แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2040
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๒๖ พฤษภาาคม ๒๕๓๔
ผู้ฟัง ผมขอเพิ่มเติมสภาพความคิดนึก เพราะมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เคยพิจารณาบ้างหรือไม่ว่า คิดนึกเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง สมัยเรียนธรรมใหม่ๆ ความคิดนึกปิดบังสภาพธรรมต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่นาน เพราะไม่เคยระลึกรู้ว่า คิดนึกเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพนามธรรมที่เกิดได้ทางใจเท่านั้น และเกิดขึ้นเพราะมีเหตุมีปัจจัยจึงคิดนึก ถ้าเราพิจารณาเป็นสภาวธรรมแล้ว ก็เกิดดับอย่างที่ท่านอาจารย์ได้บอกไปแล้ว เมื่อเกิดดับจะมีสาระได้อย่างไร ที่เรามาศึกษาธรรม เราต้องระลึกในปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป สำหรับคิดนึกเป็นจิต เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าระลึกบ่อยๆ เนืองๆ เวลานี้สภาพธรรมทางใจที่คิดนึก ผมได้ระลึกอยู่เรื่อยๆ ก็เลยเป็นประโยชน์
สุ. ท่านผู้ฟังที่ถามเมื่อกี้ยังข้องใจอะไรอีกหรือเปล่าที่ว่า ความคิดนึกสำคัญ
ถ. ที่กล่าวว่าคิดนึกไร้สาระ คำว่า ไร้สาระ หมายความถึงเกิดดับ ผมเข้าใจผิดคิดว่าหมายถึงไม่สำคัญ ซึ่งผมเห็นว่าสำคัญ เพราะตลอดวันนอกจากเวลานอนหลับแล้ว คิดไม่หยุดเลย และคิดดีหรือคิดชั่ว คิดถูกหรือคิดผิด ก็เป็นปัจจัยให้เราทำดี ทำไม่ดี ทำถูก ทำผิด ผมจึงถือว่า ความคิดนึกสำคัญ จึงน่าจะศึกษาจิต ที่คิดนึกว่า ทำอย่างไรให้จิตคิดนึกแต่ในสิ่งที่ดีๆ คิดนึกในทางที่ถูก ชีวิตของเราจะได้ราบรื่น ประสบความสำเร็จ
สุ. เรื่องของความคิดนึกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าทุกคนจะต้องคิดนึก และกว่าจะรู้ว่า ความคิดขณะใดเป็นกุศล ความคิดขณะใดเป็นอกุศล ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ เพราะว่าอกุศลเร็วและมาก และเมื่อเป็นประจำอย่างนี้ ก็ยากที่จะรู้ได้จริงๆ ว่า ความคิดที่เป็นกุศลต่างกับความคิดที่เป็นอกุศลอย่างไร
ขอกล่าวถึงชาดกเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยการคบคน ซึ่งก็เป็นเรื่องของความคิด เพราะการที่จะพบปะบุคคลหนึ่งบุคคลใด ย่อมมีการแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน และคนที่คบหาสมาคมกันนั้น ก็ทำให้เกิดความคิดคล้อยตามกันได้
ข้อความใน อรรถกถา จตุกกนิบาตชาดก อรัญญชาดก มีว่า
เมื่อบุตรถูกชักชวนให้ออกจากป่าไปอยู่ในเมือง บุตรก็ยังไม่ไปทันทีคอยรอถามบิดา ซึ่งบุตรถามบิดาว่า จะพึงคบคนที่มีศีลอย่างไร มีวัตรอย่างไร
บิดาตอบว่า
ผู้ใดพึงคุ้นเคยกับเจ้าก็ดี พึงอดทนความคุ้นเคยของเจ้าได้ก็ดี เชื่อถือคำพูดของเจ้าก็ดี งดโทษให้เจ้าก็ดี เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงคบหาผู้นั้นเถิด
นี่แสดงถึงเรื่องความคิดหรือเปล่า วันหนึ่งๆ บังคับความคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าคบคนที่จะทำให้กุศลวิตกเกิด ย่อมเป็นประโยชน์กว่าการที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และไปคบหาสมาคมกับผู้ที่ทำให้อกุศลเกิดมากๆ
บิดาได้กล่าวกับบุตรต่อไปว่า
ผู้ใดไม่มีกรรมชั่วด้วยกาย วาจา และใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงคบหาผู้นั้น ทำตนให้เหมือนบุตรผู้เกิดจากอกของผู้นั้นเถิด
คนที่มีจิตเหมือนน้ำย้อมขมิ้น มีจิตกลับกลอก รักง่ายหน่ายเร็ว เจ้าอย่าคบหาคนเช่นนั้นเลย ถึงหากว่าพื้นชมพูทวีปทั้งหมดจะไม่มีมนุษย์ก็ตาม
ข้อความสั้นมาก ซึ่งผลก็คือ เมื่อบุตรได้ฟังแล้วก็ไม่ไป เพราะไม่รู้ว่าจะไปหามิตรแท้อย่างนี้ได้ที่ไหน และบิดาก็สอนให้บุตรเจริญสมถภาวนา ได้ฌาน บังเกิดในพรหมโลกทั้งบุตรและบิดา ซึ่งบิดาของบุตรนั้น คือ พระผู้มีพระภาคในครั้งนี้
เห็นความสำคัญของความคิดไหม ซึ่งจะต้องคิดต่อไป ไม่มีใครจะหยุดคิดได้ หลังจากฟังอย่างนี้แล้วก็ยังต้องคิด ขณะนี้ก็กำลังคิด กลับบ้านก็คิด นอนตื่นขึ้นมา ก็คิด และยังต้องคิดต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งก็ควรหาเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิด กุศลวิตก
สำหรับเรื่องสัจจะ ความจริง รสของความจริงเป็นรสที่ให้ความสุข ไม่ได้นำมาซึ่งความทุกข์เลย แม้ในเรื่องของความเป็นมิตร ถ้าเป็นมิตรแท้ เป็นมิตรที่จริง ก็ทำให้มีความสบายใจ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร คือ ผู้ที่มีความหวังดีต่อกัน ด้วยใจจริง
ขอกล่าวถึงข้อความใน เกสวชาดก ใน จตุกกนิบาตชาดก
ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ทำไมระยะนี้มีแต่เรื่องของชาดก แต่ชาดกคือชีวิตจริงของทุกคน เวลาที่ท่านฟังชาดก เสมือนว่าท่านฟังอดีตนิทาน นิทาน คือ ความเป็นมาก่อนๆ ก่อนถึงสมัยนี้ ซึ่งโลกจะอยู่ต่อไปหรือคนที่จะต้องเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ก็มีชีวิตเหมือนๆ อย่างนี้ หรือคล้ายๆ อย่างนี้
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงชาดก ไม่ใช่เพียงให้ทราบว่า ในอดีตชาติ พระผู้มีพระภาคได้ผ่านเหตุการณ์มาอย่างไร แต่สำหรับผู้ที่ฟังในขณะนั้นที่จะได้พิจารณาความละเอียดว่า แม้ในครั้งอดีตพระผู้มีพระภาคก็ได้เคยเกิดเป็นบุคคลนั้น มีความคิดอย่างนั้น และท่านเองในขณะนี้ จิตของท่านจะเหมือนกับจิตของบุคคลในชาดก หรือว่าต่างกัน
แสดงให้เห็นว่า ทุกกาลสมัย ไม่ว่าจะกล่าวชื่อของขันธ์ต่างๆ โดยชื่อนั้น ชื่อนี้ แม้แต่ในยุคนี้ สมัยนี้ ในขณะนี้ ก็มีแต่ขันธ์ นามขันธ์ รูปขันธ์ ขันธ์ ๕ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่ก็ยังมีชื่อต่างๆ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาและการสะสมของขันธ์
ข้อความใน เกสวชาดก มีว่า
ท่านนารทอำมาตย์ถามเกสวดาบสว่า
เป็นอย่างไรหนอ เกสวดาบสผู้มีโชคของข้าพเจ้าทั้งหลาย จึงละพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นจอมมนุษย์ ซึ่งสามารถให้สำเร็จประสงค์ทุกประการ แล้วมายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปดาบส
เกสวดาบสขณะนี้ก็เป็นพกมหาพรหม และกัปปดาบสก็คือพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในกาลครั้งหนึ่ง พกมหาพรหมเป็นเกสวดาบส ผู้อยู่ในสำนักของพระเจ้าพาราณสี ท่านไม่ยินดีที่จะอยู่ที่นั่น ท่านยินดีที่จะอยู่ในอาศรมของกัปปดาบส เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ความสุขในการที่จะอยู่ในสถานที่ ต่างๆ ก็ต้องมีเหตุ
เกสวดาบสตอบว่า
ท่านนารทอำมาตย์ สิ่งอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังประโยชน์ให้สำเร็จมีอยู่ หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ใจมีอยู่ ถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตของกัปปดาบส ยังอาตมาให้ยินดี
ถึงจะอยู่ในพระราชวัง ถ้าขาดธรรมหรือสุภาษิต เกสวดาบสก็ไม่ยินดีที่จะอยู่ ในที่นั้น แต่ถึงจะอยู่ในอาศรมในป่า ท่านก็ยังยินดี เพราะว่าท่านยังได้ฟังคำที่เป็นสุภาษิตของกัปปดาบส
ท่านนารทอำมาตย์ในครั้งนั้น คือ ท่านพระสารีบุตรในชาติสุดท้าย ซึ่งท่าน นารทอำมาตย์ได้ถามต่อไปว่า
พระคุณเจ้าบริโภคข้าวสุกสาลีที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาด ไฉนข้าวฟ่างและลูกเดือยอันหารสมิได้ จึงทำให้พระคุณเจ้ายินดีได้เล่า
เกสวดาบสตอบว่า
ของบริโภคจะดีหรือไม่ดีก็ตาม จะน้อยหรือมากก็ตาม บุคคลใดคุ้นเคยกันแล้ว จะพึงบริโภค ณ ที่ใด การบริโภค ณ ที่นั้นแหละดี เพราะรสทั้งหลายมีความคุ้นเคยกันเป็นยอดเยี่ยม
นี่คือสัจจะ ความจริง ซึ่งออกมาทุกด้าน ทั้งกาย วาจา และใจ คนที่คบหาสมาคมกันก็สามารถรู้ได้โดยพิสูจน์ด้วยตนเองว่า เมื่อมีบุคคลใดที่มีความจริงใจ ต่อท่าน ท่านย่อมรู้สึกมีความเป็นมิตรและมีความสบายใจ มากกว่าที่จะอยู่ในสถานที่ หรือกับบุคคลซึ่งไม่มีความจริงใจต่อกัน
ข้อความใน อรรถกถา มีว่า
ได้ยินว่า ในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีภัตตาหารไว้ถวายภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นประจำ เรือนของท่านเศรษฐีจึงเป็นเสมือนบ่อน้ำของภิกษุสงฆ์ อยู่เป็นนิตย์ เรืองรองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ คลาคล่ำด้วยหมู่ฤๅษีผู้แสวงบุญ
ฤๅษีในที่นี้ หมายถึงพระภิกษุ
อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาทรงกระทำประทักษิณพระนคร ทอดพระเนตรเห็นภิกษุสงฆ์ในนิเวศน์ของท่านเศรษฐี ทรงดำริว่า แม้เราก็จักถวายภิกษาหารเป็นประจำแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป จึงเสด็จไปวิหาร ทรงนมัสการพระศาสดา แล้วทรงเริ่มตั้ง ภิกษาหารแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นประจำ
นับแต่นั้นมา ก็ทรงถวายภิกษาหารในพระราชนิเวศน์เป็นประจำ โภชนะแห่งข้าวสาลีมีกลิ่นหอมซึ่งเก็บไว้ถึง ๓ ปี เป็นของประณีต แต่ผู้ถวายด้วยมือของตน ด้วยความคุ้นเคยก็ดี ด้วยความสิเนหาก็ดี มิได้มี พวกพนักงานย่อมจัดให้ถวาย ภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาที่จะนั่งฉัน รับเอาภัตตาหารมีรสเลิศต่างๆ แล้ว ไปยังตระกูลอุปัฏฐากของตนๆ ให้ภัตตาหารแก่พวกอุปัฏฐากเหล่านั้นแล้ว พากันฉันภัตตาหารที่อุปัฏฐากเหล่านั้นถวาย ไม่ว่าจะเศร้าหมองหรือประณีต
อยู่มาวันหนึ่ง เขานำผลไม้เป็นอันมากมาถวายพระราชา พระองค์รับสั่งว่า พวกท่านจงถวายแด่ภิกษุสงฆ์ คนทั้งหลายจึงพากันไปยังโรงภัตตาหาร ไม่เห็นภิกษุสักรูปเดียว จึงกราบทูลแก่พระราชาว่า แม้ภิกษุรูปเดียวก็ไม่มี พระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า ยังไม่ถึงเวลากระมัง คนทั้งหลายกราบทูลว่า ถึงเวลาแล้ว พระเจ้าข้า แต่ภิกษุทั้งหลายรับภัตตาหารในวังของพระองค์แล้วไปในเรือนแห่งอุปัฏฐากผู้คุ้นเคย ของตนๆ ให้ภัตตาหารนั้นแก่อุปัฏฐากเหล่านั้น แล้วฉันภัตตาหารที่อุปัฏฐากเหล่านั้นถวาย จะเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม
พระราชาทรงดำริว่า ภัตตาหารของเราประณีต เพราะเหตุไรหนอ ภิกษุทั้งหลายจึงไม่ฉันภัตตาหารนั้น พากันฉันภัตตาหารอื่น เราจักทูลถามพระศาสดา จึงเสด็จไปพระวิหาร ทรงนมัสการ แล้วจึงทูลถาม
พระศาสดาตรัสว่า
มหาบพิตร ธรรมดาการบริโภคโภชนะมีความคุ้นเคยกันสำคัญยิ่ง เพราะ ในพระราชวังของพระองค์ไม่มีผู้เข้าไปตั้งความคุ้นเคย แล้วให้ด้วยความสนิทสนม ภิกษุทั้งหลายจึงรับภัตตาหาร แล้วฉันในที่แห่งคนผู้มีความคุ้นเคยแก่ตน
มหาบพิตร ชื่อว่ารสอื่นเช่นกับความคุ้นเคย ย่อมไม่มี แม้ของอร่อย ๔ อย่างที่คนผู้ไม่คุ้นเคยให้ ย่อมไม่ถึงค่าสักว่าเปรียงที่คนผู้คุ้นเคยให้
แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ครั้นเมื่อโรคเกิดขึ้น เมื่อพระราชาแม้ทรงพา หมอทั้ง ๕ ตระกูลไปให้กระทำยา เมื่อโรคไม่สงบ ได้ไปยังสำนักของคนผู้คุ้นเคยกัน บริโภคยาคูอันทำด้วยข้าวฟ่างและลูกเดือยซึ่งไม่เค็ม และผักซึ่งราดด้วยสักแต่ว่าน้ำเปล่า ไม่มีรสเค็ม ก็หายโรค
พระราชาทูลอาราธนาให้พระผู้มีพระภาคตรัสเล่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัส เรื่องในอดีตว่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กาสิกรัฐ บิดามารดาตั้งชื่อกุมารนั้นว่า กัปปกุมาร กัปปกุมารนั้นเจริญวัยแล้วเรียนศิลปะทุกอย่างในเมืองตักกศิลา ภายหลังต่อมาได้บวชเป็นฤๅษี
ครั้งนั้น เกสวดาบสห้อมล้อมด้วยดาบส ๕๐๐ รูป เป็นครูของคณะ อยู่ในหิมวันตประเทศ พระโพธิสัตว์ได้ไปยังสำนักของเกสวดาบสนั้น อยู่เป็น อันเตวาสิกผู้ใหญ่แห่งอันเตวาสิก ๕๐๐ รูป แท้จริง อัธยาศัยใจคอของพระโพธิสัตว์นั้น ได้มีความสนิทสนมต่อเกสวดาบส ดาบสเหล่านั้นได้เป็นผู้คุ้นเคยกันและกันยิ่งนัก
ต่อมา เกสวดาบสได้พาดาบสเหล่านั้นไปยังถิ่นมนุษย์เพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว ถึงนครพาราณสีแล้วอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้นเข้าไปสู่พระนครเพื่อภิกขาจาร ได้ไปถึงประตูพระราชวัง พระราชาทรงเห็นหมู่ฤๅษี จึงให้ไปนิมนต์มา แล้วให้ฉันในภายในพระราชนิเวศน์ ทรงถือเอาปฏิญญาแล้ว ให้พักอยู่ใน พระราชอุทยาน
ครั้นเมื่อล่วงกาลฤดูฝนแล้ว เกสวดาบสได้ทูลอำลาพระราชา พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายเป็นผู้แก่เฒ่า จงอาศัยข้าพเจ้าอยู่ก่อน ส่งแต่ดาบสหนุ่มๆ ไปยังหิมวันตประเทศเถิด เกสวดาบสรับว่าดีละ แล้วส่งดาบสเหล่านั้นพร้อมกับอันเตวาสิกผู้ใหญ่ไปยังหิมวันตประเทศ ตนเองผู้เดียวยับยั้งอยู่
เมื่อกัปปดาบสไปยังหิมวันตประเทศอยู่กับดาบสทั้งหลาย เกสวดาบสเมื่ออยู่เหินห่างกัปปดาบสก็รำคาญใจ เป็นผู้ใคร่จะเห็นกัปปดาบสนั้น ไม่เป็นอันได้หลับนอน เมื่อเกวสดาบสนั้นนอนไม่หลับ อาหารก็ไม่ย่อยไปด้วยดี โรคลงโลหิตก็ได้เกิดมีขึ้น ทุกขเวทนาเป็นไปอย่างแรงกล้า พระราชาทรงพาแพทย์ ๕ สกุลมาปรนนิบัติพระดาบส โรคก็ไม่สงบ
เกสวดาบสทูลพระราชาว่า มหาบพิตร พระองค์ปรารถนาให้อาตมภาพตาย หรือปรารถนาให้หายโรค
พระราชาตรัสว่า ปรารถนาให้หายโรคซิ ท่านผู้เจริญ
เกสวดาบสทูลว่า ถ้าอย่างนั้น พระองค์จงส่งอาตมภาพไปยังหิมวันตประเทศ
พระราชาตรัสว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ
แล้วทรงส่งนารทอำมาตย์ไป ด้วยพระดำรัสว่า ท่านจงพาท่านผู้เจริญไป หิมวันตประเทศพร้อมกับพวกพรานป่า
นารทอำมาตย์นำเกสวดาบสนั้นไปหิมวันตประเทศแล้วกลับไปยังพระนคร
ฝ่ายเกสวดาบสพอได้เห็นกัปปดาบสเท่านั้น โรคทางใจก็สงบ ความรำคาญใจก็ระงับไป ลำดับนั้น กัปปดาบสได้ให้ยาคูที่หุงด้วยข้าวฟ่างและลูกเดือยพร้อมกับ ผักที่ราดรดด้วยน้ำเปล่าซึ่งไม่เค็มไม่ได้อบแก่เกสวดาบสนั้น โรคลงโลหิตของ เกสวดาบสนั้นก็สงบระงับลงในขณะนั้นเอง
พระราชาทรงส่งนารทอำมาตย์นั้นไปอีก ด้วยรับสั่งว่า เธอจงไปฟังข่าวคราวของเกสวดาบสดูทีเถิด
นารทอำมาตย์นั้นไปแล้วได้เห็นเกสวดาบสนั้นหายโรคแล้ว จึงกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ พระเจ้าพาราณสีทรงพาแพทย์ ๕ ตระกูลมาปรนนิบัติ ไม่อาจทำท่านให้หายโรค กัปปดาบสปรนนิบัติท่านอย่างไร แล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
เป็นอย่างไรหนอ เกสวดาบสผู้มีโชคจึงละพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นจอมมนุษย์ ผู้ทำความประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ มายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปดาบส
เกสวดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
ดูก่อน นารทอำมาตย์ สิ่งอันน่ารื่นรมย์ใจซึ่งยังประโยชน์ให้สำเร็จมีอยู่ หมู่ไม้อันทำใจให้รื่นรมย์มีอยู่ แต่ถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตของกัปปดาบส ย่อมทำให้เราอภิรมย์ยินดี
นารทอำมาตย์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า
พระคุณเจ้าบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาดมาแล้ว ไฉน ข้าวฟ่างและลูกเดือยอันหารสมิได้ จึงทำให้พระคุณเจ้ายินดีได้เล่า
เกสวดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า
ของบริโภคจะดีหรือไม่ดีก็ตาม จะน้อยหรือมากก็ตาม บุคคลผู้คุ้นเคยกันแล้วบริโภคในที่ใด การบริโภคในที่นั้นแหละดี เพราะรสทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นเยี่ยม
ถามว่า เพราะเหตุไร
ตอบว่า เพราะรสทั้งหลายมีความคุ้นเคยกันเป็นยอดเยี่ยม
อธิบายว่า รสทั้งหลายชื่อว่ามีความคุ้นเคยเป็นเยี่ยม เพราะความคุ้นเคยเป็นยอดเยี่ยม คือ สูงสุดแห่งรสทั้งหลายเหล่านี้ เพราะขึ้นชื่อว่ารส จะเสมอกับรส คือความคุ้นเคยกันย่อมไม่มี เหตุนั้นโภชนาหารแม้มีรสอร่อย ๔ อย่างที่คนผู้ไม่คุ้นเคยจัดให้ ย่อมไม่ถึงค่าน้ำส้มและน้ำข้าวที่คนผู้คุ้นเคยกันจัดให้แล้ว
นารทอำมาตย์ได้ฟังคำของเกสวดาบสนั้นแล้ว จึงไปยังราชสำนัก กราบทูล คำที่เกสวดาบสกล่าวให้พระราชาทรงทราบ
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่าพระราชาในครั้งนั้นได้เป็นท่านพระอานนท์ นารทอำมาตย์ในครั้งนั้นได้เป็นท่าน พระสารีบุตร เกสวดาบสในครั้งนั้นได้เป็นพกมหาพรหม ส่วนกัปปดาบสคือเรา ตถาคต ฉะนี้แล
ถ. อย่างนี้ติดเพื่อนไหม
สุ. ติดคำสุภาษิต ติดสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือติดเพื่อน
ถ. คิดว่าคงจะติดเพื่อนมากกว่า
สุ. เกสวดาบสไม่ได้บอกว่า มีความสนิทสนมคุ้นเคยโดยที่ไม่มีคำสุภาษิต แต่ที่สนิทสนมคุ้นเคยเพราะคำสุภาษิต ถ้าท่านผู้ฟังมีเพื่อนสนิทซึ่งมีความจริงใจ มีสัจจะ เป็นผู้ตรงในความเป็นเพื่อนที่ดี สนิทสนมคุ้นเคยมาก อย่างนี้ติดหรือเปล่า หรือว่าติดในความจริงใจ ความเป็นเพื่อนที่ดี ถ้าเพื่อนไม่ดี ไม่จริงใจ และไม่มี คำสุภาษิต จะติดไหม