แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2041

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๒๖ พฤษภาาคม ๒๕๓๔


สุ. ในคราวก่อนมีท่านผู้ฟังที่สงสัยว่า เวลาจบเทศนาแล้วมีผู้ที่บรรลุ มรรคผลนิพพาน ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะสงสัยไหมว่า บรรลุมรรคผลนิพพานได้ แม้ในขณะที่กำลังฟังชาดกที่พระผู้มีพระภาคตรัสเล่านั่นเอง เพราะว่าความละเอียดของจิตใจของบุคคลในชาดกในอดีต กับความละเอียดของจิตใจของคนที่กำลังฟังพระธรรมเทศนา ในขณะที่กำลังฟังพระธรรมเทศนาจิตมากมายหลายขณะที่เกิด อาจจะได้ยินแล้วคิด และในขณะนั้นอาจจะเผลอ อาจจะหลงลืม อาจจะคิดเรื่องอื่น ไม่ว่าเสียงจะปรากฏ หรือสภาพธรรมใดจะปรากฏ ความคิดใดๆ จะปรากฏ ขณะที่กำลังฟังนั้นเอง อาจจะตรึกตามเรื่องราว และอาจจะคิดตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ซึ่งในขณะนั้นคือความเป็นจริงของแต่ละบุคคลที่กำลัง ฟังพระธรรม และเมื่อสติปัฏฐานมีกำลัง ก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ทั้ง ๖ ทาง

สภาพนามธรรมทั้งหมดที่กล่าว ไม่ว่าจะในชาดก หรือในขณะนั้น ก็เป็นสัจจธรรม ซึ่งทำให้บุคคลที่ได้ฟังและสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนปัญญาคมกล้าละคลายความเป็นตัวตนที่กำลังฟังในขณะนั้น สามารถถึงความสมบูรณ์ของการที่วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นตามลำดับ และรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกันทุกชาติ ชาติก่อนอาจจะเคยฟังชาดกนี้มาแล้ว และอีกหลายๆ ชาติก็อาจจะได้ฟังชาดกนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่สภาพของจิตในขณะที่กำลังฟัง จะมีปัญญาที่คมขึ้น และละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเมื่อไร ก็ย่อมสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ขณะนี้รายการภาคค่ำกำลังสนทนาเรื่องวิปลาส ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันของ ทุกคน เว้นพระอรหันต์เท่านั้น เมื่อได้ฟังทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อว่าถ้ามีข้อความใดที่คลาดเคลื่อนจากความถูกต้อง ก็จะได้แก้ไข

เรื่องของวิปลาสมีข้อที่ควรพิจารณา โดยเฉพาะเมื่อได้ฟังข้อความที่ดิฉัน กล่าวไว้ว่า วิปลาส ได้แก่ อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง ซึ่งตามข้อความที่มีอยู่ใน อรรถกถา สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา วิปัลลาสกถา ไม่มีข้อความนี้ คือ ไม่มีข้อความโดยตรงว่า ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ ดวง เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านผู้ฟังช่วยกันพิจารณาเนื้อความในอรรถกถาเพื่อความถูกต้อง เพราะว่าเรื่องของธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก จึงควรพิจารณาเป็นลำดับให้ละเอียดขึ้นด้วย

ข้อความที่ควรพิจารณา คือ

วิปลาส ๑๒ ได้แก่ สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปลาส ๑ ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่างาม

ก่อนอื่นที่ควรจะต้องพิจารณา คือ เรื่องของวิปลาสเป็นเรื่องของอกุศลจิตแน่นอน และอกุศลจิตหรืออกุศลเจตสิกก็จำแนกออกเป็นอกุศลธรรมหลายประเภท เช่น อาสวะ โยคะ คันถะ นิวรณธรรม สังโยชน์ เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง จำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ กันฉันใด วิปลาส ๓ อย่าง ก็ควรจะได้พิจารณาว่า องค์ธรรม ได้แก่ อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง หรือว่าเฉพาะ โลภมูลจิต ๘ ดวงเท่านั้น

นี่คือความละเอียด เพราะถ้าอ่านข้อความในอรรถกถาเพียงครั้งเดียว หรือเพียงคร่าวๆ อาจจะทำให้มีความเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่ถ้าอ่านทบทวนและพิจารณาอีก ก็อาจจะเป็นความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้ง ๒ อย่างขอให้ท่านผู้ฟังช่วยร่วมกันพิจารณาด้วยว่าควรจะเป็นอย่างไร เพราะว่าข้อความในอรรถกถาทุกแห่งเท่าที่ค้นดู ไม่ได้แสดงองค์ธรรมโดยตรงว่า วิปลาส ได้แก่ อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง และไม่ได้แสดงด้วยว่า ได้เฉพาะโลภมูลจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา

สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา วิปัลลาสกถา มีข้อความว่า

สัญญาวิปลาส ย่อมปรากฏในกาลแห่งกิจของตนมีกำลังด้วยอกุศลสัญญาปราศจากทิฏฐิ ในฐานะแห่งกิจของจิตมีกำลังอ่อน

ด้วยอกุศลสัญญาปราศจากทิฏฐิ นี่เป็นเหตุที่ทำให้คิดว่า น่าจะหมายถึงว่า อกุศลจิตอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เป็นสัญญาวิปลาส

เพราะข้อความนี้ จึงต้องพยายามศึกษา พยายามพิจารณา พยายามเข้าใจ แสดงว่าเป็นอกุศลแน่นอน แต่จะรวมโมหมูลจิตและโทสมูลจิตไว้ด้วยหรือเปล่า นี่เป็นข้อที่น่าคิด

ลักษณะของสัญญาวิปลาส คือ การจำหรือการสำคัญลักษณะของสภาพธรรมคลาดเคลื่อนไป เช่น เห็นสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสภาพที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา เห็นสภาพที่ไม่งามว่างาม แต่สัญญาวิปลาสได้แก่อกุศลจิตเมื่อไร ขณะไหน ซึ่งวิปลาสมี ๓ อย่าง คือ สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปลาส ๑ ในบรรดาวิปลาสทั้ง ๓ สัญญาวิปลาสมีกำลังอ่อนกว่าจิตตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส

วันหนึ่งๆ ทุกคนมีอกุศลที่ไม่รู้สึกตัวเลย มีใครรู้สึกตัวบ้างไหมว่า วันนี้มีอกุศลประเภทใดบ้างมากแค่ไหน เพราะว่าโลภมูลจิตเกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่ใช่มีแต่โมหมูลจิต และขณะใดที่ไม่ใช่ความรู้สึกที่ขุ่นมัว ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของโลภมูลจิต โดยสัญญาวิปลาส เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส ไม่ใช่โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก ไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็นสภาพของจิตที่ประกอบด้วยความ เห็นผิดซึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๒ ดวง เป็นอสังขาริก ๑ ดวง เป็นสสังขาริก ๑ ดวง และเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๒ ดวง เป็นอสังขาริก ๑ ดวง เป็นสสังขาริก ๑ ดวง

พิจารณาชีวิตประจำวันเพื่อที่จะได้เข้าใจธรรม วันนี้มีทิฏฐิวิปลาส หรือ มีจิตตวิปลาส หรือมีสัญญาวิปลาส

ขณะใดที่ไม่มีทิฏฐิ ความเห็นผิด แต่เป็นชีวิตประจำวันที่มีความพอใจที่จะกระทำกิจการงานต่างๆ มีการเคลื่อนไหว มีการบริหารร่างกาย มีการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ พูดคุยสนทนาเรื่องต่างๆ ในขณะนั้นสภาพของจิตเป็นอกุศล จึงเป็นสัญญาวิปลาส หรือจิตตวิปลาส เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้เกิดร่วมกับทิฏฐิ ก็เป็นเพียงสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ซึ่งผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลระดับ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ยังมีจิตตวิปลาสและสัญญาวิปลาส แต่ไม่มีทิฏฐิวิปลาส เพราะว่าพระโสดาบันดับทิฏฐิวิปลาสหมด

เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันก็ควรจะพิจารณาว่า ไม่พ้นจากสัญญาวิปลาส และจิตตวิปลาส

... สัญญาวิปลาสมีกำลังอ่อนกว่าจิตตวิปลาสและทิฏฐิวิปลาส อุปมาดุจการเห็นกหาปณะของทารกไร้เดียงสา

เห็นจริง แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นสิ่งที่ใช้กันที่ชาวบ้านรู้กันว่า เป็นวัตถุสำหรับใช้ ในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ทารกไร้เดียงสาเห็นแต่ไม่รู้จักว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้น ก็มีสัญญาวิปลาส เพราะขณะนั้นเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเนื่องจากเป็นอกุศลจิต

จิตตวิปลาสมีกำลังมากกว่าสัญญาวิปลาส อุปมาดุจการเห็นกหาปณะ ของชาวบ้าน

ทิฏฐิวิปลาสมีกำลังมากกว่าวิปลาสอื่นทั้งหมด ดุจการจับเหล็กด้วยคีมเหล็กของช่างเหล็ก

ไม่ใช่เอามือจับ แต่จับเหล็กด้วยคีมเหล็กของช่างเหล็ก นั่นคือผู้มีทิฏฐิวิปลาส

เพราะฉะนั้น ปัญหา คือ วิปลาสได้แก่โลภมูลจิตเท่านั้นทั้งที่เป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์และทิฏฐิคตวิปปยุตต์ หรือว่าได้แก่อกุศลทั้งหมด

ถ้าจะพิจารณาอีกแง่หนึ่งว่า อกุศลธรรมคืออกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท จำแนกออกเป็นพวกๆ เป็นประเภทๆ ก็ไม่ใช่ว่าอกุศลเจตสิกทั้ง ๑๔ เป็นอกุศลธรรมทั้ง ๙ ประเภท อย่างอาสวะ ๔ ได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ เท่านี้เอง อกุศลเจตสิกอื่นไม่เป็นอาสวะ เพราะว่าอาสวะเป็นขณะที่อกุศลจิตเกิด อย่างบางเบาเป็นไปในวันหนึ่งๆ ที่ตากระทบรูป ไหลไปแล้วสู่ความเป็นกามาสวะ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องเตรียม มีปัจจัยปรุงแต่งที่จะให้ทันทีที่เห็นก็ไหลไปสู่อารมณ์นั้นด้วยความพอใจ หมักหมมมัวเมาอยู่เรื่อยๆ เหมือนแผลเปิดซึ่งไหลอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกามาสวะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือความพอใจในภพชาติ ความมีชีวิต หรือทิฏฐิ ความเห็น หรืออวิชชา แต่ไม่มีโทสะเป็นอาสวะ ฉันใด ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็พอจะคิดอีกนัยหนึ่งว่า สำหรับวิปลาสนั้น ได้เฉพาะโลภมูลจิตเท่านั้น ได้ไหม

คือ ในขณะที่เป็นโมหมูลจิต และในขณะที่เป็นโทสมูลจิตนั้น จะเป็นวิปลาสด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าพิจารณาเฉพาะโลภมูลจิตว่า วิปลาสนั้นได้แก่เฉพาะ โลภมูลจิตเท่านั้น ก็อาจพิจารณาได้ว่า โมหมูลจิตเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ขณะใดที่ไม่รู้จริงๆ ขณะนั้นเป็นโมหะ และวันนี้ไม่ทราบว่าขณะใดบ้างที่เป็นโมหะ เพราะว่าขณะที่เป็นโลภะยังเห็น คือ อยากจะอ่านหนังสือพิมพ์ อยากจะรับประทานอาหาร อยากจะทำอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นยังเห็นลักษณะของโลภมูลจิตได้ว่า เป็นความต้องการ เป็นความติดข้อง เป็นความพอใจ แต่โมหะนั้น ขณะที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่หลับ ตื่น แต่ในช่วงวันหนึ่งๆ ที่ตื่นมีขณะที่ไม่รู้ตัวบ้างไหม ขณะนั้นก็คือโมหะ ถ้าขณะนั้น เป็นโมหะจะวิปลาสไหม เพราะว่าไม่รู้อะไรทั้งนั้นในเรื่องของสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือสิ่งที่ไม่งาม ก็ไม่มีความเห็นอะไรเลยช่วงขณะนั้น ถ้าเป็น ในลักษณะนั้นก็น่าจะคิดว่า โมหะหรือโมหมูลจิตนั้นไม่เป็นวิปลาส แต่เป็นมูลให้เกิดวิปลาส และสำหรับโทสมูลจิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าโดยนัยนี้คือกล่าวว่า วิปลาสได้แก่ โลภมูลจิตเท่านั้น โทสมูลจิตก็เป็นผลซึ่งเกิดจากวิปลาส คือ เพราะวิปลาสจึงเกิดโทสะ

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า น สญฺญาวิปลฺลาโส น จิตฺตวิปลฺลาโส น ทิฏฺฐิวิปลฺลาโส ความสำคัญไม่ผิด ความคิดไม่ผิด ความเห็นไม่ผิด ท่านกล่าวถึงการถือเอา ตามความเป็นจริง เพราะไม่มีการยึดถือผิด ๑๒ อย่าง ในวัตถุ ๔ อย่าง

คือ ไม่มีสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ในสภาพที่ไม่งาม ว่างาม ขณะที่ไม่มีความวิปลาส เป็นในขณะที่เป็นกุศลจิต

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า วิสญฺญิโน มีสัญญาผิด นี้เป็นเพียงเทศนา ความว่า มีความจำ ความคิด และความเห็น วิปริต (คลาดเคลื่อนไปจากสภาพที่แท้จริงของธรรม)

คือ ตรงกันข้ามกับสติสัมปชัญญะ ลักษณะของวิปลาสต้องตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เป็นกุศล

อีกอย่างหนึ่ง เพราะสัญญาเป็นตัวนำ ท่านจึงกล่าวสัญญาวิปลาส ด้วยบท ๔ แห่งทิฏฐิก่อน แต่นั้นจึงกล่าวบทว่า มิจฺฉาทิฏฐิหตา ถูกมิจฉาทิฏฐินำไป เป็นทิฏฐิวิปลาส

เริ่มจากสัญญาวิปลาส และจึงเกิดทิฏฐิวิปลาส

สำหรับจิตตวิปลาส ข้อความมีว่า

บทว่า ขิตฺตจิตฺตา จิตกวัดแกว่ง เป็นจิตตวิปลาส

แสดงว่าเป็นอกุศลแน่นอน แต่ไม่มีข้อความที่บ่งชัดว่าเป็นอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง

บทว่า วิสญฺญิโน มีสัญญาผิด คือ ถึงโมหะปราศจากสัญญาปกติด้วยการ ถือวิปลาส ๓

ที่ใช้คำว่า วิปลาส ที่เป็นอกุศล ก็เพราะว่า ถึงโมหะปราศจากสัญญาปกติ

ดุจในบทนี้ว่า สลบเพราะกำลังพิษ ถึงวิสัญญี (หมดความรู้สึก)

นี่เป็นเพียงคำอุปมา คือ หมายถึงหมดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในขณะที่ เป็นอกุศล วิปลาสเป็นเรื่องอกุศลทั้งนั้น หมดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งละเอียดจนกระทั่งว่า หมดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จึงเป็นโลภะ จึงเป็นโทสะ จึงเป็นโมหะ

บทว่า เต โยคยุตฺตา มารสฺส คือ สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าติดอยู่ในบ่วงของมาร

บทว่า อโยคกฺเขมิโน เป็นผู้ไม่มีความปลอดโปร่งจากกิเลส คือ ไม่บรรลุนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ

สำหรับการดับวิปลาสเป็นขั้นๆ ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า

พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประกาศพระธรรม คือ ทรงแสดงธรรมละความวิปลาส ผู้มีปัญญาฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นกลับได้ความคิด คือ เว้นความวิปลาส ได้เห็นสภาพไม่เที่ยงโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง เห็นสภาพที่ มิใช่ตัวตนโดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน เป็นผู้ถือมั่นสัมมาทิฏฐิ คือ ถือความเห็นชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิเพราะละมิจฉาทิฏฐิทั่วแล้ว เป็นพระโสดาบัน (แต่) ความสำคัญ (ความจำ) ความคิดในทุกข์ว่าเป็นสุขย่อมเกิดขึ้น เพราะยังละ การสะสมอันเนิ่นนานของโมหะไม่ได้

แม้เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ไม่มีความเห็นผิดในเรื่องของสภาพธรรม ที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน แต่ยังมีความสำคัญ ความจำ และความคิดในทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม สำหรับพระสกทาคามีก็มีความสำคัญและความคิดในสิ่งที่ เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่ไม่งามว่างามเบาบางลง แต่สำหรับพระอนาคามีบุคคลนั้นท่านละความสำคัญและความคิดในสิ่งที่ไม่งามว่างาม และสำหรับพระอรหันต์ ละความสำคัญคือสัญญาวิปลาส และจิตตวิปลาส ในสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ดับวิปลาสทั้งหมด แต่ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคลยังมีวิปลาสครบ

ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นประการใดในเรื่องนี้

เปิด  252
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565