แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2026

สนทนาธรรมที่โรงแรมฮินดูสถาน กัลกัตตา

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๓


ถ. ปัญญากว่าจะสมบูรณ์ก็อีกแสนโกฏิกัปป์ อีกนาน

สุ. คำว่า แสนโกฏิกัปป์ หมายความว่า เราไม่รู้เลยว่า เราเท่าไรแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวนี้และเราจะไปอีกแสนโกฏิกัปป์ เพียงแต่ไม่ให้เราคิดว่าง่าย และไม่ให้เราหลอกตัวเอง

ถ. สมัยที่ผมฟังเทป หรือฟังอาจารย์ที่วัด เรื่องท่านพระสารีบุตรปรินิพพาน ที่ว่า ต่อไปการสมาคมกันด้วยอำนาจปฏิสนธิจะไม่มีอีกแล้ว ท่านปรินิพพานจริงๆ แต่ก่อนนั้นท่านก็คลุกคลีกับพระพุทธเจ้า อาจจะเกิดเป็นพี่ เป็นน้อง หรือเป็นกษัตริย์ คนหนึ่งเป็นอุปราช คนหนึ่งเป็นพราหมณ์ ฟังแล้วใจหายมากๆ เลย ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ หมุนไปเรื่อยๆ ต้องมีการคลุกคลีกัน ยังไม่ปรินิพพานก็ต้องมีจุติปฏิสนธิต่อไป ถ้าเป็นผู้อบรมเจริญปัญญาเขาก็มีจุดจบคือปรินิพพาน ถ้าคนที่ไม่ได้เจริญธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่มีวันสิ้นสุด คุณสมนึกเขาบอกว่า เขาใจหายมากเมื่อ ได้ฟังเทปนี้ที่พระเชตวัน เขารู้สึกเสียดายว่า เขาจะไม่ได้เกิดอีก

สมนึก อย่างที่ฟังเรื่องมโหสถ พระเจ้าจุลนีเป็นท่านพระสารีบุตร มโหสถ ก็เป็นพระพุทธเจ้า มีการคลุกคลี มีการสู้รบกัน และก็เข้าใจกัน ส่วนตัวในชีวิตทุกวัน ก็มีเพื่อน มีคนที่เรารัก มีคนที่เราสนิทสนมคุ้นเคย เพื่อนผมคนหนึ่งหน้าตาเหมือน พ่อเขา และพ่อเขาตายไป ผมก็คิดว่า เพื่อนคนนี้จะตายเร็วเหมือนพ่อเขาหรือเปล่า ถ้าตายเร็วเหมือนพ่อเขา เรามีความรู้สึกอย่างไร รู้สึกว่าใจหวิวไปเลยว่า เขาต้องจาก เราไปแล้ว และวันนั้นที่ฟังก็มาคิดว่า เรามีเพื่อนคนนั้นคนนี้ มีพี่มีน้อง มีตั้งหลายคน ท่านพระสารีบุตรบอกว่าเป็นการเกิดครั้งสุดท้าย คือ เป้าหมายบำเพ็ญบารมีมา เพื่อถวายบังคมพระบาทพระพุทธเจ้า หลังจากนี้จะไม่ได้พบกันอีก ฟังแล้ว ใจหายวาบเลย ต่อไปเราจะไม่ได้เจอคนพวกนี้ทั้งหมด ก็กลับมาคิดว่า นิพพาน เราก็ไม่เอาซิ จริงๆ แล้วเรายังไม่ได้ต้องการนิพพาน เรากลัวนิพพานด้วยซ้ำไป

สุ. แต่เรารู้ว่า ที่เรายังมีเยื่อใยในคนทั้งหลาย ในญาติสนิท ในมิตรสหาย ในเพื่อนฝูง เป็นความผูกพัน ถ้าใจของเราเริ่มละคลาย เริ่มวาง และมีความเป็นมิตรกับทุกคนเสมอกัน จะทำให้เรารู้สึกว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษที่เราจะห่วงใยหรือกังวล เพราะแต่ละคนก็มีกรรมเป็นของของเขา แม้แต่พระพุทธเจ้า พ่อตาของท่านก็ใกล้ชิดสนิทสนม แต่ท่านก็ไม่สามารถช่วยให้พ้นจากกรรมที่ทำให้ตกนรกได้ เพราะว่าใจของท่านเสมอกันหมดไม่ว่าจะเป็นใคร เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรู้ว่า ตราบใดที่ใจของเราไม่สม่ำเสมอ ก็จะนำมาซึ่งความใจหายบ้าง อะไรบ้าง แต่ถ้า ทุกคนเสมอกันหมดก็เป็นของธรรมดา

และการดับสนิท คือ ไม่ต้องเห็นอีก ไม่ต้องได้ยินอีก ซึ่งก็แสนยากที่จะ เป็นไปได้ แต่ก็สมควรที่จะเป็น เพราะว่าเป็นการดับทุกข์จริงๆ ไม่อย่างนั้นแล้ว ทุกข์ไม่มีวันจะหมด ตราบใดที่เรายังเห็น ยังได้ยิน และเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็เป็นโลภะบ้าง เดี๋ยวโทสะบ้าง เดี๋ยวมานะบ้าง เดี๋ยวนอนไม่หลับทั้งคืนบ้าง ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราก็เห็นโทษเห็นภัย และเราจะเห็นว่า วิถีชีวิตจริงๆ ของเราควรจะ เป็นอย่างไร และเราก็มีลาภอันประเสริฐได้เกิดในเมืองที่ยังมีธรรม เป็นโอกาสที่ดียิ่งที่กุศลในอดีตของเราทำให้เราได้มีโอกาสเพิ่มเติมกุศล และต้องเพิ่มมากๆ ด้วย เพราะเราไม่รู้ว่า จะจากโลกนี้ไปขณะไหน

สมนึก คุณพรชัยฟังคุณณรงค์ เวลาคุณณรงค์อธิบายจะเป็นเรื่องยาวตลอดว่า เห็นเป็นอย่างนี้ๆ สมควรไหมที่ต้องคิดเรื่องทั้งหมดตามคุณณรงค์ หรือว่า ไม่จำเป็น ถ้าเราจะเจริญสติ เราพิจารณาธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน และไม่ต้องไปศึกษาละเอียดเหมือนกับคุณณรงค์ได้ไหม

พรชัย ที่คุณสมนึกถาม ผมคิดว่ามีส่วนคล้ายที่พี่จารุพรรณที่ว่า ศึกษา ไม่ละเอียดก็คงจะได้ แต่ความเห็นของผมไม่ใช่อย่างนั้น ผมคิดว่า ยิ่งละเอียดยิ่งดี ส่วนผมจะเก็บได้เท่าไร ก็แล้วแต่ความสามารถของผม ผมคิดว่า การได้ฟังมากๆ จะช่วยละคลายวิจิกิจฉา ถ้าเราเข้าใจ เพราะฉะนั้น คุณณรงค์ยิ่งอธิบายละเอียดเท่าไร ถ้าคุณณรงค์ไม่เหนื่อย ผมรับได้ทุกขบวน ส่วนที่ผมยังไม่เข้าใจก็ฝากคุณณรงค์ไว้ก่อน ถ้าเข้าใจก็เก็บเอามา

สมนึก ถ้าเราศึกษาแบบที่ฟังท่านอาจารย์ไปเรื่อยๆ เราไม่มีเวลาที่จะมาศึกษาละเอียดอย่างนี้ จะมีปัญหาไหมในการเจริญสติ ในการพิจารณา

ณ. ความจริงผมไม่ได้เอามาจากที่ไหนเลย จากท่านอาจารย์ทั้งหมด แต่เทปบางม้วนคุณสมนึกอาจจะไม่ได้ฟัง ท่านอาจารย์บรรยายไว้ละเอียดกว่าที่ ผมพูดไม่รู้กี่เท่า

สุ. ข้อสำคัญที่สุดต้องไม่ลืมประโยชน์ของการฟังพระธรรมว่า เพื่อเข้าใจ อย่างเราที่นั่งกันอยู่ที่นี้ เราต้องดูว่ามีอะไรที่จะช่วยทำให้แต่ละบุคคลเข้าใจขึ้น เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้ตามตำรับตำรา หรือจากประสบการณ์ หรืออะไรก็ตาม อย่างมาก แต่คนฟังเขาฟังอย่างไร ตอนไหนที่จะทำให้เขาเข้าใจ

เพราะฉะนั้น เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็คิดว่า เราอยากจะอธิบายตอนนี้ เขาคงจะเห็นความละเอียดขึ้นทำให้เข้าใจ แต่จะมีเพียง ๒ – ๓ คนที่สามารถฟังและพิจารณาได้ และอีก ๒๐ คนจะทำอย่างไร ลำบากแล้ว เราก็ต้องพยายามพูดถึงธรรมซึ่งโยงกันไปได้ หมายความว่าเรื่องธรรมดาๆ แทนที่เราจะใช้คำอย่างนี้ เราก็พยายามให้เขาเข้าใจความลึกซึ้งหรือความเกี่ยวข้อง อย่างฉันทะกับโทสะเกิดพร้อมกัน เกิดร่วมกัน เกิดด้วยกัน เพราะอะไร และมีตัวอย่างอธิบาย เมื่อเขาเรียนเรื่องปัจจัยเขาก็จะรู้เองว่า การที่เป็นอย่างนี้ ภาษาบาลีใช้คำว่า สัมปยุตตปัจจัย แม้คำๆ เดียวที่จะใช้ เราก็ต้องให้เขาเข้าใจถึงความละเอียดด้วย อย่างสัมปยุตตปัจจัย นามธรรมต่อนามธรรมเท่านั้น

ถ้าเราเข้าใจคำว่า สัมปยุตตปัจจัย ไม่ได้หมายความเหมือนกับสหชาตปัจจัย เพราะว่าสห แปลว่า ด้วยกัน พร้อมกัน ชาต แปลว่า เกิด เราพอรู้งูๆ ปลาๆ ในภาษาบาลี ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ละเอียด แต่ก็ช่วยทำให้เราไม่ไขว้เขว อย่าง สหชาตปัจจัย คือ สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน นามธรรมเกิดพร้อมกับรูปธรรม หรือเปล่า ที่เกิดพร้อมก็มี เราต้องเป็นผู้มั่นคงจริงๆ ในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง ถ้าเราสงสัย เราก็ไปเปิดตำราดูว่า สหชาตปัจจัย อะไรบ้าง ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดพร้อมกัน หรือเปล่า เพราะเขาหมายความถึงเพียงการเกิด เขาไม่ได้แยกเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมอะไรเลย ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยโดยเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น จิต เจตสิกต้องเป็นสหชาตปัจจัย เกิดพร้อมกัน เท่าที่เรารู้ มหาภูตรูป ๔ ก็ต้องเป็นสหชาตปัจจัย เพราะว่าเกิดพร้อมกัน อะไรอย่างนี้เป็นต้น

เราก็ต้องค่อยๆ เข้าใจความหมาย และเข้าใจสภาพธรรม พร้อมกันนั้น เราต้องตรึก หรือพิจารณา หรือคิดแล้วทบทวน ถ้าเราอยากจะมีความเข้าใจละเอียดเพิ่มขึ้น อย่างสัมปยุตตปัจจัยเรารู้เลยว่า นามธรรมกับนามธรรมเข้ากันสนิท ไม่เหมือนกับสหชาตปัจจัย ด้วยเหตุนี้จึงแยก แม้เกิดพร้อมกันแต่ไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย

เพราะฉะนั้น เรียนอะไรก็ให้เข้าใจสิ่งนั้น และพยายามคิดตรึกตรองเพื่อไม่ลืม เพื่อให้ความเข้าใจนั้นชัดขึ้นอีก

ผู้ฟัง ความตั้งใจของผมในการศึกษาธรรมไม่ได้หวังเลยว่า จะทำให้คนอื่นเข้าใจ คิดเฉพาะตัวเองอย่างเดียว ศึกษาตั้งแต่แรกก็พยายามทำความเข้าใจกับตัวเอง การสนทนาธรรมก็น้อยมาก ไปคนเดียว ศึกษาคนเดียว ทำให้ขาดการไตร่ตรองว่า ถ้าเราพูดอย่างนี้จะทำให้คนอื่นเข้าใจไหม ไม่ได้คิด คิดว่าตัวเองเข้าใจก็พอแล้ว และไปเรื่อยๆ

. ผู้ที่จะต้องทำการงานมากๆ โอกาสศึกษาธรรมก็น้อยลงที่จะเกื้อกูล ให้ปัญญาเพิ่มขึ้น อย่างนี้จะไม่ทำให้เขาสูญเสียโอกาสไปหรือ

สุ. ทุกคนคิด คิดมากๆ เลย ใช่ไหม คิดเรื่องธรรมได้ไหม บอกว่า ทำการงานมาก มีแต่เรื่องงาน เรื่องอื่นไม่ได้คิดเลยหรือ ก็คิด เพราะฉะนั้น เรื่องที่คิด ก็คิดเรื่องธรรม ไตร่ตรองธรรมได้ เราขาดการฟัง เวลาไม่อำนวย ๖ โมงเช้า ๓ ทุ่ม เราอาจจะนอนดึก ตื่นสาย เหนื่อยมาก หรืออะไรก็ตามแต่ ไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลย แต่สิ่งที่ฟังแล้วอยู่ที่ไหน

ถ. คิดเรื่องธรรมก็น้อยลง

สุ. เราคิดเรื่องอื่น มีเวลาพอใช่ไหมที่จะคิดเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดเรื่องอื่นๆ ก็ให้เป็นเรื่องธรรม ได้ไหม เพื่อที่เราจะได้ไม่มีข้อแก้ตัวว่า มีเวลาน้อย เพราะว่าทุกคนต้องคิด

ถ. การฟังน้อยหรือศึกษาน้อย ทำให้ลืมเรื่องธรรม ไม่ได้คิดเรื่องธรรม ทำให้สูญเสียโอกาสไป

สุ. แม้แต่คำว่า ธรรม คำเดียว ที่เรารู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แค่นี้ก็ทำให้เราระลึกได้แล้ว ใช่ไหม เห็นต้องเป็นธรรม คือ โยงไปได้หมด ขอให้เราเป็นผู้ฟังและพิจารณาต่อไปด้วย และนึกถึงธรรมระหว่างที่เราว่างจากอย่างอื่น แต่เนื่องจาก เราไม่ได้หัด จึงไม่คุ้นเคย เราคุ้นเคยแต่การคิดเรื่องอื่น

ต่อไปนี้เมื่อเรารู้ว่าเราไม่มีโอกาสฟัง เรามีงานอื่นเยอะ ก็ขอให้เวลาว่าง ของเราเป็นเวลาที่จะคิดถึงธรรม ธรรมอะไรที่เราได้ยินได้ฟังเราก็เอามาไตร่ตรองอีกได้ ไม่ใช่ได้ยินแล้วผ่านไปเหมือนจะเข้าใจแล้ว และแทนที่จะถามคนอื่น สติของเราก็เกิดระลึกพิจารณาจนกระทั่งสติปัฏฐานเกิดก็รู้ในลักษณะนั้นว่าตรงกับที่เราได้ยินได้ฟังไหม เพราะฉะนั้น ให้ความคิดของเราเป็นความคิดเรื่องนี้ หัดคิดเรื่องนี้

ผู้ฟัง สมัยก่อนที่ผมไฟแรง สนใจอะไร ปรารถนาอะไร ถ้าต้องการทั้ง ๒ อย่าง ก็ทำทั้ง ๒ อย่าง แบ่งเวลาให้ทั้ง ๒ อย่าง บางครั้งลืมธรรม ไม่อยากสนใจอาจจะเบื่อ ก็หันไปทางโน้น ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นข้ออ้างทั้งหมด ถ้าเราอยากศึกษาธรรม เราก็มีเวลาที่จะแบ่งได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่าจะบริหารเวลาอย่างไรให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง

สุ. คงไม่ลืมว่า ทุกคนทำสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าขณะนี้โลภะสำคัญที่สุด ซื้อของสำคัญที่สุด ระบำแขกสำคัญที่สุด หรือว่าอะไรสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นเครื่องวัดเราว่า เวลานี้ธรรมสำคัญที่สุด หรืออะไรสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น เราจะต้องไม่ลืม และไม่มีข้อแก้ตัวด้วย เป็นผู้ที่ตรง ขณะใดที่โลภะสำคัญที่สุดเราก็รู้ เราสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าเรามีเชื้อไฟคือความสนใจพระธรรม บางครั้งโลภะมีกำลัง เราก็เห็นชัดว่าโลภะมีกำลัง และบางครั้งการสะสมธรรมของเราก็มีกำลังเหมือนกัน โดยที่เราอาจจะนึกคิดขึ้นมา ในเรื่องของธรรมและเข้าใจ ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา และยิ่งรู้ว่าสำคัญที่สุด คือ ความไม่ประมาท ต้องเหมือนกับคาถาประจำตัว เพราะประมาทนิดเดียว ทั้งชีวิต หมดเลย

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะทำอะไร ก่อนที่จะก้าวไปแต่ละก้าว ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของชีวิตก็ตาม เราต้องพิจารณา คิดแล้วคิดอีก เพราะถ้าเราปล่อยไปทางประมาท แทนที่เราจะหันมาทางนี้ เราก็ต้องตกไปในทางนั้น ซึ่งมีปัจจัยทำให้ เป็นอย่างนั้นๆ โดยที่เราช่วยไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของไฟ เมื่อมีเชื้อไฟมากๆ และเวลาที่ไฟเกิดก็ต้องลุกโพลง และต้องไปอย่างนั้น แต่ถ้าทางฝ่ายกุศลก็มีเชื้อไฟเหมือนกันและเราค่อยๆ เบนมา ก็ต้องมีทางเพิ่มขึ้น ด้วยความไม่ประมาทอย่างเดียว ถ้าเห็นชีวิตของใครเปลี่ยนแปลงไปในทางอกุศลมากๆ ทั้งหมดจุดเริ่มต้นมาจาก ตัวเดียว คือ ความประมาท ซึ่งเขาก็ไม่รู้ตัวเลย

ผู้ฟัง ถ้าคุณพรชัยรักธรรมมาก คุณพรชัยจะมีเวลาเสมอ ถ้ารักสิ่งใดมาก จะมีเวลาให้สิ่งนั้นเสมอ

ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ไม่ไปดูระบำแขก หมายถึงว่า ไปที่ไหนก็ระลึกได้ ไม่ต้องบังคับให้ทำอะไรที่ผิดธรรมชาติ

สุ. คุณโจนาธานไม่ได้หมายความว่า ต้องไม่ไปดูระบำแขก เพราะถึงแม้ จะดูระบำแขก สติปัฏฐานก็เกิดได้ ถ้ามีปัจจัยที่จะไปก็ไป สติปัฏฐานจะเกิดหรือ ไม่เกิดนั้นเรื่องหนึ่ง ขณะที่กำลังฟังธรรมกับขณะที่ไปดูระบำแขก เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ต่างกันก็ต้องต่างกัน แต่สติปัฏฐานจะเกิดในขณะไหนก็แล้วแต่

. สมัยก่อนหลายปีมาแล้ว ผมเคยไปดูหนังที่โรงหนัง หนังจะมีเศร้าบ้าง ดีใจบ้าง บางครั้งคล้อยตามไปสักครู่ และเกิดความคิดว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น อย่างนี้หรือเปล่าที่กล่าวว่า เป็นความรู้จริงๆ

สุ. ชั่วขณะที่ระลึกได้ ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึกว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ยังมีสติปัฏฐานอีกขั้นหนึ่งที่จะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะว่าขณะนั้นเป็นการนึกคำว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

สติปัฏฐานต้องละเอียดกว่านั้น คือ แม้ไม่คิดเป็นคำก็รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ต้องหลายๆ ขั้น แต่นั่นก็ต้องเป็นทางนำอันหนึ่ง

ข้อสำคัญที่สุด คือ เราต้องรู้ลักษณะของความคิด ความคิดมีจริง เป็น สมมติสัจจะ และสมมติสัจจะเริ่มทวารไหน ก็ทางมโนทวารที่กำลังคิดเรื่อง ปรมัตถธรรม ถ้าเรายังไม่สามารถแยกสมมติสัจจะออกจากปรมัตถสัจจะ แสดงว่า สติปัฏฐานไม่ได้เจริญ เพราะว่าไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของปรมัตถ์ แต่เมื่อใดที่ระลึกถึงลักษณะของปรมัตถธรรม เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่าสภาพปรมัตถธรรมมีจริงๆ และสั้นมากๆ หลังจากนั้นแล้วคิดทั้งหมด

เวลาที่กำลังคิด กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ รู้เลยว่า นี่คิด นั่นเห็น กำลังดูโทรทัศน์รู้เลยว่า นั่นเห็น นี่คิด เพราะฉะนั้น เราจะเข้าใจหมดไม่ว่าจะดูหนัง อ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังเรื่องราว หรือกำลังเห็น เหมือนกันหมด คือ โลกของความคิดตามติดลักษณะของปรมัตถธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดว่าสำคัญเหลือเกิน คนที่มีสามี มีลูก คิดถึงลูก คิดถึงสามี ก็เป็นความคิด คนที่คิดถึงสุนัข คิดถึงบ้าน ก็เป็นเพียงความคิด

เพราะฉะนั้น ทุกคนสุขทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง บางครั้งคิดไปร้องไห้ไป ก็เพราะว่าขณะนั้นเป็นความคิด และความคิดนั้นปรุงแต่ง นี่คือเรื่องจริงของตัวเรา คือ เราเคยพบใคร เคยคิดถึงใคร เคยนึกถึงใครอย่างไร เคยเศร้าอย่างไร เคยขุ่นเคืองน้อยใจอย่างไร คิดปุ๊บน้ำตาไหลได้

เราอ่านหนังสือแสนเศร้า เวลาที่เราพบคนตามถนน เรารู้ว่าเขาลำบาก หน้าคนอินเดียที่แห้งๆ เมื่อได้รูปี สองรูปี หน้าก็ใสยิ้มออกมาได้ แสดงให้เห็นว่า เราคิดถึงเขาน้อยกว่าความเป็นจริงมาก เพราะชีวิตจริงๆ เขาอาจจะระทมขมขื่นยิ่งกว่านั้น ลูกเต้าเขาอาจจะหิวขนม แม้แต่ขนมขาชาก็ไม่มีกิน ทอฟฟี่ไม่เคยเห็น ปากกาไม่เคยเห็น เราไม่เคยไปรู้ความละเอียดจึงไม่เป็นเหตุให้น้ำตาเราไหล แต่เวลาเราอ่านหนังสือ ในขณะนั้นมีสิ่งที่เป็นเครื่องทำให้เราคิดนึกกลายเป็นเรื่องของเรา และความรู้สึกนั้นทำให้เกิดรูปคือน้ำตาไหลได้

อย่างเราอ่านหนังสือเศร้าเรื่องหนึ่ง เหมือนกับเป็นเรื่องคนนั้นจริงๆ แต่แท้ที่จริงเป็นความรู้สึกของเราต่างหากโดยเอาชื่อเขาใส่ความรู้สึกอันนั้น เห็นไหมว่าสภาพธรรมหลอกลวงเราทุกอย่าง กว่าเราจะค้นพบความจริงว่า ไม่มีอะไร เราไม่มี เขาไม่มี เรื่องนั้นไม่มี เป็นแต่เพียงการนึกถึงชื่อ เพราะฉะนั้น เวลาเรา โกรธใคร เรานึกถึงชื่อคนนั้น สมมติว่าเรามีญาติที่ทำให้เราโกรธมาก เสียใจมาก น้อยใจมาก แต่ถ้าเราไม่นึกถึงชื่อญาติคนนั้น จะออกมาเป็นความโกรธ ความน้อยใจ ความเสียใจได้ไหม ก็ไม่ได้ ใช่ไหม

ขณะที่เรากำลังอ่านเรื่องเศร้า พระเอกไปทำอย่างนั้น แสนดี ต้องตาย คิดดู มีที่ไหนพระเอก ก็ไม่มี เขาไปทำดีตรงไหน ก็ไม่มี แต่ใจของเรานึกตาม เพราะฉะนั้น เป็นใจเรา แต่เอาชื่อเขาใส่ เวทนาของใครในขณะนั้น ที่ว่าเวทนาภายในภายนอก เวทนาเราหรือเวทนาคนอื่น คนอื่นโดยนึก แต่จริงๆ เป็นของเรา

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเวลาที่ปรากฏตามความเป็นจริงจะรู้เลยว่า โลกของความคิดนึกกับปรมัตถธรรม คนละอย่างกัน เราจึงสามารถแยกปรมัตถ์ออกจากความคิดได้ ไม่อย่างนั้นปรมัตถ์กับความคิดติดกันแน่นมาก แยกออกจากกันไม่ได้เลย เมื่อเรารู้ว่าเป็นความคิดเท่านั้น จะแยกปรมัตถ์ออกได้ และจะรู้ว่า เพียงเห็น ไม่มีหรอกคน มีแต่ความคิดนึก เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกที่โดดเดี่ยวจริงๆ เพราะเรานึกเอาหมด เราจะนึกถึงคนหนึ่งก็ได้ ๑๐ คนก็ได้ ๑๐๐ คนก็ได้ นึกถึงพลเมืองอินเดีย นึกถึงอิรัก หรืออะไรได้หมด แต่จริงๆ แล้วชั่วขณะจิตที่คิดเพียงขณะเดียว

เรื่องของความคิดทั้งนั้น ต้องแยก ๒ อย่างให้ออก มิฉะนั้นแล้วกำลัง อ่านหนังสือสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ แต่ความจริงสติปัฏฐานเกิดได้ตลอดหมดทุกแห่ง จะต้องชะล้างความเป็นตัวตนออก ตราบใดที่ปัญญาไม่ทั่ว กำลังอ่านหนังสือก็เป็นเรา เป็นเขา ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสภาพธรรม จนกว่าทุกอย่าง ทุกขณะ ไม่ว่าจะดูหนัง ดูทีวี อ่านหนังสือหรือไม่อ่านหนังสือ สามารถรู้ว่าสภาพปรมัตถ์จริงๆ เป็นอย่างไร และความคิดนึกซึ่งแล้วแต่จะนึกถึงอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อ่านหนังสือแท้ๆ สีดำ สีขาว กลายเป็นพระเอกนางเอกเต็มเรื่องเลยได้อย่างไร

เปิด  220
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565