แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2031

สนทนาธรรมที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันที่อาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๔ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๔


สุ. จดหมายของพระคุณเจ้า ท่านเขียนถึงคุณธงชัย จากวัดท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ๒๓ / ๐๒ / ๓๔

ถึงคุณโยม พ.อ.ธงชัย แสงรัตน์

อาตมาเขียนจดหมายมานี้ ก็มีเรื่องบางอย่างจะเล่าให้ฟัง คือ อาตมาเพิ่งจะ มารู้และเข้าใจเอาเมื่อเร็วๆ นี้เองว่า ได้หลงเข้าใจผิด และหลงผิดมาตลอด คือ เรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง คุณโยมคงจะจำได้เมื่อแวะมาหาอาตมาที่วัดท่ามะโอ และได้ถามอาตมาว่า “ท่านเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแค่ไหน” ซึ่งอาตมาตอบว่า “เข้าใจดี และเคยเกิดสติระลึกรู้ปัจจุบันธรรมที่ปรากฏแล้ว”

อันที่จริงแล้วนั้นอาตมาเข้าใจผิด (หลงผิด) คือ คิดเอาเองว่าลักษณะที่ เกิดขึ้นกับอาตมานั้นเป็นการระลึกรู้สภาพธรรม ซึ่งอาตมาคิดว่าเป็นสติปัฏฐาน แต่ เมื่อได้ฟังและอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ จึงพอเข้าใจว่า ลักษณะที่เคยเกิดขึ้นกับอาตมานั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นเพียงแต่การคิดเอาเองเท่านั้น แต่อาตมากลับเข้าใจผิดคิดว่า เป็นสติปัฏฐาน ก็สรุปว่าอาตมาเองยังไม่เข้าใจดีพอ แต่กลับไปหลงว่าตัวเองเข้าใจ และยังพูดออกมาทางวาจาอีก คือ พูดบอกกับคุณโยมทั้ง ๓ ที่มาในวันนั้น ซึ่งก็ เป็นเรื่องที่ทำให้อาตมาเขียนจดหมายฉบับนี้มาบอกให้คุณโยมทราบ และขอแก้ คำพูดนั้นด้วยที่ว่า สติเคยเกิด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นการคิดเอาเอง เพื่อจะได้ไม่มีโทษต่อการศึกษาและการปฏิบัติของอาตมาต่อไป อันที่จริงแล้วนั้นเป็นเพียงวิปัสสนึกของอาตมาเองทั้งนั้น

คงจะต้องศึกษาให้เข้าใจ และหมั่นสังเกตพิจารณาจนกว่าสติจะเกิด และ เจริญขึ้นไปเพื่อที่จะได้ละคลายกิเลสหรือให้เบาบางลงได้บ้าง เพื่อเป็นพลวปัจจัยให้ กุศลธรรมต่างๆ ได้เจริญไปจนกว่าจะถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสทั้งปวง

ในที่สุดนี้ ขอให้คุณโยมและหมู่คณะจงเจริญในกุศลธรรม และสำรวมระวัง ในอกุศลต่างๆ ยิ่งขึ้นไปเทอญ เจริญพร

สุ. พระคุณเจ้ารูปนี้ คือ ท่านพระภิกษุทรงกลด กันตวีโร เป็นเรื่องที่ แต่ละท่านจะต้องฟังพระธรรมจริงๆ และพิจารณาจนกระทั่งปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะว่าย่อมมีการเข้าใจผิดได้ถ้าการฟังพระธรรมไม่พอ และบางท่านอาจจะคิดว่า ท่านรู้ลักษณะของสภาพธรรมมากแล้ว หรือสติปัญญาเกิดเจริญมากแล้ว แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมจริงๆ จะรู้ได้ว่า เป็นการรู้เรื่องธรรม เป็นการเข้าใจธรรม แต่ไม่ใช่ในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมและรู้ตรงตามที่ได้ฟังตามความเป็นจริง

แสดงให้เห็นว่า ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาขั้นเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม คือ ในขณะที่กำลังฟังแต่สติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม หรือขณะใดที่ฟัง สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติสลับกับที่รู้เรื่องก็ได้ หรือแม้แต่ขณะที่กำลังรู้เรื่องในขณะนี้ก็สามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพของความจำ ลักษณะที่จำเรื่อง เข้าใจเรื่อง ขณะที่กำลังคิดเรื่องนั้น

เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ไม่ผิดปกติ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แม้เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยโดยไม่มีความคิดที่จะทำ และไม่มีความเข้าใจผิดด้วย เพราะว่าสภาพธรรมเกิดแล้วทั้งหมด ในขณะนี้ ถ้ายังไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ เมื่อกำลังปรากฏแสดงว่าเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เพียงสะสมความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม นั่นคือการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา

มีจดหมายจากพระคุณเจ้าอีกรูปหนึ่ง ท่านเขียนถึงคุณธงชัย ขอกล่าวถึงข้อความบางตอนในจดหมายฉบับนี้ ซึ่งมีข้อความว่า

... เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ในชีวิตประจำวัน ถ้าหากจะให้ได้ผลจริงๆ อาตมาคิดว่า กัลยาณมิตรและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน จุดที่อาตมาอยู่นั้น ในวันหนึ่งๆ ไม่มีใครพูดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเลย เท่าที่อาตมาได้เคยไปฟังการบรรยายของคุณโยมอาจารย์สุจินต์ที่วัดบวรนิเวศถึง ๓ ครั้งตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาสอยู่ ความรู้สึกจะแตกต่างกันมาก คือ ฟังจากวิทยุหรือเทป กับการไปฟังตัวจริง การได้ไปฟังบรรยายตัวจริงจะเกิดประโยชน์มากกว่า เท่าที่อาตมาได้มีประสบการณ์ เป็นอย่างนั้นจริงๆ การสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันนี้ได้ผลดีมาก

อีกอย่างหนึ่ง คนที่มีแนวโน้มความคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมและการศึกษาธรรมที่คล้ายคลึงกันจะสนทนากันได้ไม่รู้จบ คือ ในครั้งหนึ่งที่อาตมาไปฟังบรรยายที่วัดบวรนิเวศ ไปก่อนเวลา คุณโยมอาจารย์สุจินต์ยังไม่มา บรรดาผู้ฟังรวมทั้ง อาตมาด้วย ตอนนั้นยังเป็นฆราวาสอยู่ ได้ร่วมสนทนาธรรมกันเกี่ยวกับเรื่องทำอย่างไร มีวิธีใดที่จะกำจัดกิเลสอย่างกลางและอย่างละเอียดภายในตัวเรานี้ของแต่ละคน ให้บรรเทาเบาบางลงหรือหมดสิ้นไปได้ เพียงหัวข้อธรรมเพียงเท่านี้ เราก็สนทนากันได้เป็นชั่วโมงๆ ...

ขออ่านเฉพาะข้อความตอนนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม และการสนทนาธรรมด้วย ถ้ามีกัลยาณมิตรหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีผู้ที่สนใจธรรมด้วยกันย่อมเป็นประโยชน์ เพราะย่อมมีการสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเข้าใจกันได้

ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาเหตุผลและเข้าใจในเหตุผล ของสภาพธรรมว่า ตราบใดที่ยังมีความยินดีพอใจเพลิดเพลินในอาหาร ๔ อยู่ ตราบนั้นจะพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย และแม้พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงเรื่องโทษ ของโลภะ โทษของอกุศลทั้งหลายมากมายในพระไตรปิฎก แต่ผู้ฟังที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะต้องฟังเรื่องโทษของอกุศล เรื่องโทษของโลภะไปเรื่อยๆ จนกว่าจะซึมซาบ

และแม้จะกล่าวเรื่องโทษของโลภะมากมาย แต่ถ้าปัญญายังไม่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีโลภะมากในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ ก็เท่ากับว่าเข้าใจ เรื่องของโลภะ แต่ยังไม่เห็นโลภะ ยังไม่ได้รู้จักโลภะตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังเรื่องของโลภะและธรรมอื่นๆ จนกว่าสติปัฏฐานจะระลึกและรู้ลักษณะของโลภะ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อัตถิราคสูตร ข้อ ๒๔๕

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่าง เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว เพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างนั้น คือ ๑. กวฬีการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ๒. ผัสสาหาร ๓. มโนสัญเจตนาหาร ๔. วิญญาณาหาร อาหาร ๔ อย่างนี้แล เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด

เป็นการทบทวน ดูเสมือนว่าเป็นธรรมดา แต่ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาจะเห็นความเพลิดเพลินในอาหารทั้ง ๔ ของท่านเป็นประจำอีกเหมือนกัน คือ ซ้ำไปซ้ำมา ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน คือ ยังเพลิดเพลินยินดีในกวฬีการาหารที่หยาบบ้าง ละเอียดบ้างทุกมื้อ ยังเพลิดเพลินในผัสสาหาร การกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มโนสัญเจตนาหาร ความเพลิดเพลินยินดีในการคิดนึกปรุงแต่งทางกาย ทางวาจา ทางใจ ยังเพลิดเพลินในวิญญาณาหาร คือ การที่จะต้องเกิดอีก

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬีการาหารนั้น ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้นย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมมีความเกิดในภพใหม่ต่อไป

นี่เป็นการแสดงปฏิจจสมุปปาทโดยย่อ คือ กิเลส กรรม วิบาก

ในที่ใดมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใดมีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศก มีธุลี (คือราคะ) มีความคับแค้น

เพียงแค่ความยินดีพอใจในอาหาร ซึ่งทุกคนทราบว่ายังไม่ได้หมดสิ้นไป แต่ต้องทราบด้วยว่า แม้เพียงความพอใจในอาหาร โดยที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอย่างอื่นเลย เพียงแต่ในอาหาร ก็ยังจะต้องมีการเกิดซึ่งไม่รู้จบ

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในผัสสาหาร ... มีอยู่ในมโนสัญเจตนาหาร ... มีอยู่ในวิญญาณาหาร ... (โดยนัยเดียวกัน)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีน้ำย้อม ครั่ง ขมิ้น สีเขียว หรือสีบานเย็น ช่างย้อมหรือช่างเขียนพึงเขียนรูปสตรีหรือบุรุษให้มีอวัยวะน้อยใหญ่ได้ครบถ้วน ที่แผ่นหินขาว แผ่นกระดาน ฝาผนัง หรือที่ผืนผ้า แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ใน กวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬีการาหารนั้น ... ฯลฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในผัสสาหาร ... มีอยู่ในมโนสัญเจตนาหาร ... มีอยู่ในวิญญาณาหาร ... (โดยนัยเดียวกัน)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในกวฬีการาหารนั้น ในที่ใดวิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม ในที่นั้นย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใดไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด ไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น

เมื่อไม่มีความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ในผัสสาหาร ในมโนสัญเจตนาหาร ในวิญญาณาหาร ก็โดยนัยเดียวกัน

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรือนยอดหรือศาลามี ๒ ยอด หน้าต่างด้านทิศตะวันออกอันบุคคลเปิดไปทางเหนือหรือทางใต้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น แสงสว่างส่องเข้าไปทางหน้าต่างจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

ตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าฝาด้านตะวันตกไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน

ภิกษุกราบทูลว่า

ที่แผ่นดินพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแผ่นดินไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน

ภิกษุกราบทูลว่า

ที่น้ำพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน

ภิกษุกราบทูลว่า

ไม่ตั้งอยู่เลยพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ ... ในผัสสาหารไซร้ ... ในมโนสัญเจตนาหารไซร้ ... ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม ในวิญญาณาหารนั้น ในที่ใดวิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม ในที่นั้นย่อมไม่มีการ หยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใดไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมไม่มี การเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใดไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมไม่มีชาติ ชรามรณะต่อไป ในที่ใดไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น

อยากหมดโศก อยากหมดความคับแค้น แต่ถ้ายังมีการเกิด หมดไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น ทางเดียวจริงๆ ถ้าใครเห็นว่า การเกิด เกิดมาเพียงเห็นชั่วขณะ และหมดไป และในที่สุดก็ต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างไปไม่เหลืออะไรเลย หรือแม้ในขณะที่ยังไม่จากโลกนี้ไป เพียงชั่วขณะที่เห็นและหมดไป ก็ชื่อว่าจากสิ่งที่ปรากฏในขณะที่ เห็นแล้วจริงๆ ไม่มีอะไรเหลือ แต่ละขณะก็สืบต่อไปอย่างนี้ จากภพหนึ่งเป็นชาติหนึ่งไปเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องอาศัยการพิจารณาจนกว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม และเข้าใจจริงๆ

ข้อความใน อรรถกถา อัตถิราคสูตรที่ ๔ มีว่า

ก็กรรมที่เกิดพร้อมและกรรมที่อุดหนุน เหมือนช่างย้อมและช่างเขียน … ในอุปมาเหล่านั้น คนบางคนเมื่อทำกรรม ย่อมทำด้วยจิตที่เป็นญาณวิปปยุตต์ (คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา) กรรมนั้นของเขาเมื่อจะสร้างรูป ย่อมไม่ให้ความสมบูรณ์แห่งรูปสำหรับจักษุเป็นต้น สร้างแต่รูปที่วัณณะไม่งาม ทรวดทรงไม่ดี ไม่น่าพอใจแม้ของบิดามารดา เปรียบเหมือนรูปที่ช่างเขียนผู้ไม่ฉลาดสร้างขึ้น เป็นรูปวิกลบกพร่อง ไม่น่าพอใจฉะนั้น

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565