แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2039

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๙ พฤษภาาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๓๔


ถ. ผมมีการศึกษาน้อยในเรื่องพระธรรม แต่ปฏิบัติค่อนข้างจะมาก การปฏิบัติก็ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเข้าป่า เพียงแต่ว่าเป็นการหลีกเร้น ๒ อย่าง คือ หลีกเร้นด้วยกาย ๑ หลีกเร้นด้วยจิต ๑ ขณะที่เราอยู่ที่นี่ เราก็หลีกเร้นได้ กายหลีกเร้นไม่ได้ แต่เราหลีกเร้นด้วยจิต แต่เมื่อพูดถึงสติปัฏฐาน ก็ต้องมุ่งไปที่มีสมาธิเกิด คือ เราพิจารณาธรรมในสมาธินั้น ถ้าพูดถึงสติสัมปชัญญะ ก็หมายถึงการสังวรอินทรีย์ สังวรอย่างไร ก็สังวรไม่ให้อกุศลเกิด ตาเห็นรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น กายกระทบสัมผัส และธรรมกระทบใจ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน จะเกิดทันทีก็คงยาก ไม่เข้าใจ อาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยว่า สติปัฏฐานเกิด กับสติสัมปชัญญะเกิด ต่างกันอย่างไร

สุ. สติเป็นโสภณเจตสิก เป็นสภาพที่ระลึกได้ ถ้าระลึกเป็นไปในทาน ขณะนั้นก็มีการให้ทาน ถ้าระลึกเป็นไปในศีล ขณะนั้นก็มีการวิรัติทุจริต ถ้าจิตเป็นอกุศลและสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ในสภาพจิตที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็เพราะสติ ซึ่งเป็นโสภณธรรมเกิดขึ้นระลึก และมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ คือ อาการของอกุศล ในขณะที่เห็นอกุศลด้วยกุศลจิต ขณะนั้นจิตนั้นประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะว่าไม่ใช่เพียงแต่นึกเรื่องของสภาพธรรมโดยที่ไม่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏให้รู้

สติสัมปชัญญะ หมายความถึงขณะใดที่มีสภาพธรรมปรากฏให้รู้และสติระลึกได้ เพราะเป็นโสภณธรรม พร้อมด้วยสัมปชัญญะ คือ รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นกุศลจิต ที่สามารถเห็นอกุศลจิตตามความเป็นจริงว่าเป็นอกุศลธรรม ขณะที่รู้ว่าอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ควรจะมี ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นละเว้นอกุศลธรรมนั้น เป็นสมถภาวนา เพราะจิตสงบได้

ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงแค่สงบชั่วคราว แต่มีความรู้ว่า สภาพธรรม ทุกอย่างไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นสัญญาความจำที่มั่นคง ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ว่า ขณะที่เห็นในขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ก็เป็น สภาพธรรมที่มีจริง แต่ถ้ายังไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ สติปัฏฐานก็ไม่สามารถระลึกได้ถูกต้อง เพราะว่าขณะนี้ก็ไม่ใช่ไม่เห็น ขณะนี้ก็กำลังเห็น แต่ปัญญาที่จะรู้ตามความเป็นจริงพร้อมสติว่า ขณะที่เห็นนี้เป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ต้องอาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมมากจนกระทั่งมีความรู้จริงเป็น สัจจญาณ เพราะว่าอริยสัจจะมี ๓ รอบ รอบที่ ๑ คือ สัจจญาณ มีการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม มีการเข้าใจในสัจจะ ในความจริงของปรมัตถธรรม รู้ใน สภาพที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นกว้างขวางละเอียดขึ้น จนกระทั่งกิจจญาณคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติเป็นมรรค ๕ องค์ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เช่น ทางตาในขณะนี้ ที่จะเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งทุกคนก็ฟังมานานเหลือเกินว่า ไม่มีตัวตน มีแต่นามธรรมและรูปธรรม ขณะเห็นขณะนี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ อาการรู้ ไม่ควรจะให้เพียงผ่านไป แต่ควรศึกษา พิจารณา ระลึกในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งสามารถรู้ได้ว่า รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ท่านที่กำลังนั่ง ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้านั่งนิ่งๆ เฉยๆ ก็เหมือนท่อนไม้ ไม่ต่างกันเลย เพราะว่ารูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ แต่ถ้าท่านกำลังยืนอยู่ พิจารณาให้เข้าใจให้รู้จริงๆ ว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เวลาที่ยังไม่มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็ไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ คือ ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่รูปไม่เคลื่อนไหวเลย นิ่ง ตรง แข็งเหมือนท่อนไม้ การเห็นเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในพระธรรมแสดงว่า เหมือนออกมาจากรูป เพราะที่รูปมีการเห็น ตรงตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้

นี่คือการที่จะพิจารณาให้สติและปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะชิน ไม่ต้องไปมุ่งเรื่องสมาธิ หรือเรื่องอื่นเลย

ถ. การเจริญสติปัฏฐาน คือ สติปัฏฐานเกิด กับการสังวรอินทรีย์นั้นต่างกันอย่างไร

สุ. ก่อนอื่น ที่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน หรือ อินทรียสังวร อย่าเพิ่งรีบไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า สติปัฏฐาน หมายความถึงสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏ เพื่อปัญญาจะได้เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมจน ประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น

ส่วนอินทรียสังวร อินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มีอะไรปรากฏให้ปัญญารู้เลย เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะ รู้ได้ ก็รู้ในขณะที่มีการเห็น ไม่ใช่ว่าไม่มีการเห็นแล้วไปรู้ความจริงเรื่องการเห็น ไม่ใช่ว่าไม่ได้ยินแล้วไปรู้ความจริงของได้ยิน เพราะฉะนั้น เมื่ออินทรีย์มี ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญาก็รู้ความจริงในขณะที่สภาพธรรมปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ชื่อว่าเป็นอินทรียสังวรด้วยสติ

ถ. คือ สติระลึกว่าที่เห็นนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

สุ. ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้

ถ. เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ หรือเปล่า

สุ. ขณะนี้ระลึกที่ไหน ไปอ่านดูว่าสติปัฏฐาน ๔ จะพ้นจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจหรือเปล่า ขันธ์มีไหม ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีไหมขันธ์ ๕

ถ. สมาธินี่ไม่เกี่ยวเลย ใช่ไหม

สุ. สมาธิเกิดกับจิตทุกขณะ ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นมิจฉาสมาธิ แม้สัมมาสมาธิก็มีหลายระดับขั้น โดยนัยต่างๆ

ถ. ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สัมมาสมาธิเป็นไฉน พระพุทธองค์ตรัสว่า สงัดจากกาม สงัดจากอกุศล เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ถ้าเราไม่เริ่มเจริญสมาธิ เราจะเข้าถึงคำว่า สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลได้ไหม

สุ. การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยที่ไม่รู้พร้อมกับองค์ของฌาน เป็น สุกขวิปัสสกะ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน สาวกที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยไม่ประกอบด้วยองค์ของฌานขั้นต่างๆ ก็มีมากกว่าผู้ที่เป็นเจโตวิมุตติ คือ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมพร้อมด้วยองค์ของฌานขั้นต่างๆ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟัง เป็นใคร ยุคไหน สมัยไหน

ถ. ถ้าจะเข้าถึงเจโตวิมุตติ ต้องทำอย่างไร

สุ. ท่านผู้ฟังจะเข้าถึงเจโตวิมุตติหรือ

ถ. ไม่ใช่ หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรม

สุ. ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ในสมัยก่อนการตรัสรู้ อาฬารดาบส อุทกดาบส ซึ่งเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปศึกษาสมถภาวนา จนกระทั่งพระองค์ได้บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นอรูปฌาน ขั้นสูงสุด แต่ด้วยพระบารมีที่ได้สะสมมาทำให้รู้ว่า นั่นไม่ใช่การพ้น ไม่ใช่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมสมาธิ ตั้งแต่ในครั้งนั้น จะเห็นได้ว่า มีผู้ที่อบรมเจริญสมาธิถึงขั้นฌานมาก่อน แต่ไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต่อเมื่อใด พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว และทรงแสดงพระธรรม บุคคลที่เคยปฏิบัติสมาธิ สมถภาวนาจนกระทั่งบรรลุฌานขั้นต่างๆ ก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเพื่อละ

การอบรมเจริญปัญญาเพื่อจุดประสงค์อย่างเดียว คือ เพื่อละ พระธรรมทั้งหมด ทั้ง ๓ ปิฎก เพื่อละ ละด้วยปัญญา ไม่ใช่เป็นการเร่งรัดให้ใครต้องการอะไร ให้ใครอยากได้อะไร ให้ใครถึงอะไร พระธรรมทั้งหมดนั้นเพื่อละ แม้ในเรื่องของการเจริญสมถภาวนาจริงๆ ก็ต้องทราบว่า เพื่อละโลภะ ส่วนวิปัสสนาภาวนานั้น ละอวิชชา เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ยังไม่รู้ว่า โลภะน่ารังเกียจ ขณะนั้นจะไม่มีการอบรมเจริญสมถภาวนาเลย

คนสมัยนี้ไม่ชอบโทสะ ไม่ชอบความรู้สึกที่ไม่สบาย ทุรนทุราย กระสับกระส่าย เดือดร้อน ก็ไปนั่งทำสมาธิ เพื่อจิตใจจะได้ไม่คิดถึงเรื่องอื่น ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ไม่ได้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่รู้สภาพที่เป็นอกุศลจิต ซึ่งต่างจากกุศลจิต เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ชื่อว่าสงบ แต่เข้าใจว่า ในขณะที่ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดเรื่องอื่นนั้น สงบ ด้วยความเห็นผิด

เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่สมถภาวนา ด้วยเหตุนี้ผู้ที่แม้เจริญสมถภาวนา ได้ฌานขั้นต่างๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อละความเป็นตัวตน การที่ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีวสี มีความชำนาญแคล่วคล่อง เพราะว่ากว่าจะถึงฌานจิตแต่ละขั้น ไม่ใช่ถึงได้โดยง่ายเลย ขณะนี้ท่านผู้ใดที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ เพราะว่าจิตในขณะนี้เกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก กุศลจิตไม่ใช่อกุศลจิต ขณะที่เห็นสติสัมปชัญญะสามารถรู้ได้ว่า เห็นแล้วเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ขณะที่ได้ยินเสียงสติสัมปชัญญะสามารถรู้ได้ว่า ขณะที่ได้ยินแล้วเป็นอกุศลหรือเป็นกุศล มิฉะนั้นแล้วละนิวรณ์ ๕ ไม่ได้เลย เพราะว่าไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตซึ่งประกอบด้วยนิวรณ์ ๕ แต่ไปรู้จักชื่อนิวรณ์ ๕

เวลาตื่นลืมตาขึ้นมาจิตเป็นอะไร ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถรู้เลยว่าจิตเป็นโลภะโดยตลอด เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่เห็นง่าย แม้ว่ามี

ตั้งแต่เช้าตื่นขึ้นมากระทำกิจบริหารร่างกาย ประกอบกิจการงานต่างๆ บริโภคอาหาร ติดต่อธุระการงาน ทั้งหมดเป็นโลภะ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ไม่ใช่กุศลจิต แต่ไม่รู้เลย

ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา ที่จะอบรมเจริญความสงบ ต้องเห็นโลภะ เพราะว่าโลภะมีมากกว่าโทสะในวันหนึ่งๆ และเป็นผู้ที่รู้ว่า ถ้ายังมีโลภะขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่กุศล เป็นอกุศล ไม่สงบ

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีสติสัมปชัญญะ คือ ปัญญาที่รู้ความต่างกันของกุศล และอกุศล และเป็นผู้ที่เห็นโทษของโลภะ จึงเจริญสมถภาวนา แต่ผู้ที่เห็นโทษของอวิชชารู้ว่า ที่มีโลภะเพราะอวิชชา เพราะว่าไม่รู้ความจริงขณะที่กำลังเห็น ไม่รู้ความจริงขณะที่ได้ยิน ไม่รู้ความจริงขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในวันหนึ่งๆ ไม่รู้ความจริงเลยว่า เกิดมาเพื่อที่จะรับผลของกรรม โดยเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และมีการสะสมกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งในวันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลมากกว่ากุศล ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของอกุศลอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะ อบรมเจริญภาวนาได้

เพราะฉะนั้น แล้วแต่ระดับขั้นของปัญญาว่า เป็นผู้ที่เห็นโทษของโลภะและ เห็นโทษของอกุศล และมีปัญญาเพียงขั้นที่จะทำให้จิตสงบ หรือเป็นผู้ที่เข้าใจหนทาง ที่จะดับกิเลส โดยปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไป ในขณะนี้ ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ และดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าต้องการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ต้องอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา

ถ. เดี๋ยวนี้เข้าใจแล้ว

สุ. ขณะนี้สติระลึกทางตาที่กำลังเห็นได้ไหม

ถ. ได้

สุ. ทางหูที่กำลังได้ยิน

ถ. ได้

สุ. ต้องไปคิดถึงสมาธิอะไรหรือเปล่า แต่กำลังเห็นขณะนี้สติระลึก และปัญญาเกิดไหม

ถ. ปัญญามีหลายขั้น ผมต้องกราบขออภัยทุกท่าน คือ ไม่รู้จริงๆ ที่ถาม ที่ท่านอาจารย์สอนนั้นละเอียด ท่านรู้จริง ท่านสอนประณีตมาก แต่ผมเอาเรื่องที่นอกเหนือจากที่ท่านอาจารย์สอนมาพูด อาจจะทำให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายสับสน กราบขอบพระคุณที่จัดให้มีการฟังธรรมทุกวัน ผมเชื่อว่าเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ทีเดียว

ถ. เมื่อคืนผมฟังคำบรรยายว่า สุขทุกข์ทางใจเกิดขึ้นเพราะคิดนึก คิดนึกนี่ไร้สาระ ผมเคยมาพูดที่นี่ว่า คิดนึกเรื่องราว อาจารย์บอกว่า เรื่องราวจริงๆ ไม่มี ผมคิดดูแล้วก็จริงอย่างที่อาจารย์ว่า สุขทุกข์ทางใจเกิดขึ้นเพราะคิดนึก แต่ผมยัง รู้สึกว่า คิดนึกสำคัญ อย่างจะสร้างตึกต้องคิดนึกก่อน เสื้อผ้าที่ใส่ต้องผ่านการคิดนึก อาหารก็ต้องผ่านการคิดนึกจึงจะมีอาหาร เกิดสงครามใหญ่โตที่อ่าวเปอร์เซียก็เพราะคิดนึก ถ้าไม่มีคิดนึกสงครามนั้นก็ไม่เกิดขึ้น เครื่องบิน อาวุธ จรวด ก็เกิดขึ้นเพราะคิดนึก ผมจึงว่าคิดนึกสำคัญ เมื่อคืนได้ยินอาจารย์บอกว่า คิดนึกไร้สาระ ผมจึง ข้องใจว่า ทำไมไร้สาระ เรื่องราวนั่นไม่มีจริงๆ แต่สำคัญ ผมข้องใจว่า ของไม่มีจริงๆ แต่ทำไมจึงสำคัญ

สุ. สำคัญในความหมายที่ว่า ถ้าไม่เข้าใจสมมติบัญญัติต่างๆ แล้ว มีชีวิตเป็นอยู่ไม่ได้ แม้แต่จะรับประทานอาหารก็รับประทานไม่ได้แน่นอน ถ้าไม่มีจิตที่คิดนึกถึงจาน อุปกรณ์ในการบริโภคต่างๆ

เพราะฉะนั้น การมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ว่าคนนั้นเป็นผู้เห็นแล้วไม่คิด ได้ยินแล้วไม่คิด ไม่มีใครเลยในสังสารวัฏฏ์ที่เกิดมาแล้วจะไม่คิด แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้การเห็นสิ่งที่ประณีตน่าพอใจ หรือเห็นสิ่งที่ ไม่น่าพอใจ ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ฉันใด ความคิดนึกของแต่ละคนก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาฉันนั้น แล้วแต่การสะสม ซึ่งทำให้โลกนี้ก้าวไปเรื่อยๆ ด้วยกำลังของความคิดนึกสิ่งต่างๆ อยู่เรื่อยๆ

แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจสภาพของโลกคือสภาพของจิตจะรู้ว่า ที่ว่าไม่มีสาระนั้น หมายความถึงไม่ยั่งยืน ต้องเข้าใจด้วยว่า ที่ไม่มีสาระ คือ ไม่ยั่งยืน ความคิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียวซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ ถ้ายังยึดถือมั่นในความคิดว่า เป็นตัวตน เป็นเรา นั่นคือความเห็นผิด แต่ผู้ที่มีปัจจัยที่จะให้คิดเพราะว่าเมื่อเห็นแล้วก็ต้องคิด เมื่อได้ยินแล้วก็ต้องคิด เมื่อได้กลิ่นก็ต้องคิด เมื่อลิ้มรสก็ต้องคิด คิดอยู่ตลอด แม้จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรสก็คิด แต่ควรจะ รู้ความจริงด้วย ซึ่งจะทำให้มีความสุขสงบเพิ่มขึ้นเมื่อรู้ความจริงว่า ความคิดไม่เที่ยง เป็นเพียงชั่วขณะจิตที่เกิดขึ้นและดับไป

เพราะฉะนั้น ไม่มีการไปบังคับบัญชาความคิด หรือไม่มีการไปเปลี่ยนแปลงการสะสมของเหตุปัจจัย แต่ปัญญาสามารถหยั่งลึกถึงการสะสมว่า เพราะเหตุใด จึงคิดอย่างนี้ เพราะว่าบางคนคิดเป็นอกุศลมากเหลือเกิน และบางคนก็คิดเป็นกุศล ซึ่งแล้วแต่การสะสม เพราะคงไม่มีใครอยากมีความคิดในทางอกุศลเท่านั้น มีแต่ อกุศลทั้งวันคงแย่ เพราะฉะนั้น ก็มีกุศลวิตกด้วย และกุศลวิตกที่ควรจะเพิ่มกำลังขึ้น คือ ต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ความจริงว่า แม้ขณะที่คิดก็เป็นชั่วขณะจิตเดียว

ทุกคนที่วุ่นวายอยู่ในโลกและก็จากโลกนี้ไป ลืมหมด จะไปวุ่นวายกับโลกนี้ เมื่อไปเกิดที่อื่นก็เป็นไปไม่ได้ แต่จะวุ่นวายต่อไปกับความคิดในโลกอื่น ซึ่งไปเกิดเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ในภพอื่น

พอที่จะเห็นด้วยไหมกับคำพูดที่ว่า ไม่มีสาระ เพราะว่าเป็นแต่เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้นและหมดไป แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไม่มีการรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว มีชีวิตอยู่ไม่ได้แน่นอน

เปิด  215
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565