แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2021

สนทนาธรรมที่พุทธคยา

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๓

ผู้ร่วมเดินทางมานมัสการสังเวชนียสถานครั้งนี้แสดงทัศนะทางธรรมความเข้าใจธรรมะ และประสบการณ์การศึกษาธรรมะของตนเอง (ต่อ)

ตัตตรมัชฌัตตตาต้องเป็นไปทางโสภณ คือ ทางฝ่ายที่ดีงาม

การอบรมเจริญปัญญา

ต้องละเอียด มิฉะนั้นก็จะเป็นตัวตนซึ่งอยากจะดู


ถ. ผมสงสัยสภาพธรรม อย่างเจตสิกมีสภาพธรรมที่เด่น ที่สังเกตเห็นได้ ไม่เหมือนกันในแต่ละขณะจิต เช่น อโทสเจตสิกมีข้อเด่น แต่ตอนให้ทานก็ยังเห็น น้อยกว่าศรัทธา ศรัทธาดูมีมาก

สุ. เป็นธรรมดาของสภาพธรรม เมื่อเจตสิกเกิดร่วมกันตั้งมากมาย หลายเจตสิก จะให้ทั้งหมดปรากฏทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพธรรมใดปรากฏก็ปรากฏเท่านั้นเอง ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีหลักอะไรเลย เป็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ธรรมดาๆ

ผู้ฟัง ดิฉันเป็นพุทธศาสนิกชนโดยครอบครัว ก็เหมือนชาวไทยทั่วๆ ไป คือ รู้แต่ว่าตัวเองนับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่เคยศึกษาให้ลึกซึ้ง จนเมื่อเกษียณอายุ จากราชการจึงเริ่มคิดว่า เราควรทำอะไรสักอย่างเพื่อตัวเราเอง ก็เริ่มเข้าวัด แต่ก็ยังกวัดแกว่ง ต่อมาได้พบกัลยาณมิตร คือ คุณหมอเผ่าประยูร ท่านชวนมาทัวร์ครั้งนี้ ก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดี และรู้สึกว่าเป็นโอกาสทองของชีวิตที่ได้มาร่วม รู้สึกขอบคุณอย่างยิ่ง และเมื่อได้มาสัมผัสชีวิตของชาวอินเดีย โดยเฉพาะเมื่อมาพักที่วัดคืนแรก ก็ถูกยุงกัดเหมือนกับทุกๆ คน เห็นคุณนีน่าเดือดร้อนมากเรื่องยุงกัดก็คุยกับคุณนีน่าว่า เรามีเลือดตั้งเยอะ บริจาคเป็นทานนิดหน่อย เราก็ไม่ถึงกับล้มตาย ยุงก็ได้อาหารไป และเราไม่ถึงกับติดโรค ก็ควรจะพอใจ ไม่ควรโกรธ เพราะความโกรธนี่เหมือนไฟ เมื่อเกิดขึ้นในใจของเราแล้ว เราจะรู้สึกเร่าร้อน เรื่องอะไรเราจะเอาไฟมาใส่ไว้ในใจเรา เราก็ทำเฉยๆ ปล่อยไปเสีย ประเดี๋ยวเดียวก็หาย ดิฉันยังห่างไกลเกินกว่าที่จะ สนทนาธรรมได้ลึกซึ้ง ดิฉันใช้ชีวิตประจำวันอย่างเรียบๆ ง่ายๆ อย่างนี้

ผู้ฟัง คุณหมอถ่อมตัวอยู่เรื่อย ยังมีประเด็นที่เคยคุยกันไว้ เรื่องเจ็บหลัง

ผู้ฟัง ตอนที่นั่งรถมา ก็รู้ว่าเป็นสภาวะที่ต้องพบ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัย ๖๐ ไปแล้ว อาการเจ็บปวดตามร่างกายต่างๆ เป็นสิ่งปกติธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นกับ ทุกคนที่นั่งนานๆ สะเทือนมากๆ หรือนั่งระยะยาว เป็นสิ่งธรรมดาที่เราต้องพบ และเราจะไปขุ่นมัวกับสิ่งที่เราต้องพบทำไม เมื่อเจ็บเราก็นอนเสีย เมื่อนอนที่นอนแข็ง เราก็เรียนรู้มาว่า สรีระผู้ใหญ่ควรนอนที่นอนแข็ง ไม่ควรนอนที่นอนนุ่ม เราก็ควรจะพอใจ นอนที่นอนนุ่มเกิดทุกข์มากกว่าอีก เราก็เป็นสุขแล้ว

ผู้ฟัง เรื่องโทสะ พี่กุลินพูดธรรมน่าฟังมาก บอกว่าฟังมาตั้งแต่สาวๆ เรื่องตักน้ำใส่โอ่ง พูดสักหน่อย

กุลิน เป็นเพื่อนกับอาจารย์ตั้งแต่เล็กๆ โทรศัพท์ไปหา อาจารย์บอกว่า อาจารย์ไปสอนในคุกมา ลินก็สนใจมาก ไม่รู้เขาเอาอะไรไปสอนคนในคุก ลินก็ถามว่า เธอเอาอะไรไปสอน เขาบอกว่า เราก็สอนว่า การทำความดีก็เหมือนเราตักน้ำที่ ใสสะอาดบริสุทธิ์ใส่โอ่ง ใส่ตุ่มเอาไว้ ซึ่งเราจะต้องใช้กิน ใช้อาบ ส่วนที่ทำอกุศล ก็เหมือนเราตักน้ำที่ไม่สะอาด โคลนตม สะสมไว้ในตุ่ม ซึ่งเราก็ต้องอาบต้อง กินน้ำที่สกปรกนั้น ลินดีใจมาก ทำไมเก่งอย่างนี้ ลินก็ชื่นชมว่า ลึกซึ้งกินใจเรา เป็นกำลังใจให้เราทำความดี เป็นปัจจัยให้เราคิดได้ว่า ถ้าทำไม่ดีก็หมายความว่า เราต้องได้รับผลไม่ดี เหมือนอย่างเราปลูกข้าว จะให้ออกผลเป็นส้มได้อย่างไร เราก็ต้องได้ข้าว ทำอย่างไรก็ต้องได้อย่างนั้น ลินเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ก็บอกว่า ลินน่ะช่างจำ เราลืมไปแล้ว แต่ลินจำได้ทุกอย่าง อะไรที่ประทับใจ ลินจะจำ

ผู้ฟัง ดิฉันมาจากราชบุรี คณะมีแค่ ๔ คน ดิฉันได้มาฟังท่านอาจารย์บรรยายที่วัดบวรนานแล้ว เป็นเวลา ๖ – ๗ ปี จากการฟังท่านอาจารย์ ในครั้งแรกๆ ก็ยัง ไม่เข้าใจเลย เพราะว่ามีศัพท์บาลีมากมายซึ่งเราไม่เคยพบมาก่อน แต่ฟังไปนานๆ ดิฉันก็เริ่มสนใจ อัดเทปตอนกลางคืนกับตอนเช้า เทปที่บ้านมีครบ ๒,๐๐๐ กว่าตอน เป็นคนโชคดี เวลากลางวันว่างๆ ก็ฟังเทปอาจารย์ ยอมรับว่า อ่านหนังสือไม่ไหว ตาก็เพิ่งไปผ่ามา ไม่ค่อยดีหลายๆ อย่าง มาเที่ยวนี้ก็แขนหัก แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ให้ เห็นว่า เป็นวิบากที่เราต้องรับ แต่ไม่ตกใจอะไรนัก เพราะทุกๆ ท่านที่มามีเมตตาช่วยเหลือป้าจิตรเยอะเชียว แทบทุกคนช่วยเหลือมาก รู้สึกซาบซึ้งมาก อนุโมทนา ทุกครั้งเลย แม้ท่านอาจารย์ก็คอยถามอยู่เสมอว่า อาการเป็นอย่างไร ดิฉันสบายใจมาก ไม่เคยกังวลถึงเรื่องแขนเลย

ผลที่ได้ศึกษาจากท่านอาจารย์ที่วัดบวร ดิฉันก็เริ่มเข้าใจปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เรื่องนิพพานนี้ดิฉันไม่คิดถึงเลย เพราะเป็นสิ่งที่สูงมากเหลือเกิน เพียงจิตซึ่งมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ก็ยังเข้าใจไม่ครบถ้วน เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ดิฉันใช้วิธีฟัง และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และค่อยๆ สังเกตไปว่า อะไรคือรูป อะไรคือจิต เป็นแต่เพียงการศึกษา ศึกษาไปก่อน ดิฉันคิดอย่างนั้น ทางด้านประพฤติปฏิบัติ ดิฉันก็นำมาใช้เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน บางครั้งก็คิดว่า ตัวเองมีโลภะมากมาย และแยกไม่ออก ยังค้านตัวเองว่ามีจิตเป็นกุศล ยังแยกไม่ออกว่ากุศลหรือโลภะ อุปนิสัยของตัวเองชอบมีจิตวิจิตร คล้ายๆ ป้าลิน ชอบทำกับข้าว บางครั้งก็นึกว่า ทำไมตัวเองถึงชอบทำอย่างนี้ อยากจะหยุดทำ แต่ก็ไม่มีอะไรทำ ว่างๆ ก็ฟังธรรม ท่านอาจารย์ ทำอะไรต่ออะไร ซึ่งป้าหงวนคงจะทราบดีว่า ทำอะไรวิจิตรมากมาย อย่างขิงก็แกะเสียสวยงาม บางครั้งก็โดนว่า ทำไมต้องทำอย่างนี้ ก็คงเป็นสิ่งที่เราสะสมมามาก เข้าใจว่าเราสะสมมา อยากจะลดลงบ้าง แต่พอใจที่จะทำบางสิ่ง บางอย่างก็ทำ และพยายามศึกษาพระธรรมของท่านอาจารย์ ซึ่งพอจะเข้าใจบ้าง เท่านั้นเอง

สุ. ไม่จำเป็นต้องลดเลย เมื่อสะสมมาอย่างไร ทุกขณะจิตที่จะเกิดขึ้น เราไม่สามารถรู้ได้ อย่างขณะนี้ทุกคนกำลังนั่งอยู่ ตาก็เห็น ก็เป็นขณะจิตหนึ่ง หูได้ยินก็เป็นอีกขณะจิตหนึ่ง กำลังคิดนึกก็เป็นอีกขณะจิตหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้ว่า ขณะต่อไป จะเป็นอะไร เราอาจจะได้ยินเสียงและนึกไปเรื่องอื่น หรือขณะนี้ที่กำลังเห็น สติอาจจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราจะเลือก หรือเราจะบังคับ หรือเราจะลด แต่เป็นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ ไม่จำเป็นต้องคิดว่า เราจะลด จะคลาย เพราะในขณะที่กำลังคิดอย่างนั้นก็คือจิตที่คิด ส่วนจะคลายหรือไม่คลาย จะลดหรือไม่ลด ดูต่อไป เพราะว่าสังขารขันธ์เขาก็ปรุงแต่ง

ผู้ฟัง ถ้าไม่ลด จะยิ่งสะสมเพิ่มพูนไปมากขึ้นๆ

สุ. เรื่องของอกุศลที่จะเกิด เขามีปัจจัยจึงเกิด แต่ปัญญาที่เราสะสมโดยเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามการสะสม จึงจะรู้ตามความ เป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะต้องมี ท่านวิสาขามิคารมารดามีเครื่องประดับที่เลิศกว่าหญิงอื่น และท่านมีความพอใจในเครื่องประดับนั้นด้วย แต่ท่านก็สะสมปัญญาที่จะ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามการสะสมของท่านว่า ท่านไม่เหมือนคนอื่น และท่านสามารถประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรม

เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากิเลสจะเป็นระดับใดก็ตาม ปัญญาสามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพนั้นๆ ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ไม่ต้องคิดอะไรมากเลย อย่างบางคนอาจจะคิดฟุ้งซ่าน กลางคืนนอนไม่หลับ อยากจะเป็นขอทานอยู่ที่เมืองกัลกัตตา หรืออะไรอย่างนี้ คิดโดยที่ว่าก่อนคืนนั้นก็ไม่ทราบว่าจะคิดอย่างนั้น ไม่ได้คิดมาก่อนเลย ซึ่งก่อนนั้นคิดว่าคุณโรดดาเวกอาจจะตายแล้วก็ได้ ทุกอย่างอาจจะเป็นอะไรก็ได้ อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ เป็นอนัตตา นั่นคือวันหนึ่ง แต่วันรุ่งขึ้น ทำไมความคิดอย่างอื่นจึงเกิด โดยไม่ได้เตรียมตัวเลย และคิดเป็นเรื่องยาวๆ เพราะว่านอนไม่หลับ

แสดงให้เห็นว่า ไม่ต้องไปเสียเวลาคิดว่าจะคิดอะไรต่อไป จะทำอะไรต่อไป เพราะว่าสภาพธรรมที่สะสมมาเป็นสังขารขันธ์ เขาจะปรุงแต่งทุกขณะจิต ขอเพียงว่าขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ สติและปัญญาสามารถระลึกและรู้ลักษณะ ที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น

เมื่อเช้านี้มีคนบอกว่า เขาดูจิตของเขา ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าใช้คำว่า ดูจิต ไม่ถูก เพราะถ้าดูจิต หมายความว่าอยากจะรู้ว่าต่อไปจิตจะเป็นอะไร ใช่ไหม จึงดู และคอยดูว่าต่อไปจะเป็นอะไร แต่ไม่ใช่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี ในขณะนั้น นี่ต่างกัน หลงลืมสติ คือ ไม่รู้ แต่เวลาที่สติเกิด มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ใช่ให้ดูว่าต่อไปจะเป็นอะไร แต่ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม นี่คือการอบรมเจริญปัญญาซึ่งต้องละเอียด มิฉะนั้นจะเป็นตัวตนที่อยากจะดู และก็ดูไปเรื่อยๆ แต่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นปรากฏ

ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องจะลดอะไร จะคิดอะไร เพราะเป็นเพียงคิด ถึงเวลาจริงๆ อาจจะเพิ่มหรือลดไปตามสังขารขันธ์

ผู้ฟัง มีข้อยุติสำหรับตัวเองว่า ทุกวันนี้ที่มีความพอใจหรือไม่พอใจ บางทีก็ ขัดเขินต่ออะไรมิอะไร เป็นเพราะดิฉันมองภายนอกตัวเองมากกว่าจะมองที่ตัวเอง ได้ฟังธรรมในรถมากๆ ก็ได้คิดว่า เราไม่ควรใส่ใจกับเรื่องราวภายนอกหรือผู้อื่น เพราะเป็นการยึดติดในตัวตนมาก มาได้คิดตรงคำที่ว่า สภาพธรรมทุกอย่าง เป็นอนัตตา เราไม่สามารถบังคับบัญชาสิ่งใดได้เลย ยิ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเราเองยิ่งบังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องจำกัดลงที่ตัวของเราเอง และต้องเข้าใจ คำว่า อนัตตา อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้นๆ

คำว่า อนัตตา เข้าใจว่า ที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับเรื่องของรูปกับนามเท่านั้น และพิจารณาหรือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ทางตา สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงสีที่ปรากฏ และจิตก็เป็นเพียงจิตเห็นเท่านั้น เมื่อใดที่ระลึกรู้ได้ จะมีความรู้สึกผ่อนคลาย และเข้าใจคำที่อาจารย์พูดว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน บางทีระลึกได้ บางทีก็ผ่านไป แต่รู้สึกยินดีและปีติที่ยังสามารถระลึก สิ่งนี้ได้บ้าง ซึ่งเป็นเพราะได้ฟังธรรมที่อาจารย์บรรยายและเข้าใจ

คำว่า อนัตตา ที่อื่นพูดอย่างไรดิฉันก็ยังไม่เห็นอนัตตา เมื่อวานนี้ได้คุยกับ คุณประสิทธิ์ว่า ตั้งแต่ศึกษามา ไม่พบคำอธิบายใดๆ ที่ทำให้เข้าใจได้ถ่องแท้ จนกระทั่งมาถึงเรื่องจิต เจตสิก รูปนาม จึงเข้าใจคำว่า อนัตตา ได้ และทุกสิ่งที่จะ ละคลายได้ก็อยู่ตรงนี้ ความเข้าใจอย่างนี้ ซึ่งอาจจะยังเข้าใจน้อยอยู่ ขอให้อาจารย์กรุณาเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นสำหรับทุกๆ คนด้วย

เปิด  246
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565