แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2028

สนทนาธรรมที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันที่อาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๔


ถ. ตัวเองเพิ่งมาเรียนใหม่ คงต้องเริ่มต้นตั้งแต่ ก.ไก่ คือ สติปัฏฐาน ๔ ขอความกรุณาให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่ามีอะไรบ้าง

สุ. เป็นที่น่าสนใจ เพราะว่าได้ยินคำนี้บ่อยมากตามวัดวาอาราม หรือตามสำนักต่างๆ คือ จะได้ยินคำว่า สติปัฏฐาน แต่ธรรมต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจตั้งแต่ต้น ทุกอย่างที่จะดำเนินไปจนบรรลุถึงจุดประสงค์สูงสุดได้ ต้องเริ่มตั้งแต่ต้น โดยควรเริ่มตั้งแต่เข้าใจธรรมก่อนว่าคืออะไร ปัญญารู้อะไร ธรรมคืออะไร

ถ้าเป็นคำถามที่ตั้งต้นว่า สติปัฏฐาน ๔ คืออะไร คำตอบไม่ยากเลย เพราะว่ามีกล่าวไว้ในตำราว่า สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑ และหมวดที่ ๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งเห็นความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ซึ่งก็ต้องเป็นธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจในเรื่องของกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่า สภาพ ที่แท้จริงที่เป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น แท้ที่จริงแล้ว รูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า สภาพตามความเป็นจริงขณะที่สติระลึกเพื่อที่จะรู้ ขณะนั้นลักษณะสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่ากายนั้นเป็นอย่างไร

ต้องเป็นปัญญาประกอบกับการฟัง และสามารถพิสูจน์ได้ เช่น ในขณะนี้ ทุกคนมีกาย ถ้าบอกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย พิสูจน์ทันทีเลย ขณะนี้ที่ยึดถือสภาพธรรมตั้งแต่ศีรษะ จรดเท้าว่าเป็นร่างกายของเรา หาจริงๆ ซิ นี่คือปัญญาที่จะเกิดได้ ถ้าหาจริงๆ เวลาที่สติเกิดและระลึกที่กาย มีอะไรที่กำลังปรากฏ ถ้ารู้ตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นปัญญา และตามความเป็นจริงจะไม่เปลี่ยนเลย เพราะกระทบสัมผัสเมื่อไร ตรงไหน จะหลับตาหรือลืมตา ก็มีสภาพที่เย็นหรือร้อนอย่างหนึ่ง อ่อนหรือแข็งอย่างหนึ่ง ตึงหรือไหวอย่างหนึ่ง เท่านั้นเอง ที่เคยหลงยึดถือว่ากายของเรา หรือจะเป็นส่วนต่างๆ ของกายของเราก็ตาม สภาพธรรมที่ปรากฏได้ขณะที่กระทบสัมผัส ก็คืออ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว

ความจริงนี้ดูเหมือนไม่ยาก เพราะขณะนี้เองทุกคนก็กระทบได้ สัมผัสได้ ระลึกได้ รู้ได้ว่าจริง แต่ที่จะให้ละว่าไม่ใช่เราอีกต่อไป เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้นจริงๆ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรม ด้วยการฟังเรื่องของสภาพธรรมบ่อยๆ จนกระทั่งปัญญา ค่อยๆ น้อมไปที่จะเห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่มีตัวเราจริงๆ ระลึกขณะใด ก็รู้ความจริงในขณะนั้น ทีละเล็กทีละน้อย

แต่การที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราเนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ระลึกนิดหนึ่ง จะให้หมดความรู้สึกว่าเป็นเราและรู้ทันทีว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ก็ยาก นอกจากจะอาศัยการฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น พร้อมกันนั้นก็มีสติเกิดบ้าง ระลึกลักษณะของสภาพธรรม และค่อยๆ รู้ตามความ เป็นจริงทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาลที่หมดความสงสัย ความไม่รู้ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกทาง เพราะถ้ากระทบสัมผัสตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเพียงทวารเดียว คือ ทางกาย และทางตาที่เคยเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนมานานแสนนานอีก ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง อยู่ในโลกเพียง คนเดียวกับความคิดนึก แต่แท้ที่จริงก็ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ที่คิด ที่เห็น เป็นแต่เพียงชั่วขณะจิตเดียวซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไปทุกๆ ขณะ

เฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ยังสงสัยไหม จะได้ต่อที่เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา แต่พื้นฐานต้องเป็นอย่างนี้ คือ เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรแล้วต้องเข้าใจจริงๆ และรู้ว่าหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญานั้นคืออย่างไร

ถ้ามีความรู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายอ่อนหรือแข็งเท่านั้น เวลาที่จะไปทำ อย่างอื่นเพื่อให้ปัญญาเจริญด้วยความเข้าใจผิด เช่น จะไปนั่งสงบๆ เพ่งจ้อง ขณะนั้นปัญญาจะรู้ลักษณะของอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่ปรากฏที่กายบ่อยๆ ตลอดทั้งวันได้อย่างไร เหตุต้องตรงกับผล

ถ. กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่อาจารย์อธิบาย ผมเข้าใจ แต่ผมจับชนกับกายานุปัสสนาตามตำราไม่ได้ มีบรรพต่างๆ มีอานาปานบรรพ มีอิริยาบถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุบรรพ และพิจารณาซากศพไปอีก ๙ อย่าง ทั้งหมดนี่กับที่อาจารย์บอกซึ่งผมเข้าใจ ดูที่ร่างกายสัมผัส อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แต่จะโยงกับในตำราได้ไหม

สุ. เริ่มตั้งแต่บรรพที่ ๑ อานาปานบรรพ หมายความถึงสติที่ระลึกที่ ลมหายใจ ลมหายใจอยู่ที่ไหน

ถ. ที่เข้าโพรงจมูก

สุ. ก็อยู่ที่กาย ไม่ว่าขณะใดที่ระลึก ทั้งหมดทุกบรรพที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ บรรพ เป็นเรื่องของกายทั้งนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องอื่นเลย ตั้งแต่ลมหายใจ บรรพที่ ๑ ลมหายใจก็เป็นส่วนของกาย ไม่ได้อยู่ภายนอกร่างกาย เกิดที่กายและ ดับที่กายด้วย เป็นส่วนหนึ่งของกาย เพราะฉะนั้น ก็ระลึกได้

บรรพที่ ๒ อิริยาบถบรรพ เป็นการกระทำการเคลื่อนไหวของกาย ความเป็นไปของกายในชีวิตประจำวันซึ่งนั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง เป็นของธรรมดา เมื่อมีกายแล้วที่จะไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดินก็ไม่ได้ แม้ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น สติระลึกที่กายได้ทุกขณะ ไม่ว่าจะนั่งก็มีกายที่จะระลึกได้ ไม่ว่าจะนอนก็มีกายที่จะระลึกได้ ไม่ว่าจะยืน จะเดิน หมายความว่าทุกบรรพเป็นเรื่องของกายทั้งหมด

ถ. บรรพที่ ๒ เรื่องนั่ง นอน ยืน เดิน เกี่ยวกับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว หรือเปล่า

สุ. ถ้าไม่มีมหาภูตรูป กายจะมีไหม

ถ. ไม่มี

สุ. เพราะฉะนั้น มีอะไรแน่ที่เป็นของจริง

ถ. มีมหาภูตรูป

สุ. ถ้าระลึกที่กายแล้วไม่รู้มหาภูตรูป จะรู้อะไร

ถ. ผมสงสัยตรงที่รู้ว่า เป็นมหาภูตรูป ตรงกับที่อาจารย์สอนเสมอๆ ว่า ให้รู้สึกว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว หรือเปล่า เหมือนกันหรือ

สุ. นั่นคือลักษณะของมหาภูตรูป ๓ เย็นหรือร้อนเป็นธาตุไฟ อ่อนหรือแข็งเป็นธาตุดิน ตึงหรือไหวเป็นธาตุลม ซึ่งสามารถรู้ได้โดยการกระทบสัมผัส

ถ. ยืน เดิน นั่ง เป็นเรื่องสัมผัสหรือเปล่า

สุ. เป็นเรื่องของมหาภูตรูปที่ประชุมรวมกัน แต่เวลาที่สติเกิดระลึก ขณะนี้เองจะระลึกที่ไหน ขณะที่กำลังยืน

ถ. ระลึกที่สัมผัส

สุ. ตรงไหน

ถ. ตรงที่เท้าว่า เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง

สุ. ก็เจอมหาภูตรูปทั้งนั้น ไม่ว่าจะระลึกตรงไหนก็ต้องพบความจริง คือ มหาภูตรูปเท่านั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

ถ. อิริยาบถบรรพ คือ อิริยาบถนี้ จริงๆ แล้ว คือ กายสัมผัสหรือ

สุ. เป็นเรื่องของกายทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ตั้งแต่เกิดจนตาย จะเป็นขณะไหนก็ตามแต่ จะระลึกที่ลมหายใจก็คือกาย จะระลึกขณะที่นั่งอยู่ก็กระทบสัมผัส

ถ. ท่านอาจารย์บอกให้เรามีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในปัจจุบันว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงรูปนามเท่านั้น มี ๒ คำ คือ รูปกับนาม ขันธ์ ๕ แบ่งเป็นรูปกับนาม ถามว่า อิริยาบถบรรพ ที่ผมยืน เป็นอิริยาบถว่ายืน แต่ท่านอาจารย์บอกให้ดูตรงที่กายสัมผัส ที่เท้าสัมผัสกับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง สงสัยว่า อิริยาบถบรรพเป็นเรื่องของรูป หรือนาม

สุ. สติเป็นนาม จิตเป็นนาม เจตสิกเป็นนาม เกิดร่วมกัน และสติ เป็นสภาพที่ระลึกรู้ ขณะนั้นมีสิ่งซึ่งสติระลึกรู้ คือ กาย ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ ขณะไหนก็ได้ ถ้าระลึกเป็นไปที่กายขณะใดก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ถ. เข้าใจแล้ว มี ๒ คำ คือ สติระลึกรู้สภาพธรรม ตรงอิริยาบถบรรพ ก็มีสติระลึกรู้ สติเป็นนาม อิริยาบถการยืนนั้น คือ รู้ในเรื่องลักษณะกาย ตรงที่เท้าสัมผัส แปลว่า ยืน อย่างนั้นใช่ไหม

สุ. ไม่จำกัด ขณะนี้จะรู้ลักษณะของธาตุลมตรงไหนก็ได้แล้วแต่สติ จะระลึกรู้ลักษณะของธาตุไฟตรงไหนก็ได้แล้วแต่สติ จะระลึกรู้ลักษณะของธาตุดินตรงไหนก็ได้แล้วแต่สติ บางคนอาจจะมีความรู้สึกร้อนบางส่วนของร่างกาย ขณะนั้นจริงหรือเปล่า

ถ. จริง

สุ. สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น บังคับสติไม่ได้ แล้วแต่สติ ตรงไหนที่รู้สึกตึง สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กายที่ตึงตรงนั้นได้ไหม

ถ. ได้

สุ. เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่สติ ไม่มีใครจะไปกะเกณฑ์ว่า เวลายืนระลึก ตรงนั้น เวลานั่งระลึกตรงนี้ เพราะว่าทุกอย่างเป็นสภาพธรรม

ถ. เพราะฉะนั้น กายานุปัสสนา บรรพที่ ๒ อิริยาบถ ก็ไม่เกี่ยวกับอิริยาบถ ไม่เกี่ยวกับยืน เดิน นั่ง นอน

สุ. รูปนั่งเป็นเป็นความทรงจำ แต่สภาพธรรมจริงๆ ในขณะนั้นคืออะไร การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นต้องสามารถรู้ความต่างกันของสภาพธรรมที่เคยเข้าใจว่ามี กับเวลาสภาพธรรมปรากฏ สิ่งที่เคยยึดถือไว้ว่ามีกลับไม่มี เช่น ร่างกายตลอดศีรษะจรดเท้า ก่อนที่สภาพธรรมจะปรากฏ ทุกคนจำได้ ยืนอยู่ก็รู้ว่ายืน นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่ง นอนอยู่ก็รู้ว่านอน เดินอยู่ก็รู้ว่าเดิน นี่คือขณะที่สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ มีความ ทรงจำยึดถือรูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา และมีอัตตสัญญาที่ยังจำไว้ว่า มีตัวเราจริงๆ ตลอดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ที่จะปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา หมายความว่าอัตตาที่เราเคยทรงจำไว้ว่า เรานั่งก็ดี เรายืนก็ดี เรานอนก็ดี เราเดินก็ดี ไม่เหลือ ไม่มี ไม่ปรากฏ มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่เราอีกต่อไป

ลักษณะที่แข็งหรืออ่อน ร้อนหรือเย็น ตึงหรือไหว ชั่วขณะที่เกิดขึ้นปรากฏ แก่สติและปัญญาในขณะนั้นและดับไป จึงปรากฏว่าไม่มีเรา ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หาไม่ได้เลย จริงๆ แล้วก็อากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ตลอดโดยละเอียด ตรงไหนที่เป็นเรา เป็นแต่เพียงผงดินจริงๆ ที่แทรกด้วยอากาศอย่างละเอียด

ถ. เรียนจากอาจารย์หลายปีก็เข้าใจ แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า ในพระไตรปิฎก ซึ่งผมไม่ได้อ่านฉบับสมบูรณ์ ที่กล่าวไว้ว่า เวลายืนให้รู้ว่ายืน เวลานั่งให้รู้ว่านั่ง ตรงนี้เป็นเรื่องความจำ เราจำไว้ว่านั่ง และเราก็พูดว่า เรารู้ว่านั่ง หรือ รู้ว่ายืน ก็เลยงง ... สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏอย่างอาจารย์ว่าเป็นรูป เป็นนาม แต่ติดตรงอิริยาบถที่บอกว่า ยืนให้รู้ว่ายืน ความจริงท่านอาจารย์บอกว่า เวลาเรายืน ก็รู้ว่ากายสัมผัส ลมพัดมาเย็น หรือเท้าที่ยืนนี่แข็ง เรามองด้านนั้น เรารู้ตรงนั้น เราไม่ได้รู้เรื่องยืน เรื่องนั่ง เรื่องนอน ก็เลยงง

สุ. ที่งงเพราะว่ายังไม่ใช่ไตรปิฎก เฉพาะส่วนนั้นส่วนเดียว และไปติดพยัญชนะที่ว่า ยืนก็รู้ว่าเรายืน แต่ถ้าตลอดทั้ง ๓ ปิฎกทรงแสดงไว้ว่า อนัตตา รูปธรรมแต่ละรูปอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป ทยอยกันเกิดทยอยกันดับอย่างไร ขณะจิตไหนรูปประเภทใดเกิด เพราะว่ารูปมีสมุฏฐานถึง ๔ อย่าง คือ รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดในขณะไหนของจิต รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดในขณะไหนของจิต รูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน

ถ้าทั้ง ๓ ปิฎกแล้ว ต้องสอดคล้องกัน แม้แต่คำที่ว่า ยืนก็รู้ว่ายืน ก็ต้อง เข้าใจความหมายว่า ต้องเข้าใจอรรถของพระไตรปิฎกส่วนอื่นด้วยที่ว่าธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม และรูปธรรมแต่ละรูปเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร และปรากฏในขณะที่สติระลึกเท่านั้น ขณะใดที่สติไม่ระลึก รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เราเพียงแต่ไปจำไว้ว่า เรามี แต่ความจริงมีก็เหมือนไม่มี เพราะว่ารูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต เกิดแล้วดับเร็วที่สุด ขณะนี้ทางตากับทางหูซึ่งดูเสมือนว่าแยกกัน ไม่ออก อายุเกิน ๑๗ ขณะจิต เพราะฉะนั้น รูปๆ หนึ่งที่เกิดในระหว่างนี้ดับไปหมดแล้ว จึงมีก็เหมือนไม่มี เฉพาะรูปที่ปรากฏเท่านั้นที่จะให้ความจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นรูปประเภทใด และเมื่อปัญญารู้จริงๆ ก็เห็นว่าไม่ใช่ตัวตนแน่นอน และรูปนั้นเองเมื่อปัญญาคมกล้าก็สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของรูปนั้น ในขณะนั้นด้วย

ถ. ผมคิดว่า เข้าใจแล้ว

ถ. เรื่องกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏ ที่เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ถ้าขณะนั้นเป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ส่วนของกายที่เป็นลมหายใจที่กระทบที่ช่องจมูก ขณะนั้นท่านก็จัดอยู่ในอานาปานบรรพ และในชีวิตประจำวัน ปกติก็ต้องมีการเคลื่อนไหวเกิดอิริยาบถ ขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าขณะนั้นสภาพธรรมปรากฏที่กาย เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง สติระลึกรู้ ในขณะที่อิริยาบถกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ อาจจะนั่ง ขณะนั้นสภาพธรรมปรากฏเป็นแข็งหรืออ่อน ท่านก็จัดอยู่ในอิริยาบถบรรพ และขณะนั่งแล้วก็มีการเหยียดคู้ เป็นอิริยาบถย่อย ท่านก็จัดอยู่สัมปชัญญบรรพ สำหรับ ๓ บรรพ ทุกอย่าง คือ ระลึกลักษณะของแข็งหรืออ่อนที่กำลังปรากฏเหมือนกัน ผมเข้าใจอย่างนี้ถูกไหม

สุ. นี่เป็นเหตุที่ทรงจำแนกกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นบรรพต่างๆ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะระลึกที่ไหนก็เป็นส่วนของกายทั้งนั้น เป็นเรื่องของกายทั้งหมด ลมหายใจก็ต้องเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าเป็นส่วนของกาย หรือกำลังนั่งสติเกิดระลึก อาจจะเป็นธาตุที่ตึงหรือไหว ร้อนหรือเย็นก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็เป็นส่วนของกายทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า นั่งก็ตาม นอนก็ตาม ยืนก็ตาม เป็นอิริยาบถบรรพ หรือการเคลื่อนไหวเหยียดคู้เป็นสัมปชัญญบรรพ ก็แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่ปัญญาจะรู้ ความจริง เคยมีการยึดถืออย่างไรก็จำแนกออกไปว่า ระลึกได้ทุกอย่าง และ เมื่อปัญญาเกิดก็จะรู้ความจริงว่า เป็นธรรมอย่างไร ธรรมปรากฏ สติปรากฏ

ถ. เมื่อกี้คุณณรงค์มาพูดสัมปชัญญบรรพแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่อง ปฏิกูลมนสิการบรรพ ตรงนี้ไปพิจารณารูปนามตรงไหน

สุ. ที่กายมีอะไรบ้างที่เคยยึดถือว่าเป็นเราหรือตัวตนของเรา มีผมไหม มีเล็บไหม ก็แยกย่อยออกไปเท่านั้นเอง ก็ส่วนต่างๆ ของกาย ก่อนที่ปัญญาจะเกิด เคยเป็นเราอย่างไร เคยคิดว่าเป็นของเราอย่างไร เวลาที่สติระลึกก็รู้ตามความ เป็นจริง แม้แต่ที่เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ส่วนต่างๆ พ้นจากทวารทั้ง ๖ ไหม

ถ. ไม่พ้น

สุ. ก็คือการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงของ สภาพธรรมนั้นๆ เท่านั้นเอง

ถ. ทำนองเดียวกับธาตุไหม

สุ. เหมือนกัน

ถ. พิจารณาซากศพ ๙ พิจารณาอย่างไร

สุ. ซากศพเป็นกายหรือเปล่า

ถ. เป็นกาย

สุ. ก็อยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ถ. ต่างกับปฏิกูลมนสิการอย่างไร เป็นซากศพ ก็เหมือนขน เล็บ ฟัน หนัง สุ. ยังไม่ตาย ใช่ไหม

ถ. ถ้ายังไม่ตายเรียกผม ตายแล้วไม่เรียกหรือ

สุ. ธรรมดาทุกคนทุกวันก็ระลึกที่ผมของตัวเอง

ถ. ของเรา ของคนอื่น เท่านั้นเอง

สุ. รวมยอดว่า ทุกอย่างที่เป็นกาย ก็รวมอยู่ในกาย

ถ. ต่อไป เวทนา จิต ธรรม

สุ. เวทนาเป็นความรู้สึก มีก็ไม่รู้ทั้งๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ เพราะว่าทุกขณะ จะขาดเวทนาไม่ได้เลย ขณะนี้มีเวทนาไหม

ถ. มี

สุ. ถ้าพูดภาษาไทยก็คือความรู้สึก ซึ่งมี ๓ อย่าง ได้แก่ สุข ทุกข์ อุเบกขา คือ อทุกขมสุข หรือจำแนกเป็น ๕ อย่าง ทางกาย ทางใจ เวลานี้มีไหม

ถ. มี

สุ. เป็นของจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน สติก็ระลึกรู้ลักษณะสภาพของความรู้สึกเท่านั้นเอง เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ถ. ที่อาจารย์สอน สรุปรวมความเป็นรูปกับนามเท่านั้นเอง เวทนาเป็นนาม จิตนี่ซิยุ่ง เพราะมีเยอะ มี ๑๖ อย่าง ทำไมต้องมีถึง ๑๖ อย่าง อาจารย์บอกว่า มีแต่นามอย่างเดียว

สุ. ที่เรียนเรื่องของจิต ๘๙ ดวง และแยกเป็นกามาวจรจิต ๕๔ ดวง ๕๔ นี่ทุกคนก็มีไม่ครบ เพราะว่าเป็นจิตของพระอรหันต์ก็หลายดวง เพราะฉะนั้น ขณะไหนจิตประเภทไหนเกิดก็รู้ลักษณะของจิตประเภทนั้น เมื่อระลึกแล้วก็อยู่ใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อยังไม่มีฌานจิต ก็ไม่ต้องไปยุ่งไปเกี่ยว มีจิตอะไร ก็รู้จิตนั้น ส่วนใครที่เจริญฌานได้ และปฐมฌานเกิด ทุติยฌานเกิด ขณะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานที่รู้ว่าแม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของฌานจิตด้วย จึงจะไม่ใช่เราที่เป็นฌานจิตในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่ามีเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมใด จิตประเภทใด เกิดขึ้น ก็รู้ตามความจริงในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป

เปิด  242
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566