แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2012

สนทนาธรรม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๓


ถ. ขณะนี้ที่เรากำลังนั่งอยู่ เราถูกมอง และเรากำลังมองผู้อื่น และมีเสียง มีแสง มีสีเยอะแยะ เราจะช่วยตัวเราเองได้อย่างไรในการปฏิบัติ

สุ. ไม่ทราบคุณมาลินีต้องการธรรมระดับไหน

ถ. ระดับต้นก็ได้

สุ. ถ้าอย่างนั้นคุณมาลินีต้องทราบว่า เวลาที่เห็นเขาแล้วรู้สึกอย่างไร เพราะว่าการปฏิบัติธรรมต้องด้วยความเข้าใจ เมื่อเห็นเป็นคนกำลังดูเรา และเราดูเขา จิตใจของคุณมาลินีเป็นอย่างไร

ถ. ก็รู้สึกสนใจเขา มาดึงเอาความสนใจไปดูเขา

สุ. และเวลาที่สนใจเขา ความรู้สึกเป็นอย่างไร

ถ. คือ ดึงความสนใจที่จะฟังอาจารย์ให้จางไป คล้ายๆ กับแบ่งโฟกัสไปที่อื่น

สุ. แต่คุณมาลินียังไม่ทราบเลยว่า ขณะใดที่จิตไม่เป็นกุศล ขณะนั้น ต้องเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม และไม่ได้พิจารณา ไม่ได้เข้าใจ ต้องเป็นอกุศลแล้ว แต่เป็นอกุศลประเภทไหน ซึ่งเราควรจะแยกว่า เป็นอกุศลประเภทโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต เราจะได้ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

เพราะฉะนั้น ต้องละเอียดที่จะทราบว่าเป็นอะไร ในขณะนี้เป็นอกุศลจิตแล้ว แต่เป็นอกุศลจิตประเภทไหน

ถ. ดิฉันไม่ทราบ เพราะไม่เคยรู้ ไม่เคยแบ่งอะไร เพียงแต่รวบยอดเอาว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะทำจิตของเราอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์

สุ. เรื่องทำจิต ไม่ใช่เรื่องปัญญา แต่เป็นเรื่องความต้องการของตัวตน ที่อยากให้จิตของเราเป็นกุศล จึงพยายามจะทำ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องของปัญญาเลย ถ้าเป็นเรื่องปัญญาต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะตามลำดับขั้นที่จะรักษาจิตของตนเองไม่ให้เป็นอกุศล แทนที่จะทำโดยที่ไม่มีความรู้เลย ถ้าเป็นการทำโดยไม่มีความรู้ คุณมาลินีอาจจะทำโลภะให้เพิ่มขึ้นโดยความไม่รู้ คือ ไม่พอใจโลภะอันนี้ แต่อาจจะพอใจโลภะอย่างอื่นก็ได้ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากโลภะ

ถ. ควรพิจารณาอย่างไร

สุ. นี่ก็จะทำอีก เพราะถามว่า ควรพิจารณาอย่างไร ดิฉันคิดว่า ความเข้าใจธรรมประเสริฐสุด เพราะว่าความเข้าใจคือปัญญา ถ้ามีธรรมปรากฏอยู่ล้อมรอบตัวเรา แต่เราไม่เข้าใจ จะมีประโยชน์อะไรกับการที่เราจะเป็นกุศล นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งกุศลนั้นก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ประเดี๋ยวก็เป็นอกุศลอีกกองโต แต่ถ้าเรามีความเข้าใจธรรมแล้ว กุศลของเราจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และมีความมั่นคงขึ้นที่จะ เจริญกุศลในประการอื่นๆ ต่อไปด้วย คือ เป็นรากฐานของกุศลทั้งปวงที่จะเจริญขึ้น จากความรู้ความเข้าใจ เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปมุ่งทำด้วยความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็พยายามเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างในขณะนี้ เป็นธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม นี่คือความเข้าใจตามสภาพที่แท้จริง เพราะว่าธรรมมี ๒ อย่าง สภาพที่เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง และสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ อีกอย่างหนึ่ง เพื่อคุณมาลินีจะได้ไม่มากังวลกับตัวเองมากมายว่า เราเห็นแล้ว เราจะทำอย่างไร แต่ให้รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาชั่วขณะจิตเดียวกับสภาพของจิตที่กำลังเห็น เวลาที่มีการได้ยินเกิดขึ้น ก็เป็นอีกชั่วขณะหนึ่งซึ่งมีเสียงกำลัง ปรากฏกับจิตที่ได้ยินเพียงชั่วขณะจิตเดียว ถ้าสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จริงๆ ปัญญาสมบูรณ์จริงๆ จะไม่มีความทุกข์ จะไม่มีความเดือดร้อน จะไม่มีความกังวลถึงอดีตหรืออนาคต เพราะว่าทุกอย่างคุณมาลินีบังคับไม่ได้ สมดังพระธรรมที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา และอนัตตาก็มีหลายขั้น อนัตตา ในความหมายที่ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ไม่ได้ต้องการจะเห็น แต่ใครจะยับยั้ง จิตเห็น ทุกคนยังต้องเห็นต่อไปอีกหลายวัน หลายเดือน หลายปี ถึงแม้ว่าจะ จากโลกนี้ไปแล้ว ก็ต้องเห็นอีกในสังสารวัฏฏ์

ถ้าย้อนชาตินี้ไปจนกระทั่งถึงเด็ก เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก ทุกวัน ไม่น่าเบื่อหรือ เห็นอย่างเดียว และถอยไปถึงตอนที่เราเกิด ตอนชาติก่อนซึ่งไม่ห่างจากชาตินี้เท่าไร แสดงว่าการเห็นของชาติก่อนไม่ห่างจากการเห็นของชาตินี้ และถอยจากชาติก่อน ถึงชาติก่อนโน้นอีก ก็แสดงว่าการเห็นในสังสารวัฏฏ์เป็นอย่างนี้มานานแสนนาน ซึ่งจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องเพื่อจะได้ละคลายความพอใจยึดมั่นในตัวตน โดยค่อยๆ รู้สภาพธรรม แม้ทีละเล็กทีละน้อยก็เป็นประโยชน์

ตอนนี้คุณมาลินีอาจจะได้ความรู้เรื่องนามธรรมกับรูปธรรมโดยความหมาย แต่ยังไม่เข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ทั้งๆ ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน และก็มีคำที่เป็นพุทธวจนะว่า สภาพที่ได้ยินเป็นนามธรรมที่ได้ยินเสียง แม้เป็นจริงอย่างนี้ แต่ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพที่กำลังได้ยิน เพราะว่ากำลังฟังเรื่องได้ยิน

นี่เป็นความรู้เป็นขั้นๆ คือ ขั้นต้นกำลังฟังเรื่องราวของสภาพจิตใจของเรา กับสิ่งที่ปรากฏ ยังไม่ถึงขั้นที่สามารถรู้จริงๆ ว่า นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรม เป็นอย่างไร

แม้ว่าเป็น ๒ คำ แต่ ๒ คำนี่ตลอดชีวิต ที่ปัญญาจะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าคุณมาลินีตื่นขึ้นมาตอนดึกและ เอ๊ะ! นามธรรมหรือรูปธรรม ก็ยังดี แม้จะเป็น เอ๊ะ! นามธรรมหรือรูปธรรม ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่ได้หายไป และยังมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้คุณมาลินีเกิดความคิดที่จะรู้ว่าลักษณะของนามธรรมคืออย่างไร ลักษณะของรูปธรรมคืออย่างไร

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะตอนดึกตื่นขึ้นมา แม้แต่ในขณะนี้เอง ก็มีนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ชั่วชีวิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ล้วนเป็นธรรมที่เราจะต้องเข้าใจลักษณะเขาจริงๆ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ หรือเป็นตัวเรา ๒ คำนี้ ตลอดทั้ง ๓ ปิฎก และตลอดชีวิต ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียวด้วย ฟังก่อน และพิจารณาไปว่า เราไม่มีจริงๆ หรือ ทั้งๆ ที่จิตมี แต่จิตก็ไม่ใช่ของเรา และจิตนั้น ก็ไม่ใช่ของใครด้วย จิตของใครจะดี มีปัญญามาก มีปัญญาน้อย มีกุศลประเภทเมตตามาก กรุณามาก หรืออะไรก็ตามแต่ แม้จิตนั้นๆ ก็ไม่ใช่ของใคร เพราะว่า จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับหมดไปทันที สิ่งที่หมดไปแล้วจะมานั่งคิดว่าเป็นของเรา หรือของใครไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตของเราก็ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่เข้าใจว่า เป็นของเรา ทั้งๆ ที่กำลังดับไปอยู่ตลอด แม้จิตของคนอื่นก็เช่นเดียวกัน

ถ้าคุณมาลินีเข้าใจอย่างนี้ ความเมตตา ความกรุณาจะมีเพิ่มขึ้น เป็นรากฐานของกุศลทุกประเภท รวมทั้งปัญญาด้วยที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน และเวลาที่ได้ยินได้ฟังคนอื่นพูด คุณมาลินีจะได้ทราบว่า นี่เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงแสดง หรือเป็นเพียงความคิดนึกของคนอื่น

ถ้าเป็นพระธรรมที่ทรงแสดง ต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ พิสูจน์ได้ทุกขณะ และจะเริ่มสะสมความเข้าใจขึ้น เพราะว่าทุกคนมักจะพูดเรื่องปัญญา แต่ไม่เข้าใจเลยว่า ปัญญานั้นเริ่มจากความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ และกำลังปรากฏในขณะนี้

เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจขั้นการฟัง จะเป็นเหตุปัจจัยทำให้สติสามารถระลึกได้ถูกต้องโดยไม่ใช่เรา แต่สังขารขันธ์ คือ สติ ศรัทธา หิริโอตตัปปะ และเจตสิกอื่นๆ อีกมากมายจะปรุงแต่งทำให้สติสัมปชัญญะระลึกตรงลักษณะ

เราฟังมามากแล้ว แต่สติสัมปชัญญะจะระลึกที่ลักษณะนั้นเมื่อมีปัจจัย และ จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อย นิดเดียว แต่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่สมบูรณ์ครบถ้วน ถูกต้อง สามารถแทงตลอดในสภาพที่เกิดดับที่ไม่ใช่ตัวตนได้ มีหนทางนี้ทางเดียว คือ ฟังเรื่องสภาพธรรมให้เข้าใจ และไม่ต้องห่วงเรื่องทำ เพราะว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวตน จะไปทำ แต่เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นขั้นๆ

ถ. ขอบพระคุณ

ผู้ฟัง ผมมักจะช่างซัก ขี้สงสัย คือ เรามาศึกษาธรรมอยู่ในชีวิตประจำวัน เราต้องการทราบสภาวจิตจริงๆ ของเราว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเราไม่สามารถหลอกตัวเองหรือโกหกตัวเองได้ ถ้าเป็นอกุศล หรือไม่ชอบ หรือหงุดหงิดสักนิดเดียว ก็ต้องเป็นอกุศล ใช่ไหม ขอถามคุณกฤษณาหน่อยว่า ถ้าเขาไปแล้วเราสบายใจขึ้นหน่อยไหม

ก. ไม่มีความรู้สึกแตกต่างกันระหว่างเขาอยู่หรือเขาไป

ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เป็นแต่ละบุคคล ขอบคุณ

ผู้ฟัง เมื่อกี้ผมก็มองดูอยู่เหมือนกัน เห็นเขานั่งเรียงกัน ดูตาเขาจ้องมองเหมือนไม่เคยเห็น ผมกลับรู้สึกสงสารเขา นึกถึงเมื่อครั้งตัวเองอยู่ที่ต่างประเทศ ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ฟังใครก็ไม่รู้เรื่อง ผมคิดว่า ถ้าเขารู้เรื่อง เขาจะดีใจมาก แต่เขาไม่รู้เรื่อง จึงสงสารที่เขาพลาดโอกาสดีๆ อย่างเราไป เห็นเขามายืนๆ มองๆ ก็ไม่ทราบว่าเขาคิดอะไร ขณะที่เรากำลังทำประโยชน์ เขาแค่มองอย่างเดียว แต่ในใจไม่ทราบว่าเขาคิดอะไร หรือมีธรรมอะไรเกิดขึ้นในใจเขาบ้าง

ผู้ฟัง นี่ก็เป็นแต่ละบุคคลที่สะสมมาอย่างไรก็มีความคิดไปต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่มีอารมณ์เดียวกัน เห็นสิ่งเดียวกัน แต่ความคิดแตกต่างออกไป จิตก็แตกต่างออกไป ผมอยากฟังความคิดเห็นของคุณโจนาธานบ้าง

จ. เรื่องนี้ผมเกิดโทสะหน่อยที่มีคนมามองดู รู้สึกว่าเสียงของเรา ที่มาเคารพเวียนเทียนที่นี่ บางทีเราอาจจะรบกวนเขา แสดงว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน สะสมมาไม่เหมือนกัน

ผู้ฟัง นี่ก็เป็นอีกสภาพจิตหนึ่งที่เห็นสิ่งเดียวกัน คุณแอ๊วเป็นอย่างไร

อ. แอ๊วช่างสังเกตนิดหนึ่ง มีผู้หญิง ๔ คนนั่งตรงนั้น คนหนึ่งเขาพิศวงมาก เขาชี้ไปที่อาจารย์ที่ถือไมโครโฟนและบอกว่า เสียงไปออกตรงโน้น นี่แอ๊วเดาเอา เพราะเขาชี้ตรงนี้ไปตรงโน้น แอ๊วไม่รู้สึกอะไร เพียงแต่เหมือนคุณกฤษณา คือ สลับไปสลับมา เดี๋ยวฟังอาจารย์บ้าง เดี๋ยวมองดูเขา แต่ไม่รู้สึกมีโทสะหรือโลภะอะไร

ผู้ฟัง เขาไม่ได้มองดูฝรั่ง แต่มองดูคนไทย เขาคงคิดว่า พวกนี้แปลกนะ ดูเหมือนธิเบต

ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกว่า แม้เกิดมาเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ การเข้าใกล้ พระสัทธรรมนี่ยาก เพราะมีสิ่งให้เปรียบเทียบ แม้แต่ชนชาติต่างๆ ตลอดจนชนชาติไทยด้วยกันซึ่งกำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ก็ให้เปรียบเทียบได้

ผู้ฟัง รู้สึกจะมีเมตตา ใช่ไหม

ผู้ฟัง หมายถึงว่า การสะสมกุศลที่จะพบพระสัทธรรมในแต่ละชาติๆ นี่ ยากมาก

สุ. ทุกคนคงไม่ลืมว่า อยู่ในโลกของความคิดของตัวเองซึ่งร่วมกันไม่ได้เลย ในขณะที่จิตแต่ละคนกำลังเกิดดับ จะเอาความคิดของคุณประสิทธิ์ศักดิ์มาให้คุณธนิต หรือจะเอาความคิดของคุณธนิตไปให้คุณโจนาธานก็ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า แม้สิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นเหมือนกันหมด แต่ต่างจิตต่างใจตามการสะสม แสดงว่า เราอยู่ในโลกของเราเองตามลำพังคนเดียวอย่างนี้แน่นอนในทุกชาติ แล้วแต่ว่าเราจะนึกคิดอย่างไร ทั้งๆ ที่สีสันมีปรากฏภายนอก แต่ทุกคนก็มีโลภะบ้าง มีเมตตาบ้างตามการสะสม อย่าลืมว่า ไม่มีใครเลยในโลกนี้ นอกจากนามธรรมและรูปธรรม ที่เราเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ความจริงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาและเรา นึกเอาทั้งหมด

เหมือนเราส่องกระจก เราอยู่ที่ไหนในกระจก เวลาเราส่องกระจก ตัวเรา อยู่ที่ไหน กลายเป็นเราเข้าไปอยู่ในกระจกเสียแล้ว ใช่ไหม ตัวเราจริงๆ อยู่นอกกระจก แต่เมื่อส่องกระจกแล้ว กลายเป็นเราเข้าไปอยู่ในกระจก แสดงให้เห็นว่า เราสามารถคิดนึกได้ แม้ในกระจกไม่มีอะไรเลย ก็กลายเป็นตัวเราอยู่ที่นั่น

เพราะฉะนั้น เราจะคิดอะไรก็ได้สารพัดอย่าง แต่ให้ทราบว่า ชั่วขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้นคิดและดับ แต่เพราะไม่ประจักษ์การเกิดดับของจิตจึงปรากฏเป็นเรื่องราว เป็นสิ่งต่างๆ เป็นโลกที่มีปัญหากว้างใหญ่เหลือเกิน แต่ถ้ารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นและบังคับบัญชาไม่ได้ จะทำให้เราระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะว่าไม่เคยขาดปรมัตถธรรมเลย

ทางตา ไม่เคยขาดสิ่งที่ปรากฏ ทางหูเวลามีการได้ยินก็ไม่เคยขาดเสียง ทางจมูกก็ไม่เคยขาดกลิ่น ทางลิ้นก็ไม่เคยขาดรสขณะที่ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นลิ้มรส ทางกายก็ไม่เคยขาดเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กระทบสัมผัส ทางใจก็ไม่เคยขาดคิดนึกแสดงให้เห็นว่า มีธรรมทั้งหมด

ถ้าสามารถเข้าใจว่า ธรรมเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเกิดขึ้นปรากฏ และใส่ใจระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะทำให้ไม่เห็นว่า สภาพธรรมนั้นๆ เป็นตัวตนหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่คือหัวใจของพระธรรมที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะสภาพธรรมกำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้แล้ว

ผู้ฟัง ผมมองสภาวจิตของผมว่าหวั่นไหวแค่ไหน ผมคิดว่ามีบ้าง แต่เมื่อได้พิจารณาสภาพจิตรู้ตัวเองว่า ไม่ค่อยชอบใจ ไม่ค่อยสบายใจ และพิจารณาบ่อยๆ ความหวั่นไหวจะเบาบางลง ซึ่งนั่นคงจะเป็นโทสะ

ผู้ฟัง เมื่อเช้านี้แอ๊วรู้สึกหวั่นไหวมาก ตื่นมาตอนเช้าแล้วสนทนากับแฟน นิดหน่อย คิดถึงลูกว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับลูก สมมติว่าความตายเกิดขึ้น รู้สึกหวั่นไหวมาก ขอคำแนะนำด้วย

สุ. อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ยับยั้งไม่ได้เลย ถ้าลูกจะตายหรือใครจะตาย ก็ไม่ใช่ตายเพราะเรานึกขณะนั้น เขาจะอยู่หรือจะตายต้องตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น แต่ปัญญาของเราจะรู้ถึงความเป็นธรรมดาว่า เมื่อมีความเกิดก็ต้องมีความแก่ มีความเจ็บ มีความตาย เป็นของที่แน่นอน ถ้าเรามีความมั่นคงไม่หวั่นไหว ขณะที่ มีความตายเกิดขึ้นก็เป็นอนุสสติทำให้เราระลึกถึงสัจจธรรมได้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ ห้ามไม่ได้ แต่อย่าลืม ตายปุ๊บก็เกิดปั๊บ เขาเกิดแล้ว เราจะมานั่งเสียใจทำไม นอกจากจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เขาอนุโมทนา

เรื่องของความคิดนึกจะเห็นได้ว่า บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล บังคับไม่ได้ เมื่อวานนี้คุณนีน่ากับดิฉันก็คุยกัน ดิฉันก็ถามคุณนีน่าว่า คิดถึง คุณโรดดาเวกไหม คุณนีน่าก็บอกว่า ไม่เป็นไร คุณโรดดาเวกจะมาที่กัลกัตตาหรือ ไม่มาที่กัลกัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ หรืออาจจะตายแล้วก็ไม่ทราบ

นั่นคือวันก่อน แต่เมื่อคืนนี้คุณนีน่าก็เกิดนอนไม่หลับ คิดใหญ่เลยว่า ถ้า คุณโรดดาเวกไม่มากัลกัตตา มาไม่ได้ คณะกลับไปแล้ว คุณนีน่าก็จะต้องขอทานเขาเพราะไม่มีสักรูปีเดียว มีแต่เช็คเดินทางเท่านั้น ก็เป็นเรื่องที่ยาว และเป็นห่วงมาก แสดงให้เห็นว่า แต่ละวันไม่เหมือนกัน บางวันกุศลจิตคิดแบบหนึ่ง และบางวัน อกุศลจิตก็ปรุงแต่งเสียมากมาย

ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด ขณะนี้ ไหนอกุศลจิตที่คิด และไหนกุศลจิตเมื่อวันก่อน ทุกขณะที่ล่วงไปแล้วไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพธรรมกำลังมีลักษณะปรากฏเท่านั้นที่จะให้ความจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่ต้องเกิด จึงปรากฏและดับทันที

ถ้าเข้าใจอย่างนี้บ่อยๆ สติจะระลึกแม้นิดเดียว เพราะว่าสภาพธรรมปรากฏนานไม่ได้ และสติก็เกิดอีก ระลึกอีก และค่อยๆ เข้าใจอีกได้

ผู้ฟัง เพื่อนแนะนำว่า ถ้าคิดถึงความตาย เจริญมรณานุสสติจะช่วยได้มาก

สุ. แต่ละคนไม่เหมือนกัน ขอให้ทราบว่า พระธรรมไม่ใช่ว่าเราไม่ศึกษาเลย เราไม่ฟังเลย เราไม่พิจารณาเลย เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเราจะคิดได้เลย ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความว่า เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในชีวิต เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่า ไม่พ้นไปจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงเรื่องของความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ความบังคับบัญชาไม่ได้

ผู้ฟัง แอ๊วรู้สึกว่า ตัวเองมีความคิดถึงเรื่องธรรมมากกว่าที่จะเจริญสติ

สุ. ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ค่อยๆ อบรมไป

ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือขณะเห็นนั้น มักจะคิดเลยไปนาน แม้ว่าสติ จะเกิด แต่หลังจากนั้นก็มีเรื่องคิดเยอะเลย เห็นทีไรก็เป็นเรื่องนึกคิดต่อไปยาว แต่ทางกายเมื่อสติระลึกสิ่งที่ปรากฏทางกาย การคิดนึกมันน้อยกว่า

สุ. ไม่เป็นไร แล้วแต่เขาจะค่อยๆ เป็นไปอย่างไร ในที่สุดก็จะต้องครบ ทั้ง ๖ ทวาร ปัญญาจะต้องเพิ่มขึ้น พิจารณาไป อดทนไป ระลึกไป

ถ. เป็นเพราะว่าอารมณ์ของกายทวารนั้นไม่กว้างขวาง หรือไม่วิจิตรพิสดารเหมือนอย่างทางตาหรืออย่างไร

สุ. จะด้วยประการใดๆ ก็ตาม ปัญญาจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น เป็นสังขารขันธ์ที่ค่อยๆ ปรุงแต่ง จนกว่าจะคมกล้า

เปิด  263
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565