แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2030

สนทนาธรรมที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันที่อาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๔


พระ เรื่องการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตั้งแต่อาตมาได้ยินได้ฟังธรรม ก็ได้ยินได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เริ่มต้นฟังก็สนทนาเรื่องบรรพต่างๆ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะนั้นความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานยังไม่มี ก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคต้องทรงแสดงเป็นบรรพด้วย เช่น อานาปานบรรพ ก็มีการสนทนาและค้นคว้ากันอยู่นานพอสมควร จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ อาตมามีความเข้าใจ

ตั้งแต่เริ่มเจริญมายังไม่เคยนับว่า เจริญสติปัฏฐานไหน แต่รู้สึกว่าตรงตาม พระธรรม คือ ขณะใดลักษณะของรูปธรรมก็ดีกำลังปรากฏ เป้าหมายก็เพื่อคลายความเป็นตัวตน เป้าหมายไม่ได้อยู่ในบรรพไหน แต่ความสงสัยก็ไม่ได้คลายในทีเดียว ต้องใช้เวลาโดยการสนทนาธรรมนั่นเอง และเดี๋ยวนี้หมดความสงสัยเพราะได้มีการสนทนาในครั้งหลังล่าสุดว่า ลมหายใจไม่เหมือนลมที่มากระทบกาย เป็นลมที่ ละเอียดมาก ซึ่งตรงกับที่โยมอาจารย์สุจินต์บรรยายไว้หลายๆ ครั้งว่า เป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ ซึ่งก็ตรงกับที่พระไตรปิฎกแสดง แต่อาตมาก็ได้ไปอบรมเจริญเหมือนกัน ปรากฏว่าไม่ใช่อานาปานสติ เพราะว่าลมที่กระทบกายเดี๋ยวนี้ชัดกว่าลมหายใจ ตั้งมากมาย ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล

อาตมายอมรับว่า เดี๋ยวนี้ลมกระทบกาย ไม่รู้ว่าเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ถ้าขั้นการศึกษาก็คิดเอาได้ ... ขณะที่ลมกระทบจะเป็นกุศลก็ได้ในบางครั้ง หรือเป็นอกุศลก็ได้ เพราะยังไม่รู้ แล้วจะไปเจริญสติปัฏฐานที่ลมหายใจที่ละเอียดกว่านั้น ก็ไม่ใช่ฐานะ

นี่เป็นการยอมรับในขั้นตัดความสงสัย เนื่องจากสงเคราะห์พระธรรมใน หลายๆ ครั้ง และยังมีอีก เช่น อิริยาบถบรรพ ซึ่งมีพยัญชนะในพระไตรปิฎกว่า ภิกษุบรรลุด้วยอิริยาบถบรรพ แต่ก่อนไม่ละเอียดคิดว่าจะต้องมีการเดินจงกรม เวลานั่งก็นั่งสมาธิ และต้องคิดว่าตัวเองกำลังนั่ง เดินก็รู้ชัดว่ากำลังเดิน ทั้งๆ ที่ ในอรรถกถาบอกว่า สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก เวลาเดินก็รู้ว่าเดิน ก็ยังไม่เชื่อ เพราะ คิดว่าเราไม่ใช่สุนัขจิ้งจอก เราเป็นมนุษย์ เราเจริญกุศลได้เวลาเดิน ก็ตรงกับนัย ของอานาปานบรรพ เพราะบางครั้งเดินก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล จนกระทั่งมาพิจารณาข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า ท่านบรรลุด้วยอิริยาบถ ๔ ไม่มีเรื่องราวที่บอกว่า นั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง แต่มีบอกว่าเป็นไปกับอิริยาบถ ๔

อาตมาเข้าใจจากการสงเคราะห์ธรรม อย่างท่านพระอานนท์เว้นจาก อิริยาบถ ๔ แสดงว่าท่านไม่ได้ตั้งท่าอยู่ในอิริยาบถนั้นเพื่อจะบรรลุในอิริยาบถนั้น อาตมาเข้าใจว่า วันหนึ่งๆ ท่านเป็นไปในอิริยาบถ ๔ ไม่ใช่อิริยาบถ ๓ และท่านก็เตือนตนว่า อิริยาบถในวันหนึ่งๆ มีอยู่ ๔ ควรเจริญอบรมทั้ง ๔ อิริยาบถ จึงกล่าวว่า ท่านบรรลุด้วยอิริยาบถบรรพ อย่างนี้จะถูกไหม

สุ. แทนที่จะคิดว่าอิริยาบถไหน เราก็ต้องมีอยู่แล้วทั้ง ๔ อิริยาบถ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เราจะกังวลไหมว่า เราจะระลึกในอิริยาบถไหนดี เพราะว่าบางคนอาจจะไม่ชอบอิริยาบถนอน ดูเหมือนเป็นคน เกียจคร้าน ก็อยากจะมีสติระลึกในขณะที่เป็นอิริยาบถนั่ง แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่กังวลเลยว่า ในอิริยาบถไหน แล้วแต่สติจะเกิดเมื่อไร ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นเพื่อละ

ข้อสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา คือ ปัญญา เพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ละกิเลสทั้งหมด ละความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ละความหลงผิด ทุกประการ

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ละ จะเป็นอิริยาบถไหนก็ไม่สำคัญ เพราะว่าเป็นผู้ที่ มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม นอน สติเกิด ดีกว่านอนสติไม่เกิด นั่งแล้ว สติเกิด ก็ดีกว่านั่งแล้วสติไม่เกิด ยืนแล้วสติเกิด ก็ต้องดีกว่ายืนแล้วสติไม่เกิด จะเลือกทำไม อิริยาบถไหน แม้ท่านพระอานนท์เองท่านก็ไม่เลือก ท่านเป็นผู้ที่ มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงว่า ท่านบรรลุอย่างไร ก็แสดงให้เห็นว่า ตามความเป็นจริงท่านไม่ต้องเลือกว่าอิริยาบถไหน แล้วแต่ว่า มีปัจจัยที่จะทำให้ท่านบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ขณะใด ก็บรรลุถึงความเป็น พระอรหันต์ในขณะนั้นเท่านั้นเอง

พระ เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ก็เพื่อคลายสภาพธรรมที่เคยเข้าใจผิดว่า เป็นตัวตน จนกระทั่งรู้แจ้งตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นบรรพไหน เพราะอาตมาก็ไม่เคยคิดว่า ที่เจริญไปแล้วมีกี่บรรพ นับไม่ได้เหมือนกัน แต่จุดประสงค์ตามที่ศึกษา ก็เพื่อคลายจากความเห็นผิด

สุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ตัดปัญหาทั้งหมดได้ แม้แต่ลมหายใจ คนในครั้งพุทธกาลเป็นผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา และมีหลายท่านที่เป็นมหาบุรุษ คือ ยิ่งกว่าบุรุษธรรมดา เป็นพระอรหันต์ที่ประกอบด้วยคุณวิเศษ เพราะฉะนั้น ท่านก็ เจริญสมถภาวนามาก่อนที่จะเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อเป็น พระอริยบุคคล ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่ได้ฌานมามากแล้ว ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และหลายท่านก็มีลมหายใจเป็นอารมณ์ แต่เป็นผู้ที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญาสามารถรู้สภาพของจิตที่เป็นกุศลว่าต่างกับขณะที่อกุศล เกิดแทรก สติสัมปชัญญะต้องละเอียดและคมที่จะรู้ว่า ลักษณะของอกุศลต่างกับลักษณะของกุศล มิฉะนั้นแล้วจะกันนิวรณ์ทั้ง ๕ ออกไปไม่ได้เลย

การอบรมเจริญสมถภาวนา องค์ของฌานจิตแต่ละองค์เป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล เช่น กามฉันทะ ถ้ามีการตรึกหรือระลึกด้วยความยินดีพอใจซึ่งห้ามไม่ได้ ในเมื่อท่าน เป็นผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลเป็นไปในกาม ความพอใจในรูป หรือในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งปรากฏในขณะนั้น เวลาที่ฌานจิตยังไม่เกิด เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้ยิน เสียงก็ต้องปรากฏ แม้ท่านจะนั่งหลับตา หรือเมื่อมีเหตุปัจจัยที่กลิ่นปรากฏ กลิ่นก็ปรากฏได้

เมื่อยังเป็นผู้ที่มีอกุศลอยู่ และในขณะนั้นท่านเป็นผู้บำเพ็ญเพียรที่จะให้จิตสงบเป็นกุศล เมื่อมีอกุศลเกิดแทรกอย่างรวดเร็วสักเพียงใด สัมปชัญญะจะทำให้รู้ว่า ขณะใดเป็นอกุศล แม้เพียงเล็กน้อย แม้เพียงบางเบา มิฉะนั้นแล้วท่านไม่สามารถบรรลุถึงฌานจิตได้ ถ้ายังเป็นไปกับนิวรณธรรมทั้ง ๕ นั้น ด้วยเหตุนี้สติต้องมี พร้อมสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของกุศลจิตและอกุศลจิต นั่นคือขั้นความสงบของจิต

แต่ผู้ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าลมหายใจปรากฏกับท่านผู้นั้น ถ้าท่านเคยเป็นผู้ที่เจริญสมถภาวนาและเจริญอานาปานสติ ขณะนั้นจิตของท่านย่อมจะตั้งมั่นที่ลมหายใจ ถ้ายังเป็นผู้ที่พอใจ ยึดมั่นในลมหายใจอยู่ ไม่รู้ว่าลมหายใจเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ของใคร เป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดปรากฏและดับไป แต่ถ้าปัญญารู้อย่างนี้ ละคลาย และไม่ได้ มีความสนใจที่จะต้องไปตั้งมั่นที่ลมหายใจ เพราะเป็นผู้ที่รู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าเสียงปรากฏ ปัญญาของท่านต้องสามารถรู้ว่าลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่ตัวท่านที่ได้ยิน

ผู้ที่แม้เจริญสมถภาวนามาแล้ว แต่การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเพื่อละ ไม่ใช่ อย่างคนในสมัยนี้ที่เอาสติปัฏฐานมาอ่านและจะทำ โดยที่ไม่รู้อะไรเลย และมีความต้องการที่จะทำก่อนด้วย คือ จะต้องไปทำอานาปานสติ โดยไม่รู้ว่าต้องละความพอใจที่จะจดจ้องที่อานาปานะหรือลมหายใจ ไม่ไปจดจ้องที่นั่น ถ้าจดจ้องแสดงว่า ความรู้ยังไม่ทั่ว และยังมีการติดอยู่ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงธรรมอย่างหนึ่ง ที่กระทบกับกายและปรากฏ ลมหายใจก็เหมือนลมอื่นที่กระทบสัมผัสกาย เมื่อความจริงเป็นอย่างนั้น ทำไมจะต้องลมหายใจ ทำไมจะต้องไปตั้งมั่นที่นั่น มีความสำคัญอะไร

แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิดขณะนั้นจะติด แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นจะละ ลมหายใจดับไปแล้วก็ดับไป สภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย หรือทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องอบรมเจริญจนกว่าจะละการยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น เรื่องบรรพต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะกังวล ในเมื่อเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ทุกท่านก็มีปัญหาเรื่องของมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔

ถ. ถ้าผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่มีความวิตกกังวลว่า สติจะเกิดหรือไม่เกิด เพราะทราบว่าสติเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา สติจะเกิดก็ต่อเมื่อมีปัจจัยให้เกิด ความคิดเช่นนี้ของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่ ย่อหย่อนหรือไม่ ถ้าหากเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่ย่อหย่อนด้วยความคิดเช่นนี้ การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาจะเป็นอย่างไร

สุ. ผู้นั้นรู้ว่า บีบบังคับสติไม่ได้ อยากเหลือเกิน วันนี้อยากให้สติเกิดทั้งวัน บางคนก็บอกว่า ทำอย่างไรสติจะเกิดมากๆ พูดอย่างนี้ก็แสดงแล้วว่า เต็มไปด้วยความต้องการ แต่ถ้าเป็นผู้ต้องการให้สติเกิดมากจริงๆ ก็ระลึกทันที ไม่มีปัญหา ระลึกขณะนั้นทันที แทนที่จะไปคร่ำครวญว่า ทำอย่างไรสติจะเกิดมากๆ ในวันหนึ่ง ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่า ถ้าสติเกิดขณะหนึ่งก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปสติเกิดอีก ระลึกอีกเพราะฉะนั้น ก็ระลึกทันที คิดอย่างนี้เมื่อไร ก็ระลึกทันทีเมื่อนั้น

ถ. การระลึกทันที บางทีอาจจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยให้สติเกิด ก็ระลึกทันทีไม่ได้

สุ. แต่ไม่ต้องไปกังวล ถ้าเริ่มกังวล ก็ระลึก

ถ. ผู้เจริญสติปัฏฐานที่ไม่มีความกังวลเลยว่า สติจะเกิดหรือไม่เกิด สงสัยว่า ความคิดอย่างนี้จะเป็นการเจริญสติที่ย่อหย่อนไปไหม

สุ. มี ๒ อย่าง ใช่ไหม จะเร่งรัด หรือจะย่อหย่อน

ถ. และเมื่อไรจะเป็นมัชฌิมา

สุ. มัชฌิมาปฏิปทาคืออย่างไร มัชฌิมาปฏิปทา คือ ขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก่อนนั้นและหลังนั้น ไม่ใช่ ไม่ว่าจะเร่งหรือจะหย่อน ขณะนั้นก็ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่ามัชฌิมาปฏิปทา เฉพาะขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ. ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เราก็เป็น ผู้ย่อหย่อนอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ก็ตึงไป ใช่ไหม

สุ. เราเป็นผู้ที่รู้หรือเข้าใจว่า สติจะเกิดเพราะเหตุปัจจัยหรือเปล่า ถ้ารู้ว่า สติจะเกิดเพราะเหตุปัจจัย ขณะนั้นไม่ชื่อว่าย่อหย่อน แต่ถ้าเราจะไปทำอย่างอื่น อย่างนั้นชื่อว่าอะไร

ถ. ไปทำอย่างอื่น เช่น ไปฟังเพลง หรือไปทำอะไรที่ไม่เกิดกุศล ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่ หมายความว่าจะไปเร่งรัดอย่างอื่น

ถ. ไปเร่งรัด คือ ไปพยายามทำ เป็นการตึงไปอีก ใช่ไหม

สุ. ก็อยู่อย่างนี้ ไม่ตึงไป ก็หย่อนไป ตราบใดที่สติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น บางคนพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต โดยบีบบังคับ โดยไม่ใช่อัธยาศัยของตนเอง ถ้าเป็นผู้ละเอียดจะรู้ว่า ไม่มีประโยชน์เลย บางคนอาจจะพยายามไม่หัวเราะดังๆ กลัวว่าถ้าหัวเราะดังๆ แล้ว ใครๆ จะบอกว่า เป็นผู้หลงลืมสติ แต่ถ้ามีปัจจัยให้เกิดอาการหัวเราะอย่างนั้นและสติระลึกได้ในขณะนั้น จะรู้การสะสมของตนเองตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วทุกขณะจิตที่จะเกิด ก็เพราะแต่ละคนสะสมมา ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้เลย โลภะระดับใดจะเกิด โทสะระดับใดจะเกิด หรือความริษยา ความสำคัญตนจะเกิดเมื่อไร มีเหตุปัจจัยทั้งนั้น ที่จะเกิด และการที่จะดับหรือการที่จะละการยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่าไม่ใช่เรา ก็คือขณะที่สติระลึกได้และพิจารณารู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

นี่คือการอบรมเจริญไป ซึ่งแล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เป็นไปอย่างไรก็เป็นความจริงอย่างนั้น และสติระลึกจึงรู้ว่า สะสมมาที่สภาพธรรม นั้นๆ จะเกิดขึ้นอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น

ผู้ฟัง สนทนาธรรมข้อนี้ เมื่อวานก็ได้คุยกันที่โบสถ์ว่า แค่ไหนเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เวลานี้คำตอบออกมาชัดเจนแล้ว อาจารย์บอกว่า ขณะที่สติ ไม่ระลึกรู้สภาพธรรม ขณะนั้นไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา คุณกฤษณาคงอยากจะรู้ว่า ฟังก็แล้ว หนังสืออาจารย์ก็มีครบทุกเล่ม จะต้องทำอย่างไร

สุ. จะเป็นพระโสดาบันชาตินี้หรือ จะต้องทำอย่างไร นี่เรื่องจะทำ ไม่ใช่เรื่องจะรู้ ที่อินเดียมีคณะหนึ่งที่จะไปดูระบำแขก และอีกพวกหนึ่งก็จะสนทนาธรรม ในกลุ่มที่สนทนาธรรมก็จะไปดูระบำแขกด้วย และก่อนจะถึงเวลาดูระบำแขกก็ สนทนาธรรมกันก่อน หลายท่านในที่นั้น บางท่านสนทนาธรรมแล้วก็ดูเวลาว่า จวนจะถึงเวลาดูระบำแขกหรือยัง จะได้ไป บางท่านถึงเวลาดูระบำแขกแล้ว ก็ไม่ไป จะสนทนาธรรม

ก็เป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลจะตัดสินอย่างไร จะเป็นอย่างไร มีใครบังคับได้ และไม่ใช่ว่าคนที่ไปดูระบำแขกสติปัฏฐานจะไม่เกิด และไม่ใช่ว่าคนที่กำลัง สนทนาธรรมสติปัฏฐานจะเกิด เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ บางคนเข้าใจว่า สนทนาธรรมดีกว่าดูระบำแขกแน่ เพราะว่าได้เกิดปัญญาในขณะนั้น แต่พวกที่ไปดูระบำแขกทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ สะสมมาที่จะไปดูระบำแขกก็ไป แต่ก็เป็นผู้ที่ รู้ว่า แม้ขณะที่ดู สติปัฏฐานก็ย่อมเกิดได้

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่ถูกต้อง สำคัญที่สุดคือความเข้าใจที่ถูกว่า ทุกอย่างที่เกิด ทุกคนรู้ว่าอกุศลไม่ดี กุศลดีกว่า ไปเที่ยวกับสนทนาธรรม สนทนาธรรมก็ต้องดีกว่า แต่ใครสะสมมาที่จะไป ใครสะสมมาที่จะอยู่ ใครสะสมมา ที่จะทำอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น และเมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ไม่ต้อง หวั่นเกรงอะไร เพราะว่าสติย่อมเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทุกขณะ กำลังคิดว่าจะไปหรือไม่ไป สติก็ระลึกได้ ตัดสินใจแล้วว่าจะไปหรือไม่ไป สติก็ระลึกได้ กำลังดูระบำแขก สติก็ระลึกได้ หรือกำลังดื่มน้ำ กำลังรับประทานอาหาร กำลังนอน กำลังทำอะไร ทุกอย่าง ให้ทราบว่า สภาพธรรมเมื่อย่อยลงไปเป็นแต่ละขณะจิตแล้วจะเห็นได้จริงๆ ว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตที่กำลังเป็นอย่างนั้น โดยที่แต่ละคนบังคับบัญชาไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วทุกคนก็ต้องเป็นพระอรหันต์โดยเร็ววันเพราะรู้ว่า อกุศลทั้งหลายไม่ดี แต่จะทำอย่างไรได้กับอกุศลที่สะสมมาเนิ่นนาน นอกจากว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ พิจารณา และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริง และเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมด้วย

นั่นคือเป็นผู้ที่รู้หนทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาว่า ไม่ใช่การไปหรือการอยู่ จะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา จะไปดูระบำแขก หรือจะอยู่สนทนาธรรม มัชฌิมาปฏิปทา ก็ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมและรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้นเท่านั้น

นี่คือชีวิตจริง ไม่ใช่เรื่องบีบบังคับ ไม่ใช่เรื่องเร่งรัด บางคนอาจจะไปนั่งอ่านหนังสืออยู่ ๓ วัน ๔ วัน อ่านพระไตรปิฎก ฟังเทป เพราะคิดว่านั่นเป็นหนทางที่จะ ทำให้ปัญญาเกิด แต่ตามความเป็นจริงคือชั่วขณะที่สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมและรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมขึ้น นั่นคือมัชฌิมาปฏิปทา

ผู้ฟัง ขออนุญาตเล่าเรื่องส่วนตัวในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับการศึกษาธรรม เมื่อประมาณสัก ๒ – ๓ เดือนมาแล้ว ทางสถานีวิทยุยานเกราะ ๗๙๒ ปกติจะมีธรรมตั้งแต่ ๖ โมงเช้าไปจนถึง ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม มีเว้นช่วงกลางวันหน่อยเดียว ผมก็ฟังแต่ธรรม ไม่ฟังอย่างอื่น ถึงที่ทำงานก็ฟังเรื่องชีวประวัติพุทธสาวกบ้าง หรือพระอภิธรรมบ้าง ฟังไปเรื่อยๆ แต่เมื่อ ๒ – ๓ เดือนมานี้ ทางสถานีวิทยุยานเกราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง คือ ทางเจ้าของสถานีเอาเวลาคืนไปหมด ผมก็ไม่มีธรรมจะฟัง นอกจากของอาจารย์ ซึ่งห่างเหลือเกิน จาก ๖ โมงเช้า และก็ไป ๓ ทุ่ม ช่วง ๒ โมงเช้า รู้สึกหงุดหงิด เพราะต้องมีธรรมฟัง จึงหาเทปอาจารย์เพิ่มขึ้น เพราะเทปเก่าๆ ฟังซ้ำมากเกินไปก็ขาดรสชาติไปบ้างเหมือนกัน ผมหาเทปของอาจารย์มาฟังเพิ่ม ก็ได้สังขารขันธ์เพิ่มขึ้น คือ เปิดเทปที่ได้มาใหม่ เราเคยฟังแล้วนี่ ที่คนนั้นถาม คนนี้พูดอย่างนี้ เราจำได้ ก็เลยต้องจดว่าเหมือนกันจริงหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้เรื่องปัจจัย มันซ้อนกัน ผมอัดไว้แล้วนี่อันนี้ ระยะนี้ก็เลยฟังเรื่องปัจจัยมาก อันนี้เคยฟังแล้วนี่ ก็เอามาฟังอีกว่าเหมือนกันจริงไหม ก็จดไปเรื่อยเรื่องกัมมปัจจัย สหชาตปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย ก็ได้ความรู้โดยไม่รู้ตัว เป็นประโยชน์ อย่างนี้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาหรือเปล่า

สุ. เป็นความเข้าใจถูกที่ว่า เวลาที่มีประโยชน์ คือ ขณะที่เข้าใจพระธรรม จะขั้นไหน ระดับไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น แต่ละคนรู้ แต่จะทำได้หรือไม่ได้นั้น อีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าแต่ละวันไม่เหมือนกัน บางวันหรือบางกาลก็เป็นเรื่องของชีวิต ที่สนุกสนานไปในทางโลก บางวันหรือบางกาลก็มีปัจจัยทำให้ฝักใฝ่ในธรรม

ทุกคนสามารถรู้ได้ว่า ชั่วขณะในชีวิตที่ประเสริฐ คือ สามารถมีเวลาให้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่การสะสม ถ้ากล่าวถึงมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว ต้องเป็นชั่วขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าบางคนอาจจะฟังธรรมมาก เรียนเรื่องพระอภิธรรมเป็นปริจเฉทๆ แต่ไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย

ด้วยเหตุนี้ต้องเข้าใจว่า จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ผู้ฟัง สรุปแล้วที่ยานเกราะถูกเขาเอาเวลาคืนไป ผมหงุดหงิดอยู่ไม่กี่วัน ผมกลับได้ประโยชน์ดีขึ้น

สุ. ก็โลภะบ้าง โทสะบ้าง กุศลบ้าง วิบากบ้าง สลับกันไปเป็นปกติ ในแต่ละชาติ จะมีแต่เฉพาะกุศลอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าในแต่ละชาติของ แต่ละบุคคลนั้น กุศลจะมาก หรืออกุศลจะมาก

เปิด  216
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565