แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2013

สนทนาธรรม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๓

ต่อสนทนาธรรมที่พุทธคยา วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๓


ถ. การที่จะเจริญสติได้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสติ ไม่ใช่รู้ลักษณะของสติ ใช่ไหม

สุ. คุณสมนึกหมายความถึงสติปัฏฐานใช่ไหม

ถ. ใช่

สุ. สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นคือสติปัฏฐาน ขณะใดที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด คนนั้นจะไม่รู้เลยว่า สติปัฏฐานคืออย่างนี้ ต่อเมื่อใดที่สติปัฏฐานระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม เมื่อนั้นก็รู้ว่าสติคืออย่างนี้ กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมอย่างนี้ คุณสมนึกจะต้องมานั่งคิดถึงบัญญัติกลับไปกลับมาทำไม ประโยชน์อะไร

ถ. สงสัย เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ ไม่ได้ใส่ใจในลักษณะของสติ …

สุ. แต่รู้ว่ามีสติ สติกำลังระลึกเท่านั้น

ถ. รู้จากการศึกษาเท่านั้นว่า ขณะที่มีการใส่ใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย เข้าใจเพียงแค่นั้น แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสติเลย

สุ. เวลาที่สติปัฏฐานเกิด คุณสมนึกรู้ความต่างกันของหลงลืมสติกับ สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า

ถ. รู้

สุ. หมายความว่า เริ่มรู้ว่าสติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร เหมือนกับขณะนี้ทางตา เราบอกว่าเห็นเป็นนามธรรม และสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม แต่ แม้กระนั้นการที่จะค่อยๆ รู้จริงๆ ว่า นี่เป็นสภาพเห็น เป็นนามธรรมที่กำลังรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต้องอาศัยกาลเวลาอีกนานมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ไม่ใช่หลงลืมสติ และรู้ว่ามีสติ ขณะนั้นก็ต้องอาศัยกาลเวลาต่อไป จนกว่าลักษณะของสติจะปรากฏเป็นอารมณ์อีก

ถ. ท่านอาจารย์หมายความว่า ขณะนั้นรู้สติด้วยแล้ว ใช่ไหม

สุ. คุณสมนึกรู้หรือเปล่าเวลาสติปัฏฐานเกิด คุณสมนึกรู้ไหมว่า สติปัฏฐานต่างกับหลงลืมสติ รู้หรือไม่รู้

ถ. รู้

สุ. ถ้ารู้ ขณะนั้นก็จะรู้ว่า ขณะที่มีสติคืออย่างนี้ และการที่จะรู้ลักษณะของสติปัฏฐาน จะมีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ ก็เพิ่มความรู้ขึ้นว่า นั่นคือลักษณะของสติ ค่อยๆ รู้ขึ้น

ถ. ค่อยๆ รู้ขึ้น เริ่มใส่ใจพิจารณาลักษณะเพิ่มขึ้นก็จะรู้

สุ. เพราะเวลานี้แม้จะรู้ว่าทางตากำลังเป็นสภาพเห็น ก็ยังไม่แจ่มแจ้งจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น ฉันใด เวลาที่สติเกิดรู้ว่าต่างกับขณะที่หลงลืมสติ แต่เวลาที่ มีสติมากขึ้น ก็สามารถรู้ลักษณะของสติที่กำลังระลึกนั่นได้ เพราะว่าเป็นนามธรรมเหมือนกัน ซึ่งลักษณะของนามธรรมเป็นสภาพรู้

ถ. พอจะเข้าใจขึ้นบ้างแล้ว อีกเรื่องหนึ่งผมสงสัยว่า บุคคลที่ศึกษาแล้ว เตือนกันว่า นี่รูปธรรม นี่นามธรรม ขณะที่ช่วยเตือน จะเป็นการถูกต้องไหมว่า ไม่ใช่เป็นการบังคับบัญชา

สุ. เตือนได้ แต่ก็แล้วแต่ปัญญาและสังขารขันธ์ของคนฟังที่สติของเขาจะเกิดระลึกขั้นไหน บางทีเขาฟังแล้วเขาก็ไม่ระลึกเลย บางทีเขาฟังแล้วก็นึกขึ้นมาได้ นิดหนึ่งโดยชื่อ บางทีเขาฟังแล้วสติปัฏฐานเกิดก็ได้

ถ. อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของศรัทธากับปัญญา ขณะที่ผมเห็นเขาบูชา ขณะที่ไหว้อัฏฐางคประดิษฐ์ รู้สึกว่าเขาเต็มไปด้วยศรัทธา แต่ศรัทธานี้ผมไม่ทราบว่าเป็นศรัทธาที่ถูกต้องไหม หรือยังไม่ถูก เพราะเขายังศึกษาไม่ถูกต้องเลย

สุ. อย่างน้อยเขาก็นมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความนอบน้อม ซึ่งขณะใดมีความนอบน้อม ขณะนั้นเป็นกุศลจิต

ถ. ถ้าเขารู้มาผิดว่า เมื่อบูชาพระพุทธเจ้าแล้วจะได้อย่างนี้ๆ ประสบความสุขหรือได้ขึ้นสวรรค์ เป็นความเข้าใจผิด จะเป็นกุศลหรือเปล่า

สุ. คนละขณะจิต ด้วยเหตุนี้แม้แต่ชาวพุทธ ชาวไทยเราที่มีความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบไหว้ แต่ทำเสมือนว่าพระองค์เป็นเทพเจ้า นั่นก็เป็นคนละขณะจิต ขณะที่แสดงความนอบน้อมเป็นกุศลจิต

ถ. ถึงแม้เขาจะไม่ทราบว่า พระพุทธเจ้าคือใคร สั่งสอนอะไร

สุ. เวลาที่คุณสมนึกมีจิตอ่อนน้อม นอบน้อม แสดงความเคารพคนอื่น รู้สึกถึงจิตใจของตัวเองไหมว่า ในขณะนั้นปราศจากมานะ ปราศจากความสำคัญตน

ถ. ท่านอาจารย์หมายความว่า ขณะนั้นต้องเป็นกุศลจิตด้วย ใช่ไหม

สุ. เมื่อมีความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม ถ้าดิฉันจะไหว้ชาวฮินดู ที่เป็นผู้อาวุโส คุณสมนึกคิดว่า ดิฉันเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

ถ. เป็นกุศลจิต

สุ. เพียงความนอบน้อมแก่ผู้ที่ควรนอบน้อมโดยวัย ก็เป็นกุศลจิตได้

ถ. ผมเพียงสงสัยว่า น่าจะมีความต่างกัน เพราะเขาไม่มีความเข้าใจถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร

สุ. นั่นเป็นเรื่องความเข้าใจ แต่นี่เป็นเรื่องความนอบน้อม

นีน่า ดิฉันพูดเรื่องเห็นกับคุณไอแวน คุณไอแวนเข้าใจชัดและบอกว่า ดูกระจกที่โน่นและคิดว่าเป็นตัวตนที่โน่น ไม่ใช่ที่นี่ เห็นว่าไม่ใช่ความจริง ชัดมาก เพราะว่าที่กระจกเป็นแข็งหรือหนาวเท่านั้นเอง แต่เราคิดเรื่องมากๆ และดูโทรทัศน์ คิดเรื่องมากๆ แต่ไม่ได้มีอะไรที่โทรทัศน์ หรือเรื่องสีที่อาจารย์สุจินต์พูดเมื่อวานนี้ มีสีต่างๆ แต่เราคิดเรื่องเสมอ คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่เตือนให้เราเจริญสติปัฏฐาน ให้รู้ความจริง

สุ. ถ้าเรื่องโทรทัศน์กับเรื่องกระจกพอที่จะทำให้เราเห็นได้ว่า สิ่งใดก็ตาม ที่ปรากฏ แม้ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย เรายังนึกคิดเอาเองได้ว่า เป็นคนนั้น คนนี้ เพราะว่าทุกคนที่ดูโทรทัศน์ ดูละคร ก็จะติดอกติดใจในเรื่องราว เหมือนกับโกโบริมีจริงๆ อังศุมาลินมีจริงๆ เพราะฉะนั้น แม้ในขณะนี้เองเราก็คิดว่า มีคุณธงชัยจริงๆ นั่งอยู่ตรงนี้ มีคุณนิตยาจริงๆ นั่งอยู่ตรงนี้ ก็เหมือนกัน ให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะในโทรทัศน์ นอกโทรทัศน์ เมื่อเป็นรูปารมณ์คือ สิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทแล้ว เหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้น จิตของเรามีความวิจิตรที่จะนึกคิดและแยกแยะว่า เป็นกระจกเงา เป็นโทรทัศน์ เป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ที่ไม่ใช่กระจกเงา แต่ความจริงแล้วเหมือนกันหมด คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เปลี่ยนสภาพไม่ได้ และหลังจากนั้นจิตจะคล้อยไปตามสิ่งที่ปรากฏโดยนึกคิดเรื่องราวต่างๆ เป็นอย่างนี้ต่อกัน ทางตาแล้วก็นึกคิดทางใจ ถ้าจะเปรียบสิ่งที่กระทบสัมผัส ก็เหมือนกับฟ้าแลบ นิดเดียวเอง รูปารมณ์กระทบ นิดเดียวแล้วดับ จิตคิดนึกรับต่อ กระทบอีกและก็ดับ แต่ความรวดเร็วทำให้เราสามารถจำไปเลยว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นใคร เสียงที่ได้ยินเป็นเรื่องอะไร

ตัวอย่างอีกอันหนึ่ง คือ หนังสือพิมพ์ มีแต่กระดาษสีขาว ตัวหนังสือสีดำ หรือแม้ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ ตำรับตำราวิทยาการต่างๆ ก็มีแค่สีขาวกับสีดำ แต่ทำให้เกิดความคิดมากมายใหญ่โต แสดงให้เห็นว่า เราอยู่ในโลกของความคิดนึก โดยคิดนึกตามสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง และเมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาผ่านไป สิ่งอื่นมาปรากฏทางตาเราก็นึกคิดเรื่องนั้น เช่น ในขณะนี้เราไม่ได้คิดถึงเมืองไทย เราไม่ได้นึกถึงน้ำท่วม ญาติพี่น้อง เพราะมีสถานที่ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ปฐมเทศนาให้เราเห็น จิตของเราก็น้อมนึกถึง แต่ความจริงก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ทางตาและมีการนึกคิดเรื่องนั้น และเวลาได้ยินเสียงทางหู ก็เป็นสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่ง จิตที่เห็นและจิตที่คิดนึกเรื่องพระสถูปก็หมดไปแล้ว มีจิตที่ได้ยินและ คิดนึกถึงเรื่องที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ต้องแยก ๖ โลกออกไปให้เป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง จนกว่าจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมนั้นๆ

นีน่า สนทนากับคุณโจนาธานว่า มีคนเยอะแยะ และมีโอกาสรู้ลักษณะของโลภะ แต่อาจารย์สุจินต์บอกว่า ถ้าคิดว่าจะทำ มีโลภะแล้ว อยากจะทำ อยากจะศึกษา แต่ต้องศึกษาลักษณะของโลภะด้วย แต่ไม่แน่ใจ

สุ. ไม่แน่ใจอะไร

นีน่า เรียนลักษณะของโลภะ หรือทำอะไร อยากจะทำอะไร ก็มีโลภะเพิ่มอีก

สุ. หมายความว่าโดยตำรารู้ว่ามีโลภะ แต่เวลาที่โลภะเกิดจริงๆ ไม่รู้ว่า นั่นเป็นโลภะ เพราะว่าเราชิน อย่างเวลานี้ที่บอกว่าเราเห็น ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่กุศล ก็ต้องเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า โลภะเป็นประจำจนไม่รู้สึก รู้จักแต่ชื่อว่าเป็นโลภะ แต่เวลาที่เห็นอะไรก็ตาม จะดื่มน้ำ จะมองดูกระเป๋า หรือทำอะไรๆ ก็ไม่รู้เลยว่าเป็นโลภะ

เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ลักษณะของโลภะจริงๆ ต้องด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่าแม้แต่เราจะคิดสักคำหนึ่ง อย่างคิดถึงคำว่า คยา เพียงแต่นึกว่า คยา ถ้าเป็นจิต ของพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต แต่สำหรับคนที่เป็นปุถุชนยังมีความยึดถือในตัวตน จะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นมีเหตุอะไรที่ทำให้นึกถึงคำนี้

ในชีวิตของเราพอเราตื่นมาก็คิด มีใครบ้างที่ตื่นแล้วไม่คิด แต่อาจจะไม่รู้ตัวว่า คิด เพราะว่าคิดมีหลายอย่าง คิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จำสิ่งต่างๆ ก็ได้ คิดเป็นเรื่องราวก็ได้ ที่มีคนบอกว่าชอบพูดกับตัวเอง หรือว่าวันหนึ่งๆ พูดกับตัวเองมาก ก็เพราะว่าความคิดในใจมีเยอะ ที่พูดออกมาน้อยกว่าที่คิด จนเราเกือบจะ จำไม่ได้เลยว่าเราคิดอะไรบ้าง เพราะว่าคิดมากเหลือเกิน

ในขณะที่เราจะคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด ให้ทราบว่า เพราะอวิชชาและโลภะทั้งสิ้น ทำไมไม่คิดเรื่องอื่น เรื่องอื่นก็มีตั้งเยอะแยะ แต่ทำไมคิดเรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึง ความต้องการซึ่งเป็นอุปนิสัย เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่ทำให้วิตกเจตสิกนึกถึงเรื่องนั้น หรือแม้แต่คำนั้น แสดงถึงลักษณะของโลภะอย่างหนึ่งในขณะนั้น แม้แต่ที่คิดอยู่ เสมอๆ ก็เป็นโลภะ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสะ และไม่ใช่กุศล

นีน่า จะรู้ลักษณะโลภะ ไม่ต้องทำอะไรพิเศษ ทำไม่ได้เลย

สุ. ก่อนอื่นรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก่อน ไม่ต้องใส่ชื่อว่าลักษณะนั้นเป็นอะไร เพราะว่าโลภะก็เป็นสภาพรู้ โทสะก็เป็นสภาพรู้ ทุกอย่างที่ เป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้

ที่จะไม่ใช่เราโกรธ ที่จะไม่ใช่เราโลภ ที่จะไม่ใช่เราเห็น ที่จะไม่ใช่เราได้ยิน ก็เพราะว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ต้องแยก คือ ให้รู้ว่าเป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ และภายหลังความละเอียดของสภาพรู้แต่ละอย่างจะปรากฏกับปัญญา ไม่ใช่ปรากฏเพราะเรามานั่งนึกว่า กำลังเห็นอย่างนี้เป็นโลภะหรือเปล่า หรือเป็นนามธรรมอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรมเสียก่อน และเมื่อปัญญารู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ความละเอียดของนามธรรมแต่ละชนิดก็จะปรากฏอีกให้รู้ว่าต่างกัน

นีน่า แต่ถ้าไม่รู้ตั้งแต่ต้น และเราจะเริ่มเจริญวิปัสสนา หรือเจริญเมตตา ถ้าไม่รู้ว่ามีโลภะด้วย เจริญเมตตาไม่ได้ เจริญวิปัสสนาไม่ได้ เพราะว่ามีโลภะเสมอ

สุ. อย่างสามี ไม่ยากที่จะรู้ว่าเป็นโลภะหรือเปล่า ใช่ไหม นั่นก็แสดงว่า รู้ลักษณะของโลภะแล้ว

นีน่า เมตตาและโลภะต้องรู้ว่าต่างกันอย่างไร ไม่อย่างนั้นเจริญเมตตาไม่ได้

สุ. เวลาที่รู้ว่านั่นเป็นโลภะ และรู้ว่าขณะนี้ไม่ใช่โลภะ แต่เป็นเมตตา เพราะฉะนั้น คุณนีน่าก็อยากจะช่วยสามีเหมือนอยากช่วยคนอื่นๆ เสมอกัน ที่จะให้รู้ธรรมเหมือนกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือไม่ใช่สามี มีความประพฤติต่อทุกคน เสมอกัน นั่นคือเมตตา

ทุกท่านที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว วันนี้แต่ละท่านจะได้กล่าวถึงธรรมที่เข้าใจแล้ว หรือว่าทราบแล้วในเรื่องของปรมัตถธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และได้ทรงแสดง เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว และได้สืบทอดมาถึงพวกเราที่มีโอกาสได้ฟังและได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น แต่ละท่านก็ขอให้พูดถึงเรื่องจิต เจตสิก รูป อะไรก็ได้ตามที่ได้เข้าใจแล้ว นิดๆ หน่อยๆ ตามที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น และจะได้สนทนากันเพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ยิ่งขึ้น ใครจะเป็นท่านแรก

ผู้ฟัง เมื่อก่อนที่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมมีความรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนดีมาก มีแต่โทสะอย่างเดียว ซึ่งมักจะโกรธเวลามีใครทำอะไรให้ไม่พอใจ นึกว่าตัวเองดี อิจฉาริษยาใครก็ไม่เคยเลย และยังมีเมตตากรุณาอีก แต่เมื่อศึกษาธรรมแล้วจึงได้รู้ว่า ตัวเองนี่ช่างมีอกุศลมากมายเหลือเกิน คือ มีโลภะประจำ แต่ก่อนไม่เคยรู้เลย รู้แต่ว่ามีความต้องการมากๆ อยากได้ของคนอื่น ทุจริต จึงจะเป็นโลภะ แต่เมื่อได้ศึกษา พระธรรมแล้วก็รู้สึกว่า อกุศลมีมากมายเหลือเกิน และพยายามที่จะขัดเกลาตามที่ ได้เล่าเรียนมา

ผู้ฟัง ดิฉันไม่ค่อยเข้าใจปรมัตถธรรมมากนัก แต่ได้อาศัยนำมาประพฤติปฏิบัติประจำวันด้วยการเห็นว่า ตาเห็นรูป เราอาจจะท่องเพราะยังไม่รู้ลักษณะ และต่อจากรูปแล้วก็เป็นบัญญัติ จากตาแล้วก็หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ใจนี้ดิฉันยัง ไม่ทราบว่า รูปของใจเป็นอย่างไร แต่ก็พยายามรู้ว่า การนึกคิดนี่เป็นบัญญัติ แม้แต่ฝันก็เป็นบัญญัติ อะไรทุกอย่างไม่จริงจัง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ความจริงก็ยังไม่ทราบการดับ ทราบแต่เพียงว่า ขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป บางสิ่งทำให้เราเกิดโทสะ เมื่อเรารู้ว่าโทสะนี้ก็ไม่จริงจังอะไร เดี๋ยวโทสะก็หายแล้ว เพราะฉะนั้น ครั้งต่อไป เราก็พยายามให้น้อยลง โดยพยายามขัดเกลาจากพระธรรมคำสั่งสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านทางท่านอาจารย์สุจินต์นี้ ขอบพระคุณ

สุ. พูดถึงเรื่องนามธรรมและรูปธรรม ขณะนี้ทุกคนก็กำลังเห็น และเท่าที่กล่าวไปแล้วว่า ขณะเห็นก็ระลึกว่าเป็นสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาจะใช้คำว่า รูปธรรมก็ได้ ซึ่งหมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ทุกคนกำลังระลึกถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้น เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็จะเห็นความต่างกันของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่การเห็น

ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ถ้าไม่อาศัยการฟังพระธรรม ทุกคนมีจิต มีสภาพรู้ แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นเพียงสภาพรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้ ซึ่งขณะนี้ไม่ได้รู้อื่นนอกจากเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

เราจะต้องฟังอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าในขณะนี้เอง สามารถที่จะรู้ สามารถ ที่จะเข้าใจได้จริงว่า สิ่งที่ปรากฏมีจริง กำลังปรากฏ สภาพรู้ก็มีจริงๆ เพราะว่า กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือในขณะนี้ที่กำลังเห็น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่อถึงทางใจ เราไม่ต้องไปกังวลว่า ทางใจรู้รูปอะไร ไม่สำคัญเลย เพราะว่าโดยปริยัติพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า หลังจากที่จิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น แต่เราไม่ได้ลืมสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ทางใจ นึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยที่ไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงปรากฏสั้นๆ และดับไป เมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับเพราะกำลังนึกถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงเสมือนว่ามีเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาตลอด โดยสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ดับ

นี่เป็นความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาจะต้องอบรมเจริญพร้อมสติ พร้อมการฟัง พร้อมการพิจารณา พร้อมการเข้าใจ แม้ในขณะนี้ยังไม่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาดับ แต่ก็สามารถรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือจุดเริ่มต้น คือ ขอให้รู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทางใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะรู้รูปอะไร ซึ่งความจริงแล้วนึกถึงรูปต่อจาก ทางตาที่เห็น นึกถึงเสียงต่อจากทางหูที่ได้ยิน นึกถึงกลิ่นต่อจากทางจมูกที่ได้กลิ่น นึกถึงรสต่อจากจิตที่ลิ้มรส นึกถึงสิ่งที่กระทบสัมผัสต่อจากจิตที่รู้สิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนที่กระทบสัมผัส

คิดทุกวัน และคิดมากๆ ด้วย และไม่เคยรู้ความจริงว่า อกุศลจิตคิดไม่ดี เท่านี้เอง ในวันหนึ่งๆ อาจจะเป็นโลภมูลจิต จิตที่ต้องการ และก็คิดไปในเรื่องของความต้องการต่างๆ อาจจะเป็นจิตที่โกรธ ก็คิดไปในเรื่องของโกรธ เรื่องราวต่างๆ บุคคลต่างๆ ที่โกรธ แสดงให้เห็นว่า ความคิดนึกไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีการนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ในวันหนึ่ง ในเดือนหนึ่ง ในปีหนึ่ง บางทีหลายๆ ปีแล้วก็ยังคิด ไม่ทราบว่าใครที่นี่คิดถึงเรื่องในอดีตเมื่อหลายๆ ปีก่อนบ้างหรือเปล่า แต่ให้ทราบว่า ลักษณะที่คิดนั้น ก็เป็นสภาพคิดเท่านั้นเอง

เปิด  241
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565