แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2019

สนทนาธรรมที่พุทธคยา

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๓


. ผมขอตอบคุณแอ๊วว่า มาจากความผูกพัน จากโลภะ ความอยาก ให้ท่านเป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ อย่างดีๆ เมื่อไม่เป็นอย่างที่เราอยาก เราก็ เมตตาไม่ได้ เกิดโทสะ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ก็เป็นความจริง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเรา เรามีความผูกพันมากกว่าคนอื่น แม้แต่ลูกเราก็ห่วงจนเกินกว่าเหตุ ช่วงวัยรุ่น เราก็วิตกว่าเขาจะเป็นคนดีต่อไปไหม เขาจะเลี้ยงตัวเองได้ไหม เขาจะมีความรู้ ไปตลอดรอดฝั่งไหม เขามีแฟน เราก็ไปห่วงว่าจะได้แฟนดีไหม และก็ไม่เป็นไปอย่าง ที่เราคิด เป็นอนัตตา เราไปฝืนอนัตตา เราก็เกิดทุกข์ นี่เป็นความผูกพันและเกิดโทสะกับลูกบ่อยๆ ก็มักถามตัวเองว่า ลูกเรายังเมตตาไม่ได้ เราจะเมตตาใครได้ พ่อแม่เราเมตตาไม่ได้ จะไปเมตตาคนไกลตัว นี่เป็นความจริง

ไอแวน … (พูดภาษาอังกฤษ)

ผู้ฟัง อาจารย์ ช่วยแปลด้วย

สุ. คุณไอแวนบอกว่า เวลาที่มีอกุศลเกิดขึ้น เรามักจะคิดว่า นี่เป็นอกุศล และเราพยายามที่จะไม่เป็นอกุศล แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ขณะที่กำลังคิดอย่างนั้น เราก็ยังรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนที่คิด เป็นสภาพธรรมที่คิดเท่านั้นเอง ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่าการที่จะไปพยายามไม่ให้เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น ไม่ชอบอกุศลอย่างนี้ ไม่อยากให้อกุศลเกิด เพราะว่าแม้จะคิดอย่างนั้นสักเท่าไร ก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ นอกจากจะรู้จริงๆ ว่า แม้จะคิดอย่างนั้น ก็เป็นแต่เพียงสภาพคิดเท่านั้น กล่าวอย่างนี้ ใช่ไหม

ไอแวน ใช่

สุ. นั่นก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะว่ากุศลมีหลายขั้น อย่างคนที่ไม่รู้เรื่อง สติปัฏฐาน แต่ก็มีหิริโอตตัปปะ รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร นั่นเป็นกุศลขั้นหนึ่ง ขั้นที่รู้ว่าอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ขณะนั้นเขาอาจจะมีหิริเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวเขา แต่แม้กระนั้นขณะนั้นสภาพที่เป็นจริงก็คือหิริ ไม่ใช่เขาที่เห็นว่า อกุศลไม่ควรจะเกิด และขณะนั้นก็ไม่สามารถจะระงับอกุศลได้ เพียงคิด แต่เวลาที่เกิดความรู้ความเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นสภาพคิด ย่อมมีประโยชน์กว่า เพราะบางคน รู้ว่า นี่ไม่ดี ไม่ควรจะเกิด ไม่ควรจะคิด ไม่ควรจะทำ แต่ก็เกิด ก็คิด ก็ทำ ทั้งๆ ที่รู้

แสดงให้เห็นว่า เพียงขั้นคิดไม่สามารถยับยั้งอกุศลได้จริงๆ แต่การอบรม เจริญปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน มีประโยชน์สูงสุด

. เรามาประเทศอินเดียแทบจะทั่วทุกแห่ง เราจะเห็นผู้คน ความคิดที่เราจะเมตตากับคนก็ต่างกัน เด็กเล็กเราอาจจะเมตตามากกว่า อาจจะไม่ใช่เมตตา เป็นความสงสาร คนที่ขาหัก หรือคนที่อุ้มลูกเล็กๆ เรามีความรู้สึกสงสารต่างกัน ทำอย่างไรที่จะคิดให้ถูกต้อง อาจารย์ก็บอกว่าตามสภาพกรรมของเขา แต่ก็อดไม่ได้ว่า คนนี้น่าสงสารกว่าคนนั้น คนนั้นน่าสงสารกว่าคนนี้อยู่ตลอดเวลา

สุ. สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำให้เราเห็นกรรมของทุกคนชัดเจน เพราะฉะนั้น เวลาที่ประสบสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่เห็นว่าเป็นเด็กตัวเล็กๆ บ้าง หรือ เป็นคนพิการต่างๆ บ้าง เราควรพิจารณาจิตของเราว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล บางคนใช้คำว่า สงสาร แต่ลืมสภาพจิตที่กำลังสงสารนั้นว่า เศร้าหมองหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดควรจะรู้ว่า กรุณาเป็นสภาพที่มีความเห็นใจ ในความทุกข์ยาก ในความเดือดร้อนของคนอื่น โดยที่จิตของเราเองไม่จำเป็นต้อง เศร้าหมอง เราเป็นผู้สามารถรักษาจิตของเราได้ เวลาที่เห็นอะไรก็ตามระลึกสภาพจิตในขณะนั้นว่า เศร้าหมองไหม ถ้าเศร้าหมองเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล

นี่เป็นเหตุที่ทำให้แม้เห็นเขาลำบากเดือดร้อน แต่ใจของเราก็ไม่ต้องเศร้าหมองเป็นอกุศล เราสามารถมีความเห็นใจ มีความเข้าใจจิตใจของเขา อย่างคนขับรถ ขับรถมานาน เหนื่อย หิว เรามีความเห็นใจ เราอาจจะให้ไข่ ให้ขนม น้ำ เพลงที่ เขาอยากจะฟัง นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นจิตของเราไม่เศร้าหมอง แม้ว่าคนอื่น จะเป็นทุกข์ เรามีทางที่จะช่วยให้เขาสบายทางหนึ่งทางใดเราก็ทำ โดยที่จิตของเรา อย่าเศร้าหมอง

ต้องละเอียดพอที่จะอย่าสงสาร และทำให้จิตของเราเศร้าหมองด้วย เพราะว่าขณะนั้นจะมีอกุศลสลับ

ถ. มีเจตนาอยากจะช่วย แต่ช่วยไม่ได้หมด ทำให้จิตเศร้าหมองไป

สุ. เวลาจิตเศร้าหมองต้องรู้สึกตัว คือ ระลึกที่สภาพของจิตที่เศร้าหมอง และรู้ว่าไม่มีประโยชน์เลย เขาต้องเป็นไปตามกรรมของเขา เมื่อถึงคราวที่กรรมของเขาจะให้ผล ใครก็ช่วยไม่ได้ทั้งนั้น แม้แต่เราที่อยากจะช่วย ก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าเขามี อดีตกรรมที่ทำให้เราสามารถช่วยเขาได้ในทางหนึ่งทางใดและเราช่วย เราก็เข้าใจ ถึงกรรมว่า กุศลกรรมของเขาเป็นเหตุที่ทำให้เราสามารถช่วยเขาได้ โดยที่ ไม่จำเป็นต้องเศร้าหมองเลย ไม่ว่าจะเห็นคนบาดเจ็บครวญคราง หรือเห็นสภาพที่ น่ากลัว น่าหวาดเสียวอย่างไรก็ตามแต่ ก็ไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่าทุกคนเป็นไปตามกรรมจริงๆ สุดปัญญาที่ใครจะไปยับยั้งได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครอยากให้ใครถูกเผา แต่เมื่อกรรมของเขาเป็นเหตุ เขาก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น อาจจะเป็นเรา อาจจะเป็นเขา อาจจะเป็นใครวันหนึ่งวันใด ก็เหมือนกัน

นี่เป็นเหตุทำให้เราหวั่นเกรงภัยในอกุศลกรรม และเห็นโทษของอกุศลกรรมว่า เพราะอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีกุศลทางหนึ่งทางใด เล็กน้อยสักเท่าไร จะเป็นทางกายนิดหนึ่ง ทางวาจาหน่อยหนึ่ง เราก็ย่อมจะเพียรทำกุศลนั้นๆ เช่น สิ่งที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงและเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทส่วนใหญ่ ผู้ที่มีบริษัทมาก เพราะผู้นั้นประกอบด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ ๑. ทาน การให้ ๒. ปิยวาจา วาจาที่น่าฟัง ๓. อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๔. สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอ

ถ้าพิจารณาจริงๆ ไม่ใช่ประโยชน์แต่กับบุคคลนั้น แต่เป็นประโยชน์แก่ ตัวเราเองจริงๆ คือ ทาน การให้ ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้รับปลาบปลื้มใจ และจิตของผู้ให้ ก็อ่อนโยน คือ อ่อนโยนพอที่จะเสียสละวัตถุของตนเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นได้ ในขณะนั้นจิตก็มีความสบาย เพราะว่าไม่มีความตระหนี่ ได้ประโยชน์ทั้งจิตใจของตนเองก็อ่อนโยนและเบิกบานที่เห็นผู้รับมีความสุขได้ใช้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา เพราะฉะนั้น โลกย่อมร่มเย็นต่อไปได้ด้วยทาน การให้

สำหรับปิยวาจา วาจาที่น่าฟัง ซึ่งเป็นที่รัก แต่ก่อนเราอาจจะเป็นคนที่ตรงมาก มีความรู้สึกอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้นโดยไม่ได้ขัดเกลา หรือโดยลืมว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไร แต่ถ้าเพียงเห็นประโยชน์นิดเดียวว่า กุศลควรพร้อมทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะพูดกับใครก็พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ และพูดคำที่น่าฟัง มีการ นึกถึงจิตใจของเขา และอนุเคราะห์เกื้อกูลเขาให้เขาสามารถเข้าใจในเหตุในผลได้ คือ ด้วยวาจาของเรา สามารถเป็นประโยชน์กับคนอื่น เราก็มีปิยวาจาด้วย

ประการที่ ๓ อัตถจริยา คือ การประพฤติตนที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ข้อนี้สำหรับชาวพุทธเรารู้สึกว่าไม่ยาก ที่เมืองไทยเราก็อบรมกันมาที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ใกล้ชิดมิตรสหายกันอยู่แล้ว ทั้งหมดนั้นเป็นกุศล แม้เพียงเล็กน้อยจิตใจ ก็สบายในขณะที่ทำทั้งผู้ให้และผู้รับ

ประการที่ ๔ สมานัตตตา คือ ความเป็นผู้มีตนเสมอกับคนอื่น ซึ่งจะไม่ทำให้ มีช่องว่างเลย และทำให้เรามีความสบายใจด้วย อย่างหลายคนที่มาอินเดีย ก็มักจะ เขา ชาวอินเดีย เขา อาหารอินเดีย แต่ถ้าเป็นผู้มีตนเสมอกับเขา คือ เขาก็มีตา เราก็มีตา เขาก็เห็น เราก็เห็น เขาก็มีหู เราก็มีหูเท่าๆ กัน เขามีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีโลภะ มีโทสะ มีกุศล ก็เหมือนๆ กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีผิวพรรณอย่างไรก็ตาม ก็ทำให้เราสามารถเข้ากับคนทั้งโลกได้ เพราะว่าสัตว์โลกทั้งหลายก็คือผู้ที่เกิดมา ร่วมโลก มีความเป็นมนุษย์ และเป็นผลของกุศลกรรมที่ทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่อกุศลที่สะสมมา หรือกุศลที่สะสมมาทำให้แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ถ้าเราเข้าใจละเอียดลงไปจนกระทั่งถึงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย เป็นสภาพธรรมของจิต ถ้าจิตของคนอินเดียเป็นกุศลก็น่าอนุโมทนามากกว่าอกุศลจิตของคนไทย เพราะว่ากุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศลของคนไทยต้องดีกว่ากุศลของคนชาติอื่น หรือไม่ใช่ว่าอกุศลของคนชาติอื่นจะต้องร้ายกว่าอกุศลของคนไทย

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าถึงสภาพธรรมจริงๆ และเมื่อเข้าถึงสภาพธรรม จริงๆ แล้ว จะไม่มีช่องว่างเลย มีความรู้สึกที่เป็นเพื่อน พร้อมที่จะมีพรหมวิหาร ทั้ง ๔ ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และอบรมเจริญปัญญาที่จะให้เข้าถึงลักษณะแท้จริงที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนยิ่งขึ้น ก็เป็นประโยชน์ทุกด้าน เพียงแต่ต้องพิจารณาจิตอย่าให้เศร้าหมอง และมีหลายทางที่จะเป็นกุศลได้ ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ

. ที่อาจารย์อธิบายเรื่องพิจารณาอดีตกรรมของคนนั้นที่เราช่วยไม่ได้ ขณะนั้นจะเป็นอุเบกขาพรหมวิหารได้ไหม ไม่ใช่เมตตา ไม่ใช่กรุณา แต่เป็นอุเบกขา

. คุณณรงค์ อุเบกขานี่องค์ธรรมว่าอย่างไร

ณ. อุเบกขาในพรหมวิหารเท่าที่จำได้ อาจารย์บอกว่าเป็นตัตรมัชฌัตตตา ไม่ใช่อุเบกขาเวทนา คือ ถ้าเราเห็นแล้วมีความรู้สึกเป็นเพื่อนกับทุกๆ คน เป็นเมตตา เป็นกุศลจิต เวลาเราเห็นใครที่เดือดร้อน สัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก มีจิตน้อมไปที่จะช่วยเหลือก็เป็นกรุณา ถ้าเราเห็นคนที่ได้ลาภสักการะ ชื่อเสียง ได้ทุกๆ อย่างที่ประณีต เราไม่ริษยาเขา แต่เราพลอยยินดีด้วยกับเขา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นมุทิตา แต่ถ้าเมตตาไม่เกิด กรุณาไม่เกิด มุทิตาไม่เกิด ก็ยังเป็นกุศลได้ โดยที่เรามีความ วางเฉยในสัตว์สังขาร รู้ว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เที่ยง ทุกคนก็มีแค่ จิต เจตสิก รูป มีแต่นามกับรูปโดยย่อ ทุกคนเสมอกันโดยธาตุ เพราะฉะนั้น จิตเรา ก็วางเฉยเป็นกลางในสัตว์สังขารนั้น ไม่มีอภิชฌา คือ ไม่มีความรักหรือชอบใน บุคคลนั้น และไม่มีโทมนัส คือ ไม่เกิดโทสะหรือโกรธ เพียงแต่รู้ว่า เป็นสภาพธรรม ที่ต้องเป็นไปตามโลก เขาจะได้รับความเดือดร้อนเป็นทุกข์ เราก็ไม่เกิดเมตตา กรุณา แต่เป็นไปตามกรรมและผลของกรรม เขาทำความดี ทำกุศลกรรมไว้ เมื่อกุศลกรรมให้ผล เขาก็ได้รับสิ่งที่ดี แต่ถ้าเขาเคยทำอกุศลกรรมไว้ เขาก็ต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดี

ธ. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก แต่ก่อนผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ เดี๋ยวนี้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ตัตรมัชฌัตตตาเกิดกับกุศลจิตทุกดวง บางครั้งกุศลจิตบางอย่าง เราไม่ค่อยเห็นเจตสิกดวงนี้ชัดเจน เช่น ให้ทาน ต้องมีตัตรมัชฌัตตตาด้วย แต่ถ้าเราเจริญ พรหมวิหาร เมื่อเราเห็นว่าเราช่วยเขาไม่ได้ ก็มีใจเป็นกลาง อย่างนี้เราเห็นเหตุผล ว่าเป็นอย่างไร

ณ. ถ้าศึกษาอภิธรรมโดยละเอียดจะทราบว่า ตัตรมัชฌัตตตาเป็น ๑ ในโสภณเจตสิก ๑๙ ดวง ซึ่งเกิดกับโสภณจิตทุกดวง โสภณจิตจะรวมทั้งกุศลจิต วิบากจิตและกิริยาจิตด้วย ถ้าเป็นกุศล เฉพาะพรหมวิหารจะมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่กุศลจิตอื่นที่ไม่ได้มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ไม่ใช่พรหมวิหาร ก็มีตัตรมัชฌัตตตาได้ เรื่องนี้กว้างนิดหนึ่ง คือ ไม่ใช่เราจำกัดว่า ตัตรมัชฌัตตตาเกิดแล้วต้องเป็นพรหมวิหารทุกครั้ง แต่ถ้าพรหมวิหารที่เป็นอุเบกขาเกิด หรือกุศลจิตอื่นเกิด ต้องมี ตัตรมัชฌัตตตาเกิดด้วย และตอนที่เป็นอุเบกขา ตัตรมัชฌัตตตาเด่นที่สุด เป็นเจตสิกที่เด่นที่สุดที่ทำกิจตอนนั้น ถ้าเป็นกลาง อย่างกุศลก็ต้องเป็นกลาง สมมติเราจะ ให้ทาน จิตก็ต้องเป็นกลาง มีการเห็นประโยชน์ เห็นคุณของกุศล เห็นโทษของอกุศล จิตก็น้อมไปที่จะเป็นกุศล แต่เรื่องนี้เข้าใจยากเหมือนกัน

นีน่า อุเบกขาบารมี และทุกบารมีด้วย จะต้องพิจารณา ดิฉันเข้าใจว่า พระโพธิสัตว์ไม่มีความหวัง เป็นอุเบกขาบารมี …

ผู้ฟัง ถ้าเราให้ทาน อาจจะมีเมตตาเกิดสลับกันด้วยเพราะเราให้กับคน มีคนเป็นอารมณ์ด้วย

. เห็นหรือยังว่า พระอภิธรรมไม่ใช่ของง่ายๆ บางเจตสิกโดย เฉพาะตัตรมัชฌัตตตา เรียกยังยากโดยชื่อ อย่างน้อยที่สุดวันนี้ อุเบกขา องค์ธรรม ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก และต้องเป็นโสภณด้วย ธรรมละเอียดมาก เมื่อกี้ ผมบอกว่าเป็นกุศลจิต ความจริงต้องเป็นโสภณจิต กุศลจิตกับโสภณจิต ความกว้างขวางก็แตกต่างกันไป

ผู้ฟัง โสภณ รวมทั้งวิบากและกิริยาด้วย

สุ. ท่านที่ไม่ได้ฟังธรรมมาตั้งแต่ต้น คือ ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ได้ยิน คำนี้ ก็อาจจะเบื่อไปเลย

ผู้ฟัง ผมอยากจะให้กำลังใจกับตัวเองและทุกๆ ท่านด้วยว่า เรื่องนี้แรกๆ อาจจะน่าเบื่อ แต่ศึกษาไปเรื่อยๆ เป็นปัจจัยปรุงแต่ง อย่างน้อยๆ ก็ไม่ให้คิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น เราคิดกันเรื่องธรรมดีกว่า

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565