แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2023
นมัสการและสนทนาธรรม ณ ยอดเขาคิชฌกูฏ หน้าพระคันธกุฎี
วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๓
สุ. เมื่อเช้านี้สนทนาธรรมกับคุณนีน่า เพราะว่าในการเดินทางครั้งนี้ คุณนีน่าไม่สบาย แต่มีธรรมเป็นโอสถ ทุกครั้งที่ได้ฟังธรรมจะทำให้อาการดีขึ้น เมื่อทราบว่าคุณนีน่าไม่สบาย เมื่อเช้าก็ออกมาพบคุณนีน่าและได้สนทนาธรรมกัน เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่คุณนีน่าจะรู้สึกปีติมากกว่าอย่างอื่น เรื่องที่สนทนาไม่มีอะไรเลย เป็นเรื่องธรรมดาๆ เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังนั่งอยู่ที่นี่ และก็เห็น และมีเสียงที่กำลังปรากฏ มีความร้อน ที่กำลังปรากฏ เป็นของจริง เป็นธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และ ทรงแสดงธรรมเพื่อให้แต่ละบุคคลไม่ลืมที่จะพิจารณาธรรม เพราะว่าทุกคนอยากจะเข้าใจธรรมมาก อยากจะรู้ว่าธรรมอยู่ที่ไหน ธรรมมีลักษณะอย่างไร แต่ความจริงแล้ว ธรรมอยู่ที่ตัวทุกคน ทุกขณะจิต
ขณะนี้กำลังเห็น ถึงแม้ว่าปัญญาขั้นอื่นจะยังไม่เกิดก็ตาม ขอเพียงให้ทราบว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นของจริงแท้แน่นอน เป็นสัจจธรรม เป็นสิ่งที่กระทบกับ จักขุปสาทและปรากฏ ส่วนผู้ใดไม่มีจักขุปสาท สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะไม่ปรากฏเลย แต่เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏเป็นประจำตั้งแต่เกิดจนโต จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ก็ไม่มีใครคิดที่จะรู้จักที่จะเข้าใจอริยสัจจธรรมจากสิ่งที่ ปรากฏทางตา และกำลังเห็นในขณะนี้
ด้วยเหตุนี้แม้ว่าจะได้มีอดีตกุศลที่ได้เคยฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้ว เป็นเหตุให้ปัจจุบันชาติมีโอกาสที่กุศลซึ่งได้สั่งสมมาผันชีวิตให้ได้มา ฟังพระธรรมอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องเป็นปัญญาของแต่ละคนที่จะต้องเริ่มรู้ว่า ทางตาที่กำลังเห็นเป็นธรรม ไม่ต้องไปหาที่อื่นอีก และขณะนี้ก็เป็นเครื่องวัด เครื่องสอบการได้ฟังพระธรรมมาแล้วว่า มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้มากน้อยแค่ไหน สำหรับผู้เริ่มฟังใหม่ๆ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริงๆ แต่ขอให้เพิ่มความรู้อีกนิดหนึ่งว่า สิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรมดาที่สุด เป็นธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟังต่อไป ในเรื่องของธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
การสนทนาธรรมไม่ใช่เรื่องอื่น แต่เป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ คงไม่ลืม ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงที่กำลังปรากฏเป็นธรรม แต่อวิชชาไม่สามารถ รู้ความจริงของธรรมเหล่านี้ได้ ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ไม่ต้อง คิดหวังอย่างอื่น สิ่งต่างๆ เหล่าอื่นแม้ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติมหาศาล รูปสมบัติ ชาติตระกูล วิชาความรู้ เงินทอง เราก็ได้ผ่านมาแล้วในอดีตทุกภพทุกชาติ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ยั่งยืน ไม่เหมือนการอบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจพระธรรมและรู้ว่า เมื่อไรจึงจะมีปัญญาประจักษ์แจ้งสัจจธรรมของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้
แต่ไม่ต้องมีความหวังมากมาย ทุกขณะจิตที่ฟัง สะสมความรู้ความเข้าใจ ไปเรื่อยๆ ทุกขณะจิตที่สติเกิดระลึกได้ แม้เพียงเล็กน้อยที่แข็งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะสะสมให้ปัญญารู้ชัดจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา
ขณะนี้ทุกคนมีสภาพแข็งกำลังปรากฏ หรืออาจเป็นลักษณะที่ร้อนก็ได้ เมื่อกี้หลงลืมสติ คือ ไม่ได้ระลึกลักษณะที่แข็ง หรือสภาพที่กำลังร้อน แต่ขณะที่สติเกิด แข็งไม่เปลี่ยนแปลง แข็งยังคงเป็นแข็ง ร้อนยังคงเป็นร้อน แต่สติระลึกตรงนั้น เพื่อที่จะรู้ความจริงว่า ตัวตนตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าไม่มีเลย ไม่ต้องไปจำไว้ สิ่งใดที่ ไม่ปรากฏ สิ่งนั้นไม่มี เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้วอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น แข็งที่ปรากฏในขณะนี้เท่านั้นจริงที่สุด เป็นเพียงสภาพที่แข็ง ปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้แข็งเท่านั้นเอง โลกแข็งและสภาพที่รู้แข็งชั่วขณะจิตหนึ่ง ขณะที่ทางตาเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่แข็ง เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏกับจิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาชั่วขณะจิตหนึ่ง ชั่วขณะจิตเดียว เท่านั้นทางตาที่เห็น ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นทางหูที่ได้ยิน ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น ทางกายที่กระทบสัมผัส ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นทางใจที่กำลังคิดนึกเป็นสุขหรือ เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สังสารวัฏฏ์ คือ จิตซึ่งเกิดขึ้นทีละขณะ และ วนเวียนท่องเที่ยวไป ทางตาเห็นขณะหนึ่ง ทางหูได้ยินขณะหนึ่ง ทางจมูกได้กลิ่นขณะหนึ่ง ทางลิ้นลิ้มรสขณะหนึ่ง ทางกายกระทบสัมผัสขณะหนึ่ง ทางใจคิดนึกขณะหนึ่ง แต่เมื่อกิเลสไม่ลด และไม่ประจักษ์ พระผู้มีพระภาคจึงทรงพระมหากรุณา แสดงพระธรรมเทศนา ๔๕ พรรษาโดยละเอียดเรื่องของสภาพธรรมล้วนๆ เพื่อให้ ผู้ที่ได้ยินได้ฟังพิจารณาขั้นการฟัง ให้เห็นความเป็นอนัตตาที่สภาพธรรมแต่ละอย่าง จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง และชั่วขณะเดียวที่เกิด ทำกิจเฉพาะขณะนั้น และดับไปอย่างรวดเร็ว
นี่คือสิ่งที่แต่ละท่านจะต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า อริยสัจจธรรมอยู่ไม่ไกล คือ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ขอให้ระลึกเสมอว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และ เป็นปกติ เพราะฉะนั้น สติจะเกิดระลึกเมื่อไรก็ได้ ทันที และก็ดับ และสติก็เกิดอีก บ่อยๆ เนืองๆ เท่านั้นเอง
ถ. ที่พุทธคยา ตอนที่ขอขมาเป็นกุศลจิต ขณะนั้นต้องระลึกถึงสิ่งที่เรากระทำไว้ หรือว่าขอขมาโดยไม่ได้ระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำไว้
สุ. คุณโจนาธานคิดว่า ไม่เคยมีความผิดอะไรๆ ในพระรัตนตรัยเลย หรือว่าเคยมีโดยไม่รู้ตัว หรือบางครั้งก็รู้ตัว
ถ. เคยมี
สุ. แต่ยังไม่เคยขอขมา เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่ผิดมาแล้ว ที่กระทำผิดต่อพระรัตนตรัย เมื่อเรามีโอกาสได้มาใกล้ชิดสถานที่ที่พระผู้มีพระภาคเคยเสด็จ เคยประทับและตรัสรู้ เป็นสังเวชนียสถานที่สำคัญ และเป็นที่สุดท้าย เราก็ควร มีโอกาสขอขมาพระรัตนตรัย ทำให้เรารู้สึกตัวว่า เราเป็นผู้นอบน้อมต่อพระรัตนตรัยจริงๆ ไม่ว่าจะมีสิ่งใดสักนิดสักหน่อยที่เราทำไปโดยไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ก็ขอให้อภัยให้ แสดงว่าเราเป็นผู้มีใจอ่อนน้อมและนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย
คนโดยมากลืมว่า จิตของเราเป็นอะไร แม้แต่เวลาที่เราจะขอโทษหรือไม่ขอโทษ ถ้าเราไม่สอนจิตของเราขณะนี้ เราจะรอไว้เมื่อไร ไม่มีโอกาสเลย เพราะถ้าตอนนี้ เราไม่ทำ อกุศลก็เพิ่มขึ้นๆ ถ้าเราทำได้เสียเดี๋ยวนี้ เราจะรู้ว่า ยากจริงเลยตอนนี้ แต่ยังทำได้
ถ. อาจารย์คิดว่า คำพูดอย่างนี้เป็นคำพูดที่ไม่ดีหรือเปล่า ถึงแม้เป็น ทีเล่นทีจริง พูดตลก ที่จริงเขาคงไม่มีจิตที่จะไปตีแขก แต่จะส่อไหมว่าจิตเรา เป็นอย่างไร หรือไม่เกี่ยว
สุ. ไม่เกี่ยวได้อย่างไร เป็นอกุศลจิต เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ระวังยาก เพราะว่าเราคุ้นเคยกับอกุศล เราอาจจะบอกว่านี่สนุก แต่จริงๆ แล้วในความสนุกนั้นเป็นอกุศล และอกุศลก็มีหลายชั้น อกุศลโดยที่ว่าทำไมไม่สนุกกับตัวเราที่ทำผิด แต่ไปสนุกกับความอะไรๆ ของคนอื่น แสดงว่ากว่าจะขัดจะลอกอกุศลออกจาก ใจของเรา คงต้องมากมายยิ่งกว่าขัดด้วยสบู่ ด้วยดินสอพอง ด้วยอะไรต่ออะไร และถ้าย้อนไปถึง ๔ อสงไขยแสนกัป เราก็เห็นตัวเราสนุกเหมือนอย่างนี้มาตั้งกี่ชาติแล้ว ก็นั่งไป คุยไป สนุกไป ชาติแล้วชาติเล่า และเราก็ไม่รู้ว่านี่เป็นอกุศล จนกระทั่งเรา ได้มีโอกาสฟังพระธรรม จึงสำนึกได้ว่า อกุศลของเรารอบด้านเลยถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีการระวัง ไม่มีการรู้จิตใจ ไม่มีการรู้ตัว เพราะฉะนั้น สติ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง มีประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้เราสามารถระลึกได้ว่า ขณะนั้นกายเป็นอย่างไร วาจาเป็นอย่างไร เพราะจิตเป็นอะไร ต่อไปอีกแสนโกฏิกัปป์ ถ้าเราไม่เลิก ไม่ละ เราก็สนุกของเราอย่างนี้อีก ใช่ไหม ก็ไม่พ้นไปได้ เพราะว่า เคยทำมาแล้ว
อย่างพระวิหารเชตวันที่เราไปมา เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นั่น ก็มี ภิกษุที่มีความประพฤติต่างๆ บางคนกลัวตายแม้แต่ใบไม้ตก อย่างเรื่องลูกหมู ก็ที่พระวิหารเชตวัน เมื่อภิกษุไปเฝ้ากราบทูล พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เคยทำมาแล้ว เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเคยทำมาแล้วเรื่องสนุกๆ อย่างนี้ จึงต้องระวังว่า จะไม่สนุกกับเรื่องอย่างนี้อีกต่อไป เพราะว่าเราต้องไป สนุกอย่างนี้อีกแสนโกฏิกัปป์ ซึ่งเราก็ผ่านมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ ไม่รู้ตัวเลย ทีละขณะจิต ทีละขณะจิต จุติแล้วก็ปฏิสนธิ เห็นชาติก่อนกับเห็นชาตินี้ไม่ไกลกันเลย แค่อยู่ ในครรภ์ ๗ – ๘ เดือน ก่อนจะจุติก็เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว มาอยู่ในครรภ์ ลืมตาขึ้นมา ก็เห็นอีก ได้ยินอีก ชาติหน้าก็ต่อไปอีก แสดงว่าแสนโกฏิกัปป์สืบเนื่องไม่ได้พักผ่อนเลย ไม่มีหยุดการเห็นเลย และเห็นโดยไม่รู้ความจริงมาอย่างนี้
ถ้าย้อนนึกถึงท่านพระสารีบุตร ท่านเกิดอยู่ในบริเวณใกล้ๆ ตามที่พระคุณเจ้าชี้ให้ดู ท่านก็บิณฑบาตอยู่แถวนี้ ได้พบพวกพราหมณ์ต่างๆ แถวนี้ ได้เฝ้า พระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ทุกอย่างเหมือนเดิม สถานที่นี้ ไม่เปลี่ยน เขาคิชฌกูฏไม่เปลี่ยน พระจันทร์ไม่เปลี่ยน พระอาทิตย์ไม่เปลี่ยน ภูเขาเวภารบรรพต ภูเขาเวปุลลบรรพต ๕ภูเขาไม่เปลี่ยน แต่ใจของคน ไม่เหมือนกันเลย
ที่เดินผ่านมา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เห็นทุกอย่างเหมือนเรา ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ปรินิพพาน ที่แสดงพระธัมมจักร ไม่มีแม้ในสวรรค์ และ ที่พระองค์เสด็จบิณฑบาตบ้าง ประทับบ้าง ทรงจาริกไปโปรดบุคคลนั้นบุคคลนี้ ก็อยู่บริเวณแถวนี้ทั้งนั้น เมื่อพระองค์เห็นไม่มีกิเลส พระอัครสาวกไม่มีกิเลส พระอรหันต์ไม่มีกิเลส แต่คนทั้งหลาย ตั้งแต่สมัย ๒,๕๐๐ กว่าปี จนถึงมานั่งที่นี่เดี๋ยวนี้ จิตใจต่างกัน เพราะว่ายังมีกิเลส แสดงให้เห็นว่า อารมณ์เป็นอย่างเดียวกัน แต่จิตใจที่จะประกอบด้วยปัญญานั้นต่างกันมาก แต่อบรมได้ เจริญได้ อย่าให้ ผ่านไปอีกแสนกัปๆ จริงๆ แล้ว ถ้าเราอยู่ไปวันๆ ด้วยการอบรมเจริญกุศลก็สบาย เพราะว่าอย่างไรๆ เราก็ต้องอยู่ไปวันๆ ทุกขณะจิตล่วงไปๆ แต่ละขณะ เป็นวันหนึ่ง เป็นเดือนหนึ่ง เป็นปีหนึ่ง ก็อยู่กันไปอย่างนี้ และก็เกิดอีก และก็อยู่กันไปอย่างนี้อีก ถ้ายังอยากจะอยู่โดยไม่รู้ความจริงของทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ก็ต้องอยู่ไปอีกแสนนาน ต่อเมื่อค่อยๆ รู้ความจริงของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น รู้ขึ้น เพราะว่าข้างหน้าก็ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เรื่องราวคนละเรื่อง ถ้าเราเกิดชาติหน้าเป็นคนอินเดีย เดินอยู่แถวนี้ที่อุ้มลูกจูงหลานเล็กๆ คนละเรื่องกับเดี๋ยวนี้แล้ว ใช่ไหม ชาตินี้เป็นคนไทย สมบูรณ์พูนสุข แต่พอถึงชาติหน้า เป็นคนอินเดียอยู่แถวนี้ก็ได้ น่าสงสารจริงๆ
ก่อนที่จะศึกษาธรรม เวลาเห็นคนตระหนี่โดยไม่จำเป็น ในหัวใจนี่เจ็บว่า ทำไมเขาไม่มีจิตเมตตาอย่างนี้ แต่เมื่อเรียนธรรมแล้วไม่มีเลย คือ ถึงจะขุ่นใจนิดว่า ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น แต่ก็หายเร็ว และรู้ว่าเป็นธรรมดา แม้จะเห็นคนเจ็บคนป่วย ก็รู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกโทมนัส เสียใจ
สงสาร เห็นใจ ช่วยได้ช่วยเลย ไม่จำเป็นต้องไปพิรี้พิไร พร่ำรำพัน ทำไมถึงได้เกิดมาเป็นอย่างนี้ อุ้มลูกจูงหลานกระโตงกระเตง
ผู้ฟัง ที่คุณณรงค์ถามที่พุทธคยา วันนั้นอาจารย์ไม่มีเวลาตอบ เกี่ยวกับ โลภะรู้อารมณ์ เปรียบเทียบกับสติรู้อารมณ์ จำได้ไหม
ณ. วันนั้นสนทนากับคุณนีน่าเกี่ยวกับสติ กับการหลงลืมสติ คุณนีน่า บอกว่า ถ้าจะเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ต้องรู้ตัวเองและไม่สำคัญตนผิด ต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นโลภะ ขณะใดเป็นสติ ผมนำไปคิดและพิจารณาหลายวัน ก็เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ขณะที่เป็นโลภะก็รู้ปรมัตถธรรมได้ สติก็รู้ปรมัตถ์ได้ แต่การรู้ปรมัตถ์ของโลภะ ต่างกับการรู้ปรมัตถ์ของสติ เพราะว่าขณะที่โลภะรู้ปรมัตถ์ดับไปแล้ว บัญญัติเกิดต่อทันที การเกิดดับสืบต่อของจิตรวดเร็วทำให้เห็นแล้วได้ยินแล้วเป็นตัวตนทันที ขณะนั้นหลงลืมสติถึงแม้จะรู้ปรมัตถ์ แต่ถ้าเป็นสติ สติจะเกิดคั่นระหว่างปัญจทวารดับไปแล้วกับมโนทวาร ทำให้ค่อยๆ เริ่มรู้ชัดว่า ขณะที่ปรมัตถ์ปรากฏนั้น ยังไม่ใช่ขณะที่ รู้บัญญัติและเป็นตัวตน ท่านอาจารย์มีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
สุ. ทางตาในขณะนี้ต้องเป็นวิถีจิตจึงรู้ ถ้าเป็นภวังคจิตจะไม่เห็น เพราะว่าภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น รูปารมณ์ดับทันทีและมีภวังค์คั่น แต่แม้เป็นอย่างนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีการดับ หรือ มีช่วงขณะที่ไม่เห็น แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับอย่างเร็วมาก ถ้าเป็นทางตา มโนทวารวิถีจิตก็รู้รูปารมณ์เหมือนกับที่จักขุทวารวิถีจิตรู้ ถ้าเป็นทางหู มโนทวารวิถีจิตก็รู้สัททารมณ์เดียวกับที่โสตทวารวิถีจิตรู้ ซึ่งในระหว่างนี้แล้วว่าแต่สติปัฏฐานเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสติปัฏฐานเกิดก็คือสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่สนใจว่าเป็นปัญจทวารวิถีหรือมโนทวารวิถี หรือมีภวังค์คั่นแล้ว
ผู้ฟัง ตรงนี้ที่แปลกมากๆ
สุ. ที่แปลกนั่นหมายความว่า สภาพธรรมเหมือนเดิม แต่ปัญญารู้ เพราะฉะนั้น เราจะเข้าใจลักษณะของปัญญา อย่างขั้นการฟัง ขณะนี้เรารู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นจิตเจตสิกซึ่งเกิดดับ มีโสตทวารวิถีจิต มีเสียง มีมโนทวารวิถีจิต และต้องมีกุศลจิตด้วย และต้องประกอบด้วยปัญญาที่กำลังพิจารณารู้และเข้าใจ นี่เป็นขั้นการฟังเรื่อง แต่โสตวิญญาณมีจริงๆ จิตได้ยินมีจริงๆ เมื่อเข้าใจเรื่องของ โสตวิญญาณ และเข้าใจเรื่องสติที่ระลึกลักษณะของสภาพที่กำลังได้ยินเสียง ในที่สุด ก็สามารถรู้ลักษณะที่ได้ยินเสียงโดยประจักษ์ว่า นี่เป็นลักษณะสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ชนิดหนึ่ง แต่ก็เป็นปัญญาที่น้อยมาก อ่อนมาก คิดดู สำหรับผู้ที่สามารถรู้มากกว่านั้นมากเหลือเกิน อย่างปัญญาของพระโสดาบันรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ปัญญาของ พระอรหันต์ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ห่างกันมากระหว่างพระโสดาบันถึงพระอรหันต์ บางคนตั้งหลายชาติ บางคนหลายเดือน บางคนก็หลายปี แต่บางคนทีเดียว จากโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ถึงอรหันต์เลย
แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมอย่างนี้แหละ แต่ขึ้นอยู่กับตัวปัญญาจริงๆ เท่านั้น ที่จะรู้ละเอียดจนกระทั่งสามารถละได้ตามลำดับขั้น อย่างขั้นต้น โลภะ ถ้าไม่มีปัจจัยไม่เกิด เป็นเครื่องทดสอบความหวั่นไหวว่า ปัญญารู้จริงหรือเปล่าว่า ไม่ใช่ตัวตน ถ้าปัญญารู้ไม่จริง ตายแล้ว ทำไมเรามีโลภะอย่างนี้ เดือดร้อนวุ่นวายใหญ่โต ใช่ไหม แต่ถ้าเรารู้จริงๆ ชั่วขณะเดียว และเมื่อไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ก็ไม่มีตัวตนที่จะไปเดือดร้อนกับโลภะเมื่อกี้ สภาพธรรมนั้นดับไปแล้ว
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทุกอย่างเป็นเครื่องทดสอบเยื่อใย ความเป็นตัวตน กับความเจริญของปัญญาว่า ปัญญาของเราเจริญจริงๆ หรือเปล่า หรือความ เป็นตัวตนหนาแน่นจนกระทั่งว่า ต้องการให้เป็นอย่างนี้ๆ ไม่ต้องการให้โลภะเกิด ไม่ต้องการให้โทสะเกิด หรืออยากจะมีสติมากๆ อยากจะมีปัญญามากๆ เครื่องทดสอบนี่มีตลอดเวลา เพราะฉะนั้น หนทางสายกลางจริงๆ จึงสมบูรณ์ คือ ต้องเป็นปัญญาที่แท้จริงที่รู้ว่าเป็นการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งมีจริงๆ และค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นอกจากนั้นเป็นคนละขั้นทั้งนั้นเลย เป็นขั้นคิดนึกบ้าง เป็นขั้นอ่านบ้าง เป็นขั้นพิจารณาบ้าง เรื่องหนทางต้องเข้าใจถูก และเรื่องอบรมเจริญต้องค่อยๆ เป็นไปด้วย
ผู้ฟัง ยากตอนสะสม