ ให้เราเข้าใจว่า สภาพธรรมที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก็ใช้ผิดไปสำหรับคนที่ไม่เข้าใจ ธัมมัง สรณัง ยิ่งไม่มีเลย คือ ยากนัก อาศัยคนอื่นดีกว่า ให้เขาเรียน เขารู้แล้วให้เขาบอกเรา หรือท่านผู้นั้นเรียนมาตั้ง ๕๐ ปี ท่านรู้เยอะ ท่านบอกว่า อย่างนั้น เราก็ต้องเชื่ออย่างนั้น นั่นก็ไม่มีธรรมเป็นสรณะ

พระสังฆรัตนะ คือ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล แม้เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ใครเป็น แต่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำสอนเรื่องสภาพธรรม ที่มีจริง ตรงตามเหตุผล เพราะฉะนั้น บุคคลใดก็ตามที่แสดงธรรมตามที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง บุคคลนั้นเป็นผู้ที่เราสามารถจะรับฟัง และพิจารณา ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเชื่อทันที แต่รู้ว่านี่เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่คิดเอาเอง ซึ่งไม่ตรงกับสภาพธรรม ไม่ตรงกับพระธรรม

เพราะฉะนั้น อย่าลืม จุดประสงค์คืออะไร ไม่ว่าเราจะอ่านที่บ้าน หรือเราจะสนทนากับเพื่อน หรือจะฟังวิทยุ หรือจะขีดจะเขียน จะจดจะจำอย่างไรก็แล้วแต่ จุดประสงค์คือเพื่อเข้าใจ เข้าใจนี่คือปัญญา บางคนอยากจะได้ปัญญามาก แต่เขา ไม่ทราบว่า ปัญญานั้นคือความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เป็นความหมายของปัญญา เป็นจุดเริ่มต้น ของปัญญาว่า เมื่อเริ่มจากความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อเริ่มจากความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้องและความเห็นที่ถูกต้องนั้นก็เจริญขึ้นๆ เป็นปัญญาระดับขั้น ต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ศึกษาแม้พระอภิธรรม ไม่ใช่ต้องท่อง ไม่เคยสนับสนุนให้ใครท่อง แต่ไม่ว่าจะได้ยินคำอะไร ต้องเข้าใจความหมายของคำนั้น ครั้งแรกๆ อาจจะเข้าใจเพียงความหมายเดียว ต่อไปก็เพิ่มขึ้นเป็น ๒ ความหมาย และต่อไปเพิ่มขึ้นอีกได้ คำใดก็ตามที่เราได้ยินได้ฟังเราอย่าผ่าน แม้แต่คำว่า ธรรม คำเดียว เมื่อกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม รู้แจ้งธรรม และทรงแสดงธรรม เราก็ต้องรู้ว่าธรรมหมายถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถจะรู้ได้ ๖ ทาง คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑

พี่ชวนชมเคยเล่าว่า เคยไปหลายแห่งทีเดียว เหนือ ใต้ สำนักนั้น สำนักนี้ ไปหาธรรม แต่เมื่อรู้แล้วว่าธรรมคืออะไร ลืมตาก็เจอธรรม ทุกขณะเป็นธรรมหมด นี่คือผู้ที่เข้าใจ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ธรรม และพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จากการตรัสรู้ก็สอดคล้องกัน คือ เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุต่างๆ สภาพธรรมต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พร้อมทั้ง เหตุและผล ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพธรรมนั้น ขอให้เราเข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นขั้นๆ

เรื่องท่องไม่มีเลย ขอให้เป็นความเข้าใจจริงๆ และจะจำได้ ไม่ใช่รีบอ่าน ให้จบๆ และมาสอบกันเป็นหน้าๆ ใครจำชื่อได้คนนั้นเก่ง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นเรื่องเข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันอย่าเป็นคุณประมาท เพราะถ้าเป็นผู้ประมาท ก็เตาะแตะอยู่อย่างนี้ คนอื่นเขาไปไหนกันลิ่ว แต่เราก็เป็นตัวของเรา ไม่ต้องทำอะไร เขาไปถึงประตูโน้น เราก็เตาะแตะของเราอยู่ทางแถวนี้ เพราะเราเกิดมาเป็นเรา ซึ่งก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เราจะต้องสะสม ถ้าเรารู้ว่าเราไม่สามารถเข้าใจพระธรรมเพียงโดยการคิดนึกของเราเอง ก็ต้องอาศัยการฟัง ขาดการฟังไม่ได้ นอกจากการฟังแล้ว เราต้องอาศัยการอ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถาเพิ่มเติม เพราะว่าการฟัง ฟังเพียงส่วนน้อยนิด ของพระไตรปิฎกและอรรถกถา

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยากจะมีปัญญาเพิ่มขึ้น ต้องอ่านทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เท่าที่กำลังปัญญาความสามารถของเราจะทำให้เราเพิ่มพูนสติปัญญาได้ เรามีตัวของเราเองเป็นที่พึ่ง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่จำเป็นต้องไปพึ่ง คนอื่น นอกจากคนที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจละเอียดขึ้น และเราต้องเพิ่มพูนปัญญาของเราเองจากการอ่านและการฟัง ซึ่งเราไม่ควรจะขาด ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้สะสมมา เราไม่ต้องอ่าน ไม่ต้องฟัง เราก็จะไม่มีการเจริญขึ้น และเรายังต้องคิด

เพราะฉะนั้น คนที่บ่นว่า ตื่นขึ้นมาตอนดึก นอนไม่หลับ สบายมากเลย ก็คิดถึงธรรมที่ได้ฟัง สงสัยเรื่องอะไร คิดในเรื่องนั้นจนกระทั่งแจ่มแจ้ง ก็เป็นเรื่องที่สบายๆ เพราะว่าเป็นกุศลในขณะนั้น

ที่มีคนถามว่า ทำอย่างไรจึงจะเก่ง จึงจะเข้าใจมากๆ ถ้าไม่มีการฟังด้วยสติ ไม่มีการพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วต่อไปอีก ทุกลมหายใจเข้าออกที่เรามีชีวิต ทำให้เราสามารถเข้าใจเหตุผลและลักษณะของสภาพธรรมได้

ถ. บางอย่างก็เข้าใจ เช่น เมื่อไม่นานมานี้ คิดว่าตัวเองเรียนธรรมมากหลายปี กิเลสก็น่าจะลดลงไป แต่เมื่อคุยกับสามีแล้ว ไม่ใช่อย่างที่เราคิด ไม่ได้หมายความว่าการเรียนธรรมแล้วทำให้กิเลสเราลดลงไป แต่จริงๆ แล้วเป็นการ เพิ่มพูนความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมต่างหาก นั่นคือความรู้ที่เราควรจะสะสม ไม่ใช่เรียนธรรมแล้วทำให้กิเลสหรือความต้องการลดลงไป อันนี้คิดว่าตัวเองเข้าใจถูกต้อง

สุ. เพราะว่าปัญญาที่เกิดจากขั้นการฟังละคลายความไม่รู้ซึ่งเกิดจากการ ไม่เคยฟังเท่านั้นเอง ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องอาศัยปัญญาที่จะต้องอบรมต่อไปอีกมากทีเดียว และเป็นปัญญาของเราเองด้วย สามารถที่จะรู้ว่าใครรู้ ใครไม่รู้ ไม่ถูกหลอก เพราะว่าเรามีความเข้าใจพระธรรม

เปิด  274
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565