แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2011

สนทนาธรรมที่โรงแรมโบบินน่า เมืองโครักขปูร์

วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๓


สุ. ขณะนี้เรากำลังอยู่ ณ สถานที่ที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมาโปรด พระปัญจวัคคีย์ และได้ทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นวันพรุ่งนี้ คือ วันเพ็ญ และมีพระอริยสาวกเป็นท่านแรกด้วย คณะเราก็คงจะได้รำลึกถึงเหตุการณ์ วันสำคัญนี้ที่มีจารึกไว้ในพระไตรปิฎกด้วยการอ่านข้อความจากพระไตรปิฎก

พิธีทอดกฐินและอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่มูลคันธกุฎีวิหาร

ที่สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา

วันศุกร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๓

(เสียงพระภิกษุศรีลังกาสวดมนต์)

สุ. วันนี้สนทนาธรรมกันเพื่อกุศลของเราจะได้ครบสมบูรณ์ เพราะว่า เราได้ถวายปัจจัย เราได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เหลืออีกอย่างเดียว คือ สนทนาธรรม

ถ. ปัญญา ๓ คือ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ที่กล่าวไว้เป็น ๓ ลักษณะ การศึกษาระดับหนึ่งถือว่าเป็นสุตมยปัญญา การพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นจินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญานั้นรวมทั้งสมถะวิปัสสนา และสติปัฏฐานด้วย อย่างนี้ถูกหรือเปล่า

สุ. พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วย พระปัญญา และได้ทรงเทศนาพระธรรมเพื่อให้ผู้ฟังได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความ เป็นจริง เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ คือ ให้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม และ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่อยู่ในตำราเลย ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็นก็เป็นธรรม ทางหูที่กำลังได้ยิน ความคิดนึก ล้วนเป็นธรรมทั้งนั้น เพื่อจะเตือนให้เราทราบว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไม่ใช่อยู่ในตำรา แต่เราอาศัยการฟัง หรือการอ่าน หรือการสนทนา เพื่อช่วยให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้ที่ใช้คำว่า สุตมยปัญญา หมายความว่า ปัญญาที่สำเร็จจากการฟังและเข้าใจสภาพธรรม เพราะแม้ว่า สภาพธรรมจะมีปรากฏอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้าไม่อาศัยพระธรรม ไม่มีทางจะเข้าใจธรรมได้เลย

ด้วยเหตุนี้แม้แต่การฟังที่จะชื่อว่าเป็นปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง ก็ต้องอาศัย สติ คือ มีการระลึกได้ว่าธรรมคือสิ่งที่ปรากฏ ฟังให้เข้าใจ แม้แต่การตรึกนึกถึง สภาพธรรม บางคนอาจจะนึกถึงเรื่องความรู้สึกต่างๆ หรือขณะที่กำลังคิดนึก ก็ระลึกได้ว่า จิตที่คิด คิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ขณะนั้นก็เป็นการคิด พิจารณาธรรมที่ได้ฟังก็ได้ และขณะใดที่เป็นสติปัฏฐานคือระลึกลักษณะของ สภาพธรรมเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นก็เป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม เพื่อดับการเห็นผิดการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะฟังมาก ฟังน้อย ฟังนาน ฟังเรื่องที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสักเท่าไร ก็เพื่ออบรมปัญญาให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งก็เป็นประโยชน์มาก ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏแล้วจริงๆ ทางตาเป็นธรรมทั้งหมด ทางหูก็เป็นธรรม ถ้าใครต้องการเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็สนทนากัน พร้อมกับพยายามเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมตามที่กำลังฟังและเข้าใจด้วย

ถ. ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ขณะที่มีแข็งเป็นอารมณ์ แข็งนั้นเองจะปรากฏแก่สติโดยความเป็นอนัตตา เพราะอาศัยสติและปัญญาที่เป็นโสภณเจตสิกเกิดขณะนั้น สามารถระลึกรู้ลักษณะของแข็ง และแข็งนั้นก็จะปรากฏแก่สติโดยความเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น ความต่างของกายวิญญาณรู้แข็งกับโลภะรู้แข็ง และสติปัฏฐาน รู้แข็ง คือ กายวิญญาณรู้แข็งกับโลภะรู้แข็ง แข็งไม่เป็นอนัตตา แต่เป็นตัวตน แต่ถ้าสติปัฏฐานรู้แข็ง แข็งนั้นจะปรากฏโดยความเป็นอนัตตา ไม่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ผมเข้าใจถูกหรือเปล่า

สุ. ลักษณะของแข็งไม่เปลี่ยน ไม่ว่าขณะนั้นกายวิญญาณจะรู้แข็งหรือว่าแข็งกำลังเป็นอารมณ์ของโลภะ แข็งไม่เปลี่ยนลักษณะ แต่เวลาที่กายวิญญาณรู้แข็ง กายวิญญาณรู้ได้เฉพาะลักษณะที่แข็ง เป็นสภาพที่รู้แจ้งในสภาพแข็ง เพราะว่า แข็งก็มีหลายอย่าง แข็งหิน แข็งไม้ แข็งกรวด แข็งข้าว อย่างบางทีเราก็บอกว่า ข้าวแข็งไป แสดงให้เห็นว่า ลักษณะของแข็งเป็นสภาพที่รู้ได้เฉพาะกายวิญญาณ คือ ปกติธรรมดาในชีวิต การสัมผัสกระทบอะไรแล้วบอกว่าแข็ง หมายความว่าจะรู้ได้ทางเดียวเท่านั้น คือ การสัมผัส อย่างเวลาที่เห็นน้ำแข็งและบอกว่า น้ำแข็งเย็น ขณะนั้นเราเพียงคิดว่าเย็น แต่เรายังไม่ได้กระทบสภาพเย็นที่ตัวน้ำแข็ง จนกว่าเมื่อไร ที่เราสัมผัสน้ำแข็ง เมื่อนั้นลักษณะเย็นจึงปรากฏ

ชีวิตประจำวันที่รู้เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ขณะนั้นเป็น กายวิญญาณ เป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นวิบากจิตที่ทำให้เราต้องมีกายปสาทซึ่ง สามารถกระทบสัมผัสสิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว และเวลาที่เรารู้สึกเป็นทุกขเวทนาก็จะรู้ได้ว่าเพราะเย็นไป อย่างเวลานี้ถ้าใครไปกระทบกับน้ำ ขณะนั้นจะรู้สึกว่าไม่สบาย เพราะว่าสภาพที่ปรากฏนั้นเย็นไป

ด้วยเหตุนี้กายวิญญาณจึงเป็นการรู้เฉพาะแข็ง ส่วนโลภะก็แล้วแต่ว่าจะชอบ ในลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ถ้าโทสะก็ไม่ชอบในลักษณะที่ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ทั้งๆ ที่แข็งอย่างนั้น แต่ก็สามารถทำให้เกิด จิตหลายประเภทที่รู้อารมณ์แข็งนั้น เช่น กายวิญญาณรู้เฉพาะแข็ง โลภะซึ่งเกิด ต่อจากกายวิญญาณเมื่อกระทบแข็งแล้วก็ชอบแข็งนั้น ส่วนสติปัฏฐาน ขณะที่ระลึกลักษณะที่แข็ง แข็งไม่เปลี่ยน แต่เมื่อเป็นมหากุศลจิต และเป็นการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะได้ฟังมาเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นก็มีสัมมาวายามะที่กำลังค่อยๆ รู้ในลักษณะที่แข็งว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่เป็นลักษณะของการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะสามารถรู้ได้ว่า สภาพนั้นเป็น แต่เพียงลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น

นีน่า ต้องอบรมเดี๋ยวนี้เสมอ ถ้าเจริญสมถะต้องรู้ว่า กุศลต่างกับอกุศล ถ้าเจริญวิปัสสนาคิดว่าเหมือนกัน เพราะว่าเป็นไปได้ที่เราคิดว่าเป็นสติปัฏฐานที่ รู้ลักษณะ แต่อันที่จริงอาจจะเป็นโลภมูลจิตที่ติดตามนามและรูป อยากจะรู้ มีความสงสัย

สุ. การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลปัญญาจะค่อยๆ รู้ขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริงว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

นีน่า อยากจะถามคุณสงวนเรื่องโลภมูลจิตที่ติดตามนามและรูปไป ถ้ามี สติปัฏฐาน แน่ใจอย่างไร ต่างกันอย่างไร

สงวน ถ้าจิตเป็นโลภะ ก็มีสติรู้ลักษณะของโลภะ เช่น เราอยากมีสติ มากๆ ก็พยายามแตะแข็งบ่อยๆ ใช่ไหม ทีหลังก็เอาที่เขาเกิดขึ้นเอง และเรารู้สึกเอง อย่าไปบังคับ บังคับไม่ได้ เกิดเมื่อไรก็รู้เมื่อนั้น

นีน่า คุณแอ๊วพูดเรื่องความคิดที่เป็นอกุศลที่สังเวชนียสถาน และมีโอกาส จะรู้ได้มากในชีวิตประจำวันแต่ไม่รู้ ที่สังเวชนียสถานทุกคนคิดว่าต้องมีกุศลจิตเท่านั้น แต่ถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้น ก็มีโอกาสจะรู้จักเช่นกัน

ถ. คุณไอแวนเขาบอกว่า เรามาสถานที่สำคัญไม่ได้หมายความว่าจะทำให้จิตเราเป็นกุศลตลอดเวลา ขณะที่เรานั่งๆ อย่างนี้ บางทีอกุศลจิตก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งขณะนั้นเราก็สามารถศึกษารายละเอียดของอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์มากสำหรับคุณไอแวน แอ๊วก็คิดเหมือนกัน เพราะเมื่อวานนี้ที่เราเวียนเทียนกันที่นี่ แอ๊วก็คิดอกุศลหลายๆ อย่าง แต่ไม่ได้พิจารณาเหมือนคุณไอแวน ปล่อยให้จิตล่องลอยไปตามอกุศลนั้น สำหรับคุณไอแวนเขาบอกว่า ขณะนั้นเขาพิจารณาและศึกษาในขณะที่ จิตเป็นอกุศล มีประโยชน์มากสำหรับเขา

สุ. โดยมากคนมักจะถามว่า ธรรมคืออะไร ธรรมอยู่ที่ไหน และที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ทั้งๆ ที่ธรรมมีอยู่ทุกแห่ง เพราะว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่คนก็ไม่รู้ว่านั่นเป็นธรรม เพราะฉะนั้น นี่เป็นประการแรก ที่จะต้องทราบว่า ธรรมไม่ใช่อยู่ในหนังสือ แต่ธรรมคือในขณะที่กำลังเห็น

ทำไมถึงกล่าวว่าเป็นธรรม ก็เพราะว่าเป็นสภาพที่มีจริงๆ สิ่งใดที่มีจริง เมื่อไม่ใช่เรา ลักษณะนั้นเป็นอะไร ขณะที่กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีสภาพรู้ คือ เห็น ซึ่งเป็นนามธรรม และมีสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นรูปธรรม แต่ทั้งๆ ที่เห็นและ พูดเรื่องเห็นมาเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็ยังยากสำหรับการระลึกได้และเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะความคุ้นเคยทันที ที่เห็น ขณะนี้ถ้าจะระลึกเพียงว่า มีสีสันวัณณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏทางตา เราไม่ต้องเรียกอะไรเลย ไม่ต้องเรียกแดง ไม่ต้องเรียกเขียว ไม่ต้องเรียกฟ้า ไม่ต้องเรียกต้นไม้ ไม่ต้องเรียกพระสถูป แต่สภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน ทั้งๆ ที่เวลานี้สีมีเยอะ เมื่อกี้นี้ก็มีคนเดินผ่านไปผ่านมาก็เพิ่มสีขึ้นมาอีก แต่ทุกคนจำเรื่องราวของสีที่ปรากฏ เช่น ขณะนี้จำว่ามีคนกำลังเดินรอบพระสถูป ซึ่งเราอาจจะกลับไปที่โรงแรมและคิดถึงเหตุการณ์ที่นี่ เราจะจำสีไม่ได้เลยทั้งหมด แต่เราจะจำเฉพาะเรื่อง เราจำแต่เรื่อง

นี่เป็นเหตุที่เมื่อเราเห็นแล้ว วันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่เราเห็นสีทั้งนั้น แต่เราจำ เฉพาะบางเรื่อง เช่น เมื่อเช้านี้เราไปที่แม่น้ำคงคา เห็นกองไฟ เห็นโรงพยาบาล เห็นคนอาบน้ำ เห็นคนแปรงฟัน เห็นเรือแล่นขายของ เห็นทุกอย่าง แต่ถ้าถามว่า ในเรือของคนขายของมีอะไรบ้าง ซึ่งขณะที่เราอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ เราตอบได้ว่า เขามีหม้อเล็กๆ มีหม้อขนาดกลาง และก็มีหม้อขนาดใหญ่ มีอะไรเราก็บอกได้ แต่เวลานี้ถ้าถามว่า ใครจำอะไรได้บ้างในเหตุการณ์นั้น ก็จะจำเฉพาะบางเรื่อง แสดงให้เห็นว่า เราไม่เคยแยกสิ่งที่ปรากฏทางตากับความจำเรื่องราวที่เกิด คือ ขณะที่นึกคิด กับขณะที่เห็นสิ่งนั้น สิ่งนี้พิสูจน์ได้ในความฝัน เวลาที่ฝันเราบอกว่า เมื่อคืนนี้ฝันเห็นคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ แสดงว่าเราไม่สนใจในสีที่ปรากฏทางตา แต่เราจำเรื่องเอาไว้ฝัน เพราะฉะนั้น ในฝันของเรามีบุคคลกำลังทำต่างๆ แต่จะไม่เหมือนกับสิ่งที่ปรากฏ ทางตาและเรานึกเป็นเรื่อง เพราะว่าในฝันนั้นไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเยอะๆ มีแต่ เฉพาะเรื่องที่เราจำไว้และคิดขึ้น นี่เป็นการเปรียบเทียบ ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ยังสามารถรู้ได้ว่า ขณะที่สีสันวัณณะปรากฏ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง แต่เรื่องที่เราจำออกมาจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเฉพาะเรื่อง ไม่ครบ ไม่มีใครจำกิ่งไม้อ่อนๆ มีใบ ๑๐ ใบ ๒๐ ใบทางโน้น เสาอยู่ทางนี้ และประตูอยู่ทางโน้น อักษรเขียนลงมาว่าอย่างนี้ ไม่มีใครจำเลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ปรากฏ แต่เราจำเพียงเฉพาะเรื่องที่เราคิดเท่านั้น

เปิด  270
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565